ปฎิรูปการศึกษา ๒๕๖๐ (ปฎิรูปอะไร)

วันอาทิตย์ที่ 17 กันยายน 2017 เวลา 00:00 น. ศ.ประเวศ วะสี บทความ - การศึกษา
พิมพ์

.

ปฏิรูปอะไร

 

(๑)    ปฏิรูปแนวคิดแยกส่วนสู่บูรณาการ การคิดและทำแบบแยกส่วนจะนำไปสู่สภาวะวิกฤตเสมอ ที่ผ่านมาการศึกษาเป็นการแยกส่วนที่เอาวิชาเป็นตัวตั้ง ไม่ได้บูรณาการอยู่กับชีวิต การศึกษาควรเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาอย่างบูรณาการไม่แยกตัวอยู่โดดเดี่ยวอยู่ตามลำพังในโรงเรียน แต่เชื่อมโยงอยู่กับสรรพสิ่งในพื้นที่

(๒)   ปฏิรูปจากการสอนสู่การเรียนรู้ หรือจากสอนสู่การเรียนรู้ เนื้อหาวิชามีมากแต่หาได้ง่ายไม่จำเป็นต้องสอน ทุกคนและทุกองค์กรต้องเป็นบุคคลและองค์กรเรียนรู้ ครูก็ต้องเป็นครูเรียนรู้ ครูที่ทำหน้าที่สอนแต่ไม่เรียนรู้จะล้าสมัยโดยรวดเร็ว การเรียนรู้เป็น และมีการเรียนรู้ที่ดี เป็นสิ่งประเสริฐที่สุดของความเป็นมนุษย์

(๓)   ปฏิรูปการเรียนรู้จากการเอาวิชาเป็นตัวตั้ง เป็นเรียนรู้จากการปฏิบัติเป็นตัวตั้ง การเรียนรู้จากการปฏิบัติจะนำไปสู่ประโยชน์ต่างๆ ดังต่อไปนี้

(ก)     แต่ละคนมีความชอบไม่เหมือนกัน สามารถเลือกปฏิบัติในสิ่งที่ตนชอบ การได้ทำในสิ่งที่ตนชอบจะทำให้มีความสุข ไม่ใช่ทุกคนถูกบังคับให้ท่องจำเหมือนๆ กัน ซึ่งบีบคั้นอย่างยิ่ง ยาก และก่อให้เกิดความทุกข์ การศึกษาที่ดีต้องก่อให้เกิดความสุข

(ข)   การทำในสิ่งที่ตนชอบ จะทำให้ทำได้ดี ทำให้ทุกคนเป็นคนเก่งหมด แต่เก่งในทางที่ต่างกัน การศึกษาแบบการท่องวิชาในชั้นมีคนท่องเก่งอยู่ ๒-๓ คน นอกนั้นเป็นคนไม่เก่ง ซึ่งเป็นความคับแคบ ผิดธรรมชาติและลดทอนความเป็นมนุษย์

(ค)   การได้ทำสิ่งที่ตนชอบ จะทำให้ทำสิ่งนั้นได้นาน เป็นการฝึกความอดทน การเรียนแบบท่องซึ่งจำยากทำให้เบื่อ เซ็ง ไม่อดทน งามสมัยใหม่ซึ่งต้องการสมาธิและความอดทนอยู่กับงานหนึ่งๆ ได้นานๆ การที่คนไทยขี้เซ็งขี้เบื่อเป็นอันตรายยิ่งนัก

(ง)    การได้ทำสิ่งที่ตนชอบ จะทำให้ตั้งใจทำงานให้ประณีต ความประณีตกลายเป็นความงามหรือศิลปะที่มาพัฒนาจิตใจ การพบความงามในการทำงาน ไม่ว่างานอะไร ทำให้เป็นสุขยิ่งนัก และเป็นความเจริญอย่างยิ่ง

