Thaiihdc.org

  • เพิ่มขนาดตัวอักษร
  • ขนาดตัวอักษรปกติ
  • สดขนาดตัวอักษร
Thaiihdc.org

เรียนรู้พันธกิจมหาวิทยาลัยเพื่อสังคมที่ออสเตรเลีย : ๑๐. Teaching and Learning Engagement

พิมพ์ PDF

วันที่ ๒๔ กรกฎาคม ๒๕๕๗ คณะดูงานไปดูงานที่ Institute for Teaching and Learning ของมหาวิทยาลัย ซิดนีย์

ผมเคยเล่าการไปเยือนสถาบันนี้เมื่อ ๒ ปีที่แล้วไว้ที่นี่

คราวนี้เราไปขอเรียนรู้เรื่อง Teaching and Learning Engagement ถือเป็นส่วนหนึ่งของการไปเรียนรู้ พันธกิจมหาวิทยาลัยเพื่อสังคม ด้านการเรียนรู้ โดยทางสถาบันคลังสมองแจ้งไปว่าขอเรียนรู้ ๓ เรื่อง คือ (1) Scholarship of Teaching and Learning (2) Professional Development for university teachers หรือการพัฒนาครู และ (3) Learning Outcome Assessment

เขาจัดคนมาคุยกับเราถึง ๔ คน นำโดย Assoc. Prof. Simon Barrie ผู้อำนวยการสถาบัน และคนที่มีชื่อเสียงมากคือ Prof. Keith Trigwell ซึ่งท่านกรุณาส่งส่วนหนึ่งของหนังสือ University Teaching in Focus : A Learning Centered Approach คือบทที่ 15 Scholarship of Teaching and Learning ที่ท่านเป็นผู้เขียน มาให้ อ่านได้ ที่นี่

ผมได้เข้าใจว่า คำว่า Scholarship ในความหมายของเขากับที่ผมหรือนักวิชาการไทยเข้าใจอาจไม่ตรงกัน ยิ่งคำว่า Scholarship of Teaching and Learning อาจยิ่งเข้าใจต่างกัน ส่วนที่ผมประทับใจคือเขามองความหมาย ของ scholarship ว่าเป็นกระบวนการพยายามทำให้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องใดเรื่องหนึ่งพัฒนาขึ้น เป็นเรื่องของการ ช่วยกันต่อยอดความรู้ขึ้นไป ดังนั้นปฏิสัมพันธ์ของคนในแวดวงเดียวกัน ที่เรียกว่า “วิทยสหาย” (academic peers) จึงมีความสำคัญยิ่ง จะเสนอผลงานหรือการริเริ่มใดๆ ต้องผ่าน peer review นี่คือจารีตของ scholarship หรือวิชาการ

ผมคิดต่อเองว่า หากมองคำว่า scholarship แบบนี้ การส่งเสริม Scholarship of Teaching and Learning ก็ทำได้โดยส่งเสริมให้ “กระบวนการวิทยสหาย” (peer process) เข้มแข็ง ซึ่งในที่นี้หมายถึงกระบวนการ วิทยสหายของการเรียนการสอน เพื่อพัฒนาการเรียนการสอนให้มีคุณภาพยิ่งขึ้น ดังนั้น เป้าหมายที่แท้จริงของ Scholarship of Teaching and Learning คือการพัฒนาคุณภาพของการเรียนและการสอน ส่วนการได้รับ ผลประโยชน์ตอบแทนของอาจารย์ ในรูปของผลงานวิชาการ และการเลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่งเป็นเป้าหมายรอง

ที่มหาวิทยาลัย ซิดนีย์ มีหลักสูตร (๑ ปี) Graduate Certificate in Educational Studies (Higher Education) สำหรับให้อาจารย์เข้าเรียนได้ เป็นหลักสูตรปฏิบัตินำ เสริมด้วยทฤษฎี มีชั้นเรียนทฤษฎีครึ่งวัน ทุกๆ ๒ สัปดาห์ รับปีละ ๔๐ คน เน้นบริการอาจารย์ของมหาวิทยาลัย ซิดนีย์ แต่คนนอกก็สมัครได้ เป็นกรณีพิเศษ เป้าหมายลึกๆ ของหลักสูตร เพื่อเปลี่ยนความคิดด้านการเรียนและการสอน

หลักสูตร Graduate Certificate in Educational Studies (Higher Education) ประกอบด้วยการเรียน 4 หน่วยคือ (1) University Teaching and Learning, (2) Reflection and Practice in University Teaching and Learning, (3) University Teaching Portfolios, (4) Scholarship of University Teaching and Learning

