Thaiihdc.org

  • เพิ่มขนาดตัวอักษร
  • ขนาดตัวอักษรปกติ
  • สดขนาดตัวอักษร
Thaiihdc.org

สอนเด็กให้เป็นคนดี : ๑๐. ความเห็นใจ (๑) เข้าใจระดับพัฒนาการของเด็ก

พิมพ์ PDF

บันทึก ๑๙ ตอนนี้ มาจากการตีความหนังสือ Teaching Kids to Be Good People : Progressive Parenting for the 21stCentury เขียนโดย Annie Fox, M.Ed. 

ตอนที่ ๑๐นี้ ตีความจากบทที่ ๕ How Can I Make It Better? Modeling Compassion to Teach Kindness   โดยที่ในบทที่ ๕มี ๔ ตอน   ในบันทึกที่ ๑๐จะตีความตอนที่ ๑ และ ๒     ในบันทึกที่ ๑๑จะเป็นการตีความตอนที่ ๓ และ ๔

ทั้งบทที่ ๕ ของหนังสือ เป็นเรื่องการฝึกลูก/ศิษย์ ให้รู้จักให้อภัย   ทั้งให้อภัยตนเอง และให้อภัยผู้อื่น   ไม่ถือเอาความผิดพลาดมาเป็นอารมณ์ที่กัดกร่อนจิตใจ   แต่ถือเป็นการเรียนรู้

ผู้เขียนอ้างท่านดาไลลามะว่า ความเมตตากรุณาเห็นอกเห็นใจผู้อื่นไม่ใช่เรื่องศาสนา แต่เป็นมิติของความเป็นมนุษย์ ซึ่งผมเห็นด้วยอย่างยิ่ง    (แต่ใครจะลากเข้าศาสนาก็ไม่น่าจะผิด)    ไม่ใช่เรื่องพิเศษพิสดาร แต่เป็นเรื่องของชีวิตประจำวัน    และเป็นปัจจัยของคุณภาพชีวิต หรือสุขภาวะ ที่ดี ทั้งของตนเอง    และเป็นการเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่แก่ผู้อื่นไปพร้อมกัน    หรืออาจกล่าวได้ว่า เป็นสิ่งจำเป็นต่อการอยู่รอดของมนุษย์

มองจากมุมหนึ่ง ชีวิตเป็นทุกข์   เพราะมีสิ่งมาทำให้เกิดทุกข์    ในหนังสือเขาเอ่ยถึงความวิตกกังวล  ความโกรธ  ความเศร้า  ความกลัว    ในคติพุทธของเรา ความทุกข์มาจากกิเลส ได้แก่โลภะ โทสะ โมหะ   ซึ่งแตกลูกรายละเอียดได้มากมาย    และทักษะในการมีเมตตากรุณาเห็นอกเห็นใจ ต่อผู้อื่นและต่อตนเอง คือหนทางหนึ่งสู่ความพ้นทุกข์    ทั้งส่วนบุคคล และส่วนรวมคือสังคม

การฝึกเด็กให้มีเมตตากรุณา เห็นใจผู้อื่น (และตนเอง) จึงเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหาสังคม   แต่ในทางปฏิบัติไม่ง่ายนัก    เพราะสังคมเองมักจะชักจูงไปในทางตรงกันข้าม

ตอนที่ ๑ เป็นเรื่องเรากำลังทำสิ่งตรงกันข้ามกับที่ควรทำ เพราะเด็กจะเรียนได้ง่ายและดีที่สุดจากตัวอย่าง    เวลานี้เรามีพฤติกรรมปากว่าตาขยิบ   สอนอย่างแต่ทำอีกอย่าง     คือเราบอกว่า คนเราต้องมีเมตตากรุณาเห็นอกเห็นใจกัน   แต่พฤติกรรมต่างๆ ในสังคม ดำเนินไปในทางทำร้ายผู้อื่น แทนที่จะมีเมตตากรุณาเห็นอกเห็นใจผู้อื่น   เช่นพฤติกรรมกล่าวร้าย  ติฉินนินทา   เอาข้อด้อยของคนอื่นมาล้อเลียนสร้างความขบขัน    ในเด็กมีการข่มเหงรังแกกัน

สังคมปัจจุบันเพิ่มความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ    กลายเป็นวัฒนธรรมแห่งความโหดร้าย    สื่อสารมวลชนนิยมแพร่ข่าวร้าย    มีคำพูดว่า “ข่าวร้ายลงฟรี ข่าวดีเสียเงิน”    ข่าวสร้างสรรค์มีน้อย    และเมื่อมี โซเชี่ยลมีเดีย ก็กลายเป็นเครื่องมือของความรุนแรงอยู่บ่อยๆ    เพราะโลกในปัจจุบันกำลังเดินไปในทางเพิ่มความรุนแรงในจิตใจคน

การปลูกฝังจิตใจเด็กให้มีพื้นฐานเมตตากรุณาเห็นใจคนอื่นและตนเอง    จึงจำเป็นยิ่งสำหรับยุคนี้    เพื่อให้เด็กเติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ ที่มี Transformative Learning สามารถเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงสังคม จากสังคมโหดร้าย ไปสู่สังคมที่ดีงามได้

