Thaiihdc.org

  • เพิ่มขนาดตัวอักษร
  • ขนาดตัวอักษรปกติ
  • สดขนาดตัวอักษร
Home > Articles > การศึกษา > ความยุติธรรม

ความยุติธรรม

พิมพ์ PDF

หนังสือ ความยุติธรรม แปลจาก Justice : What’s the Right Thing to Do? โดย Michael J. Sandel แปลโดยสฤณี อาชวานันทกุล ตีความความคิดเห็นของผู้คนจากเหตุการณ์ใหญ่ๆ ที่เผชิญ เริ่มจากพายุเฮอริเคน ที่ส่งผลให้มีการโก่งราคาสินค้าอย่างหน้าเลือด ตามมาด้วยเรื่องธุรกิจให้กู้ผ่อนส่งบ้านล่มในสหรัฐอเมริกาปี ค.ศ. 2008 – 2009 ก่อความเสียหายถึง ๑๑ ล้านล้านเหรียญ เท่ากับจีดีพีของเยอรมัน ฝรั่งเศส และอังกฤษรวมกัน รัฐต้องใช้เงินภาษี ๗ แสนล้านเหรียญอัดฉีดไม่ให้บริษัทล่ม เพราะเกรงจะดึงระบบเศรษฐกิจทั้งระบบให้ล้มตามไปด้วย แล้วบริษัทก็เอาเงินเหล่านั้นไปจ่ายโบนัสแก่ผู้บริหาร (ที่เป็นผู้ทำให้บริษัทล่ม) เป็นเงินก้อนโต บางคนได้ระดับสิบล้านเหรียญ และอีกเหตุการณ์หนึ่งคือข้อถกเถียงเรื่องการให้เหรียญกล้าหาญแก่ทหารผ่านศึก ตะวันออกกลางที่ได้รับบาดแผลทางใจ


เหตุการณ์ใหญ่ๆ กระทบคนจำนวนมาก และมีความซับซ้อน มองได้หลายมุม นำไปสู่การเรียนรู้ ของสังคมอย่างมหาศาล เพราะเกิดข้อคิดเห็นโต้แย้งมองต่างมุมได้มาก แล้วศาสตราจารย์แซนเดล ก็นำมาแจกแจงตีความด้วยแว่นตา (ที่จริงแว่นใจ) ๓ แว่น คือ สวัสดิการเสรีภาพ และคุณธรรม นี่คือสามมุมของเรื่องความยุติธรรม ที่มีทั้งส่วนส่งเสริมกัน และขัดแย้งกัน แต่ไม่ว่าแว่นไหนต้องสวม ให้ถูกบริบทหรือกาละเทศะและเจตจำนง


ผมตั้งใจจะอ่านหนังสือเล่มนี้แบบอ่านเร็วเหมือนเล่มก่อนๆ เช่นเรื่องภาวนาศึกษา ที่ลงบล็อกไปเมื่อวันที่ ๑๐ ตุลาคม แต่เมื่ออ่านหนังสือความยุติธรรมเล่มนี้ ก็พบว่าอ่านแบบนั้นไม่ได้ เพราะผมไม่คุ้นกับเรื่องราว และวิธีตีความที่ยกมา รวมทั้งผมสนใจประเด็นว่า จะนำความรู้ความเข้าใจที่ได้มาสร้างระบบการเรียนรู้ เพื่อสร้างพลเมืองดีรุ่นใหม่ได้อย่างไร เพราะผมกังวลว่า เวลานี้สังคมกำลังสร้างคนรุ่นใหม่ที่คุณธรรมต่ำ??!!


