Thaiihdc.org

  • เพิ่มขนาดตัวอักษร
  • ขนาดตัวอักษรปกติ
  • สดขนาดตัวอักษร
Thaiihdc.org

Service Learning (เรียนโดยบริการสังคม)

พิมพ์ PDF

บันทึก ๒๐ ตอนนี้ ได้จากการตีความหนังสือ  The Heart of Higher Education : A Call to Renewalเขียนโดยผู้มีชื่อเสียง ๒ ท่านคือ Parker J. Palmer และ Arthur Zajonc ซึ่งเมื่อผมอ่านคร่าวๆ แล้ว ก็บอกตัวเองว่า  นี่คือข้อเสนอสู่การเรียนรู้เพื่อเป็นคนเต็มคน ที่มี “พลังสาม” เข้มแข็ง คือ สมอง ใจ และวิญญาณ (head, heart, spirit)  หรือพูดด้วยคำที่ฮิตในปัจจุบันคือ การเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงจากภายในตน (Transformative Learning)

แม้ว่าหนังสือเล่มนี้จะเน้นเสนอการเปลี่ยนแปลงในระดับอุดมศึกษา  แต่ผมมีความเชื่อว่าต้องใช้กับการศึกษาทุกระดับ  รวมทั้งการศึกษาตลอดชีวิต  และตัวผมเองก็ต้องการนำมาใช้ฝึกปฏิบัติเองด้วย

ผมตั้งเป้าหมายในการอ่านและตีความหนังสือเล่มนี้  ออกบันทึกลง บล็อก ชุด เรียนรู้บูรณาการพลังสาม ว่า ต้องการเจาะหาแนวทางทำให้จิตตปัญญาศึกษา เข้าสู่การศึกษากระแสหลัก  เพื่อให้คนไทยมีทักษะจิตตภาวนาบูรณาการอยู่ในทักษะแห่งศตวรรษที่ ๒๑  เป็นส่วนหนึ่งของทักษะชีวิต

การเรียนรู้บูรณาการ (สมอง ใจ และวิญญาณ) พัฒนา ๓ ด้านไปพร้อมๆ กัน  และส่งเสริมเกื้อกูลซึ่งกันและกัน  ในภาษาอังกฤษเรียกว่า Integrative Learning  ในบางที่เรียกว่า Transformative Learning ซึ่งแปลเป็นไทยได้ ๒ แบบ ว่า (๑) การเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงระดับรากฐาน  คือเปลี่ยนจากติดสัญชาตญาณสัตว์ เป็นมีจิตใจสูง ซึ่งมนุษย์ทุกคนบรรลุได้   บรรลุได้ในฐานะบุคคลทางโลก ไม่ต้องเข้าวัด หรือไม่ต้องบวช  (๒) เป็นการเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลง หรืองอกงาม ภายในตน  ตรงกันข้ามกับการเรียนรู้แบบรับถ่ายทอดความรู้มาจากภายนอก

ผมได้ตีความเขียนบันทึกจากบทหลักในหนังสือจบแล้ว  แต่ยังมีส่วนเพิ่มเติม เพื่อบอกวิธีปฏิบัติอีกหลายตอน  ที่ผมคิดว่ามีประโยชน์ต่ออาจารย์ที่ต้องการจัดการเรียนรู้แบบ Integrative/Transformative Learning อย่างจริงจัง

บันทึกตอนที่ ๑๕ นี้ ตีความจากส่วนหนึ่งของ Appendix B : Beyond the Classroom  เรื่อง Service Learning : Inspired by a Student เขียนโดย Marshall C. Eakin, Director of the Ingram Scholars Program, Professor of History, Vanderbilt University   เล่าเรื่องการเกิดรายวิชาเรียนที่บูรณาการการเรียนวิชากับการบริการชุมชน/สังคม เข้าด้วยกัน  โดยผู้มาจุดประกายเป็น นศ.  เหตุเกิดปี พ.ศ. ๒๕๓๙ หรือ ๑๗ ปีมาแล้ว

นศ. หญิงผู้นี้ชื่อ Rachel McDonald เพิ่งไปเข้าค่ายพัฒนาชุมชนที่ประเทศเปรู  กับ ASB (Alternative Spring Braek)  และคิดว่ากิจกรรมค่ายพัฒนาน่าจะจัดร่วมกับวิชาเรียนได้  เช่นการไปเข้าค่ายพัฒนาประเทศในละตินอเมริกา น่าจะจัดร่วมกับการเรียนวิชาละตินอเมริกาได้  เธอไปปรึกษาอาจารย์ที่ปรึกษาของเธอ ซึ่งรู้จัก ศ. เอกิ้น ว่าสอนวิชานี้  จึงแนะนำให้มาหา

