คำนิยม หนังสือ เรียนรู้...สู่สุขภาวะ

คำนิยม

หนังสือ การเรียนรู้...สู่สุขภาวะ

วิจารณ์ พานิช

.................


บุคลากรในวิชาชีพสุขภาพ เป็นปัจจัยสำคัญยิ่งของระบบสุขภาพที่ดี เวลานี้ประเทศไทยได้ชื่อว่า เป็นประเทศที่มีระบบสุขภาพที่ดี เป็นตัวอย่างแก่โลกได้ เพราะเรามีระบบคุ้มครองสุขภาพถ้วนหน้า โดยที่ค่าใช้จ่ายของระบบสุขภาพก็ไม่สูงเกินไป

การคุ้มครองสุขภาพถ้วนหน้า จะบรรลุผลสำเร็จได้ ประเทศต้องมีโครงข่ายของระบบดูแลสุขภาพ ที่กระจายไปทั่ว และทำงานประสานงานร่วมมือกัน รวมทั้งต้องมีบุคลากรในวิชาชีพสุขภาพหลากหลายวิชาชีพ ที่มีสมรรถนะดีตรงตามความต้องการของปัญหาและความท้าทายด้านสุขภาพ ทำงานเป็นทีม ภายใต้ยุทธศาสตร์ ระดับประเทศที่ถูกต้อง คือ "สร้างนำซ่อม"

สภาพดังกล่าวไม่มีรูปแบบมาตรฐานหยุดนิ่งตายตัว เพราะ "ระบบสุขภาวะ" มีความเป็นพลวัตสูงมาก เปลี่ยนแปลงไปตามโครงสร้างของประชากรที่เปลี่ยนอย่างรวดเร็ว ดังในปัจจุบัน ประเทศไทยกลายเป็นสังคม คนแก่ รวมทั้งระบาดวิทยาของปัญหาสุขภาพก็เปลี่ยนแปลงไป โรคเรื้อรัง ได้แก่เบาหวาน และความดันโลหิตสูง กลายเป็นปัญหาหลัก นอกจากนั้นเทคโนโลยีใหม่ๆ ราคาแพงก็ออกสู่ตลาด เย้ายวนให้จ่ายเงินจำนวนมาก จัดหามาใช้

ระบบบริการสุขภาพของไทย ไม่ได้ดูแล หรือให้บริการ เฉพาะคนไทยเท่านั้น ยังให้บริการผู้ป่วยจาก ต่างประเทศด้วย ในปี พ.ศ. ๒๕๕๖ มีผู้ป่วยจากต่างประเทศเข้ามารับบริการ ๑.๔ ล้านครั้ง ทำรายได้ เข้าประเทศ ประมาณ ๑ แสนล้านบาท ระบบบริการสุขภาพของไทย จึงมีสภาพเป็นสินค้าออก เพื่อนำรายได้ เข้าประเทศด้วย

ในท่ามกลางความเลื่อนไหลและซับซ้อนของสังคม และระบบสุขภาพ การศึกษาของบุคลากร ในวิชาชีพสุขภาพ และการจัดการระบบบุคลากรในวิชาชีพสุขภาพ ที่ปฏิบัติงานอยู่ในระบบสุขภาพ ก็ต้องมีการปรับตัวให้สอดคล้อง

ขณะนี้ อยู่ในช่วง "การปรับตัวครั้งใหญ่" ของการศึกษาของบุคลากรในวิชาชีพสุขภาพทั่วโลก รวมทั้งในประเทศไทย ที่ถือได้ว่า เป็นการปรับใหญ่ ในช่วงหนึ่งร้อยปี หรือในหนึ่งศตวรรษ เป็นการปรับตัว รองรับความซับซ้อน และความเป็นจริงที่ขัดแย้งกันหลายคู่ ดังกรณีหน้าที่ของระบบสุขภาพ ที่จะต้องดูแล สุขภาพแก่คนไทยอย่างทั่วถึงและเท่าเทียมกัน และในขณะเดียวกัน ก็ยังคาดหวังให้ทำหน้าที่ให้บริการ ซ่อมสุขภาพแก่คนต่างชาติ เพื่อหารายได้เข้าประเทศ

