Thaiihdc.org

  • เพิ่มขนาดตัวอักษร
  • ขนาดตัวอักษรปกติ
  • สดขนาดตัวอักษร
Thaiihdc.org

ทาน-ศีล-ภาวนา ธรรมคำสั่งสอนของหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต

พิมพ์ PDF

ทาน-ศีล-ภาวนา

ธรรมคำสั่งสอนของหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต

ทาน คือ เครื่องแสดงน้ำใจของมนุษย์ผู้มีจิตใจสูง มีเมตตาจิตต่อเพื่อนมนุษย์และสัตว์ด้วยการให้ การเสียสละแบ่งปันมากน้อยตามกำลังของวัตถุเครื่องสงเคราะห์ที่มีอยู่ จะเป็นวัตถุทาน ธรรมทาน หรือวิทยาทาน เพื่อสงเคราะห์ผู้อื่น โดยไม่หวังสิ่งตอบแทนใดๆ นอกจากกุศล คือความดีที่ได้จากทานนั้น เป็นสิ่งตอบแทนที่เจ้าของทานได้รับอยู่โดยดีเท่านั้น

อภัยทานควรให้แก่กัน เมื่ออีกฝ่ายหนึ่งผิดพลาดหรือล่วงเกินคนมีทานย่อมเป็นผู้สง่าผ่าเผย และเด่นในปวงชน เป็นที่เคารพรักในหมู่ชน จะตกอยู่ทิศใดย่อมไม่อดอยาก ขาดแคลน จะมีสิ่งหรือผู้อุปถัมภ์จนได้ ไม่อับจนทนทุกข์ ผู้มีทานประดับตน ย่อมไม่เป็นคนล้าสมัย บุคคลทุกชั้นไม่รังเกียจ ผู้มีทานย่อมเป็นผู้อบอุ่น หนุนโลกให้ชุ่มเย็น การเสียสละจึงเป็นเครื่องค้ำจุนหนุนโลก การสงเคราะห์กันทำให้โลกมีความหมายตลอดไป ไม่เป็นโลกที่ไร้ชาติขาดกระเจิงเหลือแต่ซากแผ่นดิน ไม่แห้งแล้ง แข่งกับทุกข์ตลอดไป

ศีล คือ รั้วกั้นความเบียดเบียน และทำลายสมบัติร่างกายและจิตใจของกันและกัน ศีล คือพืชแห่งความดีอันยอดเยี่ยมที่ควรมีประจำชาติมนุษย์ ไม่ปล่อยให้สูญหายไป เพราะมนุษย์ไม่มีศีลเป็นรั้วกั้น เป็นเครื่องประดับตัว จะไม่มีที่ให้ซุกหัวนอนหลับสนิทได้โดยปลอดภัย แม้โลกเจริญด้วยวัตถุจนกองสูงกว่าพระอาทิตย์ แต่ความรุ่มร้อนแผดเผา จะทวีคูณยิ่งกว่าพระอาทิตย์ ถ้ามัวคิดว่าวัตถุมีค่ามากกว่าศีลธรรม ศีลธรรมเป็นเพียงสมบัติของมนุษย์

พระพุทธเจ้าผู้ค้นพบ และนำมาประดับโลกที่กำลังมืดมิดให้สว่างไสว ร่มเย็นด้วยอำนาจศีลธรรมเป็นเครื่องปัดเป่าความคิดของมนุษย์ผู้มีกิเลส ผู้ผลิตอะไรออกมาทำให้โลกร้อนจะบรรลัยอยู่แล้ว ยิ่งปล่อยให้ความคิดตามอำนาจโดยไม่มีศีลธรรมช่วยเป็นยาชโลมไว้บ้าง จะผลิตยักษ์ใหญ่ทรงพิษขึ้นมากว้านกินมนุษย์ จนไม่มีอะไรเหลืออยู่บ้างเลย

ความคิดของคนสิ้นกิเลสที่ทรงคุณอย่างสูง คือ พระพุทธเจ้า มีผลให้โลกได้รับความร่มเย็นซาบซึ้ง กับความคิดที่เป็นกิเลสมีผลให้ตนเองและผู้อื่นได้รับความเดือดร้อนจนคาดไม่ถึง ผิดกันอยู่มาก ควรหาทางแก้ไข ผ่อนหนักให้เบาลงบ้าง ก่อนจะหมดทางแก้ไข ศีลจึงเป็นเหมือนยาปราบโรค ทั้งโรคระบาดและเรื้อรัง

