Thaiihdc.org

  • เพิ่มขนาดตัวอักษร
  • ขนาดตัวอักษรปกติ
  • สดขนาดตัวอักษร
Home > Articles > การบริหารการจัดการ > อนาคต Startup และการบ่มเพาะธุรกิจ

อนาคต Startup และการบ่มเพาะธุรกิจ

พิมพ์ PDF

อนาคต Startup และการบ่มเพาะธุรกิจ

แหล่งที่มาของภาพ : http://trak.in/wp-content/uploads/2012/03/startup-incubators.jpg

เมื่อไม่นานมานี้ ผมได้รับเชิญไปกล่าวปาฐกถาเปิดการประชุม International Congress of Business Incubators ที่ประเทศสเปน โดยสหภาพยุโรป (European Union) ได้มอบหมายให้ Chamber Institute for Business Creation and Development ซึ่งก่อตั้งโดยหอการค้าของประเทศสเปน เป็นผู้ดำเนินการ โดยเชิญ business incubators ชั้นนำจากทั่วโลกเข้าร่วมประชุม ผมขอนำเนื้อหาบางส่วนของปาฐกถานี้มาเล่าให้ฟัง

​ธุรกิจเริ่มใหม่หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า Startup คือ บริษัทเปิดใหม่ที่เริ่มจากคนเพียงไม่กี่คน ที่มุ่งหวังให้กิจการเติบโตอย่างรวดเร็วแบบก้าวกระโดด โดยมีแผนธุรกิจ มีทีมงาน และมีนักลงทุนมาร่วมกันดำเนินการ ในส่วนของการบ่มเพาะธุรกิจ (Business incubation) หมายถึง กิจกรรมการพัฒนาธุรกิจรูปแบบหนึ่งซึ่งช่วยลดอัตราความล้มเหลวในช่วงเริ่มต้นธุรกิจ ช่วยส่งเสริมความเป็นผู้ประกอบการผ่านการนำเสนอผลงานวิจัยด้านเทคโนโลยี สิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมในสาขาต่างๆ ที่สร้างขึ้น อันมีศักยภาพในเชิงพาณิชย์ เป็นตัวขับเคลื่อนธุรกิจใหม่ ให้เติบโตเป็นบริษัทเต็มรูปแบบ (spin-off company) ที่ส่งผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศต่อไปอย่างยั่งยืน

ปัจจุบันศูนย์บ่มเพาะธุรกิจทั่วโลกที่มีประมาณ 9,000 แห่ง สามารถดูแลธุรกิจใหม่ได้ 2.7 ถึง 3.6 แสนรายเท่านั้นซึ่งน้อยมากเมื่อเทียบกับผู้ประกอบการใหม่ที่จะเกิดขึ้นอีก 600 ล้านคนใน 5 ปีข้างหน้า ในการกล่าวปาฐกถานี้ ผมจึงได้ฉายภาพอนาคตของเศรษฐกิจโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลง โดยผมได้วิเคราะห์แนวโน้มของธุรกิจเริ่มใหม่และการบ่มเพาะธุรกิจ ซึ่งน่าจะเป็นประโยชน์สำหรับผู้ประกอบการ ผู้ที่ต้องการเริ่มต้นธุรกิจใหม่ รวมทั้งผู้ปฏิบัติงานในกระบวนการบ่มเพาะธุรกิจชาวไทยด้วย

แนวโน้มประการที่ 1 การเกิดธุรกิจใหม่จะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

