Thaiihdc.org

  • เพิ่มขนาดตัวอักษร
  • ขนาดตัวอักษรปกติ
  • สดขนาดตัวอักษร
Thaiihdc.org

ปฏิรูป' นั้น...ปฏิรูปอะไร-ตรงไหน?

พิมพ์ PDF

คัดลอกจากบทความของ เปลว สีเงิน ในไทยโพสต์ วันจันทร์ที่ 28 ตุลาคม 2556 (บางส่วน)

การปฏิรูป "สังคมประเทศ" จำเป็นต้องทำด้วยสูตรเข้มข้น ขอย้ำว่า "ปฏิรูปสังคมประเทศ" นะครับ ไม่ใช่ปฏิรูปประเทศ!
ประเทศไทยนั้นดีอยู่แล้ว มีแต่คนในสังคมประเทศเท่านั้น ทุกวันนี้มันตรงข้ามกับคำว่า "ดี" เพราะนโยบายรัฐภายใต้ "เศรษฐกิจทุนสหรัฐครอบ" ในรอบ ๕๐ ปีที่ผ่านมา หลอมคนเพื่อเป็นเหยื่อป้อน "เศรษฐกิจระบบทุน" ทาสจักรวรรดินิยมสหรัฐ!
คนไทยวันนี้จึงเป็นประชากรวัตถุ เพื่อ "ทุนนิยม" ดังนั้น จำเป็นอย่างยิ่งต้องปฏิรูป หรือปฏิวัติ "สังคมประเทศ"
จากประชากร "เศรษฐกิจทุนนิยม" คืนกลับประชากร "เศรษฐกิจพอเพียง"
หรือพูดให้เห็นภาพเปรียบเทียบชัดๆ ปฏิวัติสังคมวัตถุ ที่บูชาเงินเป็นสิ่งสูงสุด ให้กลับสู่สังคมจิตใจ ธรรมชาติ-คุณธรรมคือทุนสังคม และนั่นคือ "ทุนมหาศาลของประเทศ"
เงยหน้ามองรอบตัวเถอะ แล้วจะเห็น "สังคมโลก" วันนี้ มันไปสุดทางเศรษฐกิจระบอบทุนแล้ว ไปต่อก็คือเหว ขณะนี้ กำลังดิ้นรนหาเส้นทางรอดกัน ทั้งสหรัฐ-ยุโรป-ญี่ปุ่น ต่างก็รู้อยู่กับใจว่าจะเล่นขายข้าว-ขายแกง หลอกปั๊มกระดาษเป็นเงิน แลกปัจจัยชีวิตจริงๆ อย่างที่ทำกันอยู่ทุกวันนี้ไม่ได้แล้ว
แต่ละประเทศที่รู้ตัว-รู้ทัน หันกลับไปฟื้นฟูธรรมชาติบ้านตัวเอง เข้าลักษณะ "สูงสุดคืนสู่สามัญ" พลิกฟื้นประเทศ ด้วยผันชีวิตสู่วิถีดั้งเดิมกันทั้งนั้น ธรรมชาติและวิถีธรรมชาติแต่ละถิ่น จะเป็นอุตสาหกรรมใหม่ คืออุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ที่สร้างรายได้ให้แต่ละประเทศที่รู้ทัน แทนที่อุตสาหกรรมทำลายธรรมชาติเพื่อการพาณิชย์
ธนบัตรจะคืนกลับกระดาษ สมมุติสหรัฐใช้หนี้ที่เป็นอยู่ให้หมด ต่อให้พิมพ์กระดาษเป็นดอลลาร์ไปอีก ๕๐-๑๐๐ ปี ก็พิมพ์ออกมาใช้หนี้ไม่หมด!
เอ้า..สมมุติว่าหมด ประเทศเจ้าหนี้อย่าง จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน จะเอากระดาษขนาดภูเขาหิมาลัยไปเก็บไว้ที่ไหน และมากมายเป็นกระดาษเช็ดตูดอย่างนั้น มันมีค่าตรงไหน?
โดยแก่นชีวิต มนุษย์ต้องการความสุข แรกๆ ก็เข้าใจว่า มีเงินแล้วจะมีสุข ก็เลยแย่งกันหาเงิน แต่เมื่อมีเงินแล้ว มหาเศรษฐีร้อยละร้อยพิสูจน์พบว่า
เงินไม่ใช่ความสุข และเงินก็ใช่ว่าจะซื้อความสุขได้!
ไม่ต้องมาก ดูอย่างทักษิณซิ มีเป็นแสนล้าน แล้วมีความสุขมั้ย วันๆ เห็นแต่โอดครวญ...อยากกลับมาตายบ้าน....!?
บางเศรษฐียังเข้าใจว่า...มีเงิน ซื้อสุขได้ ก็เอาเงินไปซื้อคฤหาสน์อยู่ตามป่า ตามเขา ตามชายทะเล คือหาทำเลสงบงามเพื่อจะสุขกับสิ่งนั้น
