Thaiihdc.org

  • เพิ่มขนาดตัวอักษร
  • ขนาดตัวอักษรปกติ
  • สดขนาดตัวอักษร
Home > Articles > พัฒนาทุนมนุษย์ > การเรียนรู้เกิดขึ้นอย่างไร : ๑๒. พัฒนาการของนักศึกษาและบรรยากาศในชั้นเรียน : ทฤษฎี

การเรียนรู้เกิดขึ้นอย่างไร : ๑๒. พัฒนาการของนักศึกษาและบรรยากาศในชั้นเรียน : ทฤษฎี

พิมพ์ PDF

บันทึก ๑๖ ตอนนี้ มาจากการตีความหนังสือ How Learning Works : Seven Research-Based Principles for Smart Teaching ซึ่งผมเชื่อว่า ครู/อาจารย์ จะได้ประโยชน์มาก หากเข้าใจหลักการตามที่เสนอในหนังสือเล่มนี้  ตัวผมเองยังสนใจเพื่อเอามาใช้ปรับปรุงการเรียนรู้ของตนเองด้วย

ตอนที่ ๑๒ และ ๑๓ มาจากบทที่ 6  Why Do Student Development and Course Climate Matter for Student Learning?  ซึ่งผมตีความว่าเป็นการมอง “การเรียนรู้” ของ นศ. จากมุมที่กว้างกว่า “การเรียนวิชา”  เชื่อมโยงไปสู่ “การเรียนรู้ชีวิต” สู่วุฒิภาวะในทุกๆ ด้าน  และมองว่าปฏิสัมพันธ์ระหว่าง นศ. กับ นศ.  และระหว่าง นศ. กับครูมีผลต่อการเรียนรู้มาก

ตอนที่ ๑๒ ว่าด้วยทฤษฎี  ตอนที่ ๑๓ ว่าด้วยภาคปฏิบัติ หรือยุทธศาสตร์

บทที่ ๖ เริ่มต้นด้วยคำบ่นผิดหวังขัดข้องของศาสตราจารย์ ๒ คน  ที่บรรยากาศในห้องเรียนไม่ราบรื่น  ไม่เอื้อต่อการเรียนรู้  เป็นการวางฉากสถานการณ์ในห้องเรียนที่สะท้อนความเป็น “ผู้เยาว์” ของ นศ.  และเรื่องที่ ๒ สะท้อนสภาพ “หวังดีกลับได้โทษ” ต่ออาจารย์


การพัฒนา นศ. อย่างเป็นองค์รวม

สัจจธรรมเกี่ยวกับ นศ. ก็คือ  นศ. ไม่ได้เป็นแค่สัตว์ปัญญา (Intellectual Being) แต่ยังเป็นสัตว์สังคม (Social Being) และสัตว์อารมณ์ (Emotional Being) ด้วย  ๓ ปัจจัยนี้บูรณาการกันเป็นตัว นศ. แต่ละคน และมีผลต่อผลสัมฤทธิ์ของการเรียน ทั้งของตัว นศ. เป็นรายคน และต่อชั้นเรียน

นั่นคือ กิจกรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้นในชั้นเรียน  ไม่ได้มีประโยชน์ต่อ นศ. เฉพาะด้านการเรียนวิชาเท่านั้น  แต่มีประโยชน์เป็นการเรียนรู้องค์รวม ซึ่งหมายถึงการเรียนรู้ชีวิต ที่เรียกว่า การพัฒนานักศึกษา (Student Development) หรือการเอื้ออำนวยให้ นศ. เปลี่ยนสถานะจากนักเรียนมัธยม มาสู่การเป็น นศ. ซึ่งต้องฝึกรับผิดชอบตนเองในทุกด้าน  ได้เรียนรู้รอบด้าน ได้แก่ด้านการมีชีวิตไกลบ้าน ออกจากอ้อมอกพ่อแม่  ฝึกบังคับควบคุมตนเอง  การเข้าสังคมกับเพื่อน  การต่อรองรอมชอมกับเพื่อนร่วมห้อง ร่วมชั้น   การสร้างความเป็นตัวตนของตนเอง  การสร้างการยอมรับในหมู่เพื่อน  การจัดการด้านการเงิน  ตัดสินใจต่อเรื่องสุรา ยาเสพติด  เรื่องทางเพศ  และอื่นๆ   แล้วยังต้องตัดสินใจเรื่องการเรียน  จะลงเรียนวิชาใดบ้าง  จะเลือกวิชาใดเป็นวิชาเอก วิชาโท วิชาเลือก  จะเข้าเป็นสมาชิกชมรมใดบ้าง  จะเล่นกีฬาอะไร ฯลฯ

