Thaiihdc.org

  • เพิ่มขนาดตัวอักษร
  • ขนาดตัวอักษรปกติ
  • สดขนาดตัวอักษร
Home > Articles > พัฒนาทุนมนุษย์ > การเรียนรู้เกิดขึ้นอย่างไร : ๑๐. การทำหน้าที่ “ครูฝึก”

การเรียนรู้เกิดขึ้นอย่างไร : ๑๐. การทำหน้าที่ “ครูฝึก”

พิมพ์ PDF

บันทึก ๑๖ ตอนนี้ มาจากการตีความหนังสือ How Learning Works : Seven Research-Based Principles for Smart Teaching ซึ่งผมเชื่อว่า ครู/อาจารย์ จะได้ประโยชน์มาก หากเข้าใจหลักการตามที่เสนอในหนังสือเล่มนี้  ตัวผมเองยังสนใจเพื่อเอามาใช้ปรับปรุงการเรียนรู้ของตนเองด้วย

ตอนที่ ๑๐ และ ๑๑ มาจากบทที่ 5  What Kind of Practice and Feedback Enhance Learning?  ซึ่งผมตีความว่าเป็นบทที่ว่าด้วยการเป็น “ครูฝึก” ที่ดีของครู  วิธีใช้เวลาที่มีจำกัด ในการฝึก นศ. และให้ข้อมูลป้อนกลับแก่ นศ. ให้ฝึกฝนเรียนรู้ อย่างได้ผลแท้จริง  ไม่หลงใช้วิธีการผิดๆ

นศ. มีเวลา และความสามารถทางสมองจำกัด  แต่ครูก็สามารถเอื้ออำนวยให้เกิดการเรียนรู้ที่ดีได้  คือเป้าหมายของหนังสือบทนี้  กล่าวอีกนัยหนึ่ง  บทนี้ว่าด้วยวิธีที่ครูช่วยให้ นศ. “Learn smarter” นั่นเอง


การฝึกปฏิบัติ และการให้คำแนะนำป้อนกลับ


 

 

 

การจัดโจทย์สำหรับการฝึกปฏิบัติที่ดี และการให้ข้อมูลป้อนกลับที่ดี  คือการช่วยให้ นศ. ฝึกทักษะแบบลงทุนน้อย ได้ผลมาก  นี่คือหน้าที่ของ “ครูฝึก”

จากรูปข้างบน การฝึกปฏิบัติที่ดีต้องมีเป้าหมายที่ต้องการบรรลุชัดเจน วัดหรือรู้สึกได้  ระหว่างฝึกมีการประเมินสมรรถนะอยู่ตลอดเวลา  มีการนำผลประเมินป้อนกลับมาสร้างความมุ่งมั่นไปให้ถึงเป้าหมาย  และสร้างปิติสุขเมื่อบรรลุ  สภาพเช่นนี้เป็นวงจรยกระดับเป้าหมายสมรรถนะที่สูงขึ้นๆ จน “รู้จริง”


การฝึกปฏิบัติมีทั้งวิธีที่ดี และวิธีที่เลว

 

ขยันฝึก แต่ไม่ได้อะไร

ขยันฝึก แต่ไม่ได้อะไร เป็นสภาพของกรณีตัวอย่างที่ผู้เขียนนำมาเล่าเป็นคำพร่ำบ่นของศาสตราจารย์ผู้หนึ่ง  ที่ให้ นศ. “เรียนโดยลงมือทำ”  แต่เวลานำเสนอผลงาน นศ. เน้นที่การทำ slide presentation ที่สวยงาม มีลูกเล่นแพรวพราว  แต่สาระที่นำเสนอตื้นเขิน  แนะนำทีไร ผลก็ได้เหมือนเดิมทุกที ไม่มีการยกระดับเป้าหมาย