นอกจากผู้ใหญ่ปฏิบัติตนเป็นตัวอย่างแล้ว    ผู้เขียนแนะนำให้พ่อแม่/ครู คุยกับเด็กเรื่อง “สื่อสับสน” (mixed message) (หรือพูดอย่างทำอีกอย่างนั่นเอง) ที่พบในความสัมพันธ์ระหว่างกันในชีวิตประจำวัน    โดยต่างก็ยกกรณีที่ตนสับสน ขึ้นมาคุยกันอย่างเปิดเผยไม่กล่าวหา ตำหนิ หรือมีความรู้สึกไม่ดีต่อกัน   การคุยกันเช่นนี้จะเป็นการให้สติต่อกันและกัน    โดยที่ผู้ใหญ่คงจะต้องละทิฐิมานะลงไปมากในบริบทสังคมวัฒนธรรมไทย   คือผมคิดว่า คำแนะนำนี้อาจทำในฝรั่งง่ายกว่าในคนไทย    แต่ก็น่าลอง    ท่านผู้อ่านที่นำวิธีการนี้ไปทดลองใช้น่าจะนำมาเขียนเล่าแลกเปลี่ยนประสบการณ์กัน   ที่จริงวิธีการคุยกันเรื่อง  “สื่อสับสน” นี้ น่าจะนำไปทำเป็นโจทย์วิจัยด้านการศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาได้

คำถามของเด็ก ๑๐ ขวบ “เวลาอยู่ในกลุ่มเพื่อนเกเร ก่อกวนทำร้ายเพื่อน    หนูต้องประพฤติตนเกเรตามไปด้วย   ตอนนี้หนูไม่อยากเข้ากลุ่มนี้   แต่เมื่อหนูไปคบกับเพื่อนที่เรียบร้อย    เพื่อนกลุ่มเดิมก็ตามมาล้อเลียน   หนูจะทำอย่างไรดี”

คำตอบของผู้เขียน “เมื่ออ่านเรื่องของเธอจบ ฉันรู้ทันทีว่าเธอเป็นคนมีจิตใจดี    เธอมี ‘เสียงภายใน’ คอยเตือนสติ    ช่วยให้เธอประพฤติตนเป็นคนมีเมตตากรุณา    ซึ่งเป็นสิ่งที่มีค่ายิ่งต่อชีวิต   คำแนะนำคือ ทำใจให้เข้มแข็ง และเลือกทางที่คิดว่าดีต่ออนาคตของตนเอง   และตรงกับความต้องการของตนเอง    แม้หนทางที่เลือกจะมีอุปสรรค เช่นถ้าเลือกไม่เข้ากลุ่มเพื่อนเกเร    เพื่อนบางคนอาจตามมารังควาญแต่อาจไม่มีใครทำจริงจังก็ได้   ในทางตรงกันข้าม หากเธอไปเข้ากลุ่มเพื่อนเกเร และร่วมรังควาญเพื่อนคนอื่น   ก็เท่ากับเธอเข้าไปช่วยกันทำให้โรงเรียนเต็มไปด้วยการรังแกข่มเหงเอาเปรียบกัน   และที่ร้ายคือ การไปเข้ากลุ่มเพื่อนกลุ่มนั้น เท่ากับเธอไม่เคารพตนเอง    ไม่เคารพความรู้สึกของตนเอง    และถ้าเธอแยกออกจากกลุ่มเพื่อนเกเร เท่ากับเธอช่วยทำให้บรรยากาศในโรงเรียนดีขึ้น   และจะรู้สึกภูมิใจในตนเอง    ขอให้เธอเลือกเองว่าจะเลือกทางไหน   และขอให้โชคดี”

ตอนที่ ๒ ของบทที่ ๕ เป็นเรื่อง หนูอิจฉาน้อง เล่าเรื่องคำปรึกษาของพ่อลูกสอง   ที่เอ็มม่า ลูกสาวคนโตอายุ ๕ ขวบมีพฤติกรรมเปลี่ยนแปลงอย่างน่าตกใจเมื่อมีทารกน้องชาย   โดยที่เอ็มม่า ไม่ได้แสดงพฤติกรรมต่อต้านน้อง    แต่แสดงพฤติกรรมต่อต้านพ่อแม่

เรื่องนี้ตรงกับประสบการณ์ของผู้เขียนหนังสือไม่ผิดเพี้ยน   จึงรีบตอบแนะนำ สรุปสาระ ได้ว่า

“ปฏิกิริยาของ เอ็มม่า เป็นเรื่องคลาสสิค   และฉันก็ประสบมาด้วยตนเอง    ลูกสาวอายุ ๕ ขวบของฉันก็มีปฏิกิริยาเช่นนี้    ให้ลองนึกดูว่า ลูกสาวเป็นราชินีของบ้าน และคนที่มาเกี่ยวข้องด้วยมา ๕ ปี   อยู่ๆ ก็มีเบอร์ ๒ มาอยู่ด้วย   และเป็นเบอร์สอง ที่ใครๆ ก็ให้ความสนใจเอาใจใส่   มันเป็นการสั่นคลอนตัวตนของ เอ็มม่า อย่างแรง    ให้ลองนึกถึงผู้ญิงที่เป็นภรรยา อยู่กินกับสามีมา ๕ ปี   อยู่ๆ สามีก็พาหญิงสาวอีกคนหนึ่งมาแนะนำและให้อยู่ในบ้าน   บอกว่าเป็นภรรยาคนที่ ๒   และต่อไปนี้ก็จะต้องมีการปรับความเป็นอยู่ของเบอร์หนึ่งใหม่ด้วย    ภรรยาเบอร์หนึ่งรู้สึกอย่างไร เอ็มม่าก็รู้สึกอย่างนั้น   แต่เด็กอายุ ๕ ขวบยังอธิบายความรู้สึกไม่ได้ ก็แสดงปฏิกิริยาต่อพ่อแม่อย่างที่เห็น”

