Thaiihdc.org

  • เพิ่มขนาดตัวอักษร
  • ขนาดตัวอักษรปกติ
  • สดขนาดตัวอักษร
Home > Articles > การศึกษา > ประเมินเพื่อมอบอำนาจ : ๘. นักเรียนเป็นเจ้าของการเรียนรู้ของตน

ประเมินเพื่อมอบอำนาจ : ๘. นักเรียนเป็นเจ้าของการเรียนรู้ของตน

พิมพ์ PDF

บันทึกชุด “ประเมินเพื่อมอบอำนาจ” (การเรียนรู้) ๑๐ ตอน ชุดนี้ ตีความจากหนังสือ Embedded Formative Assessment เขียนโดย Dylan Wiliam เพื่อเสนอใช้การทดสอบหรือการประเมินในทางบวก ต่อการเรียนรู้ โดยใช้แบบเนียนไปการกระบวนการเรียนรู้ของศิษย์ และเนียนไปกับการโค้ชศิษย์ เพื่อใช้ “การประเมินเพื่อพัฒนา” (formative assessment) ยกระดับการเรียนรู้ของนักเรียน ด้วยความเชื่อว่า การใช้ “การประเมินเพื่อพัฒนา” ที่ดำเนินการโดยครูในชั้นเรียน และดำเนินการอย่างถูกต้อง เป็นปัจจัยสำคัญที่สุด ต่อการยกระดับผลสัมฤทธิ์ของการเรียน (learning outcomes)

บันทึกตอนที่ ๘ นี้ ตีความจากบทที่ ๗ Activating Students as Owners of Their Own Learning เป็นยุทธศาสตร์ที่ ๕ ใน ๕ ยุทธศาสตร์ของการประเมินเพื่อการพัฒนาที่ดี คือ ยุทธศาสตร์การทำให้นักเรียน เป็นเจ้าของการเรียนรู้ของตนเอง มีความรู้ความเข้าใจกระบวนการเรียนรู้ของตนเอง (meta-cognition) และสามารถประเมิน และปรับกระบวนการเรียนรู้ของตนเองได้ ที่เรียกว่า กำกับการเรียนรู้ของตนเองได้ (self-regulated learning)

หัวใจของการเรียนรู้คือ ครูไม่ได้เป็นผู้สร้างการเรียนรู้ในตัวนักเรียน ผู้เรียนเท่านั้น ที่เป็นผู้สร้างกระบวนการเรียนรู้ (ขึ้นในตน)


การประเมินตนเองของนักเรียน

การประเมินตนเองของนักเรียนไม่ได้หมายความว่านักเรียนออกข้อสอบเอง ให้ตนเองทำ แล้วให้คะแนน และตัดสินได้-ตกเอง ซึ่งเรียกว่า การสอบเพื่อตัดสินได้-ตก (summative evaluation)

การประเมินตนเองของนักเรียนมีเป้าหมายเพื่อใช้พัฒนาการเรียนรู้ของตนเอง คือเป็นการประเมิน เพื่อพัฒนา (formative assessment) เอาผลการประเมิน มาพัฒนาการเรียนรู้ของตนเอง

การประเมินตนเองของนักเรียนเป็นทักษะ นักเรียนต้องฝึก ใหม่ๆ อาจประดักประเดิดบ้าง ต้องค่อยๆ ฝึก ใหม่ๆ ครูต้องช่วยมากหน่อย โดยใส่โครงสร้างเข้าไปในการประเมิน แล้วค่อยๆ ลดโครงสร้าง ให้นักเรียนเป็น ตัวของตัวเองในการประเมินมากขึ้น

โดยการประเมินตนเองของนักเรียนมี ๒ ส่วน คือ (๑) ส่วนที่ครูกำหนด (prescriptive component) เพื่อวินิจฉัยความรู้ความเข้าใจของนักเรียน (๒) ส่วนที่นักเรียนค่อยๆ เสาะหาเป็นระยะๆ (exploratory component) ทำโดยนักเรียนฝึกกำหนดเป้าหมายรายทางของงานที่ครูมอบหมาย (เพื่อเรียนรู้) ของตน แล้วกำหนดแผนการดำเนินการ และประเมินผลทุกสัปดาห์ คาดหวังว่าหากการเรียนรู้มีความก้าวหน้าดี จะเห็นผล ๒ อย่าง คือ นักเรียนคิดงานของตนเอง เป็นตัวของตัวเองมากขึ้นๆ และเกณฑ์ในการประเมิน ตนเองมีความชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ

