Thaiihdc.org

  • เพิ่มขนาดตัวอักษร
  • ขนาดตัวอักษรปกติ
  • สดขนาดตัวอักษร

รำลึกวันจักรี

พิมพ์ PDF

รำลึกวันจักรี
พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช มีพระนามเดิมว่าด้วงหรือทองด้วง เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันพุธ เดือน ๔ แรม ๔ ค่ำปีมะโรงจุลศักราช ๑๐๙๘ หรือวันที่ ๒๐ มีนาคม พ.ศ. ๒๒๗๙ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศเป็นบุตรของ พระอักษรสุนทร (ทองดี) ข้าราชการกรมอาลักษณ์ สืบเชื้อสายมาจากเจ้าพระยาโกษาธิบดี(ปาน) เสนาบดีกรมพระคลัง ในสมัยพระบาทสมเด็จพระนารายณ์มหาราช พระราชชนนีมีพระนามว่า ท่านหยกหรือดาวเรือง เป็นธิดาเศรษฐี

มีบุตร และธิดา รวมทั้งหมด ๕ คน คือ

๑ .เป็นบุตรสาวชื่อ “สา” ( ต่อมาได้รับสถาปนาเป็นพระเจ้าพี่นางเธอกรมสมเด็จพระเทพสุดาวดี )

๒. เป็นบุตรชายชื่อ “ขุนรามนรงค์” ( ถึงแก่กรรมก่อนที่จะเสียกรุงศรีอยุธยาแก่พม่าครั้งที่ ๒ )

๓. เป็นบุตรสาวชื่อ “แก้ว” ( ต่อมาได้รับสถาปนาเป็นพระเจ้าพี่นางเธอกรมสมเด็จพระศรีสุดารักษ์ )

๔. เป็นบุตรชายชื่อ “ด้วง” (พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช )

๕. เป็นบุตรชายชื่อ “บุญมา” ( ต่อมาได้รับสถาปนาเป็นกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท สมเด็จพระอนุชาธิราช )

เมื่อทรงเจริญพระชนมพรรษาท่านเข้ารับราชการครั้งแรกโดยถวายตัวเข้าเป็นมหาดเล็กในสมเด็จเจ้าฟ้าอุทุมพรกรมขุนพรพินิต เมื่อ พระชนมายุ ๒๑ พรรษา ทรงผนวช ณ วัดมหาทลาย เป็นเวลา ๑ พรรษา

ทรงกลับเข้ารับราชการเป็นมหาดเล็กหลวง เมื่อพระชนมายุ ๒๕ พรรษา สมเด็จพระเจ้าเอกทัศทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้เป็นหลวงยกกระบัตรเมืองราชบุรี และได้สมรสกับธิดาตระกูลคหปตนี (ธิดาเศรษฐี) ชาวบางช้าง ที่ตำบลบางช้าง อำเภออัมพวา แขวงเมืองสมุทรสงคราม ชื่อนาก(สมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี)

หลังเสียกรุงศรีอยุธยาแก่พม่าได้ ๑ ปี พระองค์ ได้เข้ามารับราชการในกรุงธนบุรีในตำแหน่งพระราชวรินทร์ ในกรมพระตำรวจหลวง ทรงเป็นกำลังสำคัญในการกอบกู้บ้านเมืองและทำศึกสงครามมากมาย ในปี พ.ศ.๒๓๑๑ พระองค์ได้ตามเสด็จสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชไปปราบเจ้าพิมาย ภายหลังสงครามครั้งนี้ทรงได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นพระยาอภัยรณฤทธิ์ ต่อมาในปี พ.ศ.๒๓๑๒ ทรงเป็นแม่ทัพไปตีเมืองเขมร (กัมพูชา) ตีได้เมืองพระตะบองและเสียมราฐ ด้วยพระปรีชาสามารถในการทำสงครามอย่างมากมาย จึงได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ จากสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชเลื่อนยศเป็นพระยายมราช เจ้าพระยาจักรี และสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก ตามลำดับ

