Thaiihdc.org

  • เพิ่มขนาดตัวอักษร
  • ขนาดตัวอักษรปกติ
  • สดขนาดตัวอักษร
Thaiihdc.org

QS University Ranking : Asia 2014

พิมพ์ PDF

 

เกณฑ์ในการจัดอันดับ QS University Rankings : Asia 2014 ประกอบด้วย Academic reputation 30%, Employer reputation 10%, Faculty : Student ratio 20%, Citations per paper 15%, Papers per faculty 15%, Proportion of international faculty & students 5% และ Proportion of inbound & outbound exchange students 5%

QS University Ranking : Asia 2014

 

ผมได้รับ อีเมล์ จาก รศ. ดร. มงคล รายะนาคร ดังต่อไปนี้

 

เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2557 สำนักจัดอันดับมหาวิทยาลัย QS Quacquarelli Seymonds ได้ประกาศผลการจัดอันดับมหาวิทยาลัยในภูมิภาคเอเชียปี ค.ศ. 2014 ที่เรียกว่า QS University Rankings : Asia 2014 มีมหาวิทยาลัยในเอเชีย 17 ประเทศได้รับการจัดอันดับ 1-300 ปรากฎว่าในระดับ Top 10 ของเอเชีย มหาวิทยาลัยของประเทศสิงคโปร์มี National University of Singapore (NUS) ได้อันดับ 1 และ Nanyang Technological University (NTU) ติดอันดับ 7 ประเทศเกาหลีใต้มี Korea Advanced Institute of Science and Technology (KAIST) ติดอันดับ 2 Seoul National University (SNU) อันดับ 4 และ Pohang University of Science and Technology (POSTECH) อันดับ 9 ฮ่องกงมี University of Hong Kong ติดอันดับ 3 Hong Kong University of Science and Technology อันดับ 5 และ Chinese University of Hong Kong อันดับ 6 ในขณะที่จีนมีเพียง Peking University ได้อันดับ 8 และญี่ปุ่นมีเพียง University of Tokyo ติดอันดับ 10

 

ในการจัดอันดับครั้งนี้ มีมหาวิทยาลัยของ 7 ประเทศ จาก 10 ประเทศในกลุ่มประเทศอาเซียน (ASEAN) ติดอันดับ 1-300 อยู่ 48 แห่ง เป็นมหาวิทยาลัยในมาเลเซีย 18 แห่ง ไทย 10 แห่ง อินโดนีเซีย 9 แห่ง ฟิลิปปินส์ 5 แห่ง เวียดนาม 3 แห่ง สิงคโปร์ 2 แห่ง บรูไน 1 แห่ง มีเพียง NUS กับ NTU ของสิงคโปร์เท่านั้นที่อยู่ใน Top 10 ของเอเชีย ประเทศในกลุ่ม ASEAN ที่เหลือติดอันดับ Top 100 ของเอเชียในครั้งนี้ ได้แก่ อันดับ 32 Universiti Malaya 40 Mahidol University (MU) 48 Chulalongkorn University (CU) 56 Universiti Kebangsaan Malaysia 57 Universiti Sains Malaysia 63 University of the Philippines 66 Universiti Teknologi Malaysia 71 University of Indonesia 76 Universiti Putra Malaysia และ 92 Chiang Mai University (CMU)

 

เมื่อพิจารณาดูเฉพาะมหาวิทยาลัยในประเทศไทย มีมหาวิทยาลัยที่ได้รับการจัดอันดับ QS University Rankings : Asia 2014 ทั้งหมด 10 แห่ง ตามลำดับอันดับดังนี้ อันดับ 40 MU 48 CU 92 CMU 134 Thammasat University (TU) 142 Prince of Songkla University (PSU) 151-160 Kasetsart University (KU) 171-180 Khon Kaen University 181-190 King Mongkut’s University of Technology Thon Buri 201-250 Burapha University 251-300 Srinakharinwirot University (SWU)

 

เกณฑ์ในการจัดอันดับ QS University Rankings : Asia 2014 ประกอบด้วย Academic reputation 30%, Employer reputation 10%, Faculty : Student ratio 20%, Citations per paper 15%, Papers per faculty 15%, Proportion of international faculty & students 5% และ Proportion of inbound & outbound exchange students 5%

 

สำหรับรายละเอียดของการจัดอันดับมหาวิทยาลัยเอเชียโดย QS ในปี ค.ศ. 2014 สามารถดูได้ที่เว็บลิงค์ต่อไปนี้

 

http://www.topuniversities.com/asian-rankings

 

รศ. ดร. มงคล รายะนาคร

 

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย Prof. Vicharn Panich

 

แก้ไขล่าสุด ใน วันเสาร์ที่ 17 พฤษภาคม 2014 เวลา 20:58 น.
 

