Thaiihdc.org

  • เพิ่มขนาดตัวอักษร
  • ขนาดตัวอักษรปกติ
  • สดขนาดตัวอักษร
Thaiihdc.org

การรับรู้และเรียนรู้ของเด็กยุคใหม่ กับการเปลี่ยนแปลงของสังคมโลกในศตวรรษที่ ๒๑

พิมพ์ PDF

ฝ่ายส่งเสริมการจัดการเรียนการสอน  สำนักพัฒนาคุณภาพการศึกษา  มช. จัดการประชุมสัมมนา โครงการพัฒนาคณาจารย์ เรื่อง การสอนแบบไม่บรรยายเพื่อการเรียนรู้สำหรับเด็กยุคใหม่  ในวันที่ ๑๘  มิ.ย. ๕๖ ทั้งวัน  และเชิญผมไปพูดช่วงเช้า เรื่อง “การรับรู้และเรียนรู้ของเด็กยุคใหม่ กับการเปลี่ยนแปลงของสังคมโลกในศตวรรษที่ ๒๑”

 

จึงนำ narrated ppt มา ลปรร. ที่นี่ และ ที่นี่

 

โดยขอเพิ่มเติมว่า ผมลืมพูดเรื่องสำคัญ ๒ เรื่อง


๑.  สังคมโลกในศตวรรษที่ ๒๑ เป็นสังคมเศรษฐกิจสร้างสรรค์และนวัตกรรม  ผ่านพ้นยุคอุตสาหกรรมการผลิตที่คนทำงานในโรงงานในสายพานการผลิต ที่ทำงานซ้ำๆ เหมือนๆ กันและเหมือนๆ เดิม  แต่ในยุคใหม่ คนต้องออกไปทำงานต่างๆ กัน และต้องมีทักษะและความกล้าในการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ  การศึกษาสมัยใหม่จึงต้องฝึกให้คนมีทักษะสร้างสรรค์ (creativity)


๒. Transformative Learning ซึ่งหมายถึงการเรียนรู้ที่เลย Informative Learning (เรียนให้รู้สาระวิชา)  และเลย Formative Learning (เรียนให้นำความรู้ไปใช้งานได้)  ไปสู่ Transformative Learning  คือเรียนให้มีทักษะภาวะผู้นำการเปลี่ยนแปลง  ออกไปดำรงชีวิตและทำงานโดยมีส่วนร่วมในการนำการเปลี่ยนแปลง คือเป็น change agent

 

 

 

วิจารณ์ พานิช

๑๘ มิ.ย. ๕๖

 


 

โครงการ DFC3 : ๘. เที่ยว Frankfurt และ AAR (จบ)

พิมพ์ PDF

วันที่ ๑๔ มิ.ย. ๕๖ เรานั่งรถจาก Karlsruhe ไปยัง Frankfurt และปล่อยให้เดินชมเมือง และซื้อของเป็นเวลาชั่วโมงเศษๆ  เราได้เห็นนักท่องเที่ยวจีนเต็มไปหมด  ได้เห็นความงามของจตุรัส ใกล้แม่น้ำ Mann  มีอาจารย์ท่านหนึ่งในคณะซื้อนาฬิกา Rolex เป็นที่ฮือฮา

ต่อไปนี้เป็น AAR ของผม  ว่าผมได้เรียนรู้อะไรบ้างจากการ่วมเดินทางไปกับคณะ DFC3 ครั้งนี้  และมีความเห็นว่าเราควรช่วยกันสร้างการเปลี่ยนแปลงให้แก่อุดมศึกษาไทยอย่างไรได้บ้าง  จากการไปเห็นโอกาสที่เยอรมันนี

อุดมศึกษาของเยอรมันนี มีรากฐานของตนเอง  และวิวัฒนาการมากับการพัฒนาบ้านเมือง  จึงมีลักษณะจำเพาะ ที่เราไม่คุ้นอยู่มาก  โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเรียนเพื่อทำงาน  และการมีมหาวิทยาลัยเพื่อทำหน้าที่รุกวิทยาการไปในขอบฟ้าใหม่  ผมได้ไปเรียนรู้ว่า เขาไม่นับผู้กำลังทำปริญญาเอกเป็น นศ.  แต่นับเป็นส่วนหนึ่งของ “กองทัพนักวิจัย”

การแยกประเภทสถาบันอุดมศึกษามีความชัดเจน และมี “ความเป็นเลิศ” ในสถาบันอุดมศึกษาแต่ละประเภท ชัดเจน

ความร่วมมือ internationalization, student exchange, วิจัย  ใช้ความร่วมมือเป็นกลไกทำสิ่งที่ตนเองทำไม่ได้ด้วยตัวเอง  เป็นสิ่งที่อุดมศึกษาไทยพึงเรียนรู้ และนำมาใช้ประโยชน์ในการพัฒนาตนเอง

ผมตื่นเต้นในความร่วมมือกับ SRH เชิญวิทยากรมาจัด workshop ฝึกอบรมอาจารย์ ในการปฏิรูปวิธีสอนแบบ active learning  ที่ สคช. จะดำเนินการต่อไป

สำหรับ ม. มหิดล จะเกิดความร่วมมือระหว่าง European University Viadrina กับ CMMU  และระหว่าง SRH กับวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล  หลังจากกลับมาได้ ๒​ - ๓ วัน ผมได้ส่ง อีเมล์ แนะนำให้ รศ. ดร. อรรณพ ตันละมัย คณบดีของวิทยาลัยการจัดการ ได้รู้จักกับ Petra Weber  ผอ. วิเทศสัมพันธ์ของ EUV  และทราบว่าได้โทรศัพท์คุยกัน  แล้วจะแลกเปลี่ยนเอกสารเจตนารมณ์ของแต่ละฝ่าย  เพื่อนำไปสู่ข้อตกลง และกิจกรรมความร่วมมือต่อไป

ผมอยากเห็นความร่วมมือระหว่าง กลุ่ม มทร. กับสถาบันคลังสมองฯ ในการจัดโครงการ RTU Dean For Change โดยร่วมมือกับทางเยอรมัน  หาทางขับเคลื่อนให้ มทร. ของเราเข้าไปทำงานร่วมมือ กับโรงงานอุตสาหกรรม  ทั้งด้านการผลิตบัณฑิต การวิจัย และการพัฒนาอาจารย์