ภาวนา คือ การอบรมใจให้ฉลาด เที่ยงตรงต่อเหตุผล อรรถธรรม รู้จักวิธีปฏิบัติต่อตนเอง และสิ่งทั้งหลาย ยึดการภาวนาเป็นรั้วกั้นความคิดฟุ้งของใจให้อยู่ในเหตุผลอันจะเป็นทางแห่งความสงบสุข ใจที่ยังมิได้รับการอบรมจากภาวนาจึงเปรียบเสมือนสัตว์ที่ยังมิได้รับการฝึกหัด ยังมิได้รับประโยชน์จากมันเท่าที่ควร จำต้องฝึกหัดให้ทำประโยชน์ตามควร

ใจจึงควรได้รับการอบรมให้รู้เรื่องของตัว จะเป็นผู้ควรแก่การงานทั้งหลาย ทั้งส่วนเล็กส่วนใหญ่ภายนอกภายใน ผู้มีภาวนาเป็นหลักใจ จะทำอะไรชอบใช้ความคิดอ่านเสมอ ไม่เสี่ยงและไม่เกิดความเสียหายแก่ตนและผู้เกี่ยวข้อง การภาวนาจึงเป็นงานเพื่อผลในปัจจุบันและอนาคต การงานทุกชนิดที่ทำด้วยใจของผู้มีภาวนาจะสำเร็จลงด้วยความเรียบร้อย ทำด้วยความใคร่ครวญเล็งถึงประโยชน์ที่จะได้รับ เป็นผู้มีหลักมีเหตุผล ถือหลักความถูกต้องเป็นเข็มทิศทางเดินของกาย-วาจา-ใจ ไม่เปิดช่องให้ความอยากอันไม่มีขอบเขตเข้ามาเกี่ยงข้อง เพราะความอยากดั้งเดิมเป็นไปตามอำนาจของกิเลสตันหา ซึ่งไม่เคยสนใจต่อความผิด-ถูก-ดี-ชั่ว พาเราเสีย ไปจนนับไม่ถ้วนประมาณไม่ถูก จะเอาโทษมันก็ไม่ได้ ยอมให้เสียไปอย่างน่าเสียดาย ถ้าไม่มีสติระลึกบ้างเลยแล้วของเก่าก็เสียไป ของใหม่ก็พลอยจมไปด้วย ไม่มีวันฟื้นคืนตัวได้ ฉะนั้น การภาวนาจึงเป็นเครื่องหักล้างความไม่มีเหตุผลของตนได้ดี วิธีภาวนานั้นลำบากอยู่บ้าง เพราะเป็นวิธีบังคับใจ

วิธีภาวนา คือ วิธีสังเกตตัวเอง สังเกตจิตที่มีนิสัยหลุกหลิก ไม่อยู่เป็นปกติสุข ด้วยการมีสติตามระลึกรู้ความเคลื่อนไหวของจิต โดยมีธรรมบทใดบทหนึ่ง เป็นคำบริกรรม เพื่อเป็นยารักษาจิตให้ทรงตัวอยู่ได้ด้วยความสงบสุขในขณะภาวนา ที่ให้ผลดีก็มี อานาปานสติ คือ กำหนดจิตตามลมหายใจเข้าออกด้วยคำภาวนาพุทโธ พยายามบังคับใจให้อยู่กับอารมณ์แห่งธรรมบทที่นำมาบริกรรมขณะภาวนา พยายามทำอย่างนี้เสมอ ด้วยความไม่ลดละความเพียร จิตที่ทำบาปหาบทุกข์อยู่เสมอจะค่อยรู้สึกตัว และปล่อยวางไปเป็นลำดับ มีความสนใจหนักแน่นในหน้าที่ของตนเป็นประจำ จิตที่สงบตัวลงเป็นสมาธิ เป็นจิตที่มีความสุข เย็นใจมาก และจำไม่ลืม ปลุกใจให้ตื่นตัวและตื่นใจได้อย่างน่าประหลาด

