Thaiihdc.org

  • เพิ่มขนาดตัวอักษร
  • ขนาดตัวอักษรปกติ
  • สดขนาดตัวอักษร
Home > Articles > สังคม วัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ > แนะนำหนังสือ การทรงงานพัฒนาประเทศของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

แนะนำหนังสือ การทรงงานพัฒนาประเทศของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

พิมพ์ PDF

วันที่ ๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๕ มีโอกาสได้พบและฟังท่าน ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา อดีตเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ท่านเล่าเรื่องประสบการณ์การเรียนรู้ ตามรอยพระยุคลบาท ทำให้ผมซาบซึ้งที่เกิดมาเป็นคนไทย ผมได้ถ่ายวีดีโอ บันทึกข้อมูลที่ท่านสุเมธ เล่าให้พวกเรา (คณะกรรมการมูลนิธิพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ระหว่างประเทศ นำทีมโดยท่าน ศ.ดร.จีระ หงส์ลดารมภ์) เพื่อเตรียมถอดคำเล่าของท่านเผยแพร่ให้คนไทยได้รับทราบและได้เรียนรู้จากการทรงงานพัฒนาประเทศ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

ก่อนลากลับท่านสุเมธ ได้มอบหนังสือ การทรงงานพัฒนาประเทศ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ประสบการณ์การเรียนรู้ ตามรอยพระยุคลบาท จัดทำโดย สำนักคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พิมพ์ครั้งที่ ๑ เดือน สิงหาคม ๒๕๕๔ จำนวน ๒๐๐๐ เล่ม หนังสือเล่มนี้มี ๑๔๕ หน้า เต็มไปด้วยความรู้มากมาย ผมเห็นว่าเป็นหนังสือที่มีคุณค่าอย่างยิ่ง อยากให้คนไทยทุกคนได้อ่านและเก็บไว้เป็นสมบัติล้ำค่าเพื่อมอบให้เป็นมรดกของลูกหลานต่อไป

เนื่องจากจำนวนพิมพ์แค่ ๒๐๐๐ เล่ม คนไทยเป็นจำนวนมากไม่มีโอกาสได้เรียนรู้จากหนังสือเล่มนี้ ผมจึงอาสาที่จะพิมพ์ ข้อความที่ได้แบ่งไว้เป็นบทต่างๆ ทั้งเล่มนำออกเผยแพร่ในสื่อต่างๆที่ผมสามารถเผยแพร่ได้ เพื่อให้คนไทยได้รับทราบว่าพระเจ้าอยู่หัวของเราได้ทรงงานมากมายเพื่อพัฒนาประเทศชาติ คนไทยจะได้นำความรู้จากการทรงงานของพระองค์ตามคำบอกเล่าของ ท่าน ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล ไปช่วยกันแบ่งเบาภาระของพระเจ้าอยู่หัวพัฒนาประเทศชาติร่วมกัน

ขอขอบพระคุณ ท่าน ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ที่ทำให้หนังสือเล่มนี้เกิดขึ้น

คำนิยม โดย พล.เอก เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ สิงหาคม ๒๕๕๔

หากจะกล่าวหรือบรรยายถึงพระมหากรุณาธิคุณในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่มีต่อชาติบ้านเมืองของเราแล้ว คงต้องรวบรวมและพิมพ์เป็นหนังสือเล่มหนามาก เนื่องจากมีมากมายเหลือคณานับ

จึงเป็นเรื่องน่ายินดีอย่างยิ่ง ที่สำนักคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ "สภาพัฒน์" ได้จัดทำหนังสือ "การทรงงานพัฒนาประเทศ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว" ซึ่งเป็นการรวบรวมประสบการณ์การถวายงานและตามเสด็จพระราชดำเนินพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไปทรงงานพัฒนาประเทศและช่วยเหลือพสกนิกรทั่วประเทศของ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล ผู้ถวายงานใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาทมายาวนานกว่า ๔๐ ปี และได้เกิดการเรียนรู้จนสามารถนำมารวบรวมและประมวลขึ้นเป็นหนังสือเล่มนี้ อันจะเป็นองค์ความรู้ที่ช่วยให้ประชาชนได้ทราบถึงการทรงงานพัฒนาประเทศของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และมาประยุกต์ใช้ในชีวิตและการปฏิบัติงานในระดับต่างๆ และเกิดความซาบซื้งในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอย่างหาที่สุดมิได้ ในการพัฒนาประเทศและยกระดับคุณภาพชีวิตของพสกนิกรชาวไทยให้ดีขึ้น

