Thaiihdc.org

  • เพิ่มขนาดตัวอักษร
  • ขนาดตัวอักษรปกติ
  • สดขนาดตัวอักษร
Home > Articles > พัฒนาทุนมนุษย์ > พลังแห่งวัยเยาว์ : 3. พื้นที่เรียนรู้

พลังแห่งวัยเยาว์ : 3. พื้นที่เรียนรู้

พิมพ์ PDF

บันทึกชุด พลังแห่งวัยเยาว์ นี้ ตีความจากหนังสือ The Importance of Being Little : What Young Children Really Need from Grownups ซึ่งเป็นหนังสือ New York Times Bestseller  เขียนโดย Erika Christakis ผู้เคยทำงานเป็นครูเด็กเล็ก  ได้รับใบรับรองคุณวุฒิครูก่อนอนุบาลถึง ป. ๒ ของรัฐแมสซาชูเซทส์  สหรัฐอเมริกา     และเคยเป็นอาจารย์ของมหาวิทยาลัยเยล ที่ The Yale Child Study Center    หนังสือเล่มนี้สื่อสารว่า เด็กเล็กมีพลังของการเรียนรู้มากกว่าที่เราคิด    โดยที่เด็กจะเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา     หากผู้ใหญ่ทำความเข้าใจเด็ก และรู้วิธีส่งเสริมการเรียนรู้    เด็กจะเติบโตเต็มศักยภาพและเป็นคนดีมีประโยชน์ต่อสังคม มากกว่าที่เป็นอยู่ในขณะนี้มากมาย  

ตอนที่ ๓ พื้นที่เรียนรู้ ตีความจากบทที่ 2 Goldilocks Goes to Daycare : Finding the Right Zone for Learning 

เด็กมีความช่างสังเกตมากกว่าที่เราคิด    หากผู้ใหญ่เข้าไปรับรู้ ชวนคุยชวนคิด ชวนค้นหาความหมาย    เด็กจะได้เรียนรู้มากมาย สนุกสนาน และมีความสุข    หนังสือบอกว่า เด็กเปรียบประดุจ “intuitive scientist”    ที่หากผู้ใหญ่รู้จักวิธีพูดคุยเชื่อมโยง    เด็กจะค่อยๆ เข้าใจความเชื่อมโยงของสรรพสิ่ง

 

ความคาดหวังที่ผิด (ของผู้ใหญ่)

หนังสือสาธยายสภาพแวดล้อมของศูนย์เด็กเล็ก (และโรงเรียนอนุบาล) ที่จัดขี้นตามจินตนาการของผู้ใหญ่    ว่าเหมาะสมต่อการกระตุ้นการเรียนรู้ของเด็ก    และผมเดาว่าอีกส่วนหนึ่งเพื่อสร้างความประทับใจแก่พ่อแม่ที่ไปส่งลูก    ว่าโรงเรียนเต็มไปด้วยภาพฝาผนัง โปสเตอร์  และวัสดุประกอบการเรียนรู้ สำหรับให้บุตรหลานของตนได้เรียน

แต่นั่นคือความเข้าใจที่ผิด

สภาพแวดล้อมเทียมหรือปลอม สู้สภาพจริงของธรรมชาติ หรือชีวิตจริงไม่ได้    ภาพวาดทิวทัศน์สวยงาม แตกต่างหลากหลายสภาพธรรมชาติ    สู้นกที่ร้องอยู่นอกหน้าต่างห้องเรียนไม่ได้    ภาพผีเสื้อหรือผึ้งที่ฝาผนัง สู้ผีเสื้อหรือผึ้งตัวจริงที่บินหรือตอมดอกไม้ในสวนไม่ได้    เพราะของจริงกระตุ้นความสนใจของเด็กได้ดีกว่า    และช่วยให้เด็กได้ฝึก “สัมผัสทั้งห้า” ที่นำไปสู่การกระตุ้นพัฒนาการของสมอง     กระตุ้นการเชื่อมโยงใยประสาทในสมอง    ได้แก่ได้ฝึกความเป็นคนอยากรู้อยากเห็น  ฝึกสำรวจ  ฝึกผัสสะ  ฝึกเชื่อมโยง   ฝึกแก้ปัญหา    ที่เป็นพื้นฐานความสำเร็จในการเรียนวิชาการ  และความสำเร็จของชีวิตในภายหน้า  

