Thaiihdc.org

  • เพิ่มขนาดตัวอักษร
  • ขนาดตัวอักษรปกติ
  • สดขนาดตัวอักษร
Home > ประชาสัมพันธ์ > ประชาสัมพันธ์ > ชัยชนะที่ไม่ต้องรบ

ชัยชนะที่ไม่ต้องรบ

พิมพ์ PDF

ชัยชนะโดยไม่ต้องรบ

 

ว่าจะไม่เขียนเรื่องเกี่ยวกับทหาร แต่ด้วยอาชีพตลอดจนยศฐาบรรดาศักดิ์ที่ได้มาถึงพลเอก อันเป็นยศสูงสุดทางทหารด้วยแล้ว จึงจำเป็นที่จะเขียนเรื่องเกี่ยวกับทหารบ้าง ถือว่า เป็นเรื่องจำเป็นจริงๆถึงต้องเขียน

ผมผ่านชีวิตการเป็นทหาร ตั้งแต่เป็นนักเรียนนายร้อยปี 2507 มาถึงวันนี้ เวลาล่วงเข้าปีที่ 56 แล้ว ถ้าเป็นอายุคนก็เป็นอายุของชายวัยชราแล้ว

ระหว่างเป็นทหารได้เติมพลังความรู้ด้านการรบทัพจับศึกมาแทบทุกขั้นตอน จะมีเพียง 5-6 ปี ระหว่างที่ไปเรียนต่างประเทศเท่านั้นที่เหินห่างชีวิตทหารไปบ้าง พอกลับจากเมืองนอกก็ต้องเข้าโรงเรียนทหารราบ โรงเรียนเสนาธิการทหารบก วิทยาลัยการทัพบก และวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร ตามชั้นยศไม่ได้ละเว้น

หน้าที่การงานก็วุ่นอยู่กับการเตรียมกำลังพลให้ไปสู่สนามรบ เกือบตลอดระยะเวลาที่รับราชการ ต้องเว้นวรรคบ้างก็ตอนที่เป็นนายทหารชั้นร้อยตรีร้อยโท ได้เป็นผู้ปฏิบัติการรบในสนามรบด้วยตนเอง

ความรู้ความเข้าใจเรื่องการรบทัพจับศึก ก็คงไม่แตกต่างกับเพื่อนๆนายทหารมากนัก แต่พอมาถึงวันนี้ อายุเกิน 75 ปีไปแล้ว จึงถามตัวเองว่า อะไรคือปัจจัยหลักที่จะให้ได้ชัยชนะในการรบ รถถัง หรือเครื่องบิน หรือเรือรบ หรือปืนผาหน้าไม้ หรือคำตอบคือใช่แต่ไม่ใช่ปัจจัยหลัก เป็นปัจจัยเสริมกำลังรบเท่านั้น ถ้าไม่มีได้ไหม คำตอบคือไม่ได้ต้องมี แต่จะมีมากน้อยเท่าใดนั้นอีกประเด็นหนึ่ง

เมื่อมีเวลาว่างมากหลังจากเกษียณอายุราชการแล้ว ความคิดเรื่องนี้ได้นำมาเป็นส่วนหนึ่งของวาระการดำรงชีวิตด้วย ตั้งแต่เช้าถึงเย็นได้ทุ่มเทค้นคว้าศึกษาหาคำตอบให้กับข้อสงสัยของตนเอง โดยไม่ได้รับสินจ้างรางวัลอะไรเลย