“คำแนะนำให้ทดลองปฏิบัติคือ

    • ให้บอกเอ็มม่าว่า ความรู้สึกของเธอไม่มีอะไรผิด    อย่าไปบอกหรือกล่าวหาว่าความรู้สึกของเธอเป็นสิ่งชั่วร้าย    แต่พฤติกรรมที่เธอแสดงออกเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสม และยอมรับไม่ได้   การแสดงความรุนแรงต่อน้องหรือต่อพ่อแม่ยอมรับไม่ได้    ให้บอกเอ็มม่าว่า เอ็มม่าก็มาอยู่กับพ่อแม่เหมือนน้องนี่แหละ   และพ่อแม่ก็รักและจะเอาใจใส่เอ็มม่าไม่ต่างจากเดิม   แต่พ่อแม่ก็ต้องดูแลน้องที่เป็นทารก เหมือนกับดูแลเอ็มม่าตอนเป็นทารก
    • พ่อ พาเอ็มม่า ออกไปทำกิจกรรมสองคนนอกบ้าน อย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง ครั้งละ ๒ - ๓ ชั่วโมง    เพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นกับเอ็มม่า    และให้ภรรยาพาเอ็มม่าออกไปทำกิจกรรมนอกบ้านสองคนอย่างน้อยสัปดาห์ละครั้งเช่นเดียวกัน   โดยพ่อทำหน้าที่เลี้ยงลูกชายแทนแม่
    • มอบหน้าที่ “พี่สาว” เลี้ยงน้อง ให้แก่ เอ็มม่า    เน้นหน้าที่สร้างความสนุกสนาน เช่นร้องเพลงให้น้องฟัง  อ่านหนังสือนิทานให้น้องฟัง  ให้วาดรูปติดฝาผนังห้องและอธิบายภาพให้น้องฟัง    สอนน้องให้เล่าของเล่น    บอกเอ็มม่าว่า น้องยังพูดไม่ได้ แต่เขาสนใจและได้เรียนรู้จากการเลี้ยงน้องของพี่สาว   น้องต้องการความช่วยเหลือของพี่สาว    และจะรักและเมื่อโตขึ้นจะเป็นเพื่อนที่ดีของพี่สาว”

 

ผมตีความว่า เรื่องของ เอ็มม่า คนไทยเราตีความจากพฤติกรรมว่า พี่อิจฉาน้อง    แต่ผมคิดต่าง    คิดว่าเป็นเรื่องของการยังไม่บรรลุวุฒิภาวะทางอารมณ์    เกิดความรู้สึกไม่มั่นคง ต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น    จึงแสดงปฏิกิริยาก้าวร้าวไม่พอใจ    สถานการณ์เช่นนี้ไม่ใช่สิ่งเลวร้าย แต่เป็นโอกาสดีที่เด็กจะได้เรียนรู้สิ่งที่จะเกิดขึ้นในชีวิตจริง    ได้ฝึกสร้างความสัพันธ์ด้านบวกกับผู้อื่น ซึ่งในที่นี้คือน้องของตนเอง    โดยผู้ใหญ่ต้องรู้วิธีช่วยเอื้อให้เด็กเกิดการเรียนรู้อย่างถูกต้อง    ตาม ๓ ข้อ ที่ผู้เขียนแนะนำ

ผมชอบมาก ที่ผู้เขียนบอกว่า “An angry child is suffering”   และขอเสริมว่า ทั้งโลภ โกรธ หลง เป็นความทุกข์    พฤติกรรมไม่เหมาะสมของเด็ก สะท้อนความทุกข์ของเขา    ผู้ใหญ่พึงเข้าใจ เห็นใจ และให้ความเมตตากรุณาช่วยให้เขาคลายทุกข์    ที่ไม่ใช่คลายทุกข์ปัจจุบันชั่วครั้งชั่วคราว    แต่ช่วยพัฒนาจิตใจให้เข้มแข็งคลายทุกข์ได้ในระยะยาว หรือถาวร

เมื่อวินิจฉัยว่าเด็กมีทุกข์  ผู้ใหญ่พึงแสดงท่าทีเห็นใจ และชวนคุยความรู้สึกในขณะนั้น อย่างที่เด็กรู้สึกปลอดภัยที่จะเผยความรู้สึกของตนออกมา    การที่ผู้ใหญ่ช่วยให้เด็กพูดความรู้สึกไม่ชอบ กลัว ไม่พอใจ ออกมาได้    จะช่วยให้ผู้ใหญ่เข้าใจมุมมองหรือมุมความรู้สึกของเด็ก    และเมื่อเด็ก (และผู้ใหญ่ก็เช่นกัน) รู้สึกว่าตนได้รับความเข้าใจ ความเห็นใจ ความรู้สึกขุ่นเคีองก็จะคลายลง    และได้ประสบการณ์ความรัก  การเกิดอารมณ์ไม่พึงใจ และการคลายอารมณ์นั้น    นี่คือการเรียนรู้

