ผมได้รับเชิญให้พูด keynote เรื่อง University as a Prime Mover Towards a Prosperous and Sustainable Society ในวันที่ ๑๐ กรกฎาคม ๒๕๕๘ ซึ่งจะนำ Narrated Ppt มา ลปรร. ในวันที่ ๑๗ สิงหาคม วันนี้ขอนำประเด็นมหาวิทยาลัยกับการส่งเสริมความดีงาม ที่ผมนำเสนอในวันนั้น มาเล่าก่อน

ผมเสนอว่ามหาวิทยาลัยต้องยืนหยัดทำหน้าที่ค้ำจุนความดีงามในสังคม ต้องทำหน้าที่นี้ในเชิงรุก และทำอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ

สาระคือ จัดวันทบทวนการปฏิบัติตามจริยธรรม (จรรยาบรรณ) ประจำปี ที่ผมขอแนะนำชื่อว่า วันพิทักษ์ความดีงาม เน้นการดำเนินการ เชิงบวกหรือสร้างสรรค์ ไม่มุ่งร้าย กล่าวโทษ หรือลงโทษตัวบุคคล หลีกเลี่ยงการเสียดสีซึ่งเป็นการกระทำ เชิงลบ การดำเนินการควรทำหลายระดับในวันเดียวกัน และสื่อสารต่อประชาคมของมหาวิทยาลัยนั้นๆ และต่อสังคมวงกว้าง

ควรดำเนินการทั้งในระดับมหาวิทยาลัย วิทยาเขต และคณะวิชา เพื่อแสดงจุดยืนดำรงความมี จริยธรรม และรับผิดชอบต่อสังคม ถือเป็นกิจกรรม USR (University Social Responsibility) อย่างหนึ่ง ที่ดำเนินการอย่างจริงใจ เพื่อประโยชน์ด้านบ่มเพาะคุณธรรมในจิตใจ (ของนักศึกษา อาจารย์ คนมหาวิทยาลัย และคนไทยทั้งมวล) อย่างแท้จริง ไม่ใช่ทำเอาหน้าหรือเอาแต้ม

สาระของการประชุมที่ผมขอเสนอคือ นำเอาข้อกำหนดจรรยาบรรณของมหาวิทยาลัยมาทบทวนร่วมกัน ว่าในภาพใหญ่มหาวิทยาลัย/วิทยาเขต/คณะ ได้ธำรงความเข้มแข็งในการยึดมั่นคุณธรรม จริยธรรม และจรรยาบรรณ อย่างไรบ้างใน ๑ ปีที่ผ่านมา เปรียบเทียบกับ ๕ ปีที่ผ่านมา สถานะเป็นอย่างไร นี่คือการทบทวนภาพรวม และเน้นที่ความเข้มแข็งหรือด้านบวก

ตามด้วยการทบทวนด้านที่ควรปรับปรุง มองในภาพใหญ่หรือภาพรวมของมหาวิทยาลัย ตามด้วยการ ทบทวนประเด็น ที่ท้าทายต่อมหาวิทยาลัย/วิทยาเขต/คณะ เป็นพิเศษ ว่าสถานภาพเป็นอย่างไร ในปีต่อไปจะมี การดำเนินการอะไร เพื่อบรรลุผลอะไร ในประเด็นนั้นๆ (ควรเลือกที่สำคัญสูงสุด ๒ - ๓ ประเด็น อย่าทำมากประเด็นจนเฝือ)

ในการประชุมทุกระดับ ควรมีตัวแทนของนักศึกษาเข้าร่วมด้วย ๑ - ๒ คน เพื่อฟังมุมมองของนักศึกษา และเพื่อให้นักศึกษารับประเด็นไปจัดดำเนินการเชิงรุกและเชิงบวกด้วยตนเอง เพื่อประโยชน์ในการกล่อมเกลา ยกระดับจิตใจของตนเอง ซึ่งจะเป็นคุณอย่างยิ่งต่อชีวิตอนาคต

เป้าหมายคือ ให้มีการทำความเข้าใจความแตกต่างระหว่างพฤติกรรมดี กับพฤติกรรมชั่ว และผลที่จะ เกิดแก่ชีวิตหากหลงทำพฤติกรรมชั่วโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ รวมทั้งเพื่อสะกดพฤติกรรมชั่วแบบแฝง ที่มากับผล ประโยชน์ของคนกลุ่มน้อย แต่ก่อความเสียหายต่อชื่อเสียงของส่วนรวม

แต่ทั้งหมดนั้น ทำแบบนิ่มนวล ใช้ท่าทีและวิธีการเชิงบวกเชิงสร้างสรรค์ ไม่มุ่งลงโทษใคร การลงโทษจะแยกไปที่กรณีที่เกิดเหตุการณ์ขึ้นในเวลานั้นๆ ไม่เอามาเกี่ยวข้องกับวันพิพักษ์ความดีงาม

วิจารณ์ พานิช

๑๒ ก.ค. ๕๘