ค้นคว้าไปในทะเลแห่งความรู้ โปรแกรมคอมพิวเตอร์ เช่น Google Youtube Safari และอื่นๆ ตำรับตำราของบรรดานักปราชญ์การทหารทั้งในอดีตและมากมายทุกมุมโลก มาถึงบางอ้อ แล้วนึกตำหนิตัวเองว่าเรานี่ช่างโง่เขาเบาปัญญา หลงทางมาไกลแสนไกล ตั้งแต่ปีพศ 2543 ระยะเวลาจากบางอ้อถึงวันนี้ร่วม 20 ปีเต็ม จึงนึกได้ว่า ครั้งหนึ่ง ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน ได้มีโอกาสทองของชีวิต ได้เข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกับคณะนักบริหารและนักวิชาการจากองค์การสหประชาชาติและมหาวิทยาลัยเพื่อสันติภาพของโลก เพื่อถวายปริญญาเอกดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ด้านกฎหมายระหว่างประเทศ เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 7 ธันวาคม 2543 เวลา 18.00 น.

หลังจากผู้ช่วยเลขาธิการองค์การสหประชาชาติได้ทูลเกล้าถวายปริญญาเอกกิตติมศักดิ์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแล้ว พระองค์ท่านได้ตรัสถามคณะผู้เข้าเฝ้าทุกคน จนกระทั่งมาถึงผม ซึ่งแต่งเครื่องแบบทหารชุดขาวพร้อมสวมครุยปริญญาเอกด้วย พระองค์ท่านทรงแปลกพระทัย แล้วรับสั่งว่า เป็นอย่างไรมาอย่างไรนายทหารไทยถึงได้มายืนอยู่ในแวดวงฝรั่งนักวิชาการวันนี้ จึงได้กราบบังคมทูลว่า

เนื่องด้วย พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ ผู้บัญชาการทหารบก มีนโยบายที่จะให้นายทหารของกองทัพบกเป็นผู้มีความรู้ความสามารถรักษาสันติภาพร่วมกับองค์การสหประชาชาติ ดังนั้น ข้าพระพุทธเจ้า ในฐานะผู้บัญชาการสถาบันวิชาการทหารบกชั้นสูง อันประกอบไปด้วยวิทยาลัยการทัพบก โรงเรียนเสนาธิการทหารบก จึงได้เปิดหลักสูตรปริญญาโท การแก้ปัญหาความขัดแย้งและการสร้างสันติภาพ กับมหาวิทยาลัยเพื่อสันติภาพของสหประชาชาติ จึงได้มาร่วมกับมหาวิทยาลัยเพื่อสันติ ภาพ ในพิธีทูลเกล้าถวายปริญญาเอกกิตติมศักดิ์ด้านกฎหมายระหว่างประเทศ พระพุทธเจ้าข้าขอรับ

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงมีพระราชดำรัสรับสั่งว่า

เป็นเรื่องที่ดีมาก ขอให้ร่วมกันดำเนินการให้เป็นผลสำเร็จ เพราะนอกจากจะเป็นประโยชน์ต่อความสงบสุขของบ้านเมืองและภูมิภาคแล้ว ยังเป็นเกียรติภูมิของทหารด้วย

อีกประการหนึ่ง การรักษาสันติภาพให้ถาวรนั้น คือ การทำให้คนมีกิน ถ้าคนมีกินแล้วคนจะไม่ฆ่ากัน ขอให้โรงเรียนเสนาธิการทหารบกกำหนดหลักสูตรให้นายทหารเสนาธิการทหารบก ได้เรียนวิชาเศรษฐศาสตร์ให้มากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งให้นายทหารได้มีความรู้เรื่องเศรษฐกิจพอเพียง นำความรู้ไปเผยแพร่ให้ผู้เกี่ยวข้อง ตลอดจนประชาชนได้นำไปปฏิบัติ ถือว่าเป็นการช่วยรักษาความมั่นคงของชาติด้วย

พระกระแสรับสั่งของล้นเกล้าล้นกระหม่อม คือน้ำมันเติมตะเกียงชีวิตของผม ทำให้ตะเกียงชีวิตของผมสว่างไสวตั้งแต่วันนั้นถึงวันนี้

เมื่อใดก็ตามที่มีใครมาพูดจากันในเรื่องเกี่ยวกับปัญหาความมั่นคง ทำให้ผมระลึกถึงคืนวันนั้นขึ้นมาทุกที

