Thaiihdc.org

  • เพิ่มขนาดตัวอักษร
  • ขนาดตัวอักษรปกติ
  • สดขนาดตัวอักษร
Home > Articles > สังคม วัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ > พระธรรมเทศนาเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (๘)

พระธรรมเทศนาเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (๘)

พิมพ์ PDF

พระธรรมเทศนาเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (๘)

พระราชนิพนธ์ใน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

กัณฑ์ ที่ ๓

พระราชประวัติเมื่อเสด็จดำรงสิริราชสมบัติ

บัดนี้จะได้รับพระราชทาน ถวายวิสัชนาในคิหิสามีจิปฎิบัติยานุโมทนากถา และพระราชประวัติในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวจำเดิมแต่ได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติบรมราชาภิเษก และทรงประพฤติราชกิจน้อยใหญ่ในการที่จะรักษาพระนครขอบขัณฑสีมา ปกป้องพระบรมวงศานุวงศ์เสนาพฤฒามาตย์ ราษฏรประชาให้เป็นผาสุกสวัสดิ์ทั่วหน้าจนตลอดเวลาเสด็จสู่สวรรคต พรรณนาข้อความในพระราชกรณียกิจและเหตุการณ์อันเกิดในรัชกาลนั้น จำแนกเป็นหมวดๆโดยย่อ พอเป็นที่ทรงระลึกถึงพระเดชพระคุณและทรงประสารทสังเวค ดำเนินความว่า เมื่อปีวอกฉศกจุลศักราช ๑๑๘๖  พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงพระประชวรอันแรงกล้า มิได้รู้สึกพระองค์ ไม่ได้ทรงดำเนินพระบรมราชโองการพระราชทานมอบเวนสิริสมบัติ แด่พระบาทสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช อย่างพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ด้วยทรงพระประชวรอยู่เพียงสามเวลาก็เสด็จสวรรคต ในขณะนั้น                     เจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษมนตรี ซึ่งเป็นประธานในราชการแผ่นดินสิ้นพระชนม์ล่วงไปก่อนแล้ว ยังแต่พระบรมวงศานุวงศ์และท่านเสนาบดีซึ่งเป็นประธานในราชการ ก็ล้วนแต่เป็นผู้ชื่นชมนิยมยินดีต่อพระปรีชาญาณของพระองค์ จึงได้ปรึกษาพร้อมกันเห็นว่า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ยังมีพระชนมายุน้อย และเสด็จออกทรงผนวชในพระพุทธศาสนา โดยทรงพระศรัทธาเลื่อมใส มิได้ทรงพระดำริมุ่งหมายที่จะให้มีเหตุการณ์บาดหมางในพระบรมราชวงศ์ ให้เป็นการจลาจลขึ้นในบ้านเมือง ได้ทราบความชัดในพระราชดำริพระประสงค์ดังนี้แล้ว เห็นว่าในเวลานั้นพระนครก็ยังตั้งขึ้นไม่สู้ช้านาน การสงครามฝ่ายพม่าปัจจามิตร ก็ยังมุ่งหมายจะทำลายล้างกรุงสยามอยู่มิได้ขาด จึงเห็นพร้อมกันว่าถ้าอัญเชิญพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวซึ่งมีพระชนมายุมาก และทรงพระกิจใหญ่น้อยทั่วถึง ทั้งในการที่จะรักษาพระนครภายใน และจะป้องกันอริราชศัตรูหมู่ปัจจามิตรภายนอกได้ในเวลาเมื่อเกิดการสงคราม จะเป็นเหตุให้พระบรมราชวงศ์และพระนครตั้งมั่นเป็นอนัญสาธารณ์สืบไปภายหน้า จึงยินยอมพร้อมกันถวายสิริราชสมบัติ แด่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว อัญเชิญขึ้นเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติบรมราชาภิเษกเฉลิมพระราชมนเทียรตามราชประเพณีแต่โบราณมิได้ยิ่งหย่อน การพระราชพิธีบรมราชาภิเษกนั้นได้สำเร็จลง ในวันอาทิตย์ขึ้น ๗ ค่ำเดือน ๙ปีวอกฉศกจารึกพระนามในพระสุพรรณบัฏว่า พระบาทสมเด็จพระบรมราชาธิราชรามาธิบดีศรีสินทรมหาจักรพรรดิราชาธิบดินทร์ ธรณินทราธิราช รัตนกาศ ภาสกรวงศ์ องค์ปรมาธิเบศร ตรีภูวเนตรวรนายก ดิลกรัตนราชชาติอาชาวไสย สมุทัยกโรมน สกลจักรวาลาธิเบนทร์ สุริเยนทราธิบดินทร์ หริหรินทราธิบดี ศรีวิบูลยคุณอกนิษฐฤทธิราเมศวร ธรรมมิกราชาธิราชเดโชชัย  พรหมเทพาดิเทพนฤบดินทร์ ภูมินทรปรมาธิเบศร โลกเชษฐวิสุทธิ มกุฏประเทศตามหาพุทธางกูร บรมพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัว เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ กรุงเทพมหานครบวรรัตนโกสินทร์ มหินทรายุธยา มหาดิลกภพนพรัตนราชธานีบุรีรมย์ อุดมราชนิเวศมหาสถาน

