Thaiihdc.org

  • เพิ่มขนาดตัวอักษร
  • ขนาดตัวอักษรปกติ
  • สดขนาดตัวอักษร
Home > Articles > สังคม วัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ > แรงบันดาลใจ จาก 'ในหลวง' สู่ 'เยาวชนคนหนุ่มสาว'

แรงบันดาลใจ จาก 'ในหลวง' สู่ 'เยาวชนคนหนุ่มสาว'

พิมพ์ PDF

แรงบันดาลใจ จาก 'ในหลวง' สู่ 'เยาวชนคนหนุ่มสาว'


          ดร.สุริยะใส กตะศิลา

          รองคณบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา

          วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม ม.รังสิต


          www.thailandreform.org

          facebook.comthailandreform.institute


          นับแต่วันที่ 13 ตุลาคม ในวันที่ในหลวงเสด็จสวรรคต ไม่ใช่เรื่องแปลกใจที่เราเห็นคลื่นพสกนิกรแน่น รพ.ศิริราช เพราะความรักความผูกพันของคนไทยที่มีต่อในหลวง เกินจะบรรยาย และโดยเฉพาะการนัดรวมตัวกันร่วมร้องเพลงสรรเสริญพระบารมีที่ท้องสนามหลวงจนดังกึกก้องไปทั่วโลกนั้น เป็นภาพที่ประกันและบอกคนทั้งโลกได้เป็นอย่างดีว่า "ในหลวง" ทรงเป็นศูนย์รวมจิตใจของคนไทยมากมายขนาดไหน แต่ที่ผมแปลกใจไม่น้อยทีเดียว เมื่อปรากฏภาพเยาวชนคนหนุ่มสาว คนรุ่นใหม่ นิสิตนักศึกษา หลั่งไหลมาส่งเสด็จสู่สวรรคาลัย ถวายสักการะพระบรมศพ ต่อเนื่องมาจนถึงการจัดกิจกรรมจิตอาสาที่สนามหลวงในรูปแบบต่างๆ พวกเขาทำหน้าที่คอยบริการ เอื้ออำนวยให้ประชาชนเข้าร่วมแสดงความอาลัยที่ทยอยมาทั่วสารทิศ โดยไม่มีใครสั่งให้ทำ และนับวันยิ่งพบว่ากิจกรรมจิตอาสาอันเนื่อง จากกาลครั้งนี้ได้แผ่ขยับขยายไปในสังคมคนหนุ่มสาว สถาบันการศึกษาจัดกิจกรรมกันไม้เว้นแต่ละวัน

          เดิมทีผมนึกแต่เพียงว่า คนรุ่นพ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย เท่านั้นที่ผูกพันกับในหลวง แต่ภาพที่เห็นตลอดสัปดาห์กว่าๆ ที่ผ่านมา ผมคิดไม่ถึงจริงๆ ว่าคนหนุ่มสาวจะผูกพันและอยู่ในสายธารอาลัยรักและแสดงออกถึงความผูกพันในแบบฉบับที่มีต่อพ่อได้มากมายและไม่คาดฝันขนาดนี้ ไม่เคยคิดว่าคนหนุ่มสาวยุคนี้จะใส่ใจ สนใจกับพระราชกรณียกิจที่พระองค์ทรงงานหนักตลอดเวลา

          ผมถามนักศึกษาที่ผมสอนว่า สิ่งแรกที่เขาเห็นเวลาที่นึกถึงในหลวงคืออะไร พวกเขาบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า ความเสียสละ เหน็ดเหนื่อยที่พ่อต้องเสด็จฯ ไปยังถิ่นทุรกันดาร ป่าเขา ชนบทห่างไกล หรือชายขอบ นั่นเป็นภาพและความทรงจำของพวกเขาที่สัมผัสได้เด่นมากที่สุด