ปะเหมาะกับช่วงเวลานั้น ศ. เอกิ้น ทำหน้าที่เป็นกรรมการประเมินการทำหน้าที่บริการวิชาการแก่สาธารณะและจิตอาสาในวิทยาเขต  ทำให้ได้พบอาจารย์และ นศ. ที่เอาจริงเอาจังด้านบริการสาธารณะหลายคน  โดยมีบางคนเป็นอาจารย์ที่ Peabody Collegeของมหาวิทยาลัย แวนเดอร์บิ๊ลท์  และที่นี่มีรายวิชา service-learning อยู่ด้วย   เป็นครั้งแรกที่ ศ. เอกิ้น ได้รู้จัก service learning หรือการเรียนแบบให้บริการไปพร้อมกัน

ศ. เอกิ้น กับราเชลจึงร่วมมือกันศึกษาลู่ทางจัดรายวิชา service learning ในประเทศละตินอเมริกา  ซึ่งในที่สุดก็เลือกประเทศชิลี  ในปี ๒๕๔๐ ราเชล ไปศึกษาเตรียมความพร้อมในพื้นที่ร่วมกับเพื่อน ที่เรียนวิชาเอก Latin American Studies   โดยราเชลได้รับ Ingram Scholarship  แล้วในปี ๒๕๔๑ ก็เกิดรายวิชา ๓ หน่วยกิต ชื่อ The Historical Roots of Contemporary Chilean Social Problems  สอนโดย ศ. เอกิ้น มีราเชลเป็น นศ. ผู้ช่วย  มี นศ. ลงทะเบียนเรียน ๑๒ คน   ในช่วงเวลา Maymester (เดือนพฤษภาคม)   ไปทำงานอาสาที่หมู่บ้านเล็กๆ ที่มีประชากร ๓๐๐ คน ในชิลี  โดยไปพักและทำงานร่วมกับโรงเรียนอาชีวศึกษาระดับมัธยมที่เป็นโรงเรียนกินนอน  ไปสร้างห้องซักผ้าให้  และสอนนักเรียน  พร้อมกับเรียนวิชาอย่างเข้มข้น  ใช้เวลา ๔ สัปดาห์

ประสบการณ์นี้สร้างความกระตือรือร้นแก่ ศ. เอกิ้นมาก  และได้ร่วมมือกับอาจารย์ท่านอื่่นจัดรายวิชา service learning ขึ้นในชุมชน ฮิสปานิก ในเมืองแนชวิลล์ ที่มหาวิทยาลัยแวนเดอร์บิ๊ลท์ ตั้งอยู่

ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๔๘ มหาวิทยาลัยแวนเดอร์บิ๊ลท์ ตั้ง VIO (Vanderbilt International Offoce)  ศ. เอกิ้น ก็ได้มีส่วนผลักดันให้เกิด โปรแกรม VISAGE (Vanderbilt Initiative for Scholarship and Global Engagement)  ที่ นศ. ได้รับทุนเรียนวิชา ๓ หน่วยกิต โดยไปทำ service learning ในต่างประเทศ

อ่านเรื่องนี้แล้วผมนึกถึงประชาคมอาเซียน  สถาบันอุดมศึกษาไทยน่าจะร่วมมือกับ สกอ.  สมาคมประชาคมอาเซียน  และสำนักงานเลขาธิการอาเซียน  จัดหลักสูตร service learning ทำนองนี้  โดยก่อน นศ. ออกไปต่างประเทศ ควรได้เรียนภาคทฤษฎี และฝึกทักษะ AAR เพื่อเตรียมความพร้อมเสียก่อน

ที่จริงในประเทศไทยมีอาจารย์ (และเป็นผู้บริหารด้วย คือเป็นรองอธิการบดี) คือ ผศ. ดร. ปริญญา เทวานฤมิตรกุล มีประสบการณ์และความชำนาญมากในการจัดการเรียนรู้แบบ service learning  อ่านรายละเอียด ที่นี่ และ ที่นี่

ผมมีความเห็นว่า การเรียนวิชาจากการทำงานบริการสังคมนี้  อาจได้ผลดี เกิดการเรียนรู้บูรณาการรอบด้าน และได้เรียนวิชาอย่างรู้จริง  (mastery learning) หรือไม่ก็ได้  ขึ้นอยู่กับทักษะของอาจารย์ ในการตั้งโจทย์การทำงานและโจทย์เพื่อการเรียนรู้ของ นศ.  ดังนั้นการจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากผู้มีประสบการณ์จริง  และเวทีฝึกทักษะการทำหน้าที่ “คุณอำนวย” ให้แก่อาจารย์ จึงมีความสำคัญยิ่ง  โดยเฉพาะทักษะการเป็น “คุณอำนวย” ในกระบวนการ AAR หลังทำกิจกรรมเป็นระยะๆ  เพื่อให้เกิดการเรียนรู้อย่างรู้รอบและรู้จริง

