Thaiihdc.org

  • เพิ่มขนาดตัวอักษร
  • ขนาดตัวอักษรปกติ
  • สดขนาดตัวอักษร
Home > Articles > การศึกษา > ชีวิตที่พอเพียง : ๒๒๒๔. ไปชายแดนตาก : ๑. อำเภอท่าสองยาง ๑๑ ก.ค. ๕๗

ชีวิตที่พอเพียง : ๒๒๒๔. ไปชายแดนตาก : ๑. อำเภอท่าสองยาง ๑๑ ก.ค. ๕๗

พิมพ์ PDF
ไปเรียนรู้ฝึกฝน altruistic brain

ตอนที่ ๐

สาวน้อย (ร้อยชั่ง) ถามว่า ไปหลงเสน่ห์อะไรของอาจารย์แหวว ถึงยอมหอบกระเป๋าทิ้งเมียในวันหยุดยาว (๑๑ - ๑๓ ก.ค. ๕๗) ไปชายแดนจังหวัดตากกับอาจารย์แหวว

ผมตอบว่า หลงเสน่ห์นักกฎหมายรับใช้คนรวย ที่ผันตัวเองมารับใช้คนจนและคนด้อยโอกาส ผมอธิบายให้เธอฟังว่า ผมใช้อาจารย์แหววเป็นครูสอนวิชา altruism โดยผมมีสมมติฐานว่า คนแบบนี้มี altruistic brain ที่มีคุณภาพสูงมาก มีพลังรุนแรง ถึงขนาดว่าเมื่อ altruistic emotion ระเบิดขึ้นแล้ว ช้างสารก็ฉุดไม่อยู่ ซึ่งภาษาอังกฤษเรียกว่า impulsive behavior

ผมตั้งคำถามกับตัวเองว่า วงการศึกษาไทยจะมีวิธีการกระตุ้นสมองส่วน altruistic brain อย่างไร แล้วติดตามเรียนรู้ จากอาจารย์แหวว

จริงๆ แล้วอาจารย์แหววชวนผมไปเรียนรู้การทำงานเรื่องคนไร้สถานะ ตามตะเข็บชายแดนที่คณะของท่านดำเนินการอยู่ เป็นการทำงานจริง พร้อมกับทำงานวิจัยไปด้วย ลูกศิษย์ของอาจารย์แหววจึงได้เรียนกฎหมายแบบลงมือทำ (Activity-Based Learning) ที่เป็นการทำเรื่องจริง หรือทำงาน การเรียนนี้ จึงเป็น authentic learning สำหรับลูกศิษย์ของอาจารย์แหวว ส่วนผมเป็น “ลูกศิษย์ของลูกศิษย์” คือตามไปดูห่างๆ โดยมีกำหนดการดังนี้ ซึ่งเป็นกำหนดการที่ปรับได้    ดังนั้น ในบางช่วงจึงไม่ได้เป็นตามนี้   ทีมอาจารย์แหววอยู่ทำงานรวม ๗ วัน ใน ๔ อำเภอ   ส่วนคุณเปากับผมและอีกหลายคน ร่วมเรียนรู้ ๓ วัน ใน ๓ อำเภอ คือท่าสองยาง พบพระ และแม่ระมาด

เมื่อลงจากเครื่องบินนกแอร์ที่สนามบินนานาชาติแม่สอดเวลา ๑๑ น. ผมก็ตกใจ   เพราะทีมที่ไปมีจำนวนมากกว่าที่คิด และยังมีทีมของจังหวัดตากมารับที่สนามบิน และร่วมเดินทางไปด้วย นำโดย นพ. พูนลาภฉันทวิจิตรวงศ์ (นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด), นพ. ธวัชชัย ยิ่งทวีศักดิ์ (หมอหนึ่ง) ผอ. รพ. ท่าสองยาง, สาธารณสุขอำเภอท่าสองยาง, และเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลที่เป็นบุคคลที่มีปัญหาด้านสถานะบุคคล ๒ คน คือคุณชนินทร์ (จ่อซุหะ) กับคุณยาว (เบียะอ่อ)

คณะของเราเป็นคณะใหญ่ จำนวนกว่า ๔๐ คน นั่งรถตู้ ๕ คัน เป็นขบวน ไปตามถนน ๑๐๕ นำโดยรถตำรวจ ที่ส่งต่อกันเป็นทอดๆ ตามพื้นที่ที่รับผิดชอบ   เส้นทางถนนส่วนใหญ่เลียบแม่น้ำเมย ซึ่งเป็นเส้นกั้นเขตแดนระหว่างพม่ากับไทย จึงเดาได้ว่า ถนนเส้นนี้เป็นถนนที่ต้องระมัดระวัง ในเรื่องชายแดน