ผลการวิจัยบอกว่า สภาพแวดล้อมเทียมดังกล่าว กลับมีผลลบต่อพัฒนาการเด็ก   

เพราะเป็นการจัดสถานที่ภายใต้กระบวนทัศน์ที่ผิด    คือมองศูนย์เด็กเล็กและโรงเรียนอนุบาลเป็น “สถานีเติมน้ำมัน”  หวังใส่ความรู้เข้าไปในสมองที่ว่างเปล่า     ซึ่งเป็นกระบวนทัศน์ที่ผิดโดยสิ้นเชิง    ต่อสมองเด็ก และต่อการเรียนรู้ของเด็ก

สมองเด็กไม่ได้ว่างเปล่า     แต่เต็มไปด้วยหน่ออ่อนของศักยภาพในการเรียนรู้    และเด็กชั้นเด็กเล็กและอนุบาลมีความรู้อยู่บ้างแล้ว    สำหรับใช้เป็น “ความรู้เดิม” (prior knowledge / met before)  เป็นเครื่องดักจับความรู้ใหม่ และต่อยอดความรู้ความเข้าใจให้เชื่อมโยงและลึกยิ่งขึ้น   

การเรียนรู้ก็ไม่ใช่กระบวนการเอาความรู้จากภายนอกเทใส่สมองเด็ก    ไม่ใช่การถ่ายทอดความรู้     แต่เป็นการกระตุ้นให้เด็กสนใจ  สังเกตเพื่อเก็บข้อมูล  นำมาตีความหาความหมาย เชื่อมโยงกับความรู้ความเข้าใจเดิม    คือเป็นการสร้างความรู้ใส่ตัว    ไม่ใช่รับความรู้จากภายนอก   

สภาพของการจัดสภาพแวดล้อมของศูนย์เด็กเล็กและโรงเรียนอนุบาลส่วนใหญ่ จึงเป็นสภาพที่ขัดกัน ไม่เข้ากัน ระหว่างความคาดหวังของผู้ใหญ่ กับธรรมชาติการเรียนรู้ของเด็ก   

ที่ท้าทายต่อครูเด็กเล็กยิ่งกว่านั้นคือ พื้นที่เรียนรู้ที่เหมาะสม  และพัฒนาการตามปกติ ของเด็กแต่ละคนแตกต่างกัน    และเด็กบางคนอาจแตกต่างจากเด็กทั่วไปมาก    จนผู้ใหญ่และครูเข้าใจว่าเด็กผิดปกติ    จึงมีการตีตราเด็กบางคนว่าเป็นโรค ADHD (Attention-Deficit, Hyperactive Disorder), โรคพัฒนาการด้านการทำงานร่วมกันของกล้ามเนื้อผิดปกติ (developmental coordination disorder), โรคพัฒนาการของการรับรู้ประสาทสัมผัสผิดปกติ (sensory processing disprder)    ถึงกับบริษัทยาในต่างประเทศสร้างสถานการณ์ให้มีการวินิจฉัยเด็กกลุ่มหนึ่งให้เป็นโรค ADHD    และได้รับยารักษาโรค    ก่อผลร้ายต่อเด็กจำนวนมาก (ดู https://www.nytimes.com/2013/12/15/health/the-selling-of-attention-deficit-disorder.html)  

คุณค่าสำคัญที่สุดของศูนย์เด็กเล็กและโรงเรียนอนุบาล คือ พื้นที่สำหรับฝึกปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น     และสิ่งที่ผู้ใหญ่พึงตระหนักไว้เสมอคือ    เด็กที่ความประพฤติเลวร้ายรุนแรง อาจเป็นเด็กที่สมองเลิศอย่างที่สุด    เป็นเด็กที่ถูกทำร้ายโดยหลักสูตรที่แข็งทื่อ จับเด็กอยู่ในกรงขัง     วิญญาณเสรีของเด็กเหล่านี้ทนไม่ได้    เพราะเขาสนใจสภาพแวดล้อมตามธรรมชาตินอกห้องเรียนมากกว่า    เด็กเหล่านี้ถูกทำร้ายโดยระบบการศึกษาที่อ้างการฝึกวินัยให้แก่เด็ก   

