Thaiihdc.org

  • เพิ่มขนาดตัวอักษร
  • ขนาดตัวอักษรปกติ
  • สดขนาดตัวอักษร
Thaiihdc.org

ชีวิตที่พอเพียง : ๑๐๔๐. พิธีพระราชทานปริญญาบัตรมหาวิทยาลัยมหิดล ประจำปี ๒๕๕๒

พิมพ์ PDF

ผู้สำเร็จการศึกษาที่สภามหาวิทยาลัยมหิดลอนุมัติปริญญาหรือประกาศนียบัตร ประจำปีการศึกษา ๒๕๕๒ มีทั้งสิ้น ๗,๔๐๔ คน   เป็นของสถาบันสมทบ ๑,๘๖๐ คน   ของมหาวิทยาลัยมหิดลโดยตรง ๕,๕๔๔ คน

ท่านเหล่านี้มารับพระราชทานปริญญาบัตรในวันที่ ๕ ก.ค. ๕๓ ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเทพรัตน์ฯ เสด็จพระราชดำเนินแทน   โดยปีนี้จัดที่หอประชุมกองทัพเรือเหมือน ๒ ปีที่แล้ว   และเป็นช่วงที่พยากรณ์อากาศในกรุงเทพจะมีฝนตกฟ้าคะนอง   แต่ในบริเวณพิธีฝนไม่ตก

ในวันนี้มีบัณฑิตมารับพระราชทานปริญญาบัตร ๕,๓๙๔ คน   และผู้ได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ ๖ คน   แถมด้วยพระราชทานโล่และเกียรติบัตรแก่ผู้ได้รับรางวัลมหาวิทยาลัยมหิดล ๕ คน   และศาตราจารย์เกียรติคุณ ๖ คน

ทั้งหมดนั้น ใช้เวลาช่วงเช้า ๒ ชั่วโมง   และช่วงบ่าย ๒ ชั่วโมง   เป็นพิธีที่งดงามและศักดิ์สิทธิ์มาก   คณะกรรมการจัดงานทำงานกันอย่างเข้มแข็ง   ผมมองแววตาของท่านเหล่านี้แล้วก็เข้าใจได้ว่าทำไมงานจึงดีถึงขนาดนี้   ทุกคนที่เกี่ยวข้องทำงานด้วยใจ   ทำงานเพื่อให้บัณฑิตได้มีความสุขความภูมิใจในความสำเร็จด้านการศึกษาเบื้องต้นของตน เพื่อออกไปทำประโยชน์ให้แก่สังคม   เราต้องการให้บัณฑิตมหิดลได้ซาบซึ้งกับวันนี้   สำหรับไว้เตือนใจ ว่าได้กล่าวคำปฏิญญาณไว้ว่า

“จะประกอบอาชีพโดยใช้ศิลปวิทยาซึ่งได้รับประสิทธิ์ประสาทจากมหาวิทยาลัยมหิดลนี้   โดยยึดมั่นในความจงรักภักดี ต่อ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์   ให้ความเคารพสักการะ แด่ครูบาอาจารย์   จะใช้ศิลปวิทยาการแต่ในทางที่เป็นคุณประโยชน์   ไม่เกลือกกลั้วในโทษ อกุศลกรรมชั่วร้าย   จะแผ่ขยายเกียรติคุณแห่งหมู่คณะ และวิชาชีพให้ไพศาล   จะสมานสามัคคี พลีประโยชน์ตนเพื่อส่วนรวม   จะยึดมั่นในคำปฏิญญาณนี้ไว้ยิ่งกว่าชีวิต”

ผมคิดว่าคำปฏิญญาณนี้ศักดิ์สิทธิ์   เพราะเป็นการปฏิญญาณต่อหน้าพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ สมเด็จพระเทพรัตน์ฯ และชุมนุมของผู้ทรงคุณงามความดีจำนวนมาก   ผู้ที่รักษาคำปฏิญญาณนี้ไว้อย่างมีสติ จะได้รับความเจริญรุ่งเรืองในชีวิต   ประสบการณ์ชีวิตของผมสอนว่าอย่างนั้น

เป็นครั้งแรกที่ผมได้ร่วมโต๊ะเสวยอย่างใกล้ชิด ในตอนเที่ยง   คือมีเพียง ๓ คนที่ร่วมโต๊ะเสวย คือ ศ. นพ. สุพัฒน์ วาณิชย์การ (ผู้ใกล้ชิดกับในวัง)   ศ. นพ. ปิยะสกล สกลสัตยาทร อธิการบดี  และผม   คนอื่นๆ นั่งโต๊ะใกล้ๆ   อาหารมากเสียจนผมง่วงในตอนบ่าย หลับไปหลายงีบ   เป็นอาหารฝรั่งผสมไทย   ได้แก่ สลัด  ซุป สเต๊กเนื้อ  ขนมปัง   ก๋วยเตี๋ยวราดหน้า   และข้าวหน้าเป็ด   ตามด้วยผลไม้และกาแฟ   ผมกินไม่ถึงครึ่งของที่เขาเสิร์ฟ

สมเด็จพระเทพรัตน์ฯ ทรงรับสั่งเรื่องต่างๆ มากมายในช่วงเวลาประมาณ ๑ ชั่วโมง   ที่สะท้อนให้เห็นความเอาพระทัยใส่ต่อการพัฒนาการศึกษา และการพัฒนาคนของประเทศ   การเสด็จต่างประเทศของพระองค์มีเป้าหมายหลักเพื่อหาช่องทางความร่วมมือในการส่งนักศึกษาไทยไปเรียนในที่ๆ เขารับยาก   เช่นที่มหาวิทยาลัยปักกิ่ง   มหาวิทยาลัยชั้นดี (ผมฟังไม่ชัดจึงไม่ได้ชื่อ) ที่เยอรมัน