แต่ถ้าหยุดคิดซักนิดก็จะเข้าใจ......."สุขแท้" ที่จิตเดิมแท้ไขว่หา ไม่ใช่เงิน หากแต่การอยู่กับธรรมชาติ เกื้อกูลกับธรรมชาติ และจิตใจที่ดีงามของสังคมมนุษยธรรมตะหาก เพราะถ้าไม่ใช่ แล้วจะตะกายซื้อวิวธรรมชาติทำไมล่ะ?
เมื่อใจพอ มันก็เกิด "พอเพียง" เมื่อเกิดพอเพียง การเบียดบัง การทำลายธรรมชาติ เพื่อสนองสุขระบบทุนมันก็น้อยลง เพราะ "สุขแท้จริง" คือสุขที่เกิดจาก "ใจสุข"
และใจสุขแบบนี้ จะใช้เงินเพื่อถนอมรักษาธรรมชาติ ไม่ใช่ใช้เงินทำลายธรรมชาติ ด้วยหลงเข้าใจว่า ธรรมชาติที่ถูกทำลายนั้น จะนำมาซึ่งสุขให้กับเขา!
ขณะนี้ สังคมโลกเหมือนผึ้งแตกรัง คนมีเงินต่างหอบเงินเสาะแสวงหาที่อยู่อาศัยที่อยู่แล้วสุข มีเศรษฐี (มิใช่คนเอเชีย) คนไหน หอบเงินไปซื้อสุขอยู่แถวสหรัฐ ญี่ปุ่น หรือยุโรปบ้างล่ะเห็นมีแต่พวกยุโรป พวกญี่ปุ่น หอบเงินไปซื้อ "ธรรมชาติ" ในบางประเทศที่ยังบริสุทธิ์ หรืออย่างไทย แถบพัทยา ภูเก็ต เชียงใหม่ เชียงราย อีสานบางจังหวัด นั่นเพราะ พวกเขามองเห็น "ภูเขาสุข" คือธรรมชาติในธรรมชาติ ธรรมชาติในคนธรรมในบ้านเรา เขาจึงมา ในขณะที่คนไทยกลับกระหาย "ภูเขากระดาษ"
ใครจะตัดไม้ทำลายป่า ใครจะทำเขื่อน ทำถนน ทำฟลัดเวย์ ผ่าป่า-ผ่าเขา-ฝังกลบต้นน้ำ-ลำธารตรงไหน ให้ประเทศเป็นทะเลทราย ระเกะระกะด้วยเสาอิฐ เสาปูน และแท่งตึก "เอาเงินมา" จะ ๓.๕ แสนล้าน จะ ๒ ล้านล้าน พวกมึงจะตัด-จะโค่น จะทำอย่างไร ก็ทำไป เอาไปเลย! ได้แดกน้ำข้าวที่กระเซ็นหกจากระบอบทักษิณคนละนิดละหน่อย ก็ขายประเทศ กูมีเงินแล้วไม่เดือดร้อน พวกสื่อก็เห่าไม่ออก เพราะ "จุกน้ำข้าว"
เพราะอย่างนี้ จึงต้องปฏิรูปสังคมประเทศ ชนิดต้องทุบแรงๆ จะทำแบบสะกิด-สะเกา มันไม่รู้สึก-รู้สา กู้ประเทศให้กลับมาไม่ได้หรอก!
ที่ "สภาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย" ระดมความคิดที่ธรรมศาสตร์เมื่อวาน (๒๗ ต.ค.๕๖) จะฉาบฉวยแค่คำว่า "ประชาชน" และคำว่า "ปฏิรูป" ไม่พอ เมื่อลงมือทั้งที ต้องตกผลึกออกมาเป็น "พิมพ์เขียวประเทศ" ให้ประชาชนเข้าใจ เห็นพิษ-เห็นภัย ด้วยสังคมประเทศจมอยู่ในเศรษฐกิจระบบทุนผูกขาด "ทาสจักรวรรดินิยมทุนสหรัฐ"
ทักษิณ และระบอบทักษิณ นั่นแค่ "เบี้ยขยะ" ในตีนสหรัฐที่มันใช้เป็นลูกมือ-ลูกตีนกัดกร่อน-บ่อนทำลาย ด้วยการ "มอมเมา" สังคมไทยที่แต่เดิมเป็นสังคมจิตใจ ให้กลายเป็นสังคมบ้าเงิน ตั้งแต่สูงสุด ยันต่ำสุด ไล่ลงมา นายกฯ คณะรัฐมนตรี ข้าราชการ ทหาร ตำรวจ ครูบาอาจารย์ พระ เถน เณร ชี ชาวบ้าน ไม่มีเว้น เพื่อยึดไทยเป็นประเทศใต้อาณัติ สำหรับปฏิบัติการในภูมิภาคนี้ สู่ "โลกบาล"!
"สถาบัน" น่ะ มันไม่ต้องการล้ม แต่มันต้องการ "ยึดครอง" ใช้เป็นกระดองให้มัน ผ่านปฏิบัติการ "ระบอบทักษิณ".

