Thaiihdc.org

  • เพิ่มขนาดตัวอักษร
  • ขนาดตัวอักษรปกติ
  • สดขนาดตัวอักษร
Home > Articles > พัฒนาทุนมนุษย์ > ไปชื่นชมโรงเรียนสร้างสุขภาวะ จ. ศรีสะเกษ

ไปชื่นชมโรงเรียนสร้างสุขภาวะ จ. ศรีสะเกษ

พิมพ์ PDF

โครงการจัดการศึกษาที่สร้างสุขภาวะในโรงเรียน ดำเนินการโดยมูลนิธิสถาบันวิจัยระบบการศึกษา มี รศ. ดร. ประวิต เอราวรรณ์ เป็นหัวหน้าโครงการ สนับสนุนการเงินโดย สสส.ดำเนินการมาปีเศษๆมีข้อค้นพบ ที่น่าชื่นใจ และใจชื้นหลายอย่าง

เราไปเยี่ยมโรงเรียนในเขต สพป. ศรีสะเกษ เขต ๔มี อ. มานิต สิทธิศร เป็นศึกษานิเทศและผู้จัดการ การเปลี่ยนแปลง หรือประสานงานโครงการ

เมื่อลงจากเครื่องบินที่จังหวัดอุบลราชธานี ค่ำวันที่ ๒๑ สิงหาคม ๒๕๕๗ดร. ประวิต และ อ. มานิต ก็พาเราไปกินอาหารเย็น ที่ร้านอินโดจีน ร้านอาหารเวียดนามเจ้าดั้งเดิม ที่เปิดดำเนินการมากว่า ๓๐ ปีและมีนักร้องเพลงไทยยุคสงครามเวียดนามที่เสียงดีมาก

แต่ที่น่าสนใจยิ่งสำหรับผมคือ ทั้งสองท่านยืนยันว่า การเปลี่ยนรูปแบบการเรียนรู้ในโรงเรียนให้เป็น Active Learning นั้น ทำได้ หากผู้อำนวยการโรงเรียนลุกขึ้นมาเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงโดยได้รับการฝึก ให้เข้าใจเป้าหมายที่แท้จริงของการเรียนรู้แห่งศตวรรษที่ ๒๑และมีเป้าหมายเป็นรูปธรรมกว้างๆแล้วปล่อยให้ แต่ละโรงเรียนใช้ความริเริ่มสร้างสรรค์ดำเนินการในรายละเอียดด้วยตนเองและมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่าง โรงเรียนรวมทั้งแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันภายในโรงเรียน ที่เรียกว่า PLCโดยที่นี่มีการประชุม PLC กันทุกๆ สัปดาห์ ใช้เวลาประมาณ ๑ ๑/๒ - ๒ ชั่วโมง

เคล็ดลับความสำเร็จคือ (๑) ผู้อำนวยการโรงเรียนเป็นผู้นำพาทำและร่วมดำเนินการ(๒) มีเป้าหมาย ที่ชัดเจน(๓) มีแนวทางดำเนินการกว้างๆ ให้ (๔) ให้อิสระในการคิดรายละเอียดของวิธีการเอง(๕) มีทีมติดตาม และ coaching

เมื่อเดินทางไปถึงอำเภอกันทรลักษณ์จ. ศรีสะเกษและเข้าพักที่วังชมภูรีสอร์ท เวลาสองทุ่มเศษอ. มานิตก็ยื่นเอกสารให้ผมปึกหนึ่ง เพื่อแนะนำให้ทราบกิจการของเขตพื้นที่และโรงเรียนในโครงการ ผมนอนอ่านที่เรือนพักชื่อลำพูน ข้างห้วยขะยุง

เอกสาร คลินิกวิชาการ ของกลุ่มนิเทศติดตามและประเมินผลการจัดการศึกษา สพป. ศรีสะเกษ เขต ๔น่าสนใจมากเป็นเอกสารแผ่นเดียว ๒ หน้าผมได้รับมา ๗ ฉบับเริ่มตั้งแต่ฉบับวันที่ ๓๐ เมษายน ๒๕๕๗ซึ่งระบุว่า ปีที่ ๑๐ฉบับที่ ๖เอกสารลำดับที่ ๑๑/๒๕๕๗ไปจนถึง ฉบับ ปีที่ ๑๐ฉบับที่ ๑๒วันที่ ๑๘ สิงหาคม ๒๕๕๗เอกสารลำดับที่ ๒๘/๒๕๕๗แสดงว่า อ. มานิต ขยันขันแข็งในการสื่อสาร กิจการวิชาการ ในเขตพื้นที่อย่างมาก เดิมผมคิดว่าท่านมีทีมงานทำแต่ท่านบอกผมว่า ท่านต้องทำเองทั้งหมดและสมัยก่อนต้องออกเงินซื้อกระดาษเอง