เมื่อได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติแล้วทรงยกพระราชชนนี ขึ้นเป็นกรมสมเด็จพระศรีสุลาลัย ตำแหน่งที่สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง และทรงตั้งพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นศักดิพลเสพ ซึ่งเป็นประธานในราชการกรมพระกลาโหม อันเป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัย ให้ดำรงที่พระมหาอุปราชกรมพระราชวังบวรสถานมงคล ครั้นเมื่อกรมพระราชวังบวรสถานมงคลสิ้นพระชนม์แล้ว ทรงเลื่อนกรมหมื่นเทพพลภักดิ กรมหมื่นรักษรณเรศ กรมหมื่นเสนีบริรักษ์ ขึ้นเป็นกรมหลวงทั้ง ๓ องค์  ทรงเลื่อนกรมหมื่นรามอิศเรศ กรมหมื่นเดชอดิศร กรมหมื่นพิพิธภูเบนทร์ ขึ้นเป็นกรมขุน แล้วทรงตั้งสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้าพระองค์น้อยขึ้นเป็นกรมขุนอิศเรศรังสรรค์ ทรงตั้งพระเจ้าบรมวงศ์เธอเป็นกรมหมื่น ๔ พระองค์ คือกรมหมื่นสวัสดิวิไชย กรมหมื่นไกรสรวิชิต กรมหมื่นศรีสุเทพ กรมหมื่นณรงค์หริรักษ ทรงตั้งพระเจ้าน้องยาเธอเป็นกรมหมื่น  ๕ พระองค์ คือกรมหมื่นพิทักษเทเวศร กรมหมื่นเสพสุนทร กรมหมื่นสนิทนเรนทร์ กรมหมื่นอินทอมเรศ กรมหมื่นวงศาสนิท ทรงตั้งพระเจ้าน้องนางเธอฝ่ายใน เป็นกรมขุนกัลยาสุนทรพระองค์ ๑ พระเจ้าลูกเธอฝ่ายในเป็นกรมหมื่นอับศรสุดาเทพพระองค์ ๑ พระเจ้าลูกเธอฝ่ายหน้าเป็นกรมหมื่นมาตยาพิทักษ์ พรองค์ ๑ เป็นกรมหมื่นอมเรนทรบดินทร์พระองค์ ๑ ทรงตั้งพระองค์เจ้าในกรมพระราชวังที่ ๑ เป็นกรมหมื่นรานุชิตพระองค์ ๑ พระองค์เจ้าในกรมพระราชวังที่ ๒ เป็นกรมหมื่นอมรมนตรีพระองค์ ๑ ทรงตั้งพระองค์เจ้าเจ่งในกรมหมื่นนรินทรพิทักษ เป็นกรมหมื่นนเรนทรบริรักษพระองค์ ๑ อนึ่งกรมหมื่นสุรินทรรักษ ซึ่งเป็นที่ทรงปรึกษาไว้วางพระราชหทัยอันสนิทแต่ในรัชกาลที่ ๒ ครั้นเมื่อได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติแล้ว ก็ได้ตั้งอยู่ในที่ปรึกษาราชการแผ่นดินแต่สิ้นพระชนม์ไปเสียโดยเร็วยังหาทันเลื่อนกรมได้ ทรงตั้งเจ้าหลานเธอซึ่งเป็นพระธิดาพระองค์เจ้าลักขณานุคุณ อันพระบิดาสิ้นพระชนม์เสียแต่ยังทรงพระเยาว์อยู่นั้น  ให้เป็นพระเจ้าหลานเธอพระองค์เจ้าโสมนัศวัฒนาวดีอีกพระองค์ ๑ ส่วนข้าทูลละอองธุลีพระบาทในชั้นต้น เสนาบดีมีเต็มตัวตามตำแหน่งอยู่ ยังหาได้ทรงตั้งไม่ ครั้นเมื่อขาดว่างตำแหน่งลง พระองค์ก็ได้ทรงตั้งขึ้นตามความชอบและคุณวุฒิ ตำแหน่งที่สมุหนายกเมื่อเจ้าพระยาอภัยภูธรถึงแก่อสัญกรรมแล้ว ได้ทรงตั้งเจ้าพระยาบดินทรเดชาเป็นที่สมุหนายก เมื่อเจ้าพระยาบดินทรเดชถึงอสัญกรรมแล้ว ก็หาได้ทรงตั้งตำแหน่งที่สมุหนายกไม่ โปรดให้เจ้าพระยานิกรบดินทร แต่ยังเป็นพระยาราชสุภาวดีว่าการในตำแหน่งนั้น ที่สมุหพระกลาโหมนั้นเมื่อเจ้าพระยาอรรคมหาเสนา (สัชข์) ถึงอสัญกรรมแล้ว จึงโปรดให้เจ้าพระยายมราช (น้อย) เป็นเจ้าพระยาอรรคมหาเสนา ครั้นเจ้าพระยาอรรคมหาเสนา (น้อย) ถึงอสัญกรรมแล้ว จึงโปรดให้เจ้าพระยาพระคลังว่าที่สมุหพระกลาโหมและคงว่าการกรมท่าด้วย ตำแหน่งกรมท่าไม่ได้ทรงตั้งใหม่จนตลอดรัชกาล ตำแหน่งกรมวังนั้นเมื่อเจ้าพระยาธรรมา (เทศ) ถึงอสัญกรรมแล้ว จึงทรงตั้งพระยาบำเรอภักดิ์ (สมบุญ) เป็นเจ้าพระยาธรรม ครั้นเมื่อถึงอสัญกรรมแล้วที่นั่นก็ว่างอยู่ ตำแหน่งกรมเมือง เจ้าพระยายมราช (น้อย) เลื่อนไปเป็นเจ้าพระยาอรรคมหาเสนา จึงทรงตั้งพระยามหาอำมาตย์ (ทองพูน) เป็นที่เจ้าพระยายมราช ครั้งถึงอสัญกรรมแล้วซึ่งทรงตั้งพระยาทิพโกษาเป็นเจ้าพระยายมราชต่อมา เมื่อชราแล้วเลื่อนเป็นเจ้าพระยาสุธรรมมนตรี จึงทรงตั้งพระยาอภัยรณฤทธิ์ (บุญนาก) เป็นเจ้าพระยายมราช ครั้นถึงอสัญกรรมแล้วที่นั่นก็ว่างมา ตำแหน่งที่กรมนา เจ้าพระยาพลเทพซึ่งเดิมเป็นที่พระยาศรีสรไตร (ฉิม) เป็นมาแต่แผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อเจ้าพระยาพลเทพถึงอสัญกรรมแล้ว โปรดให้กรมสมเด็จพระเดชาดิศรเมื่อยังเป็นกรมขุนเดชอดิศร ทรงบังคับการมาจนคลอดรัชกาล  ตำแหน่งราชการซึ่งเป็นตำแหน่งใหญ่ในครั้งนั้นจึงว่าจะมีตัวเสนาบดีอยู่ พระบรมวงศานุวงศ์ก็ได้ทรงกำกับบังคับบัญชาโดยมาก ในกรมมหาดไทยนั้นเมื่อกรมหลวงพิทักษมนตรีสิ้นพระชนม์แล้ว กรมขุนอิศรานุรักษ์ได้ทรงกำกับบังคับบัญชาต่อมาครั้งเมื่อกรมขุนอิศรารักษ์สิ้นพระชนม์แล้ว หม่อมไกรสรซึ่งเป็นกรมหลวงรักษรณเรศ ได้ช่วยราชการมาโดยตลอด และว่าการตลอดถึงกรมวังด้วย ในกรมพระนครบาล กรมหมื่นสุรินทรรักษได้ทรงบังคับบัญชา ครั้นเมื่อสิ้นพระชนม์แล้ว กรมพระพิพิธโภคภูเบนทร์ เมื่อยังเป็นกรมขุนพิพิธภูเบนทร ได้ทรงกำกับช่วยราชการในการนั้น ด้วยเหตุฉะนั้นเสนาบดีว่างตำแหน่งอยู่ช้านานเท่าใด ราชการนั้นก็ไม่เสียไป เพราะมีพระบรมวงศานุวงศ์ทรงกำกับอยู่ และได้ทรงยกย่องตั้งแต่งข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อยนอกนั้น ทั้งในกรุงหัวเมือง เต็มตามตำแหน่ง