 

วิจารณ์ พานิช

๑๘ มิ.ย. ๕๖  ปรับปรุงเพิ่มเติม ๗ ก.ค. ๕๖

คัดลอกจาก http://www.gotoknow.org/posts/542855

 

ชีวิตที่พอเพียง : ๑๙๕๔. พันธุศาสตร์ก่อนกำเนิด

พิมพ์ PDF

คืนวันที่ ๑๔ มิ.ย. ๕๖ ระหว่างนั่งเครื่องบินจาก แฟรงค์เฟิร์ต กลับกรุงเทพ  อ่าน นสพ. The Wall Street Journal ฉบับวันที่ ๑๔ - ๑๖ มิ.ย. ๕๖พบบทความ The Bleak New World of Prenatal Genetics ทำให้เลือดอดีตนักมนุษยพันธุศาสตร์ของผมเดือดพล่านด้วยความตื่นเต้น  แกมหวาดหวั่น

ตื่นเต้นกับความก้าวหน้าทางพันธุศาสตร์ ที่ไม่ได้หยุดอยู่แค่ความรู้  แต่ได้เคลื่อนไปสู่เทคโนโลยีหรือการประยุกต์ใช้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ เพื่อวินิจฉัยโรคทางพันธุศาสตร์ของทารกในครรภ์มารดาตั้งแต่ยังตั้งครรภ์อ่อนๆ  โดยวิธีที่ไม่กระทบกระเทือนลูกในท้อง  คือเจาะเลือดแม่เอามาตรวจดีเอ็นเอของลูกที่ไหลเวียนอยู่ในพลาสม่าของเลือดแม่  เพื่อวินิจฉัยความผิดปกติของโครโมโซมของลูกในท้อง  ซึ่งตัวที่พบบ่อยที่สุด (๑ ใน ๗๐๐) คือกลุ่มอาการดาวน์ ซึ่งเกิดจากมีโครโมโซมคู่ที่ ๒๑ เกิน  การตรวจนี้เรียกรวมๆ ว่า NIPT (Non-Invasive Prenatal Test)

ที่ก้าวหน้ายิ่งกว่านั้น คือเอาดีเอ็นเอของลูก จากพลาสม่าของเลือดแม่ มาตรวจดีเอ็นเอแบบ whole genome sequencing คือตรวจให้รู้หมดว่ามีจุดอ่อนทางพันธุกรรมอะไรบ้าง

ความหวาดหวั่นเกิดจากการตลาดทางธุรกิจของบริษัทขายชุดตรวจ ที่อวดสรรพคุณเกินจริง  ดังตัวอย่าง MaterniT21 PLUS ของบริษัท Sequenom  สำหรับตรวจหาว่าทารกในครรภ์เป็นกลุ่มอาการ ดาวน์ หรือไม่  สำหรับคนที่รู้เรื่องนี้ ชื่อมันอวดสรรพคุณเกินจริงไปหน่อย

ข้อดีของ MaterniT21 PLUS คือ ตรวจรู้เร็ว ตั้งแต่ครรภ์อ่อนมาก  ช่วยให้คู่สมรสที่ตรวจพบความผิดปกติมีเวลาได้พูดคุยกับคู่สมรสที่เคยมีลูกเป็น ดาวน์  เพื่อประกอบการตัดสินใจว่าจะเก็บไว้เลี้ยง หรือจะทำแท้ง

ในตำราพันธุศาสตร์มาตรฐาน ระบุไว้ชัดเจนว่า การวินิจฉัยก่อนคลอดต้องคู่กับการให้คำแนะนำทางพันธุกรรม  เพื่อให้มีการใช้เทคโนโลยีของการวินิจฉัยก่อนคลอดอย่างเหมาะสม  และเตรียมการตัดสินใจไว้ล่วงหน้าอย่างรอบคอบ  เพราะเป็นเรื่องที่ไม่ใช่ขาวกับดำ  หรือไม่ใช่เรื่องที่คนทุกคนจะมีความเห็นเหมือนกันหมด  เพราะเด็ก ดาวน์ ก็ไม่ใช่ว่ามีแต่ข้อเสีย  เขามีข้อดีด้วย คือเป็นคนน่ารัก

ปัญหาของการมี NIPT ใช้อย่างกว้างขวาง ก็คือ มีนักให้คำแนะนำทางพันธุกรรม (genetic counselor) ไม่พอ  หรือมีการส่งเสริมการใช้ NIPT โดยไม่ผ่านการให้คำแนะนำทางพันธุกรรม  นำไปสู่ปัญหาทางจริยธรรมของการใช้ NIPT   พูดง่ายๆ คือ เสียเงินโดยไม่จำเป็น  หรือกึ่งๆ ถูกหลอกนั่นเอง

เล่ห์กลทางธุรกิจที่ใช้กันทั่วไป คือหาทางให้ผลิตภัณฑ์ของตนกลายเป็น “ของใช้ประจำบ้าน” (commodities)  ซึ่งในกรณีของ NIPT ก็คือ ให้เป็นของใช้ประจำสำหรับแม่ที่ตั้งครรภ์ทุกคน  อย่างนี้บริษัทก็ขายชุดตรวจได้ในสหรัฐอเมริกา ๔ ล้านชุดต่อปี ตามจำนวนการตั้งครรภ์ (เวลานี้ MaterniT21 PLUS ขายได้ ๑๐๐,๐๐๐  และมีเป้า ๓๐๐,๐๐๐)  ถ้าเป็นเช่นนี้จริง ก็หมายความว่าสังคมอเมริกันถูกบริษัทผลิต NIPT หลอกกันทั้งชาติ

สมาคมแพทย์ที่เกี่ยวข้อง จึงต้องออกมาช่วยกันบอกสังคมว่า การใช้ประโยชน์ NIPT โดยไม่เกิดโทษเป็นอย่างไร  ข้อแรกคือต้องปรึกษานักให้คำแนะนำทางพันธุกรรมก่อนใช้   และต้องใช้ในกรณีมีความเสี่ยงสูงต่อการที่ลูกในครรภ์จะมีความผิดปกติที่จำเพาะเท่านั้น  ห้ามใช้ตรวจแบบเหวี่ยงแหเด็ดขาด