ทำดีย่อมได้ดีท่านได้รับการยอมรับนับถือไปทั่ววงการการศึกษาและได้รับวิทยฐานะเป็น คศ. ๔เทียบกับในมหาวิทยาลัยเป็นถึงรองศาสตราจารย์

เอกสารฉบับหลังสุด ประกาศว่า ผมจะไปบรรยายพิเศษเรื่อง แนวคิดการพัฒนาโรงเรียนสุขภาวะ เพื่อสร้างเสริมให้ผู้เรียนเป็นสุของค์กรเป็นสุขสภาพแวดล้อมเป็นสุขครอบครัวเป็นสุขและชุมชนเป็นสุขเวลา ๑๔.๓๐ - ๑๕.๔๕ น.ผมจึงทราบว่าเขาต้องการให้ผมบรรยาย

ข้อมูลในเอกสารนี้ที่ผมประทับใจมากคือ มีการเก็บข้อมูลนักเรียนในเขตพื้นที่ตั้งแต่ชั้นอนุบาล ๑ถึง ม. ๓จำนวน ๓๘,๓๖๘ คนพบว่า ๑๐,๙๗๑ คน (ร้อยละ ๒๙) ไม่ได้อยู่กับพ่อแม่มาทราบภายหลังว่า เก็บตาม ความต้องการของมูลนิธิยุวสถิรคุณ

ผมได้เรียนรู้จากเอกสาร ว่า สพป. ศรีสะเกษ เขต ๔ มีโรงเรียนอยู่ในสังกัด .. โรงเรียนมีนักเรียน ... คนครู ... คนผู้บริหารโรงเรียน ... คนศึกษานิเทศก์ ๑๙ คน และเรียนรู้ภายหลังว่า ระบบบริหารของเขตพื้นที่ อ่อนแอและ ศน. ทำงานจริงอยู่ไม่กี่คน

นอกจากนี้ผมยังได้รับเอกสารแผ่นพับ เป็นกระดาษ A4 พับ 3 อีก ๗ชุดได้แก่การพัฒนา คุณภาพการศึกษาสพป. ศรีสะเกษ เขต ๔,สพป. ศรีสะเกษ เขต ๔ กับการขับเคลื่อนปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง,สพป. ศรีสะเกษ เขต ๔ กับการพัฒนาทักษะสำหรับผู้เรียน สู่ศตวรรษที่ ๒๑,การพัฒนาการจัดประสบการณ์ระดับปฐมวัยตามแนวคิด มอนเตสซอรี่ : การศึกษาเพื่อชีวิต,ศูนย์การเรียนรู้วิทยาศาสตร์คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี ปฐมวัยโรงเรียนบ้านสดำ,โรงเรียนบ้านนาขนวน กลุ่มโรงเรียนบึงระนาม,โรงเรียนบ้านนาขนวน : การบริหารจัดการหลักสูตร ที่ไม่จัดการเรียนรู้ไว้ให้ผู้เรียน

วิจารณ์ พานิช

๒๒ ส.ค. ๕๗

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย 

เช้าวันที่ ๒๒ สิงหาคม ๒๕๕๗ เราออกเดินทางจากวังชมภูรีสอร์ท เวลา ๗.๐๐ น. เดินทางไปโรงเรียน บ้านนาขนวน เพื่อรับประทานอาหารเช้า และเยี่ยมชมชั้นเรียน ที่ดำเนินการเปลี่ยนจากแนวเดิมๆ มาเป็นแนว ของโรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา ซึ่งก็คือแนว Active Learning นั่นเอง

แม้แต่เครื่องแบบนักเรียน ก็สวมเสื้อที่ตัดด้วยผ้าทอพื้นเมือง ลายผ้าขาวม้า คล้ายเครื่องแบบนักเรียน โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา และพิธีกรรมหน้าเสาธงในตอนเช้า ก็คล้ายคลึงกัน