หนังสือเล่มนี้ จึงเป็นหนังสือที่ทรงคุณค่าเล่มหนึ่ง ที่ผู้อ่านจะได้เข้าใจและซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงงานอย่างหนักและเหนื่อยยาก เพื่อช่วยเหลือราษฎรให้พ้นจากความทุกข์ยาก โดยไม่ทรงเลือกว่าเขาเหล่านั้นเป็นใคร สมดังพระราชปณิธานที่พระราชทานพระปฐมบรมราชโองการความว่า "เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม"

พระบรมราโชวาท พระราชทานแก่ คณะที่ปรึกษาเยาวชนและเยาวชนดีเด่น ณ.ศาลาผกาภิรมย์ ๗ พฤษภาคม ๒๕๑๓

" ....คำว่า "พัฒนา" ก็หมายถึงทำให้มั่นคง ทำให้ก้าวหน้า

การพัฒนาประเทศก็ทำให้บ้านเมืองมั่นคงมีความเจริญ

ความหมายของการพัฒนาประเทศนี้ก็เท่ากับ ตั้งใจที่จะทำให้ชีวิตของแต่ละคนมีความปลอดภัย มีความเจริญ มีความสุข ฉะนั้น จึงเข้าใจได้ว่า การพัฒนาทุกอย่างเป็นสิ่งที่ดี เพราะว่าจะนำมาซึ่งความสุขความเจริญ และความพอใจของแต่ละบุคคลในประเทศ...."

 "พระองค์ทรงรับสั่งว่า การแก้ปัญหาของประชาชนและประเทศชาติไม่ใช่เรื่องง่าย เป็นงานยาก การเข้าไปดำเนินการแก้ไขปัญหา เหมือนกับการเข้าสงครามแต่เป็นการทำสงครามที่ไม่ใช้อาวุธ เป็นการต่อสู้กับปัญหาเพื่อนำไปสู่ชัยชนะ โดยใช้กระบวนการพัฒนานำไปสู่ความสำเร็จ จึงเป็นที่มาของชื่อ "มูลนิธิชัยพัฒนา" ...

...เพราะพระองค์ทรงรักแผ่นดิน ทรงรักประชาชน จึงทรงทำทุกสิ่งทุกอย่างให้แผ่นดิน ให้ประชาชนมีความสุข"

หมายเหตุ: สัมภาษณ์ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล โดยคณะผู้บริหาร สศช และทีมงานจัดทำหนังสือเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลพระชนมพรรษา ๗ รอบ ๕ ธันวาคม ๒๕๕๔ เมื่อวันที่ ๑๖ มิถุนายน ๒๕๕๔ ณ มูลนิธิชัยพัฒนา เพื่อเผยแพร่ในหนังสือ "พระมหากษัตริย์นักพัฒนา เพื่อประโยชน์สุขปวงประชา

ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เป็นผู้ที่ถวายงานใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาท โดยเมื่อครั้งปฏิบัติงานอยู่ที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช) ได้รับผิดชอบเรื่องการประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และเมื่อมีการจัดตั้งคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ  (กปร) ท่านได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการและเลขานุการ ต่อมาเมื่อมีการจัดตั้งสำนักงาน กปร ท่านได้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการฯคนแรกและในปัจจุบันท่านดำรงตำแหน่ง กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา

ท่านได้กรุณาให้ผู้บริหารและทีมงานจัดทำหนังสือเฉลิมพระเกียรติเข้าพบเพื่อเรียนสัมภาษณ์เกี่ยวกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกับโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๑๖ มิถุนายน ๒๕๕๔ ณ.สำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนา

แรกเริ่มเดิมทีผมรับราชการอยู่ที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือที่เรียกสั้นๆว่า สภาพัฒน์ ในตำแหน่งหัวหน้ากองวางแผนเตรียมพร้อมด้านเศรษฐกิจ และปฏิบัติภารกิจในฐานะเลขานุการของคณะกรรมการพัฒนาพื้นที่เพื่อความมั่นคง ในเขตกองทัพภาคที่ ๑-๔ จึงทำให้ผมได้มีโอกาสสัมผัสงานในพื้นที่ในเขตกองทัพภาคต่างๆ โดยทำหน้าที่เป็นเลขาของแม่ทัพภาคต่างๆ และแม่ทัพท่านหนึ่งที่ผมเคยไปปฏิบัติหน้าที่เป็นเลขาอยู่นั้นคือ  ฯพณฯพลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ขณะนั้นท่านมียศเป็นพลโท ดำรงตำแหน่งแม่ทัพภาคที่ ๒

ก่อนหน้าปี ๒๕๒๔ นั้น ไม่มีองค์กรใดๆที่จะเป็นหน่วยงานประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อพระองค์ทรงมีพระราชดำริ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะรับสนองพระราชดำริ จนบางครั้งเกิดความซ้ำซ้อน หรืออาจจะไม่มีพระราชดำริก็ไปอ้างว่ามีพระราชดำริ ในชั่วงนั้น จึงเกิดความสับสนพอสมควร

