วันที่ ๑๕ และ ๑๖ ส.ค. ๕๕ ผมไปร่วมสัมมนาทางวิชาการเพื่อเสนอผลงานวิจัย สู่สังคมไทยเสมอหน้า การศึกษาโครงสร้างความมั่งคั่งและโครงสร้างอำนาจเพื่อการปฏิรูป ที่นำโดย ศ. ดร. ผาสุก พงศ์ไพจิตร ได้รับการสนับสนุนจากทุนศาสตราจารย์วิจัยดีเด่น   สนับสนุนโดย สกว., สกอ. และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย    การประชุมนี้จัดที่ จุฬาฯ

 

เริ่มด้วยบทสรุป ภาพรวมของผลงานวิจัย โดย ศ. ดร. ผาสุก    อ่านที่สื่อมวลชนเอาไปเผยแพร่ได้ที่  ที่จริงมีผลงานวิจัยเกี่ยวกับความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยอยู่พอสมควร    ค้นใน อินเทอร์เน็ต ได้   แต่ความสดใหม่ของผลงานของ ศ. ดร. ผาสุก อยู่ที่การชี้สาเหตุ ด้วยการนำปรากฏการณ์ทางสังคม ที่สะท้อนสาเหตุมาให้ดู   ดังกรณีผลงานวิจัยเรื่อง เครือข่ายผู้บริหารระดับสูง ผ่านเครือข่ายทางการศึกษา โดยนวลน้อย ตรีรัตน์ และภาคภูมิ วาณิชกะ ที่ผมมีโอกาสฟังการนำเสนอผลการวิจัย   แต่ฟังผู้วิจารณ์ คือ ศ. ดร. อานันท์ กาญจนพันธุ์ ได้ไม่ตลอด ก็ต้องออกเดินทางไปศาลายา เพื่อเป็นประธานการประชุมสภามหาวิทยาลัยมหิดล อ่านสรุปเรื่องนี้ที่สื่อมวลชนนำไปลงได้ที่นี่

 

งานวิจัยชุดนี้ความงามอยู่ที่ข้อมูล วิธีหาข้อมูล และการตีความ   และใช้การนำเสนอโดยมีผู้วิจารณ์ช่วยตีความ หาผู้วิจารณ์ที่แหลมคมมาช่วยตีความ   แต่ผมเสียดายที่สื่อมวลชนไทยไม่สามารถเก็บส่วนการตีความที่แหลมคมออกมาสื่อได้

 

หลังจากผมกลับแล้ว มีการนำเสนอเรื่องที่น่าสนใจทั้งสิ้น   โดยความน่าสนใจอยู่ในรายละเอียดของข้อมูล และอยู่ที่การตีความ    ผมเสียดายมาก ที่ไม่มีโอกาสฟัง    ผมปลอบใจตัวเองว่าชีวิตก็เป็นเช่นนี้เอง มีข้อจำกัดมากมาย

 

เรื่องถัดมาคือเรื่อง บริษัทกึ่งรัฐ-กึ่งธุรกิจ : กรณีศึกษาธุรกิจพลังงาน โดยนพนันท์ วรรณเทพสกุล   วิจารณ์โดย ดร. เดชรัต สุขกำเนิด   ซึ่งหัวข้อเต็มคือ องค์กรกึ่งรัฐกึ่งเอกชน อิทธิพลของธุรกิจพลังงานผ่านอำนาจเครือข่ายราชการ และชื่อเต็มของโครงการวิจัยคือ บริษัทกึ่งรัฐกึ่งเอกชน อำนาจและอิทธิพลในการสร้างความยิ่งใหญ่ของทุนพลังงานไทยหลังวิกฤต 2540

 

นสพ. กรุงเทพธุรกิจ นำสาระมาลงค่อนข้างได้รายละเอียด อ่านได้ที่นี่ ทำให้เราได้รับรู้ว่า ได้เกิดองค์กรแบบใหม่ขึ้นในสังคมไทย   ที่หลบหลีกการควบคุม และมีข้อได้เปรียบการแข่งขัน   เป็นคำอธิบายว่า ทำไมองค์กรกลุ่มนี้จึงโตพรวดพราด

 

