Thaiihdc.org

  • เพิ่มขนาดตัวอักษร
  • ขนาดตัวอักษรปกติ
  • สดขนาดตัวอักษร
Home > Articles > การศึกษา > คำนิยม

คำนิยม

พิมพ์ PDF

คำนิยม

หนังสือ บนเส้นทางสู่มหาวิทยาลัยรับใช้พื้นที่ : ๑๕ กรณีศึกษามหาวิทยาลัยไทย

วิจารณ์ พานิช

อดีตผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย

..........................



ผมขอแสดงความยินดีต่อมหาวิทยาลัยทั้ง ๑๕ แห่ง, สกว., และ วช. ที่ได้ร่วมกันพัฒนานวัตกรรมชิ้นใหม่ ในการจัดการงานวิจัย ให้แก่ประเทศไทย

จากการอ่านบทความทั้งหมดในหนังสือเล่มนี้ ผมตีความว่ามีนักจัดการงานวิจัย และนักวิจัย หลายร้อยคนทั่วประเทศ รวมทั้งภาคีฝ่ายอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ประกอบการรายย่อย และชาวบ้านในพื้นที่ ร่วมอยู่ในโครงการ ซึ่งหมายความว่า ร่วมอยู่ในกระบวนการสร้างนวัตกรรมชิ้นใหม่นี้ ทั้งแบบที่รู้ตัวและไม่รู้ตัว

ประมาณว่า ใช้งบประมาณรวมแล้วอยู่ในระดับร้อยล้านบาท ซึ่งนับว่าน้อยมาก แต่เกิดผลด้าน การริเริ่มสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ระบบใหม่ กระบวนทัศน์ใหม่ เพื่อขับเคลื่อนสังคมไทยที่ฐานราก เข้าสู่เศรษฐกิจและสังคมสร้างสรรค์ (Creative Economy) แบบไม่รู้ตัว

ผมตีความว่าเรื่องราวในหนังสือเล่มนี้ เล่าการเดินทางเปลี่ยนแปลงตนเองแบบที่เรียกว่า Transformation ของมหาวิทยาลัยจากสภาพเดิม ที่ดำรงอยู่แบบแยกตัวจากพื้นที่หรือท้องถิ่น เปลี่ยนไปสู่สภาพที่มีความสัมพันธ์แน่นแฟ้นเป็นเนื้อเดียวกันกับสังคม ตามแนวทางที่กำลังขับเคลื่อน โดยสมาคมพันธกิจสัมพันธ์มหาวิทยาลัยเพื่อสังคม (www.engagementthailand.org) และสถาบัน คลังสมองของชาติ (www.knit.or.th) ที่ใช้คำภาษาอังกฤษว่า community engagement โดยมีนิยามคำว่า community ในความหมายที่กว้าง คือครอบคลุมทุกภาคส่วนของสังคม

ผมตีความว่า หนังสือเล่มนี้เล่าเรื่องราวของการ transform มหาวิทยาลัย จาก conventional university (ที่เน้นความผูกพันกับวิชาการหรือความรู้เป็นหลัก) สู่สภาพ socially-engaged university (ที่เน้นความผูกพันกับสังคมเป็นหลัก) ซึ่งเป็นการเดินทางช่วงแรก เวลาประมาณ ๔ ปี ยังจะต้องมีการเดินทางเพื่อพัฒนาต่อเนื่องอีกยาวนาน เพราะตามที่เล่าในบทความแต่ละตอน ที่เขียนโดยผู้นำของแต่ละมหาวิทยาลัย บอกชัดเจนว่า ความสำเร็จอันยิ่งใหญ่นี้ ยังอยู่ในระยะเริ่มต้นเท่านั้น ผลกระทบยิ่งใหญ่ต่อบ้านเมืองจะเกิดขึ้นได้จริง ต้องการการดำเนินการต่อเนื่อง พัฒนาอีกหลายส่วน ทั้งภายในมหาวิทยาลัยเอง ภายในพื้นที่หรือชุมชน พัฒนาหรือเปลี่ยนแปลงที่โครงสร้างของการบริหารประเทศ และที่สำคัญที่สุด เปลี่ยนแปลงกระบวนทัศน์ของคนไทยทั้งประเทศ