เมื่อถึงปลายรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ราวปีพ.ศ.๒๓๒๔ ขณะสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกกำลังไปราชการทัพอยู่ที่เขมร (กัมพูชา) ได้เกิดเหตุการณ์จลาจลขึ้นในกรุงธนบุรี เกิดความขัดแย้งกันอย่างรุนแรง ระหว่างฝ่ายกบฏที่ต้องการควบคุมองค์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช แล้วออกว่าราชการแทน กับฝ่ายต่อต้านกบฏ ก่อความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนอย่างมาก สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกจึงยกทัพกลับกรุงธนบุรีทันที และปราบปรามฝ่ายกบฏได้สำเร็จ เมื่อปราบปรามฝ่ายกบฏได้สำเร็จแล้ว ราษฎรและข้าราชการจึงได้อัญเชิญพระองค์ปราบดาภิเษกขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ ทรงพระนามว่า “พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินธร มหาจักรีบรมนาถพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก” เมื่อวันที่ ๑๐ มิถุนายน พ.ศ.๒๓๒๕ นับเป็นองค์ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี

เมื่อปราบปรามฝ่ายกบฏได้สำเร็จแล้ว ราษฎร และข้าราชการจึงได้อัญเชิญพระองค์ขึ้นครองราชสมบัติ วันนี้ถือเป็นวันสถาปนามหาจักรีบรมราชวงศ์

เมื่อพระองค์ปราบดาภิเษกขึ้นเป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรีแล้ว พระองค์มีพระนามตามจารึกในพระสุพรรณบัฏว่า “พระบาทสมเด็จพระบรมราชาธิราชรามาธิบดี ศรีสินทรบรมมหาจักรพรรดิราชาธิบดินทร์ ธรณินทราธิราช รัตนากาศภาษกรวงษ์ องค์บรมาธิเบศ ตรีภูวเนตรวรนายก ดิลกรัตนราชชาติอาชาวไศรย สมุทัยดโรมนต์ สกลจักรวาฬาธิเบนทร์ สุริเยนทราธิบดินทร์ หริหรินทราธาดาธิบดี ศรีวิบูลยคุณอักนิษฐ ฤทธิราเมศวรมหันต์ บรมธรรมิกราชาธิราชเดโชไชยพรหมเทพาดิเทพนฤบดินทร ภูมินทรบรมาธิเบศโลกเชฐวิสุทธิ รัตนมกุฏประเทศคตา มหาพุทธางกูรบรมบพิตร พระพุทธิเจ้าอยู่หัว”

ทรงตระหนัก ถึงการได้รับอัญเชิญขึ้นครองราชย์ ในงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก จึงมีพระปฐมบรมราชโองการแสดงพระราชปณิธานของพระองค์อย่างชัดเจนว่า

“ตั้งใจจะอุปถัมภก ยอยกพระพุทธศาสนา

ป้องกันขอบขัณฑเสมา รักษาประชาชนและมนตรี”

(พระราชนิพนธ์เรื่องนิราศท่าดินแดง

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก)

ต่อมาพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงได้ถวายพระนาม ว่า “พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก”

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ถวายพระบรมนามาภิไธยแก่สมเด็จพระบรมอัยกาธิราชจารึกลงในพระสุพรรณบัฏว่า “พระบาทสมเด็จพระปรโมรุราชามหาจักรีบรมนารถ นเรศวราชวิวัฒนวงศ์ ปฐมพงศาธิราชรามาธิบดินทร์ สยามพิชิตินทรวโรดม บรมนารถบพิตร พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก”

เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงรับอัญเชิญเสด็จเถลิงถวัลราชสมบัติแล้ว โปรดให้ย้ายพระนครมาทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยาเยื้องกับกรุงเก่าธนบุรี พระนครเดิม ด้วยมีพระราชดำริว่าเห็นว่า ราชธานี ซึ่งตั้งอยู่ ณ กรุงธนบุรี นั้น มีทำเลไม่เหมาะที่จะเป็นเมืองหลวงถาวร ด้วยเหตุที่ทรงคาดคะเนได้ว่า ไม่ช้า พม่าก็จะต้องยกทัพมาตีไทย ซึ่งเพิ่งตั้งตัวขึ้นใหม่อีก กรุงธนบุรีประกอบด้วย อาณาเขตสองฝั่ง แม่น้ำเจ้าพระยา มีลักษณะเป็น “เมืองอกแตก” ทำนองเดียวกับเมืองพิษณุโลก ซึ่งเคยต้องทรงรักษามาแล้ว คราวศึกอะแซหวุ่นกี้ ลำบากทั้งการลำเลียงอาหาร และอาวุธยุทธภัณฑ์ ตลอดจนการสับเปลี่ยนทหาร และชาวเมือง ให้เป็นเวรรักษาหน้าที่ป้องกันบ้านเมือง จึงทรงพระราชดำริ ที่จะสร้างเมืองใหม่ขึ้น ทางฝั่งตะวันออก ซึ่งเป็นหัวแหลมฝั่งเดียว เอาแม่น้ำเป็นคูเมืองด้านทิศตะวันตก และทิศใต้ แล้วขุดคลองขึ้น เป็นคูเมืองด้าน ทิศเหนือ และตะวันออก เมืองหลวงใหม่นี้ ก็จะมีน้ำล้อมรอบ เป็นชัยภูมิรับศึกได้อย่างดีโปรดให้ตั้งพิธียกเสาหลักเมืองเมื่อวันที่ ๒๑ เมษายน พ.ศ.๒๓๒๕ และให้ก่อสร้างพระราชวังล้อมด้วยไม้ระเนียดไว้ก่อน พอให้ตั้งการพระราชพิธีปราบดาภิเษกโดยสังเขป เมื่อวันที่ ๑๐ มิถุนายน พ.ศ.๒๓๒๕ จากนั้นจึงโปรดเกล้าฯ ให้ก่อสร้างพระบรมมหาราชวัง พระราชวังบวรสถานมงคล และพรนครอย่างถาวรต่อไป