ผลการวิจัยในครูและนักเรียนชั้นประถม ใน ปอร์ตุเกศ พบว่ากลุ่มนักเรียนที่ใช้การประเมินตนเอง ในช่วงเวลา ๒๐ สัปดาห์ ผลการเรียนคณิตศาสตร์เพิ่มขึ้นจากตอนเริ่ม ๑๕ หน่วย ในขณะที่ของกลุ่มควบคุม เพิ่มเพียง ๗.๘ หน่วย เขาแปลผลว่า ผลการเรียนของกลุ่มที่ให้นักเรียนประเมินตนเองเรียนคณิตศาสตร์ในเวลา ๒๐ สัปดาห์ ได้เท่ากับที่นักเรียนที่ไม่ได้ประเมินตนเองเรียนโดยใช้เวลา ๓๘สัปดาห์ คือการประเมินตนเอง ช่วยเพิ่มประสิทธิผลของการเรียนเกือบเท่าตัว

ทำไมการประเมินตนเองจึงมีผลเพิ่มการเรียนรู้ ยังไม่มีใครทราบแน่ เข้าใจว่าเหตุผลสำคัญคือมันเพิ่ม “การกำกับตนเอง” (self-regulation)


การเรียนโดยกำกับตนเอง(Self-Regulated Learning)

การเรียนโดยกำกับตนเองหมายความว่า นักเรียนสามารถประสาน พลังเพื่อการคิด (cognitive resources) อารมณ์ และการปฏิบัติ ไปสู่เป้าหมายของการเรียนรู้ โดย “การมีพลังเพื่อการคิด” หมายถึง นักเรียนมีความรู้ ทักษะ ยุทธศาสตร์ แรงจูงใจ และกล้าตัดสินใจ เพื่อบรรลุเป้าหมาย

ความสามารถในการเรียนโดยกำกับตนเอง ขึ้นกับ ๒ ปัจจัย คือ ความเข้าใจความคิดของตนเอง (metacognition) และแรงบันดาลใจ


ความเข้าใจการคิดของตนเอง(Metacognition)

John Flavell ผู้คิดคำศัพท์ metacognition ให้นิยามคำนี้ไว้ว่า “ความรู้เกี่ยวกับกระบวนการคิดของตนเอง รวมทั้งผลที่เกิดขึ้น และสิ่งอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่นคุณสมบัติของสารสนเทศ และข้อมูล ที่มีอิทธิพลต่อการเรียนรู้”

ความเข้าใจการคิดของตนเอง จึงหมายความรวมทั้ง รู้ว่าตนรู้อะไร (metacognitive knowledge) รู้ว่าตนทำอะไรได้ (metacognitive skills) รู้ว่าตนรู้อะไรบ้างเกี่ยวกับความสามารถในการคิดของตน (metacognitive experience) คุณค่าสำคัญของความเข้าใจการคิดของตนเองคือ ทำให้สามารถเชื่อมโยงความรู้ ที่จำเพาะ เอาไปใช้ในสถานการณ์ใหม่ที่แตกต่างกันได้ หากผู้นั้นมีแรงจูงใจที่จะใช้ความรู้นั้น


แรงจูงใจ(Motivation)

แรงจูงใจให้ทำหรือไม่ทำสิ่งใดๆ มี ๒ แบบ คือ แรงจูงใจภายนอก (extrinsic motivation - ทำเพราะ หวังผลที่จะได้รับอะไรบางอย่าง) กับแรงจูงใจภายใน (intrinsic motivation - ทำเพราะเป็นความพึงพอใจ ส่วนตน)

การทำสิ่งที่ตนพึงพอใจและกระบวนการที่ดำเนินต่อเนื่องด้วยใจจดจ่อและความพึงพอใจอย่างสูง เรียกว่าสภาวะ flow ซึ่งผมเคยเขียนถึง ที่นี่ สภาวะเช่นนี้ แรงจูงใจภายในเป็นพลังหลัก หนังสือบอกว่า เป็นสภาพที่มีความพอดีระหว่างแรงจูงใจกับความท้าทาย (challenge) ของงานนั้น

