Thaiihdc.org

  • เพิ่มขนาดตัวอักษร
  • ขนาดตัวอักษรปกติ
  • สดขนาดตัวอักษร
Thaiihdc.org

การเรียนรู้เกิดขึ้นอย่างไร : ๗. ยุทธศาสตร์สร้างแรงจูงใจ

พิมพ์ PDF

บันทึก ๑๖ ตอนนี้ มาจากการตีความหนังสือ How Learning Works : Seven Research-Based Principles for Smart Teachingซึ่งผมเชื่อว่า ครู/อาจารย์ จะได้ประโยชน์มาก หากเข้าใจหลักการตามที่เสนอในหนังสือเล่มนี้  ตัวผมเองยังสนใจเพื่อเอามาใช้ปรับปรุงการเรียนรู้ของตนเองด้วย

ตอนที่ ๗ นี้ มาจากบทที่ 3  What Factors Motivate Students to Learn?

บันทึกตอนที่ ๖อธิบายหลักการเรื่องทฤษฎีว่าด้วยแรงจูงใจในการเรียน และยุทธศาสตร์ในการกำหนดคุณค่า และตอนที่๗ว่าด้วยเรื่องยุทธศาสตร์ทำให้ นศ. มีความมั่นใจว่าจะเรียนได้สำเร็จและยุทธศาสตร์ในการจัดการปฏิสัมพันธ์ระหว่างคุณค่าและความมั่นใจ

ในบันทึกตอนที่ ๖ ได้กล่าวถึงยุทธศาสตร์สร้างแรงจูงใจในการเรียนยุทธศาสตร์แรกไปแล้ว  คือเรื่องการจัดการคุณค่า (Values)  ในตอนที่ ๗ จะกล่าวถึงยุทธศาสตร์ที่ ๒  การจัดการความมั่นใจว่าจะเรียนได้สำเร็จ  และยุทธศาสตร์ที่ ๓  การจัดการปฏิสัมพันธ์ระหว่างคุณค่าและความมั่นใจ


ยุทธศาสตร์ที่ช่วยให้ นศ. มีความมั่นใจว่าจะเรียนได้สำเร็จ

 


ทำให้วัตถุประสงค์ การประเมิน และกระบวนการเรียนรู้สอดคล้องไปในทางเดียวกัน

เมื่อ นศ. เข้าใจวัตถุประสงค์ของการเรียน และเกณฑ์ในการประเมิน อย่างถ่องแท้  และในการเรียน นศ. ก็ได้ทำแบบฝึกหัดและการป้อนกลับ (feedback) อย่างสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของการเรียน และเกณฑ์การประเมิน  นศ. ก็จะเกิดความมั่นใจในการเรียน  และเกิดแรงจูงใจต่อการเรียน

 


มอบหมายงานที่มีระดับความท้าทายเหมาะสม

งานที่มีระดับความท้าทายเหมาะสมไม่เหมือนกัน สำหรับ นศ. ต่างคน  ขึ้นกับพื้นความรู้เดิม และขึ้นกับเป้าหมายที่ นศ. แต่ละคนตั้งไว้  ครูต้องหาทางทำความรู้จักพื้นความรู้ และเป้าหมาย ของ นศ. ทั้งชั้น และของ นศ. เป็นรายคน  สำหรับนำมาใช้ในการมอบหมายงาน ให้ได้ระดับที่เหมาะสม

การทำความรู้จักพื้นความรู้และเป้าหมายของ นศ. ทำได้ด้วยกิจกรรมต่อไปนี้  (๑) การทดสอบและกรอกแบบสอบถามตอนต้นเทอม  (๒)​ ตรวจสอบ course syllabus ของวิชาและผลการเรียน ที่เรียนในเทอมก่อน  (๓) อาจขอแผนการสอนของอาจารย์ที่สอนในเทอมก่อนมาดู  (๔) คุยกับอาจารย์ที่สอนในเทอมก่อน สอบถามเป้าหมาย ความคาดหวัง และผลการเรียนของ นศ.  (๕) อาจขอไปนั่งสังเกตการณ์ในห้องเรียนของ นศ. ที่ในเทอมหน้าจะมาเรียนกับตน

 