ย่อหน้าแรกของหน้า ๓๖ “การถามว่าสังคมยุติธรรมหรือไม่ คือการถามว่ามันจัดสรรสิ่งต่างๆ ที่เรามองว่ามีค่าอย่างไร รายได้และความมั่งคั่ง หน้าที่และสิทธิ อำนาจและโอกาส ตำแหน่งและเกียรติยศ สังคมที่ยุติธรรมจัดสรรสินค้าเหล่านี้ด้วยวิธีที่ถูกต้อง ทำให้คนแต่ละคนได้รับสิ่งที่ตนคู่ควร คำถามที่ยากกว่า คือ แต่ละคนควรได้รับอะไรบ้างและเพราะอะไร” หนังสือเล่มนี้มุ่งตอบคำถามเหล่านี้ ที่น่าสนุกคือคำตอบ ไม่ตายตัว สามารถตอบต่างกันในสถานการณ์ที่แตกต่างกัน เนื่องจากสังคมและชีวิตของผู้คนซับซ้อนยิ่ง


โปรดสังเกตว่าข้อคิดเห็นและข้อโต้แย้งอยู่บนฐานคิด “ได้” หรือ “เอา” ของแต่ละคน หากกลับฐานคิดเป็น “ให้” “เสียสละ” เพื่อประโยชน์ส่วนรวม ข้อคิดเห็นและโต้แย้งจะเปลี่ยนไปทันที นี่คือมุมมองเชิงคุณธรรมในสายตาของผม และเป็นแนวทางที่ผมหมั่นฝึกฝนตนเอง


อ่านถึงกลางบทที่ ๒ หลักความสุขสูงสุด / อรรถประโยชน์นิยม ผมได้เรียนรู้ความคิดโต้แย้งที่ประเทืองปัญญายิ่ง แล้วก็เกิดความคิดขึ้นว่า ความคิดสุดโต่งไปทางใดทางหนึ่งไม่เหมาะสม และสังคมควรเปิดโอกาสให้คนที่มีความเชื่อแตกต่างกัน มีชีวิต มีการแลกเปลี่ยนโต้แย้งกัน อย่างที่เราเห็นอยู่ในปัจจุบัน คือผมเชื่อในสังคมพหุวัฒนธรรม พหุลักษณ์


ศาสตราจารย์แซนเดลเขียนหนังสืออ่านง่ายมาก ทั้งๆ ที่เป็นเรื่องเข้าใจยาก โดยใช้วิธีอธิบายทฤษฎี ๓ ทฤษฎีคือ สวัสดิการเสรีภาพ และคุณธรรม ดังกล่าวแล้ว หลังจากนั้นจึงยกเรื่องจริงในสังคม มาเป็นกรณีศึกษา ตีความด้วยแต่ละทฤษฎีเปรียบเทียบกัน หรือโต้แย้งกัน


บางเรื่องเป็นประวัติศาสตร์ เช่นเรื่องการเกณฑ์ทหารในสงครามกลางเมือง (หน้า ๑๐๖ - ๑๒๓) อ่านแล้วผมฝันอยากเห็นนักวิชาการด้านสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ไทย ยกเรื่องราวในอดีตมาตีความ เพื่อทำความเข้าใจมนุษย์และเข้าใจสังคม ในมิติที่ลึก เช่นนี้บ้าง


วิธีเขียนแบบตั้งคำถาม แล้วให้คำตอบหลายคำตอบ บนฐานคิดที่แตกต่างกัน ประเทืองปัญญาผู้อ่านมาก โปรดสังเกตว่า ข้อโต้แย้งเรื่องความยุติธรรมไม่ได้เป็นเรื่องระหว่างรัฐกับประชาชนเท่านั้น แต่ยังเกี่ยวข้อง กับความสัมพันธ์ระหว่างปัจเจกบุคคลด้วย และมีปัจจัยพื้นฐานที่ก่อข้อโต้แย้งคือความไม่เป็นธรรม หรือไม่เท่าเทียม (inequity) กันในสังคม ดังกรณีของการเกณฑ์ทหารในสงครามกลางเมืองอเมริกัน ทำให้เกิดวลี “สงครามของคนรวย สนามรบของคนจน” ซึ่งถ้าคิดให้ดีๆ อาจไม่ใช่แค่กรณีการสงครามแบบฆ่าฟันเท่านั้น สงครามการเมืองในหลายประเทศในปัจจุบัน (ประเทศไทย?) ก็น่าจะคล้ายกัน