(จ)   งานเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต การเรียนรู้จากการทำงานทำให้สร้างคุณค่าและสร้างมูลค่า การทำอะไรให้สำเร็จแต่ละชิ้นทำให้เกิดความปีติ การทำงานแล้วมีรายได้ช่วยการดำรงชีวิตและสร้างเศรษฐกิจ ถ้ากิจกรรมเรียนรู้ทั้งหมดสร้างรายได้ แทนที่จะมีแต่การเสียเงิน จะช่วยให้เศรษฐกิจของประเทศเข้มแข็ง

(ฉ)   การทำงาน ไม่ว่าจะขายก๋วยเตี๋ยว หรือพายเรือจ้าง ต้องรับผิดชอบต่อผู้อื่น เพราะฉะนั้นการเรียนรู้จากการทำงานฝึกให้เป็นคนรับผิดชอบ

(ช)   เกิดทักษะในการจัดการ การเรียนแบบท่องวิชาเป็นวิชาๆ ทำให้จัดการไม่เป็น การทำงานทุกชนิดให้ประสบความสำเร็จล้วนต้องการการจัดการ

(ซ)  การทำงานแล้วมีรายได้ จะทำให้มีแรงจูงใจที่จะหาความรู้เพิ่มเติมเพื่อทำให้ทำงานได้ดีขึ้นและมีรายได้เพิ่มขึ้น สถานศึกษาควรจัดการเรียนรู้เพื่อตอบสนองความต้องการการเรียนรู้ของคนทำงาน ซึ่งต่างจากสอนดุ่ยไปโดยไม่คำนึงถึงความต้องการของผู้เรียนอย่างที่ผ่านมา

(ฌ) การเรียนรู้จากการปฏิบัติต้องเผชิญอยู่กับสถานการณ์จริงเฉพาะหน้า สถานการณ์จริงนั้นเชื่อมโยงกัน ทำให้คิดออกว่าจะขยายการงานออกไปอย่างไร หรือเรียกกว่าคิดใหญ่เป็น ดังกรณีคนไทยเชื้อสายจีนดังที่กล่าวมาข้างต้น

(ญ) ทำให้ค้นพบว่าการทำงานบางอย่างให้สำเร็จต้องการ “การเรียนรู้ร่วมกันในการปฏิบัติ” (Interactive learning through action) งานบางอย่างที่ซับซ้อนและยาก มีคนและองค์กรเกี่ยวข้องด้วยมาก ทำคนเดียวไม่สำเร็จ การเรียนรู้ร่วมกันในการปฏิบัติเป็นการเรียนรู้ที่สำคัญที่สุด เพราะทำให้ฝ่าความยากไปสู่ความสำเร็จและก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐาน (Transformation) อย่างน้อย ๘ ประการด้วยกัน คือ

·       เกิดการเคารพศักดิ์ศรีคุณค่าความเป็นคน คนทุกคนที่เกี่ยวข้องอย่างเท่าเทียมกัน

·       ไปพ้นมายาคติที่เคารพแต่ความรู้ในตำรา สู่การเคารพความรู้ในตัวคนของคนทุกคนที่เกี่ยวข้อง

·       เกิดความเอื้ออาทรต่อกัน มีความเปิดเผยและจริงใจต่อกัน ซึ่งหาได้ยากในสังคมเชิงอำนาจ

·       เกิดความเชื่อถือไว้วางใจกัน (Trust) ซึ่งไม่เกิดโดยการใช้อำนาจหรือเงิน

·       เกิดสามัคคีธรรม ทำให้เกิดพลังทางสังคม

·       เกิดปัญญาร่วม (Collective wisdom) นวัตกรรม และอัจฉริยะกลุ่ม (Group genius)

·       ทำให้ฝ่าความยากไปสู่ความสำเร็จ

·       ทำให้เกิดความสุขประดุจบรรลุนิพพาน

 

การเรียนรู้จากการปฏิบัติมีผลมากถึงเพียงนี้ หัวใจของการปฏิรูปการศึกษาคือ ปฏิรูปกระบวนการเรียนรู้ กระบวนการเรียนรู้ที่สำคัญที่สุดคือการเรียนรู้ร่วมกันในการปฏิบัติ

 