เรานั่งรถไปตามถนนที่คดเคี้ยว เพราะเป็นถนนเลียบภูเขา รวมทั้งฝนตกพรำเกือบตลอดทาง กว่าจะไปถึง สถานพักพิงบ้านแม่ทัศนีย์ (คีรีประณีต) เป้าหมายศึกษาหาความรู้จุดแรก รวมทั้งเป็นที่กินอาหารเที่ยง เวลาก็ปาเข้าไป ๑๓.๓๐ น.    เราจึงกินอาหารด้วยความ เอร็ดอร่อย และได้รับรู้สภาพของบ้านเลี้ยงเด็กจำนวน ๖๗ คน ที่เป็นเด็กกำพร้า เด็กพิการ เด็กยากจน ได้รับความช่วยเหลือจากวงการศาสนาคริสต์    เธอเอ่ยชื่อคุณไซม่อนหลายครั้ง    แน่นอนว่า การเลี้ยงเด็กถึง ๖๗ คน ย่อมมีปัญหามากมายหลากหลายด้าน และด้านหนึ่งคือเรื่องสถานะบุคคล    แต่แม่ทัศนีย์ ก็มีใบหน้าที่อิ่มเอิบแจ่มใส ในลักษณะอิ่มสุข    ผมมาพบคนที่ altruistic brain ใหญ่ อีกคนหนึ่งแล้ว

พูดคุยซักถามทำความเข้าใจ และฟังเพลงหมู่ของเหล่าเด็กๆ และแม่ทัศนีย์ สองเพลง จนเกือบสามโมงเย็น   เราก็ต้องออกเดินทางไปยังบ้านมอทะ ที่โรงเรียนบ้านแม่อุสุวิทยา สถานที่เด็กนักเรียนและชาวบ้านมอทะผู้ใหญ่จำนวนหนึ่ง ที่มีปัญหาสถานะบุคคล จำนวนกว่าสองร้อยคน กำลังรอเราอยู่    ผมเดาว่าเขาคงรออย่างกระวนกระวาย เพราะเราไปถึงช้ากว่าเวลานัดกว่าหนึ่งชั่วโมง

โรงเรียนบ้านแม่อุสุวิทยาเป็นโรงเรียนใหญ่ สอนตั้งแต่ชั้นอนุบาลถึงชั้น ม.๖ มีนักเรียนถึง ๑,๕๖๕ คน    นักเรียนร้อยละ ๙๙ เป็นกะเหรี่ยง   ไม่มีสัญชาติ ๒๙๒ คน กระทรวงศึกษาธิการให้รหัสหมายเลขบุคคลขึ้นต้นด้วย G และจัดงบประมาณ สนับสนุน ตามมติ ครม. ปี ๒๕๔๘    นักเรียนอยู่ประจำที่โรงเรียน ๒๕๖ คน เพราะบ้านไกล ต้องเดินขึ้นเขาไป

เวทีเริ่มด้วยคุณหมอธวัชชัย เล่าเรื่องสภาพการให้บริการสุขภาพในพื้นที่ภูเขา กันดาร ห่างไกล มีทั้งคนมีสิทธิ์บริการ สุขภาพและคนไม่มีสิทธิ์และคนแอบสวมสิทธิ์    และลงท้ายด้วยปัญหาคนที่ควรได้รับสิทธิเป็นคนสัญชาติไทย แต่ไม่ได้รับการรับรองสิทธิ โดยยกตัวอย่างเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาล ๒ คน คือชนินทร์กับยาว

หลังจากนั้น ผู้ใหญ่บ้านเล่าปัญหาการสำรวจเพื่อรับรองสถานะบุคคล ว่าทางราชการมาเป็นช่วงๆ มีคนตกสำรวจมาก และครูใหญ่เล่าเรื่องนักเรียน

ที่นี่ผมได้เข้าใจตัวเลขทะเบียนบุคคล ๑๓ หลัก ว่าขึ้นต้น 0 หมายถึงนักเรียนที่ยังไม่ได้รับการรับรองสิทธิเข้าเมืองและสิทธิอาศัย แต่กระทรวงศึกษาธิการ รับรองสิทธิเข้าเรียนได้,   6 หมายถึงได้สิทธิอยู่ชั่วคราว แต่ยังมีสถานะคนเข้าเมืองผิดกฎหมาย,  7 หมายถึงลูกของ 6,    00 หมายถึงผู้ติดตามแรงงานต่างด้าว    ดูความหมายของตัวเลขดังกล่าวได้ที่นี่ และดูเรื่อง มาตรา ๒๓ แห่ง พรบ. สัญชาติ (ฉบับที่ ๔) ๒๕๕๑ ที่นี่ และความรู้เรื่องสัญชาติไทย ที่นี่ (แต่ภาษากฎหมายอ่านเข้าใจยากจัง)