จำนวนของผู้ประกอบการและธุรกิจใหม่ จะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว การคาดการณ์ระบุว่า ผู้ประกอบการจะเพิ่มขึ้นจาก 400 ล้านคน ในปี 2555 (1 คนต่อประชากรโลก 19 คน) เป็น 1 พันล้านคน ในปี 2563 (2.3 คนต่อประชากรโลก 19 คน) โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ที่จะกลายเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจโลกในศตวรรษที่ 21 จะมีตลาดเกิดใหม่ ที่มีขนาดเศรษฐกิจแซงหน้าประเทศพัฒนาแล้ว จึงส่งผลให้เกิดการขยายตัวของธุรกิจใหม่ และการบ่มเพาะธุรกิจในตลาดเกิดใหม่ นอกจากนี้ การบ่มเพาะธุรกิจในตลาดเกิดใหม่จะมีโอกาสให้ผลตอบแทนการลงทุนที่สูงกว่า โดยเฉพาะการบ่มเพาะธุรกิจใหม่ด้านเทคโนโลยี (ซึ่งมีค่าใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนาสูง) จะมีโอกาสคุ้มทุนมากกว่า เพราะเป็นการลงทุนเพื่อผลิตสินค้าสำหรับตลาดที่มีขนาดใหญ่

แนวโน้มประการที่ 2 เกิดความต้องการธุรกิจใหม่ที่ให้ผลตอบแทนเร็วขึ้น

การพัฒนาความรู้อย่างรวดเร็วในอนาคต จะทำให้เกิดการพัฒนานวัตกรรมและผลิตภัณฑ์ใหม่อย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง ส่งผลทำให้อายุของผลิตภัณฑ์ (product life cycle) สั้นลง ด้วยเหตุนี้ นักลงทุนจึงต้องการผลตอบแทนการลงทุนที่เร็วขึ้น คือได้รับผลตอบแทนภายใน 3-5 ปี ไม่ใช่ 5-10 ปี นักลงทุนจึงมองหาโครงการที่จะให้ผลตอบแทนจากการลงทุน (ROI) สูง ซึ่งต้องเป็นโครงการที่มีคุณภาพสูง

การบ่มเพาะธุรกิจในอนาคต จำเป็นต้องขยายขอบเขตของบริการบ่มเพาะธุรกิจให้กว้างขึ้น จากเดิมที่เน้นการบ่มเพาะธุรกิจในช่วงเริ่มต้นธุรกิจ อาจต้องขยายไปสู่ช่วงที่ธุรกิจใกล้จะผลิตสินค้าเข้าสู่ตลาดมากขึ้น ศูนย์บ่มเพาะธุรกิจยังจำเป็นต้องแสวงหาองค์ความรู้จากภายนอก โดยการร่วมมือกับองค์กรและบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญหลากหลายมากขึ้น

แนวโน้มประการที่ 3 ธุรกิจใหม่จะเปลี่ยนแปลงไปสู่ธุรกิจอิเล็กทรอนิกส์

แนวโน้มการทำธุรกิจบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ตหรือธุรกิจอิเล็กทรอนิกส์ขยายตัวสูง เนื่องจากจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยมีการคาดการณ์ว่า ธุรกิจดิจิทัลจะมีส่วนแบ่งตลาดถึงร้อยละ 70 ของจีดีพีโลก ในปี 2573 ด้วยเหตุนี้ การทำธุรกิจบนเครือข่ายออนไลน์ จึงกลายเป็นกลยุทธ์สำคัญของการแข่งขันในเวทีเศรษฐกิจโลก แม้ว่าการผลิต การทำตลาด และการกระจายสินค้าและบริการแบบออนไลน์ เป็นวิธีดำเนินธุรกิจที่มีต้นทุนต่ำ แต่ประเด็นสำคัญ คือ ศูนย์บ่มเพาะธุรกิจที่มีความสามารถในการพัฒนาธุรกิจอิเล็กทรอนิกส์ยังมีจำกัด สังเกตได้จากผู้ที่ให้บริการบ่มเพาะธุรกิจแบบเสมือนจริง (virtual business incubators) ยังมีอยู่น้อยมาก โดยมีเพียงประมาณ 65 แห่ง จากศูนย์บ่มเพาะธุรกิจทั่วโลกประมาณ 9,000 แห่ง

