ชีวิตที่พอเพียง : ๒๒๑๓. อย่าเป็นนักบริโภค ให้เป็นนักลงทุน

วันศุกร์ที่ 01 สิงหาคม 2014 เวลา 00:00 น. ศ.นพ วิจารณ์ พานิช บทความ - การศึกษา
พิมพ์

Rich Karlgaard ผู้พิมพ์นิตยสาร Forbes กล่าวสุนทรพจน์ในพิธีมอบปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัย Northcentral เมื่อวันที่ ๗ มิถุนายน ๒๕๕๗ และนิตยสาร Forbes ฉบับเดือนกรกฎาคม ๒๕๕๗ นำบางส่วนมาลงในคอลัมน์ Thought Leaders เรื่อง Advice to Grads : Get Healthy and Investมีสาระที่ดีมาก

เขาแนะนำให้ปฏิบัติตาม "triangle of health" ซึ่งประกอบด้วย สุขภาวะด้านกายภาพ (physical health), สุขภาวะด้านจิตใจและอารมณ์ (mental and emotional), และ สุขภาวะด้านสังคม (social health)

เขาแนะให้ลงทุนใน ๓ มุมของสามเหลี่ยมนี้

หลักการนั้นง่าย ในทางปฏิบัติจะว่าง่ายก็ง่าย จะว่ายากก็ยาก ขึ้นอยู่กับตัวเราเอง ที่ว่าง่ายก็คือ แค่ลงมือปฏิบัติ แต่ในชีวิตจริงของคนทั่วๆ ไป ไม่ตรงไปตรงมา เพราะมันมีความเย้ายวนให้เราเถลไถลไปนอกทาง คำแนะนำในทางปฏิบัติในบทความนี้ จึงมีค่ายิ่ง

คำแนะนำประโยคเดียวคือ จงทำให้ชีวิตของตนเต็มไปด้วยพลังและสุขภาวะ (energy and health) โดยใช้หลัก สามเหลี่ยมแห่งสุขภาวะ

วิถีปฏิบัติในชีวิตประจำวันนั่นเอง คือเส้นทางสู่สุขภาวะทางจิตใจและอารมณ์ เช่น วิธีหายใจ นั่ง ยืน และท่าทาง หากมีวิธีปฏิบัติที่ถูกต้อง มันจะช่วยประคองจิตใจและอารมณ์ นั่นคือคำแนะนำที่คุณ Rich ได้มาจากนักแสดง ฮอลลีวู้ด ในการฝึกพูด และผมยืนยันว่าใช้ได้ผล

เขาแนะนำว่า "การจัดการความกลัว" เป็นอีกเส้นทางหนึ่ง สู่สุขภาวะด้านจิตใจและอารมณ์ ผมตีความเอาเองว่า การศึกษาที่ถูกต้อง จะฝึกเยาวชนให้เป็นนักจัดการความกลัวโดยอัตโนมัติ โดยที่ทักษะในการจัดการความกลัวเป็นองค์ประกอบหนึ่งของ ทักษะแห่งศตวรรษที่ ๒๑

ผมเข้าใจว่ากลัวสอบตก เป็นปมในใจ หรือในจิตใต้สำนึกของคนจำนวนมาก ผมไม่แน่ใจว่าคนที่เรียนเก่ง หรือได้เรียนสาขายากๆ เช่นแพทย์ จะตกเป็นเหยื่อมากกว่าคนอื่นๆ หรือไม่

ในงานศพแม่ เมื่อกลางเดือนมิถุนายน ๒๕๕๗ พี่น้องผม ๓ คนที่เป็นหมอคุยกันเรื่องฝันว่าสอบตก ทั้งสามคนยอมรับต่อกันว่าฝันเรื่องนี้ซ้ำๆ กันบ่อยมาก น้องชายคนเล็กเล่าว่าเมื่อเอามาคุยในวงเพื่อนแพทย์ ก็สารภาพกันออกมาว่าตนก็ฝัน และไม่กล้าบอกใคร เมื่อมาได้ทราบว่าคนอื่นก็ฝัน ทำให้รู้สึกสบายใจว่าตนไม่ได้ผิดปกติ

น้องชายทั้งสองคนเล่าความฝันที่ฝันซ้ำๆ อีกเรื่องหนึ่ง ที่ผมก็ฝันเหมือนกัน คือเรื่องการขับรถ ที่มองไปข้างหน้าไม่เห็นและบังคับรถไม่ได้ ความฝันนี้เป็นจิตใต้สำนึกของความกลัวหรือเปล่า ก็ไม่ทราบ

สำหรับสุขภาวะด้านสังคมมีตัวอย่างชีวิตผู้คนมากมาย ที่เมื่อได้รวมกลุ่มกับผู้อื่นทำกิจกรรมเพื่อสังคม แล้วมีความสุข ที่เคยเจ็บป่วยไม่สบาย เช่นปวดหัว มึนงง นอนไม่หลับ หงุดหงิด หายไปหมด กลายเป็นคนอารมณ์ดี นอกจากนั้น ยังมีหนังสือ A World Waiting to Be Borne : Civility Rediscovered เขียนโดย Scott Peck ผู้ล่วงลับ

กลับมาที่สุนทรพจน์ของ Rich Karlgaard เขาแนะนำว่าบัณฑิตใหม่ต้องอย่าทำตนเป็น "ผู้บริโภค" (consumer) ต้องทำตนเป็น "นักลงทุน" (investor) คือเน้นลงทุนเพื่อ ๓ มุมของสามเหลี่ยมแห่งสุขภาวะ

วิจารณ์ พานิช

๑ ก.ค. ๕๗

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย 

แก้ไขล่าสุด ใน วันศุกร์ที่ 01 สิงหาคม 2014 เวลา 11:06 น.