จัดให้มีความสำเร็จในเบื้องต้น

ยุทธศาสตร์ “จัดให้มีความสำเร็จในเบื้องต้น”  สำคัญมากสำหรับวิชาที่ นศ. เล่าลือกันว่าเรียนยาก  และเป็นวิชาบังคับที่ต้องเรียนให้ผ่าน  การมอบหมายงานที่ค่อนข้างง่ายในเบื้องต้นเพื่อเรียกกำลังใจของ นศ.  และเพื่อเป็นเครื่องซักซ้อมวิธีเรียน  มีความสำคัญอย่างยิ่ง

ตัวอย่างเช่น เริ่มต้นโดยมอบโครงงานเล็กๆ ที่ใช้เวลาสั้นๆ ทำ ก่อน โดยแบ่งคะแนนมาให้ไม่มากนัก  เมื่อ นศ. ได้เกรดดี และเกิดความมั่นใจในการเรียน จึงมอบโครงงานขนาดใหญ่ตามปกติ


ระบุความคาดหมายของครูอย่างชัดเจน

ครูพึงบอก นศ. อย่างชัดเจน ว่าการเรียนวิชานั้นให้ผ่าน นศ. ต้องทำอะไรได้บ้าง  ขั้นตอนการเรียนรู้เป็นอย่างไรบ้าง  ปัญหาหรืออุปสรรคที่ นศ.​อาจเผชิญคืออะไรบ้าง  โดยครูพร้อมเสมอที่จะช่วยเหลือให้ นศ. ฟันฝ่าอุปสรรคไปสู่ความสำเร็จให้ได้  บอกวิธีติดต่อขอความช่วยเหลือ   โดยเป้าหมายคือ ช่วยให้ นศ. มี positive outcome expectancy  คือเชื่อมั่นว่าตนสู้ได้ บรรลุผลสำเร็จในการเรียนวิชานี้ได้

 


แจ้ง rubrics การประเมิน

นี่คือหลัก “ข้อสอบไม่เป็นความลับ” สำหรับการเรียนรู้ในศตวรรษที่ ๒๑  เมื่อ นศ. ได้รับรู้ว่าแนวทางสอบจะเป็นอย่างไร  นศ. ก็ชัดเจนว่าตนต้องเรียนให้รู้อะไร ทำอะไรได้  ในระดับความซับซ้อนแค่ไหน  ความเชื่อมั่นว่าตนจะเรียนได้สำเร็จก็จะเกิดตามมา

 


ให้การป้อนกลับอย่างมีเป้าหมาย

การป้อนกลับ (feedback) เป็นการให้ข้อมูลเกี่ยวกับความก้าวหน้าสู่เป้าหมาย  และจะมีผลต่อแรงจูงใจในการเรียนได้เป็นอย่างดี   การป้อนกลับที่สร้างสรรค์ ช่วยบอกจุดแข็ง จุดอ่อน และแนะวิธีเพิ่มจุดแข็งในอนาคต  จะมีรายละเอียดในหนังสือบทที่ ๕

 


ยุติธรรม

ครูต้องแสดงความยุติธรรมต่อ นศ. อย่างเท่าเทียมกัน  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อการให้คะแนนทำโดยคนหลายคน  หาก นศ. รู้สึกว่าเกณฑ์ในการให้คะแนนแก่ตนแตกต่างจากเกณฑ์ที่ใช้กับคนอื่น  นศ. อาจถอดใจ

 


ช่วยให้ นศ. เข้าใจถูกต้องเกี่ยวกับความสำเร็จและความล้มเหลว

ความเข้าใจผิด ของ นศ. เกี่ยวกับปัจจัยที่นำไปสู่ความสำเร็จและความล้มเหลวในการเรียน มีส่วนลดทอนความเชื่อมั่นในตนเองด้านการเรียน  ครูพึงช่วยแก้ความเข้าใจผิดนั้น  เช่น เข้าใจว่าตนจะเรียนผ่านวิชานั้นได้ยาก เพราะตนไม่เก่งเรื่องตัวเลข  ไม่เก่งด้านรายละเอียด  หรือหัวไม่ดี เป็นต้น