ข้อเตือนใจพ่อแม่และครูเด็กเล็กคือ พัฒนาการเด็กไม่เป็นเส้นตรง    และพัฒนาการก้าวกระโดดในทักษะด้านหนึ่งอาจชะลอพัฒนาการด้านอื่น หรืออาจถึงกับเป็นพัฒนาการถอยหลัง    สภาพเช่นนี้อาจสังเกตเห็นวันต่อวัน    เป็นเรื่องปกติธรรมดา ไม่ควรตื่นตกใจ   

 

เน้นที่ประสบการณ์ของเด็ก

หนังสือบอกว่า ในสหรัฐอเมริกา พ่อแม่ที่ส่งลูกเข้าศูนย์เด็กเล็กหรือโรงเรียนอนุบาล ใช้เงินถึงหนึ่งในห้าของรายได้ทั้งหมดเพื่อการนี้    แต่รู้น้อยมากว่าลูกได้ฝึกหรือเรียนรู้อะไรบ้างที่นั่น    และแม้แต่ประสบการณ์ของเด็กที่บ้านของตัวเอง พ่อแม่ก็อาจไม่เข้าใจประสบการณ์จริงๆ ของลูก    ว่าได้ช่วยเอื้อการเรียนรู้เพื่อพัฒนาการของเด็ออย่างไรบ้าง

คือผู้ใหญ่มีแนวโน้มจะมองเด็กจากมุมมองของผู้ใหญ่    ไม่พยายามและเรียนรู้ที่จะเข้าใจเด็กจากมุมมองของเด็ก   หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง มีปฏิสัมพันธ์กับเด็กโดยยึดมุมมองหรือโลกทัศน์ของเด็กเป็นตัวตั้ง    ไม่เอาผู้ใหญ่เป็นตัวตั้ง   

เขาบอกว่า ตามปกติเด็กจะสนใจชีวิตตอนเป็นผู้ใหญ่   แต่น่าเสียดายที่ผู้ใหญ่มักไม่สนใจชีวิตตอนเป็นเด็ก    โลกทัศน์เช่นนี้แหละที่นำไปสู่การจัดชั้นเรียนในชั้นเด็กเล็กแบบถ่ายทอดความรู้ (DI – Direct Instruction)   ซึ่งเป็นวิธีจัดชั้นเรียนของเด็กเล็กที่ผิด  

วิธีที่ถูกต้อง คือทางสายกลาง    เปิดช่องให้เด็กได้เรียนสนองความอยากรู้อยากเห็นของตน    แต่ในขณะเดียวกันก็เรียนรู้ฝึกฝนวินัยในการอยู่ร่วมกับผู้อื่นด้วย  

 

หลักการสำคัญ

หลักการสำคัญของการจัดการเรียนรู้สำหรับเด็กเล็กคือ อย่าเน้นใช้หลักสูตรมาตรฐานตายตัว   อย่าเน้นใช้ตำรามาตรฐาน ที่เน้นพัฒนาความรู้    แต่ให้เน้นจุดไฟแห่งความอยากรู้อยากเห็น (curiosity) ของเด็กให้ลุกโพลง    รวมทั้งเน้นความสร้างสรรค์ ให้โอกาสเด็กสร้างความหมาย และสร้างสรรค์สิ่งที่ตนสนใจ    คือให้เน้นเรียนรู้จากการลงมือทำ    เน้นฝึกความช่างสังเกต    กล้าทำหรือสร้างสรรค์ตามความท้าทาย    กล้าคิดหาความหมายของสิ่งต่างๆ ตามการตีความของตน  แม้จะแตกต่างจากการตีความของผู้อื่น   และเน้นเรียนรู้ผ่านปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น   เน้นการรู้จักฟังความเห็นของผู้อื่น   และเน้นการมีอารมณ์ขัน  

การเรียนรู้ผ่านปฏิสัมพันธ์ จะช่วยให้เด็กพัฒนา EF ของตนขึ้นมา    EF (Executive Functions) เป็นทักษะด้านการควบคุมกำกับตนเอง  มีทิศทางทางเป้าหมายของตนเอง   รู้จักรอ หรือผลัดกันให้โอกาสกับเพื่อน     

 

พลังคำถาม และการเสวนา

ผู้เขียน เล่าเรื่องการไปสังเกตการณ์วงเสวนาที่ครู Winnie สอนชั้นเด็กเล็ก อายุ ๔ ขวบ    เรื่องปลามีกระดูกหรือไม่    อ่านถ้อยคำเสวนา และวิธีที่ครูดำเนินการเสวนาแล้ว ผมนึกถึงวิธีสอนแบบ โสกราติก (Socratic teaching) (1)    