ช่วงชีวิตของ นศ. ระดับปริญญาตรี (อายุ ๑๗ - ๒๔ ปี) เป็นช่วงที่กำลังเรียนรู้เพื่อพัฒนาทักษะทางสังคม และทักษะทางอารมณ์ หรือกล่าวใหม่ว่า เป็นช่วงที่ นศ. ยังไม่พัฒนาเต็มที่ใน ๒ ด้านนี้  ซึ่งตามความรู้ด้านประสาทวิทยาศาสตร์บอกว่า จะพัฒนาเต็มที่เมื่ออายุ ๒๕ ปี  แต่ประสบการณ์ชีวิตบอกผมว่า ยังมีพัฒนาการเรื่อยไปตลอดชีวิต

มีความจริง ๒ ประการเกี่ยวกับการเรียนรู้ด้านสังคมและด้านอารมณ์  ที่ได้จากผลการวิจัย คือ  (๑)​ ในช่วงชีวิตในมหาวิทยาลัย นศ. ได้รับประโยชน์ด้านการเรียนรู้เชิงสังคม และด้านอารมณ์  มากกว่าประโยชน์ด้านปัญญา (intellectual)  (๒) หากพัฒนาการ/การเรียนรู้ ด้านสังคมและอารมณ์ไม่ราบรื่น  จะมีผลทำให้การเรียนด้านปัญญาหรือวิชาการล้มเหลว


หลักการสำคัญ พัฒนาการของ นศ. มีปฏิสัมพันธ์กับบรรยากาศของรายวิชาในด้านสังคม อารมณ์ และปัญญา  และมีผลต่อการเรียนรู้


การพัฒนา นศ. (Student Development)

พัฒนาการของ นศ. เป็นประเด็นที่ครูต้องเอาใจใส่  ดังหลักการของการศึกษาแนวถือ นศ. เป็นศูนย์กลาง (Student-Centered) ว่า “ครูสอนศิษย์ ไม่ใช่สอนวิชา”

ครูจึงต้องทำความเข้าใจ และเอาใจใส่ สิ่งท้าทายต่อ นศ. ในด้าน สังคม อารมณ์ และปัญญา  แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าครูต้องรับผิดชอบทำหน้าที่ฝึกทุกเรื่องแก่ นศ.  เรื่องที่ไม่ต้องทำหน้าคือเรื่องเงิน กับเรื่องปัญหาหัวใจ  ความเข้าใจนี้ จะช่วยให้ครูจัดบรรยากาศการเรียนรู้ได้เหมาะสมขึ้น

ความหมายของ การพัฒนา นศ. ในที่นี้ นิยามว่าหมายถึง การตอบสนองต่อความท้าทายด้านปัญญา สังคม หรืออารมณ์ ที่มีผลต่อความเจริญก้าวหน้าของ นศ.  โดยเน้นมอง นศ. เป็นกลุ่มในภาพรวม  และตระหนักว่า ระดับวุฒิภาวะของ นศ. แต่ละคนไม่เท่ากัน  และ นศ. แต่ละคนอาจมีระดับวุฒิภาวะบางด้านด้อยกว่าด้านอื่นๆ  เช่น นศ. บางคนอาจมีระดับวุฒิภาวะทางปัญญาและทางสังคมสูง แต่อ่อนด้อยด้านวุฒิภาวะทางอารมณ์

ผมขอหมายเหตุความเห็นของตนเองไว้ ณ ที่นี้ว่า  วงการศึกษาไทยมักไม่ได้มองอย่างที่ระบุในหนังสือบทนี้  ว่าครู/สถาบันการศึกษา ต้องเอาใจใส่การพัฒนานักศึกษารอบด้าน ไม่ใช่เอาใจใส่แค่สอนวิชา  ระบบการศึกษาไทยยังเอาใจใส่เฉพาะที่การสอนวิชากันอยู่


ทฤษฎีพัฒนาการของ นศ. แนว Chickering (The Chickering Model of student Development)