วิธีเสนอผลงานด้านการเรียนการสอนเพื่อขอรับการเลื่อนสถานะ ทำโดยเสนอ “Teaching Case” เพื่อเป็นหลักฐานเข้ารับการพิจารณาความดีความชอบ เขาพิจารณาคุณภาพของการจัดการสอน ๕ ด้าน ได้แก่ (1)Performance ซึ่งดูที่ “appropriate planning and design, clear goals, effective presentation, instruction technique and online learning, appropriate assessment and feedback and evidence of appropriate use of student evaluations” (2) Research-led Teaching ดูที่ “encouraging imaginative student inquiry, sharing insights from research and scholarship with students and the use of primary sources and recent discoveries as part of teaching” (3) Student-focused Teaching ดูที่ “teaching that places emphasis on students’ perceptions and experiences and on the relation between students and subject matter as well as the teacher’s performance” (4) Scholarship in Teaching ดูที่ “systematic use of the best available evidence, including research evidence, to select and use teaching and assessment strategies. In some cases it may extend to original research in teaching methods, etc, in the field of study.” (5) Leadership in Teaching ดูที่ “the coordination and management of teaching teams and courses, curriculum and policy development and oversight, mentoring of junior staff (including acting as associate supervisor), external recognition of teaching expertise and benchmarking of teaching quality with other universities and agencies”

มหาวิทยาลัย ซิดนีย์ ถือว่าการทำหน้าที่อาจารย์ที่ปรึกษานักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา เป็นงานด้าน การเรียนการสอน

กิจกรรมด้านการพัฒนาอาจารย์ด้านการเรียนการสอน แก่อาจารย์ใหม่ มีดังต่อไปนี้

  • Principles and Practice of University Teaching and Learning เป็นการอบรมภาคบังคับ ระยะเวลา ๒ วัน แก่อาจารย์ใหม่ทุกคน เนื้อหามีที่ส่วนการเรียนการสอนทั่วๆ ไป และที่จำเพาะต่อคณะวิชาที่ตนสังกัด
  • Foundations of Research Supervision บังคับแก่อาจารย์ที่จะต้องเป็นอาจารย์ที่ปรึกษา ระดับบัณฑิตศึกษา
  • eLearning Fundamentals workshops
  • Just in time online resources – Teaching insights and videos

สำหรับอาจารย์ทั่วไป

  • An Introduction to Teaching – online program

    Just in time online resources – Teaching insights and videos

  • eLearning Fundamentals workshops
  • Principles and Practice of University Teaching and Learning

สำหรับอาจารย์วุโสปานกลาง

  • Graduate Certificate in Educational Studies (Higher Education)
  • Experienced Supervisors Development Network
  • Engaged Enquiry Course
  • eLearning Focus and Extension workshops
  • PhD and Masters
  • Curriculum Scholars’ Network มีหลายเครือข่าย เช่น Network on Community-Engaged Teaching and Learning, Network of Academics Interested in …., Network on Assessment

สำหรับผู้นำด้านการสอนและหลักสูตร

  • Associate Deans Learning and Teaching Group
  • Curriculum Scholars’ Network

สำหรับอาจารย์ทุกคน

  • Annual Teaching Colloquium ปีที่แล้วจัดเรื่อง Blended Learning
  • Teaching Awards workshops and support
  • Teaching Grants workshops and support
  • Promotions workshops
  • Individual consultations
  • Collaborative SoTL (Scholarship of Teaching and Learning) projects

สำหรับบางคณะวิชา ดำเนินการร่วมกับกิจกรรมพัฒนาอาจารย์ของคณะ


การประเมินผลการเรียน(Learning Outcome Assessment)

เป็นเรื่องที่ท้าทายวงการศึกษา เขามีวิธีมองเป้าหมายของการประเมินแบบ assessment แตกต่างจากที่ใช้กันในวงการศึกษาไทย คือเขามองว่า Learning Outcome Assessment สนองเป้าหมายสำคัญ ๒ อย่าง ในภาษาอังกฤษที่งดงาม กล่าวว่า เพื่อ Report Learning และเพื่อ Support Learning ซึ่งหมายความว่า เขาเน้นที่ “การประเมินเพื่อพัฒนา” (Formative Assessment) มากกว่าประเมินได้-ตก

เขาบอกว่า การประเมินเริ่มจากการกำหนดเป้าหมายการเรียนให้ชัด แล้วหาทางประเมินสิ่งนั้น ที่สำคัญอย่างยิ่งคือ อย่าประเมินเฉพาะการเรียนรู้ส่วนเนื้อวิชา ต้องประเมินการเรียนรู้รอบด้าน หรืออย่าง บูรณาการ

เขาบอกว่า การประเมินในการศึกษาเชิงวิชาชีพง่ายกว่าการประเมินในการศึกษาทั่วไป เช่นการประเมินนักศึกษาประวัติศาสตร์ ยากกว่าประเมินนักศึกษาแพทย์ ในวิชาด้านประวัติศาสตร์ อาจประเมินโดยให้นักศึกษานำเสนอเรื่องราวเหมือนกับตัวเขาอยู่ในเหตุการณ์นั้นๆ ในประวัติศาสตร์

สิ่งที่ผมประทับใจมาก คือเขาบอกว่าต้องระมัดระวัง อย่าประเมินโดยใช้มาตรฐานปัจจุบันเป็นตัวตั้ง เพราะจะมีผลทำให้วิชาการด้านนั้นๆ หยุดนิ่ง ผิดธรรมชาติของความเป็นวิชาการ

จะเห็นว่า เขาเน้นประเมินความคิด หรือการตีความ มากกว่าประเมินการท่องจำข้อเท็จจริง

ข้อเรียนรู้สำคัญสำหรับผมในวันนี้ “วิชาการ” (Scholarship) หมายถึงกระบวนการยกระดับความรู้ ต่อเนื่องเรื่อยไป ไม่มีสิ้นสุด” กลไกขับเคลื่อนวิชาการ คือ peer review

วิจารณ์ พานิช

๒๖ ก.ค. ๕๗

บนเครื่องบินการบินไทยจาก ซิดนีย์ กลับกรุงเทพ

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย 

แก้ไขล่าสุด ใน วันอังคารที่ 09 กันยายน 2014 เวลา 13:55 น.
 