(๔)   ปฏิรูปวัตถุประสงค์ของการศึกษา เมื่อมีการศึกษาแผนปัจจุบันในสมัย ร.๕ การศึกษาก็เพื่อเตรียมคนเข้ารับราชการ ต่อมาก็เพื่อให้ได้ปริญญาในวิชาต่างๆ โดยไม่ได้มีทิศทางในการพัฒนาประเทศที่ชัดเจน ทำให้เกิดโครงสร้างการศึกษาแบบแท่งไซโลดังกล่าวแล้ว

 

การปฏิรูปการศึกษาควรปฏิรูปวัตถุประสงค์ของการศึกษาดังต่อไปนี้

 

(๑)    การศึกษาเพื่อความเข้มแข็งของฐานของประเทศ ถ้าฐานของประเทศแข็งแรงจะรองรับประเทศทั้งหมดให้มั่นคง พระเจดีย์ต้องสร้างจากฐาน สร้างจากยอดไม่ได้ เพราะจะพังลงๆ ถ้าไม่มีฐานรองรับ ที่แล้วมาเราพัฒนาประเทศเหมือนสร้างพระเจดีย์จากยอด อะไรๆ ก็จะเอาแต่ข้างบนทั้งเศรษฐกิจ การศึกษา การเมือง เมื่อฐานของประเทศอ่อนแอประเทศก็ไม่มั่นคง ฐานของประเทศคือชุมชนท้องถิ่น การพัฒนาอย่างบูรณาการโดยเอาพื้นที่เป็นตัวตั้งคือการสร้างฐานของประเทศให้แข็งแรง การศึกษาควรเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาอย่างบูรณาการและสนับสนุนให้การพัฒนาอย่างบูรณาการเข้มแข็ง

การมีสัมมาชีพเต็มพื้นที่เป็นปัจจัยของความร่มเย็นเป็นสุขในแต่ละจังหวัด ระบบการศึกษาทุกประเภท ร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ร่วมกับภาคธุรกิจ สามารถสร้างสัมมาชีพได้เต็มพื้นที่

(๒)   อาชีวศึกษาเข้มแข็ง อาชีวศึกษาเป็นฐานของการมีงานทำและความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจของประเทศ รัฐบาลต้องมีนโยบายให้สาธารณะเห็นคุณค่าของอาชีวศึกษาและส่งเสริมอาชีวศึกษาอย่างเต็มที่


(๓)   การศึกษาเพื่อความเข้มแข็งทางวิชาการ การศึกษา ๒ ประเภทแรก จะกระจายผู้เรียนส่วนใหญ่ออกไปจากแท่งไซโลของสามัญศึกษา เหลือผู้เรียนส่วนน้อยที่มีฉันทะทางวิชาการ ศึกษาเพื่อความเข้มแข็งทางวิชาการ

ให้ผู้เรียนในวงทั้ง ๓ สามารถเคลื่อนย้ายการเรียนรู้ระหว่างกันได้ จาก ๑ สู่ ๒ หรือ ๓ จาก ๒ สู่ ๑ หรือ ๒ จาก ๓ สู่ ๑ หรือ ๒ ทั้งนี้ควรลดความแข็งกระด้างของการแบ่งเป็นชั้นปีการศึกษา เปลี่ยนเป็นความยืดหยุ่น

โดยกระจายวัตถุประสงค์ของการศึกษาออกเป็น ๓ เราจะได้ทั้งความเข้มแข็งของฐานของประเทศ ความเข้มแข็งของอาชีวศึกษา และความเข้มแข็งทางวิชาการ เปิดทางเลือกให้ทุกคน ซึ่งสามารถเคลื่อนย้ายต่อยอดได้ตามความสนใจหรือความถนัด

(๑)    ปฏิรูปกระบวนการเรียนรู้

มนุษย์มีศักยภาพสูงสุดในการเรียนรู้ สามารถเรียนรู้ให้บรรลุอะไรก็ได้ การเรียนรู้ที่ดีจึงเป็นสิ่งที่ประเสริฐที่สุดของความเป็นมนุษย์ เป็นหน้าที่ของทุกคนที่จะแสวงหาและช่วยให้เพื่อนมนุษย์ได้พบกระบวนการเรียนรู้ที่ดีที่สุด