เป็นทฤษฎีที่เสนอว่าในช่วงเวลาในมหาวิทยาลัย นศ. ระดับปริญญาตรี มีพัฒนาการรวม ๗ ด้าน  ที่เขาเรียกว่าเป็น 7 vectors ที่มีอิทธิพลหรือเป็นพื้นฐานต่อกันและกัน คือ

 

 

๑.  การพัฒนาสมรรถนะ ซึ่งรวมสมรรถนะด้าน ปัญญา กายภาพ และปฏิสัมพันธ์ระหว่างบุคคล

 

สมรรถนะด้านปัญญา รวมถึงการพัฒนาทักษะด้านการเรียนรู้ในบรรยากาศมหาวิทยาลัย  ไปจนถึงทักษะการคิดอย่างมีวิจารณญาณ และทักษะแก้ปัญหา

 

สมรรถนะด้านกายภาพ รวมถึงการเล่นกีฬา  ทักษะในการรับผิดชอบชีวิตและสุขภาพของตนเอง (ไม่ใช่อยู่ในปกครองของพ่อแม่อีกต่อไป)  การมีร่างกายแข็งแรง

 

สมรรถนะด้านปฏิสัมพันธ์ระหว่างบุคคล รวมถึงทักษะด้านการสื่อสาร  ด้านกลุ่ม  และด้านภาวะผู้นำ

 

สมรรถนะทั้ง ๓ กลุ่มนี้ จะช่วยสร้างความมั่นใจให้แก่ นศ. ว่า ตนจะสามารถเผชิญความท้าทายต่างๆ ได้

 

๒.  การจัดการอารมณ์ คือรู้เท่าทันอารมณ์ของตนเอง  (ได้แก่ ความกังวล  ความสุข  ความโกรธ  ความขัดใจ  ความตื่นเต้น  ความหดหู่ เป็นต้น)  และมีทักษะในการแสดงออกอย่างเหมาะสม  ในตัวอย่างที่ยกมาตอนต้นบทของหนังสือ  การเรียนเรื่อง ผลกระทบทางเศรษฐกิจ จากผู้อพยพเข้าเมืองของสหรัฐอเมริกา ล่มลงกลางคัน เพราะ นศ. ไม่มีความสามารถในการจัดการอารมณ์


 

๓.  พัฒนาความเป็นตัวของตัวเอง เป็นทักษะในการแยกตัวออกมาจากพ่อแม่  เข้ามาอยู่ในกลุ่มเพื่อน  และกลายเป็นตัวของตัวเองในที่สุด  ประเด็นสำคัญที่สุดคือการพัฒนาความสามารถพึ่งตนเองทางอารมณ์  และพึ่งตนเองในเรื่องต่างๆ ในชีวิต   ผลการวิจัยบอกว่าวัยรุ่นสมัยใหม่มีความยากลำบากในการพัฒนาเรื่องนี้มากกว่าวัยรุ่น สมัยก่อน  โดยกลไกการพัฒนาต้องผ่านการเชื่อมโยงซึ่งกันและกัน (interconnectedness) เสียก่อน  แล้วจึงเคลื่อนสู่สภาพ พึ่งพาซึ่งกันและกัน (interdependence)

 

ครูต้องเข้าใจจิตวิทยาข้อนี้  สำหรับระมัดระวังไม่จัดสภาพห้องเรียนให้เข้าไปรบกวนขั้นตอนการพัฒนาตนเองของ นศ. ข้อนี้


 

๔.  สร้างอัตตลักษณ์ เป็นประเด็นสำคัญที่สุด ของทฤษฎี Chickering  โดยพัฒนาบนฐานของ 3 vector ที่ผ่านมา  และเป็นฐานของการพัฒนาอีก 3 vector ที่เหลือ  เป็นการพัฒนาความพึงพอใจ และความภาคภูมิใจ ในตนเอง  ทั้งด้านร่างกาย  รูปลักษณ์  เพศและเพศสภาพ  เชื้อชาติ  และชาติพันธุ์ ของตน

 

