Thaiihdc.org

  • เพิ่มขนาดตัวอักษร
  • ขนาดตัวอักษรปกติ
  • สดขนาดตัวอักษร
Home > Articles > สังคม วัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ > พระธรรมเทศนาเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (๙)

พระธรรมเทศนาเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (๙)

พิมพ์ PDF

พระธรรมเทศนาเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (๙)

พระราชนิพนธ์ใน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

กัณฑ์ ที่ ๓

พระราชประวัติเมื่อเสด็จดำรงสิริราชสมบัติ (ต่อ)

สงครามเมืองญวน

ฝ่ายราชการข้างเมืองญวน ซึ่งเกิดเป็นการสงครามสืบมาจนเกือบจะตลอดรัชกาลที่ ๓ จำเดิมแต่เมื่อพระยาราชสุภาวดีไปตีเมืองนครจำปาศักดิ์แล้ว จะกลับขึ้นมาเฝ้ากรมพระราชวังบวรสถานมงคลที่เมืองพานพร้าวนั้น ญวนมีหนังสือมาห้ามอย่าให้รื้อทำลายเมืองเวียงจันทน์ ว่าเจ้าเวียตนามมีพระราชสาส์นเข้ามาขอประราชทานโทษอนุที่กรุงเทพฯ แล้ว ถ้าไทยขืนทำลายเมืองเวียงจันทน์ จะยกทัพพลสองหมื่นเข้ามาต่อรบด้วยไทย พระยาราชสุภาวดีหาได้ตอบหนังสือไปไม่ และในขณะเมื่อพระยาราชสุภาวดียังมิได้กลับลงมาถึงกรุงเทพฯนั้น เจ้าเวียตนามแต่งให้ราชทูตเชิญพระราชสาส์นเข้ามาขอโทษอนุฉบับ ๑  จะตอบพระราชสาส์น ราชทูตไม่รับ จึงโปรดให้เจ้าพระยาพระคลังมีหนังสือชี้แจงโทษอนุไปถึงองเลโบ เสนาบดีฝ่ายญวนสองฉบับ ครั้นเมื่อเจ้าพระยาราชสุภาวดี ยกกองทัพกลับขึ้นไปติดตามจับตัวอนุมาได้และได้ให้พระวิชิตสงคราม ฆ่าญวนผู้ถือหนังสือเสียในครั้งนั้น ฝ่ายญวนขัดเคืองว่าเจ้าน้อยเมืองพวนจับตัวอนุส่งให้แกกองทัพไทย จึงได้หาตัวขึ้นไปประหารชีวิตเสีย แล้วจึงให้ราชทูตเชิญพระราชสาส์นมาอีกใหม่ ในจุลศักราช ๑๑๙๐ ในพระราชสาส์นนั้นว่า ทุงวิไชฆ่าญวนผู้ถือหนังสือ และชิดชุมกีมหลวงนราเข้าไปเก็บส่วยในแขวงถูตือ จะขอตัวผู้มีชื่อทั้งนี้ออกไปชำระ ณ เมืองญวน และว่าฝ่ายญวนให้พาตัวอนุเข้ามาอ่อนน้อมต่อไทย ฝ่ายไทยไม่จ่ายเสบียงให้แล้วซ้ำยิงพวกลาว จึงได้เกิดเป็นความวิวาทขึ้น ขอให้ตั้งเมืองเวียงจันทน์ขึ้นไว้ให้คงดังเก่า ภายหลังมีญวนถือหนังสืออองเลโบ ถึงเจ้าพระยาพระคลังส่งเข้ามาทางเมืองเขมรอีกฉบับ ๑ เนื้อความก็คล้ายคลึงกันกับในราชสาส์น ครั้นจะไปโปรดให้ตอบพระราชสาส์นไป ทูตญวนก็ไม่รับ ขอให้แต่งราชทูตไปต่างหาก จึงโปรดให้แต่เจ้าพระยาพระคลังมีหนังสือตอบไปถึงองเลโบ ว่าผู้ซึ้งกล่าวโทษมานั้นจะเป็นผู้ใดก็ไม่ชัด ด้วยเรื่องชื่อผิดเพี้ยนกันไป เมื่อกองทัพกลับลงมาจึงจะไต่สวนดูก่อน ภายหลังจึงโปรดให้พระอนุรักษภูธรเป็นราชทูต เชิญพระราชสาส์นตอบออกไปมีเนื้อความอย่างเดียวกันกับหนังสือเจ้าพระยาพระคลัง ครั้นเมื่อราชทูตกลับเข้ามา มีพระราชสาส์นตอบเป็นคำพ้อตัด และคืนของราชบรรณาการที่เกินกำหนดแต่ก่อนนั้นเข้ามา จะขอตัวผู้ซึ่งฆ่าญวนและให้ตั้งเมืองเวียงจันทน์ดังแต่ก่อน  ทรงพระราชดำริเห็นว่าทางพระราชไมตรีกับญวนช้ำชอกมัวหมองมากอยู่แล้ว ควรจะแต่งทูตออกไปเกลี่ยไกล่เสียให้ดีอีก ในจุลศักราช ๑๑๙๑ ปีฉลูเอกศก จึงโปรดให้พระจักราเป็นราชทูตเชิญพระราชสาส์นออกไป  ในพระราชสาส์นนั้นว่า ญวนพาอนุเข้ามาฆ่านายทัพและพลทหารไทยตายถึงสองร้อยห้าสิบคนเศษ นายทัพนายกองฝ่ายไทยจึงได้มีความน้อยใจจับผู้ถือหนังสือฝ่ายญวนฆ่าเสียบ้าง ชวนให้เลิกแล้วต่อกัน ในครั้งนั้นเจ้าเวียตนามคืนเครื่องบรรณาการเสียสิ้นไม่รับไว้เลย จะรอให้ทำโทษทุงวิไชยและชิดชุมกิมฆ่าเสียในกลางตลาดให้จงได้ มีข้อความพ้อตัดลำเลิกถึงการเก่า เป็นคำหยาบๆก็มีบ้าง มีพระราชสาส์นโต้ตอบไปมาอีกหลายฉบับ ครั้นการไม่ได้สมปรารถนาก็เป็นอันขาดทางพระราชไมตรี มิได้มีราชทูตไปมาสืบไป ครั้งจุลศักราช ๑๑๙๕ ปีมะเส็งเบญจศก ฝ่ายแผ่นดินญวนเกิดขบถขึ้นที่เมืองไซ่ง่อน ครั้นเมื่อได้ทรงทราบจึงทรงพระราชดำริว่าฝ่ายญวนมีความกำเริบ คอยแต่จะเอารัดเอาเปรียบอยู่ทุกครั้งทุกคราว เมื่อครั้งรัชการที่ ๒ ก็มาขอเอาเมืองพุธไธมาศกลับคืนไป  ครั้นองค์จันเจ้าเขมรเป็นขบถหนีไปก็รับไว้ แล้วมาครอบงำเอาเมืองเขมรเป็นสิทธิ์แต่ฝ่ายเดียว ครั้นอนุเป็นขบถหนีเข้าไปอยู่ในเขตแดนญวนก็เอาไว้ แล้วคิดเอิบเอื้อมจะมาครอบงำเอาเมืองเวียงจันทน์และเมืองขึ้นทั้งปวง อนึ่งเมื่อตั้งตัวขึ้นเป็นดิ๊กว่างเด เข้ามาขอให้ลงชื่อในราชสาส์น เรียกดิ๊กว่างเด ฝ่ายเราผ่อนให้แล้ว ยังมีความกำเริบจะให้เอาตราหลวงประทับสำเนาพระราชสาส์นอีกเล่า  เห็นว่าถ้าจะเป็นพระราชไมตรีไป