​เรียนรู้พันธกิจมหาวิทยาลัยเพื่อสังคมที่ออสเตรเลีย : ๑๑. การจัดองค์กรสนับสนุนการรับใช้สังคม

พิมพ์ PDF

วันที่ ๒๕ กรกฎาคม ๒๕๕๗ คณะดูงานไปดูงานที่หน่วยงานชื่อ Shopfront (www.shopfront.uts.edu.au) ของมหาวิทยาลัย เทคโนโลยีซิดนีย์ (UTS – University of Technology Sydney)

ผมสรุปกับตนเองว่า นี่คือรูปแบบหนึ่งของการจัดองค์กรเพื่อสนับสนุนการรับใช้สังคม ของมหาวิทยาลัย ที่ทำหน้าที่เชื่อมโยงระหว่างนักวิชาการกับชุมชน ตามแนวคิดที่ผมเคยเสนอไว้เมื่อ ๔ ปีที่แล้ว ที่นี่ และ ที่นี่

Shopfront เป็นหน่วยงานแบบนี้หน่วยงานแรกและหน่วยงานเดียวในประเทศออสเตรเลีย และตั้ง มาแล้ว ๑๘ ปี โดยมีผู้นำร่วมกัน ๒ คน คือ Prof. Paul Ashton, ศาสตราจารย์ด้านประวัติศาสตร์ Faculty of Arts and Social Science, ทำหน้าที่ Director ของ Shopfront และ Pauline O’Loughlin ทำหน้าที่เป็น Program Director มาตั้งแต่ต้นจนปัจจุบัน ในออสเตรเลีย คุณเปาลีน มีฐานะเป็น Professional Staff เท่ากับว่า Shopfront มีผู้นำ ๒ คน เป็น Academic Staff หนึ่งคน เป็น Professional Staff หนึ่งคน ทำงานร่วมกันตั้งแต่ต้น มาจนถึงปัจจุบัน

ประเด็นสำคัญคือ ได้รับการสนับสนุนจากอธิการบดี อย่างดียิ่ง

Shopfront คิดชัดกว่าผมมาก เพราะต้องลงมือปฏิบัติ โดยมีเป้าหมายสำคัญที่สุดที่ตัวนักศึกษา เพื่อให้นักศึกษาได้มีประสบการณ์การทำงานอาสาเพื่อประโยชน์ต่อสังคม เชื่อมโยงกับวิชาหรือวิชาชีพที่ตนเรียน โดยมีอาจารย์เป็นที่ปรึกษาหรือเป็นโค้ช สังคมหรือชุมชนที่เป็นเป้าหมายคือชุมชนด้อยโอกาส ดังนั้นเป้าหมาย ลึกๆ คือ เพื่อให้นักศึกษาได้รู้จักและเข้าใจคนในกลุ่มผู้ด้อยโอกาส โดยที่กิจกรรมที่จะทำเป็นงานจริงๆ ที่ต้องมี การเสนอผลงาน และชุมชนได้รับผลตามที่กำหนดไว้

เท่ากับนักศึกษาได้มีโอกาสทำงาน หรือฝึกงานในสถานการณ์จริง ในประเด็นที่เชื่อมโยงกับสาขาวิชา ที่ตนเรียน พร้อมกับได้ฝึกฝนปลูกฝังจิตอาสาขึ้นภายในตนด้วย และอาจารย์เจ้าของรายวิชา ก็ได้ใช้กิจกรรมของ Shopfront ในการช่วยให้นักศึกษาของตนได้เรียนประยุกต์ใช้ความรู้ในสถานการณ์จริง

นักศึกษาที่เข้าร่วมโครงการนี้เป็นนักศึกษาปีสุดท้าย หรือนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา เพราะต้องเป็น นักศึกษาที่มีพื้นความรู้ดีแล้วไปทำงาน เพื่อให้เกิดผลดีจริงๆ เกิดการยอมรับของชุมชน และมีการบอกต่อหรือ เล่าลือ ทำให้มีฝ่ายชุมชนหรือประชาสังคมเอาปัญหาหรือโครงการมาปรึกษา Shopfront ว่าจะช่วยได้หรือไม่

ความท้าทายของ Shopfront คือต้องเลือกกิจกรรมที่เหมาะต่อนักศึกษา และหากกิจกรรมใหญ่เกินไป ก็ต้องแบ่งเป็นหลายส่วน ให้นักศึกษาดำเนินการหลายทีม (โดยเฉลี่ยทีมละ ๓ คน แต่ที่นักศึกษาทำคนเดียวก็มี) คุณ เปาลีน บอกว่า เขาต้องระมัดระวังให้เป็นงานอาสา ที่ไม่มีเงินหรือสิ่งตอบแทน จริงๆ ต้องระวังไม่ให้มีคน เอางานมาให้นักศึกษาทำผ่านโครงการนี้แบบจ้างงาน