เมื่อเรารับรู้ความรู้สึกของคนอื่นด้วยความเมตตาเห็นอกเห็นใจ   เราจะสามารถเข้าใจความรู้สึกนึกคิดจากมุมของเขา    ความเข้าใจนี้เองช่วยให้เราช่วยเหลือและให้ความรักได้ดียิ่งขึ้น

ผู้เขียนแนะนำว่า เมื่อคนในครอบครัว (เช่นลูก) ๒ คนทะเลาะกัน    ให้ใช้ ๕ คำถามต่อไปนี้ ช่วยให้แต่ละคนได้สติว่าทั้งสองฝ่ายต่างก็มีส่วนก่อความขัดแย้งนั้น     โดยต้องคุยกับคู่ขัดแย้งทีละคน

  • เธอทำอะไรบ้าง ที่อาจเพิ่มข้อขัดแย้ง
  • มีสิ่งที่เธอลืมทำอะไรบ้าง ที่อาจมีส่วนช่วยเพิ่มข้อขัดแย้ง
  • ถ้าย้อนเหตุการณ์มาเริ่มต้นใหม่ได้ เธอจะพูดหรือทำต่างจากที่ได้ทำไปแล้วอย่างไรบ้าง
  • คราวหน้าหากเกิดเหตุการณ์ทำนองนี้ เธอจะทำหรือพูดแตกต่างไปอย่างไร
  • ให้เธอลองนึกเรื่องนี้จากมุมของคู่ขัดแย้ง (เช่น น้อง)    เธอจะพูดหรือทำอะไรหากเธอเป็นน้อง

 

ตามปกติเมื่อคุยกันด้วย ๕ คำถาม    อารมณ์ของเด็กจะเย็นลง    และมีสติมากขึ้น   ให้บอกเด็กว่า เธออาจไม่อยากพูดเรื่องที่เราคุยกันกับน้อง    แต่ถ้าเธอจะบอกก็ได้

อ่าน ๕ คำถามนี้แล้ว ผมนึกถึง AAR (After Action Review) และเห็นว่า การจัดการความรู้ช่วยฝึกสติ และฝึกความเห็นอกเห็นใจคนอื่นได้

คำถามของหนุ่ม ๑๔ “ผมเบื่อแม่ของผม   สองนาทีที่แล้วผมขออนุญาตออกไปขี่จักรยานเที่ยวกับเพื่อน    แม่ไม่อนุญาต   ผมขอเหตุผล เพราะตอนนั้นยังสว่างอยู่และผมจะกลับบ้านก่อนมืด   แม่ตอบว่า ไม่อยากให้ลูกออกไปข้างนอก    แม่มีปัญหาอะไรครับ”

คำตอบของผู้เขียน “เธอคงคิดว่า แม่เข้มงวดกับเธอมากเกินไป   และเธอไม่พอใจ   เธอไม่เข้าใจว่าแม่คิดอย่างไร   ไม่พอใจที่แม่ไม่อธิบายเหตุผล   เธออาจไม่ชอบใจที่แม่ไม่เข้าใจว่าเธอต้องการอิสระ    ฉันไม่รู้ว่า ปัญหาของแม่เธอคืออะไร    เดาว่าแม่คงเป็นห่วงเมื่อเธอไม่อยู่บ้าน    ต่อไปนี้คือคำแนะนำ

หาโอกาสคุยกับแม่ยามที่แม่อารมณ์ดี   บอกแม่ว่ามีเรื่องสำคัญอยากคุยกับแม่    พูดด้วยท่าทีเคารพ   ว่าพฤติกรรม .... ของแม่ ทำให้เธอรู้สึก ....    บอกแม่ว่าเธอรู้ว่าแม่รักเธอมาก    บอกว่าเธอก็ต้องการพิสูจน์ตนเองว่าจะระมัดระวังตัว เพื่อไม่ให้แม่ห่วงมากเกินไป   แม่มีทางที่จะปล่อยให้เธอเป็นอิสระในการคบเพื่อนมากกว่าเดิมได้ไหม   พูดกับแม่ดีๆ ด้วยความเข้าใจความรักความเป็นห่วงลูกของแม่   แม่อาจเข้าใจความต้องการของเธอได้ดีขึ้น”

อ่านตอนนี้แล้ว ผมคิดว่า คนที่มีลูกเริ่มเข้าวัยรุ่นต้องการทักษะในการแสดงความรักความเข้าใจลูกในทำนองนี้มาก    เป็นวิธีสอนลูกให้เป็นคนดีที่คนเราละเลย หรือทำไม่เป็น

 

 

วิจารณ์ พานิช

๘ เม.ย. ๕๖

 

 

 

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย Prof. Vicharn Panich

แก้ไขล่าสุด ใน วันอาทิตย์ที่ 10 พฤศจิกายน 2013 เวลา 20:51 น.
 