นศ. ที่มีวุฒิภาวะด้านอัตตลักษณ์ จะมีความมั่นใจในตนเอง และมีทักษะในการเคารพและรับฟังความเห็นของคนอื่นที่แตกต่างได้ดี  ไม่รู้สึกถูกคุกคามจากความคิดเห็นที่แตกต่าง  ช่วยให้กิจกรรมการเรียนรู้เป็นกลุ่ม และในชั้นเรียน มีการอภิปรายแสดงความคิดเห็นที่แตกต่างกันได้อย่างราบรื่น ไม่เกิดความขัดแย้ง หรือทะเลาะเบาะแว้ง


 

๕.  พัฒนาความเป็นอิสระจากปฏิสัมพันธ์ระหว่างบุคคล เป็นวุฒิภาวะด้านความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล  ได้แก่ ตระหนักในความแตกต่างระหว่างบุคคล  และอดทน/ยอมรับ ความแตกต่างนั้น  วุฒิภาวะด้านความสัมพันธ์เชิงความรัก ก็จัดอยู่ในข้อนี้


 

๖.  พัฒนาจุดมุ่งหมายในชีวิต (purpose) พัฒนาจาก “ฉันเป็นใคร” ในขั้นตอนพัฒนาอัตตลักษณ์  สู่ “ฉันจะเป็นคนแบบไหน” ในขั้นตอนนี้  ได้แก่การพัฒนาความสนใจ อาชีพ และลีลาชีวิต  โดยสามารถผ่านอุปสรรค ความยากลำบาก ความไม่เห็นพ้อง ได้


 

๗.  พัฒนาความมั่นคงในคุณธรรม (integrity) เป็นประเด็นของความขัดแย้งระหว่างผลประโยชน์ส่วนตน กับผลประโยชน์ส่วนรวม หรือของสังคม  ความรับผิดชอบต่อสังคม   เมื่อพัฒนาจนเกิดวุฒิภาวะ ก็จะเกิดการให้คุณค่าภายในจิตใจ ที่จะกำหนดพฤติกรรมต่างๆ

 

 

พัฒนาการทั้ง ๗ ด้านนี้ นศ. ยังอยู่ในช่วงของการฝึกหัดไปพร้อมๆ กันกับบทเรียนตามหลักสูตร และรายวิชา  และมีผลซึ่งกันและกันอย่างซับซ้อน  ครูพึงเข้าใจความซับซ้อนนี้ ที่กำลังเกิดขึ้นในชั้นเรียน และในสังคมมหาวิทยาลัย อยู่ทุกขณะ  สิ่งเหล่านี้ มีผลต่อ ความตั้งใจเรียน แรงจูงใจ ความขยัน ความเป็นส่วนหนึ่งของหมู่คณะ และเอกลักษณ์ในสาขาวิชาชีพที่ตนเลือก

ผมเถียง Chickering ว่าพัฒนาการทั้ง ๗ ด้านนี้ ไม่ใช่มาพัฒนาเอาตอนเข้ามหาวิทยาลัย  คนเราพัฒนาเรื่องนี้มาตั้งแต่อยู่ที่บ้านและเรียนอนุบาลเรื่อยมา   แต่จะต้องมาพัฒนาให้มั่นคง สู่ความเป็นผู้ใหญ่ในช่วงมหาวิทยาลัย


พัฒนาการทางปัญญา (Intellectual Development)

ฝรั่งเขาศึกษาพัฒนาการทางปัญญาในช่วงของการเป็น นศ. มหาวิทยาลัยมาตั้งแต่ช่วงปี 1950s   แต่หนังสือเล่มนี้ยึดตามทฤษฎีของ Perry (Perry W. (1968). Forms of intellectual and ethical development in the college years : A scheme. New York : Holt Rinehart & Winston.)  และคนอื่นๆ หลังจากนั้น ที่ได้ข้อค้นพบคล้ายคลึงกัน

หัวใจสำคัญคือ ในช่วงนี้ นศ. มีพัฒนาการหลายขั้นตอน  ในช่วงต้น นศ. จะคิดเป็น ๒ ขั้ว  ดำ-ขาว  ถูก-ผิด หรือทวิภาพ (duality) ในช่วงนี้ นศ. มองความรู้เป็นสิ่งสัมบูรณ์ (absolute) ที่เขียนขึ้นโดย “ผู้รู้”  มีครูเป็น “ผู้รู้”  นศ. มีหน้าที่เรียนและดูดซับความรู้ไว้  และเมื่อถูกถามก็ตอบให้ตรงกับที่เรียนมา