ศูนย์บ่มเพาะธุรกิจแบบเสมือนจริง คือศูนย์ที่จะทำให้ธุรกิจใหม่สามารถรับบริการบ่มเพาะธุรกิจได้กว้างขวางมากขึ้น โดยไม่ถูกจำกัดด้วยตำแหน่งที่ตั้งของธุรกิจ และทำให้ศูนย์บ่มเพาะธุรกิจสามารถสร้างความร่วมมือกับศูนย์บ่มเพาะธุรกิจอื่นและองค์กรอื่นๆ ได้กว้างขวางมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลทำให้การบ่มเพาะธุรกิจมีโอกาสประสบความสำเร็จมากขึ้น

การปรับตัวไปสู่การบ่มเพาะธุรกิจแบบเสมือนจริง จะทำให้เกิดรูปแบบของการบ่มเพาะธุรกิจแบบเปิด (open incubation) ซึ่งจะช่วยให้ผู้ประกอบการมีต้นทุนลดลงในการเริ่มต้นธุรกิจใหม่ เพราะจะช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงบริการบ่มเพาะธุรกิจได้ง่ายขึ้น เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้น และมีทางเลือกในการระดมทุนมากขึ้น รวมทั้งทำให้ง่ายต่อการใช้ทรัพยากรร่วมกับธุรกิจอื่น เพราะดำเนินการบนฐานของนวัตกรรมการร่วมธุรกิจใหม่ๆ อาทิ แพลตฟอร์มความร่วมมือบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ต (collaboration platforms) การบริการในระบบคลาวด์ (cloud services) การระดมทุนจากมวลชนในระบบคราวด์ (crowd funding) ฯลฯ

จะเห็นได้ว่า แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของธุรกิจใหม่ และการบ่มเพาะธุรกิจดังกล่าวข้างต้น เป็นทั้งโอกาสและภัยคุกคามสำหรับธุรกิจในประเทศไทย การปรับตัวให้มีความพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น และการสร้างธุรกิจให้มีคุณภาพจะเป็นตัวรับประกันว่า ธุรกิจใหม่จะสามารถแข่งขันได้ในอนาคต สำหรับแนวโน้มของธุรกิจใหม่และการบ่มเพาะธุรกิจในประเด็นที่เหลืออยู่ ผมจะนำเสนอในบทความต่อไป