เป้าหมายของโครงการ Shopfront มี ๕ ประการ คือ (๑) ส่งเสริมให้เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้สองทาง ระหว่างชุมชนกับมหาวิทยาลัย (๒) เพื่อส่งเสริมให้เกิดบทบาทการสอนแบบบูรณาการ เพื่อให้เกิดพันธกิจ มหาวิทยาลัยเพื่อสังคม และต่อการเรียนรู้จากประสบการณ์ตรงของนักศึกษา (๓) เพื่อส่งเสริมให้เกิด teaching resource แก่อาจารย์ทั้งมหาวิทยาลัย ที่จัดการเรียนรู้แบบ Work-integrated Learning และ multidisciplinary learning (๔) ส่งเสริมการวิจัยที่มีประโยชน์ต่อสังคม (๕) ส่งเสริมกิจกรรมที่ดำเนินการร่วมกันหลายคณะวิชา ทั้งที่เป็นการสอน การวิจัย และกิจกรรมในชุมชน

เขาบอกว่า โครงการ Shopfront จำนวนหนึ่ง นอกจากชุมชนได้รับประโยชน์แล้ว อาจารย์ก็ได้ ผลงานวิจัยด้วย นำไปสู่การริเริ่มของสำนักงาน Shopfront จัดทำวารสาร ออนไลน์ ที่เป็น open access ชื่อGateways : International Journal of Community Research & Engagement (http://epress.lib.uts.edu.au/journals/index.php/ijcre) เป็นวารสารที่มี peer review อย่างพิถีพิถัน ออกปีละ ๑ ฉบับ และอยู่ในฐานข้อมูลวารสารวิชาการ ปี 2014 เป็นฉบับที่ ๗

อีกโครงการที่น่าสนใจ ที่เปิดกว้างกว่า คือโครงการ Soul Awardที่ให้ Award แก่นักศึกษาที่ทำ กิจกรรมอาสาสมัคร (ที่ประสานงานโดยทีมจัดการโครงการ Soul) ครบ ๑๐๐ หน่วย โดยคิด ๑ ชั่วโมงเท่ากับ หนึ่งหน่วย ผู้ได้รับ Award จะได้รับการบันทึก Award นี้ในใบ transcript

นักศึกษาที่ต้องการเข้าโครงการนี้ต้องเข้ารับการอบรมเพื่อทำความรู้จักโครงการ เรียนรู้เรื่องภาวะผู้นำ เรื่องประเด็นหรือปัญหาทางสังคม และวิธีจัดการโครงการ คือเขาไม่ได้ปล่อยให้นักศึกษาไปทำกิจกรรมกันเอง ทางโครงการ Soul มีการติดต่อกับชุมชน มีงานที่เหมาะสม และมีการโค้ช ให้แก่นักศึกษา

เป้าหมายของโครงการนี้เพื่อ (๑) พัฒนาภาวะผู้นำ (๒) สร้างจิตอาสา (๓) ฝึกการทำงานเป็นทีม และ (๔) รู้จักชุมชนหรือสังคมด้อยโอกาส

ในภาพรวม Shopfront ทั้งหมดใช้เงินปีละ ๖ แสนเหรียญ (ออสเตรเลีย) ซึ่งตกประมาณ ๑๙ ล้านบาท เป็นส่วนกิจกรรม Shopfront ประมาณ ๑๔ ล้านบาท อีก ๕ ล้านบาทเป็นส่วนของ Soul Award เขาบอกว่า เขามีฐานะเป็นองค์กรไม่แสวงกำไร ผู้บริจาคเงิน เอาไปลดหย่อนภาษีได้ ในรายงานประจำปี 2013 หน้าหลังสุด ระบุ Financial Statement ไว้ โดยบอกว่า UTS สนับสนุนเงินส่วนที่เป็นเงินเดือน เงินค่าดำเนินการ รวมทั้ง สถานที่ การสนับสนุนด้านเทคโนโลยี อี-เมล์ อินเทอร์เน็ต และอื่นๆ ระบุรายได้จากงานวิจัยและงานที่ปรึกษา 47,659 เหรียญ ได้รับจากมหาวิทยาลัย 393,000 เหรียญ

จากการซักถาม และสังเกตจากค่าใช้จ่ายของ Shopfront ตามที่ระบุในรายงานการเงินค่าใช้จ่ายในส่วน ของกิจกรรมในชุมชนส่วนใหญ่น่าจะได้จากชุมชนเอง หรือได้จากการบริจาค โดยที่ Shopfront และนักศึกษา ทำงานให้แก่ชุมชนโดยไม่คิดค่าตอบแทน

สถาบันคลังสมองฯ จะจัดการประชุมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ การทำงานโครงการ Shopfront และ Soul Award ในเดือนพฤศจิกายน ๒๕๕๗ ที่ มศว. โดยท่านอธิการบดี มศว. เชิญผู้นำทั้งสองของ Shopfront มาเป็นวิทยากร เราคงจะได้เรียนรู้รายละเอียดวิธีทำงาน มากกว่าที่เล่าในบันทึกนี้ ซึ่งได้จากการพูดคุยซักถาม ไม่ถึงสองชั่วโมง

วิจารณ์ พานิช

๒๖ ก.ค. ๕๗

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย 

ชมภาพประกอบได้ที่ link:http://www.gotoknow.org/posts/575891

แก้ไขล่าสุด ใน วันอังคารที่ 09 กันยายน 2014 เวลา 14:17 น.
 