 

วิจารณ์ พานิช

๑๐ ก.พ. ๕๖

คัดลอกจาก http://www.gotoknow.org/posts/543466

 

ชีวิตที่พอเพียง การเดินทางไปเยอรมันนี

พิมพ์ PDF

ระหว่างวันที่ ๘ - ๑๕ มิ.ย. ๕๖ ผมไปเยอรมันนีกับคณะดูงาน DFC 3 จัดโดยสถาบันคลังสมองของชาติ เป็นคณะใหญ่ ๒๒ คน  เดินทางโดยการบินไทย  ขาไปนั่งเครื่องบิน A380-800 ซึ่งที่นั่งนอนราบได้  และมีความทันสมัยหลายอย่าง  ทำให้ขากลับนั่งเครื่อง A340 รู้สึกว่ามันเก่าล้าสมัยไปทันที

ผมไปมีประสบการณ์ของหายเป็นครั้งแรก  โดยลืมเก็บคอมพิวเตอร์ MacBook Air เข้ากระเป๋า ตอนผ่าน security check  โชคดีที่มีไกด์เยอรมันช่วยติดตามให้จากการท่าอากาศยาน แฟรงค์เฟิร์ต  แล้วไปรับคืนในวันกลับ โดยเสียค่าบริการให้แก่การท่าฯ ไป ๕๐ ยูโร (๒,๐๐๐ บาท)  ทำให้ผมได้ฝึกทำงานและจดบันทึกด้วย iPad mini อย่างเดียว  ไม่มี MacBook Air เข้าคู่อย่างการเดินทางครั้งก่อนๆ  แม้จะไม่ดีเท่า แต่ก็ใช้ได้ และดีที่ลดน้ำหนักของลงไป ๑ กก.

ได้ประสบการณ์บันทึกเสียงด้วยเครื่องบันทึกเสียงใหม่ คือ iPod nano  ซึ่งต้องซื้อหูฟังแบบมีไมค์ในตัวมาเสียบ  สะดวกมากตอนไปทัวร์เดินเท้า (ที่ไฮเดลเบิร์ก)  ใช้บันทึกเสียงของไกด์ เอามาประกอบการเขียนบันทึกลง บล็อก ได้ดีมาก  เสียงชัด และเบาดีมาก  แต่ราคาก็สูงด้วย (๕,๕๐๐ + ๑,๐๙๐ บาท)

ผมไม่ได้ไปประเทศเยอรมันนีนานแล้ว ไปครั้งนี้ประทับใจในการส่งเสริมการใช้จักรยาน  ที่ส่งเสริมจริงจังมาก  ลู่จักรยานได้รับลำดับความสำคัญบนถนนและบนทางเท้า  บนทางเท้าที่กว้างเขาจะมี เลนจักรยานที่ปูกระเบื้องคนละสี (มักเป็นสีแสดคล้ำ) และเรียงกระเบื้องทะแยงให้สังเกตง่ายว่าไม่ใช่ทางเท้า  แม้ถนนที่แคบและไม่มีทางเท้าให้แบ่งเป็นเลนจักรยาน เขาก็ยังขีดเส้นแบ่งบนถนนให้เป็นทางจักรยาน

การส่งเสริมการใช้จักรยานของเยอรมันนี จริงจังยิ่งกว่าที่สวิตเซอร์แลนด์

ได้ไปเห็นกับตา ว่าน้ำท่วมใหญ่ของยุโรปคราวนี้มันหนักทีเดียว  แต่เมื่อไปเห็นระดับน้ำของแม่น้ำ Neckar ที่ตอนน้ำท่วมใหญ่เมื่อกว่าสองร้อยปีมาแล้ว สูงกว่าระดับถนนใกล้แม่น้ำกว่า ๓ เมตร   ก็ตระหนักว่า เรื่องน้ำท่วมเป็นเรื่องของธรรมชาติ  คนต่างหากที่ไม่เคารพธรรมชาติ ไปสร้างสิ่งก็สร้างขวางทางน้ำ  แล้วไปสมมติเรียกน้ำหลากด้วยวิธีคิดที่เอาตนเองเป็นศูนย์กลางว่าน้ำท่วม