ทรงเริ่มด้วยเรื่องโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์   ทำให้ผมได้ทราบพัฒนาการตั้งแต่ต้น   ว่าที่ รร. นี้เป็นอย่างในปัจจุบันก็ด้วยพระกรุณาของพระองค์   และหนังสือที่ถูกเผาเรียบนั้น ส่วนหนึ่งเป็นหนังสือเรียนของประเทศต่างๆ ที่ดีๆ   เวลาเสด็จประเทศต่างๆ ก็ทรงเสาะหามาพระราชทานไว้ในห้องสมุดของโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์นี้   ทรงรับสั่งว่า ต้องหามาให้ใหม่

ผมกลับมาไตร่ตรองที่บ้านว่า เจ้าฟ้าพระองค์นี้ไม่ทรงมีครอบครัว   แต่ทรงมี “ลูก” อยู่ทั่วประเทศ   เป็นลูกจากความรักความเอาพระทัยใส่ของพระองค์ท่าน   จึงทรงได้รับความรักความเทอดทูนจากผู้คนทั่วประเทศ

ทรงย้ำถึงคุณค่าที่แท้จริงของวิชาคณิตศาสตร์ ที่ครูไทยสอนไปไม่ถึงระดับคุณค่านี้   คือเป็น “ภาษา” อย่างหนึ่งของมนุษย์ เป็นภาษาที่ abstract   หรือเป็นเครื่องมือสื่อสารความคิดที่ abstract มาก   เป็นความท้าทายอย่างยิ่งของวงการคณิตศาสตร์ไทย ที่จะหาทางปฏิวัติการเรียนการสอนคณิตศาสตร์ไทยให้ไปถึงระดับ abstraction ให้ได้   วิธีที่ง่ายคือศึกษาจากประเทศอินเดีย   นี่ผมคิดเอง

อีกเรื่องหนึ่งที่ทรงย้ำคือเรื่องการเรียนประวิติศาสตร์ของชาติ   ทรงเล่าว่านักศึกษาไทยที่ทรงให้ทุนไปเรียนปริญญาเอกที่ปักกิ่ง    นักศึกษาปริญญาเอกต้องเรียนประวัติศาสตร์จีนด้วย   เป็นการเรียนเพื่อให้เข้าใจที่มาที่ไปหรือรากเหง้าของสังคม   เป็นเครื่องมือสร้างเอกภาพของสังคมอย่างหนึ่ง

ก่อนเริ่มพิธี ระหว่างรอมีวงดนตรี และนักร้อง ของวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มาบรรเลงและร้องเพลงที่เป็นมงคลต่อบัณฑิต เช่นเพลงความฝันอันสูงสุด   เป็นที่ประทับใจแก่ทุกคน   ทำให้การรอไม่น่าเบื่อ   แต่ผมมองว่า นี่คือส่วนหนึ่งของพิธี เพื่อกระตุ้นสมองซีกขวาของบัณฑิต ให้ออกไปทำคุณประโยชน์แก่สังคมทั้งด้วยสมองซีกซ้ายและสมองซีกขวา   และเป็นการสร้างชื่อเสียงด้านมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ของมหาวิทยาลัยมหิดลด้วย

 

วิจารณ์ พานิช
๖ ก.ค. ๕๓

คัดลอกจาก http://www.gotoknow.org/posts/377345

 

บรรยากาศระหว่างพิธี ถ่ายจากบนเวทีด้านข้างตรงที่ผมนั่งอยู่

ถ่ายด้วย Blackberry

 

บรรยากาศในห้องประชุม ระหว่างพระราชทานพระบรมราโชวาท

 

รับพระราชทานเกียรติบัตรศาสตราจารย์เกียรติคุณ

ในภาพ ศ. นพ. สมหวัง ด่านชัยวิจิตร กำลังรับ

 

 

 

แก้ไขล่าสุด ใน วันจันทร์ที่ 12 สิงหาคม 2013 เวลา 11:49 น.
 