เพราะขยันฝึกแต่สิ่งที่ตนทำได้ดีอยู่แล้ว และไม่ใช่ทักษะหลักที่ต้องการ  ทักษะหลักที่ต้องการส่วนที่ต้อง “รู้จริง” มันลึกและยาก  นศ. จึงเลี่ยง เอาทักษะผิวเผินและไม่ยาก มาบังหน้า

ผมเห็นสภาพนี้เต็มไปหมด ในสังคมไทย  โดยเฉพาะในวงการศึกษา


การฝึกปฏิบัติที่ถูกต้อง

การฝึกปฏิบัติที่ให้ผลเรียนรู้และพัฒนาทักษะ/สมรรถนะ ได้ดีที่สุด ต้องมีลักษณะครบ ๓ ประการ คือ  (๑) เน้นหรือพุ่งเป้าไปที่เป้าหมายหรือทักษะจำเพาะ  (๒) มีเป้าหมายพัฒนาทักษะเพิ่มจากที่ นศ. มีอยู่แล้ว ในระดับความท้าทายที่พอเหมาะ  (๓) มีการฝึกนานพอเหมาะ และบ่อยพอเหมาะ เพื่อการบรรลุทักษะ/สมรรถนะ เป้าหมาย


พุ่งเป้าการฝึกไปที่เป้าหมายหรือเกณฑ์ความสำเร็จที่จำเพาะ และชัดเจน

ผลการวิจัยบอกว่า การฝึกฝนมีหลายแบบ  แบบที่จะนำไปสู่ความพากเพียรพยายาม ฝึกฝนต่อเนื่องเรียกว่า การฝึกอย่างมีเป้าหมายแจ่มชัด (deliberate practice) ซึ่งหมายความว่า นศ. มีเป้าหมายของตนชัดเจนว่าการฝึกขั้นตอนนี้ต้องการบรรลุอะไร  รู้ได้อย่างไรว่าบรรลุ  เพื่อเป็นพื้นฐานไปสู่การฝึกทักษะขั้นสูงอะไรต่อไป  โดยรู้ว่าเป้าหมายสุดท้ายคืออะไร

ครูต้องช่วยให้ นศ. ฝึกโดยเข้าใจเป้าหมายของการฝึกเป็นขั้นเป็นตอนอย่างนี้   หลายกรณี ครูเข้าใจผิดว่าตนบอก นศ. ชัดเจนแล้ว  แต่ชัดเจนสำหรับครู ไม่ชัดเลยสำหรับศิษย์  การฝึกจึงเปะปะไร้ความหมายสำหรับศิษย์

เป้าหมายเป็นตัวให้พลังในการพุ่งเป้าความพยายาม  ไม่ว่าทำอะไร เราควรฝึกตัวเองให้ทำอย่างมีเป้าหมายเสมอ  จะช่วยให้ทำได้ดีกว่าปกติ  เวลาผมอ่านหนังสือ ผมจะใช้วิธี “ถามหนังสือ”  ไม่ใช่อ่านไปเรื่อยๆ  การ “ถาม” เป็นการกำหนดเป้าหมายนั่นเอง

ทักษะของครู ในการทำให้ศิษย์มีความชัดเจนของเป้าหมายของการฝึกแต่ละขั้นตอน จึงมีความสำคัญยิ่ง  ยิ่งให้ นศ. ได้เข้าใจการฝึกตอนต่อๆ ไปข้างหน้า อีก ๒ - ๓ ขั้นตอน  และเข้าใจว่า ขั้นตอนเหล่านั้นจะนำไปสู่เป้าหมายใหญ่ของ นศ. อย่างไร  นศ. จะยิ่งมีกำลังใจและมีพลังในการฝึก   ซึ่งหมายความว่า ครูต้องรู้เป้าหมายในชีวิตของ นศ. แต่ละคน  และทำให้เป้าหมายของการฝึกเล็กๆ นั้น เป็นส่วนหนึ่งของเป้าหมายทักษะ/สมรรถนะ ชุดใหญ่  ที่จะปูทางไปสู่เป้าหมายอันยิ่งใหญ่ของชีวิตของ นศ. แต่ละคน