ได้ไปเห็นว่าเศรษฐกิจของเยอรมันดีมาก  เมืองต่างๆ ของเยอรมันยังมีการก่อสร้างอาคารมากอย่างน่าแปลกใจ  ยิ่งที่เบอร์ลิน ยิ่งมีส่วนที่กลายเป็นเมืองใหม่  และยังมีการก่อสร้างอีกมากมาย

ไปเห็นสถานีรถไฟกลางของเบอร์ลิน แล้วสะท้อนใจในความล้าหลังของระบบรถไฟไทย   ยิ่งได้กินอาหารบนรถไฟ ก็แปลกใจว่าอาหารอร่อยและบริการดีมากอย่างไม่น่าเชื่อ  รวมทั้งราคาก็เหมือนตามร้านทั่วไป

การเดินทางครั้งนี้ ผมออกค่าใช้จ่ายเอง  รู้สึกสบายใจว่า ไม่เป็นภาระของหน่วยงานใดๆ ที่ผมเกี่ยวข้องด้วย รวมทั้งสถาบันคลังสมองฯ  ผมมีความเชื่อว่า คนที่เป็นผู้ใหญ่ต้องระมัดระวัง ไม่ไปเป็นภาระหรือเบียดเบียนหน่วยงาน หรือราชการ  ผมสังเกตเห็นว่า คนบางคนรู้สึกภูมิใจเมื่อได้อะไรๆ ฟรี  ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้ว ไม่มีอะไรฟรี  มีผู้รับภาระไม่ทางตรงก็ทางอ้อม  หากเป็นราชการออก หรือใช้เงินงบประมาณแผ่นดิน ก็แปลว่าใช้ภาษีที่มาจากชาวบ้านและพวกเรานั่นเอง

ไม่ทราบว่าผมคิดไปเองหรือเปล่า  ว่าบุคลิกของมหาวิทยาลัยของเยอรมัน กับของไทยแตกต่างกัน  ที่เราบอกว่ามหาวิทยาลัยแต่ละแห่งต้องหาจุดเน้นหรือจุดเด่นของตนเอง  และมหาวิทยาลัยไทยที่เพิ่งเปลี่ยนมาจากวิทยาลัย ต่างก็พยายามทำตัวให้เหมือนมหาวิทยาลัยเก่าแก่  เพื่อให้มีศักดิ์ศรี นั้น  ผมสังเกตว่าผมไม่เห็นกระบวนทัศน์นั้นในเยอรมัน  คือเขามั่นใจในตัวเอง ว่าเขาเป็นทหาวิทยาลัยแบบที่เขาเป็น  และสร้างจุดเด่น จุดที่สามารถแข่งขันได้ จากจุดแข็งที่ม���  แม้แต่มหาวิทยาลัยเอกชน ซึ่งเสียเปรียบในด้านเก็บที่ค่าเล่าเรียน (ในราคาที่นับว่าสูง) ในขณะที่มหาวิทยาลัยของรัฐไม่เก็บค่าเล่าเรียน  แต่มหาวิทยาลัยเอกชนก็สร้างจุดแข็ง (และจุดขาย) จนเขาอยู่ได้


วิจารณ์ พานิช

๑๗ มิ.ย. ๕๖

คัดลอกจาก http://www.gotoknow.org/posts/543461

 

ทำเพื่อคะแนน PISA หรือใช้ PISA เป็นกระจก

พิมพ์ PDF

ในการประชุมวิชาการระหว่างประเทศ เรื่อง “การศึกษาเพื่ออนาคตของประเทศไทย” จัดโดยสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา  เมื่อวันที่ ๒๓ มิ.ย. ๕๖  น่าจะมีคนจำนวนไม่น้อยเข้าใจผิดเรื่องผลการทดสอบ PISA ว่าเป็นเป้าหมายของการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของเรา

ผมเดาว่า น่าจะมีคนในวงการศึกษา และคนทั่วๆไป  คิดว่าควรใช้ผลการทดสอบ PISA เป็นตัววัดคุณภาพของการศึกษา  ซึ่งผมคิดว่า ไม่ใช่  เราต้องคิดให้ไกลกว่านั้น  หรือกล่าวใหม่ว่า เป้าหมายของการศึกษาไทย ต้องให้ไกลกว่าผลการทดสอบ PISA

การทดสอบ PISA จัดขึ้นสำหรับเป็นเครื่องเปรียบเทียบ (benchmarking) คุณภาพของการศึกษาระหว่างประเทศ   โดยทดสอบเด็กอายุ ๑๕ ปี  วัดทักษะด้านการอ่าน, ด้านคณิตศาสตร์, และด้านวิทยาศาสตร์

