Thaiihdc.org

  • เพิ่มขนาดตัวอักษร
  • ขนาดตัวอักษรปกติ
  • สดขนาดตัวอักษร
Home > Articles > การศึกษา > คิดอย่างเร็วและคิดอย่างช้า

คิดอย่างเร็วและคิดอย่างช้า

พิมพ์ PDF

หนังสือ Thinking , Fast and Slow เขียนโดยนักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล Daniel Kahneman    บอกกลไกการทำงานของสมองมนุษย์    ที่เขาเรียกว่า ระบบที่ ๑  กับ ระบบที่ ๒  


ระบบที่ ๑ ทำงานเร็ว ว่องไว  อัตโนมัติ

ระบบที่ ๒  เชื่องช้า สุขุม   มีสติ

ทั้งสองระบบจำเป็นต่อการดำรงชีวิต  และต้องทำงานประสานร่วมมือกัน    ระบบที่ ๑ มีอยู่แล้วโดยสัญชาตญาณ  ไม่ค่อยต้องฝึก    แต่ระบบที่ ๒ ต้องการการฝึกฝนมาก

รู้เท่าทันระบบที่ ๑

ชีวิตคนเรา เราไม่ได้ควบคุมความคิดของตัวเราเองทั้งหมด    ยังมีปัจจัยภายนอกมากมายมาครอบงำโดยเราไม่รู้ตัว    กลไกหนึ่งภาษาอังกฤษเรียกว่า “priming”  น่าจะเทียบได้กับคำไทยว่า “ชักจูง”   เขายกตัวอย่าง เมื่อเราเห็นคำว่า SO_P เราจะใช้เวลานึกมาก และเดาหลายคำ    แต่ถ้าก่อนหน้านั้นเราได้เห็นคำว่า EAT ก่อน    เราก็จะเดาคำว่า SOUP ได้อย่างรวดเร็ว    แต่หากเราได้เห็นความว่า BATH ก่อน เราก็จะนึกถึงคำ SOAP   กระบวนการ เตรียมใจ ไว้ล่วงหน้านี้ เรียกว่า “priming” หรือ “ชักจูง”    เครื่องมือจูงใจนี้มีมากมาย    ใช้ในกิจการที่หลากหลายมาก   เราพบทั่วไป ในชีวิตประจำวัน โดยไม่รู้ตัว    กลไกสมองระบบที่ ๒ จะช่วยให้เราไม่ตกหลุมการชักจูงที่เราไม่ต้องการ


กลไกสมองระบบที่ ๑ อีกแบบหนึ่งเรียกว่า halo effect หรือ exaggerated emotional coherence   ในภาษาไทยอาจเรียกว่า “เหมารวม”    เช่นเพื่อนคนหนึ่ง (นาย ก) ไม่ร่วมทำบุญที่เพื่อนๆ ชักชวนกับทำบุญแก่วัดวัดหนึ่ง     ต่อมาเราชักชวนเพื่อนๆ กลุ่มเดียวกันให้ร่วมกันบริจาคแก่โรงพยาบาล แต่ไม่ชวนนาย ก เพราะคิดว่าเขาเป็นตนตระหนี่    ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้ว นาย ก ไม่ร่วมทำบุญแก่วัดนั้นเพราะรู้ว่าเป็นวัดที่สมภารใบ้หวย    ไม่ใช่เพราะความตระหนี่ของเขา 


confirmation bias เป็นกลไกสมองแบบที่ ๑ อีกกลไกหนึ่ง    ตัวอย่างคือ  คำถามว่า (๑) สบู่ ... มีคุณภาพดีใช่ไหม  กับ (๒) คุณภาพของสบู่ ... ดี/ไม่ดี (ให้เลือก)    หากถามคน ๑๐๐ คน    หากถามด้วยคำถามแบบที่ ๑  จะได้คำตอบรับว่าดี ในสัดส่วนที่มากกว่าถามด้วยคำถามแบบที่ ๒  


heuristic (ปฏิภาณ) เป็นวิธีลัดสู่การตัดสินใจ ที่มีประโยชน์มาก    แต่หากเราใช้บ่อยเกินไป ไม่ค่อยๆ ทบทวนข้อมูลประกอบการตัดสินใจ ในเรื่องที่พอมีเวลาให้คิด   เราอาจด่วนตัดสินใจ และเป็นการตัดสินใจที่ไม่รอบคอบ     เขาแบ่ง heuristic ออกเป็นสองแบบ คือ substitution heuristic  และ availability heuristic


