Thaiihdc.org

  • เพิ่มขนาดตัวอักษร
  • ขนาดตัวอักษรปกติ
  • สดขนาดตัวอักษร
Thaiihdc.org

คำนำ หนังสือ การเรียนรู้เกิดขึ้นอย่างไร

พิมพ์ PDF

คำนำ

หนังสือ การเรียนรู้เกิดขึ้นอย่างไร

 

……………

 

หนังสือ การเรียนรู้เกิดขึ้นอย่างไร เป็นการรวบรวมบันทึกใน บล็อก www.gotoknow.org/council ชุดการเรียนรู้เกิดขึ้นอย่างไร    ที่ผมตีความจากการอ่านหนังสือ How Learning Works : 7 Research-Based Principles for Smart Teaching  เขียนโดยSusan A. Ambrose, Michael W. Bridges, Michele DiPietro, Marsha C. Lovett, Marie K. Norman   ลงใน บล็อก สัปดาห์ละ ๑ ตอน   รวม ๑๖ ตอน   ตั้งแต่วันที่ ๒๗ ธันวาคม ๒๕๕๕ ถึงวันที่ ๑๑ เมษายน ๒๕๕๖

เมื่อคุณปิยาภรณ์ มัณฑะจิตร ผู้จัดการมูลนิธิสยามกัมมาจล แจ้งว่า มูลนิธิสยามกัมมาจล มีความประสงค์ จะรวบรวมบันทึกชุดนี้พิมพ์เป็นเล่มออกเผยแพร่ ผมก็มีความยินดี   เพราะผมคิดว่าสาระในหนังสือเล่มนี้ มีคุณค่าสูงมาก    เป็นการเปิดโลกทัศน์ใหม่ๆ เกี่ยวกับกลไกการเรียนรู้ ที่ไม่เป็นที่เข้าใจกันแพร่หลาย    โดยที่ หนังสือเล่มนี้ได้จากการสังเคราะห์ความรู้จากผลการวิจัยกว่าหนึ่งพันเรื่อง    นำมาเสนอเป็นหลักการสำคัญ ที่ชัดเจนมาก ๗ ประการ ดังปรากฏในหนังสือเล่มนี้

อย่างไรก็ตาม บันทึกที่ผมเขียนนั้น เขียนแบบตีความจากการอ่านหนังสือ   มีหลายส่วนผมใส่ความเห็น ของตนเองเข้าไปด้วย   และไม่ได้แปลสาระในหนังสือทั้งหมด    การอ่านหนังสือ การเรียนรู้เกิดขึ้นอย่างไร เล่มนี้ จึงไม่ทดแทนการอ่านหนังสือ How Learning Works : 7 Research-Based Principles for Smart Teaching โดยตรง    และทราบว่า สำนักพิมพ์ Open World กำลังดำเนินการแปลหนังสือเล่มนี้อยู่ในขณะนี้

หลักการสำคัญของการเรียนรู้ คือต้องเรียนให้รู้จริง (mastery)    รวมทั้งเห็นคุณค่าของการเรียนรู้นั้น ซึ่งจะเป็นพื้นฐานให้การเรียนรู้ ในขั้นตอนต่อๆไป เป็นเรื่องสนุก และรู้สึกปิติจากการได้เรียนรู้เพิ่มขึ้น   ในทางตรงกันข้าม หากเรียนแล้วรู้ แบบผิวเผิน ไม่รู้จริง การเรียนรู้ในขั้นตอนต่อไปจะยาก ไม่สนุก แต่เป็นความ ทุกข์ทรมาน    ทำให้นักเรียนทอดทิ้งการเรียนไปทำอย่างอื่นที่สนุกกว่า    และในที่สุดก็ออกจากการเรียน โดยยังเรียนไม่จบ

เป้าหมายที่สำคัญของการเรียนรู้ ที่สำคัญยิ่งกว่าการมีความรู้ คือการบรรลุภาวะที่กำกับการเรียนรู้ ของตนได้ (self-directed learner)   ซึ่งหมายความว่า ผู้นั้นเข้าใจวิธีการเรียนรู้ของตน และสามารถปรับปรุง เปลี่ยนแปลง หรือพัฒนาวิธีการเรียนรู้ของตนให้เหมาะสม หรือดียิ่งกว่าเดิมได้    รายละเอียดมีอยู่ในหนังสือเล่มนี้ แล้ว

หนังสือที่มาจากการรวบรวมบันทึกใน บล็อก ที่เขียนเป็นตอนๆ    มีข้อจำกัดที่ความต่อเนื่อง    และเนื่องจากเป็นการเขียนแบบตีความ   โดยผู้เขียนที่ไม่มีความรู้พื้นฐานด้านการศึกษา    ท่านผู้อ่านจึงพึงอ่าน หนังสือเล่มนี้อย่างมีวิจารณญาณ

 

 

วิจารณ์ พานิช

๑ กันยายน ๒๕๕๖

 

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย 

แก้ไขล่าสุด ใน วันจันทร์ที่ 03 มีนาคม 2014 เวลา 21:31 น.
 