ชีวิตที่พอเพียง: ๒๐๒๘. ไปเจรจาส่งมอบ social investment

พิมพ์ PDF

เย็นวันศุกร์ที่ ๒๐ ก.ย. ๕๖ ผมนั่งรถจากกระทรวงสาธารณสุข ฝ่าการจราจรเข้าเมือง ไปที่จุฬาฯ    เพื่อร่วมการประชุมหารือเรื่องมูลนิธิบัณฑิตยสภาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (บวท.)   ที่ ศ. ดร. วิชัย บุญแสง ประธานคณะกรรมการบริหาร บวท. นัดหารือกับคณะกรรมการมูลนิธิ ที่มี ศ. ดร. จอมจิน จันทรสกุลเป็นประธาน มีกรรมการอีก ๕ ท่านรวมทั้งผม   มีคนว่างไปร่วมเพียง ๒ คน คือ อ. จอมจินกับผม

 

ผมเคยเขียนบันทึกเรื่อง บวท. ไว้ที่  ซึ่งเป็นกิจกรรมเมื่อ ๕ ปีที่แล้ว    หลังจากนั้นผมก็ห่างเหิน บวท. ไป    มารู้เรื่องอีกทีก็เมื่อ ประธานคณะกรรมการบริหาร บวท. บ่นว่าทำงานไม่สะดวก    เพราะมีกรรมการ ซ้อนกัน ๒ ชุด   คือคณะกรรมการบริหาร บวท.  กับคณะกรรมการมูลนิธิ    จึงมีการนัดคุยกันในวันนี้

แปลกมากที่ความทรงจำขององค์กร บวท. ไม่ดี    กรรมการบริหารชุดใหม่ไม่มีใครทราบที่มาที่ไป ของการก่อตั้ง บวท.    ผมต้องเป็นผู้เล่าว่า บวท. เกิดขึ้นจากการริเริ่มชักชวนของ ศ. นพ. อารี วัลยะเสวี ที่ได้รับเกียรติเชิญเป็นสมาชิกของ NAS (National Academy of Science) ของสหรัฐอเมริกา     เมื่อท่านไปประชุม กลับมา ก็ตื่นเต้นกับการมีองค์กรสำหรับให้นักวิชาการชั้นยอดรวมตัวกันทำประโยชน์แก่บ้านเมือง     ชักชวนพวกเราคบคิดกันตั้ง TAST (Thai Academy of Science and Tecnology) หรือ บวท.

ที่จริง NAS ของสหรัฐ ตั้งขึ้นโดยรัฐออกกฎหมายจัดตั้ง ให้เป็นองค์กรอิสระ รัฐให้เงินดำเนินการ   แล้วยังให้เงินว่าจ้างให้ทำงานตอบคำถามสำคัญๆ ให้แก่ประเทศตลอดมา     แต่ในสภาพของไทย เราไม่รู้จะติดต่อ บอกรัฐบาลอย่างไร    จึงรวมตัวกัน ๒๐ คน ออกเงินคนละหนึ่งหมื่นบาท ได้เงิน ๒ แสนบาท ไปจดทะเบียนตั้งมูลนิธิ บวท.    ผมเป็นคนหนึ่งในนั้น    ผมบอกตัวเองว่า ผมลงเงินเป็นsocial investment คือลงทุนเพื่อประโยชน์ของสังคม

เมื่อหารือไปได้ระยะหนึ่ง ผมก็เสนอว่า    บวท. เกิดจากคนกลุ่มหนึ่งลงทุนตั้งมูลนิธิขึ้นมาเพื่อ ทำประโยชน์แก่บ้านเมือง    โดยในระยะแรกคนกลุ่มนี้ได้ช่วยกันทำหน้าที่กรรมการมูลนิธิ หาคนมาทำหน้าที่ กรรมการบริหาร    โดยมูลนิธินี้มีลักษณะพิเศษ คือเฟ้นหาคนที่มีความสำเร็จสูงด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มาเป็นสมาชิก เพื่อร่วมกันทำงานให้แก่สังคม   เวลาล่วงเลยมา ๑๖ ปี (บวท. เริ่มก่อตั้งปี พ.ศ. ๒๕๔๐) คณะผู้ก่อตั้งต่างก็ร่วงโรยไป    สมาชิกมีความเข้มแข็งขึ้น   น่าจะถึงเวลาแล้ว ที่คณะผู้ก่อตั้งจะส่งมอบหน้าที่ ดูแลมูลนิธิให้แก่สมาชิก บวท.   ให้เป็นผู้รับผิดดูแลมูลนิธิ    ให้ทำหน้าที่ทำประโยชน์แก่สังคมตามปณิธาน ของการก่อตั้ง

จึงน่าจะได้มีการยกร่างข้อบังคับของมูลนิธิขึ้นใหม่    ให้มีคณะกรรมการบริหาร บวท. คณะเดียว    กำกับการทำงานและการเงินโดยสมาชิกของ บวท. ทั้งหมด

เป็นที่ตกลงกันตามที่ผมเสนอ   โดยจะมีการเวียนหนังสือแจ้งกรรมการมูลนิธิท่านอื่นๆ ด้วย

ผมไปถึงที่ประชุมก่อนเวลา    จึงได้มีโอกาสเดินชมอาคารเก่าคณะวิทยาศาสตร์ ที่มีอายุ ๙๖ ปี    เป็นอาคารอนุรักษ์    รำลึกความหลังสมัยเรียนอยู่ที่นี่ ระหว่างปี ๒๕๐๓ - ๒๕๐๕    และได้สังเกตเห็นว่า ต้นพญาสัตบรรณที่นี่ออกดอกตูมแล้ว

 

 

วิจารณ์ พานิช

๒๐ ก.ย. ๕๖

 

แก้ไขล่าสุด ใน วันอาทิตย์ที่ 10 พฤศจิกายน 2013 เวลา 20:53 น.
 