ครูทำหน้าที่ตั้งเรื่อง  จัดเอกสารประกอบการเรียน    เริ่มด้วยครูตั้งคำถาม แล้วฟัง    ฟังให้เข้าใจวิธีคิดของเด็ก    ประเมินความรู้เดิม (prior knowledge) ของเด็ก   ประเมินความก้าวหน้าในการเรียนรู้ของเด็กจากคำพูดและพฤติกรรม    และตั้งคำถามหรือชวนเสวนาเพื่อกระตุ้นการคิด    ในหนังสือระบุว่าเด็กทักท้วงที่เพื่อนคนหนึ่งพลิกสารานุกรมสำหรับเด็กในหัวข้อที่กำลังเสวนา เพื่อค้นหาหลักฐานประกอบการตอบ ว่าทำผิดกติกา ที่ตกลงกันไว้ว่านักเรียนจะไม่เปิดหนังสือหาคำตอบ    ให้นักเรียนคิดเอง     ครู Winnie ช่วยอธิบายแก้ไขความขัดแย้งของเด็กในกรณีนี้

วงเสวนาในกลุ่มเด็กกับครูดังกล่าว คือวงเรียนวิธีคิด และฝึกให้ความหมายของสิ่งต่างๆ ด้วยตนเอง    เป็น “พื้นที่ทางสังคม” ของเด็ก เพื่อการเรียนรู้สู่พัฒนาการเด็ก    โดยเป้าหมายสำคัญที่สุดของการเรียนคือ การคิดอย่างมีวิจารณญาณ (critical thinking) และสมรรถนะและคุณลักษณะแห่งศตวรรษที่ ๒๑ ตัวอื่นๆ (เช่น ทักษะการแก้ปัญหา ทักษะทางสังคม ทักษะความร่วมมือ  คุณลักษณะด้านความอยากรู้อยากเห็น  การริเริ่ม)    ไม่ใช่สาระความรู้

ผมขอเสนอว่า ครูเด็กเล็กต้องได้รับการฝึกทักษะอย่างที่ครู Winnie ทำ     ไม่ใช่ทักษะการใช้แบบเรียนหรือตำราสอนเด็ก

ทักษะที่ครู Winnie แสดงออกในวงเสวนาคือ ทักษะการโค้ชเด็กให้คิดแบบภาพรวม (organic whole)    คือเชื่อมโยงประเด็นหรือเรื่องเข้าเป็นภาพใหญ่ ที่เสมือนมีชีวิต งอกงามได้    ไม่มองสิ่งต่างๆ แบบแข็งทื่อตายตัว    ครู Winnie คอยตรวจสอบคลังคำของเด็กแต่ละคนที่กล่าวออกมา  และทำหน้าที่กล่าวย้ำคำสำคัญ     คอยช่วยทำให้การเสวนาดำเนินไปตามเป้า ไม่ออกนอกทาง    รวมทั้งคอยช่วยย้ำหรือทำให้คำอธิบายที่ถูกต้องของนักเรียนชัดขึ้น เข้าใจได้ง่ายขึ้น

สรุปว่า ครู Winnie ไม่สอนโดยตรง     แต่ทำหน้าที่ “คุณอำนวย” และ โค้ช    โค้ชให้ศิษย์ตัวน้อยสร้างและสั่งสม “ทักษะนักวิจัย” ที่เรียกว่า transferable skills    คือทักษะนำความรู้ในบริบทหนึ่งไปทดลองใช้ในอีกบริบทหนึ่ง     ซึ่งก็คือทักษะการคิดนั่นเอง    เด็กที่ผ่านการเรียนชั้นเด็กเล็กแบบนี้ จะมีความเป็นตัวของตัวเอง     