แต่จริงๆ แล้ว เป้าหมายผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาสมัยใหม่ ที่เรียกว่า 21st Century Learning นั้น  ต้องการให้บรรลุผลสัมฤทธิ์ชุดหนึ่งที่ซับซ้อนมาก  ที่เรียกว่า 21st Century Skills คือมากกว่า reading skills, mathematical skills, และ scientific skills มาก

ประเทศไทย ต้องตั้งเป้า ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา เพื่อให้เด็กพัฒนาทักษะแห่งศตวรรษที่ ๒๑ ครบด้าน  ไม่ใช่เพียงกวดขันด้าน การอ่าน คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ เพื่อให้ผลการสอบ PISA ได้คะแนน/ตำแหน่ง สูงขึ้น เท่านั้น  ซึ่งเป็นเป้าหมายที่ตื้นเขิน  ไม่ก่อผลดีอย่างแท้จริงต่อสังคมไทยในระยะยาว  ในด้านคุณภาพคน

และต้องไม่ลืมว่า การเรียนรู้ที่แท้จริง ต้องเรียนทั้งด้านนอกและด้านใน  คือไม่ใช่เพียงเรียนให้รู้จักโลกภายนอก รู้จักสังคม รู้จักคนอื่น  ต้องเรียนให้รู้จักตนเองด้วย  ดังบันทึกนี้

 

 

วิจารณ์ พานิช

๒๒ ก.ค. ๕๖

คัดลอกจาก http://www.gotoknow.org/posts/544289

การเรียนรู้บูรณาการพลังสาม : หัวใจอุดมศึกษา : ๒. การเรียนรู้บูรณาการคืออะไร

บันทึก ๒๐ ตอนนี้ ได้จากการตีความหนังสือ  The Heart of Higher Education : A Call to Renewal เขียนโดยผู้มีชื่อเสียง ๒ ท่านคือ Parker J. Palmer และ Arthur Zajonc ซึ่งเมื่อผมอ่านคร่าวๆ แล้ว ก็บอกตัวเองว่า  นี่คือข้อเสนอสู่การเรียนรู้เพื่อเป็นคนเต็มคน ที่มี “พลังสาม” เข้มแข็ง คือ สมอง ใจ และวิญญาณ (head, heart, spirit) หรือพูดด้วยคำที่ฮิตในปัจจุบันคือ การเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐาน (Transformative Learning)

แม้ว่าหนังสือเล่มนี้ จะเน้นเสนอการเปลี่ยนแปลงในระดับอุดมศึกษา  แต่ผมมีความเชื่อว่าต้องใช้กับการศึกษาทุกระดับ  รวมทั้งการศึกษาตลอดชีวิต  และตัวผมเองก็ต้องการนำมาใช้ฝึกปฏิบัติเองด้วย

ผมตั้งเป้าหมายในการอ่านและตีความหนังสือเล่มนี้  ออกบันทึกลง บล็อก ชุด เรียนรู้บูรณาการพลังสาม ว่า ต้องการเจาะหาแนวทางทำให้จิตตปัญญาศึกษา เข้าสู่การศึกษากระแสหลัก  เพื่อให้คนไทยมีทักษะจิตตภาวนา บูรณาการอยู่ในทักษะแห่งศตวรรษที่ ๒๑  เป็นส่วนหนึ่งของทักษะชีวิต

การเรียนรู้บูรณาการ (สมอง ใจ และวิญญาณ) พัฒนา ๓ ด้านไปพร้อมๆ กัน  และส่งเสริมเกื้อกูลซึ่งกันและกัน  ในภาษาอังกฤษเรียกว่า Integrative Learning ในบางที่เรียกว่า Transformative Learning ซึ่งแปลเป็นไทยได้ว่า การเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงระดับรากฐาน  คือเปลี่ยนจากติดสัญชาตญาณสัตว์ เป็นมีจิตใจสูง ซึ่งมนุษย์ทุกคนบรรลุได้   บรรลุได้ในฐานะบุคคลทางโลก ไม่ต้องเข้าวัด หรือไม่ต้องบวช

ในบทที่ ๑ ของหนังสือ ชื่อบทคือ Toward a Philosophy of Integrative Education ผู้เขียนคือ Parker J. Palmer  อธิบายโต้แย้งคำกล่าวหาว่าการเรียนรู้บูรณาการ (เช่น service learning, action research, small-group process, learning community) ทำให้เรียนได้ไม่ลึกซึ้ง  โดยอธิบายปรัชญาของการเรียนรู้ที่ลึก  ว่าเป็นความเข้าใจว่า “ความรู้” ทุกอย่างเป็นสมมติทั้งสิ้น  ภาษาอังกฤษเรียกว่า relational คือขึ้นอยู่กับตัวผู้สังเกตหรือรับรู้