เมื่อพูดถึงการภาวนา บางท่านรู้สึกเหงาหงอยน้อยใจ ว่าตนมีวาสนาน้อย ทำไม่ไหว เพราะมีกิจการยุ่งยากทั้งภายในบ้านและนอกบ้าน ตลอดงานสังคมต่างๆที่ต้องเป็นธุระ จะมานั่งหลับตาภาวนาอยู่ เห็นจะไม่ทันอยู่ทันกินกับโลกเขา ทำให้ไม่อยากทำประโยชน์ที่ควรได้จึงเลยผ่านไป ควรพยายามแก้ไขเสียบัดนี้ แท้จริง การภาวนา คือ วิธีแก้ความยุ่งยากลำบากใจทุกประเภทที่เป็นภาระหนัก ให้เบาและหมดสิ้นไป ได้อุบายมาแก้ไขไล่ทุกข์ออกจากตัว การอบรมใจด้วยการภาวนาก็เป็นวิธีหนึ่งแห่งการรักษาตัว เป็นวิธีที่เกี่ยวกับจิตใจผู้เป็นหัวหน้างานทุกด้าน

จิต จำต้องเป็นตัวการรับภาระแบกหาม โดยไม่คำนึงถึงความหนักเบา ว่าชนิดใดพอยกไหวไหม จิตต้องรับภาระทันที ดี-ชั่ว-ผิด-ถูก-หนัก-เบา เศร้าโศกเพียงใด บางเรื่องแทบเอาชีวิตไปด้วย ขณะนั้นจิตใจยังกล้าเอาตัวเข้าเสี่ยงแบกหามจนได้ มิหนำซ้ำยังหอบเอามาคิดเป็นการบ้านอีก จนนอนไม่หลับ รับประทานไม่ได้ก็มี คำว่าหนักเกินไป ยกไม่ไหว เกินกำลังใจจะคิดและต้านทานนั้นไม่มี

งานทางกาย ยังมีเวลาพักผ่อนนอนหลับ และยังรู้ประมาณว่า ควรหรือไม่ควรแก่กำลังของตนเพียงใด ส่วนงานทางใจไม่มีเวลาได้พักผ่อนเอาเลย พักได้เล็กน้อยขณะนอนหลับเท่านั้น แม้เช่นนั้นจิตยังอุตส่าห์ทำงานด้วยการละเมอเพ้อฝันต่อไปอีก ไม่รู้จักประมาณว่าเรื่องต่างๆนั้นควรแก่กำลังของใจเพียงใด เมื่อเกิดอะไรขึ้น ทราบแต่ว่า ทุกข์เหลือทน ไม่ทราบว่าทุกข์เพราะงานหนัก และเรื่องเผ็ดร้อนเหลือกำลังใจจะสู้ไหว ใจคือนักต่อสู้ ดีก็สู้ ชั่วก็สู้ ชั่วก็สู้ สู้จนไม่รู้จักหยุดยั้งไตร่ตรอง สู้จนไม่รู้จักตาย หากปล่อยไปโดยไม่มีธรรมเป็นเครื่องยับยั้ง คงไม่ได้รับความสุข แม้จะมีสมบัติก่ายกอง

ธรรม เป็นเครื่องปกครองสมบัติและปกครองใจ ถ้าขาดธรรมเพียงอย่างเดียว ความอยากของใจจะพยายามหาทรัพย์ได้กองเท่าภูเขา ก็ยังหาความสุขไม่เจอ ไม่มีธรรมในใจเพียงอย่างเดียว จะอยู่ในโลกใด กองสมบัติใด ก็เป็นเพียงโลกเศษเดน และกองสมบัติเดนเท่านั้น ไม่มีประโยชน์อะไรแก่จิตใจแม้แต่นิด ความทุกข์ทรมาน ความอดทน ทนทาน ต่อสิ่งกระทบกระทั่งต่างๆ ไม่มีอะไรจะแข็งแกร่งเท่าใจ ถ้าได้รับความช่วยเหลือที่ถูกทาง ใจจะกลายเป็นของประเสริฐ ให้เจ้าของได้ชมอย่างภูมิใจต่อเรื่องทั้งหลายทันที