พลเอก เปรม ในฐานะที่ท่านเคยเป็นแม่ทัพซึ่งคุ้นเคยกับงานในพื้นที่รับรู้ และทราบว่ามีปัญหานี้อยู่ เมื่อท่านดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีจึงมีดำริที่จะจัดตั้งสำนักงานเพื่อถวายงานในโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ให้ดำเนินการไปอย่างราบรื่น ท่านจึงมอบหมายให้ ดร.เสนาะ อูนากูล เลขาธิการสภาพัฒน์ในขณะนั้น ศึกษาและกำหนดว่าควรจะเป็นองค์กรรูปแบบใดและมีระบบงานอย่างไร

กปร องค์กรระดับชาติ กลไกเพื่อการประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ

ดร.เสนาะ ได้มอบหมายให้ผมศึกษา ด้วยสมมุติฐานง่ายว่า โครงการพระราชดำรินั้นส่วนมากอยู่ในเขตชนบทและแหล่งทุรกันดาร ซึ่งขณะนั้นผมรับผิดชอบงานพัฒนาชนบทอยู่ และบังเอิญอีกว่าผมมีประสบการณ์เรื่องการพัฒนาองค์กรความมั่นคง ผมจึงดำเนินการโดยยึดตามแนวระบบที่เคยดำเนินการเกี่ยวกับการพัฒนาองค์กรความมั่นคง คือออกเป็นระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี มีคณะกรรมการควบคุมดูแล โดยจะต้องมีความคล่องตัวในการปฏิบัติงานอันเป็นหัวใจสำคัญของความสำเร็จ เนื่องจากงานโครงการพระราชดำริมีลักษณะเหมือนการพัฒนาความมั่นคงที่ต้องการความฉับไว รวดเร็ว รวมทั้งได้ถอดแบบระบบบริหารการเงินมาด้วย ซึ่งขณะนั้นยังไม่มีใครใช้มาก่อนคือ งบลอย (Floating Fund) เป็นงบที่ตั้งไว้ก่อนเหมือนงบของการพัฒนาเพื่อความมั่นคง

เมื่ออาจารย์เสนาะนำไปให้ พลเอก เปรม พิจารณา ท่านบอกว่าดีแล้วและให้พิจารณาหาตัวบุคคลมารับงานนี้ อาจารย์เสนาะ จึงเสนอชื่อผมและเริ่มจัดตั้งองค์กรขึ้นตาม "ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ พ.ศ.๒๕๒๔" ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ ๙ กันยายน ๒๕๒๔ กำหนดให้มีองค์กรระดับชาติ มีหน้าที่รับผิดชอบการดำเนินการโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เรียกว่า "คณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ"

เดิมเราคิดกันไว้ว่าจะใช้ชื่อคณะกรรมการโครงการตามพระราชดำริ ตามที่เราคุ้นเคยกัน แต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงทักท้วงและรับสั่งว่า ไม่ได้หรอก เป็นเผด็จการ พระเจ้าแผ่นดินจะมาสั่งอะไรต่อมิอะไรไม่ได้ หน้าที่เราคือต้องคิด  เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย หน่วยงานราชการสามารถทำได้เต็มที่ ซึ่งทรงแสดงความเป็นประชาธิปไตย และทรงเน้นย้ำในระยะต่อมาหลายครั้งหลายหนว่า

"หน้าที่ของพระองค์ทรงเป็นที่ปรึกษา ไม่ได้เกี่ยวข้องกับ กระทรวง ทบวง กรม พระองค์ไม่ทรงมีอำนาจอะไรที่จะมาสั่งงาน ทรงมีพระราชประสงค์ที่จะช่วยเหลือประเทศชาติในฐานะที่ปรึกษา"

เพราะฉะนั้น เมื่อตั้งองค์กรในระบบราชการมาก็ดีแล้ว ก็ลองพิจารณาเห็นด้วยก็ทำ ผลสุดท้ายชื่อจึงกลายมาเป็น "อันเนื่องมาจากพระราชดำริ" แล้วทรงมีรับสั่งว่าต่อไปนี้ให้ใช้ชื่อในลักษณะนี้อย่างเดียว จึงได้มีการจัดตั้ง"คณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร) ขึ้นในปี ๒๕๒๔ มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานกรรมการ และผมเป็นกรรมการและเลขานุการ ทำหน้าที่ดำเนินการควบคุม อำนวยการ กำกับ ดูแล ติดตามผลประสานการดำเนินงาน นอกจากนั้นเป็นหน่วยปฏิบัติทั้งหมด กรรมการได้แก่ ปลัดกระทรวงสำคัญๆ ที่เกี่ยวข้องกับงานพระราชดำริ โดยมีสำนักงานเลขานุการคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงานเลขานุการ กปร) สังกัดสภาพัฒน์ ทำหน้าที่ฝ่ายเลขานุการของคณะกรรมการฯ