ผมขอเพิ่มเติมว่า การเรียนรู้บูรณาการที่ดีที่สุดคือ PBL (Project-Based Learning)

เขาอธิบายเรื่องความรู้ฝังลึกในตัวคน (Personal / Tacit Knowledge) ที่เสนอไว้โดย Michael Polanyi เมื่อกว่า ๕๐ ปีมาแล้ว  กับความรู้แจ้งชัด (Explicit Knowledge) ที่เราเข้าใจกันดีแล้วในสังคมไทย

ดังนั้น การเรียนรู้บูรณาการหลายศาสตร์ ที่มาบรรจบกันที่การนำความรู้เหล่านั้นมาใช้ในสถานการณ์จริง จึงเป็นการเรียนรู้บูรณาการที่เราไม่สงสัยกันอีกต่อไป  ผมคิดว่า เราไม่ควรเสียเวลาถกเถียงกันในภาคปฏิบัติ ที่ชัดเจนแล้วว่า การเรียนรู้ส่วนใหญ่ต้องเรียนโดยการลงมือทำ (Learning by Doing)

และจากมุมของการจัดการความรู้  การเรียนรู้แบบบูรณาการต้องบูรณาการระหว่างความรู้ฝังลึก/ความรู้ปฏิบัติ และ ความรู้แจ้งชัด/ความรู้ทฤษฎีด้วย  นี่หนังสือไม่ได้ว่า ผมว่าเอง

ผมตีความสาระเรื่องธรรมชาติของการเรียนรู้ ที่ Palmer เขียนแบบนักสังคมศาสตร์และนักปรัชญา  ให้ง่ายขึ้นว่า  การเรียนรู้คือการฝึกการรับรู้และการตีความสิ่งต่างๆ รอบตัว (และไกลตัว)  โดยไม่จำเป็นต้องตีความเหมือนกับที่คนอื่นตีความไว้แล้ว  โดยที่เป็นที่เข้าใจกันว่า  การตีความทุกแบบเป็นสมมติ (relational) ทั้งสิ้น

ผมชอบที่ผู้เขียนบอกว่า การเรียนการสอนต้องไม่ใช่กระบวนการแบบกลไก  ในลักษณะถ่ายน้ำใส่ถัง  น้ำคือความรู้  ถังคือสมอง  ถ้าใช้กระบวนทัศน์ที่ผิดเช่นนั้น  ครูจะทำหน้าที่ผิด คือเน้นถ่ายทอดความรู้  การเรียนรู้ที่แท้จริงเป็นกระบวนการปฏิสัมพันธ์ ที่ นศ. / นร. ได้รับจากครู เพื่อนๆ และสิ่งแวดล้อมรอบตัว

และผมยิ่งชอบมาก ที่ผู้เขียนบอกว่า กระบวนการเรียนรู้ต้อง “เอาจริงเอาจัง”  ท่านใช้คำว่า rigorous  และยกตัวอย่างความเอาจริงเอาจังว่า แสดงให้เห็นโดยพฤติกรรมของ นศ.  ที่ลุกขึ้นบอกครูว่า ตนเองไม่เห็นด้วยกับครูในประเด็น...  หรือไม่เห็นด้วยกับเพื่อน ที่กล่าวว่า....  หรือลุกขึ้นสารภาพว่า ที่เรียนมา ๒ สัปดาห์นั้น ตนไม่รู้ว่าพูดกันเรื่องอะไร

การที่ นศ. จะกล่าวคำข้างบนได้ นศ. ต้องคิด  และต้องหาวิธีพูดให้สุภาพ  เหล่านี้คือส่วนหนึ่งของการเรียนรู้อย่างเอาจริงเอาจัง

มีอยู่ตอนหนึ่ง ที่ผู้เขียนบอกว่า การเรียนรู้แบบบูรณาการถูกตำหนิ  ว่าเป็นการเรียนรู้ที่มั่ว (เขาใช้คำว่า messy  อยู่ตอนต้นบทที่ ๒)  ซึ่งเป็นความจริงหากมองจากมุมที่เราคุ้นเคยกับการเรียนทีละรายวิชา  แต่หากมองตัวอย่างจริงในบ้านเรา ที่กลุ่มโรงเรียนกระแสทางเลือก เช่นโรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา โรงเรียนเพลินพัฒนาเป็นต้น  จะเห็นว่าผลการเรียนรู้ของนักเรียนดีกว่า  ที่สำคัญคือเป็นคนเต็มคนกว่า  แต่ครูต้องเปลี่ยนพฤติกรรม จากสอนไปเป็น “คุณอำนวย” หรือโค้ช

ในที่สุดแล้ว การเรียนรู้เป็นวิถีชีวิต เป็นกระบวนการเพื่อการดำรงชีวิต  ซึ่งในยุคปัจจุบันต้องเน้นการเรียนรู้เพื่อการดำรงชีวิตร่วมกัน  ทำให้มองว่า การเรียนรู้มีมิติด้านคุณธรรม (หัวใจ) อยู่ด้วย

 

วิจารณ์ พานิช

๑๘ ม.ค. ๕๖

คัดลอกจาก http://www.gotoknow.org/posts/533828

แก้ไขล่าสุด ใน วันศุกร์ที่ 02 สิงหาคม 2013 เวลา 10:18 น.
 