ผมไม่มีสติปัญญาที่กว้างขวางและลึกซึ้งเพียงพอที่จะแนะนำ transformation ของทุกภาคส่วนในสังคม สู่ Creative Economy & Society ในส่วนฐานรากของสังคม อย่างต่อเนื่อง ให้เป็นระบบอย่างครบถ้วนได้ แต่ก็อยากขอเสนอความเห็นเบื้องต้นไว้ ณ ที่นี้ว่า ต้องสร้าง Transformation อย่างน้อยใน สถาบันอุดมศึกษา ระบบราชการส่วนท้องถิ่น ระบบราชการส่วนภูมิภาค ระบบราชการส่วนกลาง ระบบธุรกิจเอกชนโดยเฉพาะอย่างยิ่งในระดับรายย่อย ระบบการศึกษาหรือการเรียนรู้ระดับพื้นฐาน ระบบประชาสังคม และระบบอุดมศึกษาในพื้นที่

ข้อเสนอต่อไปนี้ จับเฉพาะ transformation ของระบบอุดมศึกษาที่ต้องการเป็นสถาบันอุดมศึกษา เพื่อพื้นที่เท่านั้น ซึ่งจะต้องดำเนินการให้มี harmony หรือ alignment กับ transformation ในส่วนอื่นๆ ของสังคม ที่กล่าวแล้ว และจะต้องมีการขยายความต่อจากข้อเสนอสั้นๆ นี้ (เขียนยาวไม่ได้ เพราะนี่คือคำนิยม ไม่ใช่บทความ)


Transformation ในการจัดการงานวิจัยส่วนต้นน้ำ

การจัดการงานวิจัยส่วนต้นน้ำ หมายถึงการจัดการให้โจทย์วิจัยมีความคมชัด มั่นใจได้ว่าจะให้ผลวิจัยตรงความต้องการ (relevance) และให้ผลวิจัยที่มีนวภาพ (novelty / originality) มีความน่าเชื่อถือ (reliability / quality) นำไปเผยแพร่ในวารสารวิชาการที่มีคุณภาพสูงได้

ตัวอย่างของการจัดการต้นน้ำอย่างมีนวัตกรรมที่สุดเห็นจากบทความของมหาวิทยาลัยนเรศวร โดยนำเอาแผนยุทธศาสตร์จังหวัดกับแผนยุทธศาสตร์มหาวิทยาลัยเป็นแกน นำมากำหนดขอบเขต หรือลำดับความสำคัญของการวิจัยเพื่อพัฒนาพื้นที่ แล้วเปิดช่องให้นักวิจัยเสนอโครงการ โดยมีเงื่อนไขว่าต้องมีเจ้าของโครงการร่วมจากฝ่ายผู้ใช้ผลงานวิจัย

เพราะเงื่อนไขของ สกว. ทุกมหาวิทยาลัยในที่นี้ต่างก็มีนวัตกรรมในการจัดการต้นน้ำทั้งสิ้น แต่ก็ทำให้เห็นช่องทางอีกมากมาย ในการสร้างนวัตกรรมในส่วนนี้ ทั้งในเรื่องที่เชื่อมโยงกับทรัพยากร จากฝ่ายผู้ใช้ การใช้ทรัพยากรนักวิจัยชั้นยอดในมหาวิทยาลัยมาช่วยทำหน้าที่ peer review ในส่วนตั้งโจทย์ เพื่อให้โจทย์แหลมคม ใช้ประโยชน์ได้จริง และนำไปตีพิมพ์ในวารสารวิชาการคุณภาพสูงได้ และอื่นๆ

ที่จริง บทความในหนังสือ บอกข้อมูลที่เป็นสภาพภูมิศาสตร์ ประชากร สังคมและเศรษฐกิจอยู่แล้ว สะท้อนว่า ในการคิดโจทย์วิจัยได้คำนึงถึงสภาพความเป็นจริงในพื้นที่อยู่แล้ว แต่ผมก็ยังอยากเสนอให้ มีความร่วมมือกับ “แผนงานขับเคลื่อนสังคมด้วยวัฒนธรรมการใช้ข้อมูล” ของ สสส. ตามที่ผมเคยบันทึกไว้ที่ https://www.gotoknow.org/posts/587910 เพราะข้อมูลที่แผนงานฯ นำมาใช้จะช่วยให้มองพื้นที่อย่างมี ยุทธศาสตร์ และมีเป้าหมายคมชัดยิ่งขึ้น