เขาบอกว่าแนวคิดแบบนี้เรียกว่า มุมมองเชิงปริมาณต่อความรู้ (quantitative view)  มองว่าการศึกษาคือการถ่ายทอด “ความรู้ที่ถูกต้อง”  ภายใต้ความเชื่อว่า สิ่งที่รู้ได้เข้าใจได้ เป็นที่รู้กันหมดแล้ว  และครูเป็นผู้ที่มีความรู้ ตอบได้ทุกคำถาม

ในขั้นตอนนี้ นศ. ไม่เห็นคุณค่าของการอภิปรายแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็น

หลังจากนั้น มุมมองต่อความรู้และการเรียนรู้ ของ นศ. เปลี่ยนไปเป็นแบบ หลากหลาย (multiplicity) ความรู้กลายเป็นข้อคิดเห็น  ใครๆ ก็มีข้อคิดเห็นต่อเรื่องใดเรื่องหนึ่งตามแนวคิดของตนเองได้  ในขั้นนี้ นศ. จะไม่พอใจเรื่องการสอบ หากตนไม่ได้คะแนนดี  เพราะ นศ. ยังแยกไม่ออกระหว่างความเห็นที่ถูกต้อง กับความเห็นที่ผิด  ครูไม่ใช่ “ผู้รู้ ผู้ตัดสิน” อีกต่อไป  กลายเป็นความเห็นหนึ่ง เท่านั้น

ในขั้นตอนนี้ ความก้าวหน้าสำคัญ ๒ ประการคือ  (๑) นศ. มีใจเปิดรับความเห็นที่แตกต่าง  ไม่ยึดมั่นถือมั่นต่อ “ความรู้ที่ถูกต้อง”  (๒) การเรียนรู้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นภายในแต่ละคน (personal)  แต่ละคนเรียนรู้ไม่เหมือนกัน  นศ. แต่ละคนมีสิทธิ์ที่จะสร้างความรู้ของตนเอง

ต่อจากนั้น นศ. จะพัฒนาก้าวสู่มุมมองเชิง สัมพัทธภาพ (relativism) นศ. เริ่มตระหนักว่า ความเห็นที่ต่างกันนั้นไม่เท่าเทียมกัน  ความน่าเชื่อถือขึ้นกับข้อมูลหลักฐาน  มุมมองต่อความรู้กลายเป็นมุมมองเชิงคุณภาพ (qualitative view)  ครูกลายเป็นผู้ชี้ทางและเป็น “คุณอำนวย”   และ นศ. ตระหนักว่า ไม่มีความรู้หรือทฤษฎีใดสมบูรณ์

ขั้นตอนสุดท้ายของพัฒนาการ นศ. เกิดความผูกพัน (commitment) มีความเข้าใจว่า แม้ไม่มีทฤษฎีใดสมบูรณ์ ก็ต้องเลือก ๑ ทฤษฎีหรือแนวคิดเป็นฐาน สำหรับเรียนรู้ต่อไป  เท่ากับความคิดของ นศ. วนกลับมาคล้าย ทวิภาพ  คือเลือกหนึ่งแนวทาง  แต่ไม่เหมือน เพราะในขั้นตอนนี้ ความคิดของ นศ. เข้าใจความแตกต่างหลากหลายแล้ว  และเลือกหนึ่งแนวทาง (โดยมีข้อมูลหลักฐานประกอบการเลือก) สำหรับเดินทางเรียนรู้ต่อ ในท่ามกลางความหลากหลายนั้น

พัฒนาการทางปัญญานี้ ไม่แยกจากพัฒนาการทางศีลธรรม  เมื่อพัฒนาการทางปัญญาเข้าสู่วุฒิภาวะ  พัฒนาการทางศีลธรรมก็ยกระดับขึ้นด้วย  เพราะขั้นตอนของพัฒนาการที่กล่าวมาแล้วเป็นการเรียนรู้  การเรียนรู้ที่แท้จริงมีธรรมชาติบูรณาการ  ไม่แยกด้าน

ยังมีผลงานวิจัยลงรายละเอียด เพื่อทำความเข้าใจขั้นตอนพฤติกรรมการเรียนรู้สู่พัฒนาการทางปัญญาอีกมากมาย แต่จะไม่นำมาลงในบันทึกนี้