อ่านและตีความหนังสือมาถึงตอนนี้  ผมคิดว่านี่คือส่วนหนึ่งของการสร้างแรงบันดาลใจในการเรียน และในชีวิต  และทำให้ผมคิดถึงครูเรฟ ผู้เขียนหนังสือครูนอกกรอบกับห้องเรียนนอกแบบ  ซึ่งดูวิดีทัศน์แสดงวิธีสร้างแรงบันดาลใจแก่ศิษย์วัย ๑๐ ขวบ ใน YouTube ได้ที่นี่

ถ้อยคำ (ทั้งที่เป็นข้อเขียน และเป็นคำพูด) ที่ครูคิดว่าชัดเจน  อาจไม่ชัดเจนพอสำหรับศิษย์  อาจทำให้ศิษย์เข้าใจผิด  และฝึกฝนตนเองผิดเป้าที่แท้จริง  ดังนั้น ครูต้องสื่อสารให้ชัดเจนว่าการฝึกช่วงนั้นต้องการให้ นศ. ทำอะไรได้บ้าง  วัดความสำเร็จอย่างไร   อาจต้องบอกว่าเป้าหมายที่แท้จริงไม่ใช่อะไรบ้าง เพื่อให้ชัดเจนถึงขนาด


ระดับความท้าทายพอเหมาะ

ในการฝึกฝน นอกจาก นศ. มีเป้าหมายชัดแล้ว  ประเด็นฝึกหัดต้องมีระดับความยากง่าย หรือที่เรียกในสมัยใหม่ว่าความท้าทาย (challenge) เหมาะสมด้วย  รวมทั้งมีตัวช่วยที่เหมาะสมให้ นศ. ใช้ความอดทนมานะพยายามก้าวข้ามความยาก ไปสู่ความสำเร็จได้

นี่คือสิ่งที่ครู พึงจัดให้แก่ศิษย์

มีผู้ให้นิยามการฝึกอย่างมีเป้าหมายแจ่มชัด (deliberate practice) ว่าหมายถึงการทำงานเพื่อบรรลุเป้าหมายที่สมเหตุสมผล และท้าทาย  คือต้องมีความท้าทายเป็นส่วนผสมอยู่ด้วย จึงจะถือว่าเป็นการฝึกอย่างมีเป้าหมายแจ่มชัด  หากไม่ท้าทาย นศ. ก็จะขาดความสนใจ  หันไปทำอย่างอื่น

ในทางตรงกันข้าม ผลการวิจัยบอกว่า หากความท้าทายใหญ่/ยาก เกินไป  หรือมีหลายอย่างเกินไป  จะเกินแรงสมองของ นศ. ผลการฝึกจะไม่ดี

ความท้าทายที่เหมาะสมจึงเป็นโจทย์สำหรับครู  ที่จะศึกษาทำความเข้าใจ เชื่อมโยงกับศิษย์แต่ละคน  และเชื่อมโยงกับการทำหน้าที่ “ครูฝึก”  ผมหลับตาเห็นโจทย์วิจัยวิชาการด้านการจัดการเรียนรู้มากมาย จากเรื่องนี้

เรื่องการฝึกภายใต้ความท้าทายพอเหมาะนี้ หนังสือเอ่ยถึงคำ Zone of Proximal Development  ซึ่งน่าสนใจมาก  คนเป็นครู/อาจารย์ ควรศึกษารายละเอียดเพิ่มเติม  และพึงตระหนักว่า ความท้าทายที่เหมาะสมต้องคู่กับความช่วยเหลือที่เหมาะสมด้วย