ชีวิตที่พอเพียง : ๒๐๑๖. เที่ยวลอนดอน

พิมพ์ PDF

ชีวิตที่พอเพียง : ๒๐๑๖. เที่ยวลอนดอน

เป็นการเที่ยวกับคณะดูงานของสถบันคลังสมองฯ เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๘.๕๖ โดยไป ๓ ที่เท่านั้น  คือ  ชม State Rooms 19 ห้อง ที่ Buckingham Palace, ร้านอาหาร The Victoria Pub, และ Jubilee Garden และ London Eye Millenium Pier  ในช่วงเวลาประมาณ ๖ ชั่วโมง หลังลงจากเครื่องบิน   หลังจากนั้นก็นั่งรถโค้ชต่อไปเมื่อง Northampton ระยะทาง ๑๑๓ ก.ม. ใช้เวลา ๒ ชั่วโมง

ผมไม่ได้ไปลอนดอนประมาณ ๑๕ ปี    ไปทีไรสภาพบ้านเมืองก็เหมือนๆ เดิม เพราะเขามีนโยบายอนุรักษ์ตึกเก่า    แต่ไปคราวนี้เห็นการก่อสร้างมากขึ้น    มีการรื้อตึกเก่าสร้างตึกใหม่มากขึ้นอย่างเตะตา    แต่การก่อสร้างก็ไม่มากเท่าในเยอรมัน และในสิงคโปร์

เครื่องบิน TG 910 ถึงสนามบิน Heathrow ตรงเวลา ๗.๑๕ น.   กว่าจะรวมพลขึ้นรถบัสรถออจากสนามบิน ๙.๐๐ น.   ไปถึงพระราชวังตรงเวลานัด ๙.๔๕ น.   ที่เป็นรอบเข้าชม   มีคนเข้าคิวรออยู่มากมาย    ราคาตั๋วของเราเป็นอัตราผู้สูงอายุ (เกิน ๖๕) ๑๕.๗๕ ปอนด์    พอเข้าไปก็ไปรับ Audio Guide ซึ่งใช้ง่าย สะดวกมาก   คำอธิบายชัดเจน   ว่าส่วนนี้ของวังเป็นส่วนที่พระราชินี เอลิซาเบธ ใช้ต้อนรับแขกเมือง    มี ๑๙ ห้อง    วิจิตรตระการตามาก   ที่ห้องหนึ่งมีโต๊ะนโปเลียน ที่เป็น porcelain ที่ใช้เวลาทำถึง ๖ ปี   เพราะต้องเคลือบสีแล้วอบ ซ้ำแล้วซ้ำอีก   ไฟระย้าก็งดงามมากทุกห้อง    และที่ห้องภาพวาด มีภาพวาดที่สวยงามกว่าที่ไหนๆ ที่เคยชมมา    เขาห้ามถ่ายภาพ  บอกว่าภาพเหล่านี้มีให้ชมที่ www.royalcollection.org.uk

ใช้เวลาชมไม่ถึงชั่วโมงก็จบ   ทางออกเข้าสู่สวน ผ่านร้านขายของที่ระลึก    ออกเดินผ่านสวนไปที่ ทางออก Grosvenor Place    ตอนเดินผ่านสวนผมได้ถ่ายภาพดอกไม้และวิวงามๆ มากมาย

จากทางออกเดินเลียบริมรั้ววัง ไปไกล เพื่อขึ้นรถ    สังเกตว่ารั้ววังต้องติดเหล็กขวาก และต่อลวดหนามขึ้นไปสูงมาก   รวมทั้งมีกล้องวิดีโอเป็นระยะๆ    และมีป้ายติดที่กำแพงว่า การมาเดินในยามวิกาลที่ริมกำแพงนี้มีโทษตามกฎหมาย    เพราะว่ามีคนบ้องๆ ที่ชอบเป็นข่าว พยายามปีนกำแพงนี้บ่อยๆ