การศึกสงครามซึ่งมีในรัชกาลนั้น เริ่มต้นแต่เมื่อปีระกาสัปตศกจุลศักราช ๑๑๘๗ อนุเจ้าเมืองเวียงจันทน์ลงมาเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทในการพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย มีความบาดหมางด้วยโลภเจตนา ครั้งเมื่อกลับขึ้นไปยังเมืองเวียงจันทน์แล้ว จึงปรึกษาพร้อมด้วยบุตรหลานแสนท้าวพระยาลาวว่า ในกรุงเทพมหานครในเวลานี้เจ้านายที่มีพระชนม์พรรษามากเป็นผู้ใหญ่ก็ล่วงไปเสียโดยมาก ยังมีแต่เจ้านายซึ่งมีพระชนม์พรรษาน้อย ไม่คล่องแคล่วชำนิชำนาญในการสงคราม ฝ่ายอังกฤษก็มารบกวนอยู่ เห็นว่าจะหักหาญเอาพระนครได้โดยง่าย จึงได้คิดอ่านเกลี้ยกล่อมและกดขี่หัวเมืองลาว ซึ่งยังมิได้อยู่ในอำนาจ ให้ยินยอมเข้าเป็นพวกตัวได้ตลอดลงมาจนจดแดนเขมรป่าดง แล้วจัดกองทัพตระเตรียมไว้พรักพร้อม ครั้งเดือนยี่ปีจออัฐศกจุลศักราช ๑๑๘๘ จึงให้ราชวงศ์ผู้บุตรเป็นทัพหน้า คุมคนสามพันคนลงมาโดยทางเมืองนครราชสีมา ลวงเบิกเสบียงอาหารที่เมืองนครราชสีมาได้แล้ว ลงมาตั้งอยู่ ณ ตำบลขอนขว้างใกล้เมืองสระบุรี ให้ลงมาเกลี้ยกล่อมพระยาสระบุรี ซึ่งเป็นลาวพุงดำและนายครัวลาวพุงขาวเข้าด้วย กวาดครอบครัวอพยพไทยจีนลาวซึ่งตั้งอยู่ ณ เมืองสระบุรีได้เป็นอันมาก ฝ่ายอนุกับสุทธิสารผู้บุตรก็ยกกองทัพใหญ่ตามลงมาตั้งค่าย ตำบลทะเลหญ้า ใกล้เมืองนครราชสีมา ในขณะนั้นเจ้าพระยานครราชสีมา และพระยาปลัดไปราชการเมืองเขมรป่าดง จึงให้หาตัวพระยายกกระบัตรและกรมการออกไปบังคับให้กวาดต้อนครัวเมืองนครราชสีมาขึ้นไปเมืองเวียงจันทน์ กรมการทั้งนั้นมิอาจที่จะขัดขวางได้ พวกลาวก็ควบคุมครอบครัวอพยพพาเดินไปโดยระยะทาง ในขณะนั้นพระยาปลัดทราบเหตุการณ์ จึงรีบกลับมาทำเป็นสวามิภักดิ์ยินยอมจะไปเมืองเวียงจันทน์ด้วย แล้วจึงขอเครื่องศัสตราวุธซึ่งอนุให้เก็บเสียแต่ชั้นพร้าก็มิให้เหลือนั้น พอไปหาเสบียงตามทางได้บ้างเล็กน้อย ครั้นเมื่อเดินครัวไปถึงทุ่งสำริดหยุดพักอยู่ เวลากลางคืนพวกครัวกลับต่อสู้ลาว แย่งชิงได้ศัตราวุธฆ่าลาวตายเป็นอันมาก พวกลาวก็พากันแตกตื่นลงมายังเมืองนครราชสีมา ฝ่ายพระยาปลัดก็ตั้งค่ายมั่นอยู่ ณ ทุ่งสำริดคอยต่อสู้ ครั้นอนุได้ทราบความแล้ว แต่งให้ขุนนางลาวขึ้นไปปราบปราม พวกเมืองนครราชสีมาก็ต่อสู้พวกลาวแพ้พ่ายมา ฝ่ายราชวงศ์ซึ่งลงมากวาดต้อนครัวอยู่ ณ เมืองสระบุรี ทราบข่าวว่ากองทัพกรุงเทพมหานครจะขึ้นไปเป็นหลายทัพหลายทาง ก็รีบเร่งเดินครัวขึ้นไปยังเมืองนครราชสีมา แจ้งเหตุการณ์ให้อนุทราบ ด้วยเดชะอำนาจบารมี อนุก็ให้เกิดความหวาดหวั่นครั่นคร้าน มิอาจจะยกรุกรีบลงมา ด้วยสำคัญใจว่าครัวเมืองนครราชสีมาต่อสู้แข็งแรงนั้น จะเป็นกองทัพใหญ่ของเจ้าพระยานครราชสีมา จึงคิดว่าจะรับกองทัพกรุงเทพฯที่เมืองนครราชสีมามิได้ ด้วยกลัวจะเป็นศึกขนาบ ครั้น ณ เดือน ๔ แรม ๑๑ ค่ำก็เลิกกองทัพกลับขึ้นไป