substitution heuristic เป็นวิธีคิดแบบเอาคำถามตื้นๆ ไปแทนคำถามที่ลึก  เพื่อให้สามารถตัดสินใจได้ง่าย   แต่อาจมีผลร้ายตรงที่ทำให้ตัดสินใจผิดพลาด   เช่นในการสอบเพื่อรับคนเข้าทำงาน ซึ่งจะต้องมีการกำหนดหน้าที่ของตำแหน่งนั้น  และกำหนดคุณสมบัติและสมรรถนะที่ต้องการ   แทนที่กรรมการจะตัดสินโดยตอบคำถามว่า ผู้สมัครรายนั้นมีคุณสมบัติและสมรรถนะตรงกับที่กำหนดหรือไม่    กลับตั้งคำถามว่า หน่วยก้านของผู้สมัครน่าจะทำหน้าที่นั้นได้ดีหรือไม่    เป็นการใช้ไหวพริบเอาคำถามง่ายๆ แทนคำถามที่ยาก  


Availability heuristic เป็นความคิดที่ถูกอิทธิพลของสื่อที่กรอกตากรอกหูบ่อยๆ ชักจูง    เช่นในความเป็นจริง โรคหลอดเลือดสมองเป็นสาเหตุการตายสูงกว่าอุบัติเหตุทางถนนหลายเท่า    แต่ถ้าทำแบบสอบถามว่าระหว่างโรค หลอดเลือดสมองกับอุบัติเหตุจราจร   คิดว่าตนเองจะตายจากโรคใดมากกว่า  เกือบทั้งหมดจะตอบว่าอุบัติเหตุจราจร    เนื่องจากเรื่องราวคนตายจากอุบัติเหตุจราจรในสื่อมวลชน กระตุ้นให้เกิดความรู้สึกว่าเกิดบ่อย     หลักการนี้น่าจะใช้โดย วงการโฆษณา ที่ติดป้ายใหญ่โตอย่างที่เห็นในปัจจุบัน 


ตกหลุมระบบที่ ๑ เพราะไม่รู้สถิติ หรือ probability    ที่พบบ่อยที่สุดคือขาดความรู้เรื่อง base rate ของโอกาสเกิดเรื่องใดเรื่องหนึ่ง     ที่เป็นฐานของสถิติอีกชิ้นหนึ่ง    เรื่องนี้ผมขอยกตัวอย่างการซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาล    ผมได้ยินมาว่า เมื่อกองสลากขายสลากแต่ละงวดได้เท่าไรจะแบ่งมาเป็นรางวัลเพียงร้อยละ ๔๐ ของรายรับเท่านั้น    ผมจึงสรุปว่าหากเอาเงิน ๘๐ บาทไปซื้อสลาก ก็เสมือนเอาเงิน ๘๐ ไปแลก ๓๒ บาท (ร้อยละ ๔๐ ของ ๘๐)     ผมจึงไม่ซื้อสลากเลย    เรื่องนี้อาจเถียงว่า คนที่ซื้อไม่ได้ซื้อเพราะคิด แต่ซื้อเพราะเชื่อ (ในโชค) 


ในเรื่องสถิติ ยังมีกับดักการคิดระบบที่ ๑ คือไม่เข้าใจ “การถดถอยสู่ค่าเฉลี่ย” (regression to mean)  ของฝีมือในการทำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง     ตัวอย่างเช่นนักบาสเก็ตบอลล์คนหนึ่ง  มีสถิติชู้ตลูกโทษลงร้อยละ ๘๐   แต่มีอยู่เดือนหนึ่งเขาทำสถิติได้ร้อยละ ๙๕   ในเดือนต่อมาเขาชู้ตได้ร้อยละ ๘๑ และถูกโค้ชตำหนิว่ามือตก    แสดงว่า โค้ชไม่เข้าใจ regression to the mean


ตัวตนความจำ (memory selves) มีสองแบบ คือ  “ความจำ ณ ปัจจุบันขณะ” หรือ “ความจำบัดเดี๋ยวนั้น” (experiencing self)  กับ “ความจำสุดท้าย” (remembering self)    ความจำสองแบบนี้ไม่ตรงกัน  และคนเรามักจำได้เฉพาะแบบหลัง    กับดักการคิดระบบที่ ๑ ในเรื่องความจำ มีสองแบบคือ จำเฉพาะส่วนที่ชอบ (duration neglect) ไม่จำตลอดเรื่อง  กับ จำเฉพาะช่วงสุดท้ายของเรื่อง (peak-end rule)  เขามีการวิจัยทางการแพทย์อธิบาย แต่ผมจะไม่เอามาเล่า    เรื่องนี้ยืนยันได้จากคนสองคนผ่านเหตุการณ์เดียวกัน ให้เล่าเรื่องเหตุการณ์นั้น จะเล่าต่างกันได้มาก