ออกจากหุบเหวมรณะทางการศึกษา

พิมพ์ PDF

 

Ted Talk Education โดย Ken Robinson เรื่อง How to escape education’s death valley เป็นเรื่องที่ผู้บริหารการศึกษาไทยควรดูเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะ รมต. ศึกษา

 

ระบบการศึกษาที่ตกหุบเหวมรณะ เกิดจากไม่เข้าใจธรรมชาติ ๓ อย่างของมนุษย์ ทำให้หลงบริหารระบบการศึกษาของชาติแบบควบคุมและสั่งการ (command & control) อย่างที่ยังคงดำเนินการอยู่ในประเทศไทย

 

ธรรมชาติ ๓ อย่างของมนุษย์ ที่การศึกษาต้องทำความเข้าใจ และนำมาใช้จัดการศึกษา คือ DCC ได้แก่

 

๑.Diversity มนุษย์มีธรรมชาติแตกต่างกัน ไม่ใช่เหมือนกัน (conformity) การศึกษาที่มีคุณภาพ ต้องนำเอาธรรมชาติข้อนี้มาใช้เป็นหลักการจัดการเรียนรู้

๒.Curiosity มนุษย์มีความอยากรู้อยากเห็นเป็นธรรมชาติ และเป็นพลังของการเรียนรู้ การเรียนรู้ที่ดีต้องใช้พลังความอยากรู้อยากเห็น ไม่ใช่ลดทอนความอยากรู้อยากเห็น โดยการสอนให้เชื่อ อะไรก็ตาม ที่ลดทอนความอยากรู้อยากเห็นของเด็ก เป็นวิธีจัดการเรีนรู้ที่ผิด เช่นระบบการศึกษาที่เน้นการทดสอบมากเกินไป (ผู้ฟังปรบมือ)

๓.Creativity มนุษย์มีธรรมชาติสร้างสรรค์ การเรียนรู้ที่ดีต้องใช้ธรรมชาติข้อนี้มาขับเคลื่อน และการศึกษาคือการงอกงามธรรมชาติข้อนี้ของมนุษย์ ไม่ใช่ลดทอนความสร้างสรรค์ ด้วยการจัดการเรียนรู้แบบ จับนักเรียนใส่กรอบ

ระบบการศึกษาที่ขัดแย้งกับธรรมชาติของมนุษย์ ๓ ข้อนี้ มาจากกระบวนทัศน์แบบกลไก (mechanistic) ที่มากับยุคอุตสาหกรรม การศึกษาต้องเปลี่ยนจากกระบวนทัศน์กลไก เข้าสู่กระบวนทัศน์ความเป็นมนุษย์ (humanistic) เคารพความเป็นมนุษย์ของเด็ก

 

Sir Ken Robinson องค์ปาฐก บอกว่าเด็กที่ออกจากการเรียนกลางคัน ต่างก็มีเหตุผลของเขา ทำให้ผมมองเห็นโจทย์วิจัยระดับปริญญาเอก ด้านการศึกษา ศึกษานักเรียนที่ออกจากการเรียนกลางคัน ในแง่มุมต่างๆ

 

หุบเหวมรณะทางการศึกษากำเนิดขึ้นในยุคอุตสาหกรรม ประเทศที่เดินตามรอยเท้าประเทศอื่น อย่างเชื่องๆ เดินขึ้นจากหุบเหวไม่เป็น ยิ่งนักการเมืองใช้การศึกษาแสวงประโยชน์ ยิ่งไม่อยากขึ้นจากหุบเหว หุบเหวแห่งการบริหารแบบควบคุมและสั่งการ ที่รัฐบาลทักษิณที่มียิ่งลักษณ์เป็นหุ่นเชิดใช้เป็นยุทธศาสตร์ ครอบงำระบบราชการ

 

วิจารณ์ พานิช

 

๑๒ เม.ย. ๕๗

 

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย Prof. Vicharn Panich

 

แก้ไขล่าสุด ใน วันเสาร์ที่ 17 พฤษภาคม 2014 เวลา 21:07 น.
 