เรียนรู้พันธกิจมหาวิทยาลัยเพื่อสังคมที่ออสเตรเลีย : ๑๒. AAR

พิมพ์ PDF

ในเวลา ๕ วัน ระหว่างวันที่ ๒๑ ถึง ๒๕ กรกฎาคม ๒๕๕๗ คณะดูงาน ที่จัดโดยสถาบันคลังสมอง ของชาติ ไปเรียนรู้เรื่อง “พันธกิจมหาวิทยาลัยเพื่อสังคม” (University Social Engagement) จาก ๒ กิจกรรม คือการร่วมประชุม 2014 Engagement Australia Conference ที่มหาวิทยาลัย Charles Sturt University เมือง Wagga Wagga ระหว่างวันที่ ๒๑ - ๒๓ และดูงานที่มหาวิทยาลัย ซิดนีย์ ในวันที่ ๒๔ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีซิดนีย์ วันที่ ๒๕

เป็นความสามารถของสถาบันคลังสมองฯ นำโดย ศ. ดร. ปิยะวัติ บุญ-หลง และ ดร. นงเยาว์ เปรมกมลเนตร ในการออกแบบและติดต่อประสานงานการเดินทางไปเรียนรู้หลักการและประสบการณ์ ในต่างประเทศ เพื่อนำมาใช้สร้างการเปลี่ยนแปลงของระบบอุดมศึกษาไทย โดยที่ผู้ไปเรียนรู้ดูงาน กลับมาเป็น “ผู้นำการเปลี่ยนแปลง” (Change Agent) สร้างการเปลี่ยนแปลงทั้งแก่สถาบันของตน และเป็นส่วนหนึ่งของ เครือข่ายสร้างการเปลี่ยนแปลงให้แก่ประเทศไทย

ทีมไทยที่ไปร่วมประชุม ได้สร้างความประทับใจแก่ผู้เข้าร่วมมากทีเดียว จากการนำเสนอผลงานของ ดร. จเร สุวรรณชาติแห่ง มทร. ศรีวิชัย ที่ดำเนินการต่อเนื่องเกิดผลดีเป็นรูปธรรมต่อชุมชนบ้านคลองแดน และเลื่องลือไป ยังพื้นที่อื่นที่ติดต่อ ดร. จเร ให้ไปเป็นที่ปรึกษาทางวิชาการ แต่ผมมีความเห็นว่า ผลงานของ ดร. จเร เป็น “เพลงที่ยังไม่จบ” เพราะที่ทำมายังเป็นเพียงครึ่งเดียว คืองานพัฒนา ยังไม่ได้ดำเนินการส่วนที่เป็น “งานวิชาการ” หรืองานวิจัย ที่เป็นการสร้างทฤษฎี หรือพิสูจน์สมมติฐาน สำหรับนำไปใช้เป็นกรอบความคิด ดำเนินการเรื่องคล้ายๆ กันให้เกิดผลดีโดยง่ายและรวดเร็วขึ้น

ที่จริงจะว่างานของ ดร. จเร ไม่มีส่วนที่เป็นงานวิจัยก็ไม่ถูกต้องนัก เพราะในการทำงานต้องมีการ เก็บข้อมูลของชุมชน นำมาวิเคราะห์สังเคราะห์เพื่อการตัดสินใจเลือกแนวทางพัฒนา เพียงแต่ว่า การนำเสนอเชิงวิชาการยังไม่ชัด ว่าทำไมจึงตัดสินใจเลือกแนวทางเช่นนั้น ทำไมไม่เลือกแนวทางอื่น ซึ่งหากนำเสนอด้วยคำถาม Why และนำเอาทฤษฎีที่มีผู้เสนอไว้แล้วมาถกเถียง ก็จะสามารถเสนอรายงาน วิจัยได้มากมายหลายหัวข้อ

นอกจากนั้น ที่นังไม่เสร็จคือ ยังไม่มีกระบวนการ ให้ผลงานที่ก่อผลกระทบต่อสังคมสูงเช่นนี้ นำไปสู่การได้ตำแหน่งวิชาการของนักวิชาการผู้ดำเนินการ คือ ดร. จเร ผมเชื่อว่า กรณีผลงานของ ดร. จเร นี้ จะเป็นกรณีตัวอย่าง ให้สถาบันคลังสมอง และ Engagement Thailand ร่วมกันดำเนินการ ผลักดันให้เกิด ตำแหน่งวิชาการสายรับใช้สังคม ขึ้นในสังคมไทย และมีรูปแบบการดำเนินการพัฒนาวิชาการสาย รับใช้สังคมไทยอย่างเป็นรูปธรรม

ผมคิดว่า ที่ไปเห็นตัวอย่างเรื่อง University Social Engagement ยังแคบไป ซึ่งก็พอเข้าใจได้ ว่าการประชุมปีนี้จัดโดยมหาวิทยาลัยในกลุ่ม Regional University Network งานด้าน Social Engagement จึงเน้นที่ชุมชนหรือประชากรด้อยโอกาสเป็นสำคัญ