คิดอีกที คนที่มีความสามารถขนาดครู Winnie ควรได้รับค่าตอบแทนที่สูง     ครูเด็กเล็กของไทยที่พิสูจน์ตนเองว่ามีความสามารถสอนแบบโสกราติกได้อย่างดี ควรได้รับค่าตอบแทนเดือนละไม่ต่ำกว่า ๔๐,๐๐๐ บาท (เงินเดือนเฉลี่ยของครูไทยขณะนี้เดือนละ ๔๑,๐๐๐ บาท  ยังไม่รวมค่าวิทยะฐานะ ... ข้อมูลนี้กล่าวโดย นพ. ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ ในการประชุมภาคีการศึกษาไทย  ๒ เมษายน ๒๕๖๑  ที่ธนาคารไทยพาณิชย์)    เพื่อดึงดูดคนมีความสามารถและรักเด็ก  รักงานจัดการเรียนรู้แก่เด็กเล็ก    สำหรับเป็นฐานสร้างพลเมืองคุณภาพสูงสู่ประเทศไทย ๔.๐   

 สิ่งจูงใจเด็กให้เรียนรู้

หลักสูตรชั้นเด็กเล็กมาตรฐาน  ที่เน้นเตรียมความพร้อมในการเรียนโดยให้เด็กรู้จักตัวอักษร  คำที่ขึ้นต้นด้วยตัวอักษรนั้นๆ   และให้รู้จักตัวเลข การบวกลบเลข    มีจุดอ่อนที่ไม่กระตุ้นความสนใจอยากรู้อยากเห็นของเด็ก    เพราะสิ่งที่เรียนไม่เชื่อมโยงกับเรื่องราวที่เห็นในชีวิตประจำวัน    ไม่เชื่อมโยงกับความรู้เดิม (prior knowledge) ของเด็ก   วิธีการเช่นนี้ ทั้งไม่ได้ผล และไม่มีประสิทธิภาพ    เพราะเด็กเรียนเพราะถูกบังคับให้เรียน    เป็นการเรียนแบบไร้จุดหมาย

ตรงกันข้าม  การเรียนที่มีเป้าหมาย (สำหรับเด็ก) เช่น ให้คุกกี้ ๙ ชิ้นแก่เด็ก ๓ คน    บอกให้แบ่งเท่าๆ กัน    เด็กจะเรียนวิธีหารได้ทันที    แม้ให้ ๑๐ ชิ้น  แล้วให้แบ่งเท่าๆ กัน เด็กก็ทำได้   

เด็กเรียนได้ดีกว่า และเร็วกว่า หากได้เรียนฝึกทักษะที่ซับซ้อน (complex skills) เช่นความเข้าใจรูปทรง  ทักษะการช่วยเหลือแบ่งปันกับเพื่อน  และทักษะทางสังคมอื่นๆ    หลังจากนั้น การเรียนทักษะชั้นเดียว (simple skills) เช่นการจำตัวอักษร ตัวเลข ที่เป็นการเรียนแบบรับถ่ายทอดความรู้ (Direct Instruction) จะทำได้ง่าย    แต่หากเริ่มเรียนโดยการเรียนทักษะชั้นเดียว  จะไม่ช่วยการฝึกทักษะเชิงซ้อนในภายหลัง   

ในความเป็นจริง การเรียนของเด็กต้องเป็นแบบผสม    คือส่วนใหญ่เป็นการเรียนแบบลงมือทำ เพื่อเรียนรู้สิ่งที่อยากรู้    แต่ก็ต้องมีการเรียนแบบรับถ่ายทอดความรู้บ้าง เท่าที่จำเป็น    เช่น เรียนวิธีแปรงฟันที่ถูกวิธี  วิธีล้างมือให้ถูกวิธี  ออกเสียงคำภาษาอังกฤษที่ลงท้ายด้วย th ให้ถูกต้อง   

วิธีเรียนที่ต้องไม่ทำ คือฝึกเด็กให้เรียนท่องจำแบบนกแก้วนกขุนทอง

หลักสูตรที่ช่วยให้เรียนรู้ได้ดี คือ หลักสูตรแบบเน้นเรียนโดยเล่นและทดลองค้นคว้าเอง (play-based, exploratory curriculum)    ประกอบกับการเรียนเป็นกลุ่มแบบ Socratic method  

 

 

อย่าหลงหลักสูตรมาตรฐาน

หลักสูตรแบบนี้มีหนังสือประกอบการสอนที่ครูใช้สอนเด็ก โดยการอ่านให้เด็กฟัง แล้วตั้งคำถามหรือเสวนากับเด็กทั้งชั้น   ที่เรียกว่า shared reading   เป็นวิธีที่มีจุดอ่อนในระดับปฏิบัติของครู  “คือสอนเพื่อสอบ” (teach to the test)    เพื่อสนองผู้บังคับบัญชาหรือหน่วยเหนือ ว่าตนได้สอนตามที่ผู้เชี่ยวชาญกำหนดไว้แล้ว    เมื่อมีศึกษานิเทศก์มาทดสอบเด็กก็ทดสอบทักษะวิชาตามที่กำหนดไว้   