ให้ราชวงศ์แยกทางไปกดขี่เมืองหล่มศักดิ์ให้อยู่ในอำนาจ แล้วตั้งอยู่ในที่นั้น ส่วนตัวอนุถอยขึ้นไปตั้งค่ายที่หนองบัวลำพู ให้พระยานรินทร์คุมพลสามพันอยู่รักษา แล้วยกขึ้นไปตั้งค่ายช่องเขาสารเป็นทางแยก ให้พระยาสุโพเพี้ยชานนคุมพลสองหมื่นเป็นทัพใหญ่ตั้งอยู่สกัดต้นทาง ตัวอนุยกขึ้นไปตั้งค่ายอยู่บนเขาสารแล้วให้พระยาเชียงสาตั้งค่ายตำบลสนมแห่ง ๑  กองคำตั้งค่ายตำบลช่องวัวแตกตำบล ๑ แต่ส่วนเจ้าอุปราชซึ่งให้ไปกวาดต้อนผู้คนตามหัวเมืองลาวนั้น ตั้งอยู่เมืองสุวรรณาภูมิ ฝ่ายข้างกรุงเทพมหานครได้ทราบข่าวศึก ก็ทรงวิตกเป็นอันมาก ด้วยต้องกับคำซึ่งมีผู้ทำนายไว้แต่ก่อนมา และประจวบกันกับเวลาซึ่งมีผู้สบประมาทคาดหมายอายุแผ่นดินไว้ด้วย จึงดำรัสให้เสนาบดีข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อย เกณฑ์กันตั้งค่ายรายตามท้องทุ่งหลังพระนคร ตั้งแต่ทุ่งวัวลำพองไปจนทุ่งบางกระปิจนตกลงน้ำ ป้องกันพระนครเป็นสามารถ แล้วโปรดให้กรมพระราชวังบวรสถานมงคลเป็นแม่ทัพใหญ่ เสด็จยกยาตราจากกรุงเทพมหานคร ในเดือน ๔ ขึ้น ๖ ค่ำ เสด็จไปประชุมทัพที่ท่าเรือพระบาท จึงโปรดให้พระยาจ่าแสนยากร พระยากลาโหมราชเสนา พระยาพิไชยบุรินทรา พระยาณรงค์วิไชย สี่นายเป็นทัพหน้าที่ ๑ กรมหมื่นนเรศร โยธี กรมหมื่นเสนีบริรักษ เป็นทัพหน้าที่ ๒  กรมหมื่นเสนีเทพเป็นทัพหน้าทัพหลวง กรมหมื่นนรานุชิต กรมหมื่นสวัสดิวิไชย เป็นปีกซ้ายปีกขวา กรมหมื่นรามอิศเรศรเป็นยกกระบัตร กรมหมื่นธิเบศรบวรเนจเรทัพ กรมหมื่นเทพพลภักดิ์เป็นเกียกกาย พระนเรนทรราชเป็นทัพหลัง ทัพหลวงเสด็จทางดงพระยาไฟ โปรดให้เจ้าพระยามหาโยธาคุมคนกองมอญแยกขึ้นทางดง พระยากลางทัพ ๑  เจ้าพระยาอภัยภูธรคุมทัพหัวเมืองเหนือห้าพัน ขึ้นทางเมืองเพชรบูรณ์ทัพ ๑ พระยาไกรโกษาคุมทัพเรือเมืองสามพัน ขึ้นทางเมืองพิษณุโลก เมืองนครไทยทัพ ๑ ดองทัพทั้งสองนี้ ให้พร้อมกันยกขึ้นไปตีทัพราชวงศ์ที่เมืองหล่มศักดิ์เป็นศึกขนาบ แล้วโปรดให้พระยาราชวรนุกูล พระยารามคำแหง พระยาราชรองเมือง พระยาจันทบุรี คุมกองทัพไปทางเมืองพระตะบอง ขึ้นไปเกณฑ์คนเมืองสุรินทร์ เมืองสังขะเขมรป่าดง ตีขึ้นไปทางเมืองนครจำปาศักดิ์อีกทัพ ๑ แล้วโปรดให้มีกองทัพอีกสีกอง ออกทางเมืองปราจีนบุรี ยกขึ้นทางช่องเรือแตก ทัพที่ ๑ พระยาราชสุภาวดี ทัพที่ ๒ เจ้าพระยาพระคลัง ทัพที่ ๓ กรมหมื่นพิพิธภูเบนทร์ กรมหมื่นพิทักษเทเวศร ทัพที่ ๔ กรมหมื่นสุรินทรรักษ ให้มีอำนาจบังคับได้สิทธิ์ขาดทั้ง ๔ ทัพ แต่ครั้นเมื่อเจ้าพระยานครศรีธรรมราช ได้ทราบท้องตราให้หาแล้วมีใบบอกมาว่า อังกฤษมีเรือรบมาทอดอยู่ที่แหลมมลายูสามสี่ลำ ไม่ทราบว่าจะไปแห่งใด เจ้าพระยาศรีธรรมราชอยู่รักษาเมือง จัดให้พระยาพัทลุงกับพระเสนหามนตรี คุมคนเมืองตะวันตก ๒,๐๐๐ เข้ามาช่วยราชการ ก็โปรดให้มีตราให้หากองทัพที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ กลับ ให้ลงไปรักษาปากน้ำเจ้าพระยา