ญวนก็จะมีความกำเริบหนักขึ้นทุกที ครั้งนี้เป็นโอกาสที่จะได้ย่ำยีเมืองญวน คืนเมืองเขมรมาเป็นพระราชอาณาเขตได้ จึงมีพระราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาบดินทรเดชาคุมกองทัพบก คนสี่หมื่นออกไปตีเมืองเขมรได้แล้ว ให้ยกลงไปช่วยญวนขบถที่เมืองไซ่ง่อน โปรดให้เจ้าพระยาพระคลังคุมทัพเรือพลหมื่นหนึ่ง ไปตีเมืองพุทไธมาศแล้วเข้าทางคลองขุดไปบรรจบทัพบกที่เมืองไซ่ง่อน โปรดให้พระมหาเทพ (ป้อม) พระราชรินทร์ (ขำ) ยกกองทัพบกไปตีเมืองล่าน้ำซึ่งเรียกว่าเมืองแง่อาน โปรดให้เจ้าพระยาธรรมา (สมบุญ) คุมพลเมืองแพร่และพลเมืองไทยข้างฝ่ายเหนือ ขึ้นทางเมืองหลวงพระบางราชธานี ตีเมืองหัวพันทั้งหก กองทัพเจ้าพระยาพระคลัง ยกไปตีได้เมืองพุทไธมาศและเมืองโจดก ตั้งทัพอยู่เมืองโจดก เจ้าพระยาบดินทรเดชายกเข้าไปตีเมืองเขมร องค์จันทร์มิได้ต่อรบ หนีลงไปเมืองไซ่ง่อน เจ้าพระยาบดินทรเดชาจึงให้องค์อิ่มองค์ด้วงตั้งอยู่เมืองพนมเปญ แล้วยกกองทัพลงไปบรรจบกับเจ้าพระยาพระคลังที่เมืองโจดก ปรึกษากันตกลงว่าเจ้าพระยาพระคลังยังไม่เคยการทัพศึก เจ้าพระยาบดินทรเดชาจะไปทางเรือด้วย จึงจัดให้พระยานครราชสีมาและนายทัพนายกองอีกหลายนาย คุมกองทัพบกเดินทางบาพนมไปเมืองไซ่ง่อน เจ้าพระยาบดินทรเดชา เจ้าพระยาพระคลัง พากองทัพเรือไปทางคลองวามงาว ตีค่ายญวนปากคลองข้างใต้แตก ร่นไปรับอยู่ปากคลองช้างเหนือ ซึ่งเป็นค่ายเดิมเมื่อครั้งญวนตั้งรับเจ้าฟ้ากรมหลวงเทพหริรักษนั้น ทัพเรือก็ให้ตั้งติดลำคลองอยู่ ฝ่ายเจ้าพระยาบดินทรเดชากับเจ้าพระยาพระคลังปันหน้าที่กัน เจ้าพระยาบดินทรเดชาจะยกขึ้นบกตีค่ายกองทัพบก  ให้เจ้าพระยาพระคลังสั่งให้กองทัพเรือฝ่ายไทยเข้าตีทัพเรือฝ่ายญวน นายทัพนายกองต่างย่อท้อบิดพลิ้วไปต่างๆ หาได้ยกเข้าตีกองทัพเรือตามสัญญาไม่ ฝ่ายกองทัพเรือญวนเห็นว่าไม่มีกองทัพไทยมาตีแล้ว ก็ขึ้นช่วยค่ายบกระดมรบเจ้าพระยาบดินทรเดชาเป็นศึกขนาบ เจ้าพระยาบดินทรเดชาเห็นผิดที่นัดหมายเหลือกำลังก็ล่าถอยมา ได้ทราบความจากเจ้าพระยาพระคลังว่า นายทัพนายกองพากันย่อท้อต่อการสงคราม ก็จะให้ลงโทษตามอัยการศึก เจ้าพระยาพระคลังว่าถ้าจะลงโทษนายทัพนายกองแล้ว จะทำการต่อไปเสบียงอาหารก็ขัดสน และจวนถึงฤดูฝนอยู่แล้ว ถ้าทำการไม่สำเร็จก็จะต้องมีโทษเหมือนนายทัพนายกองทั้งปวงนี้ เจ้าพระยาบดินทรเดชาเห็นว่าไม่พร้อมมูลกัน จะทำการไม่สำเร็จแล้วก็ให้ล่าทัพมาตามลำคลอง ญวนก็ตามตีตลอดจนถึงเมืองโจดก เจ้าพระยาพระคลังออกจากเมืองโจดก กลับทางเมืองพุทไธมาศ เจ้าพระยาบดินทรเดชาตั้งต่อรบญวนอยู่ที่เมืองโจดกจนส่งกองทัพเรือไปหมดแล้ว จึงได้เดินกองทัพบกมาทางเมืองเขมร ในขณะนั้นเขมรพากันกำเริบลอบแทงฟันคนในกองทัพไทยเนืองๆ เจ้าพระยาบดินทรเดชาก็ให้ตั้งทัพลงจับตัวพวกเขมรคนร้ายมาลงโทษประหารชีวิตเสียเป็นอันมาก แล้วให้รื้อกำแพงเมืองพนมเปญ และกวาดต้อนครอบครัวเข้ามาตั้งกองทัพอยู่ที่เมืองโพธิสัตว์ ภายหลังขัดด้วยเสบียงอาหารจึงถอยเข้ามาตั้งอยู่เมืองพระตะบอง ฝ่ายกองทัพบกซี่งไปทางบาพนมนั้น เห็นกริยาเขมรญวนกำเริบขึ้นผิดปกติ และได้ทราบข่าวว่ากองทัพใหญ่และกองทัพเรือถอยไปแล้ว ก็ล่าทัพกลับมาถึงแม่น้ำโขง เห็นเขมรเผาเรือเสียสิ้น จึงให้ผูกไม้ไผ่เป็นแบสะพานข้ามแม่น้ำโขงมาได้ เว้นแต่กองทัพพระยานครสวรรค์ไม่ข้ามมาโดยสะพานเชือก เดินเลียบน้ำขึ้นไป เขมรฆ่าเสียสิ้นทั้งกองทัพ ฝ่ายกองทัพพระมหาเทพยกไปประชุมทัพ ณ เมืองนครพนม จะออกจากทางด่านกีเหิบเป็นช่องเขาซับซ้อนออกไม่ได้ จึงได้ตีแต่เมืองรายทางได้ เมืองมหาไชย เมืองพอง เมืองพลาน เมืองชุมพร ฝ่ายพระราชรินทร์ไปตั้งอยู่ ณ เมืองหนองคาย ให้กองทัพขึ้นไปตั้งบ้านโพงงาม มีหนังสือขึ้นไปเกลี้ยกล่อมพวกเมืองพวน ยอมสวามิภักดิ์รับกองทัพพระราชรินทร์เข้าไปตีค่ายญวน ซึ่งมาตั้งรักษาอยู่ที่เมืองเชียงขวาง ๓๐๐ คนกับทั้งแม่ทัพ จับได้เป็นบ้าง ที่ตายเสียมาก หนีไปบ้าง ข้างฝ่ายเจ้าพระยาธรรมาซึ่งยกกองทัพขึ้นไปทางเมืองหลวงพระบาง แต่งนายทัพนายกองไปเกลี้ยกล่อมเมืองพวนอีกทาง ๑ เมืองพวนยอมสวามมิภักดิ์ต่อพระราชรินทร์แล้ว จึงแต่งให้มารับกองทัพพาไปตีญวนที่ค่ายเมืองสุย ๑๐๐ คนแตกยับเยินไป แล้วญวนไปตั้งรับอยู่ที่น้ำงึมอีกแห่ง ๑ ก็ตีแตกไป  เมืองพวนก็กลับได้เป็นพระราชอาณาเขตสืบมา แล้วเจ้าพระยาธรรมาก็แต่งให้คนขึ้นไปเกลี้ยกล่อมเมืองหัวพันทั้งหก ก็ยอมว่าจะลงมาสวามิภักดิ์ พอเจ้าพระยาธรรมาป่วยกลับลงมากรุงเทพฯเสียคราว ๑