 

จากบทความข้างบน เป็นการยืนยันว่าความคิดของผมและเพื่อนๆ ถูกต้อง ที่ร่วมกันจัดตั้ง มูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ เพื่อเป็นเวทีให้คนไทยเข้ามาร่วมกันแก้ปัญหาสังคมที่อ่อนแอ สังคมที่ตกเป็นทาสระบบทุนนิยม ให้กลับมาเป็นสังคมที่เข้มแข็ง ไม่ตกเป็นทาสของระบบทุนนิยม โดยการนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้เป็นแนวทางในการปฎิรูปความคิดของคนไทย เพื่อนำไปสู่การปฎิบัติอย่างแท้จริง ทำให้ประชากรไทยหลุดพ้น จากสังคมเศรษฐกิจทุนนิยม เป็นสังคมเศรษฐกิจพอเพียงอย่างยั่งยืน

มูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์เป็นมูลนิธิของคนไทย เพื่อคนไทย จึงขอเชิญชวนคนไทยทุกคนเข้ามามีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนสร้างคุณค่าให้กับคนไทยทุกคน มาช่วยกันร่วมแรงร่วมใจเพิ่มคุณค่าของคน พัฒนาคนไทยให้เป็นคนที่มีคุณภาพ เป็นคนดี คนเก่ง มีสติปัญญารู้เท่าทัน มีจิตสาธารณะ มีความรัก ความสามัคคี เสียสละ เห็นประโยชน์ของส่วนรวม สังคม และประเทศชาติมากกว่าประโยชน์ส่วนตน ทำตัวให้เป็นประโยชน์ต่อสังคม พัฒนาและให้การสนับสนุนส่งเสริมคนที่เคยเป็นภาระต่อสังคมให้เป็นคนที่มีคุณภาพช่วยตัวเองได้และสามารถสร้างประโยชน์ให้กับสังคม สนใจติดต่อสมัครเข้าร่วมเป็นสมาชิกโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆทั้งสิ้น โดยส่ง e-mail  แจ้งชื่อ นามสกุล e-mail address และเบอร์โทรศัพท์ มาที่ e-mail address : อีเมลนี้จะถูกป้องกันจากสแปมบอท แต่คุณต้องเปิดการใช้งานจาวาสคริปก่อน หลังจากนั้น ผมจะจัดส่งแบบฟอร์มการตอบรับเข้าร่วมเป็นสมาชิก ไปให้ท่านกรอกและส่งกลับมาเพื่อดำเนินการในขั้นตอนต่อไป สามารถ เข้าไปดูรายละเอียดของมูลนิธิได้ตามเอกสารในเวปไซด์ www.thaiihdc.org สำหรับท่านที่เข้ามาในเวปไซด์นี้อยู่แล้วโปรดเข้าไปกดหารายละเอียดได้ใน MENU ด้านซ้ายมือ


ม.ล.ชาญโชติ ชมพูนุท

28 ตุลาคม 2556


 

แสดงความคิดเห็นในบทความของ ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช" มหาวิทยาลัยอังกฤษ : ๙. ระบบนิเวศเพื่อพัฒนาระบบอุดมศึกษา"

พิมพ์ PDF

ผมได้อ่านบทความของ ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช หัวข้อ "

มหาวิทยาลัยอังกฤษ : ๙. ระบบนิเวศเพื่อพัฒนาระบบอุดมศึกษา

(อ่านรายละเอียดบทความของ ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ทั้งหมดได้ข้างล่าง)

เรียนอาจารย์วิจารณ์ พานิช ที่เคารพ

ต้องขอขอบพระคุณอาจารย์เป็นอย่างสูงที่ให้โอกาสผมได้พบเพื่อเรียนเสนอเรื่องมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์   เมื่ออ่านบทความฉบับนี้ของอาจารย์ ทำให้ผมชัดเจนยิ่งขึ้นว่า มูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ มีจุดประสงค์ในการดำเนินการเช่นเดียวกับ "UnLTD" และ "NACUE"

" อีกหน่วยงานหนึ่งที่ทำหน้าที่เปลี่ยนแปลงระบบนิเวศของสังคม รวมทั้งของระบบอุดมศึกษา คือ UnLtd ทำหน้าที่สร้างระบบนิเวศของการทำธุรกิจ หรือเป็นผู้ประกอบการเพื่อสังคม ให้แก่ประเทศ    ไม่ใช่จำกัดเฉพาะ ในอุดมศึกษา    เป็นการทำหน้าที่ขับเคลื่อนกระแส “เพื่อสังคม” ต่อสู้กับกระแส “เพื่อกู” ในสังคมทุนนิยม บริโภคนิยม

และอีกหน่วยงานหนึ่ง คือ NACUE ทำหน้าที่พัฒนาระบบนิเวศของการเป็นผู้ประกอบการ ในหมู่นักศึกษา และคนรุ่นใหม่ "

" ผมเกิดความคิดว่า ที่ไปเห็นนั้น เป็น change management หรือ change governance  เชิงระบบ ของประเทศ    เพื่อการพัฒนาอุดมศึกษาหลากหลายด้าน    ที่เป็น complex management    มองมุมหนึ่ง เป็น advocacy หรือการสร้างกระแส    โดยภาครัฐและภาคการกุศลสนับสนุนให้เกิดองค์กรสร้างกระแส ในทิศทางที่ต้องการ    ผมรู้สึกว่าประเทศไทยเราไม่มีวิธีคิดแบบนี้    ภาครัฐของเราคิดทำเอง คิดกำหนดรายละเอียดแล้วออกกฎหมาย หรือข้อบังคับให้ถือปฏิบัติ    แล้วก็บ่นว่ามีคนเบี้ยวไม่ทำตาม    โดยไม่คิดว่า กฎหมายหรือข้อบังคับที่ออกไป มันไม่ซับซ้อนพอ    ยิ่งเขียนข้อบังคับละเอียด ก็ยิ่งมีช่องโหว่    ดังที่เห็นๆ กันอยู่ "

ที่อาจารย์วิจารณ์ กล่าวว่า "ผมรู้สึกว่าประเทศไทยเราไม่มีวิธีคิดแบบนี้" ผมเห็นด้วยแต่ไม่ทั้งหมดอย่างน้อยๆก็มีผมคนหนึ่งที่คิด และเพื่อนๆอีกหลายคน เราจึงร่วมกันจัดตั้งมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ขึ้นมา เพื่อทำหน้าที่ขับเคลื่อนกระแส "เพื่อสังคม" ต่อสู้กับกระแส "เพื่อกู" ในสังคมทุนนิยม บริโภคนิยม โดยการนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง มาใช้ในการ พัฒนาคนที่มีคุณค่า พัฒนาระบบนิเวศของการเป็นผู้ประกอบการ รุ่นใหม่ ผมเชื่อว่ามีคนไทยเป็นจำนวนมากที่คิดเพียงแต่ขาดโอกาสในการทำ ผู้ใหญ่ที่มีอำนาจในการบริหารบ้านเมือง ประเทศชาติ  หรือสถาบันการศึกษาอาจไม่ได้คิดหรือไม่สนใจดำเนินการ แต่ผมเชื่อว่าอาจารย์วิจารณ์ คิดและอยากให้ประเทศไทยมีหน่วยงานเช่น UnLtd หรือ NACUE ก็ไม่ทราบว่าอาจารย์มีการดำเนินการอะไรไปบ้างแล้ว หรือมีผู้บริหารท่านใดได้ดำเนินการทำแล้วแต่ยังไม่เป็นที่เปิดเผย อย่างน้อยๆวันนี้ผมขอนำเสนอ "มูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์" เป็นหน่วยงานหนึ่งที่ต้องการดำเนินการตาม UnLtd และ NACUE ถึงแม้นผมและเพื่อนๆจะเป็นแค่หนูตัวเล็กๆแต่บังอาจไปคิดการใหญ่แทนราชสีห์ ทั้งๆที่รู้ว่าเป็นงานใหญ่และยาก แต่ก็มีความตั้งใจที่จะทำเพื่อประเทศชาติ เพื่อคนไทยในอนาคต ส่วนจะทำได้แค่ไหน ก็อยู่ที่จิตสำนึกของคนไทยทั้งประเทศ