จิต เป็นสมบัติสำคัญมากในตัวเราที่ควรได้รับการเหลียวแล ด้วยวิธีการรักษาให้ดี ควรสนใจรับผิดชอบต่อจิตอันเป็นสมบัติที่มีค่ายิ่งของตน วิธีที่ควรกับจิตโดยเฉพาะ ก็คือภาวนา ฝึกหัดภาวนาในโอกาสอันควร ตรวจดูจิตว่ามีอะไรบกพร่องและเสียไป จะได้ซ่อมสุขภาพจิต คือ นั่งพินิจพิจารณาดูสังขารภายใน คือ ความคิดปรุงแต่งของจิตว่าคิดอะไรบ้าง ในวันและเวลาที่นั่งๆ มีสาระประโยชน์ไหม คิดแส่หาเรื่อง หาโทษ ขนทุกข์มาเผาตนอยู่นั้น พอรู้ ผิด-ถูก ของตัวบ้างไหม

 

พิจารณาสังขารภายนอกว่ามีความเจริญขึ้นหรือเจริญลง สังขารร่างกายมีอะไรใหม่ หรือมีความเก่าแก่ชราหลุดลงไป พยายามเตรียมตัวเตรียมใจเสียแต่เวลาที่พอจะทำได้ ตายแล้วจะเสียการ ให้ท่องอยู่ในใจเสมอว่า เรามีความแก่-เจ็บ-ตายอยู่ประจำตัวทั่วหน้ากัน ป่าช้าอันเป็นที่เผาศพภายนอก และป่าช้าที่ฝังศพภายในคือตัวเราเอง เป็นป่าช้าร้อยแปดพันเก้าแห่งศพที่นำมาฝังหรือบรรจุ จะอยู่ในตัวเราตลอดเวลาทั้งศพเก่าศพใหม่ทุกวัน

พิจารณาธรรมสังเวช พิจารณาความตายเป็นอารมณ์ ย่อมมีทางถอดถอนความเผลอเย่อหยิ่งในวันในชีวิต และวิทยฐานะต่างๆออกได้ จะเห็นโทษแห่งความบกพร่องของตัว และพยายามแก้ไขได้เป็นลำดับ มากกว่าจะไปเห็นโทษของคนอื่น แล้วมานินทาเขา

นี่คือการภาวนาคือ วิธีเตือนตน สั่งสอนตน ตรวจตราดูความบกพร่องของตน ว่าควรแก้ไขจุดใด ตรงไหนบ้าง ใช้ความพิจารณาอยู่ทำนองนี้เรื่อยๆ ด้วยวิธีสมาธิภาวนาบ้าง ด้วยการรำพึงในอิริยาบถต่างๆบ้าง ใจจะสงบเย็นไม่ลำพองผยองตัว และความทุกข์มาเผารนตัวเอง เป็นผู้รู้จักประมาณในหน้าที่การงานที่พอเหมาะพอดีแก่ตัว ทั้งทางกาย และทางใจ ไม่ลืมตัว มั่วสุมในสิ่งที่เป็นหายนะต่างๆ คุณสมบัติของผู้ภาวนานี้มีมากมาย ไม่อาจพรรณนาให้จบสิ้นได้

ทาน-ศีล-ภาวนา ธรรมทั้ง ๓ นี้เป็นรากแก้วของความเป็นมนุษย์ และเป็นรากเหง้าของพระศาสนาผู้เกิดมาเป็นมนุษย์ต้องเป็นผู้เคยสั่งสมธรรมเหล่านี้ มาอยู่ในนิสัยของผู้จะมาสวมร่างเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ด้วยมนุษย์สมบัติอย่างแท้จริง

คัดลอกจาก http://www.tangboon.com/index.php?lay=show&ac=article&Id=539383933

 

KM วันละคำ : 607. KM คณะแพทย์ภูมิภาคเมื่อ ๓๐ ปีที่แล้ว

พิมพ์ PDF
ความรู้ปฏิบัติ มาก่อนความรู้ทฤษฎี หรือทฤษฎีมาจากการปฏิบัติ

KM วันละคำ : 607. KM คณะแพทย์ภูมิภาคเมื่อ ๓๐ ปีที่แล้ว

ระหว่างนั่งประชุม เรื่อง ทิศทางและแผนดำเนินงานของสมาคม ควอท. วันที่ ๗ ก.ย. ๕๖ ที่โรงแรม เลอ คาซ่า บางแสน ชลบุรี อ. หมอจิตเจริญ ไชยาคำ เอ่ยเรื่องการประชุม ลปรร. ระหว่างคณะแพทยศาสตร์ส่วนภูมิภาค ๓ แห่ง เมื่อ ๓๐ ปีที่แล้ว ว่าก่อให้เกิดการเคลื่อนไหว พัฒนาความก้าวหน้าของทั้ง ๓ หน่วยงานเป็นอันมาก เราเรียกการประชุมนี้ว่า การประชุมระหว่างคณะแพทยศาสตร์ส่วนภูมิภาค