คนทั่วไปมองแรงจูงใจเป็นเหตุของความตั้งใจเรียน แต่จริงๆ แล้วมองเป็นผลของกระบวนการเรียนรู้ ที่ดี ก็ได้ ครูที่เก่งและเอาใจใส่ จะจัดกระบวนการเรียนรู้ที่สร้างแรงบันดาลใจให้เด็กมีแรงจูงใจต่อการเรียน และที่ดีที่สุดคือ เป็นแรงจูงใจภายใน

การทำสิ่งใด ต้องใช้พลังหรือมีการลงแรง (cost) แรงจูงใจ (ภายนอก) ให้ทำจะสูงหากผู้นั้นคิดว่าผลได้ (benefit) สูง คุ้มต่อการลงแรง

กระบวนการตัดสินใจทำ/ไม่ทำ สิ่งที่ซับซ้อนอย่างการเรียน มีปัจจัยเกี่ยวข้องที่ซับซ้อนมาก ปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งต่อนักเรียน คือความเชื่อว่าตนทำสิ่งนั้นได้ (self-efficacy) ซึ่งใกล้เคียงกับความมั่นใจ ในความสามารถของตนเอง ที่น่าตกใจคือ มีผลการวิจัยบอกว่า เมื่อนักเรียนเรียนในโรงเรียนสูงขึ้น ระดับของ self-efficacy ลดลง

กระบวนการเรียนรู้ของนักเรียนจะเข้มข้น หากนักเรียนมุ่งเป้าจิตใจที่การเรียนรู้ มากกว่าที่สมรรถนะ (performance) เขาบอกว่าสภาพนี้เกิดขึ้นได้โดยการที่ครูให้คำแนะนำป้อนกลับเชิงบวกและสร้างสรรค์ (positive constructive feedback)


การคิดกับแรงจูงใจ

การประเมินเป็นดาบสองคม อาจก่อผลดีหรือผลร้ายต่อการเรียนรู้ของศิษย์ก็ได้ เมื่อนักเรียนได้รับเชิญ ให้เข้าร่วมกิจกรรมใดก็ตาม เด็กจะหาสารสนเทศ ๓ ชุดประกอบการตัดสินใจเข้าร่วมหรือไม่เข้าร่วม ได้แก่ (๑) มุมมอง หรือการรับรู้ (perception) ของตนต่องานนั้น และบริบทที่เกี่ยวข้อง (๒) ทุนความรู้ความสามารถของตน ต่อการทำสิ่งนั้น และต้องออกแรงแค่ไหน เพื่อให้สำเร็จ (๓) แรงบันดาลใจเชิงความเชื่อ ต่อการทำงานนั้น และต่อโอกาสทำงานนั้นสำเร็จ

ความคิดที่สำคัญอยู่ที่การมุ่งเป้าหมายใด ระหว่างความเจริญก้าวหน้า (growth) กับความสุขสบาย (well-being) ทฤษฎีสำคัญต่อการสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ให้นักเรียนมีแรงจูงใจสูงต่อการเรียนรู้ คือ dual-process regulation model เกี่ยวกับจิตวิทยาการเรียนรู้ ซึ่งกล่าวว่า ครูต้องหาทางสร้างบรรยากาศให้ศิษย์มุ่งมั่น อยู่กับเป้าหมายความเจริญก้าวหน้าในอนาคต ไม่ใช่เอาแต่ความสุขสบายในปัจจุบัน โดยหนังสือแนะนำวิธีการ ๕ แนวทาง

  • ๑.คอยย้ำเป้าหมายการเรียนรู้ และคุณค่าของมันต่อชีวิตในอนาคต เพื่อให้เด็กประเมิน ความก้าวหน้าไปสู่เป้าหมายได้ด้วยตนเอง
  • ๒.ส่งเสริมความเชื่อว่า ความสามารถเป็นสิ่งที่สะสมทีละน้อยๆ ไม่ใช่สิ่งที่หยุดนิ่งอยู่กับที่ และส่งเสริมความเชื่อว่า ทั้งความสำเร็จและความล้มเหลว เป็นบ่อเกิดของการเรียนรู้ ออกแรงแล้วล้มเหลว ไม่สูญเปล่าในด้านการเรียนรู้
  • ๓.พยายามไม่เปรียบเทียบผลการเรียนระหว่างนักเรียน เน้นเปรียบเทียบกับตัวเอง เพื่อสำรวจความก้าวหน้าในการเรียนรู้
  • ๔.ให้คำแนะนำป้อนกลับที่มีสิ่งที่ควรทำต่อไปในอนาคต ไม่ใช่เน้นบอกความผิดพลาด ในอดีตเพื่อแก้ไข
  • ๕.พยายามค่อยๆ มอบการกำกับการเรียนรู้ (จากครูกำกับ) ให้นักเรียนกำกับเอง เพื่อการเจริญก้าวหน้าในการเรียนของตนเอง และพัฒนาเป็น “ผู้กำกับการเรียนรู้ของตนเอง” (self-directed learner)