เอามาเล่า เพื่อจะบอกว่า  ในชีวิตของคนเราในยุคสังคมเศรษฐกิจบริโภคนิยม ทุนนิยม  เราเผชิญกับเรื่องแบบนี้อยู่ตลอดเวลา  คือถูกชักจูงทางตรงหรือทางอ้อมให้บริโภคสินค้าโดยไม่จำเป็น  ใครรู้เท่าทันไม่ตกเป็นเหยื่อ ชีวิตก็จะเบาสบาย

 

 

วิจารณ์ พานิช

๑๖ มิ.ย. ๕๖

คัดลอกจาก http://www.gotoknow.org/posts/542736

 

 

 


 

การเรียนรู้บูรณาการพลังสาม : หัวใจอุดมศึกษา : ๑๓. หอพักเพื่อการเรียนรู้บูรณาการ

พิมพ์ PDF

บันทึก ๒๐ ตอนนี้ ได้จากการตีความหนังสือ  The Heart of Higher Education : A Call to Renewalเขียนโดยผู้มีชื่อเสียง ๒ ท่านคือ Parker J. Palmer และ Arthur Zajonc ซึ่งเมื่อผมอ่านคร่าวๆ แล้ว ก็บอกตัวเองว่า  นี่คือข้อเสนอสู่การเรียนรู้เพื่อเป็นคนเต็มคน ที่มี “พลังสาม” เข้มแข็ง คือ สมอง ใจ และวิญญาณ (head, heart, spirit)  หรือพูดด้วยคำที่ฮิตในปัจจุบันคือ การเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงจากภายในตน (Transformative Learning)

แม้ว่าหนังสือเล่มนี้จะเน้นเสนอการเปลี่ยนแปลงในระดับอุดมศึกษา   แต่ผมมีความเชื่อว่าต้องใช้กับการศึกษาทุกระดับ  รวมทั้งการศึกษาตลอดชีวิต  และตัวผมเองก็ต้องการนำมาใช้ฝึกปฏิบัติเองด้วย

ผมตั้งเป้าหมายในการอ่านและตีความหนังสือเล่มนี้  ออกบันทึกลง บล็อก ชุด เรียนรู้บูรณาการพลังสาม ว่า ต้องการเจาะหาแนวทางทำให้จิตตปัญญาศึกษา เข้าสู่การศึกษากระแสหลัก  เพื่อให้คนไทยมีทักษะจิตตภาวนาบูรณาการอยู่ในทักษะแห่งศตวรรษที่ ๒๑  เป็นส่วนหนึ่งของทักษะชีวิต

การเรียนรู้บูรณาการ (สมอง ใจ และวิญญาณ) พัฒนา ๓ ด้านไปพร้อมๆ กัน  และส่งเสริมเกื้อกูลซึ่งกันและกัน  ในภาษาอังกฤษเรียกว่า Integrative Learning  ในบางที่เรียกว่า Transformative Learning ซึ่งแปลเป็นไทยได้ ๒ แบบ ว่า (๑) การเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงระดับรากฐาน  คือเปลี่ยนจากติดสัญชาตญาณสัตว์ เป็นมีจิตใจสูง ซึ่งมนุษย์ทุกคนบรรลุได้   บรรลุได้ในฐานะบุคคลทางโลก ไม่ต้องเข้าวัด หรือไม่ต้องบวช  (๒) เป็นการเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลง หรืองอกงาม ภายในตน  ตรงกันข้ามกับการเรียนรู้แบบรับถ่ายทอดความรู้มาจากภายนอก

ผมได้ตีความเขียนบันทึกจากบทหลักในหนังสือจบแล้ว  แต่ยังมีส่วนเพิ่มเติม เพื่อบอกวิธีปฏิบัติอีกหลายตอน  ที่ผมคิดว่ามีประโยชน์ต่ออาจารย์ที่ต้องการจัดการเรียนรู้แบบ Integrative/Transformative Learning อย่างจริงจัง

บันทึกตอนที่ ๑๓ นี้ ตีความจากส่วนหนึ่งของ Appendix B : Beyond the Classroom  เรื่อง Theme Dorms : Mixing Academics and College Life เขียนโดย Sharon Daloz Parks, Senior Fellow, Whidbey Institute  เล่าเรื่องการพัฒนา นศ. ให้เกิด Transformative Learning โดยการดำเนินการหอพักให้เป็นชุมชนเรียนรู้  ส่งเสริมให้ นศ. สร้างทักษะการรวมตัวกันเป็นชุมชนเรียนรู้ ขึ้นภายในตน

ในเรื่องเล่านี้ ผู้เขียนเล่าย้อนหลังไปสมัยที่ตนเริ่มเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย  ได้เป็นอาจารย์ที่ Whitworth College ซึ่งมีเป้าหมายให้การศึกษาเพื่อให้เป็นคนเต็มคน  และภายใต้ภาวะผู้นำของรองอธิการบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา ได้จัด theme dorms ซึ่งเป็นกลุ่มอาคารหอพักสองชั้น ๖ อาคาร  แต่ละอาคารให้ นศ. พักเดี่ยวได้ ๒๒ คน  มีห้องกิจกรรม และครัวเล็กๆ  ในหอพักแต่ละหลัง นศ. ลงเรียนร่วมกันเป็นพิเศษ ๑ รายวิชา (รายวิชาที่เป็น theme ของหอพักนั้น)  ผู้เล่าสอนวิชา Religion and Life ร่วมกับอาจารย์อีกท่านหนึ่ง ใน theme dorm “Religion and Life”  โดยผู้เล่ารับผิดชอบวิชาศาสนา  อาจารย์อีกท่านหนึ่งรับผิดชอบวิชาสังคมวิทยา  เป็นการสอนเป็นทีม  โดยสอนตอนบ่าย ๓ ชั่วโมง สัปดาห์ละ ๒ ครั้ง

เป้าหมายของการสอนวิชานี้ ก็เพื่อให้ นศ. เกิดความเป็นประชาคมในกลุ่ม และเพื่อให้เกิดการเรียนรู้ในมิติที่ลึก  โดยมีเงื่อนไขให้ นศ. ที่มาลงทะเบียนเรียนต้องปฏิบัติ  ได้แก่ ต้องเข้าเรียนทุก session  ต้องเข้าร่วมกิจกรรมทางสังคมที่จัดในหอสัปดาห์ละครั้ง  โดยที่ นศ. เป็นผู้ร่วมกันกำหนดเองว่าเป็นกิจกรรมอะไร (เช่น ไปปิกนิก  ดูภาพยนตร์ ฯลฯ)