 ใช้พลังของระบบที่ ๒ 

สมองหรือจิตใจของคนเราทำงานในสองสถานะ คือ สถานะปล่อยใจตามสบาย (cognitive ease)   กับสถานะเพ่งความสนใจ (cognitive strain)   ซึ่งใช้พลังสมองแตกต่างกันมาก  


ในสถานะปล่อยใจตามสบาย การคิดระบบที่ ๑ จะเข้าครอง     เราจะคิดแบบใช้ปัญญาญาณ (intuitive)  หรือที่ผมเรียกว่า คิดแบบไม่คิด มากกว่า    เป็นช่วงเวลาที่เรามีความสุขมากกว่า     แต่ก็มีโอกาสทำผิดมากกว่า    ช่วงเวลานี้สมองใช้พลังงานน้อย   


ในสถานะเพ่งความสนใจ การคิดระบบที่ ๒ เข้าครอง    เป็นระบบที่มุ่งตรวจสอบรอบคอบ    จึงมีความริเริ่มสร้างสรรค์น้อยกว่า    แต่ก็ทำผิดน้อยกว่าด้วย    ช่วงเวลานี้สมองใช้พลังงานสูง


ดังนั้น หากเราต้องการจูงใจผู้ร่วมสนทนา เราจึงควรหาทางทำให้จิตใจของเขาเข้าสู่สภาพปล่อยใจตามสบาย  โดยให้เขาได้รับสารสนเทศเรื่องนั้นซ้ำๆ    เมื่อใจสัมผัสเรื่องที่คุ้นเคย จะเข้าสู่สภาพปล่อยใจตามสบาย   


เราสามารถทำให้ผู้ร่วมสนทนาเข้าสู่สถานะเพ่งความสนใจ โดยการสร้างความสับสน    อ่านถึงตรงนี้ ผมนึกถึง ยุทธศาสตร์ในการเป็นประธานหรือร่วมประชุมในเรื่องยากๆ    ของตัวผมเอง    เมื่อความสับสนขึ้นสูงถึงจุดหนึ่ง    ผมจะปล่อยหมัดเด็ด ว่า บัดนี้เราสับสนกันได้ที่แล้ว (ทุกคนจะหัวเราะ ทำให้บรรยากาศผ่อนคลาย)    จึงเป็นโอกาสที่จะร่วมกันบรรลุข้อสรุปที่นำไปสู่การทำงานที่เกิดผลที่ไม่ธรรมดา


จูงใจให้ผู้คนตัดสินใจโดยให้ตัวเลขความน่าจะเป็น (probability) ในรูปแบบที่กระทบใจ     ตัวอย่างคำกล่าวสองวลีนี้  “ยา ก ช่วยให้เด็กที่เป็นโรค ข ปลอดอาการโรค    แต่จะมีเด็กที่ได้รับยานี้ร้อยละ ๐.๐๐๑ ที่เกิดผลแทรกซ้อนร้ายแรง”  “ยา ก ช่วยให้เด็กที่เป็นโรค ข ปลอดอาการโรค    แต่เด็ก ๑ คนจาก ๑๐๐,๐๐๐ คน ที่ได้รับยานี้ เกิดผลแทรกซ้อนร้ายแรง”   คำกล่าวชิ้นหลังกระทบใจมากกว่า    จึงนำไปสู่การตัดสินใจหลีกเลี่ยงยานี้มากกว่า     ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริง คำกล่าวทั้งสองให้ข้อมูลความน่าจะเป็นที่เท่ากัน


  เถียงทฤษฎีเก่า สู่รางวัลโนเบล    ผู้ขียนคือศาสตราจารย์ Kahneman    เถียงทฤษฎีด้านเศรษฐศาสตร์ที่บอกว่า มนุษย์ย่อมตัดสินใจอย่างมีเหตุผล  ตามทฤษฎีชื่อ Utility Theory ของศาสตราจารย์ Milton Friedman แห่งสำนักชิคาโก    แต่ศาสตราจารย์ Kahneman เถียงว่ามนุษย์เราไม่ได้ใช้เหตุผลเสมอไป เรียกว่า Prospect Theory   โดยจิตใจมนุษย์เสพติด การได้ มากกว่าการสูญเสีย    ดังนั้นในสถานการณ์ (scenario) ที่มีการสูญเสีย มนุษย์จะไม่ชอบ    ชอบสถานการณ์ ที่มีการพอกพูนมากกว่า    ทั้งๆ ที่การพอกพูนนั้นผลลัพธ์รวมอาจสู้สถานการณ์ที่ตั้งต้นสูง แล้วมีการสูญเสียระหว่างทาง  ไม่ได้    เขาเรียกวิธีคิดแบบนี้ว่า เราให้คุณค่าสิ่งของตาม reference point 