การจัดการในทุกช่วง ทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ มีช่องทางให้พัฒนาได้มากมาย โดยทรัพยากรส่วนหนึ่งมีอยู่ภายในมหาวิทยาลัยนั้นๆ เอง สิ่งที่เป็นอุปสรรค์คือ “วัฒนธรรมต่อต้านปัญญา” (anti-intellectual culture) ที่ฝังรากอยู่ลึกมากในสังคมอุดมศึกษาไทย การมีหน่วยงานภายนอกอย่าง สกว. ซึ่งเป็นที่ยอมรับนับถือ นำโดยบุคคลที่มีความสามารถอย่าง ดร. สีลาภรณ์ บัวสาย และคุณเบญจมาศ ตีระมาศวณิช รวมทั้งกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ข้ามสถาบัน จึงช่วยได้มาก การเอาชนะวัฒนธรรมต่อต้านปัญญานี้ ต้องอดทนและใช้เวลาดำเนินการต่อเนื่องยาวนาน ไม่ต่ำกว่า ๒๐ ปี


Transformation ในการจัดการงานวิจัยส่วนกลางน้ำ

การจัดการงานวิจัยส่วนกลางน้ำหมายถึงการจัดการระหว่างที่โครงการวิจัยกำลังดำเนินการอยู่ เพื่อช่วยเกื้อหนุนให้เกิดกระบวนการที่มีคุณภาพ นำไปสู่ผลงานวิจัยที่มีคุณภาพ และตรงตามความต้องการของผู้ใช้ รวมทั้งสามารถนำไปตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารวิชาการคุณภาพสูงได้ และในหลายกรณีแม้โครงการวิจัยยังไม่ เสร็จสมบูรณ์ แต่ผู้ใช้ผลงานวิจัยก็เห็นช่องทางนำความรู้ที่ได้ไปใช้ประโยชน์ในบริบทของตนได้แล้ว

ผมทราบว่า สกว. มีวิธีการจัดการส่วนนี้มากมายหลากหลายวิธี ดังมีกล่าวไว้ในหนังสือว่า มีทีมผู้ทรงคุณวุฒิของ สกว. ลงพื้นที่เยี่ยมโครงการของมหาวิทยาลัยสมาชิกเป็นระยะๆ ส่วนที่มหาวิทยาลัยพะเยา ท่านอธิการบดีถึงกับนำทีมลงพื้นที่ไปเยี่ยมโครงการในทุกอำเภอด้วยตัวท่านเอง และผมเคยได้รับการชักชวนให้ร่วมทีมไปด้วย ทำให้ผมได้รับทั้งความรู้และความชื่นใจ ที่ได้เห็นความมุ่งมั่นตั้งใจจริงของผู้บริหารสูงสุดและทีมผู้บริหารมหาวิทยาลัย ที่จะวางระบบพันธกิจสัมพันธ์มหาวิทยาลัยกับสังคม ผ่านงานวิจัยเพื่อรับใช้พื้นที่ และในบางอำเภอ ฝ่ายผู้ใช้ผลงานวิจัย (นายก อบต.) ถึงกับมาเป็นผู้นำเสนอความก้าวหน้าของผลงานด้วยตนเอง

การจัดการส่วนกลางน้ำของงานวิจัยเพื่อพัฒนาพื้นที่ ก็เช่นเดียวกันกับการจัดการส่วนอื่น มีโอกาสพัฒนา หรือสร้าง transformation ได้อีกมากมาย สำหรับใช้เป็นพลังหนุนให้เกิดผลงานวิจัยที่มี ผลกระทบสูงตามเป้าหมาย


Transformation ในการจัดการงานวิจัยส่วนปลายน้ำ

การจัดการงานวิจัยส่วนปลายน้ำหมายถึงการจัดการหลังจากได้ผลงานวิจัย หรืองานวิจัยสำเร็จสมบูรณ์แล้ว มักเข้าใจผิดกันว่า การจัดการงานวิจัยก็สิ้นสุดแล้วเช่นเดียวกัน แต่หากจะให้งานวิจัยก่อผลกระทบอย่างคุ้มค่า จะต้องมีการจัดการเพื่อ

  • สื่อสารสาธารณะ ให้สังคมเห็นคุณค่าและนำไปใช้ประโยชน์ ในรูปแบบต่างๆ
  • สื่อสารเชิงนโยบาย เพื่อนำผลการวิจัยไปใช้ในการกำหนดนโยบายสาธารณะอย่างมีข้อมูลหลักฐาน
  • ตีพิมพ์เผยแพร่ผลงานในวารสารวิชาการที่มีคุณภาพสูง
  • นำไปตั้งโจทย์วิจัย และมีภาคีวิจัยต่อเนื่อง


Transformation ในการจัดการทรัพยากรของสถาบันอุดมศึกษา

หัวใจคือการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์อย่างเสริมพลัง (synergy) กัน ของภารกิจหลัก โดยที่ทรัพยากรของสถาบันอุดมศึกษาที่สำคัญอันดับหนึ่งคือคน นอกจากนั้นยังมีอาคารสถานที่ เครื่องมือ เวลา สินทรัพย์ และทรัพย์สิน