การประกอบการสังคม ธุรกิจทิศทางใหม่ของสังคมและการเรียนรู้

พิมพ์ PDF

 

ระพีเสวนา ครั้งที่ ๗ เรื่อง การประกอบการสังคม ธุรกิจทิศทางใหม่ของสังคมและการเรียนรู้ สื่อสารนวัตกรรมทางสังคมที่ผมเชื่อว่า จะเป็นกลไกสำคัญในการฉุดรั้งการศึกษาไทยขึ้นจากหุบเหวแห่งความด้อยคุณภาพ ผลิตคนที่มีคุณสมบัติตกยุค

 

ชมพิธีเปิดและการบรรยายพิเศษ โดยคุณมีชัย วีระไวทยะ ที่นี่ และการเสวนาของผู้ประกอบการสังคม ที่นี่ และ ที่นี่ เสวนาการบ่มเพาะตนเองของเยาวชนเป็นผู้ประกอบการสังคม ที่นี่

 

หลักการที่แปลกประหลาดคือ นักเรียนต้องฝึกทำงานจริง หารายได้จริง หรือกล่าวแรง ๆ เรียนไปประกอบธุรกิจไป เพื่อต่อไปจะได้ทำมาหากินเป็น

 

นี่คือสภาพของ Authentic Learning และตรงกันกับสาระที่สื่อในหนังสือ Who Owns the Learning ที่ผู้เรียนต้องเรียนโดยการทำงานที่เป็นประโยชน์จริงๆ

 

ในเรื่องการศึกษากับการฝึกเป็นผู้ประกอบการสังคมนั้น ผมได้ไปดูงานที่อังกฤษ และเขียนบันทึกไว้ ที่นี่ โดยบันทึกที่ตรงกับเรื่องนี้ที่สุดอยู่ ที่นี่ ในยุคนี้ เราต้องฝึกเด็กให้มีวิญญาณของผู้ผลิต ไม่ใช่ให้มีวิญญาณ ของผู้บริโภคอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

 

เราต้องฝึกเด็กให้มีวิญญาณของผู้ประกอบการที่เห็นแก่สังคม

 

ลองฟังการเสวนาโดยผู้ประกอบการสังคมที่หลากหลายดูนะครับ จะเห็นมิติของการเรียนรู้ ในชีวิตจริง หรือการเรียนรู้จากการปฏิบัติ ที่แตกต่างจากการศึกษาในระบบมากมาย

 

ตอนจบ ทีมสังเคราะห์ความรู้ ให้นิยามของ การประกอบการสังคม ว่าหมายถึง การดำเนินธุรกิจ ที่เกื้อกูลต่อชุมชน สังคม และโลก ตั้งอยู่บนพื้นฐานของคุณค่าและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ผู้ประกอบการ สังคมมักเริ่มจากเป็นผู้ตระหนักถึงปัญหาของชุมชนและสังคม และริเริ่มการแก้ปัญหาจากภูมิปัญญาท้องถิ่น จากความร่วมมือของกัลยาณมิตร และพัฒนาทักษะความสามารถบนประสบการณ์ของตนเอง

 