ครูพึงช่วยให้ นศ. เข้าใจถูกต้อง ว่า ปัจจัยของความสำเร็จ ขึ้นกับการมีวิธีเรียนที่ถูกต้อง  ความขยันและรู้จักจัดการเวลา

 


ระบุยุทธศาสตร์การเรียนที่ได้ผล

ในกรณีของ นศ. ที่ผลการเรียนล้มเหลว  ครูต้องพูดคุยเรื่องวิธีเรียน หรือพฤติกรรมการเรียน  เพื่อชี้ให้เห็นว่าวิธีเรียนที่ตรงกันข้ามกับวิธีเรียนที่ไม่ดี ที่ทำให้การเรียนล้มเหลว เป็นอย่างไร  เพื่อชี้ให้เห็น และมั่นใจ ว่า นศ. สามารถบรรลุผลสำเร็จในการเรียนวิชานั้นได้ หากเปลี่ยนวิธีเรียน

 


ยุทธศาสตร์การจัดการคุณค่าและความมั่นใจ


ให้ความยืดหยุ่นและการควบคุม

การเปิดโอกาสหรือความยืดหยุ่น ให้ นศ. มีโอกาสเลือกกิจกรรม เลือกเรียนบางส่วนของเนื้อหาในรายวิชา  เลือกเรื่องสำหรับทำโครงงาน ฯลฯ  ผ่านการหารือกับครู  จะช่วยเพิ่มความเข้าใจคุณค่าของแต่ละขั้นตอนการเรียน  และเพิ่มความมั่นใจว่าจะเรียนได้สำเร็จ  ความยืดหยุ่นอย่างถูกต้อง จึงเป็นการควบคุมตัวพฤติกรรมการเรียน  และส่งผลต่อความสำเร็จในการเรียนในที่สุด


ให้โอกาส นศ. สะท้อนความคิด

การสะท้อนความคิด (reflection) ช่วยให้เกิดการเรียนรู้อย่างมีความหมาย  โดยครูช่วยตั้งคำถาม “นศ. ได้เรียนรู้อะไรบ้าง จากการทำงานชิ้นนี้”  จะทำให้ นศ. มองเห็นคุณค่าของบทเรียน

คำถามอื่นๆ ที่ช่วย นศ. ได้แก่ “ส่วนที่คุณค่าที่สุดของโครงงานนี้คืออะไร”  “นศ. เตรียมตัวอย่างไรบ้าง เพื่อการทำโครงงานนี้/การสอบ”  “นศ. คิดว่าตนต้องการเรียนรู้ทักษะอะไรเพิ่มเติม เพื่อให้การเรียนก้าวหน้าไปด้วยดี”  “ในโอกาสข้างหน้า นศ. จะเปลี่ยนแปลงิธีทำงานที่ได้รับมอบหมายอย่างไรบ้าง”

จะเห็นว่า หน้าที่สำคัญของครูในกรณีนี้คือ ทำหน้าที่ตั้งคำถามแบบ Appreciative Inquiry  เพื่อกระตุ้นให้ นศ. เห็นคุณค่าของวิชาที่เรียน และมั่นใจว่าหากใช้ความพยายาม จะเรียนผ่านได้


สรุป

ในบันทึกตอนที่ ๖ และ ๗ ได้กล่าวถึงความสำคัญของแรงจูงใจ (motivation) ต่อการเรียนรู้  และได้นำเสนอวิธีมองแรงจูงใจ ผ่านแว่นหลักการเป้าหมาย (goals) จุดสำคัญที่สุดคือ นศ. มีเป้าหมายในขณะนั้นไม่ตรงกับของครู

การให้คุณค่าต่อเป้าหมาย และความเชื่อมั่นว่าจะเรียนได้สำเร็จ มีผลต่อแรงจูงใจในการเรียน

การให้คุณค่าต่อเป้าหมาย  ความเชื่อมั่นว่าจะเรียนได้สำเร็จ  และความเชื่อมั่นต่อระบบช่วยเหลือของสถาบัน  มีปฏิสัมพันธ์กัน และส่งผลต่อพฤติกรรมการเรียนของ นศ.

