บันทึกชุด "สอนอย่างมือชั้นครู" ๓๔ ตอน ชุดนี้ ตีความจากหนังสือ Teaching at Its Best : A Research-Based Resource for College Instructors เขียนโดย Linda B. tags/Nilson">Nilson ซึ่งเป็นฉบับพิมพ์ปรับปรุงครั้งที่ ๓ ผมขอเสนอให้อาจารย์ในสถาบันการศึกษาไทยทุกคน หาหนังสือเล่มนี้อ่านเอง เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ เพราะหากติดตามอ่านจากบันทึกใน บล็อก ของผม ซึ่งลงสัปดาห์ละตอน จะใช้เวลากว่าครึ่งปี และการอ่านบันทึกของผมจะแตกต่างจากการอ่านฉบับแปล หรืออ่านจากต้นฉบับโดยตรง เพราะบันทึกของผมเขียนแบบตีความ ไม่ได้ครอบคลุมสาระทั้งหมดในหนังสือ

ตอนที่ ๒๐ นี้ ตีความจาก Part Four : More Tools : Teaching Real-World Problem Solving มี ๕ บท ตอนที่ ๒๐ ตีความจากบทที่ 19. The Case Method

สรุปได้ว่า การเรียนจากกรณีศึกษา เป็นการเรียนแบบที่นักศึกษาลงมือแก้ปัญหาจากเรื่องในกระดาษ ซึ่งอาจเป็นเรื่องที่มีความซับซ้อนมากน้อยแล้วแต่วัตถุประสงค์ของการเรียนรู้ เรื่องดังกล่าวต้องมีความสมจริง และท้าทายให้นักศึกษาตั้งใจหาทางออก หลังจากทำโจทย์แล้ว ต้อง debrief/reflect เพื่อทำความเข้าใจให้ชัดยิ่งขึ้น

การเรียนจากกรณีตัวอย่าง/กรณีศึกษา ช่วยให้นักศึกษาได้ฝึกคิดในระดับสูง จากสถานการณ์ในชีวิตจริง หากคำนึงถึงระดับของการลงมือทำของนักศึกษา ที่การเรียนแบบฟังการบรรยายอยู่ที่ขั้วต่ำสุด และการเรียนแบบรับใช้สังคม หรือแบบสวมบทบาท อยู่ที่ขั้วสูงสุด การเรียนจากกรณีตัวอย่างอยู่ที่ระดับกลางๆ

นักศึกษาจะได้รับกรณีตัวอย่างเป็นข้อเขียน หรือในบางกรณีอาจเป็นวีดิทัศน์ของการแสดง

หัวใจคือ ในการเรียนแบบนี้ นักศึกษาได้ฝึกคิดแก้ปัญหา ตามสภาพความเป็นจริงในสังคม หรือในชีวิตจริง ที่มีความซับซ้อนมาก เรื่องต่างๆ ไม่ตรงไปตรงมา ผลลัพธ์การเรียนรู้จะอยู่ในระดับสูง ที่การพัฒนาทักษะการประยุกต์ใช้ความรู้ ทักษะการวิเคราะห์ ทักษะการสังเคราะห์ และทักษะการประเมิน


ประสิทธิผลของการเรียนจากกรณีตัวอย่าง

การเรียนจากกรณีตัวอย่าง ให้ผลดีดังต่อไปนี้

  • ทำให้นักศึกษาต้องตั้งใจทำโจทย์ หรือตั้งใจเรียน
  • ช่วยให้เข้าใจสภาพจริงในโลกหรือชีวิต
  • ฝึกการแก้ปัญหาในสภาพที่ไม่แน่นอน มีความเสี่ยง และทางเลือกหลายทางอยู่ตลอดเวลา
  • ฝึกการคิดระดับสูง
  • เชื่อมโยงสู่ประเด็นเชิงจริยธรรมที่เกิดจากการตัดสินใจ
  • ได้ฝึกทั้งการคิดแบบอุปนัย (inductive) และแบบนิรนัย (deductive) โดยที่การเรียนโดยทั่วๆ ไปในระดับอุดมศึกษา ได้ฝึกเฉพาะการคิดแบบนิรนัยเท่านั้น
  • ใช้สำหรับมอบหมายงานเขียน เป็นโจทย์สำหรับการอภิปรายกลุ่ม หรือการทำงานกลุ่ม อย่างอื่นได้
  • ดึงดูดนักศึกษาเข้าชั้นเรียน
  • เพิ่มทัศนคติที่ดีของนักศึกษาต่อการเรียน และเพิ่มทัศนคติที่ดีของอาจารย์ต่อการสอน
  • เพิ่มผลลัพธ์การเรียนรู้ของนักศึกษา