ในตอนต้นเทอม อาจารย์ให้ นศ. ตกลงกันว่าจะอยู่ร่วมกันอย่างไร  มีกติกาอะไรบ้าง  โดยอาจารย์ช่วยแนะนำให้ นศ. ประชุมตกลงกันแบบไม่โหวต แต่คุยกันจนได้ฉันทามติ

นอกจากนั้น รายวิชานี้ ดำเนินแบบเดียวกับรายวิชาอื่นๆ  คือ นศ. อ่านเอกสารที่ได้รับมอบหมาย  อาจารย์นำเสนอหน้าชั้น  อภิปราย  การเขียนรายงานประจำเทอม  สิ่งที่เกิดขึ้นคือ นศ. มีการอภิปรายประเด็นที่น่าสนใจกันอย่างสนุกสนาน ได้สาระ จนเลยเวลาเรียนตามปกติ   เหตุผลหนึ่งก็คือ เพราะทุกคนอยู่หอ ในบรรยากาศเดียวกัน

รายวิชานี้ดึงดูด นศ. ที่เรียนดีและตั้งใจเรียนที่สุดเข้าสมัคร  แต่ก็มี นศ. อีกประเภทหนึ่ง ที่ตามปกติไม่สนใจเรียนนัก  แต่เป็นคนที่สมองดีมาก  และมักไม่เข้ากลุ่มพวกตั้งใจเรียน มาลงทะเบียนเข้าเรียนด้วย ด้วยความสนใจว่าที่นี่เขาทำอะไรกัน  สมมติว่า นศ. ประเภทหัวดีไม่ตั้งใจเรียนคนหนึ่งชื่อ จอห์น

เมื่อเรียนไปได้ระยะหนึ่ง จอห์น ก็เปลี่ยนท่าทีที่ห่างเหินจากพวก “เด็กเรียน” มาเข้ากลุ่ม  และร่วมจัดกิจกรรมต่างๆ ของกลุ่ม (เกิด transformation)

หลายปีต่อมา เมื่อมาทบทวนว่าเกิดอะไรขึ้นในการเรียนแบบนั้น  จอห์น บอกว่า “Whitworth ต้องการให้ นศ. เป็นคนที่มีลักษณะพิเศษ”  คือเป็น “คนจริง” (real person)

นศ. ในชั้นนั้นอีกคนหนึ่ง ซึ่งในขณะนี้เป็นอาจารย์ สะท้อนว่า “ใน Religion and Life theme dorm เราสังเกตเห็นกระบวนการที่ จอห์น เกิดการเปลี่ยนแปลงจากภายในอย่างสิ้นเชิง (transformation)  และเราได้เรียนรู้ว่า การเปลี่ยนแปลงอย่างสิ้นเชิงเช่นนั้น เกิดขึ้นได้กับพวกเราทุกคน”

ที่จริงผลลัพธ์เช่นนี้ ไม่ได้เขียนไว้ในเป้าหมายของรายวิชา  แต่ประสบการณ์นี้ฝังใจและให้ความกระจ่างแจ้งแก่ผู้เล่า  เป็นประสบการณ์ที่มีคุณค่าสูงสุดอย่างหนึ่งตลอดเวลา ๔๐ ปีที่เป็นอาจารย์สอนในมหาวิทยาลัย  เป็นการค้นพบอิทธิพลของการรวมตัวกันเป็นกลุ่มหรือชุมชนต่อการเรียนรู้  ชนิดที่เป็นการเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงจากภายในตน (transformative learning)  ซึ่งเกิดขึ้นยากจากการเรียนแบบตัวคนเดียว

การเรียนคนเดียวอาจจำเป็นสำหรับการเรียนเพื่อความรู้  แต่การเรียนเพื่อการเปลี่ยนแปลงจากภายในตนอย่างรอบด้าน การเรียนที่มีผลเปลี่ยนแปลงความคิดและพฤติกรรม  ต้องการการเรียนเป็นกลุ่ม หรือเป็นชุมชนเรียนรู้

ชุมชนเรียนรู้ เป็นชุมชนที่ร่วมกันตั้งคำถาม ร่วมกันค้นพบ  หากความสัมพันธ์เป็นกลุ่มหรือชุมชน มีความต่อเนื่องในระยะเวลาหนึ่ง  จะมีผลต่อการมีทักษะการเรียนรู้แบบเปลี่ยนแปลงจากภายในตน (transformative learning) ไปตลอดชีวิต

ผมเองเห็นประโยชน์ของ “ชุมชนเรียนรู้” (learning community) แจ่มแจ้ง  เมื่อทำงานพัฒนาเรื่องการจัดการความรู้  ได้เข้าใจด้านอ่อนของสิ่งที่เรียกว่า “ความรู้”  คือความรู้ฝังลึก(tacit knowledge) ที่เมื่อมีการเปิดใจแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันแล้ว  จะเกิดการเรียนรู้ในมิติที่ลึก  และเปลี่ยนความคิด เปลี่ยนบุคลิกคน คือเกิด transformative learning ได้โดยไม่ยากเลย

 

วิจารณ์ พานิช

๙ ก.พ. ๕๖

คัดลอกจาก http://www.gotoknow.org/posts/541971

 

ชีวิตที่พอเพียง : 1950a. ทิศทางเชิงยุทธศาสตร์ของ สกว. ๒๕๕๗ - ๒๕๖๐

พิมพ์ PDF

ผมได้เข้าร่วมประชุมเวที สกว (TRF Forum) ในชุดโครงการวิจัยด้านการท่องเที่ยวขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อพัฒนาฐานข้อมูลในการพัฒนาการท่องเที่ยวของประเทศไทย  เพื่อศึกษา/สร้างองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการการท่องเที่ยว และเพื่อเสริมสร้างศักยภาพของประเทศไทยในการบริหารจัดการการท่องเที่ยวในรูปแบบต่างๆ