ผู้อำนวยการโรงเรียน ชื่อ นายสังคม อินทร์ขาว เดิมเป็นรองผู้อำนวยการโรงเรียนอนุบาล ดำรงราชานุสรณ์ ย้ายมาเป็นผู้อำนวยการโรงเรียนนี้เมื่อ ๖ ปีที่แล้ว และเป็นผู้ริเริ่มเปลี่ยนแปลงรูปแบบของ การเรียนการสอน ด้วยความช่วยเหลือของโรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา ทันทีที่เป็นผู้อำนวยการ ดังนั้น โรงเรียนนี้จึงมีการเปลี่ยนรูปแบบการเรียนรู้ที่แน่นแฟ้นมาก ดำเนินการมา ๖ ปี ก่อนจะมีโครงการโรงเรียน สร้างสุขภาวะตั้ง ๕ ปี

โรงเรียนนี้เป็นโรงเรียนประถม สอนชั้นอนุบาล ๑, อนุบาล ๒ และประถม ๑ - ๖ มีนักเรียน ๒๐๐ คนเศษ ครู ๑๑ คน

รับประทานอาหารเช้าเสร็จ เราก็ตั้งวงคุยกัน มีประธานคณะกรรมการโรงเรียน ที่เป็นอดีต ผู้อำนวยการโรงเรียน กำนัน ผู้ปกครองเด็ก และครู เราได้รับฟังความพึงพอใจ หรือความสุขของทุกฝ่าย ที่เกี่ยวข้อง เพราะเห็นประจักษ์ด้วยตนเอง ว่ามีผลดีต่อเด็ก ทั้งในด้านการเรียน และความประพฤติ

บ้านนาขนวนเป็นชุมชนที่มีฐานะปานกลางค่อนข้างจน อาชีพทำนาเป็นหลัก ตอนนี้นาและต้นไม้ เขียวชะอุ่ม เพราะเป็นหน้าฝน

แม่ของนักเรียนที่เพิ่งเรียนจบ ป. ๖ ไปจากโรงเรียนนี้มาเล่าว่า ตนพอใจมาก ต่อคุณภาพการศึกษา ที่ลูกสาวได้รับ ทำให้ไปสอบเข้าโรงเรียนมัธยมในตัวอำเภอได้ และบอกว่าลูกคนโต ที่เป็นผู้ชายอายุ ๒๒ ปีแล้ว และเป็นศิษย์เก่าของโรงเรียนนี้ หากเขาได้เรียนแบบนี้ ก็น่าจะมีอนาคตดีกว่านี้ เพราะเรียนไม่จบ เชื่อว่าหาก เรียนชั้นประถมแบบใหม่ ลูกชายน่าจะเรียนจบชั้นมัธยม

ครูคนหนึ่งเพิ่งย้ายมาจากโรงเรียนอื่นได้ ๑ ปี บอกว่าการสอนแบบใหม่นี้ นักเรียนจำได้แม่นยำและ นานกว่า และนักเรียนสนใจเรียนมากกว่า

สรุปได้ว่าบรรยากาศในวงประชุม เต็มไปด้วยความสุข ความภาคภูมิใจ ในรูปแบบการเรียนรู้แบบใหม่ ของโรงเรียน

หลังจากนั้น เราไปเยี่ยมชั้นเรียนที่ครูกำลังสอน ในชั้นเรียนส่วนใหญ่เด็กนั่งทำงานกับพื้นห้อง และครูก็นั่งที่พื้นห้อง ดร. ประวิตอธิบายว่า เพื่อให้เด็กรู้สึกว่านั่งเสมอกัน

เราไปเห็นการจัดห้องเรียนแบบยืดหยุ่น ห้องเรียนส่วนใหญ่เอาโต๊ะเก้าอี้นักเรียนไปรวมไว้หลังห้อง ให้มีที่ว่างให้นักเรียนนั่งล้อมวงเรียนร่วมกัน ครูไม่ได้นั่งกลางวง แต่นั่งเป็นส่วนหนึ่งของวง และตามผนัง ห้องติดผลงานของเด็ก เป็นผลงานของทีมงานเต็มไปหมด