บทความที่แล้ว ผมได้กล่าวถึงเนื้อหาบางส่วนที่ผได้กล่าวปาฐกถาเปิดการประชุมนานาชาติ “International Congress of Business Incubators” โดยการสนับสนุนของสหภาพยุโรป ณ ประเทศสเปน ซึ่งผมได้ฉายภาพของธุรกิจใหม่และการบ่มเพาะธุรกิจในอนาคต 3 ด้าน คือ การเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของธุรกิจใหม่ ความต้องการธุรกิจใหม่ที่ให้ผลตอบแทนเร็วขึ้น และการเปลี่ยนแปลงสู่ธุรกิจอิเล็กทรอนิกส์ ในบทความตอนนี้ ผมจะกล่าวถึงแนวโน้มที่เหลืออยู่อีก 4 ประการ
แนวโน้มประการที่ 4 การดำเนินธุรกิจข้ามวัฒนธรรมมากขึ้น
องค์กรธุรกิจจะต้องเผชิญการแข่งขันในตลาดโลกมากขึ้น และต้องดำเนินงาน ใน สภาพแวดล้อมระดับโลก เพราะพรมแดนการค้าได้ถูกลดทอนลงไปทุกขณะการบ่มเพาะธุรกิจจึงต้องให้ความสำคัญกับการ พัฒนาความสามารถในการดำเนินธุรกิจและแข่งขันได้ในตลาดระหว่างประเทศโดยการพัฒนาผู้ประกอบการ ให้มีความรู้เกี่ยวกับค่านิยม และวัฒนธรรมร่วมของโลก กฎ ระเบียบ และมาตรฐานโลก รวมถึงแนวโน้มความต้องการและรสนิยมของผู้บริโภคในโลก
องค์กรธุรกิจต้องทำงานข้ามวัฒนธรรมมากขึ้น เนื่องจากการขยายตลาดไปสู่ต่างประเทศ และการทำงานร่วมกับหุ้นส่วนและพนักงานที่เป็นคนท้องถิ่นในประเทศต่าง ๆ การบ่มเพาะธุรกิจในอนาคตต้องพัฒนาธุรกิจใหม่ให้มีความสามารถทำงานข้ามวัฒนธรรม มีความเข้าใจความต้องการของผู้บริโภคในแต่ละท้องถิ่น มีทักษะในการประยุกต์สินค้าและบริการให้เข้ากับบริบทท้องถิ่น (contextualization) และเข้าใจวัฒนธรรมการทำธุรกิจและการทำงานของคนในแต่ละท้องถิ่นมากขึ้น
แนวโน้มประการที่ 5 การเกิดธุรกิจใหม่ภายในธุรกิจเดิม
องค์กรธุรกิจจะให้ความสำคัญกับการจัดโปรแกรมการบ่มเพาะธุรกิจขึ้นภายในบริษัท (in-house business incubators) เพิ่มมากขึ้น โดยบริษัทต่าง ๆ จะเปิดโอกาสให้พนักงานได้ทดลองสร้างนวัตกรรม และสนับสนุนให้เกิดผู้ประกอบการภายในบริษัท (i ntrapreneurs) และบริษัทใหม่ภายใต้บริษัทเดิม
ความรู้ที่เปลี่ยนแปลงเร็วและแพร่กระจายไปอย่างรวดเร็ว เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้บริษัทจัดให้มีโปรแกรมการบ่มเพาะ ธุรกิจภายในบริษัทมากขึ้น การเปลี่ยนแปลงขององค์ความรู้จะทำให้การสร้างโอกาสทางธุรกิจและการจัดตั้งธุรกิจใหม่ ๆ เกิดขึ้นได้ง่ายกว่าการพัฒนาประสิทธิภาพของธุรกิจเดิม
บริษัทจึงเลือกใช้วิธีการบ่มเพาะธุรกิจใหม่เป็นแนวทางในการรักษาความได้เปรียบในการแข่งขัน เพราะจะช่วยให้บริษัท สามารถพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมได้อย่างต่อเนื่อง และช่วยรักษาความลับทางธุรกิจและเทคโนโลยีของบริษัท การสร้างธุรกิจใหม่ภายใน ธุรกิจเดิมเป็นการลงทุนในโครงการที่เป็นความเชี่ยวชาญหลักทางธุรกิจ (core business) จึงมี ความเสี่ยงน้อยกว่าและมีต้นทุนต่ำกว่าการซื้อธุรกิจใหม่ภายนอกบริษัท
แนวโน้มประการที่ 6 การเกิดกระบวนการผลิตเพื่อตอบสนองความต้องการที่เฉพาะเจาะจง
ในอนาคต ผู้บริโภคจะมีรายได้สูงขึ้น เนื่องจากชนชั้นกลางจะเพิ่มจำนวนขึ้นจากประมาณ 1.8 พันล้านคนในปี 2552 เป็น 4.9 พันล้านคนในปี 2573 ผู้บริโภคจะมีความต้องการที่ซับซ้อนมากขึ้น และบริโภคสินค้าและบริการเพื่อวัตถุประสงค์ที่มากกว่าความต้องการพื้นฐาน
ผู้บริโภคจะแสวงหาคุณค่าที่มากขึ้นจากสินค้าและบริการ และแสวงหาความแตกต่างที่ผลิตภัณฑ์อื่นไม่สามารถให้ได้ โดยยินดีที่จะจ่ายในราคาที่สูงขึ้นให้แก่สินค้าและบริการในลักษณะนี้ เพื่อแยกตัวเองให้แตกต่างจากคนอื่นหรือรู้สึกว่าตนเองเป็นส่วนหนึ่งของผลิตภัณฑ์นั้น ธุรกิจในอนาคตจึงไม่เพียงขายผลิตภัณฑ์ แต่ขายคุณค่าภายในและขายประสบการณ์จากการบริโภคสินค้านั้นด้วย