เมื่อก่อสร้างวัดพระศรีรัตนศาสดารามแล้วเสร็จ ในปี พ.ศ.๒๓๒๗ จึงอัญเชิญพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร(พระแก้วมรกต) จากพระราชวังเดิมกรุงธนบุรี มาประดิษฐานในพระอุโบสถ และเมื่อสร้างพระนครแล้วเสร็จในปีพ.ศ.๒๓๒๘ โปรดให้กระทำพิธีราชาภิเษกครั้งที่ ๒ ให้ถูกต้องตามโบราณราชประเพณี และให้มีการสมโภชพระนครต่อเนื่องกัน

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงมีพระมเหสีพระนามว่า สมเด็จพระอมรินทราพระบรมราชินี เป็นพระบรมราชินีองค์แรกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ มีพระนามเดิมว่านาค มีพระราชโอรสและพระราชธิดารวมทั้งสิ้น ๔๒ พระองค์ โดยพระราชโอรส และพระราชธิดาที่ประสูติในพระอัครมเหสีมี ๙ พระองค์ ได้แก่

๑. สมเด็จเจ้าฟ้าหญิง สิ้นพระชนม์ตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์

๒. สมเด็จเจ้าฟ้าชาย สิ้นพระชนม์ตั้งแต่ทรงพระเยาว์

๓. สมเด็จเจ้าฟ้าหญิงฉิมใหญ่ พระราชชายาในสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชและพระราชมารดาในเจ้าฟ้ากรมขุนกษัตรานุชิด

๔. สมเด็จเจ้าฟ้าชายฉิม ต่อมาได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย(รัชกาลที่ ๒)

๕. สมเด็จเจ้าฟ้าหญิงแจ่ม ต่อมาได้รับการสถาปนขึ้นเป็นสมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงศรีสุนทร

๖. สมเด็จเจ้าฟ้าหญิง สิ้นพระชนม์ตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์

๗. สมเด็จเจ้าฟ้าชายจุ้ย ต่อมาได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระบวรราชเจ้ากรมพระราชวังมหาเสนานุรักษ์

๘. สมเด็จเจ้าฟ้าหญิง สิ้นพระชนม์ตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์

๙. สมเด็จเจ้าฟ้าหญิงเอี้ยง ต่อมาได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้าประไพวดี กรมหลวงเทพยวดี

 

พระราชกรณียกิจ

กรุงรัตนโกสินทร์พระราชกรณียกิจด้านการสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์เป็นราชธานี

พระราชกรณียกิจประการแรกที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงจัดทำเมื่อเสด็จขึ้นครองราชย์ คือการโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งกรุงรัตนโกสินทร์เป็นราชธานีใหม่ ทางตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา แทนกรุงธนบุรี ด้วยเหตุผลทางด้านยุทธศาสตร์ เนื่องจากกรุงธนบุรีตั้งอยู่บนสองฝั่งแม่น้ำ ทำให้การลำเลียงอาวุธยุทธภัณฑ์ และการรักษาพระนครเป็นไปได้ยาก อีกทั้งพระราชวังเดิมมีพื้นที่จำกัด ไม่สามารถขยายได้ เนื่องจากติดวัดอรุณราชวราราม และวัดโมฬีโลกยาราม ส่วนทางฝั่งกรุงรัตนโกสินทร์นั้นมีความเหมาะสมกว่าตรงที่มีพื้นแผ่นดินเป็นลักษณะหัวแหลม มีแม่น้ำเป็นคูเมืองธรรมชาติ มีชัยภูมิเหมาะสม และสามารถรับศึกได้เป็นอย่างดี

