Thaiihdc.org

  • เพิ่มขนาดตัวอักษร
  • ขนาดตัวอักษรปกติ
  • สดขนาดตัวอักษร
Thaiihdc.org

พ่อแม่นั้นสำคัญไฉน (ต่อการปลูกฝังนิสัยลูก)

พิมพ์ PDF
เด็กจะมีพฤติกรรมที่บ้าน กับที่โรงเรียนแตกต่างกัน ดังนั้นหากครูต้องการปรับปรุงพฤติกรรมของเด็กที่โรงเรียน เช่นลดความก้าวร้าว หรือขยันเรียนมากขึ้น การปรับปรุงความประพฤติที่บ้านจะไม่ส่งผลต่อพฤติกรรมที่โรงเรียน การแก้ไขต้องเป็นการแก้ไขที่โรงเรียน (school-based intervention)

พ่อแม่นั้นสำคัญไฉน (ต่อการปลูกฝังนิสัยลูก)

บทความเรื่อง Do Parents Matter? เขียนโดยบรรณาธิการของ Scientific American, Jonah Lehrer  จากการสัมภาษณ์ Judith Rich Harris (ผู้เขียนหนังสือ The Nurture Assumption : Why Children Turn Out the Way They Do, 1998, revised 2009)     ตีพิมพ์ในนิตยสาร Scientific American ในปี ค.ศ. 2009    และพิมพ์ซ้ำในหนังสือ The Science of Education ในปี 2012  บอกว่าชีวิตของคนเรานั้น ซับซ้อนยิ่ง   มีปัจจัยที่หลากหลายซับซ้อน ที่กำหนดวิถีชีวิตคนแต่ละคน

เดิมคนเราเชื่อกันว่าพ่อแม่เป็นผู้ “ปั้น” หรือ “ปลูกฝัง” พื้นฐานชีวิตให้แก่ลูก    แต่หนังสือ The Nurture Assumption บอกว่าเราเข้าใจผิด   พ่อแม่มีบทบาทน้อยกว่าที่เราคิดมาก ในส่วนของการกำหนดพฤติกรรมของลูก    เพื่อน (peer group) ต่างหากที่มีอิทธิพลสูงมาก

เขียนแบบนี้ทะเลาะกันตาย   หนังสือ The Nurture Assumption จึงเขียนแบบ “ยั่วให้แย้ง”   เขียนแย้ง ความเชื่อทั่วไป เพื่อหาโอกาสอธิบายเหตุผล    ซึ่งก็ได้ผล เกิดการทำความเข้าใจ หาหลักฐานอิทธิพลของการเลี้ยงดู ของพ่อแม่ กันกว้างขวางกว่าเก่า

ถ้าถามความเห็นของผม ผมว่าพ่อแม่มีส่วนสำคัญมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงชีวิต ๕ - ๗ ปีแรก    ที่บรรยากาศความรักความอบอุ่นใกล้ชิด จะช่วยกระตุ้นการเจริญเติบโตของสมอง    สร้างความสมดุลระหว่าง วงจรสมองส่วน “บนลงล่าง” (เหตุผลความยับยั้งชั่งใจนำ)  และส่วน “ล่างขึ้นบน” (อารมณ์ความรู้สึกนำ)    แล้วเมื่อลูกเริ่มพัฒนาสังคมกับเพื่อน เรียนรู้ที่จะค่อยๆ ดำรงชีวิตอิสระจากพ่อแม่ในช่วงวัยรุ่น ความสำคัญ หรืออิทธิพลของพ่อแม่จะค่อยๆ ลดลง    แต่ผมเชื่อว่าอิทธิพลของพ่อแม่จะไม่มีวันหมดไป

กลับมาที่บทความจากการสัมภาษณ์    เป้าหมายของบทความนี้ ต้องการเปรียบเทียบบทบาทของครู กับบทบาทของพ่อแม่    นักจิตวิทยาตั้งแต่ ฟรอยด์ มาถึง สกินเนอร์ ต่างก็โทษพ่อแม่ (เน้นที่แม่) หากลูกเกเร หรือก่อปัญหาสังคม แต่แฮร์ริสเถียง ว่าการเลี้ยงลูกมีได้หลายวิธี และยังไม่มีหลักฐานว่าวิธีไหนดีกว่ากัน

เขียนอย่างนี้ผมขอเถียงบ้าง   ว่าเรารู้แน่ว่าหลักการเลี้ยงลูกที่ถูกกับการเลี้ยงลูกที่ผิดแยกกันได้ชัดเจน   วิธีที่ผิดคือ ทำให้ลูกขาดความรักความเอาใจใส่    ไม่รู้จักฝึกพัฒนาการด้านจิตใจให้แก่ลูก ดังที่ผมตีความหนังสือ Teaching Kids to Be Good People  ออกเผยแพร่ในบันทึกชุด สอนเด็กให้เป็นคนดี