ในสภาพที่ทุกสิ่งทุกอย่างใน(คริสต)ศตวรรษที่ ๒๑ มีการเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว ในอัตราเร่งที่สูงขึ้นๆ บุคลากรในวิชาชีพสุขภาพจึงต้องได้รับการศึกษาและฝึกฝนให้เกิดคุณสมบัติของภาวะผู้นำ เพื่อทำหน้าที่ เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง (change agent) การศึกษาของบุคลากรในวิชาชีพสุขภาพ จึงต้องมีลักษณะเป็น Transformative Education รวมทั้งจะต้องมีสมรรถนะหลากหลายด้านตรงตามความต้องการของระบบสุขภาพ ของประเทศ ที่สำคัญคือ ต้องทำงานเป็นทีมร่วมกับผู้อื่น เป็น "ทีมสุขภาพ" ได้ดี

ภายใต้ความท้าทายเหล่านี้ เป็นนิมิตดีอย่างยิ่งต่อสังคมไทย ที่มีการรวมตัวกัน แบบที่มี ความพร้อมใจ ร่วมกันดำเนินการ"โครงการพัฒนาการศึกษาสำหรับบุคลากรด้านสาธารณสุขที่เหมาะสมในศตวรรษที่ ๒๑" โดยไม่มีคำสั่งจากหน่วยเหนือ หรือผู้มีอำนาจใดๆ เกิดเป็นเครือข่ายความร่วมมือในทุกวิชาชีพ ดำเนินการในระดับประเทศ

ความรู้ความเข้าใจในมิติที่ลึก เป็นเครื่องมือสำคัญในการเชื่อมโยงอุดมการณ์ของหลากหลายฝ่าย หลากหลายวิชาชีพ เข้าด้วยกัน เพื่อร่วมกันทำงานปฏิรูปการศึกษาของวิชาชีพสุขภาพ ให้ทำประโยชน์ แก่สังคมไทยได้อย่างทรงคุณค่ายิ่งขึ้น

ความรู้ดังกล่าว ส่วนหนึ่งอยู่ในหนังสือ "เรียนรู้...สู่สุขภาวะ" เล่มนี้ โดยคณะผู้ดำเนินการ โครงการพัฒนาการศึกษาสำหรับบุคลากรสาธารณสุขฯ ได้จัดแปลรายงานของคณะกรรมาธิการอิสระ ที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า Lancet Commission Report ซึ่งเป็นรายงานที่เขย่าวงการศึกษาสำหรับวิชาชีพ สุขภาพทั่วโลก พร้อมทั้งแปลเอกสารอีก ๓ ชิ้นมารวบรวมไว้ด้วยกัน คือ (๑) บทความเรื่อง Global Supply of Health Professionals เขียนโดย Nigel Crisp และ Lincoln Chen ลงพิมพ์ใน New England Journal of Medicine (2014;370:950-7.) (๒) มติของคณะกรรมการองค์การอนามัยโลกส่วนภูมิภาค SEA/RC65/R7 และ (๓) มติสมัชชาสุขภาพโลกครั้งที่ ๖๖ (WHA66/23)

ความรู้ในหนังสือเล่มนี้เป็นเพียงพื้นฐานเริ่มต้น ความรู้ที่ทรงพลังยิ่งกว่า มาจากการปฏิบัติ ที่หน่วยงาน และวิชาชีพต่างๆ ในประเทศไทย ดำเนินการพัฒนารูปแบบการเรียนรู้ (Instructional Reform) และการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงในระดับสถาบัน (Institutional Reform) แล้วเกิดความสำเร็จ (หรือความล้มเหลว/ยากลำบาก) เมื่อนำมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้และตีความร่วมกัน ก็จะเกิดเป็นความรู้ ที่มีคุณค่าสำหรับขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลง เป็น "การเรียนรู้...สู่สุขภาวะ" ที่แท้จริง

ผมขอแสดงความชื่นชม และขอบคุณผู้แปล และคณะผู้จัดทำหนังสือที่ทรงคุณค่าเล่มนี้ ออกสู่สังคมไทย



วิจารณ์ พานิช

๒๘ กันยายน ๒๕๕๗