ผมพอใจกับโครงการนี้มาก และขอชื่นชมและตบมือให้กับคณะผู้จัด ผมได้เข้าร่วม 2 ครั้ง และจะเข้าร่วมอีกทั้ง 2 ครั้งที่กำลังตามมา โครงการนี้จะช่วยทำให้ผู้ที่เกี่ยวข้องได้รับทราบความจริงและปัญหาที่เกิดขึ้นจริงกับอุตสาหกรรมท่องเที่ยว นักวิจัยที่ทำการศึกษาได้มีข้อเสนอแนะ ซึ่งใช้ประโยชนได้ส่วนหนึ่ง แต่ถ้าผู้เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน (ผู้ประกอบการ) ชุมชน ประชาชน และสถาบันการศึกษา ไม่สนใจที่จะทำความเข้าใจเรื่องการบริหารจัดการท่องเที่ยวอย่างถูกต้อง และนำไปปฎิบัติ โครงการนี้ก็จะไม่เกิดประโยชน์

เมื่อผมได้อ่านบทความของอาจารย์วิจารณ์ที่กล่าวถึง สกว องค์กรที่มีความสำคัญเรื่องงานวิจัย ผมจึงขอถือโอกาสร่วมแสดงความคิดเห็นเพื่อช่วยต่อยอดให้มองเห็นชัดเจนยิ่งขึ้น  ประโยคที่จะได้อ่านต่อไปเป็นข้อคิดเห็นของผมที่เขียนแสดงความคิดเห็น ต่อบทความของอาจารย์วิจารณ์ ที่อยู่ถัดลงไป เชิญอ่านได้เลยครับ

ม.ล.ชาญโชติ ชมพูนุท

14 กรกฎาคม 2556

ผมเห็นด้วยกับอาจารย์วิจารณ์ครับ งานวิจัยเป็นเรื่องจำเป็นอย่างมาก คนไทยชอบทำอะไรตามกระแส ขาดการศึกษา และเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง การปฎิบัติเป็นการเรียนรู้อย่างแท้จริง ผมมีประสบการณ์ด้านการบริหารจัดการท่องเที่ยว และรู้ว่าการท่องเที่ยวของประเทศไทยไม่ได้ดีและสร้างเศรษฐกิจให้กับประเทศชาติอย่างที่คิดกัน ธุรกิจท่องเที่ยวเราอ่อนแอ และพูดมาตลอดว่าจะต้องแก้ไขอย่างไร ผมได้บริหารจัดการท่องเที่ยวอย่างมีคุณภาพเพื่อเป็นต้นแบบ ได้รับการยอมรับว่าเป็นการท่องเที่ยวที่ดีมีคุณภาพ แต่สายป่านไม่ยาว จึงต้องถอยออกมา ผมพูดและสื่อสารทำทุกวิถีทางเพื่อให้คนในวงการท่องเที่ยว ทราบถึงปัญหาและวิธีแก้ไข แต่ไม่มีใครสนใจ จนกระทั่งผมได้เข้าร่วมประชุมเวที สกว (TRF Forum) .ในวันที่ 27 มิถุนายน และวันที่ 9 กรกฎาคม 2556 ได้ฟังการบรรยายการศึกษาจากนักวิจัย 8 ท่าน ในหัวข้อ "การพัฒนาการท่องเที่ยวเพื่อเตรียมความพร้อมรองรับ AEC" ในวันที่ 27 มิถุนายน และหัวข้อ "การพัฒนาการท่องเที่ยวเพื่อสร้างความเข้มแข็งอย่างยั่งยืนให้กับชุมชน" ผมขอชื่นชมกับนักวิจัยทั้ง 8 ท่าน โดยเฉพาะ ดร.รักษ์พงศ์ วงศาโรจน์ รองผู้อำนวยการศูนย์วิจัยอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว จากสถาบันบัณฑิตพัฒนาบริหารศาสตร์ ท่านทำการศึกษาในเรื่อง "กลยุทธ์ขับเคลื่อนคลัสเตอร์การท่องเที่ยวแบบมีส่วนร่วมเพื่อการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน" อีกท่านที่ผมสนใจคือ ดร.ปิยะ ปานผู้มีทรัพย์ อาจารย์สาขาการเงินและนโยบายพลังงาน หน่วยงานวิจัยการบริโภคและเศรษฐกิจยั่งยืน ท่านได้ศึกษาในเรื่อง "การศึกษาศักยภาพและมูลค่าผลิตภัณฑ์การท่องเที่ยวต่อการสร้างรายได้ในกลุ่มจังหวัดภาคใต้" และอีกท่านที่ผมสนใจคือ ผศ.ดวงพร อ่อนหวาน หัวหน้าสาขาวิชาการจัดการ หัวหน้าศูนย์จัดการข้อมูลเพื่อการวิจัยและพัฒนาศักยภาพชุมชน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ท่านทำการศึกษาเรื่อง "การสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนพื้นที่สูงโดยใช้การท่องเที่ยวโดยชุมชน

ผมรอการศึกษาวิจัยของทั้งสามท่านมานานกว่า 30 ปี เพราะงานวิจัยขอท่านเป็นการยืนยันสิ่งที่ผมพูดมาตลอด ก็ขอชื่นชมผู้เกี่ยวข้องที่ทำให้เกิดเวทีนี้ และหวังเป็นอย่างมากที่การวิจัยในครั้งนี้จะได้รับการนำไปต่อยอดและทางรัฐนำไปเป็นนโยบายในการบริหารจัดการการท่องเที่ยวของประเทศไทย

ม.ล.ชาญโชติ ชมพูนุท

14 กรกฎาคม 2556

ชีวิตที่พอเพียง  : 1950a. ทิศทางเชิงยุทธศาสตร์ของ สกว. ๒๕๕๗ - ๒๕๖๐

วันเสาร์-อาทิตย์ที่ ๖-๗ ก.ค. ๕๖ ผมไปร่วมประชุมระดมความคิด  แผนยุทธศาสตร์ของ สกว. ปี ๒๕๕๗ - ๒๕๖๐  ซึ่งจะเป็นช่วงที่ ผอ. สกว. ท่านที่ ๔  คือ ศ. นพ. สุทธิพันธ์ จิตพิมลมาศ ทำหน้าที่ในวาระที่ ๑  และยังเป็นการเข้าสู่ทศวรรษที่ ๓ ของ สกว.