จึงเดาว่า มหาวิทยาลัยในกลุ่ม Go8 (Group of Eight) ที่เป็นมหาวิทยาลัยวิจัยของออสเตรเลีย คงจะตีความเรื่อง Social Engagement ของมหาวิทยาลัยไม่เหมือนกันเสียทีเดียว โดยผมตีความว่า Research Excellence เป็นการทำหน้าที่ให้แก่สังคม ถือเป็น Social Engagement ในรูปแบบหนึ่งด้วย

เมื่อเน้นการให้คุณค่าของงานวิจัยเช่นนี้ ก็ต้องกล่าวไว้ด้วยว่า งานวิจัยชนิดที่ไร้คุณภาพ สักแต่ให้ได้ชื่อว่าทำวิจัย เป็นเรื่องเสื่อมเสียของวงการวิชาการ และของสถาบันอุดมศึกษานั้นๆ เป็นหน้าที่ของสถาบันและ “วิทยสหาย” (Peer Group) ที่จะต้องป้องกัน ไม่ให้มีการทำวิจัยชนิดไร้คุณภาพ เพื่อดำรงศักดิ์ศรีความน่าเชื่อถือของวงการวิชาการ ว่าไม่ใช้ทรัพยากรของสังคมอย่างไร้ประโยชน์

นั่นคือ Engagement ด้านการวิจัย

มาที่ Engagement ด้านการเรียนการสอน Professor Geoff Scott ได้กล่าวไว้อย่างดียิ่ง และเมื่อเราไปดูงานที่สถาบันส่งเสริมการเรียนการสอนของมหาวิทยาลัย ซิดนีย์ ก็เห็นได้ชัดว่า เขามีกลไกพัฒนาเรื่องนี้อย่างเป็นรูปธรรม มีหน่วยงานรับผิดชอบ และมีกติกานับการทำงาน ด้านการเรียนการสอนอย่างมีหลักการ ไว้ในเงื่อนไขพิจารณาความดีความชอบด้วย ถือเป็นส่วนหนึ่งของ Scholarship of Teaching and Learning เป็นตัวอย่างของวิธีให้ความสำคัญ ให้คุณค่า และให้การตอบแทน แก่อาจารย์ที่เอาใจใส่พัฒนาการสอนของตน

จะเห็นว่า มหาวิทยาลัยจะต้องมีกรอบหลักการ และวิธีดำเนินการ เพื่อส่งเสริม Social Engagement ในทุกด้าน ด้านที่รูปแบบของการจัดการเชิงสถาบันยังไม่แข็งแรง คือด้าน Community Engagement และด้าน Teaching and Learning Engagement

มาค้นที่บ้าน จึงพบคำ Civic Engagement ดังเล่าแล้วในตอนที่ ๘ ผมมีความเห็นว่า มหาวิทยาลัยไทย เอาใจใส่ดูแลให้นักศึกษาได้เรียนรู้สั่งสมความรู้ทักษะและคุณค่าด้าน Civic Engagement น้อยไป ที่จริง การประชุม2014 Engagement Australia Conference เน้นเนื้อหาด้าน Civic Engagement แต่เขาไม่ได้ใช้คำนี้

ผมได้เสนอในที่ต่างๆ ว่าวิธีจัดการการเปลี่ยนแปลงเพื่อสร้าง Engagement หลากหลายด้านนี้ ทั้งในระดับสถาบัน และระดับประเทศ ควรเน้นยุทธศาสตร์ Positive Change หรือยุทธศาสตร์เชิงบวก เน้น SSS – Success Story Sharing แล้วจัดการยกระดับความสำเร็จนั้นขึ้นไปเป็นผลงานวิชาการ

โดยที่ Engagement Activity ดีๆ เหล่านั้น ผมเข้าใจว่ามีส่วนของผลงานพัฒนา (Development Part) ชัดเจนอยู่แล้ว ยังขาดการ “ปรุงและนำเสนอ” ในรูปแบบของผลงานวิชาการ (Academic Part) ผมเชื่อว่า Engagement Thailand ภายใต้ภาวะผู้นำของ ศ. ดร. วิจิตร ศรีสะอ้าน และสถาบันคลังสมอง ภายใต้ภาวะผู้นำของ ศ. ดร. ปิยะวัติ บุญ-หลง จะดำเนินการพัฒนา Engagement Activity ให้เป็น Academic Activity ในสังคมไทย และต่อไปในอนาคต นักวิชาการไทยจะมีวิธีทำงาน Engagement ให้เกิดผล “สองในหนึ่ง” คือหนึ่งกิจกรรมเกิดผลสองด้านไปพร้อมๆ กัน ทั้งผลด้านพัฒนา (ชุมชน การเรียนการสอน และอื่นๆ) และด้านการยกระดับความรู้หรือวิชาการ (วิชาการสายรับใช้สังคม)

ผมขอขอบคุณสถาบันคลังสมองฯ ที่จัดการเดินทางไปประชุมศึกษาดูงานในครั้งนี้ ได้อย่างดีเลิศ และขอบคุณ ผู้ร่วมเดินทางทุกท่าน ที่ได้ร่วมกันเรียนรู้ การทำ BAR และ AAR ร่วมกัน ทำให้ผมได้เข้าใจแง่มุมต่างๆ มากมาย ที่ตัวผมเองนึกไม่ถึง

วิจารณ์ พานิช

๒๗ ก.ค. ๕๗

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย 

แก้ไขล่าสุด ใน วันอังคารที่ 09 กันยายน 2014 เวลา 14:22 น.
 