อีกความคิดหนึ่งเป็นไปตาม diminishing sensitivity principle ที่คนเรารู้สึกสูญเสียต่างกันต่อจำนวนสูญเสีย ที่เท่ากัน   เช่นคนมีเงิน ๑๐,๐๐๐ บาท เงินหายไป ๑,๐๐๐ บาท    จะรู้สึกเสียดายน้อยกว่าคนมีเงิน ๒,๐๐๐ บาท แล้วหายไป ๑,๐๐๐ บาท


มโนทัศน์หลอน    คนเราจะสร้างมโนทัศน์ต่อสิ่งต่างๆ รอบตัว เก็บไว้ในสมอง    เช่นในเรื่องลมฟ้าอากาศ ตามฤดูกาล    เรามีภาพในใจว่าฤดูร้อนเป็นอย่างไร  ฤดูฝนเป็นอย่างไร  ฯลฯ     ทั้งๆ ที่ในบางสถานการณ์เรามีข้อมูล มากกว่าภาพมโนทัศน์เราก็ละเลย   เช่น วันหนึ่งในฤดูร้อนมีพยากรณ์อากาศว่าอากาศจะเย็นลงมาก    เราก็ยังแต่งตัว แบบฤดูร้อน และเดือดร้อนเพราะอากาศหนาว    ตัวอย่างนี้คงจะใช้ไม่ค่อยได้ในประเทศไทย    แต่เราคงจะมีการละเลย ข้อมูลเพิ่มเติมในหลากหลายสถานการณ์ 


เขาสรุปตอนท้ายว่า เราใช้พลังของระบบที่ ๒ ได้ดีกว่า เมื่อเราอยู่ในอารมณ์ดี     ผมขอเพิ่มเติมว่า เมื่อเรามีสติสัมปชัญญะดี เราจะยิ่งใช้พลังของระบบที่ ๒ ได้ดี    รวมทั้งเพิ่มเติมว่า การฝึกฝนที่ดี จะช่วยให้เรามีระบบที่สอง แข็งแรง    และผมเชื่อว่าระบบที่ ๑ ก็ฝึกได้ด้วย 


วิจารณ์ พานิช

๑๘ ส.ค. ๖๐



บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย  ใน สภามหาวิทยาลัย

แก้ไขล่าสุด ใน วันจันทร์ที่ 18 กันยายน 2017 เวลา 04:12 น.  
Home > Articles > การศึกษา > คิดอย่างเร็วและคิดอย่างช้า

About Us

ศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ (ศบม.) เป็นองค์กรที่พัฒนาและจัดทำโครงการเพื่อทำประโยชน์ให้สังคม เป็นองค์กรสนับสนุนการดำเนินงานของภาครัฐ ช่วยแก้ปัญหาผู้ประกอบการภาคธุรกิจบริการที่ขาดแคลนบุคลากรที่มีมาตรฐานในการให้บริการ
อ่านเพิ่มเติม

มูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ ์

 iHDC Profile
บัญชีรายชื่อกรรมการ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียน การเปลี่ยนแปลงกรรมการของมูลนิธิ
เอกสารประชาสัมพันธ์ โครงการ HMTC.pdf
เอกสารแนะนำโครงการ HMTC 1.pdf
เอกสารโครงการ HMTC 2 คุณสมบัติผู้เข้าร่วมโครงการ.pdf
iHDC นิติบุคคล.pdf
iHDC บุคคล.pdf
iHDC บุคคลเครือข่าย.pdf
รายงานการประชุม 6 มีนาคม 2560.pdf
ข้อบังคับมูลนิธิ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียนจัดตั้งมูลนิธิ
Ihdc-Profile and Roadmap 2016-2019 Mar 23 2560.pdf
รายงานการประชุมใหญ่คณะกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ 2559.pdf
คำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ สาขาวิชาชีพ.pdf
รายงานการประชุมใหญ่วันที่ 18 ธ ค 2558 v 3.pdf
รายงานการประชุม วันที่ 24 ธันวาคม 2557 updated 4 มีนาคม 2558.pdf
iHDC-invitation Letter.doc
iHDC-Member Form Thai.doc
iHDC-Member Form English.doc
รายงานการประชุมกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ วันที่ 15 มกราคม 2556 ฉบับสมบูรณ์


thaibetter
พัฒนาประเทศไทยแบบทวีคูณ และยั่งยืน ( ททค )

Login


แบบสำรวจ

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

สถิติเว็บไซด์

สมาชิก : 5585
Content : 3038
เว็บลิงก์ : 26
จำนวนครั้งเปิดดูบทความ : 8556075

facebook

Twitter


ล่าสุด

บทความเก่า