ที่จริงช่วงเวลาดังกล่าวผมมีนัดแล้ว  แต่พอจะขยับขยายได้  จึงถือว่าโชคดี ที่ผมสามารถเข้าร่วมได้  ทำให้ได้เรียนรู้มาก  และได้เติมความสุขให้แก่ตนเอง ในการที่ได้เข้าร่วมทำงานให้แก่หน่วยงานที่ผมรัก  และเป็นงานที่เป็นคุณประโยชน์ยิ่งต่อบ้านเมือง

ในที่ประชุมวันที่ ๗ ก.ค. ดร. สีลาภรณ์ขอให้ผมให้ความเห็นในตอนสุดท้าย  และได้ให้ความเห็นไปแล้ว ๔ ข้อ  และบอกว่า ผมจะกลับมาไตร่ตรองต่อ และเขียน บล็อก เสนอความเห็นให้  บันทึกนี้จึงเป็นการส่งการบ้าน ให้แก่ สกว.  และแก่ ดร. สีลาภรณ์

ผมมองว่า การทำงาน (และการดำรงชีวิต) เป็นการเรียนรู้  แนวคิดนี้เป็นจริงทั้งในระดับบุคคล และระดับองค์กร  และผมตีความว่า สกว. เป็นองค์กรที่เรียนรู้  มีการปรับตัวตลอดมาในช่วง ๒๐ ปี  และจะต้องปรับตัวต่อไป  และคราวนี้น่าจะเป็นการปรับตัวครั้งใหญ่

สกว. มีจุดแข็งที่ทักษะด้านการจัดการ  มีวิธีการจัดการงานวิจัยที่เป็นที่ยอมรับนับถือไปทั่วประเทศ และในโลก  โดยที่เอื้อโดยโครงสร้างการทำงานที่ยืดหยุ่น  ปรับโครงสร้างให้รับใช้ภารกิจได้เสมอ  ในภาษาด้านการจัดการเรียกว่า structure รับใช้ function

และใน ๒๐ ปีที่ผ่านมา สกว. ก้าวหน้าโดยการพัฒนารูปแบบการจัดการงานวิจัยให้เหมาะสม ต่องานวิจัยแต่ละประเภท  ที่เด่นที่สุดคือ แยกงานวิจัยพื้นฐาน ออกจากงานวิจัยเพื่อพัฒนา (R&D) หรืองานวิจัยเพื่อใช้ประโยชน์   จัดให้การจัดการงานวิจัย ๒ ประเภทนี้แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง  ดังได้เล่าไว้ในหนังสือ การบริหารงานวิจัย แนวคิดจากประสบการณ์

บัดนี้วงการวิจัยไทยก้าวหน้าไปมาก  สังคมเปลี่ยน โลกเปลี่ยน  และ สกว. ก็มีความเข้มแข็ง สั่งสมประสบการณ์และทักษะในการจัดการงานวิจัยไว้มาก  น่าจะถึงเวลาที่จะพิจารณาเปลี่ยนแปลง โครงสร้างครั้งใหญ่  เพื่อให้งานวิจัยก่อผลกระทบต่อสังคมมากยิ่งขึ้น

ผมมองว่า ถึงเวลาแล้ว ที่ สกว. จะบูรณาการภารกิจสนับสนุนการวิจัยพื้นฐาน กับการวิจัยเพื่อใช้ประโยชน์เข้าด้วยกัน  นั่นคือในเชิงโครงสร้าง เปลี่ยนแปลงให้ไม่แยกฝ่ายวิจัยพื้นฐานออกจากฝ่ายวิจัยเพื่อพัฒนา

จัดแบ่งฝ่ายใน สกว. เสียใหม่ ให้แบ่งโดยเอาประโยชน์จากการวิจัยเป็นหลัก  เช่นถ้าจะใช้นโยบายการพัฒนาประเทศ ที่สภาพัฒน์เสนอ และรัฐบาลรับเป็นนโยบาย  “การเติบโตสามประสาน”  ได้แก่ Competitive Growth, Green Growth, และ Inclusive Growth เป็นหลัก  ก็แบ่งฝ่ายตามนี้ก็ได้  โดยที่งานวิจัยที่สนับสนุนโดยแต่ละฝ่าย จะมีทั้งที่มีการจัดกระบวนการพัฒนาโจทย์ (แบบที่ฝ่าย R&D ใช้อยู่ในปัจจุบัน)  และแบบที่นักวิจัยเสนอโจทย์เข้ามาโดยตรง ตามประกาศแนวทางสนับสนุนการวิจัย ของฝ่ายนั้นๆ  ทุนวิจัยแบบหลังอาจเรียกว่า Researcher-Initiated Research  โดยเป็น Directed Basic Research  ต้องนำไปสู่การตีพิมพ์ในวารสารวิชาการนานาชาติ ที่มี impact factor

ในความเป็นจริงแล้ว Basic Research แท้ๆ ไม่มีในประเทศไทย  และยิ่งนับวัน Basic Research แท้ๆ จะยิ่งต้องทำแบบทีมใหญ่ และร่วมมือหลายสาขา หลายสถาบัน ยิ่งขึ้นเรื่อยๆ  การจัดการ basic research แบบใหม่ อาจทำให้ประเทศไทยมี basic research แบบที่เอาจริงเอาจัง และทีมใหญ่มากขึ้น  รวมทั้งมีทิศทาง (directed) พุ่งเป้ามากขึ้น  น่าจะเป็นแนวทางให้เกิดสภาพ win – win มากขึ้น ระหว่างหน่วยจัดการกับนักวิจัย  รวมทั้งให้มหาวิทยาลัยได้ทำงานวิจัยแบบมีเป้าใหญ่ได้ด้วย

ประเด็นที่ ๒ ที่ผมขอเสนอในบันทึกนี้  คือ สกว. ตรวจสอบการทำงานที่แท้จริงของตนเอง  ว่างานที่ยิ่งใหญ่ที่จะทำให้แก่บ้านเมืองคืออะไร  ผมมองว่า ไม่ใช่หน้าที่จัดสรรทุนวิจัย  แต่ทำหน้าที่สนับสนุนการวิจัยของประเทศ ให้ขยายตัวทั้งด้านคุณภาพ ปริมาณ และผลกระทบ