เรามีเวลาที่นี่ไม่นานนัก เพราะต้องรีบไปเยี่ยมอีก ๒ โรงเรียน

วิจารณ์ พานิช

๒๘ ส.ค. ๕๗

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย 

เท่ากับว่าเช้าวันที่ ๒๒ สิงหาคม ๒๕๕๗ ผมไปป้วนเปี้ยนอยู่แถวชายแดนกัมพูชา ไปถึงโรงเรียนไหน ก็จะมีคนบอกว่าที่ยิงกันกับกัมพูชาเพราะความขัดแย้งเรื่องพรมแดน ก็แถวนี้แหละ

เรามีเวลานิดเดียวที่โรงเรียนบ้านปะทาย ที่ผู้อำนวยการสมศักดิ์ ประสาร เป็นคู่หูกันกับ ผอ. สังคม ของโรงเรียนบ้านนาขนวน โดย ผอ. สมศักดิ์ปฏิรูปการเรียนรู้ของโรงเรียนบ้านปะทายปีนี้เป็นปีที่ ๓ โดยเรียนรู้จากโรงเรียนบ้านนาขนวน

ดังนั้น ๒ โรงเรียนแรกที่ ดร. ประวิต พาผมกับคุณเปา และคุณเอ๋อไปดู มีการปฏิรูปรูปแบบการเรียนรู้ เป็น Active Learning ก่อนโครงการโรงเรียนสุขภาวะจะเข้าไป

ที่นี่เปิดสอนตั้งแต่ชั้นอนุบาล ถึงมัธยมศึกษาตอนต้น คือเป็นโรงเรียนประถมขยายโอกาส นักเรียน ๒๓๘ คน ครู ๑๗ รวมผู้อำนวยการเป็น ๑๘ คน

พอเข้าไปในชั้นเรียน เราก็ประจักษ์ว่าเป็นห้องเรียนแบบนักเรียนเรียนจากปฏิบัติการของตน เรียนร่วมกับเพื่อน หรือจะทำงานคนเดียวก็ได้ ครูทำหน้าที่ออกแบบการเรียนรู้ ชวนเด็กตั้งคำถาม แล้วให้ทำกิจกรรมเพื่อการเรียนรู้

ห้องเรียนมีสภาพเป็นสตูดิโอ สำหรับนักเรียน “ทำงาน” เพื่อการเรียนรู้ของตน ที่ผนังห้องมี “ผลงาน” ของนักเรียนมากมาย เราได้เห็นวิธีกระตุ้นความสนใจใคร่รู้ของนักเรียน ที่ครูออกแบบขึ้น

เรามีเวลาเยี่ยมชั้นเรียนแบบผ่านๆ เท่านั้น เพราะมีการเปลี่ยนแผน เพิ่มไปเยี่ยมโรงเรียนแห่งที่สาม คือ โรงเรียนบ้านทุ่งยาวคำโปรย

วิจารณ์ พานิช

๒๘ ส.ค. ๕๗

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย 

กำหนดการเดิมระบุว่าเราจะไปเยี่ยมชมเพียงสองโรงเรียน คือบ้านนาขนวนกับบ้านปะทาย แต่เมื่อถึง เวลาจริง ดร. ประวิต ตัดสินใจเร่งเวลาขึ้น เพื่อแถมโรงเรียนบ้านทุ่งยาวคำโปรยเข้าไปด้วย โดยบอกว่า จะเป็น โรงเรียนที่เพิ่งเริ่มเปลี่ยนรูปแบบการเรียนรู้ตามโครงการโรงเรียนสร้างสุขภาวะ จึงเท่ากับเพิ่งเปลี่ยนมาปีเศษ และผู้อำนวยการ กำพล เจริญรักษ์ เป็นคนหนุ่ม อ่อนอาวุโสกว่าครูส่วนใหญ่ในโรงเรียน

นักเรียน ๑๗๘ คน ครู ๑๒ คน รวมผู้อำนวยการเป็น ๑๓ ผมเพิ่งมาค้นพบที่บ้าน ว่าโรงเรียนนี้ สอนตั้งแต่ชั้นเด็กเล็ก ๓ ขวบ ถึง ม. ๖ และมีชั้น ปวช. ๑ - ๓ ด้วย