          คนหนุ่มสาวยุคนี้โตมาในสังคมเมืองและเริ่มเข้าสู่ความเป็นเมืองที่เรียกว่า "ยุคศิวิไลซ์" วิถีพวกเขาถูกตัดขาดจากชนบทชายขอบ จนมีทัศนคติว่า ชนบทเป็นสังคมล้าหลังไม่พัฒนา แต่พวกเขาแปลกใจทำไม "พ่อ" ซึ่งเป็นถึง "พระราชา" พระเจ้าแผ่นดิน กลับใช้ชีวิตทั้งชีวิตของพ่อขลุกอยู่กับเรื่องราวของชนบทชายขอบเหล่านี้

          ลงนั่งคุกเข่าถามไถ่ สัมผัสลึกถึงความทุกข์ยากของคนจน คนด้อยโอกาสที่ถูกทิ้งไว้ซอกหลืบเส้นทาง "การพัฒนา" ทั้งที่คนระดับล่างกลุ่มนี้เป็นคนส่วนใหญ่ของสังคมก็ตาม

          พวกเขาบอกผมว่าไม่ค่อยได้ดูข่าวหรือศึกษา "พระราชกรณียกิจ" ของพ่ออย่างจริงจัง ออกจะสงสัยด้วยว่านั่นมันเป็นหน้าที่ของผู้บริหารบ้านเมืองมิใช่หรือ? หรือเพราะเสียงของคนจนคนด้อยโอกาสไม่มีความหมายเท่าที่ควร ต่างจากพ่อที่ใส่ใจคนเหล่านี้ตลอดเวลา ทรงงานหนัก 3,000-4,000 โครงการพระราชดำริเพื่อช่วยเหลือชาวบ้านคนยากคนจน

          หลายคนโทร.มาขอลาผม ไม่เข้าเรียน เพราะไปทำกิจกรรมจิตอาสาที่สนามหลวง บางคนที่เวลาเรียนไม่ค่อยจะเอาไหนเท่าไร บอกผมว่า เมื่อคืนผมนอนค้างที่สนามหลวง แจกข้าวแจกน้ำชาวบ้านที่มาจากต่างจังหวัด จึงขออนุญาตลาเรียน

          ผมบอกพวกเขาว่า อย่าเรียกว่า "ลาเรียน" เพราะสิ่งที่พวกคุณกำลังทำคือการเรียนในวิชาที่สำคัญที่สุด คือ "เรียนรู้ที่จะเสียสละและทำความดี"

          บางคนยอมยกร้านก๋วยเตี๋ยวเล็กๆ ที่ลงทุนทำนอกเวลาเพื่อเก็บหอมรอมริบเป็นค่าเล่าเรียน เพื่อทำก๋วยเตี๋ยว  ข้าวกล่อง ไปแจกที่สนามหลวง บางคนปกติหลังเลิกเรียนจะกลับบ้านหรือไปเดินห้าง กลับมานั่งตัดริบบิ้นดำเพื่อแจกจ่ายที่มหาวิทยาลัยรังสิตและที่สนามหลวง

          ผมไม่คิดว่านี่เป็น "แฟชั่น" แต่ถ้ามันจะเป็นแค่ "แฟชั่นจิตอาสา" หรือ "แฟชั่นทำความดี" ตามกระแสวูบวาบ มันก็ยังคงดีกว่าแฟชั่นที่ไร้สาระ มอมเมาพวกเขาจนโงหัวไม่ขึ้น มิใช่หรือ?