ภารกิจเฉพาะหน้าของปวงชนชาวไทย

พิมพ์ PDF
พวกเขาใช้วิธี “ลักไก่” เวลาเอาร่างกฎหมายเข้าสภาผู้แทนฯ พวกเขาอ้างหลักการและเหตุผล เพื่อล้างผิดให้ผู้เข้าร่วมชุมนุมทางการเมือง (พวกลูกน้อง) พอถึงขั้นคณะกรรมาธิการแปรญัตติ พวกเขาเปลี่ยนเป็นล้างโทษให้พวกตัวเอง ซึ่งเป็นเจ้านาย ขัดกับหลักการในรัฐธรรมนูญมาตรา 30 พวกนักการเมืองและสมุนเป็นเทวดามาจากไหน โกงบ้าน-กินเมือง-เผาบ้านเมืองฯ ผิดกฎหมายชัดๆ แต่พวกมันบอกว่าไม่ผิด ถ้าผิดก็ทำให้พ้นผิด ในขณะที่คนอื่นที่ไม่ใช่นักการเมืองและสมุนทำผิดเล็กน้อยก็ต้องรับโทษกันทั้งนั้น

ภารกิจเฉพาะหน้าของปวงชนชาวไทย

เขียน ธีระวิทย์

“เมื่อความอยุติธรรมกลายเป็นกฎหมาย การลุกขึ้นต่อต้านจึงเป็นหน้าที่”

โธมัส เจฟเฟอร์สัน  อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ

 

เหตุใดเราจึงต้องร่วมใจกันต่อต้านร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับนี้?

  1. มันทำและจะทำให้คนไทยแตกแยกกันยิ่งๆ ขึ้น ไม่ใช่ “ปรองดองกัน” “สมานฉันท์กัน” หรือ “สามัคคีกัน” ดังที่พวกเขาตีหน้าตายหรอกพวกเรา
  2. พวกเขาใช้วิธี “ลักไก่” เวลาเอาร่างกฎหมายเข้าสภาผู้แทนฯ พวกเขาอ้างหลักการและเหตุผล เพื่อล้างผิดให้ผู้เข้าร่วมชุมนุมทางการเมือง (พวกลูกน้อง) พอถึงขั้นคณะกรรมาธิการแปรญัตติ พวกเขาเปลี่ยนเป็นล้างโทษให้พวกตัวเอง ซึ่งเป็นเจ้านาย ขัดกับหลักการในรัฐธรรมนูญมาตรา 30 พวกนักการเมืองและสมุนเป็นเทวดามาจากไหน โกงบ้าน-กินเมือง-เผาบ้านเมืองฯ ผิดกฎหมายชัดๆ แต่พวกมันบอกว่าไม่ผิด ถ้าผิดก็ทำให้พ้นผิด ในขณะที่คนอื่นที่ไม่ใช่นักการเมืองและสมุนทำผิดเล็กน้อยก็ต้องรับโทษกันทั้งนั้น
  3. ผิดหลักการปกครองโดยกฎหมาย ความเป็น “นิติรัฐ” ฝ่ายนิติบัญญัติออกกฎหมายมาระบุความผิดของผู้กระทำ พอพวกตัวทำผิด กลับออกกฎหมายมาล้างผิด บอกว่าไม่ผิด เก่งยิ่งกว่าเทวดา ทำความผิดให้เป็นความถูกได้
  4. ผิดหลักประชาธิปไตย ซึ่งให้ฝ่ายนิติบัญญัติออกฎหมาย ฝ่ายบริหารบังคับใช้กฎหมาย และฝ่ายตุลาการตัดสินคดีตามกฎหมาย คดีที่ศาลตัดสิตถึงที่สุดว่าผิดแล้วก็ต้องรับโทษเด็ดขาด ไม่ใช่ให้ฝ่ายนิติบัญญัติมาแก้ว่าที่ตัดสินไปแล้ว ถ้าเป็นพวกนั้นพวกนี้ถือว่าไม่เป็นความผิด ฝ่ายนิติบัญญัติ-ฝ่ายบริหารไม่มีอำนาจลบล้างอำนาจฝ่ายตุลาการได้ (การอภัยโทษให้คนที่รับโทษแล้วทำได้) ขืนทำเช่นนั้นก็เท่ากับเป็นโจรปล้นอำนาจตุลาการของคนไทย ต่อไปพวกนักการเมืองที่ครองอำนาจ ก็จะผูกขาดปล้นอำนาจเบ็ดเสร็จไปจากคนไทย และปล้นบ้านขายเมืองไม่รู้จักจบสิ้น
  5. ถ้าร่างกฎหมายฉบับนี้ผ่านออกมาเป็นกฎหมายใช้บังคับได้ ในสายตาของชาวโลก คนไทยจะกลายเป็นคนป่าเถื่อน มีกฎหมายป่าเถื่อนใช้ คนที่ไม่ยอมก็จะต่อต้านทุกวิธีทาง บ้านเมืองก็จะวุ่นวาย ทุกคนเดือดร้อน

 

เรามีหน้าที่เฉพาะหน้าอันใด?