​ชีวิตที่พอเพียง : ๒๒๓๘. ปราบไม่หมด

พิมพ์ PDF
ยุทธศาสตร์ปราบเด็กเกเร ไม่มีวันได้ผล เพราะเป็นแนวทาง “วัวหายแล้วล้อมคอก” สายไปน่ะต๋อย แนวทางที่ได้ผลคือส่งเสริมพัฒนาการด้าน “ลักษณะนิสัย” ของเด็กทุกคน ดังคำนิยมหนังสือเลี้ยงให้รุ่ง

เช้าวันที่ ๑ สิงหาคม ๒๕๕๗ ผมวิ่งออกกำลังพร้อมกับฟังข่าวเปื้อนเพลง ๑๐๐.๕ ได้ฟังข่าวหัวโจก นักเรียนมัธยมแห่งหนึ่ง รวมพวกลงทัณฑ์นักเรียนรุ่นน้องชั้น ม. ๓ ที่ไม่ช่วยเหลือพวกตน เมื่อคราวมีเรื่อง ทะเลาะวิวาทกับวัยรุ่นกลุ่มอื่น

โฆษกบ่นว่า นักเรียนเกเร หัวโจกก่อเหตุเช่นนี้ ปราบเท่าไรก็ไม่หมด

ผมจึงได้ความคิดเอามาเขียนบันทึกนี้ เพื่อจะบอกว่ายุทธศาสตร์ปราบเด็กเกเร ไม่มีวันได้ผล เพราะเป็นแนวทาง “วัวหายแล้วล้อมคอก” สายไปน่ะต๋อย แนวทางที่ได้ผลคือส่งเสริมพัฒนาการด้าน “ลักษณะนิสัย” ของเด็กทุกคน ดังคำนิยมหนังสือเลี้ยงให้รุ่ง

คนเราทุกคนต่างก็ต้องการเป็นบุคคลสำคัญ (somebody) หากเป็นคนสำคัญโดยการทำดีไม่ได้ กระแส impulsive control ผ่านแกน HPA จะกระตุ้นให้มีพฤติกรรมสร้างความเป็นคนสำคัญผ่านพฤติกรรมรุนแรง นี่คือธรรมชาติของมนุษย์ ที่คนเราทุกคนมีธรรมชาตินี้

หากไม่ดำเนินการเลี้ยงให้รุ่ง ก็เท่ากับเลี้ยงให้เป็นอันธพาล เมื่อเข้าสู่วัยรุ่น

วิจารณ์ พานิช

๑ ส.ค. ๕๗

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย 

แก้ไขล่าสุด ใน วันอังคารที่ 09 กันยายน 2014 เวลา 14:03 น.
 

ชีวิตที่พอเพียง : ๒๒๓๙. เด็กบ้านนอกกับกาบมะพร้าว

พิมพ์ PDF

เชื่อไหมครับ ว่าเด็กบ้านนอกอย่างผมสมัยกว่า ๖๐ ปีก่อน ใช้กาบมะพร้าวเช็ดก้น

กาบมะพร้าวมีสองส่วน คือส่วนแข็งที่อยู่ด้านนอก กับส่วนเยื่อที่อยู่ด้านใน ส่วนเยื่อก็มีสองส่วน คือส่วนที่เป็นเส้นใย กับส่วนที่เป็นเนื้อยุ่ยๆ ส่วนที่เป็นเส้นใยนี้เอามาฟั่นเป็นเชือกได้ เรียกว่า “เชือกกาบพร้าว” (ออกเสียงสำเนียงใต้) ที่บ้านผมเอามาใช้ผูกกับ “กะถุ้ง” (ออกเสียงสำเนียงใต้) แปลว่าถัง สำหรับตักน้ำจากบ่อ ชาวบ้านแถวบ้านผมมีทักษะในการ “ควั่นเชือกพร้าว” กันเกือบทุกคน เวลานี้อาจเรียกว่า “ภูมิปัญญาท้องถิ่น”

เมื่อต้องการใช้เชือกกาบพร้าว แม่ของผมก็จะบอกให้คนแถวบ้าน หรือลูกจ้างช่วย “ควั่น” ให้ เขาจะเอากาบมะพร้าวมาทุบ เพื่อแยกเอาส่วนที่เป็นเส้นใยออกมา เส้นใยนี้มีขนาดค่อนข้างใหญ่ ส่วนมาก เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณครึ่งมิลลิเมตร ความยาวเท่าๆ กับขนาดของลูกมะพร้าว คือเป็นเส้นใยขนาดสั้น ยาวเพียงประมาณ ๒๐ เซ็นติเมตร แต่เมื่อเอามา “ควั่น” กันเข้า ก็จะได้เชือกยาวเท่าไรก็ได้ที่มีความแข็งแรง ขนาดใช้ล่ามควายได้ แต่ความแข็งแรงนี้ ขึ้นอยู่กับฝีมือคน “ควั่น” ด้วย