การสร้างราชธานีใหม่นั้นใช้เวลาทั้งสิ้น ๓ ปี โดยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงทำพิธียกเสาหลักเมือง เมื่อวันอาทิตย์ เดือน ๖ ขึ้น ๑๐ ค่ำ ปีขาล จศ.๑๑๔๔ ตรงกับวันที่ ๒๑ เมษายน พศ.๒๓๒๕ และโปรดเกล้าฯให้สร้าง พระบรมมหาราชวัง สืบทอดราชประเพณี และสร้างพระอารามหลวงในเขตพระบรมมหาราชวังตามแบบกรุงศรีอยุธยา ซึ่งการสร้างเมืองและพระบรมมหาราชวังเป็นการสืบทอดประเพณี วัฒนธรรม และศิลปะกรรมดั้งเดิมของชาติ ซึ่งปฏิบัติกันมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา และได้พระราชทานนามแก่ราชธานีใหม่นี้ว่า

“กรุงเทพมหานคร บวรรัตนโกสินทร์ มหินทรายุทธยา มหาดิลกภพ นพรัตนราชธานีบูรีรมย์ อุดมราชนิเวศน์มหาสถาน อมรพิมานอวตารสถิต สักกะทัตติยะวิษณุกรรมประสิทธิ์”

ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงแปลงสร้อย “บวรรัตนโกสินทร์” เป็น “อมรรัตนโกสินทร์”

นอกจากนี้ ยังโปรดเกล้าฯให้ สร้างสิ่งต่างๆ อันสำคัญต่อการสถาปนาราชธานี ได้แก่ ป้อมปราการ คลอง ถนนและสะพานต่างๆ มากมาย

 

พระราชกรณียกิจด้านการป้องกันประเทศ

สงครามเก้าทัพ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงพระปรีชาสามารถในการรบ ทรงเป็นผู้นำทัพในการทำสงครามกับพม่าทั้งหมด ๗ ครั้งในรัชสมัยของพระองค์ ได้แก่สงคราม

สงครามครั้งที่ ๑ พ.ศ. ๒๓๒๘ สงครามเก้าทัพ

สงคราม ครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดระหว่างไทยกับพม่า โดยในครั้งนั้นพระเจ้าปดุงแห่งราชวงศ์อลองพญาของพม่า มีพระประสงค์จะเพิ่มพูนพระเกียรติยศและชื่อเสียงให้ขจรขจายด้วยการกำราบ ประเทศไทย จึงรวบรวมไพร่พลถึง ๑๔๔,๐๐๐ คน กรีธาทัพเข้าตีประเทศไทยโดยแบ่งเป็น ๙ ทัพใหญ่ เข้าตีจากกรอบทิศทาง ดังนี้

ทัพที่ ๑ ยกมาจากทางเชียงแสน ตีเมืองลำปาง และเมืองอื่นๆ ลงไปบรรจบทัพหลวงที่กรุงเทพฯ

ทัพที่ ๒ ยกมาทางด่านแม่ละเมาเข้าตีเมืองตาก

ทัพที่ ๓ ยกเข้าตีเมืองชุมพร และสงขลา

ทัพที่ ๔ ยกมาทางด่านบ้องตี้เข้าเมืองราชบุรี เพชรบุรี

ทัพที่ ๕ ยกทัพเรือเข้าตีเมืองตะกั่วป่า จนถึงเมืองลาง

ส่วนอีก ๔ ทัพ รวมทั้งทัพหลวงด้วย ยกมาทางด่านพระเจดีย์สามองค์ มุ่งตรงเข้าตีกรุงเทพฯ แต่กรุงรัตนโกสินทร์ พึ่งสร้างตัว และมีพลเมืองน้อยกว่า ทัพของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช จึงมีกำลังเพียงครึ่งหนึ่งของทหารพม่า คือ มีเพียง ๗๐,๐๐๐ คนเศษเท่านั้น

ด้วยพระปรีชาสามารถในการทำสงคราม ได้ทรงให้ทัพของกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทไปสกัดทัพพม่าที่บริเวณทุ่งลาดหญ้า ทำให้พม่าต้องชะงักติดอยู่บริเวณช่องเขา แล้วทรงสั่งให้จัดทัพแบบกองโจรออกปล้นสะดม จนทัพพม่าขัดสนเสบียงอาหาร เมื่อทัพพม่าบริเวณทุ่งลาดหญ้าแตกพ่ายไปแล้วกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทจึงยกทัพไปช่วยทางอื่น และได้รับชัยชนะตลอดทุกทัพตั้งแต่เหนือจรดใต้