ชั้นเด็กเล็กแบบนี้ ทำลายเด็ก มากกว่ามีคุณ

 

ข้อจำกัดของการสอนแยกส่วน

ชั้นเด็กเล็กในปัจจุบัน ติดกับดักของการเรียนแบบแยกส่วน (fragmented learning)    ตรงกันข้ามกับการเรียนรู้ที่แท้จริง ที่ต้องเรียนแบบเชื่อมโยงชิ้นส่วน   ที่เรียกว่า เรียนแบบองค์รวม (holistic learning)   

การเรียนรู้ที่ดี ต้องเรียนแบบเชื่อมโยงกับสภาพจริง  หรือเรียกว่าเชื่อมโยงกับบริบท (context-based learning)    หรือเชื่อมโยงกับคุณค่า (value-based learning)

หัวใจคือ สอนหรือฝึกเด็กให้มีทักษะขั้นต่ำ (lower-level skills) ก่อน  แล้วค่อยๆ ฝึกทักษะที่สูงขึ้นๆ ในด้านการเรียนรู้ (high-level cognition)    ผมมีความเป็นว่า “ทักษะขั้นต่ำ” ในที่นี้เป็นถ้อยคำที่ก่อความเข้าใจผิดได้ง่าย    เช่นทักษะการเป็นคนช่างสังเกต  ฝึกได้ง่ายตอนเป็นเด็กเล็ก    ถือเป็น “ทักษะขั้นต่ำ” ในการฝึก    แต่เมื่อเติบโตขึ้น ในทางปฏิบัติ ทักษะความช่างสังเกตนี้ ถือเป็นทักษะขั้นสูง สำหรับชีวิตที่ประสบความสำเร็จ   

แต่วิธีจัดการศึกษาที่ทำกันมานานเป็นร้อยปี    เน้นการเรียนแบบแยกส่วน    ยิ่งศึกษาสูงขึ้นไปยิ่งเน้นทักษะแยกส่วน    ทักษะแยกส่วนกลายเป็นทักษะขั้นสูง    ซึ่งเป็นความเข้าใจผิด    ทักษะที่สูงกว่าแยกส่วน คือทักษะสังเคราะห์ประกอบชิ้นส่วนสู่องค์รวมที่มีคุณค่าและความหมายที่สูง   

ลงท้ายก็ต้องเรียนแบบผสม คือทั้งแยกส่วนและรวมส่วนเป็นองค์รวม    การเรียนแบบองค์รวมคือการเรียนแบบเน้นการทำกิจกรรม (activity-based learning)              

 

ฝึกเป็นโค้ช

ทั้งพ่อแม่และครูต้องฝึกเป็นโค้ชให้แก่ลูกหรือลูกศิษย์    โดยต้องทำสองอย่างคู่กัน    เขาใช้คำที่ขึ้นต้นด้วยตัว c คือ calibrating กับ coaching

Calibrate คือวัดหรือตรวจสอบนั่นเอง    หลักการคือ เด็กแต่ละคนมีพัฒนาการแต่ละด้านไม่เหมือนกัน    พ่อแม่และครูต้องรู้ว่าพัฒนาการด้านต่างๆ ของเด็กไปถึงไหนแล้ว    และช่วยโค้ชตามสภาพนั้นๆ    อย่าโค้ชตามที่บอกไว้แบบมาตรฐานกลางในหนังสือหรือตำรา   

หลักการของการจัดการเรียนในชั้นเด็กเล็ก คือส่งเสริมการช่วยตัวเองของเด็ก    ซึ่งในทางปฏิบัติคือ ต้องส่งเสริมตามระดับพัฒนาการของเด็กแต่ละคน เป็นรายคน   เพื่อลงรายละเอียด “พื้นที่เรียนรู้ที่เหมาะสม” (right zone for learning) สำหรับเด็กแต่ละคนแตกต่างกัน

 