เราไปพบนวัตกรรมที่น่าชื่นชมมาก และคุณหมอยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานต์ เอาไปชมต่อไม่หยุดปาก คือทางโรงเรียนฉายวีดิทัศน์ “โรงเรียนผู้ปกครอง” โดยให้ผู้ปกครองมาทำตัวเป็นนักเรียน ๑ วัน ลูกที่เป็นนักเรียน ทำตัวเป็น “ผู้ปกครอง” เอาอาหารจากบ้านมาส่งที่โรงเรียน ใน ๑ วันนี้ “นักเรียนจำลอง” เข้าชั้นเรียนตาม ชั้นเรียนของลูกของตน เพื่อให้ได้สัมผัสว่าลูกของตนเรียนอย่างไร เมื่อจบวันก็ให้กลับเป็นผู้ปกครอง และสะท้อนบอกว่าเห็นด้วยกับวิธีเรียนของลูกแบบนี้ไหม และมีคำแนะนำเพิ่มเติมอย่างไรบ้าง

ปรากฎว่า ผู้ปกครองสนับสนุนวิธีการเรียนแบบนี้อย่างคึกคักมาก มีผลให้ครูส่วนที่ไม่เห็นด้วยกับ วิธีสอนแบบใหม่ ต้องยอมตาม เพราะเท่ากับว่า ทางโรงเรียนปฏิรูปรูปแบบการเรียนรู้ตามความต้องการของ ผู้ปกครอง และตามความเห็นชอบของชุมชน

ผู้อำนวยการใช้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม ลดแรงต่อต้านจากครูส่วนที่ไม่ต้องการการเปลี่ยนแปลง นับเป็นกุศโลบายที่เยี่ยมยอด  มาก

เราไปเยี่ยมชมชั้นเรียน ป. ๕ กับอนุบาล ๒ ได้เห็นสภาพห้องเรียน และกิจกรรมการเรียนรู้ของเด็ก ที่เป็น Active Learning

เรากินอาหารเที่ยงที่นี่ แล้วรีบเดินทางกลับตัวอำเภอกันทราลักษณ์ ไปยังโรงเรียนอนุบาล ดำรงราชานุสรณ์ เพื่อ AAR กับคณะผู้อำนวยการโรงเรียนในเครือข่าย จำนวน ๒๑ โรงเรียน

วิจารณ์ พานิช

๒๘ ส.ค. ๕๗

โรงแรมเซนทารา ดวงตะวัน เชียงใหม่

ช่วงบ่าย ที่โรงเรียนอนุบาลดำรงราชานุสรณ์ เป็นการประชุม ๒ ช่วง ช่วงแรกคล้ายๆ การ AAR ในหมู่ผู้อำนวยการโรงเรียน ในเครือข่ายโรงเรียนสร้างสุขภาวะ คุณหมอยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานต์ ไปถึงก็จัดการให้เปลี่ยนการจัดเก้าอี้ จากจัดแบบ classroom เป็นล้อมวงคุยกัน

คุณเปากับผมนัดแนะกันถอยมานั่งแถวหลังหรือวงนอก และบอกให้ผู้อำนวยการโรงเรียนนั่งวงใน โดยคุณเปามากระซิบบอกผมทีหลังว่า เพื่อนั่งสังเกตว่า ผอ. โรงเรียนมีสมาธิไหม ฟังคนอื่นเป็นไหม ผลปรากฎว่า ผอ. โรงเรียนกลุ่ม ๒๑ คนนี้สอบผ่าน

คนในวงการศึกษาต้องเป็น “นักเรียนรู้” ซึ่งทักษะที่สำคัญคือ deep listening การตั้งใจฟัง และฟังอย่างลึก คนที่เก่งถึงขนาดจะ “ได้ยิน” สิ่งที่เขาไม่ได้พูด แต่เราสังเกตว่าในที่ประชุมที่มีครูร่วมประชุม ครูมักคุยกัน แทนที่จะฟัง แปลกแท้ๆ คล้ายๆกับครูไม่เป็น “นักเรียนรู้” ผมขออภัยครูดี ที่ฟังเป็นด้วยนะครับ

คุณหมอยงยุทธ ทำหน้าที่ “คุณอำนวย” ของการประชุม ตั้งคำถามว่า เมื่อเช้าแต่ละท่านได้ไปเยี่ยม โรงเรียนในเครือข่าย ท่านละ ๒ โรงเรียน ได้เห็นอะไรที่ประทับใจบ้าง (นี่คือคำถาม AAR ชั้นครู) พอจะสรุปได้ว่า ไปเห็นการเปลี่ยนแปลง บรรยากาศในห้องเรียนเปลี่ยนไปจาก ๒ ปีที่แล้วมาก นักเรียนเรียนอย่างมีความสุข ครูก็มีความสุข คนในชุมชนที่เป็นพ่อแม่ผู้ปกครองก็พอใจ แต่ก็มีคำแนะนำว่า ควรเพิ่มทักษะการสอน (แบบไม่สอน) วิชาเฉพาะ และทักษะการสอนแบบ PBL