ตลาดเฉพาะกลุ่มหรือเฉพาะราย (customization) ในอนาคตจะขยายตัวขึ้น เนื่องจาก ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีสารสนเทศ จะทำให้การติดต่อสื่อสารระหว่างผู้ผลิตและผู้บริโภคมีต้นทุนต่ำลง ผู้ผลิตสามารถรับรู้ความต้องการที่เฉพาะเจาะจงของลูกค้าได้ง่ายขึ้น ขณะที่ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีการผลิต เช่น จักรกลอัจฉริยะ (smart machine) เครื่องพิมพ์ 3 มิติ ฯลฯ จะทำให้กระบวนการผลิตมีความยืดหยุ่นสูงขึ้น และทำให้การผลิตเป็นจำนวนน้อยมีต้นทุนต่ำลง
ธุรกิจใหม่และการบ่มเพาะธุรกิจใหม่จะต้องให้ความสำคัญกับลูกค้าที่เป็นกลุ่มเป้าหมาย การคัดเลือกโครงการเพื่อทำการบ่มเพาะจะต้องพิจารณาว่าใครเป็นลูกค้ากลุ่มเป้าหมาย ผู้ประกอบการมีความเข้าใจหรือมีความสามารถในการทำความเข้าใจและวิเคราะห์ความต้องการของลูกค้ากลุ่มเป้าหมายหรือไม่ และโมเดลธุรกิจมีสมรรถนะในการตอบสนองความต้องการของกลุ่มเป้าหมายหรือไม่
นอกจากนี้ ธุรกิจในอนาคตจำเป็นต้องมีเครือข่ายการผลิตที่กว้างขวาง และมีทางเลือกที่กว้าง ขึ้นในการเข้าถึงผู้จัดหาปัจจัยการผลิต (suppliers) และผู้กระจายสินค้า (distributors) รวมทั้งมีการเชื่อมโยงโดยตรงระหว่างผู้ผลิตตลอดห่วงโซ่อุปทานกับลูกค้า ทำให้ผู้ผลิตสามารถผลิตสินค้าที่ตรงความต้องการลูกค้าแต่ละกลุ่ม หรือแต่ละคนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
แนวโน้มประการที่ 7 ความน่าเชื่อถือเป็นสินทรัพย์สำคัญอย่างยิ่งยวดของธุรกิจ
การคัดเลือกโครงการเพื่อเข้าสู่กระบวนการบ่มเพาะธุรกิจเป็นขั้นตอนสำคัญที่กำหนดความ สำเร็จของการบ่มเพาะธุรกิจใหม่ เพราะธรรมชาติของธุรกิจใหม่มีความเสี่ยงสูง โดยธุรกิจใหม่ 9 ใน 10 รายจะล้มเหลว
ชื่อเสียงของผู้ให้บริการบ่มเพาะธุรกิจเป็นปัจจัยแห่งความสำเร็จของศูนย์บ่มเพาะธุรกิจ เพราะจะช่วยดึงดูดให้องค์กรและบุคคลภายนอกเข้ามาร่วมงานด้วย ทำให้สามารถสร้างเครือ ข่ายและความร่วมมือกับองค์กรอื่นได้ง่าย และดึงดูดโครงการที่มีคุณภาพเข้ามารับบริการบ่มเพาะธุรกิจ
ในอนาคตชื่อเสียงของผู้ก่อตั้งธุรกิจจะถูกใช้เป็นเกณฑ์ในการพิจารณาคัดเลือกโครงการเพื่อเข้าสู่กระบวนการบ่มเพาะ ธุรกิจมากขึ้น โดยเฉพาะข้อมูลของผู้ก่อตั้งธุรกิจที่อยู่ในเครือข่ายอินเทอร์เน็ต หรือที่เรียกว่า “digital footprint” และจะเป็นข้อมูลสำคัญที่ใช้ในการพิจารณาคุณภาพของธุรกิจใหม่
ตัวอย่างของ digital footprint ได้แก่ จำนวนผู้ติดตาม (follower) บนเว็บไซต์ของธุรกิจใหม่หรือผู้ก่อตั้งธุรกิจยอด กดไลค์ (like) ในเฟซบุ๊กของธุรกิจใหม่หรือผู้ก่อตั้งธุรกิจ การแสดงความเห็นในเครือข่ายสังคมออนไลน์ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจใหม่หรือผู้ก่อตั้งธุรกิจ รวมทั้งข้อมูลจาก big data
การเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจโลกในอนาคต ทำให้ธุรกิจใหม่และศูนย์บ่มเพาะธุรกิจเผชิญโอกาสและความท้าทายหลายด้าน ธุรกิจใหม่และการบ่มเพาะธุรกิจนับว่าเป็นเครื่องมือที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทย เพื่อยกระดับเศรษฐกิจของประเทศไปสู่เศรษฐกิจรายได้สูง แต่การสนับสนุนการบ่มเพาะธุรกิจ และการส่งเสริมให้เกิดธุรกิจใหม่ที่มีความสามารถในการแข่งขันนั้น จำเป็นต้องคำนึงถึงแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต และปรับตัวให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ด้วย