อนึ่ง อดีตรัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐอเมริกา สมัยประธานาธิบดีเคนเนดี้ มิสเตอร์แมคนามารา (Mc Namara) ก็ได้มาร่วมกับคณะเข้าเฝ้าในคืนวันนั้นด้วย ได้ให้ข้อคิดเห็นกับผมในเรื่องเกี่ยวกับความมั่นคงยุคใหม่อย่างน่าสนใจยิ่ง ท่านกล่าวว่า

ในสมัยปัจจุบัน ความมั่นคงของชาติหมายถึงการพัฒนาให้ดีขึ้น( improvement) ความมั่นคง ไม่ได้มีความหมายถึงความมั่นคงด้วยการมีอาวุธยุทโธปกรณ์ทางทหาร และการมีกำลังพลที่เข้มแข็ง หากแต่ความมั่นคงคือการที่พัฒนาให้ประชาชนมีสภาวะดีขึ้น ถ้าไม่มีการพัฒนาให้เจริญก้าวหน้าขึ้น ก็หมายความว่าไม่มีความมั่นคงของชาตินั่นเอง การพัฒนาประเทศให้ดีขึ้นไม่ใช่เรื่องยากหากได้รับการสนับสนุนจากประชาชนทุกสาขาอาชีพ ดำเนินการพัฒนาประเทศในทุกมิติตลอดจนการสร้างความเข้าใจถูกต้องร่วมกัน การร่วมมือร่วมใจกันของทุกฝ่าย ให้เกิดการพัฒนาอันเป็นปัจจัยสำคัญยิ่งต่อความมั่นคงของชาติ

ซุนวู ปราชญ์แห่งพิชัยยุทธชาวจีน เมื่อ 2000 กว่าปีมาแล้วกล่าวว่า ชัยชนะร้อยครั้งยังไม่สุดยอด เท่ากับสงบข้าศึกโดยไม่ต้องรบ

การศึกสงครามเป็นเพียงปลายเหตุ ต้นเหตุสภาวะคือความไม่สมดุลและความไม่พอเพียงในการดำเนินชีวิต หากเราดับไฟที่ต้นลมหรือที่ต้นเหตุ เหตุก็จะยุติไม่ลุกลามกลายเป็นสงคราม

ต้นเหตุของมนุษย์คือความรักตัวกลัวตาย เมื่อใดมีความรู้สึกว่าตัวเองไม่มั่นคง หากเราแก้ปัญหาให้เขารู้สึกว่าเขามีความสมบูรณ์มั่นคง มีการพัฒนาให้มีชีวิตที่ดีขึ้น เมื่อนั้นความสงบก็เกิดขึ้นการแย่งชิง การรบราฆ่าฟัน ก็ย่อมจะหมดไป เป็นชัยชนะที่ไม่ต้องรบอันเป็นสุดยอดของชัยชนะ

ความขัดแย้งในทุกกรณีจะประกอบด้วยบุคคลสองฝ่ายเสมอ หน้าที่ของทหารจะต้องเป็น สะพานเชื่อมระหว่างสองฝ่ายให้เกิดความสมดุล ช่วยพัฒนาฝ่ายที่ด้อยกว่าให้ได้ดุลกับอีกฝ่ายที่เหลือ โดยไม่มีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นฝ่ายเพลี่ยงพล้ำ องศาแห่งความขัดแย้งจะลดลง กลายเป็นความร่วมมือกันในที่สุด