ขณะนี้ทั่วโลก มีบุคคลและองค์กรอันหลากหลาย นอกเหนือไปจากแวดวงศึกษาศาสตร์ ครุศาสตร์ ที่สนใจเรื่องสมองกับการเรียนรู้ ในประเทศไทยก็เช่นเดียวกัน ควรมีการทำ mapping ว่ามีใครบ้างที่เชี่ยวชาญเรื่องนวัตกรรมการเรียนรู้ แล้วส่งเสริมให้เป็นกลุ่มหรือสถาบัน และเครือข่ายวิจัย และพัฒนาการเรียนรู้ มหาวิทยาลัยทุกแห่งควรสร้างความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับนวัตกรรมการเรียนรู้ แล้วพัฒนาครูให้เป็นผู้เชี่ยวชาญนวัตกรรมการเรียนรู้

 

โดยหลักการการเรียนรู้มี ๓ องค์ (ไตรยางค์) ที่คล้องกันอยู่ คือ วัฒนธรรม วิทยาศาสตร์ - จิต

การเรียนรู้ในฐานวัฒนธรรม หมายถึงในฐานของวิถีชีวิตร่วมกันของกลุ่มชนที่สอดคล้องกับสิ่งแวดล้อมหนึ่งๆ หรือเรียนรู้จากการปฏิบัติที่เอาชีวิตและการอยู่ร่วมกันเป็นตัวตั้ง ให้ทำเป็น คิดเป็น อยู่ร่วมกันเป็น

กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ หมายถึงกระบวนการแห่งเหตุผลทำให้เข้าใจสิ่งต่างๆ ชัดขึ้น ลึกขึ้น คำว่าธรรมะในพุทธศาสนาด้านหนึ่งหมายถึงความเป็นเหตุเป็นผล อย่างเดียวกับกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ แต่ลึกกว่าและแท้จริงมากกว่า เพราะต้องลดความเห็นแก่ตัว ความเป็นเหตุเป็นผลจึงจะเป็นของแท้

จิตตปัญญาศึกษา มนุษย์เป็นสัตว์ประเภทเดียวที่สามารถเห็นจิตของตนเองได้ จิตตปัญญาศึกษา นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐานในตนเอง (Transformation) หรือเกิดจิตสำนึกใหม่ ที่มีสภาพจิตที่โปร่งเบา เป็นอิสระ มีความสุขอย่างลึกล้ำ ประสบความงามอันล้นเหลือ และมีมิตรภาพอันไพศาลต่อเพื่อนมนุษย์และสรรพสิ่ง อันเป็นไปเพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ

ทุกวันนี้โลกวิกฤต การอยู่ร่วมกันระหว่างคนกับคน และคนกับสิ่งแวดล้อม เพราะมนุษย์ติดอยู่ในข้อจำกัดของสัญชาตญาณแห่งอัตตา แต่มนุษย์ก็มีศักยภาพที่จะก้าวข้าม (Transcend) ข้อจำกัดนี้ การเรียนรู้ที่ดีต้องทำให้มนุษย์เข้าถึงศักยภาพสูงสุดของตนเอง

(๖)    ปฏิรูปการบริหารจัดการการศึกษา จากการรวมศูนย์อำนาจและควบคุม เป็นการกระจายการมีส่วนร่วมให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีบทบาทจัดการศึกษาอย่างที่เรียกว่า All For Education เช่น ครอบครัว ชุมชน ท้องถิ่น วัด ภาคประชาสังคม กองทัพ ภาคธุรกิจ กระทรวงศึกษาธิการปรับตัวไปทำหน้าที่ส่งเสริมเชิงนโยบายและวิชาการ

(โปรดติดตามตอนต่อไป "ปฎิรูปอย่างไร"



แก้ไขล่าสุด ใน วันอาทิตย์ที่ 17 กันยายน 2017 เวลา 18:43 น.