หนังสือเล่าเรื่องวิธีการสร้าง “ตัวช่วย” มากมาย  หลายวิธีเป็นการให้ นศ. ช่วยกันเอง  ไม่กินแรงครู  เป็นเรื่องที่น่าทดลองนำมาใช้และทำงานวิจัยควบคู่ไปด้วย


สั่งสมการฝึกฝน

ต้องไม่ลืมว่า เป้าหมายของการฝึกฝนคือ ทำได้อย่างเป็นอัตโนมัติ  คือไม่ต้องคิด  ดังนั้น การฝึกฝนซ้ำแล้วซ้ำอีก จึงเป็นสิ่งจำเป็น  แต่เวลาเป็นทรัพยากรที่จำกัด  ครูพึงเข้าใจข้อจำกัดนี้ของ นศ.

ครูพึงตระหนักว่า การฝึกฝนของ นศ. เป็นช่วงของผู้ฝึกใหม่  นศ. จะค่อยๆ เรียนรู้สั่งสมทักษะ  ครูต้องระมัดระวังไม่เร่งร้อน  และควรหาโอกาสให้ นศ. ได้ฝึกแต่ละทักษะซ้ำ  ไม่ใช่ฝึกครั้งเดียวผ่านไปเลย  เพราะจะมี นศ. ส่วนใหญ่ที่ยังฝึกไม่ได้ทักษะจริง

 

 

แผนภาพข้างบนมาจากผลการวิจัย ที่แสดงว่าช่วงเวลาของการฝึกฝนให้ผลเพิ่มสมรรถนะไม่เท่ากัน  คือเพิ่มน้อยในช่วงต้นและช่วงปลายที่ชำนาญแล้ว  เพิ่มมากในช่วงกลาง ที่ฝึกฝนทักษะเบื้องต้นมาอย่างดีแล้ว  หนังสือบอกว่าสภาพนี้มีทั้งส่วนจริง และส่วนที่เป็นความรู้สึกของ นศ.  ที่เป็นความรู้สึกลวงว่าช่วงเริ่มต้นฝึกไม่ค่อยได้อะไร ก็เพราะเป็นช่วงฝึกทักษะองค์ประกอบย่อย  ตัวผู้ฝึกจะไม่รู้สึกว่าได้สมรรถนะ  จะรู้สึกว่าได้เพิ่มสมรรถนะเมื่อได้ทักษะบูรณาการ  ส่วนตอนท้าย เมื่อฝึกมานาน น.ศ. ไม่ค่อยรู้สึกว่ามีสมรรถนะเพิ่มขึ้น ก็เพราะส่วนที่เพิ่มจะเป็นรายละเอียดมากๆ  ความรู้สึกลวงของ นศ. นี้บอกว่า  ครูต้องเอาใจใส่ให้การประเมินป้อนกลับความก้าวหน้าของสมรรถนะ แก่ นศ. ในช่วงนี้มากเป็นพิเศษ  เพื่อให้ นศ. ได้เห็นคุณค่าของการฝึกช่วงนั้น


เทคนิคการเป็น ครูฝึก

ประเมินพื้นความรู้ชอง นศ. สำหรับใช้กำหนดระดับความท้าทาย

ครูต้องตระหนักเสมอว่า นศ. ในชั้นมีพื้นความรู้แตกต่างกัน  การทดสอบพื้นความรู้ตอนต้นเทอม โดยการให้กรอกแบบสอบถาม  ให้ทำ Pre-test  หรือให้ทำการบ้านโดยไม่คิดคะแนน  จะช่วยให้ครูรู้จุดแข็งและจุดอ่อนของ นศ.  สำหรับนำมาใช้กำหนดระดับความยากง่ายของการฝึก