ทำได้เช่นนี้เป็นการตัดไฟเสียแต่ต้นลมและเป็นชัยชนะโดยไม่ต้องรบ

ภายในประเทศ

เมื่อใดก็ตามมีความไม่สมดุลในการพัฒนาประเทศ คือผลของการพัฒนามีการเหลื่อมล้ำต่ำสูงทำให้มีฝ่ายที่ยากจนข้นแค้น กับฝ่ายที่มั่งมีศรีสุขในสัดส่วนที่ไม่เป็นธรรม เมื่อนั้นไฟของความขัดแย้งจะเริ่มก่อเค้าขึ้น และไฟนี้จะขยายตัวลุกลามกลายเป็นความขัดแย้งระดับสูงและเป็นสงครามในที่สุด

ทำอย่างไรจะทำให้ปัญหาความยากจนของคนในชาติลดลง คำตอบคือ มีการพัฒนาประเทศด้วยการใช้แนวคิดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นกรอบแนวคิดในการพัฒนา

จริงอยู่ทหารไม่ใช่ผู้ปฏิบัติ หากแต่เป็นผู้ให้การสนับสนุนช่วยเหลือชาวบ้านซึ่งเป็นผู้ปฏิบัติ

การให้การสนับสนุนและช่วยเหลือชาวบ้านจะต้องกระทำบนพื้นฐานความต้องการของชาวบ้านที่แท้จริง และอยู่ในขีดความสามารถที่ทหารจะกระทำได้

เมื่อเราทราบว่าขณะนี้ปัญหาการกระจายรายได้ระหว่างชนบทกับเมืองไม่เป็นธรรม กล่าวคือ คนในชนบทมีรายได้น้อยกว่าคนในเมืองกว่า 10 เท่า อันเป็นเงื่อนไขของความขัดแย้ง คนในชนบทจึงเดือดร้อน การลดช่องว่างให้แคบเข้าคือเป้าหมายที่จะต้องทำเพื่อให้ปัญหาความเดือดร้อนของชาวชนบทได้บรรเทาเบาบางลง

เราทราบกันดีอยู่แล้วว่า คนส่วนใหญ่ของชาติคือเกษตรกรในชนบท

กองทัพจะต้องศึกษาหาหนทางปฏิบัติว่า เราจะช่วยกันยกระดับรายได้ของเกษตรกรในชนบทให้พอลืมตาอ้าปากได้อย่างไร

จากการศึกษารูปแบบแนวทางที่กองทัพต่างชาติได้ปฏิบัติการสร้างชาติจนเห็นผลเป็นที่ประจักษ์มาแล้ว อาทิ

กรณีของยังเติร์ก (Young Turk) แห่งประเทศตุรกีในอดีต ได้สร้างผลงานการช่วยเหลือแก่ประชาชน ในเรื่องการอ่านออกเขียนได้และการเกษตร จนปัญหาการศึกษาของคนในชนบทได้หมดสิ้นไป

กรณีของประเทศในอเมริกาใต้ กองทัพเปรูได้ช่วยชาวชนบทในพื้นที่กันดารพัฒนาปรับปรุงซ่อมแซมถนนหนทาง แหล่งน้ำ ทำนบ เหมืองฝาย ทำให้ชาวชนบทมีการคมนาคมสะดวกสบายขึ้นมีแหล่งน้ำเพื่อการเพาะปลูกพืชผักผลไม้และการปศุสัตว์

กรณีของประเทศอิสราเอล กองทัพอิสราเอลได้รักษาภารกิจอันเก่าแก่ของกองทัพที่บันทึกไว้ในคัมภีร์ไบเบิลที่ว่า มือซ้ายถือพลั่วมือขวาถืออาวุธไว้อย่างแนบแน่น กล่าวคือ ในปัจจุบันกองทัพอิสราเอลไม่ได้ละเลยสิ่งที่บรรพบุรุษได้กระทำกันมาในอดีต นอกจากจะทำหน้าที่ป้องกันประเทศด้วยพลังอาวุธยุทโธปกรณ์แล้ว เขายังใช้พลังกำแพงมนุษย์ อันได้แก่หมู่บ้านตามแนวชายแดน อาทิ คิบบุทธ์ โมชาฟ ไฮเอซซุท เป็นต้น ประชาชนตามแนวชายแดนได้มีการจัดตั้งเป็นกลุ่มสหกรณ์ช่วยพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ให้คนในชนบทมีสภาวะความเป็นอยู่ที่ดีไม่เห็นความเหลื่อมล้ำระหว่างเมืองกับชนบท สร้างจิตสำนึกของความรักชาติรักแผ่นดิน เกิดความหวงแหนในผืนแผ่นดินเกิดที่บรรพบุรุษได้มอบให้เป็นมรดกตกทอดกันมา

