ในการสัมมนา “สุนทรียสาธกเพื่อการจัดการเรียนการสอน Transformative Learning” ที่ คณะ แพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร เมื่อวันที่ ๓ สิงหาคม ๒๕๕๘ มีคนเอ่ยเปรียบเทียบระบบสุขภาพเหมือน แผ่นดิน นักศึกษาแพทย์และนักศึกษาบุคลากรสุขภาพอื่นๆ เสมือนต้นไม้ ที่ต่อไปจะไปงอกงามในพื้นดิน และจะก่อการเปลี่ยนแปลงแก่ดินได้ด้วย

นี่คือหลักการสำคัญของการศึกษาสำหรับบุคลากรสุขภาพในศตวรรษที่ ๒๑ เราต้องเตรียมฝึกนักศึกษา ให้เติบโตไปทำงานไม่เฉพาะด้านวิชาชีพเกี่ยวกับการดูแลผู้ป่วย สร้างเสริมสุขภาพ และป้องกันโรค เท่านั้น แต่ต้องเตรียมความพร้อมทักษะในการไปร่วมกับบุคลากรสุขภาพอื่นๆ ในการสร้างการเปลี่ยนแปลง หรือพัฒนา ระบบสุขภาพด้วย

นี่คือเหตุผลหนึ่ง ที่การศึกษาทุกระดับ ต้องเน้นให้เป็น Transformative Learning คือให้พัฒนาทักษะ ภาวะผู้นำ เพื่อให้ผู้เรียนสำเร็จการศึกษา ออกไปเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง (change agent) ในระบบสุขภาพ หรือระบบอื่นๆ ที่ตนไปทำงานและใช้ชีวิต

มนุษย์ทุกคนในศตวรรษที่ ๒๑ ต้องเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง ร่วมกันสร้างการเปลี่ยนแปลงไปใน ทางที่ดีขึ้น เหมาะสมยิ่งขึ้น ให้แก่ชุมชน สังคม และแก่โลก



วิจารณ์ พานิช

๔ ส.ค. ๕๘