บทที่ ๕ ความคิดของ Immanuel Kant สนุกที่สุดสำหรับผม เพราะค้านท์เชื่อในการทำดีเพราะมันดี ไม่ทำเพื่อหวังผลตอบแทน ทำให้ผมนึกถึงครูเรฟ ที่มุ่งสร้าง “มนุษย์ระดับ ๖” ดังใน บันทึกนี้ และเมื่ออ่านถึงหน้า ๑๖๓ ผมก็นึกถึงท่านพุทธทาส เพราะค้านท์บอกว่า “การทำดีหมายถึงการทำตัวตามหน้าที่ หน้าที่ตามกฎศีลธรรม กฎศีลธรรมประกอบด้วย .... ให้เราปฏิบัติต่อทุกคนด้วยความเคารพในฐานะจุดหมาย ในตัวเอง” ตรงกับ “ธรรมะคือหน้าที่” ของท่านพุทธทาส


ในย่อหน้าสุดท้ายของบทที่ ๕ ศ. แซนเดล ลงท้ายว่าพันธสัญญาทางสังคมในจินตนาการ (ที่พึงปรารถนา) ที่ค้านท์กล่าวไว้นั้น เป็นอย่างไร ค้านท์ไม่ได้พยายามตอบคำถามนี้ ผู้ที่จะมาเป็นผู้ตอบคือ John Rawls ซึ่งมีรายละเอียดในบทที่ ๖ สรุปว่า เราควรมีสังคมที่เท่าเทียมกันมากกว่านี้ ซึ่งผมตีความว่า กติกาสังคม เพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขวัฒนาถาวร ต้องมีความซับซ้อน และเอื้อเฟื้อต่อกัน

บทที่ ๗ ข้อถกเถียงเรื่องโควตารับนักศึกษาเข้ามหาวิทยาลัย เป็นการไม่ยุติธรรมหรือไม่ มีการฟ้องร้อง ต่อศาลบ่อยๆ ในสหรัฐอเมริกา ประเทศไทยเรามีระบบโควตามากขึ้น ผู้บริหารมหาวิทยาลัยไทยควรศึกษา ทำความเข้าใจเหตุผลเรื่องนี้ไว้ แหล่งความรู้แหล่งหนึ่งคือบทที่ ๗ ในหนังสือเล่มนี่ หลักการสำคัญที่ใช้ โต้แย้งคือ “การรับนักศึกษาไม่ได้เป็นรางวัลสำหรับผู้สมัคร แต่เป็นวิธีบรรลุเป้าหมายซึ่งมีคุณค่าทางสังคม” รัฐจัดการศึกษาระดับอุดมศึกษาเพื่อบรรลุเป้าหมายที่มีคุณค่าทางสังคม ซึ่งมีความซับซ้อน ต้องคำนึงถึงผล ในหลายมิติ ไม่ใช่แค่จัดให้คนที่ทำคะแนนสอบได้ดีที่สุดเข้าเรียน


แล้วหนังสือก็ย้อนยุคกลับไปกว่าสองพันปี สู่ปรัชญาของอริสโตเติล ในบทที่ ๘ ที่เสนอว่า “ความยุติธรรม หมายถึงการมอบสิ่งที่ผู้คนคู่ควรแก่พวกเขา” ซึ่งนำไปสู่คำถาม “ใครคู่ควรกับอะไร” ซึ่งต้องถามต่อว่า “ ‘อะไร’ นั้นมีไว้เพื่อเป้าประสงค์อะไรต่อสังคม” เมื่อตอบคำถามหลังนี้ได้ ก็จะตอบได้ว่า ควรจัดสรรสิ่งนั้นให้แก่คน แบบไหน จึงจะเกิดประโยชน์ต่อสังคมสูงสุด


วิธีกำหนดเป้าประสงค์ของกิจกรรมต่างๆ เช่น มหาวิทยาลัย การเมือง ไม่ใช่มีวิธีที่ถูกต้องวิธีเดียว และเมื่อเวลาและเหตุการณ์ผ่านไป เป้าประสงค์ของสิ่งนั้นๆ ก็อาจเปลี่ยนไปด้วย อย่างเป้าประสงค์ของ “การเมือง” ของอริสโตเติล (การหนุนเสริมให้เกิดพลเมืองดี และปลูกฝังอุปนิสัยที่ดี) แตกต่างจากเป้าประสงค์ ของการเมืองในปัจจุบันอย่างสิ้นเชิง เป้าหมายของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดเมื่อเริ่มก่อตั้ง (เพื่อฝึกอบรมพระ ผู้สอนศาสนาในโบสถ์) ก็แตกต่างจากเป้าประสงค์ปัจุบันโดยสิ้นเชิง