 

สงครามครั้งที่ ๒ พ.ศ. ๒๓๒๙ สงครามท่าดินแดงและสามสบ

ครั้ง นี้ทัพพม่าเตรียมเสบียงอาหารและเส้นทางเดินทัพอย่างดีที่สุดโดยแก้ไขข้อผิด พลาดต่างๆ จากศึกครั้งก่อน โดยพม่าได้ยกทัพเข้ามาทางด่านเจดีย์สามองค์ มาตั้งค่ายอยู่ที่ท่าดินแดงและสวนสามสบ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชได้ทรงยกทัพหลวงเข้าตีที่ค่ายดินแดงพร้อมกับให้ทัพของกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทเข้าตีค่ายพม่าที่สามสบ หลังจากรบกันได้ ๓ วันค่ายพม่าก็แตกพ่ายไปทุกค่าย และพระองค์ยังได้ทำสงครามขับไล่อิทธิพลของพม่าได้โดยเด็ดขาด และตีหัวเมืองต่างๆ ขยายราชอาณาเขต ทำให้ราชอาณาจักรไทยมีอาณาเขตกว้างใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ ตั้งแต่ดินแดนล้านนา ไทยใหญ่ สิบสองปันนา หลวงพระบาง เวียงจันทร์ กัมพูชา และด้านทิศใต้ไปจนถึงเมือง กลันตัน ตรังกานู ไทรบุรี ปะริด และเประ

 

สงครามครั้งที่ ๓ พ.ศ. ๒๓๓๐ สงครามตีเมืองลำปางและเมืองป่าซาง

หลังจากที่พม่า พ่ายแพ้แก่ไทยก็ส่งผลทำให้เมืองขึ้นทั้งหลายของพม่า เช่น เมืองเชียงรุ้งและเชียงตุง เกิดกระด้างกระเดื่อง ตั้งตนเป็นอิสระ พระเจ้าปดุงจึงสั่งให้ยกทัพมาปราบปราม รวมถึงเข้าตีลำปางและป่าซาง เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทราบเรื่องจึงสั่งให้กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทคุมไพร่พล ๖๐,๐๐๐ นาย มาช่วยเหลือ และขับไล่พม่าไปเป็นผลสำเร็จ

 

สงครามครั้งที่ ๔ พ.ศ. ๒๓๓๐ สงครามตีเมืองทวาย

ครั้งนั้นพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชโปรดเกล้าฯ ให้เกณฑ์ไพร่พล ๒๐, ๐๐๐ นาย ยกทัพไปตีเมืองทวาย แต่สงครามครั้งนี้ไม่มีการรบพุ่ง เพราะต่างฝ่ายต่างก็ขาดแคลนเสบียงอาหาร รี้พลก็บาดเจ็บจึงโปรดเกล้าฯ ให้ถอยทัพกลับกรุงเทพ

 

สงครามครั้งที่ ๕ พ.ศ. ๒๓๓๖ สงครามตีเมืองพม่า

ในครั้งนั้นเมืองทวาย ตะนาวศรี และมะริด ได้เข้ามาขอสวามิภักดิ์ต่อไทย พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชจึงโปรดเกล้าฯ ให้ยกทัพไปช่วยป้องกันเมือง แต่เมื่อพระเจ้าปดุงยกทัพมาปราบปรามเมืองทั้งสามก็หันกลับเข้ากับทางพม่าอีก พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชจึงโปรดเกล้าฯ ให้ถอยทัพกลับกรุงเทพฯ

 

สงครามครั้งที่ ๖ พ.ศ. ๒๓๔๐ สงครามพม่าที่เมืองเชียงใหม่

เนื่องจากสงครามในครั้งก่อนๆ พระเจ้าปดุงไม่สามารถตีหัวเมืองล้านนาได้ จึงทรงรับสั่งไพร่พล ๕๕,๐๐๐ นาย ยกทัพมาอีกครั้งโดยแบ่งเป็น ๗ ทัพ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชจึง โปรดเกล้าฯ ให้กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทคุมไพร่พล ๒๐,๐๐๐ นาย ขึ้นไปรวมไพร่พลกับทางเหนือเป็น ๔๐,๐๐๐ นาย ระดมตีค่ายพม่าเพียงวันเดียวเท่านั้นทัพพม่าก็แตกพ่ายยับเยิน

 