คงแต่กองทัพพระยาสุภาวดี ยกขึ้นไปบรรจบทัพหลวงที่เมืองนครราชสีมา กรมพระราชวังจึงโปรดให้ พระยาราชสุภาวดียกแยกไปตีเมืองนครจำปาศักดิ์ เมื่อไปถึงเมืองพิมายพบกองทัพเจ้าโถง กองทัพไทยตีแตก และยกไปตีเวียงคุกที่เมืองยโสธรแตกพ่ายอีกกอง ๑  ฝ่ายทัพหน้าที่ ๑ กับกองโจรพระองค์เจ้าขุนเนน ยกขึ้นไปตีค่ายหนองบัวลำพูแตก กองทัพหลวงก็ยกตามขึ้นไป ข้างกองทัพเจ้าพระยาอภัยภูธรและพระยาไกรโกษา เข้าระดมตีกองทัพราชวงศ์เมืองหล่มศักดิ์แตกหนี้ไปห่อนุที่เขาสาร อนุได้ทราบความกองทัพใหญ่แตกถึง ๒ ตำบล ก็ยิ่งมีความหวาดหวั่นย่อท้อต่อพระบารมี จึงให้คุมไพร่พลรีบหนี้ขึ้นไปแกล้งทำอุบายให้ปรากฏว่า จะไปตบแต่งเมืองเวียงจันทน์ไว้คอยรับกองทัพ แต่ครั้นเมื่อไปถีงเมืองเวียงจันทน์แล้ว ก็รีบเก็บทรัพย์สมบัติและครอบครัวยกหนีไปอาศัยอยู่ในแขวงเมืองญวนที่เมืองล่าน้ำ ซึ่งญวนเรียกว่าเมืองแง่อาน ฝ่ายกองทัพไทยยกขึ้นไปตั้งอยู่ ณ ทุ่งส้มป่อย พระยาสุโพ แม่ทัพที่ช่องเขาสาร ยกพลลาวมาล้อมค่ายทัพหน้าที่ ๑ ไว้ถึง ๗ วัน ได้ต่อสู้กันเป็นสามารถ จะหักเอาค่ายยังมิได้ ฝ่ายกรมหมื่นนเรศรโยธีทัพหน้าที่ ๒ ทราบ ก็รีบยกพลลำลองร้อยเศษขึ้นไปช่วย  พลลาวมากตกอยู่ในที่ล้อมจวนจะเสียที พอกรมหมื่นเสนีบริรักษยกตามขึ้นไปทัน เข้าแก้กรมหมื่นนเรศรโยธีออกมาจากที่ล้อมได้ แล้วระดมกันตีกองทัพลาวทั้งสองทัพเป็นศึกขนาบ ทัพลาวแตกกระจัดกระจายไปคุมกันไม่ติด ทัพหน้าก็ยกไปตั้งอยู่ในเมืองเวียงจันทน์ ทัพหลวงไปตั้งอยู่เมืองพานพร้าว ตรงเมืองเวียงจันทน์ข้าม ฝ่ายอุปราชซึ่งเป็นน้องมิได้ปลงใจเป็นขบถด้วยอนุแต่เดิมมานั้น ก็เข้าอ่อนน้อมต่อกรมพระราชวังสถานมงคล ในขณะนั้นพอทัพเมืองเชียงใหม่ เมืองนครลำปาง เมืองลำพูน เมืองหลวงพระบาง เมืองน่าน เมืองแพร่ มาถึงพร้อมกันที่พานพร้าว จึงดำรัสให้หัวเมืองลาวทั้งหกออกเที่ยวตีค้อน กวาดครัวที่กระจัดกระจายไปซุ่มซ้อนอยู่ในที่ทั้งปวง ฝ่ายพระยาราชสุภาวดี ยกเข้าตีทัพเจ้าปานสุวรรณบุตรอนุ ซึ่งคุมกองทัพเมืองนครจำปาศักดิ์มาตั้งรับที่เมืองยโสธรแตกอีกทัพ ๑ แล้วยกลงไปตีกองราชบุตรบุตรอนุซึ่งเป็นเจ้าเมืองนครจำปาศักดิ์ ซึ่งตั้งรับอยู่ ณ เมืองอุบลราชธานี แตกหนีไป  ณ เมืองจำปาศักดิ์ ฝ่ายคนครัวซึ่งกวาดต้อนเข้าไปไว้ในเมืองนครจำปาศักดิ์เห็นได้ที ก็คุมกันลุกขึ้นต่อสู้พวกราชบุตรแตกหนีข้ามฝากมาฝั่งโขงตะวันออก กองทัพไทยก็ได้เมืองนครจำปาศักดิ์ พระยาราชสุภาวดีก็ให้ติดตามจับได้ตัวราชบุตรและเจ้าปานสุวรรณส่งลงมากรุงเทพฯ ครั้นเมื่อเสร็จราชการแล้ว พระยาราชสุภาวดีก็รีบยกขึ้นไปเฝ้ากรมพระราชวัง ณ เมืองพานพร้าว ในครั้งนั้นกรมพระราชวังหาได้เสด็จข้ามไปเมืองเวียงจันทน์ไม่ ดำรัสให้ทำลายเมืองเสีย ด้วยเห็นว่าจะเป็นที่ล่อแหลมไปภายหน้าแล้วจึงโปรดให้สร้างพระเจดีย์องค์ ๑ ถวายนามว่าพระเจดีย์ปราบเวียง ทรงมอบราชการให้พระยาราชสุภาวดีอยู่จัดการต่อไป