ความเข้าใจชุดนี้ของครู  จะช่วยให้ครูจัดรูปแบบการเรียนรู้ที่ตนจัดให้แก่ นศ. ได้ดีขึ้น

 

วิจารณ์ พานิช

๒๙  ธ.ค. ๕๕

คัดลอกมาจาก http://www.gotoknow.org/posts/518930

 

ชีวิตที่พอเพียง : ๑๗๘๘. การจัดการ plagiarism

พิมพ์ PDF

ผมเคยเขียนเรื่อง plagiarism ไว้ ที่นี่ บัดนี้ได้โอกาส AAR การกำกับดูแลหลังเกิด plagiarism แล้วในบริบทสังคมวัฒนธรรมไทย  ผมบอกตัวเองว่า “เจอกับตัวเองแล้วจะรู้สึก”

 

เจอในที่นี้ไม่ได้หมายถึงผมโดนกล่าวหานะครับ  ผมไม่มีประสบการณ์นั้น  ที่จะเล่าเป็นประสบการณ์การดูแลความเป็นธรรมในจัดการพฤติกรรมที่ถูกต้องเหมาะสมด้านจริยธรรมของคนมหาวิทยาลัย

ที่จะเล่านี้เป็นกรณีการลงโทษอาจารย์ที่ถูกกล่าวหาว่า อ้างความเป็นเจ้าของผลงานโดยที่ตนเองไม่ได้เป็นเจ้าของ  และเจ้าตัวก็สารภาพ  โดยที่ข้อบังคับด้านวินัยบุคคลากร บอกว่าความผิดนี้มีสถานเดียว คือผิดวินัยอย่างร้ายแรง  โทษอย่างต่ำคือให้ออกจากงาน

เมื่อเจ้าตัวอุทธรณ์ ว่าโดนลงโทษรุนแรงเกินไป  และกลไกการดูแลการร้องทุกข์มีความเห็นเป็นสองฝ่าย หาข้อยุติไม่ได้  เรื่องเข้าสภามหาวิทยาลัย ผมก็ได้เรียนรู้เอกลักษณ์คนไทย ว่าเห็นอกเห็นใจคนเป็นพื้นฐาน  ไม่ต้องการลงโทษเด็ดขาดรุนแรง  ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านั้น สภามหาวิทยาลัยเคยมีมติผ่านข้อบังคับว่า  หากสอบสวนได้เป็นสัจ ว่ามีการละเมิดคุณธรรมด้านการโจรกรรมทางปัญญา  โทษมีสถานเดียว คือผิดวินัยอย่างร้ายแรง

ผมจึงได้เรียนรู้ธรรมชาติของคนไทย  ว่าการจัดการ plagiarism ไม่มีวันเหมือนการจัดการของโลกตะวันตกได้  เพราะเรามีความเมตตา และเห็นอกเห็นใจคน สูง  ผมอยากจะบอกว่า ผมรู้สึกว่าเราไม่ยึดถือมาตรฐานจริยธรรมมากนัก  มีคนกล่าวว่า การที่ลงโทษคนนี้รุนแรง  ในขณะที่ยังมีคนทำผิดแบบนี้ แต่เรายังไม่ได้ลงโทษ เพราะไม่มีคนกล่าวโทษ  เป็นการดำเนินการแบบสองมาตรฐาน  ทำให้ผมเห็นว่า ควรมีการวิจัยเพื่อทำความเข้าใจวิธีการจัดการการทำผิดเชิงจริยธรรมในสังคมไทย  เพื่อจรรโลงสังคม ให้รังเกียจการทำผิดจริยธรรม   เพื่อป้องปรามการทำผิดเชิงจริยธรรม

เรายังทำความเข้าใจเรื่องการจัดการความผิดฐานโจรกรรมวิชาการ ในบริบทไทย น้อยเกินไป

 

 

 

วิจารณ์ พานิช

 

๒๑ ก.พ. ๕๖

คัดลอกมาจาก http://www.gotoknow.org/posts/532593

 

ช่วยกันเปิดโอกาสให้ครูได้ทำงานที่ทรงคุณค่าต่อศิษย์

พิมพ์ PDF

งานของครูที่ทรงคุณค่าต่อศิษย์ คืองานเอื้ออำนวย (facilitate) ให้ศิษย์เรียนรู้แบบ“รู้จริง” (mastery learning) ไม่ใช่เรียนรู้แบบผิวเผินครึ่งๆกลางๆ หรือเรียนรู้ผิดๆอย่างที่เห็นดาษดื่นในปัจจุบันทั่วโลก