ศาสตราใหม่สำหรับครูเพื่อศิษย์ ทักษะสำหรับศตวรรษที่ ๒๑

พิมพ์ PDF

ครูเพื่อศิษย์ต้องเปลี่ยนแปลงตัวเองโดยสิ้นเชิง เพื่อให้เป็น "ครูเพื่อศิษย์ในศตวรรษที่ ๒๑" ไม่ใช่ครูเพื่อศิษย์ในศตวรรษที่ ๒๐ หรือศตวรรษที่ ๑๙ ที่เตรียมคนออกไปทำงานในสายพานการผลิตในยุคอุตสาหกรรม   การศึกษาในศตวรรษที่ ๒๑ ต้องเตรียมคนออกไปเป็น knowledge worker และเป็น learning person   ไม่ว่าจะประกอบสัมมาชีพใด มนุษย์ในศตวรรษที่ ๒๑ ต้องเป็น learning person และเป็น knowledge worker   ชาวนาหรือเกษตรกร ก็ต้องเป็น learning person และเป็น knowledge worker    ดังนั้น ทักษะสำคัญที่สุดของศตวรรษที่ ๒๑ จึงเป็นทักษะของการเรียนรู้ หรือ learning skills

ที่การศึกษาในศตวรรษที่ ๒๑ จำเป็นต้องเป็นเช่นนี้ก็เพราะต้องเตรียมคนไปเผชิญการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว รุนแรง และพลิกผัน คาดไม่ถึง   คนยุคใหม่จึงต้องมีทักษะสูงในการเรียนรู้และปรับตัว

ครูเพื่อศิษย์จึงต้องพัฒนาตนเองให้มี learning skills  และในขณะเดียวกันมีทักษะในการทำหน้าที่ครูในศตวรรษที่ ๒๑ ซึ่งไม่เหมือนการทำหน้าที่ครูในศตวรรษที่ ๒๐ หรือ ๑๙

ทักษะของคนในศตวรรษที่ ๒๑ ที่คนทุกคนต้องเรียนรู้ตั้งแต่ชั้นอนุบาล ไปจนถึงมหาวิทยาลัย และตลอดชีวิต คือ 3R x 7C


3R ได้แก่ Reading, 'Riting และ 'Rithmetics
7C ได้แก่ Critical thinking & problem solving
Creativity & innovation
Cross-cultural understanding
Collaboration, teamwork & leadership
Communications, information & media literacy
Computing & ICT literacy
Career & learning skills


การเรียนรู้ในศตวรรษที่ ๒๑ คือการเรียนรู้ 3R x 7C

ครูเพื่อศิษย์เอง ต้องเรียนรู้ 3R x 7C   เรียนรู้ตลอดชีวิต แม้เกษียณอายุจากการเป็นครูประจำการไปแล้ว เพราะเป็นการเรียนรู้เพื่อชีวิตของตนเอง   ระหว่างเป็นครูประจำการก็เรียนรู้สำหรับเป็นครูเพื่อศิษย์ และเพื่อการดำรงชีวิตของตนเอง

ดู 21st Century Learning Framework ได้ที่นี่

ครูเพื่อศิษย์ต้องฝึกฝนตนเองให้มีทักษะในการเป็นโค้ช และเป็น facilitator ในการเรียนรู้แบบ PBL (Project-Based Learning) ของศิษย์   ผมจะเขียนรายละเอียดเรื่อง PBL ในบันทึกต่อๆ ไป

ย้ำว่าครูต้องเลิกเป็น “ผู้สอน” ผันตัวเองมาเป็นโค้ช หรือ facilitator ของการเรียนของศิษย์   ที่ส่วนใหญ่เรียนแบบ PBL  คือโรงเรียนในศตวรรษที่ ๒๑ ต้องเลิกเน้นสอน หันมาเน้นเรียน   เน้นทั้งการเรียนของศิษย์ และของครู