ทำให้ผมคิดได้ว่า นี่คือ KM ที่ผมสัมผัส และเป็นตัวการคนหนึ่งที่ทำให้เกิด คือเป็นทั้ง คุณเอื้อ คุณอำนวย และบางครั้ง เป็น คุณกิจ ด้วย โดยคณะแพทยศาสตร์ ๓ แห่งที่อยู่นอกกรุงเทพในขณะนั้น ตกลงกันจัด พื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ ระหว่างกัน หมุนเวียนกันเป็นเจ้าภาพ เหย้า-เยือน ทุกๆ ๓ เดือน เอาจินตนาการหรือความฝัน และผลงานที่ภูมิใจ มา ลปรร. กัน สร้างแรงบันดาลใจ สร้างกระแสการเปลี่ยนแปลง และเรียนรู้วิธีปฏิบัติ จากกันและกัน โดยมีเป้าหมายเพื่อการพัฒนาคุณภาพ และสร้างนวัตกรรม ในการทำหน้าที่โรงเรียนแพทย์

นี่คือ KM ที่ผมมีส่วนร่วมทำ โดยไม่รู้จักหลักการ KM เลย ก่อนที่ผมจะรู้จัก KM เป็นเวลากว่า ๒๐ ปี คิดย้อนหลังกลับไป ผมรู้สึกว่า ตอนนั้นเรา ลปรร. ความรู้ปฏิบัติ (tacit knowledge) กันไฟแลบทีเดียว โดยตอนนั้นเราไม่รู้จัก tacit knowledge

เรื่องเล่านี้ บอกเราว่า ความรู้ปฏิบัติ มาก่อนความรู้ทฤษฎี หรือทฤษฎีมาจากการปฏิบัติ

วิจารณ์ พานิช

๗ ก.ย. ๕๖

 

 

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย Prof. Vicharn Panich

แก้ไขล่าสุด ใน วันจันทร์ที่ 30 กันยายน 2013 เวลา 07:46 น.
 

วิธีเลี้ยง(ฝึก)ลูก/ศิษย์ ให้เป็นคนเก่ง

พิมพ์ PDF
ปัจจัยชี้ขาดของความเป็นคนเก่ง คือความเชื่อ หรือกระบวนทัศน์ ว่าความสำเร็จขึ้นอยู่กับพรแสวง ไม่ใช่ขึ้นอยู่กับพรสวรรค์ หรือ "ลิขิตฟ้าหรือจะสู้มานะตน"

วิธีเลี้ยง(ฝึก)ลูก/ศิษย์ ให้เป็นคนเก่ง

บทความเรื่อง The Secret to Raising Smart Kids เขียนโดย Carole S. Dweck ตีพิมพ์ในนิตยสาร Scientific American ในปี ค.ศ. 2007 และพิมพ์ซ้ำในหนังสือ The Science of Education ในปี 2012 เล่าเรื่องวิธีช่วยให้เด็กประสบความสำเร็จในการเรียนและในการดำรงชีวิตเมื่อโตเป็นผู้ใหญ่

บทความนี้เล่าผลงานวิจัยของผู้เขียน ร่วมกับผู้ร่วมวิจัย หลากหลายโครงการ ในช่วงเวลา ๔๐ ปี ที่บอกว่าปัจจัยชี้ขาดของความเป็นคนเก่ง คือความเชื่อ หรือกระบวนทัศน์ ว่าความสำเร็จขึ้นอยู่กับพรแสวง ไม่ใช่ขึ้นอยู่กับพรสวรรค์ หรือ "ลิขิตฟ้าหรือจะสู้มานะตน"