รวมทั้งไปพบปัญหาครูไม่เข้าใจกัน แต่ผมเดาว่า การมีคนนอกไปดูงาน แสดง Appreciative Inquiry และให้คำแนะนำ จะช่วยเปลี่ยนใจครูที่ยึดติดการสอนแบบเดิม และช่วยเติมความมั่นใจให้แก่ครูที่เปลี่ยนมา สอนแบบ active learning

ครูวิเชียร ผอ. รร. ลำปลายมาศพัฒนา ต้นตำรับโรงเรียนแบบใหม่ บอกว่าไม่ได้ไปเยี่ยมนาน ไปเห็นแล้วแปลกใจ ว่าครูสามารถเปลี่ยนรูปแบบการเรียนการสอนได้ถึงเพียงนั้น

วิธีจัดการเรียนการสอนแบบใหม่ ทำให้ผู้ปกครองจิตอาสามีช่องทางเข้าไปทำประโยชน์ให้แก่โรงเรียน และผมว่า เป็นการเปิดพื้นที่ให้ชุมชนเข้าไปมีส่วนสนับสนุนการเรียนรู้ในโรงเรียน แตกต่างจากโรงเรียนแบบเก่า

คุณหมอยงยุทธบอกว่า นี่คือปรากฏการณ์การเปลี่ยนรูปแบบการศึกษาที่เกิดขึ้นในจังหวัดที่ยากจนที่สุด จังหวัดหนึ่ง และเกิดขึ้นในเขต ๔ ซึ่งเป็นเขตห่างไกล อยู่ชายแดน แต่ได้พิสูจน์ให้เห็นว่าการปฏิรูปรูปแบบ การเรียนรู้ ให้เป็น 21st Century Learning เกิดขึ้นได้จริงๆ ในระบบการศึกษาไทย หากมีการจัดการอย่างถูกต้อง

ท่านให้คำแนะนำในเชิงปฏิบัติที่มีประโยชน์หลายอย่าง เช่น ต้องให้ครูอยู่กับเด็ก ในช่วงที่มีคนมาดูงาน อย่าออกจากห้องเรียนไปต้อนรับหรืออธิบายให้แก่ผู้มาดูงาน คือต้องมีวิธีปฏิบัติไม่ให้คนมาดูงานทำให้นักเรียน เสียประโยชน์

ควรเคารพผลงานของเด็กทุกคน เอามาติดในห้องทุกผลงาน ไม่ใช่เลือกเฉพาะผลงานเด่น ถึงตรงนี้ผมนึกในใจว่า ต้องเลือกผลงานเด่นด้วย สำหรับให้นักเรียนทำความเข้าใจว่า ผลงานที่มีคุณภาพ เป็นอย่างไร ถือเป็นการเรียนรู้ที่สำคัญอย่างหนึ่ง

คุณหมอยงยุทธชวนทำทั้งจังหวัด ซึ่งผมเห็นด้วยอย่างยิ่ง

ผมถูกขยั้นขะยอให้พูด ทั้งๆ ที่พยายามหลีกเลี่ยง เพราะอยากฟังมากกว่า ผมบอกว่า อุดมการณ์ของการศึกษาในศตวรรษที่ ๒๑ คือ เพื่อสร้างผู้นำ ไม่ใช่สร้างผู้ตาม อย่างที่ทำกันอยู่ ในระบบการศึกษาไทยในภาพใหญ่ขณะนี้

สร้างผู้ตาม เพราะสอนให้เชื่อความรู้สำเร็จรูป ที่รับถ่ายทอดจากครูหรือตำรา

เราต้องสร้างผู้นำโดยจัดการเรียนแบบฝึกให้เด็กเชื่อตัวเอง เชื่อผัสสะของตนเอง ฝึกตีความผัสสะของตนเอง ในการเรียนแบบ active learning โดยครูต้องมีทักษะในห้องเรียนแบบใหม่ ซึ่งผมได้มาเห็นว่าครูในโรงเรียน ๓ แห่งที่ผมไปเยี่ยมชื่นชม กำลังพัฒนาตนเองอย่างขมักเขม้น และขอยืนยันว่าเดินมาถูกทาง