พิธีพระราชทานปริญญาบัตรมหาวิทยาลัยมหิดล ประจำปี ๒๕๕๓

พิมพ์ PDF
ปี ๒๕๕๔ มหาวิทยาลัยมหิดลเป็นมหาวิทยาลัยแรกที่จัดพิธีพระราชทานปริญญาบัตร ผู้สำเร็จการศึกษาในปีการศึกษา ๒๕๕๓   ในวันที่ ๔ ก.ค. ๕๔ หลังวันเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ ๓   ตามมาด้วยจุฬาฯตามเคยในวันที่ ๗ และ ๘   นี่คือประเพณีของการจัดลำดับพิธีพระราชทานปริญญาบัตร
ผมได้บันทึกพิธีประจำปี ๒๕๕๒ ไว้ที่นี่ จึงจะไม่บันทึกส่วนที่ซ้ำ   เพราะพิธีของแต่ละ มหาวิทยาลัยจัดเป็นประเพณีต่อเนื่องกันมายาวนาน   เช่นการตกแต่งสถานที่  จะเป็นฝีมือของฝ่าย การพยาบาล คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ทำมากว่า ๓๐ ปี   การตกแต่งจะเหมือนปีก่อนๆ เพราะต้องการสื่อความหมายเดียวกัน   ผมจะเล่าเฉพาะเกร็ดเล็กเกร็ดน้อย เพื่อเสริมจากที่เคย บันทึกไว้แล้ว
ส่วนที่พิเศษแตกต่างออกไปคือ ปีนี้สมเด็จพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าอทิตยาทรกิติคุณ สำเร็จการศึกษาจากวิทยาลัยนานาชาติ   เข้ารับพระราชทานปริญญาศิลปศาสตรบัณฑิต (การออกแบบนิเทศศิลป์)   นับเป็นเกียรติแก่มหาวิทยาลัยมหิดลเป็นอย่างยิ่ง  เสด็จมากับเจ้าพี่คือสมเด็จพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าสิริภาจุฑาภรณ์   และเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรเหมือนกับบัณฑิตทั่วไป   โดยทางมหาวิทยาลัยได้ถวายการต้อนรับอย่างสมพระเกียรติ
เนื่องจากปีที่แล้วผมไปถึงบริเวณพิธีที่หอประชุมกองทัพเรืออย่างฉุกละหุกจวนแจ  ปีนี้คุณชูชาติ โชเฟอร์ประจำตัวผมกำหนดให้ออกจากบ้านผมเวลา ๕.๒๐ น.  และเวลา ๕.๐๐ น. คุณชูชาติก็ขับรถมารอที่หน้าบ้านแล้ว   ทำให้ผมถึงบริเวณพิธีตั้งแต่ ๖.๐๐ น.  มีเวลาไปนั่งรับประทานอาหารเช้า   และคุยกับคณาจารย์ และท่านที่มารับพระราชทานปริญญากิตติมศักดิ์
ปีนี้ (๒๕๕๓) มีผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยมหิดล ๘,๒๓๗ คน  เป็นของสถาบันสมทบ ๒,๓๑๙ คน  และของมหาวิทยาลัยมหิดลโดยตรง ๕,๙๑๘ คน (ป. เอก ๑๖๗, ป. โท ๑,๗๒๒)   มารับพระราชทานปริญญาบัตร ๕,๗๘๓ ราย  และมีผู้ได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ ๕ ราย   รวมทั้งมีผู้รับเกียรติบัตรศาสตราจารย์เกียรติคุณ  ศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ  ผู้ได้รับรางวัลมหิดล   และผู้ได้รับทุนภูมิพล ๑ ราย
ผมมีหน้าที่หลักๆ ๔ อย่าง  คือรับเสด็จและส่งเสด็จ (หลายช่วง), อ่านคำกราบบังคมทูล, นั่งร่วมในพิธีอย่างสำรวม, และร่วมโต๊ะเสวยพระกระยาหารเที่ยง   ตอนนั่งร่วมพิธีอยู่บนเวทีข้างที่ประทับนั้น  อธิการรับคำสั่งจากฝ่ายพิธีการมาบอกผมและตัวท่านเองว่า   ระหว่างพิธีห้ามควัก สมาร์ทโฟนออกมาเป็นอันขาด  คืออ่าน อี-เมล์ก็ไม่ได้ ถ่ายรูปก็ไม่ได้ (ผู้ใหญ่ไม่สำรวม)   ดังนั้น ปีนี้ผมจึงไม่มีรูปจากบนเวทีมาให้ดูอย่างปีที่แล้ว   แต่หากได้ถ่าย ท่านผู้อ่านก็จะได้เห็นว่า การประดับตกแต่งดอกไม้เหมือนของปีที่แล้วไม่มีผิดเพี้ยน   แต่ผมก็ได้ภาพถ่ายด้วย iPhone 4 จากด้านหลังห้องประชุม ระหว่างเตรียมให้บัณฑิตเข้านั่งประจำที่  และได้รูปถ่ายจากประตูหน้าด้านข้าง ระหว่างที่ท่านอธิการบดี ศ. นพ. ปิยะสกล สกลสัตยาทร กล่าวแสดงความยินดีต่อบัณฑิตใหม่   และ อ. ธัชชะ จุลชาต อธิบายความหมายของการตกแต่งเวที