เทคนิคเชิงปฏิบัติ

เทคนิคที่กล่าวในบันทึกที่แล้วหลายเทคนิคนำมาใช้เพื่อเป้าหมายให้นักเรียนเป็นเจ้าของการเรียนรู้ ของตนเองได้ ต่อไปนี้จะกล่าวเพิ่มอีกจำนวนหนึ่ง โดยขอย้ำว่า ครูแต่ละท่านสามารถปรับวิธีการ หรือคิด วิธีการใหม่ ขึ้นมาใช้ให้เหมาะสมต่อบริบทของชั้นเรียนของท่านได้ และสามารถนำมาเป็นโจทย์วิจัย ในชั้นเรียนได้

เทคนิคไฟจราจร ใช้สำหรับให้นักเรียนแต่ละคนได้ฝึกประเมินการเรียนรู้ของตนอย่างง่ายๆ เช่นตอนต้นคาบเรียนครูทำความตกลงเป้าหมายของการเรียน ก่อนจบคาบให้นักเรียนแต่ละคนยกป้ายสีใดสีหนึ่ง ในสามสี คือ แดง (ยังไม่บรรลุเป้าหมาย) เหลือง (ไม่แน่ใจหรือไม่เข้าใจบางส่วน) เขียว (บรรลุเป้าหมายทั้งหมด)

กระบวนการนี้ เรียกว่า self report ซึ่งเป็นที่เข้าใจกันว่าความแม่นยำไม่มากนัก และอาจเกิด ผลข้างเคียงที่ไม่ต้องการได้ หากครูใช้ไม่เป็น เช่นหากครูกำหนดว่า ป้ายเขียวหมายถึง “ฉันพร้อมที่จะสอนเรื่องนี้แก่คนอื่น” นักเรียนบางคนอาจยกป้ายเขียวเพราะอยากให้ตัวเองดูดี เรื่องนักเรียนแสดงพฤติกรรมต่างๆ เพื่อให้ตัวเองดูดีนี้ ครูควรเอาใจใส่ และหาทางไม่ให้จิตวิทยาด้าน ความมีตัวตนนี้ เป็นอุปสรรคต่อการเรียนรู้

อาจปรับใช้เทคนิคนี้ในการเตรียมตัวสอบ โดยครูแนะนำนักเรียนว่า เวลาอ่านทบทวนบทเรียนหรือ บันทึกจากการฟังการบรรยาย ให้เอาดินสอสีทำวงกลมสีตามสีไฟจราจรไว้ที่ด้านบนของบันทึกหน้านั้น สีเขียวคือเข้าใจดีแล้ว สีเหลืองยังไม่ค่อเข้าใจ สีแดงคือยังไม่เข้าใจ เวลาทบทวนก่อนสอบก็เน้นดูเฉพาะหน้าสีแดงและเหลือง ไม่ต้องพลิกอ่านเปรอะไปหมดอย่างไร้เป้าหมาย

เทคนิคแผ่นสี นักเรียนทุกคนได้รับแจกแผ่น ซีดี เก่าที่ด้านหนึ่งติดกระดาษสีเขียว อีกด้านหนึ่งติดกระดาษสีแดง เมื่อเริ่มคาบเรียน ทุกแผ่นมีสีเขียวขึ้น ระหว่างครูสอน หากนักเรียนคนไหนไม่เข้าใจ หรือตามไม่ทัน ให้ยกด้านแดงขึ้นให้ครูเห็น เขาแนะนำว่า ในทางปฏิบัติ ครูต้องคอยสังเกตด้วย ไม่ใช่มัวก้มหน้าก้มตาอธิบายโดยไม่มองที่เด็ก เพราะเคยเกิดนักเรียนยกป้ายแดงตั้งหลายคนและผ่านไป หลายนาที แต่ครูไม่มอง นักเรียนขัดใจมาก