ที่ตั้งวังบั๊กกิ้งแฮม ดูเป็นส่วนหนึ่งของเมืองลอนดอนส่วนอื่นๆ อย่างไม่แบ่งแยกชัดเจน   นอกจากกำแพงที่ทำแน่นหนา    แต่ก็ไม่มีคูน้ำ หรือการประดับประดารอบวัง ที่แสดงความศักดิ์สิทธิ์ อย่างทางตะวันออก

ร้านอาหาร Victoria Pub เปิดเที่ยงตรง    และเมื่อเราไปนั่ง ก็รอนานจนคนเริ่มบ่น   แต่เมื่ออาหารมาทุกคนก็ชมว่าอร่อย   เป็นอาหาร ๒ รายการ คือจานหลักกับของหวาน   จานหลักมีหลายอย่าง   ผมกินปลาค้อด (Pan roasted cod supreme, chorizo, confit potatoes, peppers, spinach, pine nuts)  อร่อยและไม่หนักเกิน   ส่วนของหวานก็มีหลายอย่าง ผมสั่ง Strawberry sundae อร่อยมาก   สรุปแล้วทั้งของหวานของคาวอร่อยทุกอย่าง    ไม่มีคนบอกว่าไม่อร่อยสักคนเดียว    ผมถามว่าใครแนะนำ ดร. นงเยาว์ ตอบว่า ศ. ดร. ปิยะวัติ บุญ-หลง

แล้วรถพาข้ามแม่น้ำเทมส์ไปปล่อยลงที่ Jubilee Gardens ซึ่งน่าจะแปลว่าสวนเฉลิมพระเกียรติ ครองราชย์ ๖๐ ปี   เพิ่งเปิดเมื่อเดือนตุลาคม ปีที่แล้ว    เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจที่ดีมาก   มีคนมาแสดงหลายอย่าง    ผมเดินข้ามสะพาน Hungerford Footbridge ไปอีกฟากหนึ่งของแม่น้ำเทมส์   ไปพบสวน Whitehall Gardens    เป็นสวนขนาดเล็ก ที่มีต้นไม้และดอกไม้สวยงามมาก

จากสะพาน Hungerford ถ่ายภาพแม่น้ำ เทมส์ และลอนดอน อาย ได้สวยงาม

วันที่ ๑๓ ก.ย. ตอนบ่าย มีเวลาชั่วโมงเศษๆ    ที่สมาชิกในคณะส่วนใหญ่ไปซื้อของ   ผมกับ รศ. ดร. บุญเจริญ ศิริเนาวกุล คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มจธ.   ไปชม British Museum โดยมีหนูตาว นศ. PhD MD มหาวิทยาลัยมหิดล ที่ไปทำวิจัยเรื่องไข้เลือดออก ที่มหาวิทยาลัยอิมพีเรียล เป็นไกด์ นำทางด้วยไอโฟน   จึงพบว่า ระบบนำทางด้วยไอโฟนในลอนดอน เขามีให้เลือกว่าจะเดินทางด้วยรถยนต์  รถใต้ดิน  รถเมล์  หรือเดิน   สะดวกจริงๆ

เนื่องจากมีเวลาที่พิพิธภัณฑ์เพียง ๑๕ นาที   จึงไม่มีเรื่องจะเล่า    นอกจากบอกว่ามันใหญ่โตมโหฬารมาก    น่าไปชมมาก โดยสิงห์พิพิธภัณฑ์ต้องจัดเวลาสัก ๒​ ๓ วัน จึงจะชมได้ทั่ว    และในตอนที่ผมไปเดิน คนมาชมแน่นมาก    ต่างจากที่เบอร์มิงแฮม มีคนชมไม่กี่คน

 

 

วิจารณ์ พานิช

๙ ก.ย. ๕๖

แก้ไขล่าสุด ใน วันจันทร์ที่ 03 มีนาคม 2014 เวลา 21:52 น.
 