จงระบุเป้าหมายของรายวิชาให้แจ่มชัด

อย่าปล่อยให้ นศ. คิดเอาเองเกี่ยวกับเป้าหมาย และรายละเอียดของรายวิชา  จงระบุเป็นข้อเขียนลงไว้ในรายละเอียดของรายวิชา (Course Description)  รวมทั้งระบุเป้าหมายของแต่ละงานที่มอบหมายให้ นศ. ทำด้วย  โดยเน้นระบุเป็น “วัตถุประสงค์เชิงพฤติกรรม”  คือระบุว่าเมื่อจบรายวิชา (หรือเมื่อจบงานนั้นๆ) นศ. จะทำอะไรได้  สำหรับให้ นศ. ใช้เป็นธงนำการเรียนรู้ของตน


ใช้ rubric ของการประเมินเพื่อสื่อสารเกณฑ์ของสมรรถนะที่ต้องการอย่างชัดเจน

ข้อดีของ rubric คือ ช่วยแยกแยะงานนั้นๆ ออกเป็นองค์ประกอบย่อย  และบอกเกณฑ์ชัดเจนว่า สมรรถนะระดับต่ำ ระดับปานกลาง และระดับสูง เป็นอย่างไร  นศ. จะใช้เป็นเครื่องมือนำทางและตรวจสอบการเรียนรู้ของตนได้


จัดให้มีโอกาสฝึกฝนหลายช่องทาง

ธรรมชาติของการเรียนรู้ คือมีการสั่งสมอย่างช้าๆ ไปกับการฝึกฝน  ดังนั้นการฝึกฝนทำโจทย์หรืองานเล็กๆ หลายๆ ครั้ง จะช่วยให้ผลการเรียนรู้ดีกว่าการให้ทำงานใหญ่เพียงครั้งเดียว

ครูพึงตระหนักว่า การฝึกทักษะใดทักษะหนึ่งเพียงครั้งเดียว ไม่เพียงพอต่อการเรียนให้รู้จริง


ใช้เทคนิค scaffolding ในการมอบหมายงาน

เป็นเทคนิคที่ครูช่วยมากหน่อยในตอนต้นที่ นศ. ทำงานที่ได้รับมอบหมาย  แล้วครูค่อยๆ ลดการช่วยเหลือลง  ให้ นศ. ช่วยตนเอง หรือเป็นตัวของตัวเองมากขึ้น


กำหนดความคาดหวังต่อการฝึก

นศ. มักคิดว่าการฝึกใช้เวลาไม่มาก  ซึ่งไม่ตรงความเป็นจริงสำหรับคนฝึกใหม่ ที่ต้องใช้เวลาฝึกอย่างเป็นขั้นตอน  ครูจึงต้องมีเอกสารระบุแนวทางการฝึก  บอกรายละเอียดเกี่ยวกับ จำนวนครั้ง  ระยะเวลาแต่ละครั้ง  ชนิดของการฝึก  และระดับการฝึก  ที่ต้องการสำหรับบรรลุทักษะในระดับที่ต้องการ

ครูมีแนวทางได้ข้อมูลนี้ ๒ วิธี  วิธีแรกคือสอบถามจาก นศ. รุ่นก่อนๆ  วิธีหลังคือ นศ. ที่เป็นคนฝึกใหม่จะใช้เวลา ๓ - ๔ เท่าของครูที่ถือเป็นผู้ชำนาญ


ยกตัวอย่างสมรรถนะที่เป็นเป้าหมาย

การให้ นศ. ดูตัวอย่างผลงานที่ดีของ นศ. รุ่นก่อนๆ  จะช่วยให้ นศ. นึกออกง่ายขึ้น ว่าสมรรถนะที่ดีเป็นอย่างไร  ครูควรอธิบายด้วยว่า ลักษณะส่วนไหนของผลงานตรงตามเกณฑ์สมรรถนะไหน


ให้ นศ. ได้ประจักษ์สิ่งที่ครูไม่ต้องการ

เป็นการให้ตัวอย่างที่ตรงกันข้ามกับหัวข้อก่อน  นศ. จะได้เข้าใจชัดเจนว่า ความเข้าใจผิดที่เกิดขึ้นบ่อยๆ คืออะไรบ้าง  นศ. จะได้ไม่หลงฝึกฝนผิดๆ  หรือหลงสร้างผลงานที่คุณภาพต่ำ