เทคนิคถ้วยสี ครูคนหนึ่งพบว่าแผ่นซีดีมองเห็นยาก จึงปรับเป็นใช้ถ้วยสี เมื่อเริ่มเรียนนักเรียน ทุกคนมีถ้วยเขียวอยู่บนโต๊ะ เมื่อเรียนไประยะหนึ่งเด็กคนใดไม่เข้าใจ ก็ยกถ้วยแดง ครูจะสุ่มให้เพื่อนที่เหลือ เป็นผู้ตอบ ซึ่งหมายความว่าในห้องเรียนมีบรรยากาศของ effective formative assessment ทั้งสองมิติ คือ (๑) นักเรียนตั้งใจ (engagement) อยู่กับการเรียนตลอดเวลา (๒) พร้อมรับปัจจัยด้านความบังเอิญ หรือไม่คาดคิด (contingency) อยู่ตลอดเวลา ซึ่งหมายความว่า นักเรียนที่มีถ้วยเขียวหรือเหลืองอยู่บนโต๊ะ เป็นผู้พร้อมตอบ คำถาม

แฟ้มบันทึกการเรียน(Learning Portfolios) ซึ่งต้องเป็นแฟ้มชนิดบันทึกประวัติการเรียนรู้ (learning portfolios) เพื่อให้เห็นพัฒนาการของความรู้และสมรรถนะ ในช่วงเวลาต่างๆ ไม่ใช่บันทึกสมรรถนะ (performance portfolios) แบบที่เอาผลงานมาตั้งแสดงในแกลอรี่ เมื่อมีผลงานใหม่ที่ฝีมือพัฒนาขึ้นกว่าเก่า ก็ปลดของเก่าออก เอาชิ้นที่ดีที่สุดออกแสดง

แฟ้มบันทึกการเรียน ที่เก็บประวัติการเรียนรู้และผลการเรียนทั้งหมดไว้ จะช่วยให้นักเรียนเอาผลงาน ของตนในช่วงเวลาต่างๆ มาเปรียบเทียบ และเห็นความก้าวหน้าของผลงาน ช่วยให้เกิดผล ๒ อย่าง (๑) มองเห็นลู่ทางพัฒนาต่อ (๒) เมื่อนักเรียนเอาใจใส่ที่การปรับปรุงให้ดีขึ้น ก็จะปลูกฝังความเชื่อว่าความสามารถ เป็นสิ่งที่ปรับปรุงขึ้นได้ทีละน้อย ไม่ใช่คงที่

บันทึกการเรียน(Learning Logs) เมื่อจบบทเรียน ครูให้นักเรียนแต่ละคนเขียนบันทึกการเรียนรู้ ของตน เพื่อฝึกให้นักเรียนไตร่ตรองทบทวนบนเรียนด้วยตนเอง (self-reflection) โดยครูตั้งประเด็นให้ มีครูคิดกุศโลบายให้การเขียนมีชีวิตชีวา มีการคิดจริงจัง โดยให้นักเรียนเลือกตอบคำถามต่อไปนี้เพียง๓ ข้อ

  • oวันนี้ ฉันได้เรียน ……
  • oฉันประหลาดใจเรื่อง…..
  • oสิ่งที่มีประโยชน์ที่สุดที่ฉันได้จากบทเรียนคือ ….. โดยจะเอาไปใช้…..
  • oฉันสนใจเรื่อง…..
  • oส่วนของบทเรียนที่ฉันชอบมากที่สุดคือ…. เพราะ…….
  • oสิ่งที่ฉันไม่แน่ใจ/ไม่เข้าใจ คือ………
  • oประเด็นสำคัญที่ฉันอยากเรียนรู้เพิ่มเติมคือ………
  • oความรู้สึกของฉันหลังจบบทเรียนนี้คือ………
  • oฉันน่าจะเรียนรู้ในบทเรียนนี้มากกว่านี้ ถ้า……….