เชือกกาบมะพร้าวที่ใช้ล่ามถังตักน้ำนี้ไม่ทนนัก น่าจะใช้ได้ไม่ถึงปี เพราะเปียกน้ำอยู่ตลอดเวลา ทำให้ “ผุก” ง่าย คำว่า “ผุก” เป็นทั้งภาษาและสำเนียงปักษ์ใต้บ้านผม แปลว่าผุ เชือกกาบมะพร้าวนี้ หากใช้ในสภาพ ที่แห้ง ไม่โดนน้ำ จะทนนานหลายปี

ไฮไล้ท์ของกาบมะพร้าวกับเด็กบ้านนอก ไม่ใช่เรื่องเชือกกาบมะพร้าว แต่เป็นเรื่องวัสดุสำหรับเช็ดก้น หลังถ่ายอุจจาระ สมัยผมเด็กๆ ทุกคนใช้กาบมะพร้าวเช็ดก้น โดย “ส้วม” คือสุมทุมพุ่มไม้หลังบ้าน เครื่องมือในการไปถ่ายอุจจาระคือ “จอบงอ” กับกาบมะพร้าว

จอบงอ ใช้ขุดหลุมตื้นๆ สำหรับถ่ายอุจจาระแล้วกลบ กาบมะพร้าวใช้เช็ดก้น แต่เมื่อผมจำความได้ ผมใช้กาบมะพร้าวไม่บ่อยนัก เพราะมันบาดก้น ผมนิยมใช้กระดาษหนังสือพิมพ์มากกว่า เอามาขยำๆ ให้มันนุ่ม ก่อนใช้ หนังสือพิมพ์นี้คือ สยามรัฐรายวัน เพราะพ่อของผมบอกรับ และคอลัมน์ที่พ่อชอบอ่าน ที่สุดคือตอบปัญหาประจำวัน อ่านแล้วหัวเราะเอิ๊กอ๊าก ว่าคนตอบ (มรว. คึกฤทธิ์ ปราโมช) ฉลาดจริงๆ และคราวหนึ่ง พ่อบอกว่ามีคนถามปัญหา แล้วหม่อมคึกฤทธิ์ตอบว่า “ข้อนี้จน” แล้วพ่อก็เอิ๊กอ๊าก ผมจำไม่ได้เสียแล้วว่าคำถามอะไร

ช่วงดังกล่าว น่าจะอยู่ระหว่างปี พ.ศ. ๒๔๙๕ - ๒๔๙๘ ผมอายุสิบขวบกว่าๆ ไม่เคยนึกเลยว่าชีวิต จะผกผันมาเป็นชาวกรุง ได้เป็นถึง “ศาสตราจารย์” เช็ดก้นด้วยกระดาษทิชชูอันอ่อนละมุน

วิจารณ์ พานิช

๒ ส.ค. ๕๗

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย 

แก้ไขล่าสุด ใน วันอังคารที่ 09 กันยายน 2014 เวลา 14:07 น.
 


หน้า 324 จาก 558
Home

About Us

ศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ (ศบม.) เป็นองค์กรที่พัฒนาและจัดทำโครงการเพื่อทำประโยชน์ให้สังคม เป็นองค์กรสนับสนุนการดำเนินงานของภาครัฐ ช่วยแก้ปัญหาผู้ประกอบการภาคธุรกิจบริการที่ขาดแคลนบุคลากรที่มีมาตรฐานในการให้บริการ
อ่านเพิ่มเติม

มูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ ์

 iHDC Profile
บัญชีรายชื่อกรรมการ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียน การเปลี่ยนแปลงกรรมการของมูลนิธิ
เอกสารประชาสัมพันธ์ โครงการ HMTC.pdf
เอกสารแนะนำโครงการ HMTC 1.pdf
เอกสารโครงการ HMTC 2 คุณสมบัติผู้เข้าร่วมโครงการ.pdf
iHDC นิติบุคคล.pdf
iHDC บุคคล.pdf
iHDC บุคคลเครือข่าย.pdf
รายงานการประชุม 6 มีนาคม 2560.pdf
ข้อบังคับมูลนิธิ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียนจัดตั้งมูลนิธิ
Ihdc-Profile and Roadmap 2016-2019 Mar 23 2560.pdf
รายงานการประชุมใหญ่คณะกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ 2559.pdf
คำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ สาขาวิชาชีพ.pdf
รายงานการประชุมใหญ่วันที่ 18 ธ ค 2558 v 3.pdf
รายงานการประชุม วันที่ 24 ธันวาคม 2557 updated 4 มีนาคม 2558.pdf
iHDC-invitation Letter.doc
iHDC-Member Form Thai.doc
iHDC-Member Form English.doc
รายงานการประชุมกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ วันที่ 15 มกราคม 2556 ฉบับสมบูรณ์


thaibetter
พัฒนาประเทศไทยแบบทวีคูณ และยั่งยืน ( ททค )

Login


แบบสำรวจ

สถิติเว็บไซด์

สมาชิก : 5606
Content : 3049
เว็บลิงก์ : 26
จำนวนครั้งเปิดดูบทความ : 8600748

facebook

Twitter


บทความเก่า