แล้วเลิกทัพหลวงเสด็จกลับกรุงเทพฯ ในราชการเวียงจันทน์ครั้งนี้ พระยาราชสุภาวดีได้ทำการศึกเข้มแข็งมากอยู่ผู้เดียว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีตราข้นไปให้เป็นเจ้าพระยาราชสุภาวดีว่าที่สมุหนายกด้วยเจ้าพระยาอภัยภูธรป่วยถึงอสัญกรรมเสียที่เมืองเวียงจันทน์ ในขณะไปราชการทัพแล้ว ครั้นเจ้าพระยาราชสุภาวดีจัดการเรียบร้อยลงได้แล้วก็กลับมาแจ้งราชการ ณ กรุงเทพฯ ในครั้งนั้นยังมิได้โปรดให้เจ้าพระยาราชสุภาวดีรับยศบรรดาศักดิ์ เป็นเจ้าพระยาจักรีเต็มตำแหน่งด้วยทรงขัดเครืองว่าไม่ทำลายเมืองเวียงจันทน์ให้สิ้นสูญ ยังซ้ำตั้งนายหมวดนายกองให้อยู่เกลี้ยกล่อมรวบรวม ผู้คนจะจัดตั้งเป็นบ้านเมืองต่อไป เห็นว่าตัวอนุและราชวงศ์ก็ยังอยู่ ฝ่ายญวนก็เอาเป็นธุรเกี่ยวข้อง ถ้าอนุกลับมาตั้งเมืองเวียงจันทน์อีก ก็จะได้ยากแก่ไพร่พลทหาร จึงได้โปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาราชสุภาวดียกกลับขึ้นไปอีก ในปีชวดสัมฤทธิศกจุลศักราช ๑๑๙๐ นั้น ไปตั้งอยู่ที่หนองบัวลำพู แต่งให้พระยาราชรองเมือง พระยาพิไชยสงคราม คุมกองทัพล่วงหน้าขึ้นไปถึงเมืองพานพร้าว จึงสั่งให้หาตัวเพี้ยเมืองจันท์มาไต่ถามด้วยราชการ ผู้ซึ่งฟปเห็นลาวตระเตรียมอาวุธสับสนอยู่ และลาวยึดเอาตัวคนไทยไว้ ๗ คน จึงเอาความมาแจ้งต่อพระยาพิไชสงครามๆ ให้บอกข่าวลงมายังเจ้าพระยาราชสุภาวดี แล้วก็แบ่งคนนายไพ่ ๓๐๐ คน พระยาพิไชยสงครามคุมข้ามฟากไปเมืองเวียงจันทน์ตั้งทัพอยู่ ณ วัดกลาง ในขณะนั้นญวน ๘๐ คน กับไพร่พลลาวประมาณ ๑.๐๐๐ คนครั้งรุ่งขึ้นวันแรม ๗ ค่ำ เดือน ๘ ญวนจึงพาอนุมาพร้อมด้วยพระยาพิไชยสงครามที่ศาลาลูกขุน ญวนแจ้งความว่าเจ้าเวียตนามให้พาตัวอนุมาอ่อนน้อมขอพระราชทานโทษ ที่ได้ทำผิดล่วงไปแล้วแต่หลัง ขอให้ได้ตั้งเมืองเวียงจันทน์ทำราชการฉลองพระเดชพระคุณสืบไป ฝ่ายอนุและราชวงศ์ก็อ่อนน้อมโดยดี นายทัพฝ่ายไทยมิได้มีความสงสัย ครั้งเวลาเย็นลงอนุกลับใช้ให้ไพร่พลฝ่ายลาวเอาปืนมาระดมยิงนายทัพและไพร่พลไทยตายสิ้นทั้งนั้น เหลือข้ามน้ำมาได้แต่สักสี่สิบห้าสิบคน ฝ่ายเจ้าพระยาราชสุภาวดีได้ทราบข่าวกองหน้าบอกลงมา ก็รีบยกขึ้นไปถึงเมืองพานพร้าวในขณะเมื่อลาวกำลังยิงไทยอยู่นั้น เห็นที่หาดหน้าเมืองเวียงจันทน์กำลังชุลมุนกันอยู่ ก็รู้ว่ากองทัพไทยเห็นจะเสียที จะข้ามไปก็ไม่มีเรือ ครั้นคนที่ว่ายน้ำกลับมาแจ้งความทราบแล้ว ตรวจดูคนในกองทัพ พวกที่เป็นคนในพื้นเมืองก็ตื่นหนีไปเป็นอันมาก จะตั้งรับอยู่ที่พานพร้าวเห็นไม่เป็นที่ไว้ใจเกรงจะเสียที ด้วยไม่ทราบว่าจะเป็นกลอุบายลาวหรือญวนคิดอ่านประการใด  จึงได้ยกกองทัพถอยลงไปตั้งมั่นอยู่เมืองยโสธร ให้กะเกณฑ์ไพร่พลและสะสมเสบียงอาหารจะกลับขึ้นไปตีเมืองเวียงจันทน์อีก ฝ่ายญวนซึ่งพาอนุเข้ามาเมืองเวียงจันทน์ เห็นว่าลาวทำวุ่นวายขึ้นเป็นข้อวิวาทกับไทยต่อไปอีก ผิดกับคำสั่งที่ได้รับมา