ด้วยเหตุผลดังกล่าว ผมจึงเรียนเชิญท่านอาจารย์ให้การสนับสนุนมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ ทั้งๆที่ทราบว่าท่านมีสุขภาพไม่ค่อยดี และรับงานไว้มากหลายแห่ง และได้ปฎิเสธงานอีกหลายๆแห่ง จึงไม่สามารถรับคำเชิญของผมได้ เพราะเกรงว่าหน่วยงานอื่นที่อาจารย์เคยปฎิเสธจะว่าได้ จึงขอความกรุณาอาจารย์ วิจารณ์ พานิช โปรดพิจารณาคำเชิญของผมอีกสักครั้ง อย่างน้อยๆก็เป็นกำลังใจและให้การสนับสนุนหนูตัวเล็กๆได้ทำงานใหญ่เพื่อประเทศชาติ

ขอแสดงความนับถืออย่างสูง

ม.ล.ชาญโชติ ชมพูนุท

26 ตุลาคม 2556

บทความของ ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช

ระหว่างนั่งฟังการนำเสนอเรื่อง UKPSF and the Continuing Professional Development Programme in the UK โดย Dr. Jeanne Keay, Assistant Director and Head of International Strategy, HEA เมื่อวันที่ ๙ ก.ย. ๕๖   ผมเกิดความคิดขึ้นว่า    วิธีการที่ HEA ดำเนินการอยู่ เป็นวิธีจัดการการเปลี่ยนแปลง (Change Management) ของระบบอุดมศึกษาของอังกฤษ    เพื่อให้ระบบอุดมศึกษามีคุณค่าต่อบ้านเมืองมากขึ้น

ในช่วง ๒๐ ปีที่ผ่านมา มีการบ่นกันทั่วโลก ว่าวงการอุดมศึกษาเน้นส่งเสริมการวิจัย และทอดทิ้ง การเรียนการสอน  หรือทอดทิ้งนักศึกษา    เราไปพบว่า ที่อังกฤษเขาไม่บ่นกันเฉยๆ แต่คิดหากลไกสร้างการ เปลี่ยนแปลงด้วย   และกลไกระดับสถาบันก็คือ Higher Education Academy (HEA)

ผมตีความว่า HEA ทำหน้าที่สร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบ โดยการเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศ ของอุดมศึกษา    ทำให้สภาพแวดล้อมเอื้อให้อาจารย์เอาใจใส่การเรียนการสอนมากขึ้น

วิธีเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศของอุดมศึกษาประเทศอังกฤษโดย HEA ทำโดยการสร้างความรู้   นี่คือการตีความของผม    สร้างความรู้เกี่ยวกับทักษะและความรู้เกี่ยวกับการจัดการเรียนรู้    และแยกแยะจัดระดับ ออกเป็น ๔ ระดับ   ที่เรียกว่า Higher EducationFellowship   โดย ๔ ระดับคือ Associate Fellow, Fellow, Senior Fellow, และ Principal Fellow   เป็นการสร้างและเผยแพร่เรื่องราวของทักษะการเป็นอาจารย์ในศตวรรษที่ ๒๑ นั่นเอง

อีกหน่วยงานหนึ่งที่ทำหน้าที่เปลี่ยนแปลงระบบนิเวศของสังคม รวมทั้งของระบบอุดมศึกษา คือ UnLtd ทำหน้าที่สร้างระบบนิเวศของการทำธุรกิจ หรือเป็นผู้ประกอบการเพื่อสังคม ให้แก่ประเทศ    ไม่ใช่จำกัดเฉพาะ ในอุดมศึกษา    เป็นการทำหน้าที่ขับเคลื่อนกระแส “เพื่อสังคม” ต่อสู้กับกระแส “เพื่อกู” ในสังคมทุนนิยม บริโภคนิยม

และอีกหน่วยงานหนึ่ง คือ NACUE ทำหน้าที่พัฒนาระบบนิเวศของการเป็นผู้ประกอบการ ในหมู่นักศึกษา และคนรุ่นใหม่

เราไปเห็นระบบนิเวศเพื่อการแข่งขัน (Ranking) ต่างลู่ต่างจุดเด่น    โดยสังเกตทางอ้อม    เช่น มหาวิทยาลัย แอสตัน (ที่เบอร์มิงแฮม) บอกว่า เขาเด่นกว่ามหาวิทยาลัย อ็อกซฟอร์ด ในด้านการมีงานทำ (employability) ของบัณฑิต    โดยอ้างคำของ SundayTimes University Guide 2013 ว่า “Aston turns out some of the most sought after graduates in Britain – putting the likes of Oxford in the shade”