มหาวิทยาลัยอังกฤษ : ๑. มาตรฐานอาจารย์สอนมืออาชีพ

พิมพ์ PDF

มหาวิทยาลัยอังกฤษ : ๑. มาตรฐานอาจารย์สอนมืออาชีพ

ผมร่วมคณะศึกษาดูงานของสถาบันคลังสมอง ไปสหราชอาณาจักร ระหว่างวันที่ ๘ ๑๓ ก.ย. ๕๖   โดยมีเป้าหมายในใจว่า ต้องการไปดูว่าการทำหน้าที่อาจารย์ในมหาวิทยาลัยของอังกฤษ ต้องเผชิญการเปลี่ยนแปลง อย่างไรบ้าง เพราะอะไร เขามีการจัดระบบการทำงานอย่างไร

เอกสารชิ้นหนึ่งที่ได้รับ  ให้อ่านก่อนเดินทางคือ The UK Professional Standards Framework for teaching and supporting learning in higher education, 2012 (UKPSF)  ซึ่งเมื่ออ่านแล้วก็รู้ทันทีว่า มีความพยายามพัฒนากรอบมาตรฐานการเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยในอังกฤษ โดยมีวัตถุประสงค์ ๕ ประการ

๑. เพื่อสนับสนุนการพัฒนาบุคลากรที่ทำหน้าที่สอนและสนับสนุนการเรียน   ทั้งพัฒนาบุคลากรใหม่ และพัฒนาบุคลากรอย่างต่อเนื่อง

๒. ส่งเสริมพลวัตของการเรียนรู้   ผ่านการสร้างสรรค์  นวัตกรรม  และการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง   ในหลากหลายบริบททางวิชาการ

๓. แสดงความเป็นมืออาชีพในด้านการเรียนการสอน

๔. ให้ความมั่นใจในความหลากหลายและคุณภาพของการเรียนการสอน  ที่นักศึกษาได้รับ

๕. ส่งเสริมให้บุคคลและสถาบันได้รับการรับรอง ว่ามีการจัดการเรียนรู้ที่มีคุณภาพให้แก่นักศึกษา    โดยรวมทั้งผ่านการทำหน้าที่อื่นที่กว้างกว่าการสอน เช่นการวิจัย และงานบริหาร

 

 

กรอบมาตรฐานนี้ ประกอบด้วย ๓ ส่วนที่เชื่อมโยงสัมพันธ์กัน  คือ กิจกรรม (Area of Activity) หรือสมรรถนะ(Competencies) ในการจัดการเรียนรู้ และสนับสนุนการเรียนรู้ความรู้หลัก (Core Knowledge), และเกณฑ์คุณค่าในการเป็นอาจารย์(Professional Values)   โดยมีองค์ประกอบย่อยของแต่ละส่วนดังนี้

 

Area of Activity

A1   ออกแบบและวางแผนกิจกรรมการเรียนรู้ และ/หรือ โปรแกรมการเรียนรู้

A2   สอน และ/หรือ สนับสนุนการเรียนรู้

A3   ประเมิน (Assess) และให้การป้อนกลับ (feedback) แก่ผู้เรียน

A4   จัดบรรยากาศการเรียนรู้ และแนวทาง ให้นักศึกษาได้แนวทางการเรียนรู้  และการสนับสนุนการเรียนรู้ ที่ดี

A5   ร่วมในกิจกรรมการพัฒนาวิชาการ (professional development) ด้าน สาขาวิชา และกระบวนการเรียนรู้ในสาขาวิชา   รวมทั้งการวิจัย  การค้นคว้าสร้างความรู้ (scholarship)   และการประเมินกิจกรรมการทำหน้าที่อาจารย์มหาวิทยาลัย

 

Core Knowledge

K1   ความรู้ในวิชานั้นๆ

K2   วิธีการที่เหมาะสมในการสอน การเรียน และการประเมิน   ตามระดับของหลักสูตร

K3   นักศึกษาเรียนรู้อย่างไร  ทั้งโดยทั่วๆ ไป และในสาขาวิชาที่ตนสอน

K4   วิธีใช้ และคุณค่า ของเทคโนโลยีเพื่อการเรียนรู้ที่เหมาะสม

K5   วิธีการประเมินประสิทธิผลของการสอน

K6    ผลของการประกันคุณภาพ และการเพิ่มคุณภาพ สำหรับกิจกรรมวิชาการ และปฏิบัติการทางวิชาชีพ   เน้นที่กิจกรรมการสอนเป็นพิเศษ

 

Professional Values

V1   เคารพผู้เรียนเป็นรายคน  และเคารพชุมชนการเรียนรู้ที่หลากหลาย

V2   ส่งเสริมให้ผู้เรียนมีโอกาสได้รับการศึกษาในระดับอุดมศึกษาอย่างเท่าเทียมกัน

V3   ใช้วิธีการที่มีหลักฐานยืนยันผลสัมฤทธิ์ จากการวิจัย หลักฐานทางวิชาการ (scholarship)  และจากการพัฒนาอาจารย์