กลับมาที่ แฮร์ริส ใหม่    เขาบอกว่าเขาต้องการเน้นหลักฐานทางวิทยาศาสตร์   เขาค้นคว้าอย่างละเอียด พบว่าความเชื่อเดิมๆ นั้น เมื่อค้นหาหลักฐาน พบว่าอ่อนเต็มที   และผลการวิจัยใหม่ๆ ที่มีหลักฐานแข็งแรง ค้านความเชื่อเดิม    หลังจากนั้นก็มีงานวิจัยที่รัดกุมมากขึ้น ส่วนหนึ่งเพราะเริ่มมีความเข้าใจว่า พันธุกรรม (nature) มีบทบาทมากในการกำหนดบุคลิก    การศึกษาอิทธิพลของการเลี้ยงดู (nurture) โดยพ่อแม่จึงต้อง ระมัดระวังให้มาก   เพราะจะปะปนกับอิทธิพลของปัจจัยด้านพันธุกรรมได้ง่าย

แฮร์ริส เสนอ Group Socialization Theory และขยายความให้ชัดเจนขึ้นว่า   พัฒนาการทางสังคมของแต่ละคน ประกอบด้วย ๓ ขั้นตอน คือ  (๑) ความสัมพันธ์ (relationship)  ความสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่ลูกอยู่ในส่วนนี้ (๒)​ ปฏิสัมพันธ์ทางสังคม (socialization)   (๓) ปฏิสัมพันธ์กับเพื่อน เพื่อแข่งขันร่วมมือเปรียบเทียบ จนรู้ว่าตนเองถนัดเรื่องอะไร

ทีนี้ก็มาถึงบทบาทครู   แฮร์ริสมีข้อเสนอที่น่าสนใจมาก ว่าเด็กจะมีพฤติกรรมที่บ้าน กับที่โรงเรียนแตกต่างกัน    ดังนั้นหากครูต้องการปรับปรุงพฤติกรรมของเด็กที่โรงเรียน เช่นลดความก้าวร้าว  หรือขยันเรียนมากขึ้น   การปรับปรุงความประพฤติที่บ้านจะไม่ส่งผลต่อพฤติกรรมที่โรงเรียน   การแก้ไขต้องเป็นการแก้ไขที่โรงเรียน (school-based intervention)

เขาอธิบายพฤติกรรมของนักเรียนในชั้นเรียนว่า   เด็กมีแนวโน้มจะแบ่งออกเป็น ๒ กลุ่ม คือเด็กเรียน (pro-school group)  กับเด็กเบื่อเรียน (anti-school group)    แล้วกลุ่มเด็กเบื่อเรียนก็จะค่อยๆ เรียนล้าหลังลง    ครูต้องรู้วิธีป้องกันไม่ให้ชั้นเรียนเกิดการแบ่งกลุ่มเช่นนี้   ซึ่งหากชั้นเรียนเล็ก (เช่น ๒๐ คน) ครูจะดูแลได้ง่ายกว่าชั้นเรียนใหญ่ (เช่น ๔๐ คน)

เขาไม่ได้เขียนว่า วิธีป้องกันเด็กไม่ให้แบ่งกลุ่ม ออกเป็นกลุ่มเด็กเบื่อเรียน ทำอย่างไร   ผมเข้าใจว่าสภาพเช่นนี้เกิดในชั้นมัธยม เมื่อนักเรียนกำลังแสวงหาตัวตน   ว่าตนเองถนัดเรื่องอะไร    หากครูช่วยส่งเสริมให้ศิษย์ค้นพบความถนัดและความชอบของตนเอง ผ่านการเรียนแบบลงมือปฏิบัติ    นักเรียนทุกคนจะได้เป็นคนสำคัญ (คนเด่น) ในบางเรื่อง   ไม่มีใครเลยที่ไม่เด่น   สภาพเบื่อห้องเรียนก็จะไม่เกิดขึ้น   ย่อหน้าสุดท้ายนี้เป็นการเดาของผมเอง   น่าจะมีคนนำไปเป็นหัวข้อวิทยานิพนธ์ปริญญาเอก

วิจารณ์ พานิช

๒๘ ธ.ค. ๕๖

 

 

 

 

 

 

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย 

แก้ไขล่าสุด ใน วันพฤหัสบดีที่ 02 มกราคม 2014 เวลา 13:36 น.
 

คุณค่าของครู

พิมพ์ PDF
เปลี่ยนจุดเน้นจากมาตรฐาน (standards) ไปสู่การดำเนินการ (implementation) ที่จริงมาตรฐานหลักสูตรก็มีความสำคัญ แต่ที่สำคัญกว่าคือจุดสัมผัสระหว่างศิษย์กับครู หรือการดำเนินการจริง ในด้านการเรียนการสอน ส่วนใหญ่มาตรฐานกำหนดไว้ดีมาก แต่ที่จุดของนักเรียน ไม่ได้รับการศึกษาตามมาตรฐานนั้น เพราะครูมีภารกิจอย่างอื่น มากเกินไป และที่สำคัญยิ่งกว่านั้น เมื่อกำหนดมาตรฐานและการสอบ ครูจะถูกบีบให้ “สอนเพื่อสอบ” ซึ่งเป็นหายนะต่อศิษย์ เพราะศิษย์จะได้แค่เรียนวิชา ไม่ได้รับการเรียนรู้ บูรณาการเพื่อพัฒนาการเป็นคนเต็มคน คือไม่เกิด 21st Century Skills