สงครามครั้งที่ ๗ พ.ศ. ๒๓๕๕ สงครามพม่าที่เมืองเชียงใหม่ ครั้งที่ ๒

ในครั้งนั้นพระยากาวิละได้ยกทัพไปตีเมืองสาด หัวเมืองขึ้นของพม่า พระเจ้าปดุงจึงยกทัพลงมาตีเมืองเชียงใหม่เพื่อแก้แค้น เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงทราบ จึงโปรดเกล้าฯ ให้ส่งกองทัพไปช่วยเหลือ และสงครามครั้งนี้ก็จบลงด้วยชัยชนะของฝ่ายไทย

กฎหมายตราสามดวง

พระราชกรณียกิจด้านการชำระประมวลกฎหมาย

เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๔๗ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาพิจารณาชำระกฎหมายที่มีอยู่ให้ถูกต้องและสมบูรณ์ เพื่อนำมาใช้เป็นหลักการปกครองต่อไป ซึ่งกฎหมายที่ชำระขึ้นใหม่มีชื่อว่า กฎหมายตราสามดวง มีความยาวเป็นสมุดยกแปด ๓ เล่ม รวม ๑,๖๗๗ หน้า ใช้เวลาในการชำระ ๑๑ เดือน ซึ่งกฎหมายตราสามดวงนี้ได้ใช้มาอย่างยาวนานจนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๕) รวมระยะเวลา ๑๓๑ ปี

พระราชกรณียกิจด้านการปกครอง

การปกครองสมัยนั้นแบ่งเป็นหัวเมืองชั้นในและชั้นนอก ตำแหน่งที่รองลงมาจากพระมหากษัตริย์ คือตำแหน่งกรมพระราชวังบวรสถานมงคล

ระบบการบริหารมีอัครเสนาบดี ๒ ตำแหน่ง คือ สมุหพระกลาโหม มีหน้าที่ถวายคำปรึกษาแก่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมุหนายกมีหน้าที่ปกครองดูแลความสงบเรียบร้อยในพระนคร

เสนาบดีจตุสดมภ์ ดูแลด้านต่างๆ มี ๔ ตำแหน่ง ประกอบด้วย

๑. เสนาบดีกรมเมือง หรือ กรมเวียง มีตราพระยมทรงสิงห์เป็นตราประจำตำแหน่ง มีหน้าที่บังคับบัญชารักษาความปลอดภัยให้แก่ราษฎรทั่วไปในราชอาณาจักร

๒. เสนาบดีกรมวัง มีตราเทพยดาทรงพระนนทิกร(โค) เป็นตราประจำตำแหน่งมีหน้าที่บังคับบัญชาภายในพระบรมมหาราชวัง และพิจารณาความคดีแพ่ง

๓. เสนาบดีกรมพระคลัง มีตราบัวแก้วเป็นตราประจำตำแหน่งมีหน้าที่ในการรับ – จ่าย และเก็บรักษาพระราชทรัพย์ที่ได้จากการเก็บส่วยอากร รวมถึงบังคับบัญชากรมท่าและการค้าขายกับต่างประเทศ รวมถึงกรมพระคลังต่างๆ เช่น กรมพระคลังสินค้า

๔. เสนาบดีกรมนา มีตราพระพิรุณทรงนาคเป็นตราประจำตำแหน่ง มีหน้าที่บังคับบัญชาเกี่ยวกับกิจการไร่นาทั้งหมด

พระราชกรณียกิจด้านการฟื้นฟูขนบธรรมเนียม และศิลปกรรม

ขนบธรรมเนียมประเพณีที่มีการฟื้นฟูขึ้นใหม่ ได้แก่ พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระราชพิธีศรีสัจจปานกาลถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา พระราชพิธีอาพาธพินาศ(เป็นพิธีเกี่ยวกับการป้องกันโรคระบาดตามความเชื่อของสมัยก่อน) พระราชพิธีสถาปนาเจ้าประเทศราช พระราชพิธีผนวช พระราชพิธีโสกันต์ พระราชพิธีเหล่านี้ นอกจากทำเพื่อความเป็นสิริมงคล ยังเป็นการแสดงให้เห็นว่า บ้านเมืองเข้าสู่สภาวะปกติแล้ว