วิธีเลี้ยง(ฝึก)ลูก/ศิษย์ ให้ประสบความสำเร็จในการเรียน และในชีวิต ทำโดยหาทางสร้างความเชื่อ ว่าปัจจัยสู่ความสำเร็จในการทำสิ่งใดก็ตาม คือความมานะพยายาม ไม่ได้อยู่ที่ความฉลาดที่มีมาแต่กำเนิด

ผู้เขียนเล่าเรื่องผลการวิจัยมากมาย ที่ยืนยันข้อสรุปว่าคนเก่งคือคนที่มีความมานะพยายาม ส่วนคนสมองดีแต่ขาดความานะพยายามจะเป็น ม้าตีนต้น เก่งตอนเด็กๆ ต่อมาเมื่อต้องเผชิญการเรียนหรือ การงานที่ยาก ก็จะถอดใจโดยง่าย และไม่ประสบความสำเร็จ

ส่วนเด็กที่สมองไม่ถึงกับเลิศ แต่ได้รับการเลี้ยงดู (และโค้ช) อย่างถูกต้อง คือไม่ชมความฉลาด แต่ชมความพยายาม ไม่ชมความสำเร็จที่ได้โดยง่าย แต่ชมความสำเร็จที่ได้จากการต่อสู้ไม่ย่อท้อ ต่อความ ยากลำบากหรือความล้มเหลวในเบื้องต้น จะเกิดกระบวนทัศน์ที่เชื่อในพรแสวง กลายเป็นคนที่ไม่ถอดใจง่าย เมื่อเผชิญความล้มเหลว มองความยากลำบากเป็นเส้นทางของการเรียนรู้พัฒนาตนเอง ซึ่งในที่สุดก็จะประสบ ความสำเร็จ และได้นิสัย หรือ กระบวนทัศน์ พรแสวง (Growth Mindset) ไปตลอดชีวิต ทำให้มีชีวิตที่ดี

ตรงกันข้าม เด็กที่สมองดีมาแต่กำเนิด แต่ได้รับการเลี้ยงดูผิดๆ ผู้ใหญ่ชมความฉลาด ที่สามารถเรียนรู้ได้เร็ว จนเด็กเชื่อ หรือฝังใจ ว่าความสำเร็จเกิดจากสมองดีที่ติดตัวมาแต่กำเนิด (กระบวนทัศน์ พรสวรรค์ Fixed Mindset) เมื่อโตขึ้น ต้องเผชิญบทเรียนที่หลากหลายขึ้น มีส่วนที่ยาก ก็จะเป็นคนที่ถอดใจง่าย ไม่ต่อสู้มานะพยายาม เกิดซ้ำๆ เข้า ก็กลายเป็นนิสัยไม่สู้สิ่งยาก และเป็นคนไม่ประสบความสำเร็จในชีวิต เท่าที่ควร ทั้งๆ ที่เป็นคนกำเนิดมามีสมองดี

เขาบอกว่า คนมีกระบวนทัศน์พรสวรรค์ ให้คุณค่าต่อความสำเร็จ ในขณะที่คนที่มีกระบวนทัศน์พรแสวง ให้คุณค่าต่อการเรียนรู้

มี คอมพิวเตอร์โปรแกรมที่ใช้ฝึกและช่วยสร้างกระบวนทัศน์พรแสวง ชื่อ Brainology ที่บทความนี้บอกว่าใช้ได้ผลจริง เพราะช่วยให้เห็นรูปธรรมของความก้าวหน้าเติบโตของเครือข่ายใยสมอง เมื่อตนบากบั่นฝึกฝน

คนเก่งที่แท้จริง คือคนที่เรียนรู้ ทั้งจากความล้มเหลวและจากความสำเร็จ

ต้องอ่านบทความตัวจริงนะครับ จะสนุกกว่าที่ผมเล่าหลายเท่า

อ่านเรื่องนี้แล้ว ผมนึกถึงหนังสือ Outliers ของ Malcolm Gladwell ที่คุณสมบัติพิเศษ ๕ ประการตามในบันทึกเกี่ยวกับคนที่ประสบความสำเร็จในชีวิตเป็นพิเศษ ตัวที่ ๓ คือเรื่องความเชื่อในพรแสวง ตามในบันทึกนี้ แต่ในบันทึกนี้เราสนใจคนทุกคน ไม่ใช่เฉพาะคนมีความสามารถพิเศษ