มหาวิทยาลัย นอร์ธแทมตัน บอกว่าเขาต้องการเป็นมหาวิทยาลัยอันดับ ๑ ในสหราชอาณาจักร ด้าน social enterprise ภายในปี ค.ศ. 2015   โดยอธิการบดีประกาศให้ทั้งมหาวิทยาลัยเป็น social enterprise   แล้วใช้จุดเด่นด้าน social enterprise สร้างความคึกคักด้านอื่นๆ    เพื่อให้เกิดความสามารถในการแข่งขัน

ผมเกิดความคิดว่า ที่ไปเห็นนั้น เป็น change management หรือ change governance  เชิงระบบ ของประเทศ    เพื่อการพัฒนาอุดมศึกษาหลากหลายด้าน    ที่เป็น complex management    มองมุมหนึ่ง เป็น advocacy หรือการสร้างกระแส    โดยภาครัฐและภาคการกุศลสนับสนุนให้เกิดองค์กรสร้างกระแส ในทิศทางที่ต้องการ    ผมรู้สึกว่าประเทศไทยเราไม่มีวิธีคิดแบบนี้    ภาครัฐของเราคิดทำเอง คิดกำหนดรายละเอียดแล้วออกกฎหมาย หรือข้อบังคับให้ถือปฏิบัติ    แล้วก็บ่นว่ามีคนเบี้ยวไม่ทำตาม    โดยไม่คิดว่า กฎหมายหรือข้อบังคับที่ออกไป มันไม่ซับซ้อนพอ    ยิ่งเขียนข้อบังคับละเอียด ก็ยิ่งมีช่องโหว่    ดังที่เห็นๆ กันอยู่

ผมคิดว่าระบบอุดมศึกษาไทยติดกับดักความเป็นสังคมแนวดิ่ง    เน้นการใช้อำนาจควบคุมสั่งการ (command and control) ซึ่งหมดยุคที่จะใช้ได้ผลแล้ว    เนื่องจากสังคมมันซับซ้อนเกินกว่าจะควบคุมสั่งการได้    วิธีที่ไปเห็นที่อังกฤษน่าจะได้ผลมากกว่า ในการสร้างการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ต้องการ

 

 

วิจารณ์ พานิช

๓๐ ก.ย. ๕๖

 

 

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย Prof. Vicharn Panich

แก้ไขล่าสุด ใน วันเสาร์ที่ 26 ตุลาคม 2013 เวลา 12:25 น.
 

ชีวิตที่พอเพียง: ๒๐๒๑. ไปร่วมงานปรับเปลี่ยนการเรียนรู้ของมหาวิทยาลัยกรุงเทพ

พิมพ์ PDF

มหาวิทยาลัยกรุงเทพ จัดการประชุม  “CoP – Teaching  # 8  การประยุกต์การปรับเปลี่ยนการเรียนรู้ ของมหาวิทยาลัยกรุงเทพ”    ตอนบ่ายวันที่ ๑๖ ก.ย. ๕๖    และเชิญผมไปเป็นวิทยากรให้ความเห็น

 

ไปเห็นแล้วชื่นใจ   ที่ได้เห็นความพยายามทั้งระดับมหาวิทยาลัย  และคณาจารย์จำนวนหนึ่ง ดำเนินการเปลี่ยนรูปแบบการเรียนรู้ ไปเป็น Active Learning อย่างจริงจัง

 

หลังจบการประชุม นักศึกษาจากคณะนิเทศศาสตร์ปี ๒ มาสัมภาษณ์ว่า จากกิจกรรมนี้นักศึกษาได้อะไร

 

ทำให้ผมได้โอกาสคุยกับนักศึกษา   และได้ตระหนักว่า ผมไม่มีโอกาสคุยเรื่อง Learning Reform กับนักศึกษาเลย    ได้แต่คุยกับครูอาจารย์ ซึ่งก็เห็นด้วยบ้างไม่เห็นด้วยบ้าง    และแม้แต่ที่เห็นด้วย ก็มักไม่ได้นำไปปฏิบัติ    คือยังคงยึดติดกับการสอนแบบถ่ายทอดความรู้อยู่อย่างเดิม    เพราะมันง่าย สะดวกต่อครู/อาจารย์

 

ผมบอกนักศึกษาว่า    กิจกรรมเปลี่ยนรูปแบบการเรียนรู้นี้   ทั้งหมดทำเพื่อนักศึกษา    เพราะอนาคตข้างหน้าเมื่อนักศึกษาจบออกไปทำงานและดำรงชีวิต    ไม่มีใครรู้ว่า โลกในอนาคต ๑๐ - ๒๐ - - ๕๐ ปีข้างหน้าจะเป็นอย่างไร    เรารู้แต่ว่ามันจะไม่เหมือนในปัจจุบัน   ดังนั้น เนื้อความรู้ที่เรียนจากมหาวิทยาลัย ในปัจจุบัน ส่วนใหญ่จะใช้ไม่ได้ในอนาคต   นักศึกษาจึงต้องเรียนรู้เพื่อเตรียมตัวไปเผชิญชีวิตที่ไม่แน่นอน ในอนาคต   โดยการเรียนรู้เพื่อพัฒนาตนให้ครบด้าน ไม่ใช่แค่เรียนวิชา    คือต้องเรียนให้ได้ทักษะด้านพัฒนาการ เชิงอารมณ์  เชิงสังคม  เชิงจิตวิญญาณ  และด้านกายภาพ  ไปพร้อมๆ กัน    การเรียนรู้เพื่อให้ได้ผลพัฒนาการ อย่างบูรณาการ ทำไม่ได้โดยการฟังเล็กเชอร์    ต้องเรียนโดยการลงมือทำ    ทำแล้วคิดไตร่ตรองเอง และไตร่ตรองร่วมกับเพื่อนๆ  โดยอาจารย์คอยโค้ช    คำว่าไตร่ตรองนี้ ภาษาอังกฤษว่า reflection    ภาษา KM ว่า AAR (After Action Review)    ภาษาพระว่า โยนิโสมนสิการ