  1. ทุกคนมีหน้าที่พิทักษ์รักษาไว้ซึ่งชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข
  2. ช่วยกันบอกคนอื่นให้รู้ถึงผลร้ายของร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งรุ่นลูกหลานของพวกเรา เชิญชวนให้พวกเขาช่วยกันต่อต้าน ถ้าเราทำสำเร็จ จะมีผลช่วยกำจัดนักการเมืองใจโจรให้ค่อยๆ หายไปจากแผ่นดินไทย
  3. รัฐบาลนี้จะอยู่หรือจะไปก็ตาม เรามีหน้าที่ต่อเนื่องที่จะต้องช่วยกันทำกลไกของรัฐ ทั้งฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร และฝ่ายตุลาการ ให้ทำตามอำนาจหน้าที่ของตัวอย่างเคร่งครัด
  4. ติดตาม-ไล่จี้ ตำรวจ-อัยการ-ศาล-ป.ป.ช. ให้เอาคนทำผิดมาลงโทษทั้งหมด ที่หนีไปต่างประเทศก็ต้องเอาตัวมาเข้าคุกหรือดำเนินคดี ใครที่ไม่ทำตามหน้าที่ตามกฎหมายก็ต้องถูกลงโทษด้วย เพื่อความสงบสุขของคน 4 จังหวัดภาคใต้ อย่าลืมเอาตัวผู้สั่งการ สังหารหมู่ คนที่อยู่ในมัสยิดกรือเซะ และการชุมนุมที่ตากใบด้วย
  5. อย่าหลงกลลวงของคนโกงที่อ้างเรื่อง “ปรองดอง” หรือ “ให้อภัยกัน” มาบังหน้า คนที่ไม่รู้อะไรผิด-ถูกเท่านั้นที่กล้าเสนอความคิด เอาคนทำถูกกฎหมายมาปรองดองกับคนทำผิดกฎหมาย วิธีการสร้างความปรองดองง่ายๆ คือ ทำให้ทุกคนทำตามกฎหมาย โดยบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด บ้านเมืองจะสงบสุขเองโดยไม่ต้องเอาความดีมาปรองดองกับความชั่ว

 

 

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย Prof. Vicharn Panich

แก้ไขล่าสุด ใน วันอาทิตย์ที่ 10 พฤศจิกายน 2013 เวลา 20:55 น.
 

ครูสอนนักศึกษาอย่างไร

พิมพ์ PDF
นักศึกษาไทยไม่ใช่คนโง่ พวกเขามีศักยภาพในการคิดแบบล้นเหลือ เพียงแต่ไม่ได้รับการกระตุ้นที่เหมาะสม เนื่องจากระบบการศึกษาไทยยังไม่กล้าให้รางวัลกับการคิด เพราะการให้คะแนนกับความคิดจะมีความเป็นอัตวิสัยสูง เปิดช่องให้นักศึกษาฟ้องร้องอาจารย์ได้ว่าให้คะแนนไม่เป็นธรรม เพราะการตัดสินว่าความคิดของใครดีกว่าใคร ความคิดของใครถูกต้องกว่าใครเป็นเรื่องยาก

ครูสอนนักศึกษาอย่างไร

อ่านได้จากบทความ เศษกระดาษ ๓ แผ่น ... โดย เจริญชัย ไชยไพบูลย์วงศ์    สอนให้ คิด ไม่มักง่าย  ไม่กลัวความผิด  และไม่ลอกเลียนหรือขโมยความคิด (ผิดจริยธรรม)

บทความนี้เป็นตัวอย่างของวิธีทำหน้าที่ครู/อาจารย์ ที่ดี

วิจารณ์ พานิช

๕ พ.ย. ๕๖

 

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย Prof. Vicharn Panich

แก้ไขล่าสุด ใน วันอาทิตย์ที่ 10 พฤศจิกายน 2013 เวลา 20:39 น.
 

ชีวิตที่พอเพียง: ๒๐๓๑. กฎหมาย (อาจจะ) เป็นมายา

พิมพ์ PDF
มนุษย์เป็นสัตว์ที่ฝึกได้ และฝึกได้ดีที่สุด กว่าสัตว์ทั้งปวง ฝึกให้ประเสริฐสุดก็ได้ ให้ร้ายสุดก็ได้ หากฝึกให้ดี ก็จะมีวิจารณญาณเลือกดำรงชีวิตเฉพาะด้านที่เป็นคุณ ไม่ประพฤติปฏิบัติสิ่งที่เป็นโทษต่อตนเอง ดีกว่าการปฏิบัติตามกฎหมาย ซึ่งบังคับใช้กับทุกคน และกฎหมายบางฉบับเป็นมายา

 

เช้าวันที่ ๒๓ ก.ย. ๕๖ คุยกันที่ สคส. เรื่องมายาของยาเสพติด    ว่าเวลานี้โลกค่อยๆ เปลี่ยนกระบวนทัศน์กี่ยวกับยาเสพติด     มามองคุณของมัน ดังกรณี กัญชา    คุณเดชา ศิริภัทร เล่าว่าลูกสาวทำงานอยู่ที่รัฐแคลิฟอร์เนีย    บอกว่ามีร้านขายกัญชามากกว่าร้านเซเว่นบ้านเรา    และมี ๑๘ รัฐ ในสหรัฐอเมริกา ที่มีกฎหมายอนุญาตให้ขายกัญชาได้

คุณเดชา เล่าเรื่องกระท่อม    ว่าเหลือประเทศเดียวคือไทย ที่ยังกำหนดให้ผิดกฎหมาย     ที่อื่นเขาอนุญาตให้ปลูกบริโภคได้    ถือเป็นยาสมุนไพร    เพราะมีการวิจัยบอกสรรพคุณมากมาย ค้นได้ด้วยคำว่า kratom