คุณค่าของครู

บทความเรื่อง Stand and Deliver เขียนโดยทีมบรรณาธิการของ Scientific American     ตีพิมพ์ในนิตยสาร Scientific American ในปี ค.ศ. 2011    และพิมพ์ซ้ำในหนังสือ The Science of Education ในปี 2012  บอกว่าครูดีมีค่าล้น และต้องมีวิธีนำคุณค่านั้นมาทำประโยชน์แก่ศิษย์

บทความเริ่มด้วยเรื่องราวของ “ครูที่ดีที่สุดในอเมริกา” Jaime Escalante    ครูคณิตศาสตร์ชั้นมัธยม ที่นักสร้างหนังได้นำชีวิต ของเขาไปสร้างเป็นภาพยนตร์ เรื่อง Stand and Deliver โยงสู่นโยบายส่งเสริมการเรียน แบบบูรณาการ STEM (Science, Technology, Engineering, Mathematics) ในสหรัฐอเมริกา   ที่บทความบอกว่า ต้องการครูสอนวิชา STEM ที่ดี 100,000 คน สำหรับทั่วประเทศ

แต่สภาพที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน (ในสหรัฐอเมริกา) คือในแต่ละปี มีครู STEM 25,000 คน (จากที่มีอยู่เกือบ ๕ แสนคน) ลาออกจาก อาชีพครู   เพราะไม่พึงพอใจในอาชีพ และขาดการสนับสนุนต่อการทำงาน

บทความเสนอว่า จะมีครู STEM ที่ดี ต้องยกระดับสถานะของครู และเปลี่ยนเจตคติของครู ต่ออาชีพของตน   โดยยกตัวอย่าง Jaime Escalante ที่อพยพมาจากประเทศโบลิเวีย   จากอาชีพครูมาเป็น พนักงานถูพื้น    แล้วย้ายไปทำงานเป็นเจ้าหน้าที่เทคนิคของบริษัทอิเล็กทรอนิกส์   แล้วเรียนและสอบ วิทยฐานะครูได้   สมัครเป็นครูที่โรงเรียน Garfield High School ในเมือง ลอส แอนเจลีส โดยยอมรับเงินเดือน ที่ต่ำกว่าเดิม   ในตอนแรกได้รับมอบหมายให้สอนคณิตศาสตร์ชั้นมัธยม   แต่ความยากของวิชาอยู่แค่ระดับชั้น ป. ๕ ในประเทศโบลิเวีย    เขาต้องหาวิธีชักจูงผู้บริหารโรงเรียนให้เชื่อว่านักเรียนสามารถเรียนวิชาคณิตศาสตร์ ระดับสูงกว่านั้นได้   และต่อมาได้แสดงฝีมือสร้างความสำเร็จให้แก่นักเรียนเป็นที่เลื่องลือ

บทความเสนอแนวทางดำเนินการของภาครัฐ (ของสหรัฐอเมริกา) ๓ ประการ    ซึ่งผมคิดว่าเป็นหลักการที่ใช้ได้ในประเทศไทยเช่นเดียวกัน

  1. ใช้พลังครูดีที่มีอยู่แล้ว นี่คือยุทธศาสตร์สำคัญที่สุดในการปรับเปลี่ยนรูปแบบการเรียนรู้   จากการถ่ายทอดความรู้   สู่การเรียนแบบที่นักเรียนลงมือทำ (Active Learning)    โดยเรียนแบบ PBL  และส่งเสริมให้ครูเหล่านี้รวมตัวกันแลกเปลี่ยนเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง จากการดำเนินการพัฒนาศิษย์ด้วยวิธีการใหม่ๆ    ที่เรียกว่า PLC ของครู

ผมเคยเขียนเรื่องการเรียนรู้แบบ PBL ที่นี่ และเขียนเรื่อง PBL โดยใช้ ICT เป็นเครื่องมือ ที่นี่

ผู้เขียนบทความแนะนำให้หาครู STEM ที่มีผลงานดี 5% บนของครูทั้งหมด    แล้วสนับสนุนให้ทำงานได้ดียิ่งขึ้น   โดยวิธีการตามข้อ ๒ และ ๓   รวมทั้งให้เงินเพิ่ม จากเงินเดือนปกติ

  1. จัดเครื่องอำนวยความสะดวกแก่ครู เขายกตัวอย่างครู Escalante ใช้เงินตัวเองซื้อตุ๊กตา มาใช้สอนในชั้นเรียน    เป็นลิงไต่ต้นไม้ขึ้นลง เพื่อแสดง inverse function    กรณีเช่นนี้ ครูไม่ควรต้องใช้เงินตัวเอง    เขาแนะนำให้รัฐจัดโปรแกรมวิจัยแบบ ARPA (Advanced Research Project Agency) ซึ่งในกระทรวงกลาโหมมีโครงการ DARPA (Defense ARPA) วิจัยและพัฒนาอาวุธและเทคโนโลยีเพื่อการสู้รบ   ทางการศึกษาก็ควรมี EARPA (Education ARPA - ชื่อที่ผมตั้งให้เอง) สำหรับพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา    ที่ของประเทศไทยควร เน้นเทคโนโลยีง่ายๆ ราคาไม่แพง   ซึ่งในหลายกรณี มีครูที่คิดค้นขึ้นใช้เองอยู่แล้ว (ครูตามข้อ ๑)   เพียงแต่ค้นหามาพัฒนาให้ดียิ่งขึ้น และผลิตจำนวนมาก ให้ครูเลือกใช้