V4   ตระหนักในบริบทสังคมวงกว้างที่อุดมศึกษาจะต้องทำงานด้วย   ที่ปฏิบัติการทางวิชาชีพ จะต้องเอาใจใส่

 

อ่านเอกสารนี้แล้ว ผมนึกถึงคำบรรยายของ ศดรสุภา เพ่งพิศ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาการสาธารณสุขอาเซียนมหาวิทยาลัยมหิดล ในการประชุม retreat ของสภามหาวิทยาลัยมหิดล เรื่อง Transformative Education เมื่อวันที่ ๒๓ ส.ค. ๕๖   โดยที่ ศ. ดร. สุภา ไปเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยในประเทศอัฟริกาใต้อยู่ ๑๐ ปี จนได้ตำแหน่งศาสตราจารย์    จึงคุ้นกับระบบการเรียนการสอนของประเทศนั้น   ซึ่งใช้ระบบอังกฤษ

ท่านเล่าว่า คนที่จบปริญญาเอก หากต้องการเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัย ต้องไปเข้ารับการอบรมการเป็น moderator (ทำหน้าที่สอน) และการเป็น assessor (ทำหน้าที่ประเมิน นศ.)    และสอบผ่านจึงจะเป็นอาจารย์ได้   โดยหน่วยงานที่รับผิดชอบเรื่องนี้คือSAQA (South African Quality Authority)     ผมฟัง ดร. สุภา แล้วรู้สึกว่า หน่วยงานนี้ในประเทศไทยคือ ONESQA หรือ สมศ. นั่นเอง   แต่ทำงานต่างกัน   ที่อัฟริกาใต้ SAQA เขาทำงาน ส่งเสริมและวางระบบคุณภาพ   ไม่ใช่เน้นการประเมินอย่าง สมศ. ของไทย

ผมได้ข้อสรุปสำหรับการทำหน้าที่อาจารย์มหาวิทยาลัยในศตวรรษที่ ๒๑ ว่าต้องมีคุณสมบัติ ๓ ด้าน   คือ (๑) ด้านเนื้อวิชา  (๒) ด้านการเรียนการสอน การสนับสนุนการเรียนรู้ และการประเมิน  (๓) ด้านคุณค่า หรือจริยธรรม ของการเป็นอาจารย์    โดยต้องเป็นผู้เรียนรู้ตลอดชีวิตในคุณสมบัติทั้ง ๓ ด้านนั้น   โดยในต่างประเทศหน่วยงานประกันคุณภาพ ทำหน้าที่จัดการระบบนี้   แต่ในบ้านเราไม่มีหน่วยงานที่ทำหน้าที่ อย่างแท้จริง    น่าจะเป็นหน้าที่ ของ สกอ.   แต่ สกอ. ก็อ่อนแอ ไม่มีความสามารถที่จะทำหน้าที่นี้ได้

วันที่ ๙ ก.ย. ๕๖ เมื่อได้ฟังการนำเสนอเรื่อง UKPSF and the Continuing Professional Development Programme in the UK โดย Dr. Jeanne Keay, Assistant Director and Head of International Strategy, HEA (Higher Education Academy)ที่ Sunley Conference Centre  ผมก็สว่างวาบ ว่าประเทศอังกฤษเขามีวิธีบริหาร การเปลี่ยนแปลงอย่างแยบยล และเป็นขั้นตอนระยะยาวอย่างน่าชื่นชมยิ่ง    โดยมี PSF (Professional Development Framework) เป็นตัวช่วยอย่างหนึ่ง    แต่ที่น่าสนใจยิ่งกว่าคือวิธีที่เขาค่อยๆ ดำเนินการให้มีอาจารย์มหาวิทยาลัย ได้รับยกย่องตามเกณฑ์คุณสมบัติผู้สอน (Descriptor) ซึ่งมี ๔ ระดับ   ตาม Descriptor 1 – 4  ซึ่งจะได้รับยกย่องเป็น Associate Fellow, Fellow, Senior Fellow, และ Principal Fellow ตามลำดับ   โดยการยกย่องนี้มีอายุ ๓ ปี ไม่เป็นการถาวรตลอดชีพ   เพราะสมัยนี้ทุกสิ่งทุกอย่างเปลี่ยนแปลงเร็วมาก   เคล็ดลับในการจัดการคือ เขาไม่บังคับ