ควรย้ำไว้ ณ ที่นี้ด้วยว่า นศ. บางคนอาจจบออกไปเป็นบัณฑิต โดยที่พัฒนาการนี้ยังไปไม่สุด  และผมขอสารภาพว่าผมเป็นคนหนึ่งในนั้น

ครูต้องหมั่นทำความเข้าใจขั้นตอนของพัฒนาการนี้  สำหรับใช้ทำความเข้าใจพฤติกรรมของ นศ.  และใช้ความเข้าใจนี้ในการจัดการชั้นเรียนให้มีบรรยากาศเอื้อต่อการเรียนรู้ ให้ “รู้จริง”


การพัฒนาอัตตลักษณ์ทางสังคม (Social Identity Development)

ทฤษฎีด้านอัตตลักษณ์บอกว่า อัตตลักษณ์ไม่ใช่สิ่งที่มีมาแต่กำเนิด  แต่เป็นสิ่งที่ต้องไขว่คว้า  และต้องจัดสมดุลระหว่างการพัฒนาอัตตลักษณ์ กับการทำงาน ตลอดชีวิต

อัตตลักษณ์เป็นสิ่งที่จะต้องสร้างให้ตัวเอง และปรับแต่ง ตลอดชีวิต  ผมขอแถมตรงนี้ว่า โปรดอย่าสับสนกับการ “สร้างภาพ”

ขั้นตอนสำคัญในการสร้างอัตตลักษณ์ เกิดขึ้นเมื่อบุคคลนั้นตั้งคำถามต่อเกณฑ์คุณค่า และสมมติฐานที่กำหนดโดยพ่อแม่และสังคม  นำมาใช้กำหนดเกณฑ์คุณค่าของตนเอง และมีลำดับความสำคัญของตนเอง

ทฤษฎีพัฒนาอัตตลักณ์ทางสังคมของ Hardiman & Jackson (อ่านได้ ที่นี่ และ Hardiman R, Jackson B (1992). Racial idendity development  : Understanding racial dynamics in college classrooms and on campus. In M Adams (Ed.). Promoting diversity in college classrooms : Innovative responses for the curriculum, faculty and institutions. (Vol. 52, pp. 21-37). San Francisco : Jossey-Bass.)อธิบายว่า มี ๓ ขั้นตอนของการพัฒนาอัตตลักษณ์ทางสังคมของ นศ. แต่ละคน

 

๑.  ช่วงเป็นเด็กเล็ก อาจเรียกว่าเป็นช่วง ไร้เดียงสา (naiive) คือมองเห็นความแตกต่างของผู้คน แต่ไม่มีการตีความหรือให้คุณค่าใดๆ

 

๒.  ช่วง ยอมรับ (acceptance) เกิดขึ้นหลังจากได้มีประสบการณ์ทางสังคมกับคนหลากหลายกลุ่ม  ได้รับรู้แนวคิดสมมติทางสังคม (social construct) หลากหลายแบบ  นศ. ส่วนใหญ่จะบรรลุวุฒิภาวะอยู่ที่ช่วงนี้  คือมีความพอใจ มั่นใจกับสภาพความเป็นจริงของตน

 

๓.  ช่วงต่อต้าน (resistance) เกิดขึ้นหาก นศ. มีประสบการณ์ความอยุติธรรมในสังคม

 

 

ผมอ่านเรื่องราวของทฤษฎีนี้แล้ว  มีความเห็นว่า เป็นทฤษฎีที่พัฒนาขึ้นจากสภาพสังคมอเมริกัน  ซึ่งแตกต่างจากสภาพสังคมไทย  ดังนั้น จึงเป็นโอกาสที่อาจารย์ไทยจะทำวิจัยเรื่องการพัฒนาอัตตลักษณฺนี้ ในบริบทไทย ได้อีกมาก


 

บรรยากาศที่มีผลต่อการเรียนรู้

การเรียนรู้ไม่ได้เกิดในสูญญากาศ  แต่เกิดขึ้นในบรรยากาศจริงของรายวิชา และสถาบันการศึกษา  บรรยากาศที่ดีมีผลเพิ่มผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา  และบรรยากาศที่ไม่ดีมีผลลบ