ขณะนั้นผมทำงานในตำแหน่งผู้อำนวยการกองวางแผนเตรียมพร้อมด้านเศรษฐกิจของสภาพัฒน์ จึงมีหน้าที่หลากหลาย และหนึ่งในนั้นยังเป็นผู้อำนวยการสำนักงานเลขานุการคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ รับผิดชอบงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริด้วย

หน้าที่ประการแรกของการเป็นเลขาธิการ กปร คือ ตามเสด็จฯ และเนื่องจากโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริมีหลากหลายรูปแบบมาก ทั้งที่เป็นเรื่องเกี่ยวกับอาชีพของประชาชน  ปัญหาสังคม และพื้นที่ดำเนินการก็กระจายทั่วทุกภูมิภาค ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะเสด็จฯและประทับในภูมิภาคต่างๆ ภูมิภาคละ ๒ เดือน ๔ ภาคก็๘เดือน ระยะแรกๆไม่กล้าตามเสด็จฯเข้าไปใกล้ๆ เพราะไม่มีกฏชี้ให้เราเข้าใจก่อนว่าเราควรอยู่ตรงไหน อย่างไร จำได้ว่าตามเสด็จฯครั้งแรกที่อำเภอชะอำ แล้วก็จังหวัดนราธิวาส ผมอยู่ท้ายขบวน ห่างพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาก พอพระองค์ทรงรับสั่งไปตามถุงเงินมา เนื่องจากผมดูแลงบประมาณ พระองค์จึงทรงตั้งชื่อว่า "ถุงเงิน" ทุกคนก็เลิกลั่ก เพราะไม่มีใครรู้จัก ตอนหลังจึงรู้ว่าคือผมเอง ตั้งแต่นั้นมาถึงได้รู้ว่าตัวเองควรอยู่ตรงไหน คือ ให้อยู่ใกล้ๆพระองค์ จดทุกสิ่งทุกอย่างที่มีพระราชกระแสว่าพระองค์มีพระราชดำริอะไรบ้าง ผมจึงมักบอกกับใครๆเสมอว่า การถวายงานต้องศึกษาและเรียนรู้เอง คอยสังเกตและซึมซับการปฏิบัติงานต่างๆ ไม่มีใครมาสอน และก็ไม่มีใครสามารถสอนด้วย

 

 
Home > Articles > สังคม วัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ > แนะนำหนังสือ การทรงงานพัฒนาประเทศของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

About Us

ศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ (ศบม.) เป็นองค์กรที่พัฒนาและจัดทำโครงการเพื่อทำประโยชน์ให้สังคม เป็นองค์กรสนับสนุนการดำเนินงานของภาครัฐ ช่วยแก้ปัญหาผู้ประกอบการภาคธุรกิจบริการที่ขาดแคลนบุคลากรที่มีมาตรฐานในการให้บริการ
อ่านเพิ่มเติม

มูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ ์

 iHDC Profile
บัญชีรายชื่อกรรมการ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียน การเปลี่ยนแปลงกรรมการของมูลนิธิ
เอกสารประชาสัมพันธ์ โครงการ HMTC.pdf
เอกสารแนะนำโครงการ HMTC 1.pdf
เอกสารโครงการ HMTC 2 คุณสมบัติผู้เข้าร่วมโครงการ.pdf
iHDC นิติบุคคล.pdf
iHDC บุคคล.pdf
iHDC บุคคลเครือข่าย.pdf
รายงานการประชุม 6 มีนาคม 2560.pdf
ข้อบังคับมูลนิธิ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียนจัดตั้งมูลนิธิ
Ihdc-Profile and Roadmap 2016-2019 Mar 23 2560.pdf
รายงานการประชุมใหญ่คณะกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ 2559.pdf
คำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ สาขาวิชาชีพ.pdf
รายงานการประชุมใหญ่วันที่ 18 ธ ค 2558 v 3.pdf
รายงานการประชุม วันที่ 24 ธันวาคม 2557 updated 4 มีนาคม 2558.pdf
iHDC-invitation Letter.doc
iHDC-Member Form Thai.doc
iHDC-Member Form English.doc
รายงานการประชุมกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ วันที่ 15 มกราคม 2556 ฉบับสมบูรณ์


thaibetter
พัฒนาประเทศไทยแบบทวีคูณ และยั่งยืน ( ททค )

Login


แบบสำรวจ

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

สถิติเว็บไซด์

สมาชิก : 5585
Content : 3038
เว็บลิงก์ : 26
จำนวนครั้งเปิดดูบทความ : 8560119

facebook

Twitter


ล่าสุด

บทความเก่า