          และตั้งแต่ผมเกิดมา ผมไม่เคยเห็นกิจกรรมหรือโครงการใด ที่ดึงเอาพลังแห่งความเสียสละ จิตอาสาของผู้คนในสังคมออกมาได้มากมายมหาศาลขนาดนี้ มากมายจนผมรู้สึกว่า ถ้าเราเอาพลังเหล่านี้ต่อยอดไปสร้างบ้านแปงเมือง ประเทศเราจะมีความหวังและน่าอยู่มากขึ้น

          วันก่อนผมสอนวิชา "ภาวะผู้นำ (Leadership)" มีนักศึกษา 50 กว่าคน ผมนำสารคดีพระราชประวัติในหลวงมาฉาย ด้วยหวังว่าตอนท้ายคาบจะแบ่งกลุ่มให้พวกเขาอภิปราย "ความเป็นผู้นำของในหลวง" ในมิติสังคม ธุรกิจและการเมือง พอสารคดีจบลง หลายคนนั่งก้มหน้าน้ำตาคลอ เงียบสนิท ผมใจหวิว อ่อนแรงเมื่อเห็นบรรยากาศในห้อง และรับรู้ว่าตัวผมเองก็ไม่พร้อมที่จะบรรยายและแลกเปลี่ยนกับนักศึกษาได้ต่อ จนต้องยกเลิกคลาสเลื่อนไปอภิปรายสัปดาห์หน้า เพราะนักศึกษากว่าครึ่งห้องทั้งชายหญิงร้องไห้

          ผมบอกกับตัวเองตลอดว่า ผมอาจไม่สามารถสอนให้เขาเป็นคนดีได้ และไม่รู้ว่าคนดีในความหมายแต่ละคนคืออะไร แต่วันนี้เขาหลายคนเรียนรู้ว่าอะไรดี อะไรไม่ดี และเสียสละทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม ผมก็ภาคภูมิใจในตัวพวกเขาแล้ว

          มาถึงวันนี้ก็ขออุทธรณ์ความรู้สึกความเห็นไปถึงผู้ใหญ่ผู้ที่มีหน้าที่ออกแบบจัดการการศึกษาของชาติ คงต้องคิดกันอย่างจริงจังว่าเราจะใช้โอกาสนี้ โอกาสที่พ่อลงทุนลงแรงทั้งชีวิตเป็นแบบอย่าง เป็น "แรงบันดาลใจ (Inspiration)" ยกระดับหรือวางยุทธศาสตร์ งานจิตอาสา งานเสียสละ ปลูกฝังจิตสำนึกคนรุ่นใหม่ให้รู้ร้อนรู้หนาว ร่วมทุกข์ร่วมสุขกับผู้คนในสังคมมากขึ้นได้อย่างไร ร่วมกันปรับเปลี่ยนทัศนคติ "ธุระไม่ใช่" ร่ำเรียนให้จบ ร่ำรวยมั่งคั่งพร้อมเสียก่อนค่อยแบ่งปันและช่วยเหลือคนอื่น

          โจทย์ที่ใหญ่กว่านี้คือ เราจะปรับหลักสูตรการศึกษาและการเรียนการสอนกันแบบไหน อย่างไร ที่ไม่เพียงแต่ตอบโจทย์ชาติบ้านเมืองได้ แต่ยังเป็นการสานต่อปณิธานของในหลวง เพราะงานหลายๆ อย่างที่ในหลวงทำ โดยเฉพาะโครงการเพื่อการพัฒนาในมิติต่างๆ แม้จะเริ่มจากโครงการเล็กๆ แต่กลายเป็นต้นแบบของความสำเร็จ เป็นทางเลือกระดับนโยบาย เป็นความคิดนอกกรอบ  เป็นนวัตกรรมสังคม (Social innovation) ที่ไม่ต้องเดินตามกรอบคิดชี้นำทางเดียว อย่าลืมว่าแม้แต่ฝรั่งยังยอมรับและเชิดชู "ทฤษฎีใหม่" หรือ "เศรษฐกิจพอเพียง"วันนี้เราเดินทางกันมาถึง "จุดเปลี่ยนผ่าน" เราจำเป็นต้องเปลี่ยนอะไรหลายๆ อย่าง หลายคนกังวลว่าเราจะเปลี่ยนจากอะไร ไปสู่อะไร เนื้อหาของการเปลี่ยนผ่านคืออะไร กล่าวสำหรับผมแล้ว หากเราขับเคลื่อนประเทศโดยยึดโยงกับพระราชกรณียกิจหรือหลักคิดอะไรหลายๆ อย่างที่พ่อสอนไว้ และทำไว้ "การเปลี่ยนผ่าน" ครั้งใหญ่นี้ เราก็พอจะเห็นโฉมหน้าสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองไทยกันได้มากทีเดียว