วิจารณ์ พานิช

๒๖ ก.ย. ๕๖

 

 

 

 

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย Prof. Vicharn Panich

 

โกงเมืองในภาคธุรกิจสหรัฐอเมริกา

พิมพ์ PDF

โกงเมืองในภาคธุรกิจสหรัฐอเมริกา

นสพ. The Wall Street Journal วันที่ ๒๗ - ๒๙ ก.ย. ๕๖ ลงข่าว J.P. Morgan CEO Takes His Case to Washington

ข่าวบอกว่าธนาคาร J.P. Morgan Chase & Co. น่าจะเจรจาขอรอมชอมกับอธิบดีกรมอัยการของสหรัฐ    ยอมจ่ายเงิน$11,000 ล้าน   หรือประมาณ 350,000 ล้านบาท    แลกกับการไม่โดนดำเนินคดีอาญาฐานทุจริตฉ้อโกง รวม ๗ คดี

การกระทำผิดเกิดช่วงปี ค.ศ. 2005-2007 และเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดวิกฤติการเงินในสหรัฐอเมริกา    ที่เรียกว่า Subprime Mortgage Crisis ในปี 2008  ก่อผลสะเทือนไปทั่วโลก    และยังส่งผลจนถึงปัจจุบัน จากมาตรการแก้ไขอัดฉีดเงินออกสู่ตลาด

ข่าวบอกว่า ในปีที่แล้ว มีการตกลงจ่ายเงินชดเชยการทำผิดเรื่องวิกฤติฟองสบู่การกู้เงินซื้อบ้านนี้ เป็นคดีใหญ่ๆ รวม ๕ คดี   รวมเงิน $25,000 ล้าน    แต่หาก J.P. Morgan ยอมจ่าย $11,000 ล้าน    ก็จะเป็นก้อนเงินที่ใหญ่ที่สุดที่บริษัทหนึ่งยอมจ่าย แลกกับการไม่โดนฟ้อง ในคดี Subprime Crisis

เป็นการเรียนรู้ด้านลบของระบบทุนนิยม ที่เน้นกำไรสูงสุด   ขาดความรับผิดชอบต่อสังคม

วิจารณ์ พานิช

๒๗ ก.ย. ๕๖

 

 

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย Prof. Vicharn Panich

แก้ไขล่าสุด ใน วันเสาร์ที่ 28 กันยายน 2013 เวลา 07:18 น.
 

ชีวิตที่พอเพียง : 2003a. ไม่รับบรรยาย 21st Century Learning แก่สถาบันเดียว

พิมพ์ PDF
หากเป็นเรื่องของสถาบันเดียว ผมจะไปเป็นวิทยากรกระบวนการของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ ของการประยุกต์ใช้ วิธีจัดการเรียนรู้แบบ Active Learning นั่นคือ สถาบันต้องจัด case study อย่างน้อย ๓ กรณีมานำเสนอ และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เพื่อยกระดับความรู้ภาคปฏิบัติ สู่การดำเนินการอย่างเป็นระบบมากขึ้น ให้นักเรียน/นักศึกษา ได้รับประโยชน์มากขึ้น

ชีวิตที่พอเพียง : 2003a. ไม่รับบรรยาย 21st Century Learning แก่สถาบันเดียว

ในช่วงเวลาประมาณ ๒ ปีที่ผ่านมา    ได้มีความตื่นตัวเรื่องการศึกษาแห่งศตวรรษที่ ๒๑   ที่รูปแบบการเรียนรู้เปลี่ยนแปลงไปจากวิถีปฏิบัติที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน อย่างสิ้นเชิง    ผมได้เขียน บล็อก ออกเผยแพร่ แลกเปลี่ยนเรียนรู้มากมาย    รวมทั้งได้รวบรวมพิมพ์เป็นหนังสืออกเผยแพร่ทั้งเป็น eBook ให้ download ได้ฟรี    และพิมพ์เป็นเล่มออกจำหน่าย    บางเล่มเป็นหนังสือขายดี

บัดนี้ น่าจะถึงยุคลงมือทำเสียที    ไม่ใช่ยุคฟังคำบรรยายแนวคิดใหม่วิธีการใหม่อีกแล้ว