พลังของการสังเกต

นี่คือคำแนะนำต่อพ่อแม่และครู ในการทำหน้าที่ช่วยสนับสนุนให้เด็กค้นพบกิจกรรมที่มีความหมายต่อตนเอง    โดย  (๑) จัดวงเสวนา ดังกรณีตัวอย่างครู Winnie   (๒) สังเกต   (๓) ฝึกตั้งคำถามปลายเปิด (open-ended question)       

หลักการสำคัญเพื่อเพิ่มพลังสังเกตเด็กคือ “ไม่มีความจำ ไม่มีความต้องการ” (no memory, no desire)    คือไม่เอาตัวเองเป็นตัวตั้ง    เอาพฤติกรรมของเด็กในปัจจุบันขณะเป็นตัวตั้ง        

คำพูดหรือคำถามปลายเปิด ช่วยให้เด็กแสดงความคิดของตนออกมาโดยไม่มีสิ่งใดขวาง     เช่น เด็กวาดรูปลงบนกระดาษด้วยสีดินสอเครยอง     ผู้ใหญ่ดูแล้วอุทานว่า หนูวาดรูปบ้านสวยจัง    นี่เป็นคำพูดปลายปิด เป็นคำชมผสมการตีความ ว่าที่เด็กวาดเป็นรูปบ้าน    คำพูดที่ปลายเปิดสุดๆ คือ   “อธิบายเรื่องรูปที่หนูวาดให้เพื่อนๆ ฟังหน่อยได้ไหม”   

ผมตีความว่า คำพูดหรือคำถามปลายเปิด เป็นตัวกระตุ้นให้เด็กไตร่ตรองสะท้อนคิดสิ่งที่ตนทำ     เป็นสุดยอดของการเรียนรู้    คือเด็กได้เรียนรู้จากการลงมือทำ (action)  ตามด้วยการไตร่ตรองสะท้อนคิด (reflection)



วิจารณ์ พานิช        

๗ เม.ย. ๖๑


 


บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย  ใน สภามหาวิทยาลัย

แก้ไขล่าสุด ใน วันอังคารที่ 10 กรกฏาคม 2018 เวลา 21:31 น.  
Home > Articles > พัฒนาทุนมนุษย์ > พลังแห่งวัยเยาว์ : 3. พื้นที่เรียนรู้

About Us

ศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ (ศบม.) เป็นองค์กรที่พัฒนาและจัดทำโครงการเพื่อทำประโยชน์ให้สังคม เป็นองค์กรสนับสนุนการดำเนินงานของภาครัฐ ช่วยแก้ปัญหาผู้ประกอบการภาคธุรกิจบริการที่ขาดแคลนบุคลากรที่มีมาตรฐานในการให้บริการ
อ่านเพิ่มเติม

มูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ ์

 iHDC Profile
บัญชีรายชื่อกรรมการ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียน การเปลี่ยนแปลงกรรมการของมูลนิธิ
เอกสารประชาสัมพันธ์ โครงการ HMTC.pdf
เอกสารแนะนำโครงการ HMTC 1.pdf
เอกสารโครงการ HMTC 2 คุณสมบัติผู้เข้าร่วมโครงการ.pdf
iHDC นิติบุคคล.pdf
iHDC บุคคล.pdf
iHDC บุคคลเครือข่าย.pdf
รายงานการประชุม 6 มีนาคม 2560.pdf
ข้อบังคับมูลนิธิ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียนจัดตั้งมูลนิธิ
Ihdc-Profile and Roadmap 2016-2019 Mar 23 2560.pdf
รายงานการประชุมใหญ่คณะกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ 2559.pdf
คำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ สาขาวิชาชีพ.pdf
รายงานการประชุมใหญ่วันที่ 18 ธ ค 2558 v 3.pdf
รายงานการประชุม วันที่ 24 ธันวาคม 2557 updated 4 มีนาคม 2558.pdf
iHDC-invitation Letter.doc
iHDC-Member Form Thai.doc
iHDC-Member Form English.doc
รายงานการประชุมกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ วันที่ 15 มกราคม 2556 ฉบับสมบูรณ์


thaibetter
พัฒนาประเทศไทยแบบทวีคูณ และยั่งยืน ( ททค )

Login


แบบสำรวจ

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

สถิติเว็บไซด์

สมาชิก : 5602
Content : 3043
เว็บลิงก์ : 26
จำนวนครั้งเปิดดูบทความ : 8590163

facebook

Twitter


ล่าสุด

บทความเก่า