ผมขอเพิ่มเติมเทคนิคที่ผมคิดว่ามีประโยชน์มาก ต่อการฝึกให้นักเรียนไตร่ตรองทบทวนการเรียนรู้ เพื่อฝึกเป็นเจ้าของการเรียนรู้ของตนเอง คือการทำ “โยนิโสมนสิการกลุ่ม” หรือ ไตร่ตรองทบทวนการเรียนรู้ เป็นกลุ่ม หรือในภาษาการจัดการความรู้เรียกว่า AAR (After Action Review) ซึ่งจะเท่ากับฝึกการเรียนรู้ ร่วมกันในชั้นเรียน (Collaborative Learning) ไปในตัว ครูทุกคนควรได้ฝึกทักษะการเป็น “คุณอำนวย” (facilitator) ของกระบวนการ AAR นี้

ครูมีบทบาทสำคัญในการจัดสถานการณ์ให้เกิดการเรียนรู้ แต่ผู้เรียนเท่านั้นที่เป็นผู้ทำให้เกิดการเรียนรู้ และคนที่เรียนรู้ได้มากกว่า คือคนที่สามารถจัดการการเรียนรู้ของตนได้ นักเรียนทุกคนสามารถฝึกฝนทักษะ การจัดการการเรียนรู้ของตน และกลายเป็นเจ้าของการเรียนรู้ของตนได้ แต่ต้องฝึกอย่างเป็นขั้นตอน และต้องใช้เวลา เพราะในตอนเริ่มต้น กระบวนการทบทวนไตร่ตรองประเมินการเรียนรู้ของตนเอง เป็นเรื่องกระทบกระเทือนอารมณ์ความรู้สึก และความเป็นตัวตนของนักเรียน ครูที่เอาใจใส่และมีทักษะการโค้ชเรื่องนี้ มีคุณค่ายิ่งต่อศิษย์

วิจารณ์ พานิช

๘ ม.ค. ๕๗

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย 

แก้ไขล่าสุด ใน วันอาทิตย์ที่ 29 มิถุนายน 2014 เวลา 21:28 น.  
Home > Articles > การศึกษา > ประเมินเพื่อมอบอำนาจ : ๘. นักเรียนเป็นเจ้าของการเรียนรู้ของตน

About Us

ศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ (ศบม.) เป็นองค์กรที่พัฒนาและจัดทำโครงการเพื่อทำประโยชน์ให้สังคม เป็นองค์กรสนับสนุนการดำเนินงานของภาครัฐ ช่วยแก้ปัญหาผู้ประกอบการภาคธุรกิจบริการที่ขาดแคลนบุคลากรที่มีมาตรฐานในการให้บริการ
อ่านเพิ่มเติม

มูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ ์

 iHDC Profile
บัญชีรายชื่อกรรมการ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียน การเปลี่ยนแปลงกรรมการของมูลนิธิ
เอกสารประชาสัมพันธ์ โครงการ HMTC.pdf
เอกสารแนะนำโครงการ HMTC 1.pdf
เอกสารโครงการ HMTC 2 คุณสมบัติผู้เข้าร่วมโครงการ.pdf
iHDC นิติบุคคล.pdf
iHDC บุคคล.pdf
iHDC บุคคลเครือข่าย.pdf
รายงานการประชุม 6 มีนาคม 2560.pdf
ข้อบังคับมูลนิธิ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียนจัดตั้งมูลนิธิ
Ihdc-Profile and Roadmap 2016-2019 Mar 23 2560.pdf
รายงานการประชุมใหญ่คณะกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ 2559.pdf
คำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ สาขาวิชาชีพ.pdf
รายงานการประชุมใหญ่วันที่ 18 ธ ค 2558 v 3.pdf
รายงานการประชุม วันที่ 24 ธันวาคม 2557 updated 4 มีนาคม 2558.pdf
iHDC-invitation Letter.doc
iHDC-Member Form Thai.doc
iHDC-Member Form English.doc
รายงานการประชุมกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ วันที่ 15 มกราคม 2556 ฉบับสมบูรณ์


thaibetter
พัฒนาประเทศไทยแบบทวีคูณ และยั่งยืน ( ททค )

Login


แบบสำรวจ

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

สถิติเว็บไซด์

สมาชิก : 5602
Content : 3043
เว็บลิงก์ : 26
จำนวนครั้งเปิดดูบทความ : 8588839

facebook

Twitter


ล่าสุด

บทความเก่า