นอกจากนี้ยังโปรดให้สร้างสิ่งของเครื่องใช้ประกอบพระเกียรติยศสำหรับพระมหากษัตริย์รวมเรียกว่า เครื่องราชูปโภค เป็นงานประณีตศิลป์ที่ทรงคุณค่า เช่น เครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ ได้แก่ พระมหาพิชัยมงกุฎ พระแสงขรรค์ชัยศรี ธารพระกรชัยพฤกษ์ พระแส้จามรีกับวาลวีชนี และฉลองพระบาทเชิงงอน เครื่องประดับต่างๆ เช่น พระชฎากลีบ พระสังวาล พระมหาสังข์เครื่องสูง พระแสงราชศาสตราวุธ พระโกศ เครื่องราชูปโภคดังกล่าว ปัจจุบันยังคงอัญเชิญมาใช้ในพระราชพิธีสำคัญเสมอ

พระราชกรณียกิจด้านการทำนุบำรุงพระศาสนา

วัดพระแก้วพระราชกรณียกิจที่สำคัญในการทำนุบำรุงพระศาสนา ได้แก่

การสังคายนาพระไตรปิฎก เป็นพระราชกรณียกิจที่สำคัญที่สุด โดยตั้งคณะสงฆ์ประกอบด้วยสมเด็จพระสังฆราชและพระราชาคณะขึ้นมาเพื่อชำระพระไตรปิฎก เนื่องจากพระไตรปิฎกที่มี อยู่มีความผิดเพี้ยน และบันทึกเป็นหลายอักษร ทั้งอักษรลาว รามัญ จึงโปรดเกล้าฯ ให้ชำระให้ถูกต้อง และบันทึกเป็นอักษรขอมจารึกลงบนใบลาน แล้วเก็บไว้ที่หอพระมณเฑียรธรรม แล้วสร้างพระไตรปิฎกถวายพระสงฆ์ตามพระอารามหลวงต่างๆ เพื่อได้ใช้ศึกษาต่อไป

การกวดขันสมณปฏิบัติ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงสถาปนาพระเถระชั้นผู้ใหญ่ ให้ดำรงสมณศักดิ์รับผิดชอบศาสนาให้รุ่งเรืองต่อไป และได้ทรงตราพระราชกำหนดกฎหมายกวดขันความประพฤติของพระสงฆ์ไว้อย่างเคร่งครัด

การสร้างวัด และการบูรณปฏิสังขรณ์ ทรง มีรับสั่งให้มีการก่อสร้างและซ่อมแซมปฏิสังขรณ์วัดวาอารามจำนวนมากโดยเฉพาะ อย่างยิ่งคือ การสร้างวัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว) พร้อมกับการสถาปนาพระบรมมหาราชวังในปี พ.ศ.๒๓๒๕

ทรงสร้างวัดสุทัศนเทพวราราม และทรงปฏิสังขรณ์วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร (วัดโพธิ์) วัดสระเกศ วัดสุวรรณาราม วัดคูหาสวรรค์ วัดระฆังโฆษิตาราม วัดราชบูรณะ วัดนานาวา วัดอรุณรามวราราม(วัดแจ้ง) วัดโมฬีโลกยาราม(วัดท้ายตลาด) วัดสุวรรณดาราราม และพระพุทธบาทสระบุรี เป็นต้น

12580_309983015774941_1652135069_n

 

รวมทั้งโปรดเกล้าฯให้ขุนนางชั้นผู้ใหญ่ไปอัญเชิญพระพุทธรูปปางต่างๆ ที่ถูกทิ้งร้างไว้ตามวัดในกรุงศรีอยุธยา ลพบุรี และสุโขทัยลงมายังกรุงเทพฯ เพื่อบูรณะซ่อมแซม ก่อนที่จะนำไปประดิษฐานตามวัดวาอาราม เช่น อัญเชิญพระศรีศากยมุนีมาจากวิหารหลวงวัดพระมหาธาตุ เมืองสุโขทัย มาประดิษฐานที่วัดสุทัศนเทพวราราม โดยทรงเสด็จฯร่วมขบวนตั้งแต่ท่าพระจนถึงวัดสุทัศน์ ซึ่งพระพุทธรูปที่รับการปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่นี้มีจำนวนมากกว่า ๑, ๓๐๐ องค์

 

 