วิธีหนึ่งที่จะช่วยให้ นศ. เข้าใจเกณฑ์คุณภาพของผลงานชัดคือ ให้ นศ. ใช้ rubric ประเมินให้คะแนนผลงานตัวอย่างของ นศ. รุ่นก่อนๆ


ปรับปรุงเป้าหมายให้ชัดและเหมาะสมยิ่งขึ้นในระหว่างที่การเรียนก้าวหน้าไประหว่างเทอม

เป้าหมายการเรียนรู้ไม่ควรเป็นเป้านิ่ง  ควรปรับไปตามสภาพของผลการเรียนของชั้น  เช่น เมื่อเรียนไปได้ระยะหนึ่ง  และ นศ. บรรลุเป้าหมายการฝึกทักษะแล้ว  ครูอาจเพิ่มเป้าหมายให้ นศ. ประยุกต์ทักษะได้เร็วยิ่งขึ้น

 

วิจารณ์ พานิช

๑ ม.ค. ๕๖

กรณีที่ไม่สามารถอ่านได้ครบถ้วนกรุณาเข้าไปหาอ่านได้จากบันทึกตัวจริงของอาจารย์วิจารณ์ ที่ผมคัดลอกมาได้ที่ http://www.gotoknow.org/posts/521064

 
Home > Articles > พัฒนาทุนมนุษย์ > การเรียนรู้เกิดขึ้นอย่างไร : ๑๐. การทำหน้าที่ “ครูฝึก”

About Us

ศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ (ศบม.) เป็นองค์กรที่พัฒนาและจัดทำโครงการเพื่อทำประโยชน์ให้สังคม เป็นองค์กรสนับสนุนการดำเนินงานของภาครัฐ ช่วยแก้ปัญหาผู้ประกอบการภาคธุรกิจบริการที่ขาดแคลนบุคลากรที่มีมาตรฐานในการให้บริการ
อ่านเพิ่มเติม

มูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ ์

 iHDC Profile
บัญชีรายชื่อกรรมการ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียน การเปลี่ยนแปลงกรรมการของมูลนิธิ
เอกสารประชาสัมพันธ์ โครงการ HMTC.pdf
เอกสารแนะนำโครงการ HMTC 1.pdf
เอกสารโครงการ HMTC 2 คุณสมบัติผู้เข้าร่วมโครงการ.pdf
iHDC นิติบุคคล.pdf
iHDC บุคคล.pdf
iHDC บุคคลเครือข่าย.pdf
รายงานการประชุม 6 มีนาคม 2560.pdf
ข้อบังคับมูลนิธิ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียนจัดตั้งมูลนิธิ
Ihdc-Profile and Roadmap 2016-2019 Mar 23 2560.pdf
รายงานการประชุมใหญ่คณะกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ 2559.pdf
คำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ สาขาวิชาชีพ.pdf
รายงานการประชุมใหญ่วันที่ 18 ธ ค 2558 v 3.pdf
รายงานการประชุม วันที่ 24 ธันวาคม 2557 updated 4 มีนาคม 2558.pdf
iHDC-invitation Letter.doc
iHDC-Member Form Thai.doc
iHDC-Member Form English.doc
รายงานการประชุมกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ วันที่ 15 มกราคม 2556 ฉบับสมบูรณ์


thaibetter
พัฒนาประเทศไทยแบบทวีคูณ และยั่งยืน ( ททค )

Login


แบบสำรวจ

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

สถิติเว็บไซด์

สมาชิก : 5585
Content : 3038
เว็บลิงก์ : 26
จำนวนครั้งเปิดดูบทความ : 8555666

facebook

Twitter


ล่าสุด

บทความเก่า