ฝ่ายข้าราชการเมืองเขมร เมื่อกองทัพไทยถอยลงมาแล้ว ญวนให้แม่ทัพพาองค์จันทร์มาตั้งอยู่ ณ เมืองพนมเป็ญอีก ขณะนั้นพระยาอภัยภูเบศรเจ้าเมืองพระตะบองถึงแก่กรรม จึงโปรดให้องค์อิ๋มเป็นเจ้าเมืองพระตะบอง องค์ด้วงไปเป็นเจ้าเมืองมงคลบุรี ฝ่ายองค์จันทร์ที่เป็นเจ้าเมืองเขมรถึงแกพิราลัย  ญวนยกบุตรเลี้ยงขึ้นเป็นเจ้าแผ่นดินและอยู่กำกับราชการ คิดเกลี้ยกล่อมบ้างกดขี่บ้าง จะให้เมืองเขมรเป็นของเมืองญวนแท้จนถึงกลับชาติเป็นญวน พวกเขมรพากันได้ความเดือดร้อน มีหนังสือเข้ามาขอสวามิภักดิ์เป็นข้ากรุงเทพฯ ในครั้งนั้นองค์อิ่มซึ่งเป็นเจ้าเมืองพระตะบอง บอกส่งตัวองค์ด้วงซึ่งเป็นเจ้าเมืองมงคลบุรีเข้ามา ว่าคิดจะหนี้ไปเมืองพนมเปญ ถามให้การว่าได้ทราบความว่าญวนมีหนังสือมาเกลี้ยกล่อมองค์อิ๋นให้หนีไป จะตั้งให้เป็นเจ้าเมืองเขมร แต่พวกพระยาเขมรไม่ชอบใจ อยากจะได้องค์ด้วงไปเป็นเจ้าเมือง จะช่วยกันรบญวนให้แตกไป องค์ด้วงจึงได้คิดอ่านการที่จะหนีไป ครั้นไม่ช้านักองค์ด้วงจะใคร่ได้เป็นเจ้าเมืองเขมร กลัวญวนจะไม่ไว้ใจ จึงได้จับตัวพระยาปลัดและกรรมการผู้ใหญ่ผู้น้อย และตีปล้นทรัพย์สมบัติกวาดครอบครัวเมืองพระตะบองประมาณห้าพันหนีไปเมืองพนมเปญเข้าหาแม่ทัพญวนเมืองโพธิสัตว์ ญวนรับรองครอบครัวเหล่านั้นไว้ แล้วส่งตัวองค์อิ๋ไปไว้ ณ เมืองพนมเปญหาให้เป็นเจ้าเมืองเขมรตามที่ว่าไม่ ในขณะนั้นเจ้าพระยาบดินทรเดชาเข้ามาอยู่ในกรุงเทพ ฯ จึงโปรดให้รีบกลับออกไป ณ เมืองพระตะบอง เจ้าพระยาบดินทรเดชาเกณฑ์คนในหัวเมืองเขมรป่าดง และเมืองลาวได้แล้ว ให้ไปตั้งรักษาอยู่ที่เมืองระสือกอง ๑ ที่ค่ายกพงพระกอง ๑ ที่เมืองนครเสียมราฐกอง ๑ และจัดกองลาดตระเวน ๔๐๐ คน ให้ลงเรือรบลาดตระเวนในท้องทะเลสาบ แต่ตัวเจ้าพระยาบดินทรเดชานั้นตั้งอยู่เมืองพระตะบอง ถ่ายลำเลียงเสบียงอาหารตระเตรียมซึ่งจะทำการในเมืองเขมรต่อไป ในขณะนั้นฝ่ายญวนเกิดความสงสัยกันขึ้น ว่าองค์แบนเจ้าหญิงบุตรองค์จันทร์นั้นคิดจะหนีมาหาไทย ญวนจึงให้จับตัวจำไว้ในค่าย ภายหลังก็ให้เอาไปถ่วงน้ำเสีย และเจ้าหญิงซึ่งยังเหลืออยู่อีก ทั้งองค์อิ๋มและมารดาบุตรภรรยา ครอบครัวองค์อิ๋มองค์ด้วงซึ่งตกอยู่กับญวนนั้น ก็เอาส่งลงไปเมืองญวนทั้งสิ้น แล้วให้หาขุนนางผู้ใหญ่ในเมืองเขมรจะให้ลงไปเมืองญวน ขุนนางเขมรก็ต่างคนต่างหลบหนีไปตั้งกองซ่องสุมผู้คนเป็นหมวดเป็นกอง พอมีกำลังแล้วก็เข้ารบสู้ด้วยญวน เมื่อไม่มีกำลังก็ซุ่มซ่อนอยู่ในป่า ญวนจะไปมาน้อยกว่าก็ฆ่าเสียทั้งสิ้น ในครั้งนั้นพวกเขมรเป็นขบถก่อการจลาจลในทุกแห่งทุกตำบล ญวนก็มิอาจปราบปรามให้สงบระงับลงได้ กำลังที่จะรักษาบ้านเมืองนั้นก็อ่อนแอลง ฝ่ายพระยาเขมรทั้งปวงก็มีหนังสือเข้ามาอ่อนน้อมต่อเจ้าพระยาบดินทรเดชา ที่พาครอบครัวเข้ามาพึ่งอยู่ในพระราชอาณาเขตก็มีโดยมาก เจ้าพระยาบดินทรเดชามีใบบอกเข้ามาขอกองทัพและศัสตราวุธออกไป ครั้นกองทัพพร้อมแล้วเจ้าพระยาบดินทรเดชาก็ให้ยกไปช่วย พระยาเดโชเจ้าเมืองกพงสวายตีค่ายกพงทมและค่ายญวนเมืองชีแครง ญวนแตกไป แล้วจึงยกไปตีค่ายญวนที่เมืองโพธิสัตว์ ได้สู้รบกับญวนๆหนีเข้าค่ายตั้งล้อมไว้เป็นหลายวัน จนญวนอ่อนน้อมยอมรับแพ้ และทำหนังสือสัญญาให้ว่าจะถอยกองทัพแล้วก็ปล่อยไป ในขณะเมื่อเมืองเขมรกำลังเป็นจลาจลอยู่นั้น พระยาเขมรทั้งปวงมายื่นเรื่องราว และมีหนังสือมาถึงเจ้าพระยาบดินทรเดชาจะขอองค์ด้วงออกไปเป็นเจ้ากรุงกัมพูชา เป็นหลายฉบับ  เจ้าพระยาบดินทรเดชาบอกเข้ามา ทรงทราบแล้ว จึงโปรดให้ส่งองค์ด้วงออกไปอยู่ ณ เมืองพระตะบอง เจ้าพระยาบดินทรเดชาก็มีหมายประกาศให้พระยาเขมรทั้งปวงมารับน้ำทำสัตย์ต่อองค์ด้วง ในขณะนั้นข้างแผ่นดินญวนเปลี่ยนแผ่นดินใหม่ กองทัพญวนซึ่งตั้งอยู่ในเมืองเขมรเกิดไข้ปัจจุบันไพร่พลล้มตายมาก ญวนจึงได้คิดอ่านจะพูดจากับกองทัพไทยโดยทางไมตรี แม่ทัพญวนชื่อองค์เกรินตาเดืองกุน ซึ่งตั้งอยู่เมืองพนมเปญมีหนังสือมายังเจ้าพระบาบดินทรเดชา กล่าวความข้างเบื้องต้นว่าฝ่ายไทยรุกรานข่มเหงญวนต่างๆ ญวนก็เป็นแต่สู้รบป้องกันรักษาเขตแดนไว้ หาได้ล่วงพระราชอาณาเขตเข้ามาจนก้าวหนึ่งไม่ แล้วกล่าวถึงเรื่องเมืองเขมร ว่าญวนคิดจะทำนุบำรุงเมืองเขมรและเจ้านายให้มีความสุข ฝ่ายเขมรกลับคิดประทุษร้ายต่อญวน องค์อิ๋นองค์ด้วงก็มีหนังสือไปสวามิภักดิ์ต่อญวน ชวนให้ไปตีเมืองพระตะบอง ซึ่งเป็นของฝ่ายไทย ญวนก็หาได้ทำตามไม่ บัดนี้เพราะเขมรคิดการทรยศลุกลามขึ้นญวนจึงต้องยกกองทัพมาปราบปราม แต่ถ้ารู้สึกตัวว่าผิดกลับมาอ่อนน้อมก็จะชุบเลี้ยงต่อไป ทางพระราชไมตรีกรุงสยามกับกรุงเวียตนามนั้น  ก็อยากจะให้เป็นไมตรีดีกันสืบไป ขอให้ไทยมีราชสาส์นไปก่อน ซึ่งจะถือตามคำสัญญาซึ่งนายทัพเมืองโพธิสัตว์ทำให้ไว้แต่ก่อนนั้นไม่ได้ หนังสือฉบับนี้แม่ทัพไทยหาได้ตอบไปไม่ เมื่อญวนไม่ได้หนังสือตอบฝ่ายไทยดังนั้น เห็นว่าจะยังมิเป็นไมตรี ก็ยกกองทัพเข้าค่ายเขมรเมืองบาที ซึ่งพระยาเสนาภูเบศรไปตั้งกำลังอยู่ด้วย เขมรเห็นญวนมากก็หนี พระยาเสนาภูเบศรก็ถอยมา ณ.เมืองโพธิสัตว์ ญวนก็ตามมาตีค่ายบีกกานอกเมือง ได้สู้รบกินอยู่และผ่อนคนค่ายกพงทมลงมาที่พนมเปญอีก เจ้าพระยาบดินทรเดชาเห็นว่าญวนทำการแข็งแรงขึ้น จึงได้พาองค์ด้วงยกออกไปตั้ง ณ.เมืองโพธิสัตว์ ญวนก็มิอาจตีตอบเข้ามา เจ้าพระยาบดินทรเดชาก็ให้ตัดไม้แก่นปักเป็นค่ายระเนียดทำเมืองให้องค์ด้วง อยู่ที่ประไทเลียดเหนือเมืองโพธิสัตว์เป็นที่ดอน ในขณะนั้นฝ่ายแม่ทัพญวนคิดกันไปขอหนังสือเจ้าหญิงและมารดาองค์จันทร์ อนุญาตให้องค์อิ๋มเป็นเจ้าเมืองเขมร แล้วให้องค์อิ๋มซึ่งญวนจำไว้นั้นพ้นโทษลงมาด้วย เจ้าพระยาบดินทรเดชาได้ทราบดังนั้น เห็นว่าองค์ด้วงตั้งอยู่เมืองโพธิสัตว์ลับเข้ามานัก กลัวว่าพวกเขมรจะไปเข้าด้วยองค์อิ๋นเสียมาก จึงให้พระพรหมบริรักษนายทัพนายกอง พาตัวองค์ด้วงลงไปตั้งอยู่ ณ ที่อุดงแขวงเมืองประไทเพชร ฝ่ายญวนได้ทราบดังนั้นก็ให้ไปรับเจ้าหญิงอีก ๓ คนลงมา ณ.เมืองพนมเปญ มอบตราสำหรับแผ่นดินและพระขรรค์ให้นักองค์มี นักองค์มีก็ตั้งขุนนางเต็มตามตำแหน่ง แล้วให้แต่งหนังสือออกเกลี้ยกล่อมราษฎร ก็ไม่มีผู้ใดสวามิภักดิ์ ข้างฝ่ายนักองค์ด้วงก็ตั้งขุนนางขึ้นเต็มตำแหน่งบ้าง ในครั้งนั้นขุนนางเขมรมีเต็มตำแหน่งเป็นสองฝ่าย แล้วแต่งกองทัพออกเที่ยวรักษาตามหัวเมืองทั่วไป ได้ต่อรบกับญวนเป็นหลายครั้ง แล้วแต่งกองโจรออกอีก ๑๑ กอง กองละพันคนบ้าง หกร้อยตนบ้าง ห้าร้อยคนบ้าง ให้ซุ่มซ่อนอยู่ในป่า ถ้าญวนมาก็ให้หลบหนี ถ้าเห็นมาน้อยก็ให้เข้าตีฆ่าเสียบ้างจับเป็นมาบ้าง กองใดได้ญวนมาก็ให้บำเหน็จรางวัลตามสมควร  แล้วส่งญวนเชลยนั้นมา ณ กรุงเทพฯ ในระหว่าง ๗ ปี ๘ ปีนั้น ได้ญวนส่งเข้ามากว่าสองพันคน ฝ่ายเจ้าหญิงทั้งสามคนนั้นมีหนังสือมาถึงองค์ด้วงว่าจะขอมาอยู่เมืองอุดงด้วย ขอให้แต่งกองทัพขึ้นไปรับ  ญวนได้ทราบเหตุดังนั้น ก็ให้รักษากวดขันกว่าแต่ก่อน แล้วให้ส่งองค์อิ๋นลงมาเมืองพนมเปญ ปลูกเรือนให้อยู่หลังหนึ่งกับเจ้าหญิงทั้ง ๓ คนนั้น ฝ่ายองค์อิ๋มก็ให้มีหนังสือออกไปเกลี้ยกล่อมพระยาเขมรทุกแห่งทุกตำบล ก็ไม่มีผู้ใดเข้าเกลี้ยกล่อม แต่คนถือหนังสือไปก็มิได้กลับมา ในขณะนั้นบังเกิดความไข้ขึ้นในกองทัพญวนเสียไพร่พลเป็นอันมาก เสบียงอาหารก็ขัดสน ข้าวราคาถึงถังละห้าบาท เกลือถังละกึ่งตำลึง เขมรที่อยู่กว้างพอหาเสบียงอาหารได้ ฝ่ายญวนจะออกไปเที่ยวลาดหาเสบียงไม่ได้ จึงได้พาเจ้าหญิง ๓ คน และองค์อิ๋มกวาดต้อนครอบครัวไปประมาณสองพันคน ลงไปตั้งอยู่ ณ เมืองโจดก  ครั้งนั้นแม่ทัพญวนมีความเสียใจกินยาพิษตาย แม่ทัพคนใหม่ให้ยกลงไปตีเมืองปาสัก เมืองพระตะพัง ได้แล้วก็ตั้งอยู่ที่เมืองโจดก ครั้งนั้นเมืองเขมรแบ่งออกเป็นสองฝ่าย ข้างฝ่ายใต้เมืองกรังเกรยกราก เมืองตึกเขมา เมืองประมวนสอ เมืองมัจรุค เมืองปาสัก เมืองพระตะพัง เป็นขององค์อิ๋ม เมืองเขมรฝ่ายเหนือเป็นขององค์ด้วง ฝ่ายเจ้าพระยาบดินทรเดชาทราบว่ากองทัพญวนเลิกลงไปแล้ว จึงได้พาองค์ด้วยยกลงไปตั้งอยู่ ณเมืองพนมเปญ ด้วยเป็นทางร่วมฟังราชการได้โดยรอบทิศ แล้วมีใบบอกเข้ามากรุงเทพฯ เมื่อได้ทรงทราบว่าเมืองเขมรขัดด้วยเสบียงอาหารดังนั้น จึงโปรดให้พระอนุรักษ์โยธาคุมเรือลำเลียงเสบียงอาหารออกไปส่ง กองทัพเจ้าพระยาบดินทรเดชาโดยทางทะเล และทรงพระดำริว่า เมืองเขมรเดี๋ยวนี้เป็นสิทธิแก่องค์ด้วงแล้ว ถ้าถมตลิ่งขุดเสียได้ อย่าให้ญวนส่งลำเลียงเสบียงอาหารกันถนัด ตัดทางอย่าให้กองทัพญวนมาตั้งในเมืองเขมรได้ เมืองเขมรก็จะเป็นสิทธิแก่ไทยฝ่ายเดียว จึงได้มีท้องตราไปให้เจ้าพระยาบดินทรเดชาถมคลองเสียให้ได้ จะโปรดให้มีกองทัพเรือออกไปตีเมืองประไทมาศถ่วงเวลาไว้ให้ญวนพะว้าพะวัง  ในครั้งนั้นเจ้าพระยาบดินทรเดชาป่วยจึงขอแม่ทัพบกเข้ามา โปรดให้เจ้าพระยายมราชออกไปเป็นแม่ทัพ เจ้าพระยายมราชและองค์ด้วงกับพระพรหมบริรักษ์ คุมไพร่พลหมื่นพันเก้าร้อยคน ลงไปตามคลองขุดใหม่ ตั้งค่าย ณ เขาเชิงกระชุม แล้วทำค่ายตับเข้าประชิดค่ายญวน แล้วให้พูนดินขึ้นเป็นป้อมเอาปืนใหญ่ขึ้นยิง ได้ต่อรบกันอยู่เป็นสามารถ ฝ่ายกองทัพเรือโปรดให้เจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์เป็นแม่ทัพ จมื่นไวยวรนารถเป็นแม่ทัพหน้าคุมกองทัพกรุงเทพฯ พระยาอภัยพิพิธคุมกองทัพหัวเมืองฝ่ายตะวันออกรวมสามทัพคนห้าพันเศษ และให้คุมเสบียงอาหารไปส่งกองทัพเจ้าพระยาบดินทรเดชาทางเมืองกำปอดด้วย กองทัพพระยาอภัยพิพิธไปก่อน ได้รบกับเรือลาดตระเวรญวน ญวนแตกไป แล้วจึงได้ยกขึ้นตีเมืองประไทมาศ พระยาอภัยพิพิธขึ้นทางบก พระยาราชวังสรรตีป้อมปากน้ำ ทัพจหมื่นไวยวรนารถอยู่ที่ปากน้ำ ทัพหลวงตั้งอยู่ ณ เกาะกระทะคว่ำ ได้ต่อรบกับญวนประมาณหกเจ็ดวัน จหมื่นวัยวรนารถกลับมาเฝ้าเจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ ปรึกษากันเห็นว่าญวนต่อรบเป็นสามารถเกรงว่าทัพเรือโจดกจะยกมาช่วย ตกลงกันเลิกทัพกลับเข้ามา จมื่นไวยวรนารถแวะไปตรวจการที่พระราชรินทรส่งลำเลียงกองทัพ ทางบกที่เมืองกำปอด เห็นว่าส่งได้กึ่งหนึ่งแล้ว จะต้องส่งต่อไปก็ไม่เป็นที่ไว้ใจแกญวน จึงได้เลิกทัพพาเสบียงกลับเข้ามา ณ  กรุงเทพ ฯ พร้อมด้วยกองทัพหลวง ฝ่ายญวนที่เมืองประไทมาศเห็นว่ากองทัพเรือถอยมาแล้ว ก็ยกไพร่พลไปตีค่ายทัพบกที่คลองชุดใหม่ กองทัพไทยเหลือกำลังก็แตก เสียพระยาอภัยสงครามและพระองค์แก้วเขมรกับทั้งนายทัพนายกองเป็นอันมาก เจ้าพระยายมราชก็ถุกปืน กองทัพแตกขึ้นไปเมืองพนมเปญ ครั้งนั้นญวนหาได้ติดตามไม่ เสบียงอาหารที่เมืองพนมเปญขัดสนนัก เจ้าพระยาบดินทรเดชาจึงให้รื้อเก๋งและโรงปืนเรือของญวนที่เมืองพนมเปญเสีย แล้วตั้งค่ายรายกองทัพไว้สี่ค่ายแล้วถอยขึ้นมาตั้งเมืองอุดง ให้สร้างเมืองให้องค๋ด้วงใหม่ที่ตำบลคลองพระยาฤา และโปรดให้ส่งลำเลียงเสบียงอาหารที่เมืองกพงโสมต่อไป ฝ่ายฟ้าทะละหะและสมเด็จเจ้าพระยากลาโหม ซึ่งรับอาสาญวนจะมาเอาเมืองเขมรให้เป็นของญวนจงได้นั้น ก็พาองค์อิ๋มขึ้นมาตั้งค่ายอยู่ตำบลกะพงกระสัง แล้วเลื่อนขึ้นตั้งค่ายจะโรยตามา ญวนก็ส่งกองทัพติดตามมาเป็นอันมาก องค์อิ๋มและฟ้าทะละหะ สมเด็จเจ้าพระยา