การมี fellow ด้านการจัดการเรียนการสอน ๔ ระดับ    เป็นการบอกไปในตัวว่าทักษะและความรู้ ด้านการเรียนการสอนนั้น ต้องมีการเรียนรู้และพัฒนา อยู่ตลอดเวลา โดยเขามีช่องทางให้ได้คุณวุฒิ (ย้ำว่าเป็นคุณวุฒิชั่วคราว ๓ ปีนี้ ๒ ช่องทาง    คือ (เข้ารับการอบรมโดยหน่วยงานที่ HEA รับรอง    (๒)​ ช่องทางประสบการณ์ โดยเขียน portfolio ของตนตามแบบฟอร์มที่กำหนด  เสนอ HEAเพื่อส่ง assessor ไปประเมิน    ตอนรับประทานอาหารเที่ยง ผมนั่งคุยกับ Dr. Caroline Stainton, Academic Lead for Reward and Recognition and Deputy Head, HEA   เธอบอกว่ากำลังเตรียมตัว apply เพื่อให้ได้รับ Principal Fellow   ผมปากหนัก ลืมถามว่าต้องเตรียมตัวอย่างไรบ้าง

ทั้งหมดนั้น เขาเรียก CPD (Continuous Professional Development) Scheme   โดยเป็น scheme ที่มีความยืดหยุ่นตามสาขาวิชา และตามลักษณะของแต่ละสถาบันอุดมศึกษา

ผมคิดว่า นี่คือวิธีการที่ สรพ. (พรพ. ในช่วงก่อตั้ง) ใช้ในการดำเนินการพัฒนาระบบคุณภาพโรงพยาบาล   โดยเรียนรู้หลักการจากต่างประเทศ   เอามาคิดเกณฑ์ของไทยเอง    สร้างผู้ตรวจเยี่ยมหรือผู้ประเมิน (assessor) ของเราเอง จากคนที่ทำงานในระบบบริการโรงพยาบาลนั่นเอง    และใช้ HA Forum ประจำปี เป็นเวทีเรียนรู้ (และแลกเปลี่ยนเรียนรู้) ต่อเนื่อง   ดำเนินการเรื่อยมาจนปัจจุบัน    โดยมี สปสช. ซึ่งมีเงินปีละกว่าแสนล้าน ซื้อบริการการดูแลสุขภาพจากโรงพยาบาลต่างๆ    ช่วยสร้าง incentive ให้แก่ รพ. ที่พัฒนาระบบคุณภาพ และผ่านการประเมินของ สรพ.   รพ. เหล่านี้จะได้รับค่าตอบแทน การให้บริการแต่ละครั้ง เพิ่มขึ้น ๗๐ บาท

ต้องจับหลักการเรียนรู้ต่อเนื่อง ของอาจารย์ผู้สอนให้มั่น   แล้วดำเนินการยกย่องตามระดับของ สมรรถนะ   ก็จะช่วยให้อาจารย์สอนเป็นมืออาชีพด้านการเรียนการสอน   จัดการเรียนรู้อย่างมีหลักการมากขึ้น    เกิดผลดีต่อผลสัมฤทธิ์ในการเรียนรู้ของศิษย์   ซึ่งเป็นเป้าหมายสุดท้าย    และตัวอาจารย์ก็จะเป็นผู้เรียนรู้ (จากการทำงาน) ตลอตชีวิต    หรือเป็นอาจารย์มืออาชีพนั่นเอง

ผมแปลกใจ ที่ตลอดเวลา ๕ วันของการดูงาน   ไม่มีการนำเสนอที่ย้ำว่า อาจารย์ต้องรวมตัวกัน ทำงานเป็นทีม ร่วมมือกันทำงานและเรียนรู้จากประสบการณ์การทำงาน ที่เรียกว่า PLC (Professional Learning Community)    แต่เขาเน้น partnership มากในทุกที่

ส่วน UKSPF มีการเอ่ยถึงในทุกที่ที่เราไปดูงาน   และเอ่ยในเชิงบวก ว่าเป็นเครื่องมือให้เขาพัฒนาอาจารย์  อย่างต่อเนื่องได้สะดวกขึ้น    ต่างจากปฏิกิริยาของสถาบันอุดมศึกษาไทย ต่อ TQF อย่างหน้ามือกับหลังมือ

 

 

วิจารณ์ พานิช

๑๐ ก.ย. ๕๖  เพิ่มเติม ๑๓ ก.ย. ๕๖

Sunley Conference Centre, U of Northampton  และบนเครื่องบินการบินไทย กลับกรุงเทพ

 

 

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย 

แก้ไขล่าสุด ใน วันจันทร์ที่ 03 มีนาคม 2014 เวลา 22:01 น.
 

การเติบโตทางเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียวจะไม่ขจัดความยากจน

พิมพ์ PDF
ธนาคารโลกตั้งเป้าลดความยากจนแบบรุนแรงให้เหลือน้อยกว่าร้อยละ ๓ ซึ่งจะไม่บรรลุ หากใช้มาตรการกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว เพราะกลไก trickle down ให้ผลจำกัด จะได้ผลรัฐต้องมีมาตรการ trickle up ร่วมด้วย คือสร้างกลไกช่วยให้คนจนแข็งแรงขึ้น ลุกขึ้นมาช่วยตัวเองได้ เช่นเพิ่มโอกาสเข้าถึงคุณภาพการศึกษาที่มีคุณภาพ เพิ่มโอกาสมีภาวะโภชนาการที่ดี สร้างโอกาสเข้าถึงบริการสุขภาพที่ดี

การเติบโตทางเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียวจะไม่ขจัดความยากจน

บทความ Growth alone will not end poverty เขียนโดยศาสตราจารย์ Kaushik Basu แห่งมหาวิทยาลัย คอร์เนล ที่มาทำงานชั่วคราวที่ธนาคารโลก ในฐานะ Chief Economist และ Senior Vice President ของธนาคารโลก    บอกเราพร้อมหลักฐานจากการวิจัยว่า    ในช่วงเวลา ๒๐ ปี จาก 2010 ถึง 2030 หากประเทศต่างๆ มีอัตราเติบโตทางเศรษฐกิจเท่ากับปัจจุบัน    สัดส่วนของคนยากจนจะลดลงจาก ร้อยละ ๑๗.๗ ในปี 2010 เหลือร้อยละ ๗.๗ ในปี 2030    แต่ถ้าอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงเท่ากับช่วงทศวรรษที่ 2000    สัดส่วนของคนยากจนจะเหลือร้อยละ ๕.๕

ผลการวิจัยบอกว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างเดียวไม่เพียงพอสำหรับการขจัดความยากจนแบบรุนแรงให้หมดไป

เขานิยามความยากจนแบบรุนแรงว่าหมายถึงมีความสามารถบริโภคต่ำกว่าวันละ ๑.๒๕ ดอลล่าร์สหรัฐหรือ ๓๙ บาท โดยปรับตามค่าครองชีพของท้องถิ่นแล้ว

เขาบอกว่า ธนาคารโลกตั้งเป้าลดความยากจนแบบรุนแรงให้เหลือน้อยกว่าร้อยละ ๓    ซึ่งจะไม่บรรลุ หากใช้มาตรการกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว    เพราะกลไก trickle down ให้ผลจำกัด    จะได้ผลรัฐต้องมีมาตรการ trickle up ร่วมด้วย   คือสร้างกลไกช่วยให้คนจนแข็งแรงขึ้น ลุกขึ้นมาช่วยตัวเองได้    เช่นเพิ่มโอกาสเข้าถึงคุณภาพการศึกษาที่มีคุณภาพ    เพิ่มโอกาสมีภาวะโภชนาการที่ดี    สร้างโอกาสเข้าถึงบริการสุขภาพที่ดี

วิจารณ์ พานิช

๑๙ ต.ค. ๕๖

 

 

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย 

แก้ไขล่าสุด ใน วันจันทร์ที่ 03 มีนาคม 2014 เวลา 23:07 น.
 

ชีวิตที่พอเพียง : ๒๐๑๘. ระลึกรู้ของมือถ่ายภาพ

พิมพ์ PDF

เมี่อไปสัมผัสบรรยากาศใดๆ ผมจะหาทางถ่ายภาพเก็บไว้    เพื่อนำมาสังเกตเพิ่มเติม   ในบางกรณีก็เพื่อได้ซึมซับ หรือสัมผัสสุนทรียภาพ ที่ละเมียดละไม   และเพื่อนำมาไตร่ตรองตรวจตราภายหลัง ว่าวิธีถ่ายภาพให้งาม ทำอย่างไร   ถือเป็นการเรียนรู้อย่างหนึ่ง