ระหว่างนั่งบนเวที ท่านอธิการบดีกับผมคุยกันว่า ปีนี้ร้อยละ ๓๒ ของบัณฑิตส่วนที่จบจากมหาวิทยาลัยมหิดลจริงๆ จบระดับบัณฑิตศึกษา   ท่านอธิการบดีบอกว่าอยากให้ขึ้นไปเป็นร้อยละ ๔๐
สิ่งที่แตกต่างไปจากปีที่แล้วคือการปรบมือ  ปีก่อนๆ ไม่มีการปรบมือเลย  ปีนี้ตกลงกันใหม่ว่าระหว่างที่บัณฑิตที่ได้เกียรตินิยมเข้ารับ ให้ปรบมือตลอดเวลา   บรรยากาศครึกครื้นขึ้นมาก   และระหว่างที่สมเด็จพระเจ้าหลานเธอฯ รับปริญญาบัตร ก็มีการปรบมือแสดงความยินดีกันกึกก้อง
ผมมีข้อสังเกตว่า เวลานี้บัณฑิตของมหาวิทยาลัยมหิดลมีความหลากหลายมากกว่าเมื่อตอนที่ผมเรียนจบ (พ.ศ. ๒๕๐๙) อย่างเทียบกันไม่ได้เลย   และมีคนต่างชาติจบจำนวนไม่น้อย   ผมแนะนำต่อท่านอธิการบดีว่า น่าจะรวบรวมจำนวนบัณฑิตที่เป็นคนต่างชาติไว้ด้วย  เป็นดัชนีชี้ความเป็นนานาชาติอย่างหนึ่ง
ผมสังเกตว่า คณาจารย์และเจ้าหน้าที่ที่ทำหน้าที่ต่างๆ ในงาน ทำงานกันด้วยความปลื้มปิติยินดีต่อบัณฑิต   และพยายามทำให้งานงดงามและพิธีศักดิ์สิทธิ์ที่สุด  เพื่อบัณฑิตทั้งหลาย   คณะผู้จัดงานถือว่าเป็นครั้งเดียวในชีวิตของบัณฑิต
เวลาที่ใช้ในพิธีก็พอๆ กับปีที่แล้ว คือ ช่วงเช้า ๒ ชั่วโมง  ช่วงบ่าย ๒ ชั่วโมง
ผู้ร่วมโต๊ะเสวยพระกระยาหารเที่ยงมี ๔ คน   คือท่านอธิการบดี,  ศ. นพ. สุพัฒน์ วาณิชย์การ, นายทหารเรือ, และผม   คราวนี้ท่านอธิการบดีปิยะสกล เป็นคนชวนคุย เพราะท่านเพิ่งตามเสด็จสมเด็จพระเทพรัตน์ฯ ไป Innsbruck ประเทศออสเตรีย เพิ่งกลับมาเมื่อวาน   จึงคุยเรื่องความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยอินน์สบรุค และความร่วมมือด้านวิชาการกับต่างประเทศในยุโรป  ท่านรับสั่งย้ำหลายครั้งว่า   ในที่ประชุมสำคัญๆ สำหรับฝึกนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ ที่ท่านจัดส่งไปนั้น  ทางฝรั่งบอกว่า นศ. ไทยมีขีดความสามารถสูงกว่า นศ. จากที่อื่น  ผมสัมผัสได้ว่า ทรงมีความภูมิพระทัยมาก ที่ได้ไปแสวงหาโอกาสเรียนต่อ และฝึกฝนความสามารถให้แก่นักวิชาการไทย
เรื่องคุยลามไปเรื่องโรคไข้เลือดออก  และที่ยุโรปมียุงและแมลงวันมาก  มีคนโจ๊กว่าแมลงวันมาจากสเปน  จึงโยงไปหาการกล่าวหาของเยอรมันว่าเชื้อ อี โคไล ต้นเหตุท้องร่วงอย่างแรงมาจากสเปน  และตอนหลังมีหลักฐานยืนยันว่ามาจากเยอรมันเอง   ผมกราบบังคมทูลว่ามาจากถั่วงอก ออร์แกนิก  จึงทรงรับสั่งว่านั่นไง ปลูกผักแบบออร์แกนิก ก็ต้องใช้ปุ๋ยจากออนเหวง   จึงทรงรับสั่งเล่าเรื่องบริษัทออนเหวงรับบริการเก็บอุจจาระจากส้วมถัง ที่ทรงได้ยินมาจากคนเก่าแก่   แต่คนรุ่นพวกเราเกิดไม่ทัน  รับสั่งว่ากินกันอิ่มแล้วคุยเรื่องนี้ได้
แต่ก็รับสั่งหลายครั้งว่า ไปยุโรปไม่รู้ว่ากี่ครั้งแล้วไม่เคยกินถั่วงอกเลย   ทำให้ผมเอะใจว่าข่าวจาก เว็บไซต์เขาว่าอย่างไรแน่  กลับมาบ้านจึงเปิดข่าวนี้ จึงรู้ว่าผมพลาดเสียแล้ว   ข่าวบอกว่ามาจาก sprouts  และมีหมายเหตุบอกว่าเป็น sprouts in general ไม่ใช่เฉพาะ bean sprouts   และดูรูปซึ่งไม่ค่อยชัด ก็ไม่น่าจะใช่ถั่วงอก   คงจะเป็นหน่อไม้แบบที่ฝรั่งเขากินกัน เช่น หน่อไม้ฝรั่ง