ก็มีหนังสือมาเกลี้ยกล่อมพระยาเขมรเป็นหลานฉบับหามีผู้ใดไปเข้าด้วยไม่ ภายหลังนักองค์อิ๋มถึงแก่พิราลัย นักองค์มีเจ้าหญิงมีหนังสือถึงองค์ด้วงขอให้รับขึ้นมาอยู่ด้วย ฝ่ายกองทัพญวนและกองทัพไทยก็เกิดข็เจ็บอันตราย และขัดสนด้วยเสบียงอาหาร ต่างคนตั้งรออยู่มิได้รบพุ่งกันและกัน ในขณะนั้นเจ้าพระยาบดินทรเดชาเข้ามาเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ณ กรุงเทพฯ ฝ่ายพระยาเขมรร่วมคิดกันสิบแปดคน มีพระยาจักรีเป็นต้นมีหนังสือไปถึงญวน จะจับองค์ด้วงส่งให้ เหตุการณ์นั้นไม่มิด องค์ด้วงจับได้ ฝ่ายญวนก็ยกทัพเข้ามาตามที่นัดหมาย พระพรหมบริรักษ์และองค์ด้วงก็มีใบบอกเข้ามายังกรุงเทพฯจึงโปรดให้เจ้าพระยาบดินทรเดชากลับออกไป ทัพญวนมาตีค่ายไทยที่เมืองพนมเปญแตกแล้ว ยกขึ้นมาตีเมืองอุตัง เจ้าพระยาบดินทรก็ออกต่อรบ ทัพญวนแตดพ่ายไป ครั้งนั้นญวนตายเป็นอันมาก จึงเพิ่มเมืองอุดงว่าเมืองอุดงฎาชัยแต่นั้น เจ้าพระยาบดินทรเดชาจัดกองทัพออกตั้งรายตามตัวเมืองไว้มั่นคง ฝ่ายญวนเห็นว่าจะทำการไม่สะดวกแล้ว จึงแต่งให้มาเจรจาด้วยเจ้าพระยาบดินทรเดชาว่าขอให้องค์ด้วงมีหนังสือไปอ่อนน้อม จะยอมส่งมารดาและญาติพี่น้องให้เป็นไมตรีกันสืบไป ฝ่ายเจ้าพระยาบดินทรเดชาสำคัญว่าจะเป็นอุบายก็นิ่งเสีย ญวนก็ให้มารบกวนตักเตือนอยู่เนืองๆ แล้วภายหลังแจ้งความว่า ดจวียตนามเทียวตรีองค์นี้คิดจะจัดการในเมืองเขมรโดยทางใหม่ ไม่ให้เป็นการรบพุ่งกันสืบไป เจ้าพระยาบดินทรเดชามีหนังสือบอกเข้ามา ก็ยังไม่เป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัย เกรงว่าจะเป็นอุบายของญวน ฝ่ายเจ้าพระยาบดินทรเดชาเห็นว่าเขมรเหนื่อยหน่ายในการรบพุ่งและได้ความลำบากอดอยากมาช้านาน ฝ่ายญวนก็ทำดีต่อ เอามารดาและบุตรภรรยามาล่อองค์ด้วงๆก็อยากจะใคร่พบมารดาและบุตรภรรยา ข้างฝ่ายกองทัพญวนและไทยก็ได้ความลำบากมาช้านาน การก็ไม่สำเร็จไปอย่างหนึ่งอย่างใดได้ เป็นแต่ผลัดกันได้กันเสียอยู่ดังนี้ เป็นช่องอันดีสมควรสมควรที่จะสงบการศึกกันคราวหนึ่งได้ จึงได้มีใบบอกชี้แจงเข้ามาตามความที่คิดเห็นนั้น ก็ได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้จัดการไปตามทางซึ่งจะสงบการสงคราม ในจุลสักราช ๑๒๐๘ นั้น เจ้าพระยาบดินทนเดชา จึงให้องค์ด้วงมีหนังสือไปขอมารดาและบุตรภรรยาจากญวน ญวนก็ส่งมาให้ตามสัญญาแล้วขอให้มีศุภอักษรและส่งบรรณาการขึ้นไปคำนับเมืองญวนสามปีครั้งหนึ่ง เหมือนเมื่อครั้งองค์สมเด็จพระนารายณ์รามาซึ่งเป็นบิดาขององค์ด้วง และขอให้ส่งครัวญวนแขกชเลยซึ่งองค์ด้วงจับส่งเข้ามาภายหลังสี่สิบคนเศษคืนออกไป ครั้งมีใบบอกเข้ามาก็ โปรดพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ส่งบรรณาการญวน และพระราชทานคน ๔๐ คนเศษนั้นคืนไป องค์ด้วงก็แต่งศุภอักษรเครื่องบรรณาการขึ้นไปคำนับญวน และส่งคนชเลยศึกให้ แล้วได้รับตราตั้งฝ่ายญวนเป็นเจ้าเขมรก๊กหนึ่ง ญวนส่งเจ้าหญิงบุตรองค์จันทร์มาให้ทั้งสิ้น แล้วก็เลิกทัพไปจากเขตรแดนเขมร ฝ่ายกองทัพไทยก็จัดการบ้านเมืองให้องค์ด้วงได้เป็นใหญ่ในเมืองเขมรเรียบร้อยสำเร็จแล้ว จึงโปรดให้พระยาเพชรพิไชยคุมเคราองยศออกไปเศกนักองค์ด้วง เป็นสมเด็จพระหริรักษรามาธิบดี เจ้ากรุงกัมพูชา องค์ด้วงก็แต่งเครื่องราชบรรณาการเข้ามาทูลเกล้าฯ ถวายตามอย่างแต่ก่อน แล้วทรงคิดถึงพระเดชพระคุณที่ทรงพระมหากรุณาให้ได้เป็นใหญ่ในกรุงกัมพูชาโดยกำลังกองทัพฝ่ายสยาม จึงได้เพิ่มเคริ่องราชบรรณาการกระวานขึ้นอีกปีละ ๕๐ หาบ แล้วให้องค์ราชาวดีซึ่งเป็นบุตรใหญ่เข้ามาพร้อมด้วยเจ้าพระยาบดินทรเดชา รับราชการฉลองพระเดชพระคุณอยู่ ณ กรุงเทพฯ การศึกกรุงสยามกับญวนก็เป็นอันขาดกันแต่กาลนั้นมา ด้วยประการฉะนี้