พระราชกรณียกิจด้านการฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรม

รามเกียรติ์ การฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรมในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ส่วนใหญ่จะเป็นการฟื้นฟูในด้านวรรณกรรมเป็นสำคัญ โดยทรงพระราชนิพนธ์ด้วยพระองค์เองบ้าง กวีและผู้รู้เขียนขึ้นมาบ้าง และด้วยความที่พระองค์ทรงสนพระทัยในงานด้านวรรณศิลป์เป็นอย่างมาก จึงได้ทรงพระราชนิพนธ์งานวรรณกรรมที่ทรงคุณค่าไว้จำนวนหนึ่ง ที่รู้จักกันดีได้แก่ พระราชนิพนธ์เรื่องรามเกียรติ์ อันเป็นสุดยอดวรรณคดี เอกของไทย ดังจะเห็นได้ว่าเรื่องราวของวรรณคดีเรื่องนี้ปรากฏอยู่ในงานศิลปะแขนงต่างๆ มากมาย เช่น จิตรกรรมฝาผนังตามโบสถ์วิหารต่างๆ หรือการแสดงโขน เป็นต้น ซึ่งรามเกียรติ์ฉบับรัชกาลที่ ๑ นี้พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงพระราชนิพนธ์ลงในสมุดปกดำแบบโบราณ ความยาวประมาณ ๑๐๒ เล่มจบ นับว่าเป็นวรรณคดีไทยที่มีความรามเกียรติ์ยาวมากเรื่องหนึ่ง

 

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงอยู่ในสิริราชสมบัตินาน ๒๘ ปีเศษ เสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ ๗ กันยายน พ.ศ.๒๓๕๒ รวมพระชนมายุได้ ๗๔ พรรษา พระองค์ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่มี พระอัจฉริยภาพรอบด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านการสงคราม ศาสนา การปกครองและศิลปวัฒนธรรม ทรงเป็นผู้ก่อตั้งกรุงรัตนโกสินทร์ขึ้นเป็นราชธานีใหม่ และฟื้นฟูบ้านเมืองในทุกด้านให้มีความรุ่งเรืองสง่างามเทียบเท่ากับกรุง ศรีอยุธยาราชธานีเก่า ซึ่งนับว่าเป็นความยากลำบากอย่างมาก แต่พระองค์ก็ทำจนสำเร็จ ในพ.ศ.๒๕๒๕ โอกาสมหามงคลสมัยสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ ครบรอบ ๒๐๐ ปีทั้งฝ่ายรัฐบาล และปวงชนชาวไทยจึงพร้อมใจกันถวายพระราชสมัญญา “มหาราช” ต่อท้ายพระนามของพระองค์ เพื่อรำลึกถึงเกียรติประวัติอันยิ่งใหญ่ของพระองค์สืบไป

แก้ไขล่าสุด ใน วันเสาร์ที่ 05 เมษายน 2014 เวลา 11:58 น.  

About Us

ศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ (ศบม.) เป็นองค์กรที่พัฒนาและจัดทำโครงการเพื่อทำประโยชน์ให้สังคม เป็นองค์กรสนับสนุนการดำเนินงานของภาครัฐ ช่วยแก้ปัญหาผู้ประกอบการภาคธุรกิจบริการที่ขาดแคลนบุคลากรที่มีมาตรฐานในการให้บริการ
อ่านเพิ่มเติม

มูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ ์

 iHDC Profile
บัญชีรายชื่อกรรมการ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียน การเปลี่ยนแปลงกรรมการของมูลนิธิ
เอกสารประชาสัมพันธ์ โครงการ HMTC.pdf
เอกสารแนะนำโครงการ HMTC 1.pdf
เอกสารโครงการ HMTC 2 คุณสมบัติผู้เข้าร่วมโครงการ.pdf
iHDC นิติบุคคล.pdf
iHDC บุคคล.pdf
iHDC บุคคลเครือข่าย.pdf
รายงานการประชุม 6 มีนาคม 2560.pdf
ข้อบังคับมูลนิธิ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียนจัดตั้งมูลนิธิ
Ihdc-Profile and Roadmap 2016-2019 Mar 23 2560.pdf
รายงานการประชุมใหญ่คณะกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ 2559.pdf
คำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ สาขาวิชาชีพ.pdf
รายงานการประชุมใหญ่วันที่ 18 ธ ค 2558 v 3.pdf
รายงานการประชุม วันที่ 24 ธันวาคม 2557 updated 4 มีนาคม 2558.pdf
iHDC-invitation Letter.doc
iHDC-Member Form Thai.doc
iHDC-Member Form English.doc
รายงานการประชุมกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ วันที่ 15 มกราคม 2556 ฉบับสมบูรณ์


thaibetter
พัฒนาประเทศไทยแบบทวีคูณ และยั่งยืน ( ททค )

Login


แบบสำรวจ

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

สถิติเว็บไซด์

สมาชิก : 5606
Content : 3049
เว็บลิงก์ : 26
จำนวนครั้งเปิดดูบทความ : 8600396

facebook

Twitter


บทความเก่า