 

ผมให้คำแนะนำแก่คณาจารย์จำนวนประมาณ ๕๐ คนที่มาประชุมว่า   Active Learning โดยตัวของมันเอง ไม่ได้ทำให้เกิดการเรียนรู้แบบรู้จริงเสมอไป    จะให้เกิดการเรียนรู้แบบรู้จริง    การเรียนแบบลงมือทำต้องตามด้วย reflection ๓ แบบ

๑. Self reflection   ทำโดย นศ. แต่ละคนเขียนบันทึกการเรียนรู้ของตนเองทุกวัน หรืออย่างน้อยสัปดาห์ละ ๑ - ๒ ครั้ง    ว่าที่ทำกิจกรรมนั้นๆ ตนเองหวังได้ประโยชน์ อะไรบ้าง    เมื่อทำแล้วส่วนไหนได้มากกว่าที่ตั้งเป้าหมายไว้   เพราะอะไร   ส่วนไหนยังไม่ค่อยได้  เพราะอะไร   คิดจะปรับปรุงวิธีการอย่างไรบ้าง    เพราะอะไร    จะเอาความรู้ที่ได้ส่วนไหน ไปใช้ประโยชน์ในอนาคต    สิ่งที่ได้เรียนรู้อธิบายทฤษฎี ก, ทฤษฎี ข อย่างไรบ้าง  ฯลฯ

จะยิ่งดี หากให้ นศ. เขียนบันทึกออกแบ่งปันกับเพื่อนๆ ทาง โซเชี่ยล มีเดีย    เพื่อจะได้เรียนรู้มุมมอง และประสบการณ์ที่แตกต่างของเพื่อนๆ และจะยิ่งดีขึ้นไปอีก หากอาจารย์เข้าไปอ่าน และเลือกบันทึกเด่นประจำสัปดาห์ ๓ บันทึก    บอกให้ นศ. ช่วยกันบอกว่า บันทึกเหล่านั้นดีอย่างไร   เพื่อจะได้เรียนรู้วิธีเขียนบันทึก reflective journal ที่ดี

 

๒ การเรียนรายงานผลงานของทีม   และนำเสนอต่อชั้นเรียน   โดยอาจไม่นำเสนอเป็น presentation ก็ได้   เช่นเสนอเป็นละคร  เป็นหนังสั้น

 

๓ การทำ AAR ในชั้นเรียน หลังจากจบวิชานั้น  หรือจบตอน

 

 

วิจารณ์ พานิช

๑๗ ก.ย. ๕๖

 

 

บรรยากาศในห้องประชุม

 

อธิการบดี ดร. มัทนา สานติวัตร กล่าวเปิดการประชุม

 

อ. กุลเชษฐ์ เล็กประยูร ผช. คณบดีคณะนิเทศศาสตร์

นำเสนอเรื่องวิชา Broadcasting Production Technique

 

ผศ. ยุบลวรรณ ตั๋นเธียรรัตน์ รองคณบดีคณะมนุษยศาสตร์และการจัดการการท่องเที่ยว

นำเสนอเรื่องGE 111 Value of Graduates

 

ผศ. ประสิทธิ์ สันติกาญจน์ ผอ. ฝ่ายบริการการศึกษาและสวัสดิการ

กล่าวนำวิชา GE 114 Thai Citizens, Global Citizens

ท่านอธิบายความหมายของ civil society ได้จับใจผมมาก

 

อ.พรพจน์ เพ็ชรทวีพรเดช และ อ. ศุภชัย อิทธิปาทานันท์

เสนอเรื่อง GE 114 Thai Citizens, Global Citizens

 

 

อ. เสาวณี แซ่ตั้ง ผอ. ศูนย์สหกิจศึกษาและพัฒนาวิชาชีพ และ

อ. ศิริพร กนกชัยสกุล ผอ. สำนักพัฒนาคุณภาพการศึกษา

เสนอเรื่อง GE 112 Information Technology and the Future World

Imagine Room สถานที่ประชุม ถ่ายจากด้านหลัง เมื่อเลิกประชุมแล้ว

 

อีกมุมหนึ่งของ Imagine Room

 

อาคาร A3

 

 

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย Prof. Vicharn Panich

แก้ไขล่าสุด ใน วันเสาร์ที่ 26 ตุลาคม 2013 เวลา 17:04 น.
 

มหาวิทยาลัยอังกฤษ : ๘. วิจัยเพื่อพัฒนานักศึกษา

พิมพ์ PDF

ผมอ่านบทความของ ศ.นพ.วิจารณ์ "มหาวิทยาลัยอังกฤษ : ๘. วิจัยเพื่อพัฒนานักศึกษา"

ทำให้นำมาเปรียบเทียบกับมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ และได้เขียนแสดงความคิดเห็นในบทความของท่านอาจารย์ดังนี้

เรียนอาจารย์วิจารณ์ ที่เคารพ

จากบทความของท่านในประโยค  "แน่นอนว่า มหาวิทยาลัย อ็อกซฟอร์ด ตั้ง Oxford Learning Institute ขึ้นมาเพื่อทำงานวิชาการด้าน การพัฒนานักศึกษานั่นเอง     และ Skoll Centre for Social Entrepreneurship ของ Said School of Business  มหาวิทยาลัย อ็อกซฟอร์ด ก็คือศูนย์วิชาการด้านการพัฒนานักศึกษาด้านการเป็นผู้ประกอบการทางสังคมนั่นเอง   โปรดอ่านและสังเกตใน เว็บไซต์ ของเขา     จะเห็นยุทธศาสตร์ที่แยบยลในการพัฒนาวิชาการด้านใดด้านหนึ่ง โดยใช้ scholarship เป็นเครื่องมือดึงดูดคนเก่งมาร่วมทำงานสร้างสรรค์    ซึ่งส่วนหนึ่งคือใช้นักศึกษานั่นเอง เป็นผู้ทำงานวิจัยเพื่อพัฒนานักศึกษา