ผมไม่ได้ไปร่วมเพราะติดงานอื่น ได้ฟังรายงานในการประชุมสภาอาศรมศิลป์ และกลับมาชม เรื่องราวในการประชุมนี้ใน YouTube ที่บ้าน ได้เห็นนักประกอบการสังคมหลายคน กำลังเรียนหลักสูตร ศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาผู้ประกอบการสังคม ของสถาบันอาศรมศิลป์ ผมจึงเสนอแนะต่อผู้บริหาร ของสถาบันอาศรมศิลป์ ให้ทำคู่มือการเรียนรู้ภาคทฤษฎี (ที่เรียนจากการปฏิบัติและค้นคว้าเพิ่มเติม) กำหนดว่า ต้องอธิบายทฤษฎีหรือความรู้อะไรบ้าง สำหรับให้นักศึกษาทำ reflection จากการปฏิบัติ ว่าได้เรียนรู้อะไรบ้าง โดยในแต่ละขั้นตอนการปฏิบัติ ทางสถาบันฯ มีบอกไว้ในคู่มือ ว่าการปฏิบัตินั้น มีเป้าหมายเพื่อการเรียนรู้ อะไรบ้าง เป็นอย่างน้อย โดยต้องระบุทั้งส่วนที่เป็นความรู้ ทักษะ และเจตคติ รวมทั้งเตรียมวิธีประเมินว่า นศ. บรรลุเป้าหมายนั้นจริง

 

กิจกรรมในย่อหน้าบน เป็นเรื่องยิ่งใหญ่มาก ในการยกระดับการปฏิบัติสู่การเรียนรู้ ซึ่งจะทำให้ได้ทั้งความรู้ปฏิบัติและความรู้ทฤษฎี แต่สถาบันอาศรมศิลป์ต้องมีวิธีดำเนินการจัดการ “สอนแบบไม่สอน” เพื่อให้ผู้เรียนได้ความรู้และทักษะแห่งศตวรรษที่ ๒๑ ได้ตามมาตรฐานที่กำหนด ผมเสนอต่อสภาสถาบันอาศรมศิลป์ ให้สถาบันพัฒนาวิธีจัดการเรียนรู้แบบ Competency-Based บนฐานของการปฏิบัติ

 

ในยุคนี้สถาบันอาศรมศิลป์ต้องใช้พลังของ ไอซีที เป็นเครื่องมือให้เกิดการเรียนรู้ตามเกณฑ์ที่กำหนด ให้ได้

 

วิจารณ์ พานิช

 

๑๒ เม.ย. ๕๗

 

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย Prof. Vicharn Panich

 

แก้ไขล่าสุด ใน วันพฤหัสบดีที่ 15 พฤษภาคม 2014 เวลา 08:40 น.
 

หลักสูตรในกระดาษกับหลักสูตรในการปฏิบัติ เป็นคนละสิ่ง

พิมพ์ PDF

 

นี่คือข้อสรุปในสภาสถาบันอาศรมศิลป์ เมื่อวันที่ ๑๑ เมษายน ๒๕๕๗ ในวาระอนุมัติหลักสูตรด้านการศึกษา ๒ หลักสูตร

 

เพราะสถาบันอาศรมศิลป์ เป็นสถาบันการศึกษาทางเลือก จัดการเรียนรู้แบบบูรณาการ เน้นที่การปฏิบัติ เน้น Active Learning หรือเน้นการเรียนรู้ของผู้เรียน แต่เอกสารหลักสูตร ตามรูปแบบที่คุรุสภากำหนดให้เขียนนั้น เป็นรูปแบบโบราณ คือเน้นการสอน

 

ผมจึงถามฝ่ายบริหารว่า ที่เขียนมาอย่างที่เสนอนั้น หมายความว่าเวลาทำ ไม่ได้ทำตามนั้นใช่ไหม ที่ประชุมฮากันตึง และฝ่ายบริหารบอกว่า คณาจารย์ทั้งหลายอยากให้มีคนถามคำถามนี้ใจจะขาด เพราะอึดอัดกับการเขียนอย่างทำอย่าง

 

ที่ทำไม่ตรงกับเขียนนั้น ไม่ใช่เพื่อเอาสบายหรือสะดวก แต่เพื่อคุณภาพที่สูงกว่าวิธีการแบบสอน แยกเป็นรายวิชา ที่ใช้กันโดยทั่วๆ ไป

 

ฝ่ายบริหารเล่าว่า คุรุสภาส่งทีมมาตรวจสอบ ทางสถาบันฯ ก็บอกตามความเป็นจริงว่าจัดการเรียน การสอนอย่างไร ทีมตรวจสอบบอกว่าดี จะขอความร่วมมือปรับปรุงมาตรฐานครูมาในภายหลัง

 