ก็ทิ้งอนุเสีย ยกกลับไปเมืองแง่อาน อนุตั้งอยู่ในเมืองเวียงจันทน์รวบรวมผู้คนได้แล้ว ยกข้ามฟากมายังเมืองพานพร้าว รื้อพระเจดีย์ซึ่งกรมพระราชวังบวรทรงสร้างไว้นั้นเสีย แล้วให้ราชวงศ์ยกกองทัพติดตามไปตีทัพเจ้าพระยาราชสุภาวดีที่เมืองยโสธร ฝ่ายเจ้าพระยาราขสุภาวดีเกณฑ์กำลังคนได้แล้วก็ยกกลับขึ้นไป ไปพบกองโจรราชวงศ์ที่บ้านบกหวานแขวงเมืองหนองคาย ได้คุมพลทหารออกต่รบกันเป็นสามารถ จนถึงได้รบกันตัวต่อตัวกับราชวงศ์ พระราชวงศ์แทงเจ้าพระยาราชสุภาวดีด้วยหอกถูกตั้งแต่อกแฉลบลงไปจนถึงท้องน้อยล้มลง หลวงพิชิตน้องชายจะเข้าแก้ ราชวงศ์ฟันหลวงพิชิตตาย พอทนายเจ้าพระราชสุภาวดียิงปืนถูกเข่าขวาราชวงศ์ล้มลง บ่าวไพร่สำคัญว่าตายก็อุ้มขึ้นแคร่พาหนีไป เจ้าพระยาราชสุภาวดีคลำดูแผลเห็นว่าไม่ทะลุภายใน ตกแต่งแผลเสร็จแล้วขึ้นแคร่ขับพลไล่ติดตามไป ฝ่ายราชวงศ์ไปถึงเมืองพานพร้าวข้ามฝากไปแจ้งการแก่อนุ ว่าแม่ทัพและพลทหารไทยต่อสู้เข้มแข็ง เห็นจะรับมิอยู่ อนุตกใจรีบพาบุตรภรรยาได้บ้างแล้วหลบหนีไป พอรุ่งขึ้นกองทัพไทยถึงเมืองเวียงจันทน์ อนุหนี้ไปเสียก่อนวันหนึ่งแล้ว จับได้แต่สุทธิสารบุตรภรรยาบ่าวไพร่หลายคน เจ้าพระยาราชสุภาวดีก็แต่งกองทัพให้ไปติดตามอนุ ซึ่งหนีเข้าไปเมืองพวน ยังหาได้ตัวไม่ ฝ่ายพระวิชิตสงครามซึ่งตั้งอยู่ ณ เมืองนครพนม มีหนังสือบอกข้อราชการมาว่าญวนแต่งให้นายไพร่ห้าสิบคน ถือหนังสือเข้ามาว่าด้วยเรื่องเมืองเวียงจันทน์และขอโทษอนุ ไม่พบตัวอนุจึงนำหนังสือส่งสือมาส่งที่พระวิชิตสงคราม จะโปรดประการใด เจ้าพระยาราชสุภาวดีตอบไปว่าครั้งก่อนซึ่งเสียท่วงทีแก่อนุ ก็เพราะญวนเข้ามาเป็นนายหน้า ครั้งนี้จะมาล่อลวงอีกประการใดก็ไม่รู้ ให้จับฆ่าเสียให้สิ้น พระวิชิตสงคราม๗งให้จับญวนมาฆ่าเสีย เหลือแต่สามคนส่งมากองทัพใหญ่ การที่ทำนั้นจึงเป็นเหตุสำคัญ ซึ่งเกิดหมองหมางทางพระราชไมตรีในระหว่างกรุงสยามกับกรุงเวียตนามสืบไปภายหน้า ฝ่ายกองทัพซึ่งไปติดตามตัวอนุถึงเขตแดนเมืองพวน ได้แจ้งหนังสือเจ้าน้อยเมืองพวนมีมาห้าม ขออย่าให้กองทัพไทยเข้าไปในเขตแดนจะจับตัวอนุส่ง ภายหลังพระลับแล และพวกเมืองหลวงพระบาง เมืองน่าน จับตัวอนุได้ที่น้ำไฮ้เชิงเขาไก่ เจ้าพระยาราชสุภาวดีก็ให้คุมตัวส่งลงมาทำโทษประจานที่ท้องสนามไชยในกรุงเทพมหานคร จนอนุป่วยถึงแก่ความตาย บุตรญาติภรรยาวงศ์อนุนั้นหาได้ลงพระราชอาญาแก่ผู้หนึ่งผู้ใด ถึงสิ้นชีวิตไม่ ฝ่ายเมืองเวียงจันทน์นั้น เจ้าพระยาราชสุภาวดีก็ให้รื้อทำลายป้อมกำแพงและที่สำคัญทั้งปวงเสียสิ้น เว้นไว้แค่พระอาราม แล้วก็ยกกองทัพกลับลงมาเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ณ กรุงเทพฯ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้เป็นเจ้าพระยาราชสุภาวดีเป็นที่เจ้าพระยาบดินทรเดชาที่สมุหนายก ตามสมควรแก่ความชอบซึ่งได้ฉลองพระเดชพระคุณในราชการแผ่นดินนั้น