เทคโนโลยีดังกล่าว ต้องรวมทั้งเทคโนโลยี ดิจิตัล   ที่ใช้เพื่อเป็นเครื่องมือช่วยให้ การเรียนรู้เป็นแบบ active learning   ที่นักเรียนได้ลงมือสร้างสรรค์เพื่อการเรียนรู้ของตน และเพื่อฝึกความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ทำประโยชน์แก่ผู้อื่น   รวมทั้งเพื่อฝึกทักษะเชิงซ้อนที่เรียกว่า 21st Century Skills    โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ใช้เพื่อกลับทางห้องเรียน

การสนับสนุนครูที่สำคัญที่สุดคือ ให้อิสระแก่ครู    และอย่าเอางานที่ไม่ใช่การดูแลศิษย์ ไปถมให้ครู

  1. เปลี่ยนจุดเน้นจากมาตรฐาน (standards) ไปสู่การดำเนินการ (implementation) ที่จริงมาตรฐานหลักสูตรก็มีความสำคัญ   แต่ที่สำคัญกว่าคือจุดสัมผัสระหว่างศิษย์กับครู   หรือการดำเนินการจริง ในด้านการเรียนการสอน    ส่วนใหญ่มาตรฐานกำหนดไว้ดีมาก แต่ที่จุดของนักเรียน ไม่ได้รับการศึกษาตามมาตรฐานนั้น    เพราะครูมีภารกิจอย่างอื่น มากเกินไป    และที่สำคัญยิ่งกว่านั้น เมื่อกำหนดมาตรฐานและการสอบ ครูจะถูกบีบให้ “สอนเพื่อสอบ” ซึ่งเป็นหายนะต่อศิษย์    เพราะศิษย์จะได้แค่เรียนวิชา  ไม่ได้รับการเรียนรู้ บูรณาการเพื่อพัฒนาการเป็นคนเต็มคน   คือไม่เกิด 21st Century Skills

ที่จริงเป้าหมายของบทความนี้ คือกระตุ้นให้ทางการของสหรัฐอเมริกา เอาจริงเอาจังต่อการพัฒนา วิธีการจัดการศึกษา STEM   แต่ในบริบทไทย คำแนะนำ ๓ ข้อข้างบน ใช้ได้ต่อการศึกษาทั้งหมด

ผมเคยเขียนบันทึกเรื่อง STEM ไว้ ที่นี่

วิจารณ์ พานิช

๒๘ ธ.ค. ๕๖

 

 

 

 

 

 

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย 

แก้ไขล่าสุด ใน วันพฤหัสบดีที่ 02 มกราคม 2014 เวลา 12:14 น.
 

การเรียนรู้แบบรู้จริง

พิมพ์ PDF
การเรียนแล้วรู้จริง จะทำให้การเรียนรู้เป็นเรื่องเพลิดเพลิน สนุก และนำความรู้ไปเป็นพื้นความรู้เรียนรู้ต่อเนื่องได้ดี เป็นคุณต่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต

การเรียนรู้แบบรู้จริง

ผมลองใช้ Jing Screen Capture Software อธิบายความหมายของ “การเรียนรู้แบบรู้จริง” (mastery learning) เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในวงกว้าง    ด้วยความเชื่อว่า ครูต้องช่วยส่งเสริมให้ศิษย์ทุกคนเรียนรู้เรื่องต่างๆ ที่สำคัญ (จำเป็น) แบบรู้จริง    ไม่ใช่เรียนรู้แบบผิวเผิน   ผลของการเรียนรู้แบบรู้จริง มีทักษะในการเรียนแบบรู้จริง   จะมีคุณต่อศิษย์ไปตลอดชีวิต   ดูวีดิทัศน์ที่อธิบาย ที่http://screencast.com/t/kA87mw1NdID

วิจารณ์ พานิช

๓๑ ธ.ค. ๕๖

 

 

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย 

 

ชีวิตที่พอเพียง : 2066. เป็นประธานการประชุมห้องย่อย ใน Third Global Forum on Human Resources for Health ที่บราซิล

พิมพ์ PDF
ห้องของเรามีคนมากที่สุด คือเต็มห้อง ประมาณ ๓๐๐ คน ห้องอื่นๆ มีคนประมาณ ๑๐๐ คน รวมแล้วมีคนเข้าห้องย่อยทั้งหมดราวๆ ๗๐๐ คน จากคนที่ลงทะเบียนทั้งหมด ๒,๐๐๐ คน

ชีวิตที่พอเพียง : 2066. เป็นประธานการประชุมห้องย่อย ใน Third Global Forum on Human Resources for Health ที่บราซิล

การประชุม Third Global Forum on Human Resources for Health จัดที่เมืองตากอากาศ ชื่อ Recife ประเทศบราซิล ระหว่างวันที่ 10 - 14 พ.ย. ๕๖  เจ้าภาพคือ WHO กับรัฐบาลบราซิล