หลังจากอธิบายสภาพสังคม และบริการสุขภาพของคนในอำเภอ ก็ถึงรายการนักเรียน ๔ คน ที่มีปัญหาสถานะบุคคลแตกต่างกัน    เริ่มจาก นส. หทัย (คนกะเหรี่ยงไม่มีระบบนามสกุล) ชั้น ม.๖ บอกว่าพ่อแม่มาอยู่ที่นี่กว่า ๓๐ ปี ตนเองเรียนที่โรงเรียนนี้มาตั้งแต่ชั้นอนุบาล จนถึง ม. ๖ แล้ว  เคยไปยื่นขอสัญชาติไทยตาม พรบ. สัญชาติ มาตรา ๗ ทวิ วรรคสอง ตั้งแต่เรียนชั้น ป. ๖ ก็ไม่ได้   ปัจจุบันก็ได้ยื่นคำร้องขอสัญชาติ และทำอะไรอีกหลายอย่าง นส. หทัยเล่าความยากลำบากในชีวิตของตน และร้องไห้สะอึกสะอื้น ทำเอาคนในห้องสลดใจไปตามๆ กัน

คุณเตือนตั้งคำถามให้นักเรียนตอบ

- ถือบัตรอะไร นักเรียนคนที่สอง (สุรเดช) ตนเอง 7,  พ่อ 0,  แม่ 6    คำแนะนำคือ สุรเดชควรร้องขอสัญชาติไทยตั้งแต่ปี ๒๕๕๓

คนที่น่าชื่นชมมากคือคนที่ ๔ ที่เป็นผู้ชาย เมื่อถามว่าพ่อแม่มีบัตรประชาชนพม่าไหม เขาตอบว่ามีทั้งสองคน    คำแนะนำของ อ. แหววคือ ให้นักเรียนกลับไปทำพาสปอร์ต พม่า แล้วขอวีซ่าเข้าเมืองในฐานะนักเรียน    แล้วขอแปลงสัญชาติเป็นไทยได้ในภายหลัง

หลังซักถามนักเรียน คณะที่ไปศึกษาดูงานคุยกันเอง ได้แนวทางดำเนินการของภาคีมากมาย    ความรู้สึกลึกๆ ของผมคือ ผมได้ไปเห็นความไม่เป็นธรรมในสังคม ได้สัมผัสความชั่วร้ายของสถานภาพ “คนกินคน” แสวงหาผลประโยชน์ส่วนตนจาก ความยากลำบากของเพื่อนมนุษย์    และเดาว่าส่วนใหญ่เป็นฝีมือของทางราชการ เชื่อมโยงกับคอร์รัปชั่น และความไร้ประสิทธิภาพของระบบ โดยไม่มีหน่วยเหนือเอาใจใส่แก้ไขระบบ ผมนึกตำหนิ กพร. อยู่ในใจ

อ. แหวว บอกว่า จะจัด “ห้องเรียน” ให้แก่เจ้าของสิทธิ์ เพื่อให้ดูแลตนเอง และดูแลช่วยเหลือกันเองได้ ในระดับหนึ่ง โดยจะแบ่งคนดังกล่าวออกเป็น ๕ กลุ่ม ได้แก่ (๑) คนที่ไม่มีเอกสารรับรองตัวบุคคลใดๆ เลย เพราะไม่มีชื่อในทะเบียนราษฎรของรัฐใดเลยบนโลก, (๒) คนสัญชาติไทยที่ถูกบันทึกในทะเบียนราษฎรไทยว่าเป็นคนต่างด้าว,  (๓) คนที่ถูกบันทึกในทะเบียนราษฎรไทยที่เกิดในประเทศไทย แต่ไม่ได้รับการรับรองสัญชาติใดๆ เลย,  (๔) คนที่ถูกบันทึกในทะเบียนราษฎรไทยที่เกิดนอกประเทศไทย แต่ไม่ได้รับการรับรองสัญชาติใดๆ เลย และ  (๕) คนที่ถูกบันทึกในทะเบียนราษฎรไทยในสถานะแรงงานต่างด้าว หรือผู้ติดตามแรงงานต่างด้าว

จบวงประชุมที่โรงเรียนเย็นมาก เราเดินทางไปโรงพยาบาลท่าสองยาง กินอาหารเย็น แล้ว AAR กัน     จากวง AAR ทำให้ทีมงานจัดกิจกรรมครั้งนี้ได้ความรู้มาก สำหรับปรับปรุงกิจกรรมในวันต่อๆ ไป และผมก็ได้ความรู้เพิ่มขึ้นมากด้วย