กรณีของประเทศจีนในยุคปฏิวัติประชาชน กองทัพจีน (PLA) เป็นพี่เลี้ยงประชาชนในการพัฒนาหมู่บ้าน และการพัฒนาชุมชนหลากหลายมิติ อาทิ การช่วยประชาชนชาวชนบทสร้างหน่วยผลิต สร้างทำนบเหมืองฝาย สร้างปุ๋ยหมัก ช่วยเหลือการเพาะปลูก การเลี้ยงสัตว์ จนกระทั่งคนจีนในชนบท ที่เคยอยู่ในสภาวะยากจน ได้มีอยู่มีกินหลุดพ้นจากปัญหาความยากจนลงได้ แม้วันเวลาผ่านไปกว่า 50 ปี ชื่อเสียงของกองทัพ PLA ของจีน ยังจารึกปรากฏให้ลูกหลานได้เห็นตราบเท่าทุกวันนี้

นอกจากนี้มีอีกหลายต่อหลายประเทศที่กองทัพได้ผันตัวเองจากการเป็นผู้บริโภค มาเป็นผู้สร้างชาติและสร้างสันติภาพของโลก

ดังนั้นถึงเวลาแล้วที่กองทัพจะต้องก้มลงมองพี่น้องประชาชนผู้ยากไร้ในชนบทของเรา ช่วยให้เขามีชีวิตที่ดีขึ้น เป็นกำแพงเป็นรั้วที่เข้มแข็งให้กับชาติร่วมกับกองทัพต่อสู้กับปัญหาเรื้อรังที่เป็นศัตรูของชาติร่วมกัน คือ ปัญหาความยากจนให้บรรเทาเบาบางและหมดสิ้นไปในที่สุด

ก่อนอื่นกองทัพจะต้องพัฒนาคนหรือกำลังพลของกองทัพให้เป็นครูเป็นพี่เลี้ยงในการพัฒนากันเสียก่อน ทหารกองประจำการที่เข้ามาช่วยชาติตามวาระปีละหลายแสนคน และกำลังพลของกองทัพจะต้องเป็นผู้มีความรู้ความสามารถในวิชาการสร้างชาติและมีเจตจำนงอย่างแน่วแน่ ที่จะทุ่มเทแรงกายและแรงใจทำงานเป็นครูเป็นผู้ช่วยเหลือผู้ยากไร้ในชนบท

การพัฒนากำลังพลในทุกระดับนอกเหนือจากที่เคยปฏิบัติมา ให้กำลังพลเป็นครูที่ดีมีความรู้เรื่องการเพาะปลูก การก่อสร้าง การปรับปรุงพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็ก การทำปุ๋ยหมัก การเพาะพันธุ์ขยายพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ การพัฒนาแหล่งพลังงาน โดยเฉพาะการสร้างภาชนะเพื่อเก็บเกี่ยวน้ำฝนของเกษตรกร (Rain Water Hatvesting) เป็นต้น