นี่คือสภาพที่ปฏิบัติดีกว่าที่ระบุในกระดาษ ผมขอความรู้จากท่านผู้อ่านว่า ไอ้ที่ปฏิบัติห่วยกว่าในกระดาษมีไหมครับ และอยากทราบว่าเป็นหลักสูตรอะไร ที่ไหน (ไม่อยากบอกก็ไม่ต้องบอก) และทำอย่างไร

 

วิจารณ์ พานิช

 

๑๑ เม.ย. ๕๗

 

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย Prof. Vicharn Panich

 

แก้ไขล่าสุด ใน วันพฤหัสบดีที่ 15 พฤษภาคม 2014 เวลา 08:28 น.
 

ชีวิตที่พอเพียง : ๒๑๕๘. เตรียมตัวไปนอร์เวย์และฟินแลนด์

พิมพ์ PDF

 

สถาบันอาศรมศิลป์ จัดการเดินทางไปนอร์เวย์และฟินแลนด์ ระหว่างวันที่ ๒๓ เมษายน - ๓ พฤษภาคม ๒๕๕๗ เพื่อไปหารือความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยที่นอร์เวย์ และร่วมมือด้านพัฒนาคุณภาพการศึกษาของประเทศไทย กับประเทศ ฟินแลนด์ โดยที่ฝ่ายไทยเป็นเครือข่ายภาคเอกชน ส่วนฝ่ายฟินแลนด์เป็นรัฐบาล ผมโชคดีได้รับเชิญให้ร่วมคณะไปด้วย

 

เพื่อเตรียมการณ์ความร่วมมือ ท่านเอกอัครราชทูตฟินแลนด์ Kristi Westphalen ได้ไปรับประทานอาหารเที่ยง และร่วมหารือกันอยู่เกือบ ๔ ชั่วโมง ที่สถาบันอาศรมศิลป์ เมื่อวันที่ ๗ เมษายน ๒๕๕๗ ทำให้ผมเข้าใจปรัชญาการศึกษา ของฟินแลนด์ชัดขึ้นมาก และได้ตระหนักยิ่งขึ้นว่า นโยบายและปรัชญาการศึกษามันแนบแน่นอยู่กับนโยบายและปรัชญา ด้านอื่นๆ ของประเทศแบบแยกกันไม่ออก ท่านทูตฯ คงจะศึกษาเมืองไทยมามาก แต่ท่านก็ไม่เข้าใจวัฒนธรรมลึกๆ ของไทย โดยเฉพาะวัฒนธรรมเขียนอย่างทำอีกอย่าง     ผมได้บันทึกความประทับใจจากการพบปะครั้งนั้นไว้ ที่นี่

 

ที่นอร์เวย์เราจะไปพักที่สถานเอกอัครราชทูตไทยประจำนอร์เวย์ เพราะท่านทูตอ้อม (ธีรกุล นิยม) เป็นน้องชายของท่าน ศิลปินแห่งชาติแบน (ธีรพล นิยม ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (สถาปัตยกรรม) ประจำปี ๒๕๕๖) ส่วนที่ฟินแลนด์ผมยัง ไม่ทราบว่าไปพักที่ไหน

 

ที่นอร์เวย์ เราจะไปเจรจาความร่วมมือกับ The Oslo School of Architecture and Design อันมีชื่อเสียง ผมดีใจว่าการไป คราวนี้จะทำให้ผมได้เรียนรู้ทำความเข้าใจเรื่องสถาปัตยกรรมและการออกแบบ ซึ่งที่จริงคำสดุดี อ. ธีรพล นิยม ในการยกย่อง ให้เป็นศิลปินแห่งชาติ ให้ความกระจ่างเรื่องนี้ไม่น้อย อ่านได้ที่นี่

 

เป็นครั้งแรกในชีวิตที่ผมจะได้ไปนอร์เวย์ เพื่อเตียมตัว ผมใช้ช่วงเวลาตอนหยุดยาวสงกรานต์ เข้าอินเทอร์เน็ต ค้นด้วยคำว่า “เที่ยวนอร์เวย์” ได้วีดิทัศน์ใน YouTube เรื่อง เที่ยวออสโล นอร์เวย์ ความยาว ๑.๕ ชั่วโมง เข้าใจว่าเริ่มต้นจาก สนามบิน แฟรงค์เฟิร์ต เสียอย่างเดียวไม่มีคำบรรยาย แต่ก็บันทึกเสียงเหตุการณ์จริงไว้ดีมาก ทำให้ได้เห็นสภาพชีวิต ความเป็นอยู่ของผู้คน และ มือใหม่หัดรีวิว เที่ยวนอร์เวย์ ให้ความรู้ดีมากเช่นกัน