ซึ่งหมายความว่า สกว. ไม่ใช่เพียงตั้งหน้าตั้งตาขอทุนวิจัยจากรัฐบาล เอามาจัดสรรเท่านั้น  ต้องทำหน้าที่สนับสนุนความเข้มแข็งของการวิจัยของประเทศในภาพรวม  ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว เงินวิจัยจะอยู่ในกิจการต่างๆ ที่ต้องการดำเนินการให้มีความสามารถในการแข่งขันได้

สกว. เข้าไปช่วยให้กิจการ/หน่วยงานต่างๆ ที่ต้องการลงทุนวิจัยเพื่อให้ได้ “กำไร” จากการลงทุนวิจัยเพิ่มขึ้น  ยกระดับกิจการของตน  ให้กิจการ/หน่วยงาน เหล่านั้นเชื่อมโยงกับหน่วยงานวิจัยหรือทีมวิจัย   เกิดความร่วมมือระหว่าง demand-side กับ supply-side ของการวิจัย

เงินงบประมาณแผ่นดินที่ สกว. ได้รับ  จะนำมาเป็นเครื่องมือร่วมกับทักษะการจัดการงานวิจัยของ สกว.  เพื่อให้ สกว. มีเสน่ห์ดึงดูดฝ่าย demand-side กับฝ่าย supply-side มาหากันได้  ประเทศเกิดผลงานวิจัย ที่หนุนความเจริญก้าวหน้าของประเทศในภาพรวม

นัยยะตามประเด็นที่ ๒  หมายความว่า assets ของสกว. คือความสามารถด้านการเชื่อมโยง ระหว่างdemand-side กับ supply-side ของการวิจัย  โดยใช้พลังของการจัดการ และพลังของเงินที่ สกว. มีอยู่  เอาไปเป็น “น้ำมันเครื่อง” ดึงดูด “น้ำมันเบนซิน” ซึ่งหมายถึงเงินทำวิจัยก้อนใหญ่จริงๆ จากฝ่าย demand-side  ที่ต้องลงทุนวิจัยเพื่อความสามารถในการดำรงอยู่ และแข่งขันของตนเอง  “น้ำมันเบนซิน” จะมากับงาน ไม่ใช่มาจากการร้องขอวิ่งเต้นจากรัฐบาล

ประเด็นที่ ๓ การสื่อสารสังคมด้านคุณค่าของงานวิจัยต่อสังคมไทยในภาพรวม เวลานี้อยู่ในสภาพ ต่างหน่วยงานต่างทำ  เน้นโฆษณาผลงานของหน่วยงาน  ทำกันอย่างจริงจังกว่า ๒๐ ปี  ก็ได้ผลน้อย เพราะชาวบ้านได้รับรู้เพียงส่วนเสี้ยว  ไม่เห็นผลกระทบในภาพรวม ซึ่งเป็นธรรมชาติของงานวิจัย  สังคมไทยจึงอยู่ในสภาพที่ไม่เห็นคุณค่าของการวิจัยเพียงพอ ที่ชาวบ้านหรือพลเมืองจะเรียกร้องเชิงนโยบาย  ให้รัฐบาลลงทุนสนับสนุนการวิจัยอย่างจริงจัง

โชคดี ที่ ผอ. สวทน. ดร. พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ ได้ริเริ่มเครือข่ายหน่วยงานสนับสนุนการวิจัย ที่เรียกว่า ๖ส. ๑ว. ขึ้น  ทำให้เกิดการทำงานเชื่อมโยงกันมากขึ้น  และมื่อ ศ. นพ. สุทธิพร จิตมิตรภาพ เป็นเลขาธิการ วช. ก็ได้สนับสนุนการทำงานเป็นทีมระหว่าง ๖ส. ๑ ว.  ยิ่งเพิ่มพลังความร่วมมือ  ได้ทราบว่า บัดนี้ ได้เกิดหน่วยงานจัดการเครือข่ายความร่วมมือนี้ และจะขยายหน่วยงานที่เข้ามาร่วมวง  นับเป็นข่าวดี

ในฐานะที่ผมไม่รู้เรื่องนี้ แม้ชื่อหน่วยงานที่เขาเอ่ยกันในที่ประชุม ผมก็ฟังไม่ทัน เข้าใจว่าชื่อ คอ.บท. (เครือข่ายองค์กรบริหารงานวิจัยแห่งประเทศไทย)  แต่ก็ขอให้ความเห็นไว้ว่า หน่วยงานที่ตั้งใหม่นั้น อาจก่อผลดีก็ได้ หรือก่อผลร้ายก็ได้  ขึ้นกับท่าทีและวิธีทำงาน  หากเน้นใช้อำนาจหรือขั้นตอนราชการ ก็จบ คือ  เป็นผลร้าย

จะเป็นผลดีต่อเมื่อหน่วยงานนี้ทำงานแบบเชื่อมโยง และ empower   และงานหนึ่งที่ควรจับทำคือ งานสื่อสารสังคม เรื่องคุณค่าของงานวิจัย คุณค่าของการลงทุนทำวิจัย เพื่อพัฒนางานของตนเอง  การสื่อสารสังคมนี้ต้องใช้ทั้งสื่อ โซเชี่ยลมีเดีย  และสื่อกระแสหลัก  เพราะเป้าหมายประชากรต่างกัน

สกว. น่าจะได้เข้าไปผลักดันและร่วมมือ  ให้เกิดระบบสื่อสารสังคม ของการวิจัย ที่สามารถสร้าง ความรู้สึกเห็นคุณค่า และเชื่อถือ integrity ของวงการวิจัย  เน้นที่การสื่อสารให้เกิดความเข้าใจ เชิงคุณค่า ต่องานวิจัยในประชากรไทยอย่างทั่วถึง  ไม่ใช่การประชาสัมพันธ์แบบตื้นๆ เพื่อประโยชน์ของหน่วยงานเท่านั้น

ประเด็นที่ ๔ การพัฒนาหน่วยวิจัยที่ทำงานเลี้ยงตนเอง จากการรับทุนสนับสนุนการวิจัย   ผมคิดว่า การวิจัยของประเทศจะแข็งแรงได้ ต้องมีหน่วยงานที่ทำงานวิจัยจริงจังต่อเนื่อง  และการสนับสนุนการวิจัย ก็ต้องมีความต่อเนื่อง  หน่วยงานที่มีประวัติผลงานดี ก็จะได้งานทำต่อเนื่อง  เวลานี้ประเทศไทยมีหน่วยงานวิจัย ที่เข้มแข็งในระดับนี้ น้อยเกินไป