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ
คอลัมน์ : ดร.แดน มองต่างแดน
ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
แก้ไขล่าสุด ใน วันอาทิตย์ที่ 20 กันยายน 2015 เวลา 18:03 น.  
Home > Articles > การบริหารการจัดการ > อนาคต Startup และการบ่มเพาะธุรกิจ

About Us

ศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ (ศบม.) เป็นองค์กรที่พัฒนาและจัดทำโครงการเพื่อทำประโยชน์ให้สังคม เป็นองค์กรสนับสนุนการดำเนินงานของภาครัฐ ช่วยแก้ปัญหาผู้ประกอบการภาคธุรกิจบริการที่ขาดแคลนบุคลากรที่มีมาตรฐานในการให้บริการ
อ่านเพิ่มเติม

มูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ ์

 iHDC Profile
บัญชีรายชื่อกรรมการ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียน การเปลี่ยนแปลงกรรมการของมูลนิธิ
เอกสารประชาสัมพันธ์ โครงการ HMTC.pdf
เอกสารแนะนำโครงการ HMTC 1.pdf
เอกสารโครงการ HMTC 2 คุณสมบัติผู้เข้าร่วมโครงการ.pdf
iHDC นิติบุคคล.pdf
iHDC บุคคล.pdf
iHDC บุคคลเครือข่าย.pdf
รายงานการประชุม 6 มีนาคม 2560.pdf
ข้อบังคับมูลนิธิ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียนจัดตั้งมูลนิธิ
Ihdc-Profile and Roadmap 2016-2019 Mar 23 2560.pdf
รายงานการประชุมใหญ่คณะกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ 2559.pdf
คำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ สาขาวิชาชีพ.pdf
รายงานการประชุมใหญ่วันที่ 18 ธ ค 2558 v 3.pdf
รายงานการประชุม วันที่ 24 ธันวาคม 2557 updated 4 มีนาคม 2558.pdf
iHDC-invitation Letter.doc
iHDC-Member Form Thai.doc
iHDC-Member Form English.doc
รายงานการประชุมกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ วันที่ 15 มกราคม 2556 ฉบับสมบูรณ์


thaibetter
พัฒนาประเทศไทยแบบทวีคูณ และยั่งยืน ( ททค )

Login


แบบสำรวจ

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

สถิติเว็บไซด์

สมาชิก : 5602
Content : 3043
เว็บลิงก์ : 26
จำนวนครั้งเปิดดูบทความ : 8590466

facebook

Twitter


ล่าสุด

บทความเก่า