โปรดติดตามตอนต่อไป สงครามเมืองญวนซึ่งยาวนานเกือบจะตลอดรัชกาลที่ ๓

คัดลอกโดย ม.ล.ชาญโชติ ชมพูนุท

๒๖ ธันวาคม ๒๕๕๘

 

 

 

แก้ไขล่าสุด ใน วันเสาร์ที่ 26 ธันวาคม 2015 เวลา 18:07 น.  
Home > Articles > สังคม วัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ > พระธรรมเทศนาเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (๘)

About Us

ศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ (ศบม.) เป็นองค์กรที่พัฒนาและจัดทำโครงการเพื่อทำประโยชน์ให้สังคม เป็นองค์กรสนับสนุนการดำเนินงานของภาครัฐ ช่วยแก้ปัญหาผู้ประกอบการภาคธุรกิจบริการที่ขาดแคลนบุคลากรที่มีมาตรฐานในการให้บริการ
อ่านเพิ่มเติม

มูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ ์

 iHDC Profile
บัญชีรายชื่อกรรมการ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียน การเปลี่ยนแปลงกรรมการของมูลนิธิ
เอกสารประชาสัมพันธ์ โครงการ HMTC.pdf
เอกสารแนะนำโครงการ HMTC 1.pdf
เอกสารโครงการ HMTC 2 คุณสมบัติผู้เข้าร่วมโครงการ.pdf
iHDC นิติบุคคล.pdf
iHDC บุคคล.pdf
iHDC บุคคลเครือข่าย.pdf
รายงานการประชุม 6 มีนาคม 2560.pdf
ข้อบังคับมูลนิธิ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียนจัดตั้งมูลนิธิ
Ihdc-Profile and Roadmap 2016-2019 Mar 23 2560.pdf
รายงานการประชุมใหญ่คณะกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ 2559.pdf
คำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ สาขาวิชาชีพ.pdf
รายงานการประชุมใหญ่วันที่ 18 ธ ค 2558 v 3.pdf
รายงานการประชุม วันที่ 24 ธันวาคม 2557 updated 4 มีนาคม 2558.pdf
iHDC-invitation Letter.doc
iHDC-Member Form Thai.doc
iHDC-Member Form English.doc
รายงานการประชุมกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ วันที่ 15 มกราคม 2556 ฉบับสมบูรณ์


thaibetter
พัฒนาประเทศไทยแบบทวีคูณ และยั่งยืน ( ททค )

Login


แบบสำรวจ

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

สถิติเว็บไซด์

สมาชิก : 5585
Content : 3038
เว็บลิงก์ : 26
จำนวนครั้งเปิดดูบทความ : 8555955

facebook

Twitter


ล่าสุด

บทความเก่า