ตรงนี้ต้องทำความเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างกลไกสนับสนุนการวิจัย กับหน่วยงานวิจัย ที่มีความเข้มแข็งระดับเลี้ยงตนเองได้เสียก่อน  ความสัมพันธ์นี้ต้องเป็นความสัมพันธ์แนวราบ  คือเป็นความร่วมมือ ไม่ใช่เป็นฝ่ายรับกับฝ่ายให้

หน่วยงานวิจัยที่มีความเข้มแข็งระดับเลี้ยงตนเอง  เป็นหน่วยงานที่มีความสัมพันธ์ดี เป็นที่เชื่อถือ ในผลงานและความสามารถ จากทั้งฝ่าย demand-side และฝ่ายหน่วยงานสนับสนุนการวิจัย  หน่วยงานวิจัยแบบนี้ ยังต้องมีการสร้างขึ้น

สกว. น่าจะหาภาคี ในการส่งเสริมให้เกิดหน่วยงานวิจัยที่มีความเข้มแข็งระดับเลี้ยงตนเองได้ เพิ่มขึ้นในหลากหลายบริบท หลากหลายกลุ่ม demand-side  ทำอย่างไรผมไม่ทราบ  แต่ที่ทราบอย่างหนึ่งคือ มหาวิทยาลัยทุกประเภท ควรมีหน่วยงานวิจัยแบบนี้อยู่ภายในมหาวิทยาลัย  มีฐานะเป็นหน่วยงานกึ่งอิสระ  ดังนั้นภาคีหนึ่งที่ สกว. น่าจะไปชักชวนร่วมกันพัฒนาหน่วยงานวิจัยที่มีความเข้มแข็งระดับเลี้ยงตนเองได้ ขึ้นภายในมหาวิทยาลัย

ประเด็นที่ ๕ เชื่อมโยงกับโรงเรียน และภาคการศึกษา เชื่อมโยงการเรียนรู้แบบ active learning, team learning, PBL (Project-Based Learning) เข้ากับการวิจัยในพื้นที่หรือในชีวิตจริง  มีการฝึกครู/อาจารย์ ให้มีทักษะในการทำหน้าที่ “คุณอำนวย” การเรียนรู้  ให้นักเรียน/นศ. ทำ AAR/Reflection และเกิดการเรียนรู้แบบรู้จริง (mastery learning) ในหลายสาระวิชา  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การคิดแบบมีวิจารณญาณ (Critical Thinking)  และการคิดสร้างสรรค์ (Creative Thinking)

การเรียนรู้ในสถานศึกษา จะเป็นแบบ RBL (Research-Based Learning), SBL (Service-Based Learning), และ PBL (Project-Based Learning) ในเวลาเดียวกัน  เป็นการสร้างทักษะหลายอย่างให้แก่ผู้เรียน  และเป็นการวางรากฐานการเป็นนักวิจัยให้แก่ประชากรที่เป็นกำลังของชาติในอนาคต

ที่จริง สกว. ได้มีประสบการณ์ส่งเสริมครุวิจัย และยุววิจัย อยู่แล้ว  ข้อเสนอนี้เป็นการยกระดับ ประสบการณ์เดิม ขึ้นไปอีกขั้นหนึ่ง  เป็นกิจกรรมต่อเนื่องจากเดิม  ไม่ใช่กิจกรรมใหม่  แต่วิธีการ และเป้าหมายจะต้องชัดเจนขึ้น  ว่าเป็นการเชื่อมโยงการพัฒนาทักษะการวิจัยเข้ากับ 21st Century Learning  และเข้ากับทักษะแนวใหม่ของครูในศตวรรษใหม่

ความเห็นที่ให้นี้ เป็นความเห็นของคนที่อยู่วงนอก  และไม่ได้มีประสบการณ์การ การทำงาน ด้วยตนเองในขณะนี้  จึงไม่ยืนยันว่าจะเป็นความเห็นที่ถูกต้อง

วิจารณ์ พานิช

๑๓ ก.ค. ๕๖

คัดลอกจาก http://www.gotoknow.org/posts/542302
 


หน้า 463 จาก 558
Home

About Us

ศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ (ศบม.) เป็นองค์กรที่พัฒนาและจัดทำโครงการเพื่อทำประโยชน์ให้สังคม เป็นองค์กรสนับสนุนการดำเนินงานของภาครัฐ ช่วยแก้ปัญหาผู้ประกอบการภาคธุรกิจบริการที่ขาดแคลนบุคลากรที่มีมาตรฐานในการให้บริการ
อ่านเพิ่มเติม

มูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ ์

 iHDC Profile
บัญชีรายชื่อกรรมการ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียน การเปลี่ยนแปลงกรรมการของมูลนิธิ
เอกสารประชาสัมพันธ์ โครงการ HMTC.pdf
เอกสารแนะนำโครงการ HMTC 1.pdf
เอกสารโครงการ HMTC 2 คุณสมบัติผู้เข้าร่วมโครงการ.pdf
iHDC นิติบุคคล.pdf
iHDC บุคคล.pdf
iHDC บุคคลเครือข่าย.pdf
รายงานการประชุม 6 มีนาคม 2560.pdf
ข้อบังคับมูลนิธิ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียนจัดตั้งมูลนิธิ
Ihdc-Profile and Roadmap 2016-2019 Mar 23 2560.pdf
รายงานการประชุมใหญ่คณะกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ 2559.pdf
คำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ สาขาวิชาชีพ.pdf
รายงานการประชุมใหญ่วันที่ 18 ธ ค 2558 v 3.pdf
รายงานการประชุม วันที่ 24 ธันวาคม 2557 updated 4 มีนาคม 2558.pdf
iHDC-invitation Letter.doc
iHDC-Member Form Thai.doc
iHDC-Member Form English.doc
รายงานการประชุมกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ วันที่ 15 มกราคม 2556 ฉบับสมบูรณ์


thaibetter
พัฒนาประเทศไทยแบบทวีคูณ และยั่งยืน ( ททค )

Login


แบบสำรวจ

สถิติเว็บไซด์

สมาชิก : 5605
Content : 3047
เว็บลิงก์ : 26
จำนวนครั้งเปิดดูบทความ : 8594754

facebook

Twitter


บทความเก่า