อย่างไรก็ตาม ผลลัพธ์ที่ได้ ขึ้กับลักษณะของ วิธีเขียนกรณีตัวอย่างด้วย วิธีเขียนที่ดีคือใส่ตัวนักศึกษา เข้าไปในเรื่อง ให้นักศึกษารู้สึกสมจริง รู้สึกว่าตนมีส่วน และวิธี sequential interactive จะยิ่งสมจริงยิ่งขึ้น เกือบเหมือนนักศึกษาเป็นผู้ลงมือทำจริงๆ


สาขาวิชาที่เหมาะสมต่อการเรียนจากกรณีตัวอย่าง

กล่าวได้ว่า การเรียนจากกรณีตัวอย่างใช้ได้กับทุกสาขาวิชา โดยที่การศึกษาด้านวิชาชีพเป็นผู้ริเริ่มและ ใช้กันกว้างขวาง เพราะต้องฝึกความเคยชินกับสถานการณ์หรือบริบทที่มีความซับซ้อนมาก ในการประยุกต์ใช้ ความรู้ สาขาวิชากฎหมาย และบริหารธุรกิจ ใช้มาก คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ถึงกับสร้าง หลักสูตรทั้งหลักสูตร ด้วยวิธีเรียนรู้จากกรณีตัวอย่าง และตั้งสำนักพิมพ์เผยแพร่กรณีตัวอย่าง สาขาอื่นๆ ที่ใช้มากได้แก่ แพทยศาสตร์ พยาบาลศาสตร์ จิตวิทยาคลินิก บริหารการศึกษา บริหารวัด (คริสต์)

วิศวกรรมศาสตร์หลายสาขาใช้วิธีการนี้ รวมทั้งสาขาด้านศิลปะและวิทยาศาสตร์ ได้แก่ ประวัติศาสตร์ดนตรี ปรัชญา เศรษฐศาสตร์ รัฐศาสตร์ สังคมวิทยา จิตวิทยา ชีววิทยา และวิธีวิทยา ทางวิทยาศาสตร์ มีเว็บไซต์รวมรวมกรณีศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ที่http://ublib.buffalo.edu/libraries/projects/cases/case.html

การใช้กรณีตัวอย่างในการฝึกอบรมอาจารย์ และผู้ช่วยสอน มีประโยชน์มาก เช่นกรณีตัวอย่างเรื่อง การลองดีต่อผู้มีอำนาจ ปฏิกิริยาก้าวร้าวรุนแรงต่อสาระการเรียนรู้ที่อ่อนไหวต่อความรู้สึก การกล่าวหาว่า มีการแบ่งแยกและปฏิบัติอย่างไม่เท่าเทียมกัน ข้อโต้แย้งกรณีการตัดเกรด และการทุจริต และ ความยุ่งยาก ในการเริ่มใช้เทคนิกหรือเทคโนโลยีใหม่


กรณีตัวอย่างที่ดีเป็นอย่างไร

กรณีตัวอย่างที่ดีอาจเขียนในลักษณะเรื่องราวของบุรุษที่สอง หรือบุรุษที่สาม และอาจเป็นเรื่องใน ปัจจุบันหรือในอดีต จะสั้นยาวแค่ไหนก็ได้ ที่สำคัญคือ ต้องมีคุณสมบัติต่อไปนี้


สมจริง

ไม่ว่าจะเป็นเรื่องจริง หรือเรื่องสมมติ ต้องสอดคล้องกับความเป็นจริงในปัจจุบัน ที่นักศึกษาสามารถ นำตัวเข้าไปร่วม การเขียนเรื่องให้สมจริงต้องมีรายละเอียดเชิงเทคนิก มีบุคลิกลักษณะของตัวละคร มีบริบทที่สมจริง มีประวัติศาสตร์เชื่อมโยงสู่ปัจจุบัน หรือเชื่อมโยงกับกระบวนการตัดสินใจ


ให้โอกาสสังเคราะห์

กรณีตัวอย่างควรเปิดโอกาสให้นักศึกษาสั่งสมความรู้เกี่ยวกับเรื่องนั้นไปสู่การวิเคราะห์ปัญหาเพื่อคิดหาทางออก หากไม่ใส่รายละเอียดให้นักศึกษาฝึกทบทวนสถานการณ์ นักศึกษาอาจหลงลืมความรู้พื้นฐานในการ ตัดสินใจในกิจกรรมวิชาชีพ


มีความไม่แน่นอน

กรณีศึกษาควรมีความซับซ้อน เปิดช่องให้มีทางออกได้หลายทาง หรือให้มีข้อถกเถียงได้ แม้จะมีทางเลือกได้หลายทาง อาจารย์ควรให้นักศึกษาเลือกทางใดทางหนึ่ง และให้คำอธิบายว่าทำไม จึงเลือกทางออกนั้น หรืออาจให้เรียงลำดับทางเลือก