ช่วงสายของการประชุมวันที่สอง มีการประชุมห้องย่อยพร้อมกัน ๖ ห้อง   โดยห้องที่ ๔ เรื่อง Transforming and scaling up health professional education and training  จัดโดย Prince Mahidol Award Conference  ผมถูกกำหนดให้เป็นประธาน   โดยผู้ประสานงานคือ อ. วิม หรือ ศ. พญ. วณิชชา ชื่นกองแก้ว   มีผู้พูด ๕ คน จากไทย ๑ คือ อ. วิม, จากอัฟริกา ๒, จากอเมริกาใต้ ๑ คือจากเปรู, และจาก WHO ตัวรองผู้อำนวยการใหญ่ที่รับผิดชอบด้านกำลังคน เป็นผู้พูด

ทีมจัด session นี้ของไทยทำงานตั้งแต่เนิ่นๆ   กำหนดเป้าหมาย หัวเรื่องย่อย และเชิญคนพูดจากประเทศต่างๆ   เมื่อตกลงกันแล้วก็ส่งเรื่องให้ WHO จัดการเชิญวิทยากรอย่างเป็นทางการ   แต่ผู้พูดคนหนึ่งที่อัฟริกา รอแล้วรออีก WHO ก็ไม่เชิญ เวลาผ่านไปประมาณ ๑ เดือน เขาจึงไปรับงานอื่น และขอยกเลิกการมาร่วมเป็นวิทยากร   ทางทีมไทยต้องเชิญวิทยากรคนใหม่อย่างกระทันหัน

๒ วันก่อนการประชุม วิทยากรจากเปรู อีเมล์มาบอก อ. วิม ว่าลูกอายุ ๒ ขวบป่วย มาประชุมไม่ได้   คนนี้ได้รับมอบหมายให้พูดเรื่อง Independent Commission Report on Health Professionals Education Reform, 2010 and Actions Till Now   ผมจึงเสนอให้ ศ. นพ. ภิเศก ลุมพิกานนท์พูดแทน   เพราะ อ. หมอภิเศกรู้เรื่องนี้อย่างดี รู้กิจการของทั่วโลก

การประชุม GF3 นี้จัดแบบไม่พร้อม   การจัดการแย่มาก   พิธีเปิดในวันที่ ๑๐ พ.ย. กำหนดเวลา ๑๗.๓๐ น.  โดยผู้จัดกำหนดให้ผู้ร่วมงานมาเร็วมาก มาถึงตั้งแต่ ๑๖.๐๐ น.  มีความไม่สะดวกต่างๆ เกิดขึ้นมากมาย  และรอจน ๑๘.๑๕ น. ก็ยังไม่เปิด และไม่ประกาศอะไร   ทีมไทยจึงยกทีมกลับ (มาทราบภายหลังว่า เปิดช้าเพราะรอรัฐมนตรี แปลกที่เขาไม่ขอโทษผู้รอ)    ระหว่างที่พิมพ์บันทึกด้วย iPad อยู่ในห้องประชุม วันที่ ๑๑ พ.ย. เวลา ๙.๒๕ น. เจ้าหน้าที่ยังเตรียมไฟ และทดสอบระบบเสียงบนเวทีอยู่   ทั้งๆ ที่เวลาเริ่มงานคือ ๙.๐๐ น.

ตอน ๘.๓๐ น. (วันที่ ๑๑ พ.ย.) ผมถามหาห้องน้ำ   เขาให้ลงไปข้างล่าง ผมไปเดินหา เจ้าหน้าของการประชุมตามไปช่วย พบว่าห้องน้ำล็อค   เขาถามเจ้าหน้าที่อาคาร เขาบอกให้ไปใช้ห้องน้ำหญิง   พอไปถึงพนักงานทำความสะอาดบอกให้ไปใช้ห้องน้ำชาย (ซึ่งไม่เปิด)   ผมต้องไปบอกเจ้าหน้าที่ของการประชุมคนเดิมไปเจรจา (ด้วยภาษาปอร์ตุกีส) ผมจึงได้เข้าห้องน้ำ    และพบว่าเจ้าหน้าที่ทำความสะอาดกำลังล้างห้องน้ำอยู่ เขาไม่มีวัฒนธรรมทำความสะอาดห้องน้ำล่วงหน้าอย่างที่บ้านเรา

การตกแต่งไฟเวทีเป็นอีกหลักฐานว่า คนบราซิลไม่มีวัฒนธรรมเตรียมความเรียบร้อยล่วงหน้า

การประชุมเริ่มเวลา ๑๐.๐๔ น.!   และระบบเสียงมีปัญหาตลอดการประชุม

ทีม PMAC 14 คน หอบสังขารไปบราซิล นั่งเรือบินกว่า ๓๐ ชั่วโมง เพื่อแสดงสปิริตของความร่วมมือระหว่าง PMAC กับ GHWA (Global Health Workforce Alliance) ซึ่งโดนยุบไปแล้ว และ WHO เข้ามารับหน้าเสื่อแทน     เดิมเขาจะขอให้เราโอนเงินให้เขา   เราตอบว่าเราจะจัดการความร่วมมือและการใช้เงินนี้เอง โดยเรารับจัดงาน ๒ ห้องย่อย   และในที่สุดเหลือห้องเดียว