เมื่อปัจจัยโครงสร้างพื้นฐานในการประกอบการมีครบถ้วนสมบูรณ์แล้ว อีกทั้งประชาชนในชนบทมีความรู้เรื่องการเกษตรการเพาะปลูกแล้ว ขั้นต่อไปคือขั้นการผลิต โดยเฉพาะการสร้างหน่วยผลิตของครัวเรือนและหน่วยผลิตของชุมชน ให้เป็นครัวเรือนและชุมชนพออยู่พอกิน เมื่อหน่วยผลิตสามารถผลิตสินค้าและบริการได้เกินพอ เป็นหมู่บ้านหรือชุมชนเกินพอ จะต้องนำหลักการพระราชปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ว่าด้วยการพัฒนาระดับที่ 2 มาเป็นกรอบแนวคิดในการดำเนินการตามหลักการสหกรณ์ คือร่วมกันคิด ร่วมกันซื้อ ร่วมกันขาย ไปเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงกับชุมชนหรือหน่วยผลิตอื่นๆเป็นเครือข่าย เคลื่อนไปข้างหน้าสู่ที่หมายด้วยกันดุจขบวนรถดีเซลราง

ระหว่างประเทศ

ในกรณีที่เกิดข้อพิพาทตามแนวชายแดน อันเป็นกรณีสุ่มเสี่ยงต่อการขัดแย้งลุกลามจนกลายเป็นศึกสงครามนั้น ก็ควรที่จะศึกษาพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 เป็นแบบอย่างว่าพระองค์ทรงให้แนวทางแก้ปัญหาอย่างไร จึงจะทำให้ได้ชัยชนะกันทุกฝ่าย (Win -Win Solution)

กรณีเนิน 491 เมื่อ 8 ธันวาคม 2535 กรณีศึกษาที่น่านำมาพิจารณาว่าเราหลุดพ้นจากปัญหาความขัดแย้งแนวชายแดนได้อย่างไร

ผมโชคดีที่ได้รับเกียรติจากผู้บังคับบัญชา ให้เป็นหนึ่งในคณะ 3 คนที่เป็นตัวแทนประเทศไทย เดินทางไปเจรจาสงบศึกกรณีเนิน 491 เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2535 ณ กรุงย่างกุ้ง กับฝ่ายกองทัพพม่า นำโดย นายพล หม่องเอ ท่านอูยุ่นส่วย (รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม) และคณะ

ด้วยพระบารมีปกเกล้าปกกระหม่อมของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทำให้การเจรจาในครั้งนั้นประสบความสำเร็จเกินคาด สามารถสร้างความผาสุกระหว่างประเทศโดยไม่ทำให้ทั้งสองฝ่ายได้รับผลเสียหาย

หลังการประชุมร่วม นายพลหม่องเอสรุปว่า เขาขอยืนยันว่าจะดำเนินการตามพระกระแสรับสั่งของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อ 4 ธันวาคม 2535 อันเป็นที่ชื่นชมของชาวโลก เป็นตัวอย่างของการแก้ปัญหาของประเทศเพื่อนบ้าน เราจะร่วมกันแก้ปัญหาสร้างสันติภาพให้เกิดขึ้นให้จงได้

บริเวณพื้นที่ที่เป็นกรณีพิพาท จะต้องเป็นพื้นที่ที่ร่วมกันพัฒนาเพื่อผลประโยชน์ของทั้งสองฝ่าย

นอกจากชายแดนด้านพม่าแล้ว ชายแดนด้านมาเลเซียก็เช่นกัน เราแก้ปัญหาด้วยพระราชปรัชญาของพระองค์ท่าน ร่วมกันพัฒนาแทนที่จะรบราฆ่าฟันกัน

องค์กรร่วมไทยมาเลเซีย (JDA) อันเป็นพื้นที่ทับซ้อนระหว่างประเทศ เป็นตัวอย่างที่ดีให้คนทั้งโลกได้เห็นว่า เราโชคดีมีพระประมุขผู้สร้างสันติภาพอย่างถาวรให้เกิดขึ้น กับประเทศเพื่อนบ้านมาจนเท่าทุกวันนี้