วิจารณ์ พานิช
๕ ก.ค. ๕๔

คัดลอกจาก http://www.gotoknow.org/posts/452951

 

ห้องพิธี ถ่ายจากด้านหลังห้อง


 

เวทีพิธี ถ่ายซูมจากหลังห้อง


 

เวทีอันงดงาน และแถวแขกผู้มีเกียรติ


 

เวทีอันงดงาม กับ อ. ธัชชะ จุลชาต ผู้อธิบายความหมาย


 

แขกผู้มีเกียรติและบัณฑิต



แก้ไขล่าสุด ใน วันจันทร์ที่ 12 สิงหาคม 2013 เวลา 11:52 น.
 

ชีวิตที่พอเพียง: ๑๖๑๗. ความเจ็บป่วยให้โอกาสอยู่กับตัวเอง (บันทึกตามัว ๑)

พิมพ์ PDF

เช้าวันที่ ๕ ก.ค. ๕๕ ผมออกจากบ้านตีห้าครึ่ง ไปยังหอประชุมกองทัพเรือ เพื่อทำหน้าที่ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยมหิดล   หลังจากลงทะเบียนรับบัตรผ่านระบบรักษาความปลอดภัย ผมก็ขึ้นไปยังห้องโถงรับประทานอาหาร   รับอาหารกล่อง โดยผมเลือกข้าวหมูแดง    และไปนั่งรับประทานที่โต๊ะเดียวกันและคุยกับทีมจากศิริราช   สักครู่ ศ. พญ. สุวรรณา เรืองกาญจนเศรษฐ์ รองอธิการบดีก็มานั่งและคุยด้วย


เวลานั้นน่าจะ ๗ น. เศษๆ   ทันใดนั้นผมรู้สึกเหมือนมีฝ้ามาบังตา    ตอนแรกคิดว่าแว่นตาเปื้อนน้ำข้าวหมูแดง    ถอดแว่นออกมาดูก็สะอาดดี   คิดว่ามันเปื้อนตาหรือขนตา   เช็ดด้วยทิชชูก็ไม่หาย    ลองปิดตาข้างขวา ตาซ้ายมองเห็นดี    ลองปิดตาข้างซ้าย ตาขวาฝ้ามาก และเหมือนมองผ่านกระจกฝ้า บางส่วนเหมือนมีสิ่งที่เป็นเส้นคล้ายขยุ้มขนตามาบัง    ผมไม่ได้บอกใคร และยังคงอ่านคำถวายรายงานได้โดยไม่มีใครรู้ว่าตอนนั้นผมมีตาเดียวที่ใช้การได้   และอยู่จนตลอดงาน   แม้ตอนร่วมโต๊ะเสวยพระกระยาหารกลางวันกับสมเด็จพระเทพรัตน์ฯ ผมก็ทำหน้าที่ได้ตามปกติ


กลับมาบ้านตอนเย็น จนถึงตอนเช้า อาการยังคงเดิม ไม่หนักขึ้นหรือเบาลง   ผมมีประชุมที่มหาวิทยาลัยมหิดลศาลายา    เมื่อไปถึงผมขอให้คุณโสภาพรรณช่วยติดต่อท่านคณบดี ศ. นพ. อุดม ของศิริราช   ท่านบอกให้รีบไปศิริราชทันที


ที่ศิริราชผมได้รับการดูแลแบบวีไอพี   อ. หมอปรีชา สุนทรานันท์ อดีตรองอธิการบดี และเวลานี้มาเป็นรองคณบดี มารับพาไปห้องตรวจตาที่ตึกสยามินทร์ ชั้น ๑   และได้รับการตรวจอย่างละเอียดและรอบคอบ แถมยังได้รับเลี้ยงอาหารเที่ยงจาก อ. หมอจุฑาไล ตัณฑ์เทอดธรรม หัวหน้าภาควิชาจักษุวิทยา    นอกเหนือจากที่ท่านกรุณารับผมเป็นคนไข้ของท่าน    โดยจะต้องขยายม่านตาเพื่อตรวจ    แต่สงสัยว่ามุมตรงม่านตาของผมมันน่าจะแคบ   และถ้าแคบเมื่อหยอดยาขยายม่านตา ความดันในตาจะสูง เกิดโรคต้อหินแทรกซ้อนตามมา    ท่านจึงขอให้ อ. หมออังคณาช่วยตรวจมุมตา ก็พบว่าแคบจริง   และตรวจความดันตาปกติ    อ. หมออังคณาจึงกรุณายิงเลเซอร์ป้องกันม่านตาไปกองที่มุมและทำให้เกิดความดันในตาสูง   โดยยิง ๒ เครื่อง เครื่องหลังเป็น YAG Laser ทำให้ผมมีประสบการณ์นี้เป็นครั้งแรก    ตอนยิง YAG Laser ครั้งแรกไฟมันแรงกระตุกจนผมสะดุ้ง ทั้งๆ ที่ อ. หมออังคณาเตือนแล้วว่าจะเจ็บหน่อย


ตอนก่อนยิงเลเซอร์ พยาบาลหยอดยาชาและยาหดม่านตา    รอจนม่านตาหดจึงยิงเลเซอร์    ยิงเลเซอร์เสร็จก็ต้องหยอดยาขยายม่านตา    พยาบาลบอกว่าต้องรอนานหน่อย เพราะเพิ่งหยอดยาหดม่านตา    แต่โชคดี ม่านตาของผมมันไม่ค่อยดื้อ เขายอมขยายในเวลาไม่นาน    และ อ. หมอจุฑาลัย ก็ได้ตรวจตาผมด้วยเครื่อง slit lamp และวินิจฉัยว่าเป็นโรค vitreous hemorrhage หรือเลือดออกในวุ้นในลูกตา    ซึ่งถือว่าเป็นโรคที่ร้ายแรงน้อยที่สุดในกลุ่มโรคที่สงสัย    ที่สำคัญคือหายเป็นปกติได้


แต่หมอไม่สามารถตรวจดูจุดที่เลือดออกว่าเป็นอย่างไร เพราะเลือดออกมาก บังหมด มองจอตา (เรตินา) ไม่เห็นเลย    แต่ดีตรงที่ตาซ้ายของผมปกติดี ไม่มีร่องรอยของเบาหวานหรือหลอดเลือดเสื่อม (จากความดันโลหิตสูง)    หมอพูดกันว่ามีเม็ดสีมากขึ้นนิดหน่อย ซึ่งก็เป็นปกติสำหรับคนแก่


ตอนเช้า หลังจากไปถึงศิริราชสักครู่ ท่านคณบดีอุดมก็มาเยี่ยม และทำหน้าที่ญาติผู้ป่วย ซัก อ. หมอจุฑาไลว่าคิดถึงโรคอะไรบ้าง    ได้รับคำตอบว่า

๑. เลือดออกในวุ้นในลูกตา (vitreous hemorrhage)