          กล่าวสำหรับผมแล้ว คำสอนและงานที่พ่อทำมาไม่สูญเปล่า เพราะได้กลายเป็น "แรงบันดาลใจ" ให้พสกนิกร และคนรุ่นใหม่เสียสละ มีจิตอาสา และเรียนรู้ทำความดี ทำประโยชน์ต่อส่วนรวมครับ.

          'ผมไม่คิดว่านี่เป็น "แฟชั่น"แต่ถ้ามันจะเป็นแค่  "แฟชั่นจิตอาสา" หรือ "แฟชั่นทำความดี" ตามกระแสวูบวาบมันก็ยังคงดีกว่าแฟชั่นที่ไร้สาระ มอมเมาพวกเขาจนโงหัวไม่ขึ้น มิใช่หรือ?'


          ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ คอลัมน์: พลวัตปฏิรูป สถาบันปฏิรูปประเทศไทย(สปท.): Monday, October 24, 2016

แก้ไขล่าสุด ใน วันพฤหัสบดีที่ 27 ตุลาคม 2016 เวลา 00:17 น.  
Home > Articles > สังคม วัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ > แรงบันดาลใจ จาก 'ในหลวง' สู่ 'เยาวชนคนหนุ่มสาว'

About Us

ศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ (ศบม.) เป็นองค์กรที่พัฒนาและจัดทำโครงการเพื่อทำประโยชน์ให้สังคม เป็นองค์กรสนับสนุนการดำเนินงานของภาครัฐ ช่วยแก้ปัญหาผู้ประกอบการภาคธุรกิจบริการที่ขาดแคลนบุคลากรที่มีมาตรฐานในการให้บริการ
อ่านเพิ่มเติม

มูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ ์

 iHDC Profile
บัญชีรายชื่อกรรมการ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียน การเปลี่ยนแปลงกรรมการของมูลนิธิ
เอกสารประชาสัมพันธ์ โครงการ HMTC.pdf
เอกสารแนะนำโครงการ HMTC 1.pdf
เอกสารโครงการ HMTC 2 คุณสมบัติผู้เข้าร่วมโครงการ.pdf
iHDC นิติบุคคล.pdf
iHDC บุคคล.pdf
iHDC บุคคลเครือข่าย.pdf
รายงานการประชุม 6 มีนาคม 2560.pdf
ข้อบังคับมูลนิธิ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียนจัดตั้งมูลนิธิ
Ihdc-Profile and Roadmap 2016-2019 Mar 23 2560.pdf
รายงานการประชุมใหญ่คณะกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ 2559.pdf
คำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ สาขาวิชาชีพ.pdf
รายงานการประชุมใหญ่วันที่ 18 ธ ค 2558 v 3.pdf
รายงานการประชุม วันที่ 24 ธันวาคม 2557 updated 4 มีนาคม 2558.pdf
iHDC-invitation Letter.doc
iHDC-Member Form Thai.doc
iHDC-Member Form English.doc
รายงานการประชุมกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ วันที่ 15 มกราคม 2556 ฉบับสมบูรณ์


thaibetter
พัฒนาประเทศไทยแบบทวีคูณ และยั่งยืน ( ททค )

Login


แบบสำรวจ

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

สถิติเว็บไซด์

สมาชิก : 5602
Content : 3043
เว็บลิงก์ : 26
จำนวนครั้งเปิดดูบทความ : 8590422

facebook

Twitter


ล่าสุด

บทความเก่า