เรื่องเป้าประสงค์ของกิจการ หรือองค์การ นี่แหละที่เป็นบ่อเกิดขั้นพื้นฐานของความขัดแย้ง หรือวิวาทะในสังคม และในวงการศาล มีตัวอย่างในหนังสือมากมาย


แล้วเราก็มาถึงบทสุดท้าย บทที่ ๑๐ ความยุติธรรมและความดีสาธารณะ ที่ ศ. แซนเดล เฉลยว่า ตนชอบแนวทางนี้ ซึ่งเป็นแนวทางที่ ๓ ใน ๓ แนวทางแห่งความยุติธรรม อันได้แก่ (๑) แนวทางสร้าง อรรถประโยชน์หรือสวัสดิการสาธารณะสูงสุด (๒) แนวทางเคารพเสรีภาพของการตัดสินใจของปัจเจกบุคคล และ (๓) แนวทางปลูกฝังคุณธรรมและใช้เหตุผลว่าด้วยความดีสาธารณะ


ผมมีความเห็นว่า ความยุติธรรมต้องคำนึงถึงปัจจัยตามแนวทางทั้งสามแนวทางประกอบกัน และเห็นด้วยกับ ศ. แซนเดลว่า ต้องให้น้ำหนักแนวทางที่ ๓ มากที่สุด และต้องเริ่มที่การเลี้ยงดูลูก และการศึกษา ที่เอาใจใส่ตามหลัก early childhood developmentและ 21st Century Education



วิจารณ์ พานิช

๑๑ ก.ย. ๕๙


คัดลอกจาก: https://www.gotoknow.org/posts/616897

แก้ไขล่าสุด ใน วันพฤหัสบดีที่ 13 ตุลาคม 2016 เวลา 20:39 น.  
Home > Articles > การศึกษา > ความยุติธรรม

About Us

ศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ (ศบม.) เป็นองค์กรที่พัฒนาและจัดทำโครงการเพื่อทำประโยชน์ให้สังคม เป็นองค์กรสนับสนุนการดำเนินงานของภาครัฐ ช่วยแก้ปัญหาผู้ประกอบการภาคธุรกิจบริการที่ขาดแคลนบุคลากรที่มีมาตรฐานในการให้บริการ
อ่านเพิ่มเติม

มูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ ์

 iHDC Profile
บัญชีรายชื่อกรรมการ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียน การเปลี่ยนแปลงกรรมการของมูลนิธิ
เอกสารประชาสัมพันธ์ โครงการ HMTC.pdf
เอกสารแนะนำโครงการ HMTC 1.pdf
เอกสารโครงการ HMTC 2 คุณสมบัติผู้เข้าร่วมโครงการ.pdf
iHDC นิติบุคคล.pdf
iHDC บุคคล.pdf
iHDC บุคคลเครือข่าย.pdf
รายงานการประชุม 6 มีนาคม 2560.pdf
ข้อบังคับมูลนิธิ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียนจัดตั้งมูลนิธิ
Ihdc-Profile and Roadmap 2016-2019 Mar 23 2560.pdf
รายงานการประชุมใหญ่คณะกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ 2559.pdf
คำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ สาขาวิชาชีพ.pdf
รายงานการประชุมใหญ่วันที่ 18 ธ ค 2558 v 3.pdf
รายงานการประชุม วันที่ 24 ธันวาคม 2557 updated 4 มีนาคม 2558.pdf
iHDC-invitation Letter.doc
iHDC-Member Form Thai.doc
iHDC-Member Form English.doc
รายงานการประชุมกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ วันที่ 15 มกราคม 2556 ฉบับสมบูรณ์


thaibetter
พัฒนาประเทศไทยแบบทวีคูณ และยั่งยืน ( ททค )

Login


แบบสำรวจ

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

สถิติเว็บไซด์

สมาชิก : 5603
Content : 3043
เว็บลิงก์ : 26
จำนวนครั้งเปิดดูบทความ : 8591664

facebook

Twitter


ล่าสุด

บทความเก่า