ท่านที่สนใจจริงๆ ฟังเสียงการประชุมที่บ้านมอทะ ที่โรงเรียนบ้านแม่อุสุวิทยาได้ที่นี่

ผมได้เรียนรู้ว่า มีคณะกรรมการรับรองความเป็นคนไทยพลัดถิ่น ซึ่งมีกรรมการอยู่ในคณะที่เดินทางไปครั้งนี้ ๒ คน คือ อ. แหวว กับ คุณเชษฐ์ (ภควินท์ แสงคง)    นอกจากนั้นในทีมศึกษาครั้งนี้ยังมีจากมูลนิธิกระจกเงา, สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ,  กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์,  มูลนิธิศุภนิมิตร,  สสส.,  สำนักงานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย, บางกอก (ลีกัล) คลินิก,  และมูลนิธิสยามกัมมาจล     ทั้งหมดนี้รวมพลังกัน ไปร่วมคณะศึกษาดูงานครั้งนี้ เพื่อดำเนินการจัดการปัญหาสถานะบุคคลอย่างยั่งยืนถาวร ไม่ปล่อยให้เป็นปัญหาเรื้อรัง  อย่างที่ดำเนินอยู่นานนับสิบปี เป็นบ่อเกิดของการแสวงประโยชน์โดยมิชอบ การละเมิดสิทธิมนุษยชน และการค้ามนุษย์    รวมๆ แล้วผมคิดว่า เป็นเรื่องปัญหาทางสังคม ที่ต้องมีการจัดการจริงจังในยุค คสช. นี้


หมายเหตุ

ขอขอบคุณ อ. แหวว ที่กรุณาแก้ไขต้นฉบับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งส่วนที่เป็นข้อกฎหมาย

วิจารณ์ พานิช

๑๑ก.ค. ๕๗

ชมภาพประกอบโปรดกด link : http://www.gotoknow.org/posts/574627

แก้ไขล่าสุด ใน วันเสาร์ที่ 16 สิงหาคม 2014 เวลา 10:03 น.  
Home > Articles > การศึกษา > ชีวิตที่พอเพียง : ๒๒๒๔. ไปชายแดนตาก : ๑. อำเภอท่าสองยาง ๑๑ ก.ค. ๕๗

About Us

ศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ (ศบม.) เป็นองค์กรที่พัฒนาและจัดทำโครงการเพื่อทำประโยชน์ให้สังคม เป็นองค์กรสนับสนุนการดำเนินงานของภาครัฐ ช่วยแก้ปัญหาผู้ประกอบการภาคธุรกิจบริการที่ขาดแคลนบุคลากรที่มีมาตรฐานในการให้บริการ
อ่านเพิ่มเติม

มูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ ์

 iHDC Profile
บัญชีรายชื่อกรรมการ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียน การเปลี่ยนแปลงกรรมการของมูลนิธิ
เอกสารประชาสัมพันธ์ โครงการ HMTC.pdf
เอกสารแนะนำโครงการ HMTC 1.pdf
เอกสารโครงการ HMTC 2 คุณสมบัติผู้เข้าร่วมโครงการ.pdf
iHDC นิติบุคคล.pdf
iHDC บุคคล.pdf
iHDC บุคคลเครือข่าย.pdf
รายงานการประชุม 6 มีนาคม 2560.pdf
ข้อบังคับมูลนิธิ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียนจัดตั้งมูลนิธิ
Ihdc-Profile and Roadmap 2016-2019 Mar 23 2560.pdf
รายงานการประชุมใหญ่คณะกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ 2559.pdf
คำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ สาขาวิชาชีพ.pdf
รายงานการประชุมใหญ่วันที่ 18 ธ ค 2558 v 3.pdf
รายงานการประชุม วันที่ 24 ธันวาคม 2557 updated 4 มีนาคม 2558.pdf
iHDC-invitation Letter.doc
iHDC-Member Form Thai.doc
iHDC-Member Form English.doc
รายงานการประชุมกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ วันที่ 15 มกราคม 2556 ฉบับสมบูรณ์


thaibetter
พัฒนาประเทศไทยแบบทวีคูณ และยั่งยืน ( ททค )

Login


แบบสำรวจ

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

สถิติเว็บไซด์

สมาชิก : 5605
Content : 3047
เว็บลิงก์ : 26
จำนวนครั้งเปิดดูบทความ : 8594366

facebook

Twitter


บทความเก่า