หมายเหตุ

พระธรรมเทศนาเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ในหนังสือยังไม่จบ ข้อมูลและสาระที่เหลือส่วนมากจะเป็นเรื่องของการทำสงคราม จึงขอยุติการคัดลอกไว้เพียงนี้  แต่จะขอคัดลอกบางส่วนจากหนังสือ  “การวิเคราะห์ในเชิงประวัติศาสตร์              เรื่องการเมืองการปกครองในรัชกาล พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว”  ซึ่งเป็นงานวิจัย จัดทำโดย รองศาสตราจารย์นันทนา กปืลกาญจน์ ในบทที่ ๑ บทนำ หน้า ๑-๓ ดังนี้

ความสำคัญและที่มาของปัญหาที่ทำการวิจัย

พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นพระราชโอรสองค์ที่ ๓ ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย และเป็นพระโอรสองค์ที่ ๑ ในเจ้าจอมมารดาเรียม ภายหลังทรางไดรับสถาปนาเป็น “สมเด็จพระศรีสุลาลัย”  ทรงพระราชสมภพ เมื่อวันจันทร์ เดือน ๔ แรม ๑๐ ค่ำ ปีมะแม ตรงกับวันที่ ๓๑ มีนาคม พ.ศ.๒๓๓๐  ณ.พระราชวังเดิม ทรงมีพระนามเดิมว่า “ทับ” ต่อมาได้รับสถาปนาเป็น “กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์” เมื่อมีวัยพอแก่การอุปสมบทได้ทรงบรรพชาและอุปสมบทเฉพาะหน้าพระพักตร์พระอัยกา คือ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม  แล้วเสด็จไปประทับที่วัดราชสิทธาราม (วัดพลับ) ครั้งลาผนวชแล้วได้รับราชการต่างพระเนตรพระกรรณสมเด็จพระราชบิดา จนเป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัยเป็นอย่างดียิ่ง พระองค์ทรงมีพระราชโอรสพระราชธิดา รวม ๕๐ พระองค์ เป็นพระราชโอรส ๒๒ พระองค์ พระราชธิดา ๒๙ พระองค์ แต่พระองค์ไม่ทรงมีพระอัครชายาที่เป็นเจ้า จึงไม่มีพระราชโอรสหรือพระราชธิดาเป็นเจ้าฟ้า แต่ทั้งนี้พระองค์ก็สามารถสถาปนาพระยศพระราชโอรสให้เป็นเจ้าฟ้าได้ แต่มิได้ทรงกระทำ

เมื่อพระชนม์อายุได้ ๒๑ พรรษา สมเด็จพระราชบิดาทรงมอบให้ชำระคดี ก็ทรงตัดสินคดีได้อย่างดี จนทรงได้รับตำแหน่งสำคัญๆต่างๆ เรื่อยมา พระองค์ทรงเห็นความสำคัญของการค้ากับต่างประเทศ ทรงมีเรือสำเภาส่งไปทำการค้าขายได้ผลดี จนสมเด็จพระราชบิดาทรงตรัสล้อเลียนว่า “เจ้าสัว” นอกจากจะทรงมีราชการมากแล้ว พระองค๋ยังทรงสามารถปลีกเวลาไปเฝ้าสมเด็จพระราชบิดาได้ทุกวัน ครั้นกรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์เสด็จทิวงคตใน พ.ศ.๒๓๖๐ พระองค์ทรงได้รับตำแหน่งกรมพระตำรวจอีกตำแหน่งหนึ่ง

เมื่อสินแผ่นดินรัชกาลที่ ๒ ที่ประชุมเห็นว่าในเวลานั้นพระนครก็ยังตั้งขึ้นไม่สู้นาน การสงครามกับฝ่ายพม่าก็ยังมี จึงเห็นพร้อมกันว่า กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ซึ่งมีพระชนมายุมาก และเคยทรงพระราชกิจต่างๆ ใหญ่น้อยทั่วถึง ขึ้นครองราชย์สมบัติเหมาะสมที่สุด พระองค์จึงทรงได้รับราชสมบัติสืบต่อจากสมเด็จพระราชบิดาเป็นรัชกาลที่ ๓ ในพระราชวงศ์จักรี ทรงจัดพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เมื่อวันที่ ๑ สิงหาคม พ.ศ.๒๓๖๗ และทรงเลื่อนยศเลื่อนตำแหน่งพระบรมวงศานุวงศ์ และบรรดาข้าราชการต่างๆอีกด้วย ส่วนตำแหน่งกรมพระราชวังบวรสถานมงคลนั้น ทรงสถาปนาเสด็จอา คือ  กรมหมื่นศักดิพลเสพย์ พระราชโอรสในรัชกาลที่ ๑ เป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคลต่อมา

พระราชกรณียกิจในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ ทรงมีมากมายหลายประการด้วยกัน ที่สำคัญคือ ทรงทำสัญญาทางพระราชไมตรีกับอังกฤษ โดยอังกฤษส่งกัปตัน เฮนรี เบอร์นี เป็นทูตอังกฤษเข้ามาเจรจา ต่อจากอังกฤษก็มีสหรัฐอเมริกา ซึ่งได้นำเอาวิชาการต่างๆ มาด้วย เช่น พิมพ์ดีด ถ่ายรูป ปลูกฝี วิชาการแพทย์ และเครื่องจักรเข้ามาในเมืองไทยเป็นครั้งแรก  ทรงปราบปรามเมืองประเทศราชต่างๆ  ที่คิดแข็งเมือง ซึ่งมีปฏิกิริยามาแล้วตั้งแต่รัชกาลที่ ๑ และแสดงตัวเป็นเอกราชโดยเปิดเผย ได้แก่ ญวน เขมร และเวียงจันทน์ ต้องส่งกำลังไปปราบปราม ทรงได้ชัยชนะในที่สุด ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้ซ่อมแซมสิ่งก่อสร้างในสมัยรัชกาลที่ ๑ เช่น วิหารพระพุทธไสยาสน์ วัดพระเชตุพน และอื่นๆ

พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงปฏิบัติภารกิจมากมายเป็นคุณแก่พระราชอาณาจักรอย่างใหญ่หลวง แม้พระองค์จะมีสุขภาพดีแข็งแรงตลอดพระชนม์ชีพ ครั้นทรงพระประชวรลงก็ทรงทราบว่าจะไม่ทรงรอด จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ให้เรียกขุนนางที่ทรงใช้สอยสนิทเข้ามาเฝ้า ทรงปรารภว่าพระองค์อาการหนักคงจะถวายพระโอสถไม่ได้ และมีพระราชดำรัสว่า “ถ้าพระองค์จะทรงเลือกเจ้านายพระองค์ใดขึ้นครองราชย์แทนอาจจะไม่พอใจแก่คนทั้งปวง จึงขอให้ไปบอกที่ประชุมเมือสิ้นแผ่นดิน ถ้าเห็นพระราชวงศ์พระองค์ใดมีวัยวุฒิปรีชารอบรู้ราชนุวัตร ก็ให้ร่วมใจกันยกท่านขึ้นครองราชย์บัลลังก์ แล้วทรงขอให้สามัคคีกันไว้ให้มากๆ”  พระบาทสมเด็จพระนุ่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงอยู่ในพระสติสัมปชัญญะเป็นปกติเรียบร้อยมาตลอด แต่พระอาการกลับยิ่งทรุดหนักลงตามลำดับ จนเสด็จสวรรคต เมื่อวันที่ ๒ เมษายน พ.ศ.๒๓๙๔ พระชนมายุ ๖๓ พรรษา ทรงอยู่ในราชสมบัติเป็นเวลา ๒๗ ปี

วัตถุประสงค์ในการวิจัย

๑.เพื่อวิเคราะห์ผลกระทบจากการที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงครองราชย์ก่อนพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