ในช่วงการประชุมในห้องย่อยของเรา ผมต้อนรับและขอบคุณผู้เข้าร่วมประชุมในฐานะประธานคณะกรรมการจัดการประชุม PMAC 2014 เรื่อง Educational  Transformation for Health Equity   ผมบอกว่าทีม PMAC มากัน ๑๔ คน เพื่อมาเก็บประเด็นเอาไปจัดการเสวนาใน PMAC 2014 ให้เกิดการลงมือทำในประเทศสมาชิก ในเรื่องการปฏิรูปการเรียนรู้เพื่อพัฒนาระบบสุขภาพโดยมีเป้าหมายที่ Health Equity

ผมลองถามว่าใครเคยไปร่วมประชุม PMAC บ้าง  มีคนยกมือ ๒ - ๓ คน    ผมบอกว่าการนำเสนอในห้องนี้ โดยใช้เวลา ๙๐ นาทีเป็นเพียง ออเดิร์ฟ   ตัวจานหลักจะอยู่ที่ PMAC 2014 ที่กรุงเทพ เดือนมกราคม 2014

ผมบอกว่า ทีมไทยเราทำงานเป็นทีม ผมในฐานะประธาน มีหน้าที่ทำตัวเป็น "พระประธาน" (Buddha Image) คือนั่งเฉยๆ ส่งเสริมให้คนเก่งๆ เขาทำงาน   และคนเก่งในกรณีนี้คือ อ. วิม   จึงมอบให้ อ. วิมบอกที่ประชุมว่าการประชุม session นี้มีวัตถุประสงค์อะไรบ้าง   ได้แก่ (๑) เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์การปฏิรูปการเรียนรู้ ในเอเซียและอัฟริกา (๒) เพื่อเสนอแนวทางปฏิรูปการเรียนรู้ สู่การเพิ่มคุณภาพและปริมาณบุคลากรสุขภาพ  (๓) เพื่อแลกเปลี่ยนการดำเนินการด้านการเรียนรู้ของบุคลากรสุขภาพ เพื่อการบรรลุมติสมัชชาสุขภาพโลก ที่ WHA 66.23   เมื่อเดือนพฤษภาคม ๒๕๕๖

อ. หมอภิเศก พูดเรื่อง Lancet Commission ได้ยอดเยี่ยม   และ อ. วิมก็เล่าเรื่อง ANHER (Asia - Pacific Network for Health Professional Education Reform) ได้ดี   ส่วนของอัฟริกาเป็นเรื่อง MEPI (Medical Education Partnership Initiative) ดำเนินการในปี ค.ศ. 2010 – 2015 ในโรงเรียนแพทย์ ๑๓ แห่ง ใน ๑๒​ประเทศ    ได้รับเงินสนับสนุนจากสหรัฐอเมริกา ๑๓๐ ล้านเหรียญ     กับเรื่อง Models of Education Reforms for HSS in Africa (AHLMN) ได้รับการสนับสนุนจาก JICA   เป็นการปฏิรูปที่เริ่มมาจากระบบบริการ   ไม่ใช่เริ่มจากระบบการศึกษา

ส่วน Marie-Paule Kieny, ADG ของ WHO พูดบทบาทของ WHO ในการสนับสนุน Education Reform ของ HRH (Human Resources for Health)    ที่เด่นที่สุดคือ WHO Guidelines “Transforming and scaling up health professionals’ education and training”

ช่วงให้ผู้เข้าร่วมประชุมให้ข้อสังเกตและตั้งคำถาม   มีคนให้ความเห็นและตั้งคำถามกันคับคั่ง   ประเด็นสำคัญคือ วิชาชีพด้านสุขภาพมีการขยายตัว มีความหลากหลายของวิชาชีพเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ   แต่การริเริ่มปฏิรูปการเรียนรู้ยังจำกัดอยู่ใน ๓ สาขาหลัก คือแพทย์  สาธารณสุข และพยาบาล เท่านั้น    จึงมีผู้ลุกขึ้นมาเสนอให้ดำเนินการให้ครอบคลุมทุกสาขาวิชาชีพ

เรื่องความสำคัญของ HRH นี้เป็นที่ตระหนักกันเรื่อยมา   ในระยะหลังก็มีการประชุม 1st Global Forum of HRH ที่นคร Kampala, ประเทศ อูกันดา   และมีการประกาศ Kampala Declaration เมื่อ ค.ศ. 2008   ต่อมา มีการประชุม 2nd Global Forum of HRH ร่วมกับ PMAC 2011 ที่กรุงเทพ  พร้อมกับประกาศ  by Plus-HD-1.5" style="color: #0022cc; text-decoration: underline !important; background-color: transparent !important; border: none !important; display: inline !important; float: none !important; height: auto !important; margin: 0px !important; min-height: 0px !important; min-width: 0px !important; padding: 0px !important; vertical-align: baseline !important; width: auto !important;">Bangkok Declaration    และปลายปี 2010 มีการประกาศรายงานผลการศึกษาของ Independent Commission on Health Professionals Education Reform    แล้วในเดือนมกราคม ๒๕๕๗ จะมี PMAC 2014 เรื่อง Educational Reform for Health Equity