นอกจากนั้น บรรยากาศยังมีผลต่อพัฒนาการของ นศ. อีกด้วย

บรรยากาศในที่นี้มี ๔ ส่วน คือสภาพแวดล้อมด้านปัญญา สังคม อารมณ์ และกายภาพ  ที่ นศ. เผชิญในชั้นเรียน และภายในสถาบันการศึกษา  ตัวกำหนดบรรยากาศคือปฏิสัมพันธ์ต่างๆ ที่ซับซ้อน  เช่น ปฏิสัมพันธ์ระหว่างอาจารย์กับ นศ.  การกำหนดระดับความยากง่าย เคร่งขรึมหรือสนุกสนานที่ครูกำหนด  ความเอาจริงเอาจังหรือท่าทีผักชีโรยหน้า  ลักษณะของประชากรในชั้นเรียน (เช่นจำนวน นศ. ต่างกลุ่มชาติพันธุ์)  ปฏิสัมพันธ์ระหว่าง นศ.  และมุมมองที่แตกต่างที่นำเสนอในชั้นเรียน

มุมมองต่อบรรยากาศแบบคิดง่ายๆ คือมองเป็น ๒ ขั้ว ดี-ไม่ดี  ดีหมายถึงเท่าเทียมกัน  เกิดการเรียนรู้ดี  ไม่ดีหมายถึง เย็นชา  เหยียดผิว เป็นต้น

ประเด็นสำคัญคือ บรรยากาศเดียวกัน นศ. ต่างคนอาจรู้สึกต่างกันเป็นคนละขั้วก็ได้

ในความเป็นจริง ความแตกต่างของบรรยากาศ ไม่ได้แบ่งเป็น ๒ ขั้ว  แต่มีลักษณะลดหลั่นลงมาทีละน้อย ตั้งแต่ ดำ เทาแก่ และลดความเทาลงเรื่อยๆ จนขาว


ลักษณะท่าทางเฉพาะ (Sterotype)

ลักษณะท่าทางเฉพาะบางอย่างก่อกวนชั้นเรียน เช่นก้าวร้าว  เหยียดผิว  พูดมาก  คุยโว  ซึ่งบ่อยครั้งผู้มีลักษณะเช่นนี้ไม่รู้ตัว  ยิ่งถ้าครูมีลักษณะนี้ซ่อนอยู่  และ นศ. บางคนรู้สึก และความรู้สึกนั้นอาจก่อกวนให้ไม่อยากเรียน

ลักษณะท่าทางเฉพาะ มีทั้งแบบที่ก่อผลลบต่อบรรยากาศการเรียน  และที่ก่อผลบวก  เช่นครูที่มีมุขตลก ช่วยให้บรรยากาศการเรียนไม่เคร่งเครียด


ท่าที(Tone)

นี่คือท่าทีการสื่อสารของครูต่อ นศ. ทั้งในชั้นเรียน และนอกชั้นเรียน  ทั้งการสื่อสารเป็นลายลักษณ์อักษร  สื่อสารด้วยวาจา  และสื่อสารด้วยสีหน้าท่าทาง และพฤติกรรมอื่นๆ (non-verbal communication)  ครูพึงตระหนักว่า นศ. มีความไวต่อการสื่อสารแบบไม่ใช่ถ้อยคำเป็นพิเศษ  และครูที่มีความรักความเตตาต่อศิษย์ ก็จะสื่อสารความรักความเมตตาให้ศิษย์สัมผัสได้โดยง่าย

ผมมีความเห็นเพิ่มเติมจากในหนังสือว่า ท่าทีของครูที่เอื้อต่อบรรยากาศการเรียนรู้อย่างบูรณาการของศิษย์ มีทั้งท่าทีเชิงบวกตามที่กล่าวไปแล้ว  กับท่าทีเชิงลบ ตัวอย่างเช่น ครูควรแสดงท่าทีหรือจุดยืนที่ชัดเจนต่อพฤติกรรมทุจริต เช่นการลอกเลียนผลงานของผู้อื่นโดยไม่อ้างอิง (plagiarism)  การลักขโมยสิ่งของ  การลอกข้อสอบ  ว่าเป็นพฤติกรรมที่จะต้องได้รับโทษหนัก หากสอบสวนแล้วพบว่าทำจริง