มักจะมีคนมาเสนอบริการถ่ายภาพตัวผม กับวิวสถานที่นั้นๆ    ซึ่งผมมักจะปฏิเสธ   ด้วยคำตอบว่า ผมไม่ชอบถ่ายรูปตัวเอง    ชอบถ่ายรูปคนอื่นมากกว่า

แต่ถ้าเขามาขอถ่ายรูปด้วย ผมจะไม่ปฏิเสธ   ถือว่าเป็นการที่ผมให้เกียรติเขา

ผมไม่เข้าใจคุณประโยชน์ของการยึดถือแนวปฏิบัตินี้   จนมาคุยกับสาวน้อยบนโต๊ะอาหารเย็นวันที่ ๑๕ ก.ย. ๕๖   หลังกลับมาจากไปดูงานที่อังกฤษหมาดๆ

ผมระลึก หรือปิ๊งแว้บขึ้นว่า การที่ผมไม่สนใจถ่ายรูปตนเอง    ทำให้ผมมีปัจจุบันขณะกับสิ่งแวดล้อม รอบตัว    ผมจึงสังเกตเห็นวิวหรือสิ่งสวยงามที่อยู่โดยรอบในขณะนั้น    ผมจึงมีภาพถ่ายจากมุมที่คนอื่นไม่มี   มีภาพถ่ายสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ที่งดงามที่คนอื่นไม่เห็น

การที่คนเรามัวคิดถึงตนเอง    ทำให้เราพลาดโอกาสเห็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่ แปลกใหม่ หรือสวยงาม ที่อยู่โดยรอบตัวเรา

เมื่อลดตัวตนลงได้   ความงดงามของสรรพสิ่งรอบตัวก็ปรากฏ    ทั้งที่สัมผัสได้ด้วยจักษุประสาท    และจักษุประสาทส่วนขยาย (คือกล้องถ่ายรูป)   และที่สัมผัสได้ด้วยประสาทรับรู้แบบอื่น

เมื่อลดตัวตนลงได้ โลกจึงงดงามขึ้น

 

วิจารณ์ พานิช

๑๕ ก.ย. ๕๖

แก้ไขล่าสุด ใน วันจันทร์ที่ 03 มีนาคม 2014 เวลา 23:21 น.
 


หน้า 382 จาก 557
Home

About Us

ศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ (ศบม.) เป็นองค์กรที่พัฒนาและจัดทำโครงการเพื่อทำประโยชน์ให้สังคม เป็นองค์กรสนับสนุนการดำเนินงานของภาครัฐ ช่วยแก้ปัญหาผู้ประกอบการภาคธุรกิจบริการที่ขาดแคลนบุคลากรที่มีมาตรฐานในการให้บริการ
อ่านเพิ่มเติม

มูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ ์

 iHDC Profile
บัญชีรายชื่อกรรมการ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียน การเปลี่ยนแปลงกรรมการของมูลนิธิ
เอกสารประชาสัมพันธ์ โครงการ HMTC.pdf
เอกสารแนะนำโครงการ HMTC 1.pdf
เอกสารโครงการ HMTC 2 คุณสมบัติผู้เข้าร่วมโครงการ.pdf
iHDC นิติบุคคล.pdf
iHDC บุคคล.pdf
iHDC บุคคลเครือข่าย.pdf
รายงานการประชุม 6 มีนาคม 2560.pdf
ข้อบังคับมูลนิธิ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียนจัดตั้งมูลนิธิ
Ihdc-Profile and Roadmap 2016-2019 Mar 23 2560.pdf
รายงานการประชุมใหญ่คณะกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ 2559.pdf
คำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ สาขาวิชาชีพ.pdf
รายงานการประชุมใหญ่วันที่ 18 ธ ค 2558 v 3.pdf
รายงานการประชุม วันที่ 24 ธันวาคม 2557 updated 4 มีนาคม 2558.pdf
iHDC-invitation Letter.doc
iHDC-Member Form Thai.doc
iHDC-Member Form English.doc
รายงานการประชุมกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ วันที่ 15 มกราคม 2556 ฉบับสมบูรณ์


thaibetter
พัฒนาประเทศไทยแบบทวีคูณ และยั่งยืน ( ททค )

Login


แบบสำรวจ

สถิติเว็บไซด์

สมาชิก : 5602
Content : 3043
เว็บลิงก์ : 26
จำนวนครั้งเปิดดูบทความ : 8590755

facebook

Twitter


ล่าสุด

บทความเก่า