คุณหมอสุวิทย์ มาบอกในภายหลังว่า ห้องของเรามีคนมากที่สุด คือเต็มห้อง ประมาณ ๓๐๐ คน   ห้องอื่นๆ มีคนประมาณ ๑๐๐ คน   รวมแล้วมีคนเข้าห้องย่อยทั้งหมดราวๆ ๗๐๐ คน จากคนที่ลงทะเบียนทั้งหมด ๒,๐๐๐ คน

เราไปเห็นตัวอย่างที่ดีของการจัดการประชุมอย่างหนึ่งคือ ระบบ Barcode ที่ป้ายประจำตัวผู้เข้าร่วมประชุม   เมื่อเข้าประชุมห้องใด ต้องให้เจ้าหน้าที่ scan barcode เสียก่อน   ทำให้ติดตามได้ว่าผู้เข้าร่วมประชุม เข้าร่วมแค่ไหน และเข้าห้องใด

วิจารณ์ พานิช

๑๓ พ.ย. ๕๖

บนเครื่องบิน จากเซาเปาโล ไปดูไบ

 

 

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย 

แก้ไขล่าสุด ใน วันอังคารที่ 31 ธันวาคม 2013 เวลา 10:30 น.
 

การศึกษากับอิสรภาพ

พิมพ์ PDF
ผิดเพื่อการเรียนรู้ ไม่ใช่เรื่องน่าอับอาย และไม่มีโทษแต่ประการใด

การศึกษากับอิสรภาพ

ในการประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ผู้ดำเนินการโครงการวิจัยกระบวนการพัฒนาครู ด้วยระบบหนุนนำต่อเนื่อง (Teacher Coaching) ระยะที่ ๒   เมื่อวันที่ ๒๔ พ.ย. ๕๖ ที่จังหวัดสมุทรสาคร   หลังจากทีมงานของ ๙ จังหวัด แลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่องราวความสำเร็จ  และจุดอ่อนที่ต้องแก้ไข กันเป็นกลุ่มย่อย   แล้วเปลี่ยนเป็นทีมเดียวกันรวมกลุ่มประชุมเพื่อวางแผนการไปดำเนินการต่อ

ผมนั่งฟังทั้งในกลุ่มย่อย และฟังการรายงานผลการประชุมกลุ่มอย่างตั้งใจ    และบอกกับตัวเองว่า หากจะให้ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาสูงขึ้น   สิ่งที่ครูและนักเรียนต้องการมากที่สุดคือ อิสรภาพ ทั้งที่เป็นอิสรภาพจากคำสั่งการจากหน่วยเหนือ ที่สั่งการเพื่อผลงานของตน  หรือเพื่อผลประโยชน์ของตน   อิสรภาพจากงานที่ไม่ช่วยให้ผลสัมฤทธิ์ในการเรียนของนักเรียนดีขึ้น   หรือกลับทำให้ครูต้องทิ้งศิษย์ไปทำงานตามคำสั่ง

ในวงสนทนา มีคนเล่าว่า มักจะมีการจัดการประชุมใหญ่โต มี organizer มาจัดพิธี เพื่อเชิญ “ผู้ใหญ่” มาเป็นประธานในพิธี   และเพื่อให้สมเกียรติ ต้องเกณฑ์นักเรียนและครูไปในงาน    ทำให้ต้องปิดการเรียน ไปเป็นไม้ประดับในงาน

แต่อิสรภาพที่สำคัญกว่า คือ อิสรภาพจากถูก-ผิด ในขั้นตอนของการเรียนรู้ อิสรภาพจากความกลัวว่าจะถูกหาว่าโง่   ไม่กังวลหรือกลัวว่าคำตอบของตนจะถูกหรือผิด   เพราะ “ถูกก็ได้เรียนรู้   ผิดก็ได้เรียนรู้”    เป้าหมายที่แท้จริงคือการเรียนรู้   ไม่ใช่การตอบคำตอบที่ถูกต้อง ในระหว่างกระบวนการเรียนรู้

ครูอาจารย์ ต้องทำตัวเป็นตัวอย่างแก่ศิษย์    ว่าครูก็ทำผิดได้ เข้าใจผิดได้ มีความรู้ผิดๆ ได้    แต่เมื่อนำมาเข้ากระบวนการเรียนรู้   ความเข้าใจผิดในเรื่องความรู้ก็จะถูกแก้ไข   เกิดความรู้ความเข้าใจที่ก้าวหน้า และถูกต้องยิ่งขึ้น   นักเรียนนักศึกษา ซึ่งอยู่ระหว่างศึกษาเล่าเรียน จึงต้องไม่กลัวที่จะแสดงความคิดเห็น เพื่อซักซ้อมความเข้าใจของตน  และเพื่อต่อยอดความรู้ของตนขึ้นไป