คนในสถาบันอุดมศึกษาที่ถูกมองข้าม ในการแสดงบทบาทด้านการวิจัยเพื่อรับใช้พื้นที่คือนักศึกษา สาเหตุมาจากมุมมองที่ผิดต่อกระบวนการเรียนรู้ ที่หลงไปเน้นการเรียนรู้ผ่านการสอนแบบถ่ายทอดความรู้ หากเปลี่ยนมาเป็นเน้นให้นักศึกษาเรียนจากการลงมือปฏิบัติจริง ตามด้วยการไตร่ตรองสะท้อนคิด โดยอาจารย์เปลี่ยนบทบาทจากผู้ถ่ายทอดความรู้มาเป็นผู้อำนวยความสะดวกต่อการเรียนรู้ของศิษย์ นักศึกษาจะเปลี่ยนบทบาทจากผู้รอรับถ่ายทอดผ่านการสอน มาเป็นผู้ร่วมสร้างสรรรค์ และเรียนรู้ผ่านการฝึกทำประโยชน์ให้แก่สังคม นักศึกษาจะได้เรียนรู้ทักษะที่ซับซ้อนหลากหลาย ไม่ใช่เรียนรู้เพียงด้านความรู้เชิงเทคนิคอย่างในปัจจุบัน

คนที่สำคัญเท่าเทียมกันคือ อาจารย์ และบุคลากรสนับสนุน ที่จะต้องมีการเปลี่ยนแปลงระบบการจัดการทรัพยากรบุคคล ทั้งการนับเวลาทำงาน สาระในข้อตกลงภาระงาน ระบบการประเมิน ระบบค่าตอบแทน ระบบความก้าวหน้า และอื่นๆ ซึ่งมีรายละเอียดมากมาย

ทรัพยากรอื่นๆ ทั้งด้านอาคารสถานที่ เครื่องมือ สินทรัพย์ และทรัพย์สิน ของสถาบันอุดมศึกษา ควรมีการจัดการเอามาใช้ประโยชน์ด้วยมุมมองใหม่ ที่เน้นผลิตภาพ หรือผลงาน และการทำประโยชน์แก่สังคมเป็นหลัก ไม่ใช่ด้วยโลกทัศน์ที่ล้าหลังเฉื่อยชายึดกฎระเบียบแบบราชการเป็นหลักอย่างในปัจจุบัน

หัวใจของการจัดการในทุกด้านคือการจัดการให้เกิดการเสริมพลัง (synergy) ระหว่างจุดแข็ง (สินทรัพย์ - assets) ที่มีอยู่ ไม่ใช่ปล่อยให้กลายเป็นจุดขัดแย้ง เช่น จุดแข็งด้านการมีนักวิจัยเชิงวิชาการเพื่อการตีพิมพ์ ชั้นยอด ควรมีการจัดการเพื่อให้นักวิจัยเหล่านั้นมีความสุข มีคุณค่า ในการเข้ามาเสริมพลังของการวิจัย เพื่อการพัฒนาพื้นที่ โดยไม่ทำให้นักวิจัยเหล่านั้นต้องเสียเวลามาก จนทำให้งานวิจัยพื้นฐานของตนย่อหย่อน ลงไป วิธีปฏิบัติเรื่องนี้ยืดยาว ไม่อยู่ในฐานะที่จะนำมาลงในคำนิยมนี้

ที่จริงข้อเสนอหลายข้อในคำนิยมนี้ ได้มีการดำเนินการในบางมหาวิทยาลัย แต่ยังเป็นการปรับตัว แบบใช้โครงสร้างและวัฒนธรรมการทำงานเดิม ทำให้นวัตกรรมการจัดการงานวิจัยที่เกิดขึ้นยังมีสภาพชั่วคราว ตามสถานการณ์ ยังไม่ฝังเข้าไปเป็นโครงสร้าง วัฒนธรรม และกระบวนทัศน์ใหม่ที่ถาวร ที่จะต้องวิวัฒน์ ต่อเนื่องไปอีก

ข้อพึงระวังในการดำเนินการสนับสนุนความเข้มแข็งของการเป็นมหาวิทยาลัยเพื่อรับใช้พื้นที่ก็คือ การเป็นมหาวิทยาลัยเพื่อรับใช้พื้นที่ ไม่ได้เป็นขั้วตรงกันข้าม หรือเป็นปฏิปักษ์ กับการเป็นมหาวิทยาลัยวิจัย ระดับโลก แต่เป็นปัจจัยที่เกื้อหนุนเสริมส่งกัน ข้อท้าทายการจัดการให้เกื้อหนุนเสริมส่งกันนี้ อยู่ที่ทั้งใน สกว. และในมหาวิทยาลัยเอง