กล่าวโดยสรุป

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแทบทุกฉบับ จะบันทึกภารกิจของทหารไว้ทั้ง 2 ภารกิจเสมอคือ ภารกิจในการรบกับการพัฒนาประเทศ ภารกิจการพัฒนาประเทศคือภารกิจที่ได้ชัยชนะโดยไม่ต้องรบ อันเป็นภารกิจที่ประเสริฐกว่า คือไม่มีใครเสียเลือดเสียเนื้อ แต่เมื่อจำเป็นที่จะต้องรบก็ต้องรบด้วยสติปัญญาของมนุษย์ ซีโนโฟน (Xenophon) นักรบชาวกรีกผู้นำทัพกรีกจำนวน 10000 คน เดินทัพจากกรุงบาบิโลนกลับเอเธนส์ ผ่านด่านกองทัพเปอร์เซียผู้เกรียงไกรซึ่งมีอาวุธยุทโธปกรณ์มากมายได้อย่างปลอดภัย ได้สรุปไว้ในหนังสือ Anabasis ซึ่งเป็นหนังสือว่าด้วย การบริหารเล่มแรกของโลก ว่าไม่มีอาวุธยุทโธปกรณ์อันล้ำเลิศใดจะเหนือกว่าสติปัญญาของมนุษย์ อาจจะเรียกได้ว่าปัจจัยชี้ขาดในการรบหรือชัยชนะอยู่ที่คน ไม่ใช่ของครับ

โปรดจงระลึกอยู่เสมอว่า

ชัยชนะบนซากปรักหักพัง  หาทำประโยชน์อะไรได้ไม่

พลเอก จารุภัทร เรืองสุวรรณ

15 ก.พ.63


 
Home > ประชาสัมพันธ์ > ประชาสัมพันธ์ > ชัยชนะที่ไม่ต้องรบ

About Us

ศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ (ศบม.) เป็นองค์กรที่พัฒนาและจัดทำโครงการเพื่อทำประโยชน์ให้สังคม เป็นองค์กรสนับสนุนการดำเนินงานของภาครัฐ ช่วยแก้ปัญหาผู้ประกอบการภาคธุรกิจบริการที่ขาดแคลนบุคลากรที่มีมาตรฐานในการให้บริการ
อ่านเพิ่มเติม

มูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ ์

 iHDC Profile
บัญชีรายชื่อกรรมการ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียน การเปลี่ยนแปลงกรรมการของมูลนิธิ
เอกสารประชาสัมพันธ์ โครงการ HMTC.pdf
เอกสารแนะนำโครงการ HMTC 1.pdf
เอกสารโครงการ HMTC 2 คุณสมบัติผู้เข้าร่วมโครงการ.pdf
iHDC นิติบุคคล.pdf
iHDC บุคคล.pdf
iHDC บุคคลเครือข่าย.pdf
รายงานการประชุม 6 มีนาคม 2560.pdf
ข้อบังคับมูลนิธิ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียนจัดตั้งมูลนิธิ
Ihdc-Profile and Roadmap 2016-2019 Mar 23 2560.pdf
รายงานการประชุมใหญ่คณะกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ 2559.pdf
คำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ สาขาวิชาชีพ.pdf
รายงานการประชุมใหญ่วันที่ 18 ธ ค 2558 v 3.pdf
รายงานการประชุม วันที่ 24 ธันวาคม 2557 updated 4 มีนาคม 2558.pdf
iHDC-invitation Letter.doc
iHDC-Member Form Thai.doc
iHDC-Member Form English.doc
รายงานการประชุมกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ วันที่ 15 มกราคม 2556 ฉบับสมบูรณ์


thaibetter
พัฒนาประเทศไทยแบบทวีคูณ และยั่งยืน ( ททค )

Login


แบบสำรวจ

สถิติเว็บไซด์

สมาชิก : 5585
Content : 3038
เว็บลิงก์ : 26
จำนวนครั้งเปิดดูบทความ : 8559320

facebook

Twitter


ล่าสุด

บทความเก่า