๒. หลอดเลือดอุดตัน ซึ่งอาจเป็นหลอดเลือดดำ หรือหลอดเลือดแดงก็ได้

๓. จอตาลอก (retina detachment)


ผมได้รับคำแนะนำให้พักโดยเลือกได้ ๒ ทาง คืออยู่โรงพยาบาล หรือพักอยู่กับบ้าน    ผมรีบเลือกพักอยู่กับบ้านโดยสัญญาว่าจะปฏิบัติตัวเป็นคนไข้ที่ดี  หมอห้ามไม่ให้เดินทาง ไม่ใช้สายตาแบบที่ต้องกลอกตาไปมาตลอดเวลา คือการอ่านหนังสือ    ห้ามเบ่งอึ ห้ามไอ จาม วิ่งออกกำลัง เดินมากๆ    ให้นอนหนุนศีรษะสูง เพื่อให้เลือดตกลงล่าง   โดยได้รับคำบอกว่า อาการจะหายภายในเวลาระหว่าง ๔ วันถึง ๑ เดือน และเมื่อเลือดถูกดูดซึมไปจนเหลือน้อยลง ให้ไปตรวจหาร่องรอยสาเหตุที่เลือดออก   ส่วนอีกคำสั่งหนึ่งมาจากหมอประจำดวงใจคือสาวน้อย บอกให้หยุดกินน้ำมันปลา (fish oil) เพราะมันอาจทำให้เลือดออกง่าย


ผมบอกสาวน้อยให้ซื้อผลไม้มากินป้องกันท้องผูก    คืนวันที่ ๖ เขาจึงเอาผงไฟเบอร์ธรรมชาติที่มีขายเป็นซอง ชื่อ Mucilin มาละลายน้ำให้ดื่ม   ดังนั้นเช้าวันที่ ๗ ผมจึงถ่ายคล่องเป็นพิเศษ


ผมเตรียมพักผ่อนสายตา ด้วยการรับรู้ผ่านประสาทหูแทน    จึงได้โอกาสเอาเสียงของการประชุมต่างๆ ที่ผมบันทึกด้วย MP3 เอามาเก็บไว้ใน HDD ถ่ายกลับมาลงในเครื่องเล่น MP3 และนอนฟังด้วยความเพลิดเพลินและประเทืองปัญญา


นอกจากนั้น เจ้า iPod รุ่นเก่า ๒ ตัว ที่ไม่ค่อยได้ใช้ ก็ได้มีโอกาสทำหน้าที่  ผมเอามาอัดไฟ และฟังเพลงคลาสสิคของโปรด   รู้สึกว่าเพลงไพเราะจริงๆ   คงเพราะผมจิตว่าง ไม่ต้องกังวลถึงงานที่จะต้องทำ    เพราะต้องปลดการเดินทางและงานต่างๆ ออกไปหมด


การวิ่งออกกำลังสะเทือน หมอห้ามเด็ดขาด   ให้รอจนหาย   เป็นสิ่งที่ทำให้ผมรู้สึกขาดหายไป จึงคิดจะใช้การขี่จักรยานแทน    แต่สาวน้อยสั่งห้าม บอกว่าอย่างน้อยให้มั่นใจว่าเลือดหยุดแน่นอนก่อน


ลูกสาว ๒ คนที่อยู่บ้านเดียวกัน และสาวน้อย รู้ใจว่าผมเป็นคนแก่ไฮเปอร์    เขาจึงช่วยกันหาทางเกลี้ยกล่อมให้ผมพักสายตาให้ได้


ผมทดลองสมมติว่าผมตาบอดทั้งสองข้าง ผมจะใช้ประสาทหูเพื่อการรับรู้และเรียนรู้แทนได้แค่ไหน   ผมรู้ว่าหากสมมติเป็นจริง งานทั้งหลายก็หายวับไป    ผมจะกลายเป็นคนแก่อยู่กับบ้าน เดาว่าคงมีคนคอยดูแล    ผมจะต้องหาความสุขจากประสาทสัมผัสอื่น ซึ่งตัวสำคัญคือโสตประสาท    ผมจึงทดลองหัดฟังเสียงต่างๆ ให้ได้สุนทรีย มากกว่าที่ได้ในชีวิตตามปกติ ที่มีช่องทางรับรู้หลายช่องทาง    ซึ่งก็คือการฝึกสมาธิอย่างหนึ่งนั่นเอง    ไม่ทราบว่าอุปาทานหรือไม่ ผมฟังเพลงได้ไพเราะขึ้น   ผมฝึกแยกเสียงเครื่องดนตรี และฝึกสัมผัสความไพเราะของเสียงเครื่องดนตรีแต่ละชนิด   ชีวิตสนุกไปอีกแบบ


๗ กรกฎาคม ๕๕ (วันที่ ๓ ของอาการ) อาการตาขวามัวยังคงเดิม   ไม่ดีขึ้นหรือเลวลง    แต่สังเกตว่า สิ่งที่บังตาขวาเป็นขยุ้มเส้นๆ มันหนาตัวขึ้น และช่องว่างระหว่างเส้นกว้างขึ้น   ผมพยายามจำภาพสิ่งนี้ เพราะเข้าใจว่าคือก้อนเลือดที่ออกไปอยู่ในวุ้นตา    ผมต้องการสังเกตการเปลี่ยนแปลงภายในตาขวา