อีกเรื่องหนึ่งคือ อิทธิพลท้องถิ่น กรณีศึกษาจังหวัดชลบุรี และ กรณีศึกษาจังหวัดสกลนคร ซึ่งเอกสารที่แจกเป็นบทคัดย่อของโครงการ โครงสร้างอำนาจและการสะสมทุนในจังหวัดชลบุรี โดย ชัยยนต์ ประดิษฐ์ศิลป   และเรื่อง โครงสร้างอำนาจท้องถิ่นในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดย ดร. สถาพร เริงธรรม

 

ผมสรุปกับตัวเองว่า ผลการวิจัยนี้บอกเราว่า ขบวนการสร้างความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยมีนวัตกรรม และความคล่องตัวสูงมาก   ในขณะที่ขบวนการลดความเหลื่อมล้ำยังไม่มีการทำงานอย่างเป็นระบบ หรือยังไม่มีขบวน

 

เช้าวันที่ ๑๖ ส.ค. ๕๕ ผมไปฟังเรื่อง การกระจุกตัวของความมั่งคั่งในสังคมไทย โดย ผศ. ดร. ดวงมณี เลาวกุล แห่งคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์   ที่ นสพ. นำไปลงข่าว ที่นี่ และวิทยุจุฬา ก็นำมาออกข่าวตอนเช้าวันที่ ๑๗ ส.ค. ด้วย    ผมได้เรียนรู้ว่าวิธีตรวจสอบความมั่งคั่งของบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลเขาดูที่การถือครอง ๓ อย่างคือ (๑) ที่ดิน  (๒) ทรัพย์สิน  และ (๓) หลักทรัพย์    แต่ผมเถียงความคิดนี้มานานแล้วสำหรับใช้เป็นทิศทางดำเนินชีวิตส่วนตัว    คือผมมองว่า ยังมีความมั่งคั่งอีก ๓ อย่างที่คนเราควรมุ่งสั่งสม ได้แก่ (๔) ทุนทางปัญญา  (๕) ทุนทางสังคม  และ (๖) อริยทรัพย์ คือทุนทางโมกษะ

 

งานวิจัยชุดนี้ดำเนินการได้เพราะสามารถเข้าถึงข้อมูลได้   แม้จะมี พรบ. ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. ๒๕๔๐ แต่หน่วยราชการจำนวนมากก็ยังอ้างความมั่นคงของชาติ เพื่อหลีกเลี่ยงการให้ข้อมูลสำหรับนำมาทำงานวิจัย   ท่านเล่าให้ผมฟังเรื่องพฤติกรรมของหอสมุดแห่งชาติ ที่ไม่ยอมให้ถ่ายเอกสารสำคัญบางฉบับ   แต่เมื่อมีผู้ใหญ่ไปขอ ก็ถ่ายให้โดยง่าย   ในสังคมไทย กฎหมายไม่สำคัญเท่าความสัมพันธ์ส่วนตัว หรือความสัมพันธ์เชิงอำนาจ   นี่ก็เป็นสาเหตุทางอ้อมให้เกิดการกระจุกตัวของความมั่งคั่ง

 

ผมฟัง ดร. ดวงมณีไม่จบก็ต้อรีบเดินทางไปศิริราช เพื่อไปตรวจตาตามที่หมอนัด   จึงไม่ได้ฟังเรื่อง เครือข่ายอำนาจทักษิณ โครงสร้าง บทบาท และพลวัต โดยอุกฤษฏ์ ปัทมานันท์ (ซึ่ง นสพ. นำไปลงข่าวที่นี่)   และเรื่อง การปฏิรูประบบภาษีเพื่อสังคมไทยเสมอหน้า โดย ดร. ปัณณ์ อนันอภิบุตร หัวหน้าฝ่ายพัฒนาโครงสร้างภาษี สำนักนโยบายภาษี สศค.  ที่เสนอปรับ ๔ เรื่อง คือ (๑) ระบบการส่งเสริมการลงทุน  (๒) การลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา  (๓) มาตรการ เงินโอนแก้จนคนขยัน  (๔) ภาษีความมั่งคั่ง

 

เรื่องของคุณทักษิณนี้ วิทยุจุฬา เช้าวันที่ ๑๗ ส.ค. ๕๕ ออกข่าว เว็บไซต์ข่าวอิสระของอิหร่าน วิจารณ์รัฐบาลโอบามา ที่สนับสนุนทักษิณ   ผมค้นข่าวได้ที่นี่ ขบวนการทักษิณเป็นขบวนการลดหรือเพิ่มความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย?

 

 

วิจารณ์ พานิช

๑๗ ส.ค. ๕๕