ปฏิสัมพันธ์ระหว่าง นศ. - นศ.  และ นศ. - อาจารย์

ผลงานวิจัยเรื่องนี้บอกว่า ปัจจัยด้านนี้ที่มีผลต่อบรรยากาศการเรียนรู้ เรียกว่า “ความรู้สึกต่อกันระหว่างอาจารย์-นักศึกษา” (Faculty Student Orientation)  ซึ่งหมายความรวมถึง การที่ นศ. รู้สึกว่าอาจารย์เอาใจใส่ปัญหาการเรียนของ นศ.  ครูเอื้อเฟื้อต่อ นศ. ชนกลุ่มน้อย  เข้าพบได้นอกเวลาเรียน  ปฏิบัติต่อ นศ. ในฐานะคน ไม่ใช่หมายเลข  เป็นต้น

ผลการวิจัยบอกว่า ปัจจัยเหล่านี้มีผลต่อการเรียนในระดับที่ลึกซึ้งมาก


สาระ (Content)

ปัจจัยที่มีผลกระทบต่อบรรยากาศการเรียน ที่กล่าวแล้วข้างบน เป็นปัจจัยด้านกระบวนการทั้งสิ้น  ผลการวิจัยบอกว่า ตัวสาระหรือเนื้อหาที่เรียน ก็มีผลกระทบต่อบรรยากาศการเรียนด้วย   ทั้งสาระ และวิธีการจัดการเรียนการสอน   จุดสำคัญคือ ช่วยให้ นศ. รู้สึกว่าวิชานั้นมีความหมายต่อชีวิตของเขา

ผมขอย้ำอีกทีว่า เมื่ออ่านหนังสือบทนี้จบ ผมเห็นโจทย์วิจัย หรือโอกาสทำวิจัยในห้องเรียนไทยมากมาย

 

วิจารณ์ พานิช

๓ ม.ค. ๕๖

คัดลอกจาก http://www.gotoknow.org/posts/522911

 
Home > Articles > พัฒนาทุนมนุษย์ > การเรียนรู้เกิดขึ้นอย่างไร : ๑๒. พัฒนาการของนักศึกษาและบรรยากาศในชั้นเรียน : ทฤษฎี

About Us

ศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ (ศบม.) เป็นองค์กรที่พัฒนาและจัดทำโครงการเพื่อทำประโยชน์ให้สังคม เป็นองค์กรสนับสนุนการดำเนินงานของภาครัฐ ช่วยแก้ปัญหาผู้ประกอบการภาคธุรกิจบริการที่ขาดแคลนบุคลากรที่มีมาตรฐานในการให้บริการ
อ่านเพิ่มเติม

มูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ ์

 iHDC Profile
บัญชีรายชื่อกรรมการ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียน การเปลี่ยนแปลงกรรมการของมูลนิธิ
เอกสารประชาสัมพันธ์ โครงการ HMTC.pdf
เอกสารแนะนำโครงการ HMTC 1.pdf
เอกสารโครงการ HMTC 2 คุณสมบัติผู้เข้าร่วมโครงการ.pdf
iHDC นิติบุคคล.pdf
iHDC บุคคล.pdf
iHDC บุคคลเครือข่าย.pdf
รายงานการประชุม 6 มีนาคม 2560.pdf
ข้อบังคับมูลนิธิ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียนจัดตั้งมูลนิธิ
Ihdc-Profile and Roadmap 2016-2019 Mar 23 2560.pdf
รายงานการประชุมใหญ่คณะกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ 2559.pdf
คำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ สาขาวิชาชีพ.pdf
รายงานการประชุมใหญ่วันที่ 18 ธ ค 2558 v 3.pdf
รายงานการประชุม วันที่ 24 ธันวาคม 2557 updated 4 มีนาคม 2558.pdf
iHDC-invitation Letter.doc
iHDC-Member Form Thai.doc
iHDC-Member Form English.doc
รายงานการประชุมกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ วันที่ 15 มกราคม 2556 ฉบับสมบูรณ์


thaibetter
พัฒนาประเทศไทยแบบทวีคูณ และยั่งยืน ( ททค )

Login


แบบสำรวจ

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

สถิติเว็บไซด์

สมาชิก : 5603
Content : 3043
เว็บลิงก์ : 26
จำนวนครั้งเปิดดูบทความ : 8591339

facebook

Twitter


ล่าสุด

บทความเก่า