ผมเอา iPod เก่า 80GB มาเลือกฟังเพลง   เพลงในนี้ส่วนใหญ่ได้มาจากความกรุณาของ รศ. ดร. สุกรี เจริญสุข ให้เจ้าหน้าที่ของวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ใส่ให้ เมื่อ ๕ - ๖ ปีที่แล้ว   ผมคิดว่า iPod ให้เสียงเพลงที่ไพเราะกว่า iPhone 4   ไม่ทราบว่าหูของผมฝาดไปหรือไม่


ตอนเช้าอากาศดี ผมไปนั่งที่ระเบียงหน้าบ้านเพื่อซึมซับธรรมชาติสีเขียวของต้นไม้   สลับกับออกไปนั่งในสนามหญ้าข้างบ้าน   ฟังเพลงและรับลมอ่อน ยามเช้าด้วยความสดชื่น   ช่วงหนึ่งนกปรอดเขามาร้องบนต้นไม้เสียงขรม   เดาว่าเป็นเสียงเชียร์ของพ่อแม่นก ให้ลูกนกขยันหัดบิน   เพราะวันก่อนผมเห็นตัวลูกนกที่บ้านลูกสาว    เขาทำรังที่ระเบียงบ้านลูกสาว


ผมลองเข้าไปฟังเพลงจาก YouTube ด้วย iPad   ฟังเพลงของ Vanessa Mae ที่เคยอ่านพบว่าร่ำรวยมาก   ได้เห็นหน้าตาและการแต่งตัวทั้งตอนเริ่มดัง กับเดี๋ยวนี้ ซึ่งเปลี่ยนไปมาก    และเพลงและดนตรีก็เปลี่ยนไปเป็น stage show มากขึ้น   เดาว่าการแสดงดนตรีของเขาคงจะมีฝ่ายต่างๆ มากำหนดมากมาย   โดยฝีมือสีไวโอลินของเธอก็นับว่าขั้นเทพ (ธิดา)   ผมฟัง Beethoven Symphony No. 9 ใน YouTube เทียบกับฟังใน iPod พบว่า ใน iPod ไพเราะกว่า


ผมได้โอกาสฝึกตนเอง ให้มีชีวิตอยู่กับโสตสัมผัส มากกว่าจักษุสัมผัส




วิจารณ์ พานิช

๘ ก.ค. ๕๕

คัดลอกจาก http://www.gotoknow.org/posts/497384

แก้ไขล่าสุด ใน วันจันทร์ที่ 12 สิงหาคม 2013 เวลา 11:56 น.
 

JJ2013V8_5 ตามรอยเรียน รู้ Learn เพื่อพัฒนาคุณภาพอุดมปัญญา

พิมพ์ PDF
การฝึกฝนอาจารย์ใหม่ให้เกิด Team Teaching เพื่อสร้างเด็กนิสิต เกิด Team Learning จะช่วยสร้างกระบวนการเรียนรู้ทั้ง ครู และ นิสิต เน้นการเรียนรู้ตลอดชีวิต หรือ Life Long Learning

ตามรอยเรียน รู้ Learn

การพัฒนาด้วยการประเมินตนเอง หรือ Self Reflection ด้วยการเขียนการรายงานประเมินตนเอง หรือ SAR


หน่วยงานที่ ๕ ของปีการศึกษา ๒๕๕๕ ที่ JJ ได้ออกไปประเมิน Learn เพื่อพัฒนา คุณภาพและมาตรฐานอุดมศึกษา


เรื่องราวดีดี ที่ได้ สร้างความเข้าใจในการพัฒนาคุณภาพของการบริหารการศึกษา เป็นจุดเน้น มากกว่าที่จะไป ต่อรองการเรื่อง คะแนน


การทำงานร่วมกัน ระหว่างผู้ประเมิน และ ผู้รับการประเมินทำให้ เกิดความเข้าใจ ถึงเจตนารมณ์ ของการพัฒนาที่เป็นไปตามเกณฑ์ขั้นต่ำที่พึงกระทำ ของ สกอ


การมองหาจุดเน้น เพื่อแสดง อัตตลักษณ์ ของสถาบัน จะถูกถ่ายทอดไปให้ นิสิต เพื่อเกิดพัฒนาการเป็น บัณฑิตที่พึงประสงค์

การฝึกฝนอาจารย์ใหม่ให้เกิด Team Teaching เพื่อสร้างเด็กนิสิต เกิด Team Learning จะช่วยสร้างกระบวนการเรียนรู้ทั้ง ครู และ นิสิต เน้นการเรียนรู้ตลอดชีวิต หรือ Life Long Learning

JJ2013

คัดลอกจาก http://www.gotoknow.org/posts/545079

 