ผิดเพื่อการเรียนรู้ ไม่ใช่เรื่องน่าอับอาย   และไม่มีโทษแต่ประการใด

หนึ่งคำถาม มีได้หลายคำตอบ    คำอธิบายวิธีคิดไปสู่คำตอบ สำคัญกว่าตัวคำตอบ

ยิ่งสำคัญกว่า คือ อิสรภาพจากความกลัวการประเมิน ไม่กลัวการประเมิน   ในที่ประชุมวันนี้ มีคนบอกว่า ครูทั้งเกลียดทั้งกลัวการประเมิน    ซึ่งผมตีความว่า เพราะครูกลัวว่าสิ่งที่ตนทำนั้น จะผิดหรือไม่ดีพอ กลัวเสียหน้า กลัวสอบตก    ซึ่งเป็นกระบวนทัศน์ที่ผิด

ซึ่งเรื่องนี้โทษครูไม่ได้   ต้องโทษครูของครู   ที่วางท่าทีเรื่องการประเมินผิด   หลงเน้นที่การตัดสินถูก-ผิด    หรือการประเมินแบบ summative evaluation   ไม่เน้นที่การประเ���ินเพื่อพัฒนา (formative assessment)    ซึ่งหมายความว่า การประเมินระหว่างการทำงาน/การเรียนรู้ ไม่ใช่ตัวตัดสิน   ตัวตัดสินคือผลสัมฤทธิ์ของการเรียนรู้

ทั้งครูและศิษย์ ต้องการความมั่นใจ ในกระบวนการ “ทำไปเรียนรู้ไป ของตน”    ไม่กังวลกับถูก-ผิด    แต่มั่นใจในกระบวนการที่ตนคิด-ทำ-คิด และคิดร่วมกัน ไตร่ตรองร่วมกัน   เพื่อการเรียนรู้ร่วมกัน ทั้งศิษย์ทั้งครู    ปลอดภัย (หรือเป็นอิสระ) จากคนในหน่วยเหนือ ที่คอยมาชี้ถูกชี้ผิด

อิสรภาพ อีกประการหนึ่ง คือ อิสรภาพจากสูตรสำเร็จ ที่หน่วยเหนือกำหนด “พิมพ์เขียว” สั่งลงมาให้ถือปฏิบัติ ในลักษณะของ “หลักสูตรสำเร็จรูป”   ให้ครูทำตามโดยไม่ต้องคิด    เพราะในการเรียนรู้ในศตวรรษที่ ๒๑ นักเรียนต้องเรียนจากการลงมือปฏิบัติและคิดด้วยตนเอง   และครูทำหน้าที่คิด/กำหนดกระบวนการเรียนรู้ที่เหมาะสมต่อศิษย์กลุ่มนั้นๆ   คือทั้งครูและศิษย์ ได้ “คิดและทำ” และ “ทำและคิด” ด้วยตนเอง   เพื่อบรรลุเป้าหมายของการเรียนรู้ ที่กำหนด

วิจารณ์ พานิช

๒๖ พ.ย. ๕๖

 

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย 

แก้ไขล่าสุด ใน วันอังคารที่ 31 ธันวาคม 2013 เวลา 10:32 น.
 


หน้า 404 จาก 558
Home

About Us

ศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ (ศบม.) เป็นองค์กรที่พัฒนาและจัดทำโครงการเพื่อทำประโยชน์ให้สังคม เป็นองค์กรสนับสนุนการดำเนินงานของภาครัฐ ช่วยแก้ปัญหาผู้ประกอบการภาคธุรกิจบริการที่ขาดแคลนบุคลากรที่มีมาตรฐานในการให้บริการ
อ่านเพิ่มเติม

มูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ ์

 iHDC Profile
บัญชีรายชื่อกรรมการ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียน การเปลี่ยนแปลงกรรมการของมูลนิธิ
เอกสารประชาสัมพันธ์ โครงการ HMTC.pdf
เอกสารแนะนำโครงการ HMTC 1.pdf
เอกสารโครงการ HMTC 2 คุณสมบัติผู้เข้าร่วมโครงการ.pdf
iHDC นิติบุคคล.pdf
iHDC บุคคล.pdf
iHDC บุคคลเครือข่าย.pdf
รายงานการประชุม 6 มีนาคม 2560.pdf
ข้อบังคับมูลนิธิ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียนจัดตั้งมูลนิธิ
Ihdc-Profile and Roadmap 2016-2019 Mar 23 2560.pdf
รายงานการประชุมใหญ่คณะกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ 2559.pdf
คำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ สาขาวิชาชีพ.pdf
รายงานการประชุมใหญ่วันที่ 18 ธ ค 2558 v 3.pdf
รายงานการประชุม วันที่ 24 ธันวาคม 2557 updated 4 มีนาคม 2558.pdf
iHDC-invitation Letter.doc
iHDC-Member Form Thai.doc
iHDC-Member Form English.doc
รายงานการประชุมกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ วันที่ 15 มกราคม 2556 ฉบับสมบูรณ์


thaibetter
พัฒนาประเทศไทยแบบทวีคูณ และยั่งยืน ( ททค )

Login


แบบสำรวจ

สถิติเว็บไซด์

สมาชิก : 5605
Content : 3047
เว็บลิงก์ : 26
จำนวนครั้งเปิดดูบทความ : 8597877

facebook

Twitter


บทความเก่า