ครูจะต้องปรับตัวมาก  ซึ่งเป็นเรื่องยาก  จึงต้องมีตัวช่วย คือ PLC (Professional Learning Community)   ซึ่งก็คือการรวมตัวกันของครูประจำการเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสกการณ์การทำหน้าที่ครูนั่นเอง   และ มสส. กำลังจะจัด PLC ไทย เรียกว่า ชร.คศ. (ชุมชนเรียนรู้ครูเพื่อศิษย์)   หรือในภาษา KM เรียกว่า CoP (Community of Practice) ของครูเพื่อศิษย์นั่นเอง

ชร.คศ. คือตัวช่วยการเรียนรู้ของครู   ให้การปรับตัวของครู เปลี่ยนชุดความรู้และชุดทักษะของครู ไม่เป็นเรื่องยาก แต่จะสนุกเสียด้วยซ้ำ

เรื่อง PLC และ ชร.คศ. นี้ ผมจะเขียนโดยพิสดารในบันทึกต่อๆ ไป

 

วิจารณ์ พานิช
๑๕ ธ.ค. ๕๓
คัดลอกจาก http://www.gotoknow.org/posts/415058

 

นายกรัฐมนตรีเพิ่งปราศรัยทางทีวี ชักชวนทุกฝ่ายหันมาคุยกันเพื่อแก้ปัญหาที่จะเกิดขึ้น

พิมพ์ PDF

ท่านนายกรัฐมนตรี นางสาว ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เพิ่งออกทีวี (ช่วง 20.30 น วันที่ 2 สิงหาคม 2556) ชักชวนให้ผู้เกี่ยวข้องตัวแทนของกลุ่มต่างๆมาร่วมระดมความคิดเห็นเพื่อวางรูปแบบของการปกครองระบอบรัฐธรรมนูญที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข อาทิตย์หน้าจะเชิญมาประชุมร่วมกัน ผมเห็นด้วยกับเหตุผลและการนำเสนอของท่านนายก ที่เหลือก็อยู่ที่การดำเนินการตามที่ท่านพูด ท่านจะเชิญใครบ้าง การดำเนินการประชุมที่โปร่งใส และมีผู้ดำเนินรายการที่เป็นกลางและมีความสามารถในการควบคุม การประชุมควรจะมีการถ่ายทอดสดและ เปิดโอกาสให้ประชาชนในทุกกลุ่มมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง
ม.ล.ชาญโชติ ชมพูนุท
2 สิงหาคม 2556

แก้ไขล่าสุด ใน วันศุกร์ที่ 02 สิงหาคม 2013 เวลา 23:12 น.
 


หน้า 458 จาก 558
Home

About Us

ศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ (ศบม.) เป็นองค์กรที่พัฒนาและจัดทำโครงการเพื่อทำประโยชน์ให้สังคม เป็นองค์กรสนับสนุนการดำเนินงานของภาครัฐ ช่วยแก้ปัญหาผู้ประกอบการภาคธุรกิจบริการที่ขาดแคลนบุคลากรที่มีมาตรฐานในการให้บริการ
อ่านเพิ่มเติม

มูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ ์

 iHDC Profile
บัญชีรายชื่อกรรมการ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียน การเปลี่ยนแปลงกรรมการของมูลนิธิ
เอกสารประชาสัมพันธ์ โครงการ HMTC.pdf
เอกสารแนะนำโครงการ HMTC 1.pdf
เอกสารโครงการ HMTC 2 คุณสมบัติผู้เข้าร่วมโครงการ.pdf
iHDC นิติบุคคล.pdf
iHDC บุคคล.pdf
iHDC บุคคลเครือข่าย.pdf
รายงานการประชุม 6 มีนาคม 2560.pdf
ข้อบังคับมูลนิธิ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียนจัดตั้งมูลนิธิ
Ihdc-Profile and Roadmap 2016-2019 Mar 23 2560.pdf
รายงานการประชุมใหญ่คณะกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ 2559.pdf
คำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ สาขาวิชาชีพ.pdf
รายงานการประชุมใหญ่วันที่ 18 ธ ค 2558 v 3.pdf
รายงานการประชุม วันที่ 24 ธันวาคม 2557 updated 4 มีนาคม 2558.pdf
iHDC-invitation Letter.doc
iHDC-Member Form Thai.doc
iHDC-Member Form English.doc
รายงานการประชุมกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ วันที่ 15 มกราคม 2556 ฉบับสมบูรณ์


thaibetter
พัฒนาประเทศไทยแบบทวีคูณ และยั่งยืน ( ททค )

Login


แบบสำรวจ

สถิติเว็บไซด์

สมาชิก : 5606
Content : 3049
เว็บลิงก์ : 26
จำนวนครั้งเปิดดูบทความ : 8600918

facebook

Twitter


บทความเก่า