จะเห็นว่า กฎหมายคือเครื่องมือของรัฐ    ในการกำหนดข้อต้องประพฤติ หรือข้อห้ามปฏิบัติ ของผู้คนในรัฐ    เพื่อความสงบเรียบร้อยในการอยู่ร่วมกัน   แต่นานไป โลก สังคม และความรู้ เปลี่ยนไป    กฎหมายบางฉบับก็ล้าสมัย    กลายเป็นมายา    กฎหมายบางฉบับแก้ยาก เพราะผลประโยชน์ของคนบางกลุ่มค้ำไว้    เช่นกฎหมายมรดก

กลับมาที่ยาเสพติด   ชื่อมันทำให้คนรังเกียจ    แต่ในโลกนี้ สิ่งที่มีคุณอนันต์ ก็อาจมีโทษมหันต์ได้ หากใช้ผิดทาง    และในทางกลับกัน สิ่งที่เราเคยยึดถือกันว่าเป็นโทษ เช่นกัญชา กระท่อม หากใช้เป็น   ก็อาจเป็นยาที่มีประโยชน์มาก (medicinal use)    หรืออาจใช้เพื่อการผ่อนคลาย (recreational use)    โดยที่เราต้องให้การศึกษา ฝึกผู้คนไว้แต่ยังเล็ก ให้มีทักษะยับยั้งชั่งใจตนเอง    ไม่ให้ตกเป็นเหยื่อสิ่งใดง่ายๆ

ผมเป็นโรคการศึกษาขึ้นสมอง    คิดเรื่องอะไร ย้อนกลับมาที่การศึกษาหมด    มองว่าการศึกษาเป็นการวางพื้นฐานชีวิต    ให้สามารถใช้ประโยชน์จากสิ่งที่ล่อแหลมจะเป็นโทษได้     เพราะในโลกนี้ สิ่งที่มีคุณอนันต์กับมีโทษมหันต์มันเป็นสิ่งเดียวกัน

มนุษย์เป็นสัตว์ที่ฝึกได้    และฝึกได้ดีที่สุด กว่าสัตว์ทั้งปวง    ฝึกให้ประเสริฐสุดก็ได้  ให้ร้ายสุดก็ได้    หากฝึกให้ดี ก็จะมีวิจารณญาณเลือกดำรงชีวิตเฉพาะด้านที่เป็นคุณ    ไม่ประพฤติปฏิบัติสิ่งที่เป็นโทษต่อตนเอง    ดีกว่าการปฏิบัติตามกฎหมาย ซึ่งบังคับใช้กับทุกคน    และกฎหมายบางฉบับเป็นมายา

ผมไม่เชื่อการพึ่งพา    ผมไม่ชอบการใช้ยาเพื่อการผ่อนคลาย    เชื่อว่าการผ่อนคลายที่ดีที่สุดคือ การได้ทำสิ่งที่ตนรัก   หรือได้เรียนรู้สิ่งที่มีประโยชน์

 

 

วิจารณ์ พานิช

๒๔ ก.ย. ๕๖

 

 

 

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย Prof. Vicharn Panich

แก้ไขล่าสุด ใน วันเสาร์ที่ 09 พฤศจิกายน 2013 เวลา 11:10 น.
 


หน้า 423 จาก 557
Home

About Us

ศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ (ศบม.) เป็นองค์กรที่พัฒนาและจัดทำโครงการเพื่อทำประโยชน์ให้สังคม เป็นองค์กรสนับสนุนการดำเนินงานของภาครัฐ ช่วยแก้ปัญหาผู้ประกอบการภาคธุรกิจบริการที่ขาดแคลนบุคลากรที่มีมาตรฐานในการให้บริการ
อ่านเพิ่มเติม

มูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ ์

 iHDC Profile
บัญชีรายชื่อกรรมการ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียน การเปลี่ยนแปลงกรรมการของมูลนิธิ
เอกสารประชาสัมพันธ์ โครงการ HMTC.pdf
เอกสารแนะนำโครงการ HMTC 1.pdf
เอกสารโครงการ HMTC 2 คุณสมบัติผู้เข้าร่วมโครงการ.pdf
iHDC นิติบุคคล.pdf
iHDC บุคคล.pdf
iHDC บุคคลเครือข่าย.pdf
รายงานการประชุม 6 มีนาคม 2560.pdf
ข้อบังคับมูลนิธิ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียนจัดตั้งมูลนิธิ
Ihdc-Profile and Roadmap 2016-2019 Mar 23 2560.pdf
รายงานการประชุมใหญ่คณะกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ 2559.pdf
คำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ สาขาวิชาชีพ.pdf
รายงานการประชุมใหญ่วันที่ 18 ธ ค 2558 v 3.pdf
รายงานการประชุม วันที่ 24 ธันวาคม 2557 updated 4 มีนาคม 2558.pdf
iHDC-invitation Letter.doc
iHDC-Member Form Thai.doc
iHDC-Member Form English.doc
รายงานการประชุมกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ วันที่ 15 มกราคม 2556 ฉบับสมบูรณ์


thaibetter
พัฒนาประเทศไทยแบบทวีคูณ และยั่งยืน ( ททค )

Login


แบบสำรวจ

สถิติเว็บไซด์

สมาชิก : 5601
Content : 3043
เว็บลิงก์ : 26
จำนวนครั้งเปิดดูบทความ : 8585325

facebook

Twitter


ล่าสุด

บทความเก่า