บ่ายวันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๘ ผมร่วมประชุมคณะกรรมการธนาคารไทยพาณิชย์ ที่มีเรื่องคดีฉ้อโกงเงิน ของสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) เข้าสู่การประชุม ใช้เวลามาก มีประเด็นถกเถียงมากกว่าจะเลิกประชุมก็ปาเข้าไปเกือบ ๑ ทุ่ม

ทำให้ผมได้เรียนรู้วิธีคิด เพื่อดำรงฐานะธนาคารชั้นดีของสังคม

ท่านที่ต้องการทราบเรื่องเดิมอ่านได้ที่ จะเห็นว่า ทางธนาคารก็งงอยู่นานหลายวัน

ที่จริงศาลฎีกาเคยตัดสินไว้เป็นบรรทัดฐาน ว่าธนาคารมีหน้าที่ดูแลปกป้องเงินของผู้ฝาก หากพบว่าเกิดความเสียหาย ต่อผู้ฝาก จากการฉ้อโกงที่มีเจ้าหน้าที่ของธนาคารเกี่ยวข้องด้วย ไม่ว่าโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ต้องถือว่าเป็นความบกพร่อง ของธนาคาร และธนาคารต้องรับผิดชอบต่อเจ้าของบัญชีผู้ฝากทรัพย์

หลังจากถกเถียงกันนานมาก คณะกรรมการธนาคารไทยพาณิชย์ก็ลงมติว่า ธนาคารยอมรับว่าธนาคารทำงานบกพร่อง ปล่อยให้พนักงานของธนาคารถอนเงินออกจากบัญชีของ สจล. โดยไม่ถูกเงื่อนไข รวมทั้งร่วมกระทำการอย่างอื่นที่ไม่ถูกต้อง ที่ตำรวจจะเป็นผู้เปิดเผย จึงยินยอมชดใช้เงิน ๑,๕๐๐ ล้านบาทแก่ สจล. โดยทำความตกลงกับ สจล. ว่า หากพบหลักฐาน ในภายหลังว่า เงินของ สจล. สูญหายไปมากกว่า ๑,๕๐๐ ล้านบาท สจล. ก็จะไม่เรียกร้องเพิ่ม แต่ถ้าหากพบว่า สจล. สูญเงินไปไม่ถึง ๑,๕๐๐ ล้านบาท ธนาคารไทยพาณิชย์จะได้รับเงินส่วนต่างคืนพร้อมดอกเบี้ย

นอกจากนั้น ทั้งสองฝ่ายจะตกลงกันโอนสิทธิในการดำเนินการคดีแพ่งต่อผู้ทำผิดให้แก่ธนาคารไทยพาณิชย์ เพื่อเรียกเอา เงินที่ฉ้อโกงไปกลับคืน โปรดอ่านข่าวชิ้นที่ จะเห็นว่า ตำรวจน่าจะได้ตัวหัวหน้าใหญ่ของขบวนการฉ้อโกงนี้แล้ว

ผมได้เรียนรู้ว่า ธนาคารมีความรับผิดชอบต่อผู้ฝากทรัพย์ ทั้งทางกฎหมายและทางจริยธรรม หากมีมิจฉาชีพมาขโมย หรือฉ้อโกงทรัพย์นั้นไปได้ ไม่ว่าโดยวิธีใดๆ หรือทรัพย์นั้นสูญเสียไปไม่ว่าด้วยเหตุใด ธนาคารจะต้องรับผิดชอบ เพราะผู้ฝาก ทรัพย์นำไปฝากเพราะเชื่อถือว่าทรัพย์นั้นจะได้รับความคุ้มครองอย่างดี ช่วงนี้ธนาคารไทยพาณิชย์จึงคล้ายๆ จะอยู่ในช่วง "เคราะห์ซ้ำกรรมซัด" คือเกิดอุบัติเหตุไฟไหม้ด้วยแต่คณะกรรมการกลับมองว่า นี่คือ "พรที่แฝงตัวมา" (blessing in disguise) เพื่อให้ธนาคารเรียนรู้ ปรับตัว และเข้มแข็งยิ่งขึ้น

ผมแถมในใจว่า เป็นโอกาสแสดง CSR – Corporate Social Responsibility ว่าธนาคารรับผิดชอบต่อสังคม ในฐานะที่ได้รับความไม้วางใจนำทรัพย์มาฝากไว้

แต่คณะกรรมการธนาคารก็ต้องรับผิดชอบต่อผู้ถือหุ้นด้วย โดยเฉพาะต่อผู้ถือหุ้นรายย่อย ว่าได้ดำเนินธุรกิจอย่าง ระมัดระวัง เพื่อประโยชน์ของผู้ถือหุ้น คณะกรรมการได้ปรึกษากันอย่างรอบคอบ ว่าการยอมรับผิดชอบในครั้งนี้ สมเหตุสมผล และเป็นการรักษาผลประโยชน์ของธนาคารอย่างดีที่สุดแล้ว


วิจารณ์ พานิช

๒๔ ก.พ. ๕๘