ความไม่แน่นอนของทางเลือก อาจเกิดจากองค์ความรู้ที่ต่างกัน หรือเกิดจากสารสนเทศที่ไม่ครบถ้วน หรือเกิดจากวิธีมองปัญหาแตกต่างกัน


มีความเสี่ยง

ทางเลือกของนักศึกษาต้องมีความสำคัญ เช่นมีผลให้ตัวละครตกงานหรือเสียชีวิต หรือทำให้บริษัทล้มละลาย หรือแพ้คดี


ชนิดของกรณีตัวอย่าง

ข้อเขียนกรณีตัวอย่าง อาจสั้นมากๆ มีเพียงสองสามประโยค ไปจนถึงยาวมาก มีชนิดต่างๆ ดังนี้

  • Bullet case มีเพียงสองสามประโยค เพื่อบอกประเด็นวิชาการ เพื่อเป็นหัวข้อสำหรับ อภิปราย หรือเพื่อให้เขียนเรียงความสั้นๆ
  • Minicase มีสองสามย่อหน้า ถ้าเขียนแบบละคร ที่แสดงในสองสามนาที เรียกว่า vignette กรณีศึกษาที่มีความยาวจะทำให้มีประเด็นโต้แย้งได้มากขึ้น อาจารย์อาจเขียนมีทางเลือกได้ ๔ - ๕ ทางเลือก คล้ายๆ ข้อสอบหลายตัวเลือก ให้นักศึกษาเลือกพร้อมเหตุผลหรือคำอธิบาย กรณีศึกษาอาจยาวหลายหน้า กรณีศึกษาของคณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด อาจยาวถึง ๔๐ หน้า
  • Continuous case เล่าเรื่องราวเป็นตอนๆ เดินเรื่องตามเวลาจริง หรือย่นเวลา ช่วยให้ เรื่องราวสมจริงมากขึ้น เช่นนักศึกษาแพทย์ หรือนักศึกษาพยาบาล ศึกษาเรื่องของผู้ป่วย ที่อาการโรค หรือการตั้งครรภ์ เปลี่ยนแปลงไปตามเวลา
  • Sequential-interactive case ให้ข้อมูลเบื้องต้น แล้วให้นักศึกษาถามหรือขอข้อมูลเพิ่ม เป็นช่วงๆ โดยนักศึกษาทำหน้าที่เป็นผู้ตัดสินใจ


การทบทวนไตร่ตรองหลังศึกษากรณีตัวอย่าง (Debriefing)

การศึกษากรณีตัวอย่างจะนำไปสู่การเรียนรู้อย่างลึกตามเป้าหมายได้ อาจารย์ต้องจัดเวลาให้นักศึกษา ทบทวนไตร่ตรอง (debriefing/reflection/AAR) โดยอาจารย์ตั้งคำถามที่ท้าทายให้นักศึกษาคิดระดับสูง อันได้แก่การประยุกต์ วิเคราะห์ สังเคราะห์ และประเมินอย่างจริงจัง ต่อทางเลือกของนักศึกษา ในกรณีนี้ ทักษะในการตั้งคำถามที่ดี มีผลมากต่อการเรียนรู้ของนักศึกษา

วิธีตั้งคำถามแบบ "ปัญหา - ทางแก้ - วิธีป้องกัน" เป็นแนวทางง่ายๆ เช่นถามว่า "ปัญหาคืออะไร" "ทางแก้เป็นอย่างไร" "วิธีป้องกันไม่ให้เกิดปัญหานี้เป็นอย่างไร" อาจารย์สามารถใส่ลูกเล่นในการตั้งคำถาม ได้มากมาย เพื่อให้นักศึกษาเกิดการเรียนรู้ตามเป้าหมาย และในระดับสูง

การทบทวนไตร่ตรองนี้อาจทำทั้งชั้น หรือให้ทำเป็นกลุ่มย่อย หากให้ทำเป็นกลุ่มย่อย อาจให้ตัวแทนกลุ่มรายงานต่อชั้น


คำแนะนำต่อนักบุกเบิก

สำหรับสาขาวิชาที่ไม่ค่อยมีคนใช้กรณีศึกษา การริเริ่มขึ้นเองไม่มีความเสี่ยงที่น่ากังวล โดยทั่วไปนักศึกษาชอบ เพราะสนุกและได้ความรู้ดี ประเด็นสำคัญคือคุณภาพของกรณีศึกษา ซึ่งเมื่อยกร่าง อาจให้เพื่ออาจารย์ช่วยอ่านและให้ความเห็นเพื่อปรับปรุง

เมื่อเวลาผ่านไป ควรปรับปรุงกรณีศึกษาให้ดียิ่งขึ้น


วิจารณ์ พานิช

๔ ก.ย. ๕๗