ด้วยข้อจำกัด ที่ไม่มีประสบการณ์ในการปฏิบัติ ผมจึงไม่กล้ายืนยันความถูกต้องของข้อเสนอในคำนิยมนี้

คำนิยมนี้เขียนแบบผิดหลักของการเขียนคำนิยม คือมีสาระของข้อเสนอมากกว่าสาระของคำนิยม โดยมีสาเหตุมาจากการที่อ่านต้นฉบับแล้ว “ของขึ้น” เกิดความหวังที่จะได้เห็นการเปลี่ยนแปลงใหญ่ (Transformation) ของสังคมไทย สู่สังคมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ โดยมีแรงขับเคลื่อนจากฐานราก ประสานกับแรงขับเคลื่อนจากส่วนอื่นๆ อดไม่ได้ที่จะสอดใส่ข้อเสนอเล็กๆ นี้

ผมขอขอบคุณ ดร. สีลาภรณ์ บัวสาย รองผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ที่กรุณาเชิญชวนให้ผมเขียนคำนิยม ทำให้ผมได้รับรู้พัฒนาการที่มีคุณค่ายิ่งต่อวงการอุดมศึกษา วงการวิจัยไทย และต่อการเปลี่ยนโครงสร้างสังคมเศรษฐกิจไทย ชิ้นนี้ ขอให้ทุกท่านที่มีส่วนร่วมกันทำให้เกิดจุดเริ่มต้น ของการเปลี่ยนแปลงใหญ่นี้ ได้มีปิติสุขจากผลงานที่ได้ร่วมกันสร้างสรรค์ และขอเป็นกำลังใจให้ดำเนินการ และนำประสบการณ์มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน ต่อไป เป็นการเดินทางไกล สู่ความวัฒนาถาวรของบ้านเมือง อันเป็นที่รักยิ่งของเรา



วิจารณ์ พานิช

๓ พฤศจิกายน ๒๕๕๘

คัดลอกจาก: https://www.gotoknow.org/posts/597788

แก้ไขล่าสุด ใน วันเสาร์ที่ 28 พฤศจิกายน 2015 เวลา 19:35 น.  
Home > Articles > การศึกษา > คำนิยม

About Us

ศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ (ศบม.) เป็นองค์กรที่พัฒนาและจัดทำโครงการเพื่อทำประโยชน์ให้สังคม เป็นองค์กรสนับสนุนการดำเนินงานของภาครัฐ ช่วยแก้ปัญหาผู้ประกอบการภาคธุรกิจบริการที่ขาดแคลนบุคลากรที่มีมาตรฐานในการให้บริการ
อ่านเพิ่มเติม

มูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ ์

 iHDC Profile
บัญชีรายชื่อกรรมการ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียน การเปลี่ยนแปลงกรรมการของมูลนิธิ
เอกสารประชาสัมพันธ์ โครงการ HMTC.pdf
เอกสารแนะนำโครงการ HMTC 1.pdf
เอกสารโครงการ HMTC 2 คุณสมบัติผู้เข้าร่วมโครงการ.pdf
iHDC นิติบุคคล.pdf
iHDC บุคคล.pdf
iHDC บุคคลเครือข่าย.pdf
รายงานการประชุม 6 มีนาคม 2560.pdf
ข้อบังคับมูลนิธิ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียนจัดตั้งมูลนิธิ
Ihdc-Profile and Roadmap 2016-2019 Mar 23 2560.pdf
รายงานการประชุมใหญ่คณะกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ 2559.pdf
คำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ สาขาวิชาชีพ.pdf
รายงานการประชุมใหญ่วันที่ 18 ธ ค 2558 v 3.pdf
รายงานการประชุม วันที่ 24 ธันวาคม 2557 updated 4 มีนาคม 2558.pdf
iHDC-invitation Letter.doc
iHDC-Member Form Thai.doc
iHDC-Member Form English.doc
รายงานการประชุมกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ วันที่ 15 มกราคม 2556 ฉบับสมบูรณ์


thaibetter
พัฒนาประเทศไทยแบบทวีคูณ และยั่งยืน ( ททค )

Login


แบบสำรวจ

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

สถิติเว็บไซด์

สมาชิก : 5605
Content : 3047
เว็บลิงก์ : 26
จำนวนครั้งเปิดดูบทความ : 8597324

facebook

Twitter


บทความเก่า