แต่ทางข้างหน้ายังอีกยาวไกล หรือกล่าวได้ว่าไม่สิ้นสุด คือครูต้องเรียนรู้ทักษะในห้องเรียน และปรับปรุงวิธีการจัดการเรียนการสอนตลอดไป ขอให้กำลังใจ ให้ครูและผู้อำนวยการโรงเรียนเดิน ตามเส้นทางนี้ แม้โครงการโรงเรียนสร้างสุขจะจบสิ้นไป

ผมขออนุญาตที่ประชุมถามคำถาม ว่าสมมติว่าผมเป็นเทวดาที่บันดาลสิ่งที่ ผอ. ต้องการได้คนละ ๑ อย่าง เพื่อเป็นพลังเสริมให้คุณภาพการศึกษาในโรงเรียนที่ท่านดูแลอยู่ดียิ่งขึ้น ท่านจะขออะไร คำขอเหล่านี้ สะท้อนปณิธานความมุ่งมั่นในการทำงานปฏิรูปการเรียนรู้ในโรงเรียน และน่ายินดีมาก ที่คำขอที่มีความถี่สูงสุดคือความเป็นอิสระในการตัดสินใจ ในการดำเนินการพัฒนาคุณภาพผมสัมฤทธิ์ในการเรียนรู้ของนักเรียน

ผมหวังว่าเสียงสะท้อนของผู้อำนวยการโรงเรียนเหล่านี้จะได้ยินไปถึง สพฐ. และกระทรวงศึกษาธิการ

วิจารณ์ พานิช

๓๐ ส.ค. ๕๗

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย 

 

ต้องการชมภาพประกอบอย่างสมบูรณ์ สามารถกด link :

https://www.gotoknow.org/posts/577676

https://www.gotoknow.org/posts/577820

https://www.gotoknow.org/posts/578113

https://www.gotoknow.org/posts/578283

แก้ไขล่าสุด ใน วันพฤหัสบดีที่ 09 ตุลาคม 2014 เวลา 00:11 น.  
Home > Articles > พัฒนาทุนมนุษย์ > ไปชื่นชมโรงเรียนสร้างสุขภาวะ จ. ศรีสะเกษ

About Us

ศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ (ศบม.) เป็นองค์กรที่พัฒนาและจัดทำโครงการเพื่อทำประโยชน์ให้สังคม เป็นองค์กรสนับสนุนการดำเนินงานของภาครัฐ ช่วยแก้ปัญหาผู้ประกอบการภาคธุรกิจบริการที่ขาดแคลนบุคลากรที่มีมาตรฐานในการให้บริการ
อ่านเพิ่มเติม

มูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ ์

 iHDC Profile
บัญชีรายชื่อกรรมการ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียน การเปลี่ยนแปลงกรรมการของมูลนิธิ
เอกสารประชาสัมพันธ์ โครงการ HMTC.pdf
เอกสารแนะนำโครงการ HMTC 1.pdf
เอกสารโครงการ HMTC 2 คุณสมบัติผู้เข้าร่วมโครงการ.pdf
iHDC นิติบุคคล.pdf
iHDC บุคคล.pdf
iHDC บุคคลเครือข่าย.pdf
รายงานการประชุม 6 มีนาคม 2560.pdf
ข้อบังคับมูลนิธิ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียนจัดตั้งมูลนิธิ
Ihdc-Profile and Roadmap 2016-2019 Mar 23 2560.pdf
รายงานการประชุมใหญ่คณะกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ 2559.pdf
คำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ สาขาวิชาชีพ.pdf
รายงานการประชุมใหญ่วันที่ 18 ธ ค 2558 v 3.pdf
รายงานการประชุม วันที่ 24 ธันวาคม 2557 updated 4 มีนาคม 2558.pdf
iHDC-invitation Letter.doc
iHDC-Member Form Thai.doc
iHDC-Member Form English.doc
รายงานการประชุมกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ วันที่ 15 มกราคม 2556 ฉบับสมบูรณ์


thaibetter
พัฒนาประเทศไทยแบบทวีคูณ และยั่งยืน ( ททค )

Login


แบบสำรวจ

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

สถิติเว็บไซด์

สมาชิก : 5585
Content : 3038
เว็บลิงก์ : 26
จำนวนครั้งเปิดดูบทความ : 8560212

facebook

Twitter


ล่าสุด

บทความเก่า