วิธีติดต่อ ศ. นพ. วิจารณ์ พานิช

อีเมล พิมพ์ PDF

เป็นการติดต่อคนที่ไม่มีสำนักงานประจำ    และไม่ใช้เลขานุการแบบพร่ำเพรื่อ

  • วิธีที่สะดวกที่สุด ทาง อี-เมล์ pvicharn(at)gmail.com ไม่ต้องใช้กระดาษ และรวดเร็ว ถึงตัวผมแน่
  • การนัดประชุมของคณะกรรมการต่างๆ ที่ผมรับใช้อยู่  ในกรณีการติดต่อกับผม อยากขอให้เลิก Fax ไปที่ สคส.    เพราะผมไม่ได้เข้าไปทำงานที่ สคส. เป็นประจำแล้ว   จะมีผลทำให้ผมได้รับเรื่องล่าช้า    ขอให้ติดต่อทาง อี-เมล์แทน    และเอกสารหรือแฟ้มประชุมก็อยากให้ส่งเป็น attached files ทางอี-เมล์    หรือจะแจ้ง URL และ password ให้ผมเข้าไป download เอกสารเอาเองก็ได้
  • เอกสารถึงผมที่ส่งเป็น Fax ไปที่ สคส.   โดยไม่ได้บอกวิธีติดต่อกลับทาง อี-เมล์    อาจไม่ได้รับการตอบเลย เพราะไม่สะดวกที่จะตอบโดยตัวผมเอง
  • หากจำเป็นต้องส่งเอกสาร หรือแฟ้มประชุมจริงๆ ขอให้ส่งทางไปรษณีย์ ไปที่บ้าน
    ๔๗/๒๑๖  หมู่บ้านสิวลี   ถ. สุขาประชาสรรค์ ๓
    ต. บางพูด   อ. ปากเกร็ด   จ. นนทบุรี  ๑๑๑๒๐ 
    หมายเหตุ


(๑) ที่บ้านผมไม่มีเครื่องรับส่ง Fax 
(๒) อย่าส่งโดยวิธี EMS หรือลงทะเบียน   เพราะเมื่อบุรุษไปรษณีย์มาส่งและไม่มีคนที่บ้านเซ็นรับ    เขาจะแจ้งให้ผมไปรับเองทีที่ทำการไปรษณีย์ ยิ่งยุ่งยากหนักเข้าไปอีก

หรืออาจให้ messenger เอาไปส่งที่บ้านก็ได้   แต่ที่บ้านอาจไม่มีคนอยู่     ในกรณีเช่นนี้ ให้ฝากไว้ที่ป้อมยามของหมู่บ้าน    หรืออาจโทรศัพท์สอบถามก่อน ที่ ๐๒ ๙๖๓ ๒๑๖๓ ว่ามีคนอยู่บ้านหรือไม่   โปรดอย่าใช้โทรศัพท์นี้หลัง ๒๑.๐๐ น. เพราะจะไม่มีคนรับ (หลับแล้ว) 
หากเป็นเอกสารที่ไม่ด่วน   อาจส่งไปที่ 
สำนักงานนายกสภามหาวิทยาลัย
มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา   จ. นครปฐม  ๗๓๑๗๐ 
โทรศัพท์ ๐๒ ๘๔๙ ๖๓๓๓
โทรสาร  ๐๒ ๘๔๙ ๖๓๑๔
เลขานุการชื่อ คุณโสภาพรรณ (ลูกหว้า)


• ผมเป็นคนไม่ชอบพูดโทรศัพท์   โดยเฉพาะอย่างยิ่งระหว่างประชุม   จึงไม่นิยมให้เบอร์โทรศัพท์มือถือแก่ใครๆ และโทรศัพท์มือถือก็มักจะปิดหรือเปิดแบบสั่น ซึ่งบางครั้งก็ไม่รู้สึก    จึงต้องขออภัยที่หลายครั้งผมไม่ได้รับโทรศัพท์ที่โทรเข้ามือถือ

 

วิจารณ์ พานิช
๑๐ เม.ย. ๕๑

 

 

แก้ไขล่าสุด ใน วันจันทร์ที่ 12 สิงหาคม 2013 เวลา 14:08 น.
 


หน้า 456 จาก 557
Home

About Us

ศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ (ศบม.) เป็นองค์กรที่พัฒนาและจัดทำโครงการเพื่อทำประโยชน์ให้สังคม เป็นองค์กรสนับสนุนการดำเนินงานของภาครัฐ ช่วยแก้ปัญหาผู้ประกอบการภาคธุรกิจบริการที่ขาดแคลนบุคลากรที่มีมาตรฐานในการให้บริการ
อ่านเพิ่มเติม

มูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ ์

 iHDC Profile
บัญชีรายชื่อกรรมการ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียน การเปลี่ยนแปลงกรรมการของมูลนิธิ
เอกสารประชาสัมพันธ์ โครงการ HMTC.pdf
เอกสารแนะนำโครงการ HMTC 1.pdf
เอกสารโครงการ HMTC 2 คุณสมบัติผู้เข้าร่วมโครงการ.pdf
iHDC นิติบุคคล.pdf
iHDC บุคคล.pdf
iHDC บุคคลเครือข่าย.pdf
รายงานการประชุม 6 มีนาคม 2560.pdf
ข้อบังคับมูลนิธิ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียนจัดตั้งมูลนิธิ
Ihdc-Profile and Roadmap 2016-2019 Mar 23 2560.pdf
รายงานการประชุมใหญ่คณะกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ 2559.pdf
คำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ สาขาวิชาชีพ.pdf
รายงานการประชุมใหญ่วันที่ 18 ธ ค 2558 v 3.pdf
รายงานการประชุม วันที่ 24 ธันวาคม 2557 updated 4 มีนาคม 2558.pdf
iHDC-invitation Letter.doc
iHDC-Member Form Thai.doc
iHDC-Member Form English.doc
รายงานการประชุมกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ วันที่ 15 มกราคม 2556 ฉบับสมบูรณ์


thaibetter
พัฒนาประเทศไทยแบบทวีคูณ และยั่งยืน ( ททค )

Login


แบบสำรวจ

สถิติเว็บไซด์

สมาชิก : 5603
Content : 3043
เว็บลิงก์ : 26
จำนวนครั้งเปิดดูบทความ : 8591458

facebook

Twitter


ล่าสุด

บทความเก่า