จึงขอประกาศว่า ต่อไปนี้ผมไม่รับไปพูดแบบบรรยายเรื่องการเรียนรู้ในศตวรรษที่ ๒๑ ให้แก่สถาบันใดสถาบันหนึ่ง    ที่จัดเป็นการภายในของสถาบันอีกต่อไป

หากเป็นเรื่องของสถาบันเดียว    ผมจะไปเป็นวิทยากรกระบวนการของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ ของการประยุกต์ใช้ วิธีจัดการเรียนรู้แบบ Active Learning นั่นคือ สถาบันต้องจัด case study อย่างน้อย ๓ กรณีมานำเสนอ   และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เพื่อยกระดับความรู้ภาคปฏิบัติ   สู่การดำเนินการอย่างเป็นระบบมากขึ้น    ให้นักเรียน/นักศึกษา ได้รับประโยชน์มากขึ้น

ต่อไปนี้ 21st Century Learning Movement ของสังคมไทยต้องเข้าสู่ยุคปฏิบัติ   เพื่อให้ศิษย์ได้รับประโยชน์อย่างแท้จริง    ไม่ใช่วนเวียนอยู่ที่ผลประโยชน์ของครู    ที่ฟังบรรยายแล้วคิดว่ารู้ หรือมีความสุขจากการฟัง แต่ไม่เอาไปปฏิบัติ

ครู/อาจารย์ ไทย ต้องทำตัวเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง    โดยลงมือทำ    แล้วนำผลของการกระทำมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน   เพื่อให้เกิดผลดีต่อศิษย์ยิ่งขึ้น   และเมื่อ Learning Outcome ของศิษย์สูงขึ้น   ครูและโรงเรียน/สถาบันการศึกษา ก็มีชื่อเสียง    มีความภาคภูมิใจ    ในสภาพเช่นนี้ผมยินดีเข้าร่วมขบวนการเต็มที่

วิจารณ์ พานิช

๒๗ ก.ย. ๕๖

 

 

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย Prof. Vicharn Panich

แก้ไขล่าสุด ใน วันเสาร์ที่ 28 กันยายน 2013 เวลา 07:34 น.
 


หน้า 442 จาก 558
Home

About Us

ศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ (ศบม.) เป็นองค์กรที่พัฒนาและจัดทำโครงการเพื่อทำประโยชน์ให้สังคม เป็นองค์กรสนับสนุนการดำเนินงานของภาครัฐ ช่วยแก้ปัญหาผู้ประกอบการภาคธุรกิจบริการที่ขาดแคลนบุคลากรที่มีมาตรฐานในการให้บริการ
อ่านเพิ่มเติม

มูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ ์

 iHDC Profile
บัญชีรายชื่อกรรมการ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียน การเปลี่ยนแปลงกรรมการของมูลนิธิ
เอกสารประชาสัมพันธ์ โครงการ HMTC.pdf
เอกสารแนะนำโครงการ HMTC 1.pdf
เอกสารโครงการ HMTC 2 คุณสมบัติผู้เข้าร่วมโครงการ.pdf
iHDC นิติบุคคล.pdf
iHDC บุคคล.pdf
iHDC บุคคลเครือข่าย.pdf
รายงานการประชุม 6 มีนาคม 2560.pdf
ข้อบังคับมูลนิธิ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียนจัดตั้งมูลนิธิ
Ihdc-Profile and Roadmap 2016-2019 Mar 23 2560.pdf
รายงานการประชุมใหญ่คณะกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ 2559.pdf
คำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ สาขาวิชาชีพ.pdf
รายงานการประชุมใหญ่วันที่ 18 ธ ค 2558 v 3.pdf
รายงานการประชุม วันที่ 24 ธันวาคม 2557 updated 4 มีนาคม 2558.pdf
iHDC-invitation Letter.doc
iHDC-Member Form Thai.doc
iHDC-Member Form English.doc
รายงานการประชุมกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ วันที่ 15 มกราคม 2556 ฉบับสมบูรณ์


thaibetter
พัฒนาประเทศไทยแบบทวีคูณ และยั่งยืน ( ททค )

Login


แบบสำรวจ

สถิติเว็บไซด์

สมาชิก : 5606
Content : 3049
เว็บลิงก์ : 26
จำนวนครั้งเปิดดูบทความ : 8600448

facebook

Twitter


บทความเก่า