๒.เพื่อศึกษาถึงความสัมพันธ์ทางการทูตกับต่างประเทศ : อังกฤษและสหรัฐอเมริกา ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว

๓.เพื่อศึกษาถึงความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้านในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว

๔.เพื่อศึกษาถึงพระราชกรณียกิจที่สำคัญๆ ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พ.ศ.๒๓๖๗-๒๓๙๔

๕.เพื่อศึกษาสภาพการเมืองปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว การเลือกผู้ที่สืบราชสันตติวงศ์

ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ

๑.การศึกษาเรื่องนี้จะเป็นการสะสมองค์แห่งความรู้ (Body of Knowledge) ในเรื่องของพระราชกรณียกิจในการปกครองทำนุบำรุงบ้านเมืองให้เจริญของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว

๒.การศึกษาในเรื่องนี้เพื่อแสดงให้เห็นว่าการวิเคราะห์ในเชิงประวัติศาสตร์ไม่ใช่การศึกษาที่ผูกติดกับอดีต หรือการศึกษาอดีตเพื่ออดีต แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในอดีตก็เป็นประวัติศาสตร์ที่จะมีผลต่ออนาคตด้วยเช่นกัน

๓.ผลของการวิจัยนี้จะได้ข้อเสนอใหม่ในเรื่องพระราชกรณียกิจ พระอุปนิสัยและการวางพระองค์ของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวที่กอปรไปด้วยเหตุผลและหลักฐานที่ชัดเจนยิ่งขึ้น

๔.ใช้เป็นตำราสอนวิชาทางสังคมศาสตร์ ทั้งวิชาประวัติศาสตร์ รัฐศาสตร์ และเศรษฐศาสตร์

ขอบเขตของการวิจัย

งานวิจัยครั้งนี้มุ่งจะวิเคราะห์ถึงเหตุการณ์สำคัญๆ และพระราชกรณียกิจที่สำคัญๆ ในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พ.ศ.๒๓๖๗-๒๓๙๔ ในการศึกษาจะมุ่งชี้ให้เห็นพระราชกรณียกิจด้านต่างๆ ที่ทรงปฏิบัติราชการด้วยพระปรีชาญาณ เฉียบแหลมและเข้มแข็ง ประกอบด้วยอุตสาหพยายามมั่นคงอยู่มิได้เสื่อมคลายจนตลอดพระชนมายุ  พระองค์มีพระราชศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาเป็นอย่างยิ่ง ได้ทรงสร้างพระพุทธปฏิมาหลายองค์ ทรงสร้างและทรงปฏิสังขรณ์วัดหลายวัด ทรงรักษาความมั่นคงของพระราชอาณาจักรและเมืองประเทศราชให้มีอิสระ ยกเว้นเพียงรายสองรายเท่านั้น เพื่อให้บ้านเมืองมีความปลอดภัย

ผลการวิจัยที่เกี่ยวข้อง

การดำเนินนโยบายต่างประเทศของไทยต่อมหาอำนาจตะวันตกในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (พ.ศ.๒๓๖๗-๒๓๙๔) (วงเดือน นาราสัจจ์ ๒๕๑๘) มีข้อความวิจารณ์ตอนหนึ่งว่า ข้อตกลงทางการเมืองระหว่างไทยกับอังกฤษในสนธิสัญญาเบอร์นี สะท้อนให้เห็นการดำเนินนโยบายของไทยต่ออังกฤษในขณะนั้นว่า แม้สถานการณ์แวดล้อมจะบีบบังคับให้ไทยต้องยอมรับสัมพันธไมตรีกับอังกฤษ ซ่งเป็นชาติมห่อำนาจตะวันตกที่เข้ามามีบทบาทในภูมิภาคแถบนี้ตั้งแต่ต้นคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ แต่ผลของการตกลงทางการเมืองในสนธิสัญญาเบอร์นีชี้ให้เห็นว่า รัฐบาลไทยดำเนินนโยบายคบกับฝรั่งชาติตะวันตกด้วยความระมัดระวัง และคำนึงถึงผลประโยชน์ตลอดจนความมั่นคงของชาติเป็นหลักสำคัญ นอกจากนี้ยังเป็นการดำเนินนโยบายที่ชาญฉลาดเพราะสามารถนำเอาผลประโยชน์ทางการค้าของอังกฤษมาต่อรองให้รัฐบาลไทยบรรลุถึงผลประโยชน์และความได้เปรียบทางการเมือง การเจรจาในครั้งนี้เป็นเครื่องยืนยันได้ว่า อังกฤษเพียงแต่สนใจผลประโยชน์ทางการค้ากับไทย แต่ยังไม่สนใจที่จะเข้าแทรกแซงทางการเมืองของไทยในแหลมมลายูอย่างจริงจัง

คัดลอกโดย ม.ล.ชาญโชติ ชมพูนุท

๒๘ ธันวาคม ๒๕๕๘

 

 

แก้ไขล่าสุด ใน วันจันทร์ที่ 28 ธันวาคม 2015 เวลา 01:15 น.  
Home > Articles > สังคม วัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ > พระธรรมเทศนาเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (๙)

About Us

ศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ (ศบม.) เป็นองค์กรที่พัฒนาและจัดทำโครงการเพื่อทำประโยชน์ให้สังคม เป็นองค์กรสนับสนุนการดำเนินงานของภาครัฐ ช่วยแก้ปัญหาผู้ประกอบการภาคธุรกิจบริการที่ขาดแคลนบุคลากรที่มีมาตรฐานในการให้บริการ
อ่านเพิ่มเติม

มูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ ์

 iHDC Profile
บัญชีรายชื่อกรรมการ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียน การเปลี่ยนแปลงกรรมการของมูลนิธิ
เอกสารประชาสัมพันธ์ โครงการ HMTC.pdf
เอกสารแนะนำโครงการ HMTC 1.pdf
เอกสารโครงการ HMTC 2 คุณสมบัติผู้เข้าร่วมโครงการ.pdf
iHDC นิติบุคคล.pdf
iHDC บุคคล.pdf
iHDC บุคคลเครือข่าย.pdf
รายงานการประชุม 6 มีนาคม 2560.pdf
ข้อบังคับมูลนิธิ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียนจัดตั้งมูลนิธิ
Ihdc-Profile and Roadmap 2016-2019 Mar 23 2560.pdf
รายงานการประชุมใหญ่คณะกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ 2559.pdf
คำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ สาขาวิชาชีพ.pdf
รายงานการประชุมใหญ่วันที่ 18 ธ ค 2558 v 3.pdf
รายงานการประชุม วันที่ 24 ธันวาคม 2557 updated 4 มีนาคม 2558.pdf
iHDC-invitation Letter.doc
iHDC-Member Form Thai.doc
iHDC-Member Form English.doc
รายงานการประชุมกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ วันที่ 15 มกราคม 2556 ฉบับสมบูรณ์


thaibetter
พัฒนาประเทศไทยแบบทวีคูณ และยั่งยืน ( ททค )

Login


แบบสำรวจ

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

สถิติเว็บไซด์

สมาชิก : 5606
Content : 3049
เว็บลิงก์ : 26
จำนวนครั้งเปิดดูบทความ : 8601264

facebook

Twitter


บทความเก่า