 

รวมความว่า ใน ออสโล มีพิพิธภัณฑ์น่าเที่ยวได้แก่ พิพิธภัณฑ์กลางแจ้ง Folkemuseum, พิพิธภัณฑ์เรือไวกิ้ง, พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์วัฒนธรรม (Museum of Cultural History), และสวนประติมากรรมวิกเกอร์แลนด์

 

ไปที่ฟินแลนด์บ้าง ผมใช้คำค้น “พันธ์ทิพย์ เที่ยวฟินแลนด์” ได้เรื่อง บินเดี่ยว เที่ยวฟินแลนด์ของคุณ Apirasak ไปเมื่อปี ๒๕๕๓ เดือนกันยายน ค้นใหม่ ด้วยคำค้น “เที่ยวฟินแลนด์” ได้เรื่อง ข้อมูลท่องเที่ยวฟินแลนด์เป็นประโยชน์มาก จะเห็นว่าชีวิตสมัยนี้สะดวกสบายจริงๆ ความรู้หาง่ายจนงง ว่าจะเลือกอะไรดี

 

ในยุค ICT ก่อนจะไปจริงๆ เราสามารถไปแบบเสมือน (virtual) ได้

 

วิจารณ์ พานิช

 

๑๓ เม.ย. ๕๗

 

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย Prof. Vicharn Panich

 

แก้ไขล่าสุด ใน วันพฤหัสบดีที่ 15 พฤษภาคม 2014 เวลา 09:17 น.
 


หน้า 353 จาก 557
Home

About Us

ศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ (ศบม.) เป็นองค์กรที่พัฒนาและจัดทำโครงการเพื่อทำประโยชน์ให้สังคม เป็นองค์กรสนับสนุนการดำเนินงานของภาครัฐ ช่วยแก้ปัญหาผู้ประกอบการภาคธุรกิจบริการที่ขาดแคลนบุคลากรที่มีมาตรฐานในการให้บริการ
อ่านเพิ่มเติม

มูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ ์

 iHDC Profile
บัญชีรายชื่อกรรมการ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียน การเปลี่ยนแปลงกรรมการของมูลนิธิ
เอกสารประชาสัมพันธ์ โครงการ HMTC.pdf
เอกสารแนะนำโครงการ HMTC 1.pdf
เอกสารโครงการ HMTC 2 คุณสมบัติผู้เข้าร่วมโครงการ.pdf
iHDC นิติบุคคล.pdf
iHDC บุคคล.pdf
iHDC บุคคลเครือข่าย.pdf
รายงานการประชุม 6 มีนาคม 2560.pdf
ข้อบังคับมูลนิธิ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียนจัดตั้งมูลนิธิ
Ihdc-Profile and Roadmap 2016-2019 Mar 23 2560.pdf
รายงานการประชุมใหญ่คณะกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ 2559.pdf
คำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ สาขาวิชาชีพ.pdf
รายงานการประชุมใหญ่วันที่ 18 ธ ค 2558 v 3.pdf
รายงานการประชุม วันที่ 24 ธันวาคม 2557 updated 4 มีนาคม 2558.pdf
iHDC-invitation Letter.doc
iHDC-Member Form Thai.doc
iHDC-Member Form English.doc
รายงานการประชุมกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ วันที่ 15 มกราคม 2556 ฉบับสมบูรณ์


thaibetter
พัฒนาประเทศไทยแบบทวีคูณ และยั่งยืน ( ททค )

Login


แบบสำรวจ

สถิติเว็บไซด์

สมาชิก : 5602
Content : 3043
เว็บลิงก์ : 26
จำนวนครั้งเปิดดูบทความ : 8589182

facebook

Twitter


ล่าสุด

บทความเก่า