และเคล็ดลับอยู่ที่การมองนักศึกษาเป็นผู้(ร่วม) สร้างสรรค์วิชาการ    ไม่ใช่ผู้มารับถ่ายทอดวิชา"

ทำให้ผมเกิดการเปรียบเทียบดังนี้

"มูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ เป็นเวทีให้คนมาร่วมเรียนรู้ทำงานสร้างสรรค์ร่วมกันเพื่อพัฒนาเพิ่มคุณค่าคนให้มีคุณค่า ไม่เป็นภาระและเอาเปรียบซึ่งกันและกัน เป็นองค์กรหนึ่งที่ผลักดันในการแก้ไขและพัฒนาสังคมที่อ่อนแอให้เป็นสังคมที่มีคุณภาพ"

ขอแสดงความนับถือ

ม.ล.ชาญโชติ ชมพูนุท

26 ตุลาคม 2556

บทความเต็มของ ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช

มหาวิทยาลัยที่เราไปเยี่ยมชม คัดสรรแล้วว่าเป็นเลิศด้านความเอาใจใส่ด้านจัดการเรียนรู้ของนักศึกษา โดยแบ่งกลุ่มง่ายๆ ได้เป็น ๒ กลุ่ม   คือ กลุ่มที่เก่งวิจัยพื้นฐานด้วย   ได้แก่ อ็อกซฟอร์ด กับ UCL   กับกลุ่มที่ เน้นนักศึกษาเป็นหลัก ได้แก่ Northampton กับ Aston   กลุ่มหลังนี้แหละ ที่ผมตั้งข้อสังเกตว่า   เขาทำวิจัยเพื่อ นักศึกษา   หรือกล่าวให้ชัดเจนยิ่งขึ้น เขาทำวิจัยเพื่อผลประโยชน์ด้านการเรียนรู้ของนักศึกษา เป็นหลัก    เป้าหมายอื่นเป็นรอง

 

ในเอกสาร Learning and Teaching Strategy 2012 – 2020 ของมหาวิทยาลัยแอสตัน    ระบุว่า สิ่งที่สอน และวิธีการสอนนั้นเลือกแล้วว่ามีความน่าเชื่อถือ โดยมีหลักฐานจากการวิจัย (research-informed)    เขาระบุว่า อจารย์จะสร้างแรงบันดาลใจแก่ นศ. ด้วย  research-informed and professionally-focussed programmes that incorporate quality teaching, research-inspired teaching excellence    ภายในเอกสารไม่ระบุการวิจัย เรื่อง การเรียนรู้เลย    แต่ระบุคำว่า review ไว้บ่อยมาก    คือในการดำเนินการริเริ่มสร้างสรรค์ของเขาในทุกเรื่อง รวมทั้งเรื่องการพัฒนาการเรียนการสอน    จะต้องตามมาด้วยการ review หรือประเมินผลเพื่อการปรับปรุง ต่อเนื่อง    ซึ่งก็คือการวิจัยเพื่อพัฒนานั่นเอง

ในเอกสาร Raising the Bar : Strategic Plan 2010 – 2015ของมหาวิทยาลัย Northampton    ผมพยายามหาหัวข้อวิจัย    พบว่าไม่มีครับ    ผมตีความว่าเรื่องการวิจัยเป็นของธรรมดาสำหรับการพัฒนางาน ของเขา จนไม่ต้องเอ่ยถีง   เหมือนปลาไม่ต้องเอ่ยถึงน้ำ

แต่ผมสังเกตเห็นว่า เขากำหนด KPI ไว้    ทำให้คิดต่อ ว่า KPI น่าจะเป็นคล้ายๆ โจทย์วิจัย เพื่อการพัฒนางาน ที่เป็นเป้าหมายหลัก

ผมลอง กูเกิ้ล ด้วยคำว่า “student development research” พบว่ามีเรื่องราวมากมาย     สะท้อนว่า เรื่องการพัฒนานักศึกษาเป็นวิชาการที่เข้มข้น และเป็นที่เอาใจใส่กันมาก    และมีหนังสือที่เขียนเรื่องนี้ด้วย ดังตัวอย่าง หนังสือชื่อ Student Development in College : Theory, Research and Practice, 2nd Ed. (หรือดู ที่นี่)   ทำให้ เห็นโอกาสของคนที่ต้องการสร้างตัวเป็นนักวิชาการด้านนี้ ในวงการอุดมศึกษาไทย

แน่นอนว่า มหาวิทยาลัย อ็อกซฟอร์ด ตั้ง Oxford Learning Institute ขึ้นมาเพื่อทำงานวิชาการด้าน การพัฒนานักศึกษานั่นเอง     และ Skoll Centre for Social Entrepreneurship ของ Said School of Business มหาวิทยาลัย อ็อกซฟอร์ด ก็คือศูนย์วิชาการด้านการพัฒนานักศึกษาด้านการเป็นผู้ประกอบการทางสังคมนั่นเอง   โปรดอ่านและสังเกตใน เว็บไซต์ ของเขา     จะเห็นยุทธศาสตร์ที่แยบยลในการพัฒนาวิชาการด้านใดด้านหนึ่ง โดยใช้ scholarship เป็นเครื่องมือดึงดูดคนเก่งมาร่วมทำงานสร้างสรรค์    ซึ่งส่วนหนึ่งคือใช้นักศึกษานั่นเอง เป็นผู้ทำงานวิจัยเพื่อพัฒนานักศึกษา

และเคล็ดลับอยู่ที่การมองนักศึกษาเป็นผู้(ร่วม) สร้างสรรค์วิชาการ    ไม่ใช่ผู้มารับถ่ายทอดวิชา

 

 

วิจารณ์ พานิช

๓๐ ก.ย. ๕๖

 

 

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย Prof. Vicharn Panich

แก้ไขล่าสุด ใน วันเสาร์ที่ 26 ตุลาคม 2013 เวลา 17:55 น.
 

สันติภาพกับความมั่งคั่ง

พิมพ์ PDF
ความรุนแรงเป็นตัวถ่วงความเจริญ หากสามารถหมุนกลับวงจรแห่งความชั่วร้าย ความขัดแย้งความรุนแรง - ภาระทางเศรษฐกิจ ไปเป็นวงจรแห่งความดี สันติภาพ - ความมั่งคั่ง สังคมจะน่าอยู่ขึ้นมาก

สันติภาพกับความมั่งคั่ง

บทความเรื่อง Peace and prosperity go hand in hand ใน นสพ. บางกอกโพสต์ วันที่ ๒๔ ต.ค. ๕๖ ให้ความรู้ผมมาก   และทำให้ผมสงสัยว่า มนุษย์เราเกิดมาพร้อมกับความประเสริฐ และจุดอ่อนภายในตัวพร้อมๆ กัน   จุดอ่อนสำคัญคือสัญชาตญาณความรุนแรง   ที่กัดกร่อนความมั่งคั่ง หรือความอยู่ดีกินดีของมนุษยชาติ

ผู้เขียนบทวามนี้คือ Steve Killelea, Executive Chairman ของ Institute for Economics and Peace   ชี้ให้เห็นว่า ปัญหาความรุนแรงก่อภาระด้านเศรษฐกิจแก่โลกถึงร้อยละ ๑๑ ของ จีดีพี ของโลก   หากลดงบประมาณค่าใช้จ่ายด้านต่อสู้กับความขัดแย้ง และความรุนแรงลงได้สักครึ่งหนึ่ง   จะมีเงินเอาไปใช้ก่อประโยชน์เชิงสร้างสรรค์ได้มากมายอย่างไม่น่าเชื่อ

หมายความว่า เวลานี้ความรุนแรงเป็นตัวถ่วงความเจริญ   หากสามารถหมุนกลับวงจรแห่งความชั่วร้าย ความขัดแย้งความรุนแรง - ภาระทางเศรษฐกิจ   ไปเป็นวงจรแห่งความดี สันติภาพ - ความมั่งคั่ง    โลกจะน่าอยู่ขึ้นมาก

การบริหารประเทศที่ดี คือการหมุนวงจรแห่งความดี

วิธีการคือ การลงทุนด้านการศึกษา ดังตัวอย่างที่ดีคือประเทศสแกนดิเนเวีย

ประเทศไทยอยู่ในวงจรความขัดแย้ง หรือวงจรสันติภาพ?    ตรวจได้ง่ายๆ ด้วย Global Peace Index เราอยู่ที่อันดับ ๑๓๐ จาก ๑๖๒ ประเทศครับ

วิจารณ์ พานิช

๒๔ ต.ค. ๕๖

 

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย Prof. Vicharn Panich

 


หน้า 429 จาก 557
Home

About Us

ศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ (ศบม.) เป็นองค์กรที่พัฒนาและจัดทำโครงการเพื่อทำประโยชน์ให้สังคม เป็นองค์กรสนับสนุนการดำเนินงานของภาครัฐ ช่วยแก้ปัญหาผู้ประกอบการภาคธุรกิจบริการที่ขาดแคลนบุคลากรที่มีมาตรฐานในการให้บริการ
อ่านเพิ่มเติม

มูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ ์

 iHDC Profile
บัญชีรายชื่อกรรมการ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียน การเปลี่ยนแปลงกรรมการของมูลนิธิ
เอกสารประชาสัมพันธ์ โครงการ HMTC.pdf
เอกสารแนะนำโครงการ HMTC 1.pdf
เอกสารโครงการ HMTC 2 คุณสมบัติผู้เข้าร่วมโครงการ.pdf
iHDC นิติบุคคล.pdf
iHDC บุคคล.pdf
iHDC บุคคลเครือข่าย.pdf
รายงานการประชุม 6 มีนาคม 2560.pdf
ข้อบังคับมูลนิธิ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียนจัดตั้งมูลนิธิ
Ihdc-Profile and Roadmap 2016-2019 Mar 23 2560.pdf
รายงานการประชุมใหญ่คณะกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ 2559.pdf
คำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ สาขาวิชาชีพ.pdf
รายงานการประชุมใหญ่วันที่ 18 ธ ค 2558 v 3.pdf
รายงานการประชุม วันที่ 24 ธันวาคม 2557 updated 4 มีนาคม 2558.pdf
iHDC-invitation Letter.doc
iHDC-Member Form Thai.doc
iHDC-Member Form English.doc
รายงานการประชุมกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ วันที่ 15 มกราคม 2556 ฉบับสมบูรณ์


thaibetter
พัฒนาประเทศไทยแบบทวีคูณ และยั่งยืน ( ททค )

Login


แบบสำรวจ

สถิติเว็บไซด์

สมาชิก : 5602
Content : 3043
เว็บลิงก์ : 26
จำนวนครั้งเปิดดูบทความ : 8589779

facebook

Twitter


ล่าสุด

บทความเก่า