 

 

เวลานี้ วงการศึกษาไทยกระแสหลักไม่ได้เปิดโอกาสให้ครูได้ใช้ชีวิตให้เกิดคุณค่าต่อศิษย์อย่างเต็มที่  เพราะยังใช้ครูถ่ายทอดความรู้แก่ศิษย์  คือยังเน้นสอน  เน้นสอนแบบถ่ายทอดความรู้  ซึ่งเป็นงานที่ง่ายแต่มีคุณค่าน้อยต่อศิษย์

งานของครูที่ทรงคุณค่าต่อศิษย์  คืองานเอื้ออำนวย (facilitate) ให้ศิษย์เรียนรู้แบบ“รู้จริง” (mastery learning)  ไม่ใช่เรียนรู้แบบผิวเผินครึ่งๆกลางๆ  หรือเรียนรู้ผิดๆอย่างที่เห็นดาษดื่นในปัจจุบันทั่วโลก

การเรียนรู้แบบ“รู้จริง”เกิดขึ้นจากการลงมือทำหรือปฏิบัติด้วยตนเอง (learning by doing)  ไม่ใช่จากการรับถ่ายทอดความรู้สำเร็จรูปจากครูหรือจากตำรา

บทบาทของครูที่ทรงคุณค่าต่อศิษย์ จึงไม่ใช่บทบาท “ผู้สอน”  แต่เป็นบทบาทโค้ชหรือครูฝึก

ความรู้หลักการสำคัญ ๗ ประการสำหรับครูฝึกอ่านได้ที่นี่

 

วิจารณ์  พานิช

๒๑ มี.ค. ๕๖

คัดลอกจาก http://www.gotoknow.org/posts/532595

 

การเรียนรู้เกิดขึ้นอย่างไร :๘. นร. พัฒนาการเรียนให้รู้จริง(Mastery Learning) ได้อย่างไร

พิมพ์ PDF

บันทึก ๑๖ ตอนนี้ มาจากการตีความหนังสือ How Learning Works : Seven Research-Based Principles for Smart Teachingซึ่งผมเชื่อว่า ครู/อาจารย์ จะได้ประโยชน์มาก หากเข้าใจหลักการตามที่เสนอในหนังสือเล่มนี้  ตัวผมเองยังสนใจเพื่อเอามาใช้ปรับปรุงการเรียนรู้ของตนเองด้วย

ตอนที่ ๘ นี้ มาจากบทที่ 4  How Do Students Develop Mastery?

บันทึกตอนที่ ๘อธิบายหลักการเรื่องหลักการของการเรียนให้รู้จริง(Mastery)และตอนที่๙ว่าด้วยเรื่องเทคนิคที่ครูช่วยเอื้ออำนวยให้ นศ. เกิดการเรียนรู้ในระดับรู้จริง

สาระสำคัญในหนังสือบทที่ ๔  และในบันทึกตอนที่ ๘ และ ๙ ตรงกับหลักการ การเรียนรู้ในศตวรรษที่ ๒๑  ว่าการเรียนรู้ต้องไม่หยุดอยู่แค่ทราบเนื้อหาหรือทฤษฎี  ต้องสามารถนำเอาทฤษฎีไปประยุกต์ใช้ได้  การประยุกต์ใช้เป็นในระดับช่ำชอง คือไม่ต้องคิด  เรียกว่าบรรลุผลการเรียนรู้ระดับ mastery

นำไปสู่หลักการว่า การศึกษาสมัยใหม่ ต้องเน้นการฝึกประยุกต์ใช้ความรู้ ... จนช่ำชอง  บันทึก ๒ ตอนนี้ เป็นเรื่องการฝึกใช้ความรู้  ตอนที่ ๘ เน้นทฤษฎีของการฝึกใช้ความรู้ เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ระดับรู้จริง (masrery)  และตอนที่ ๙ เน้นเทคนิค


การเรียนรู้สู่ระดับรู้จริงคืออะไร

หนังสือบทนี้เริ่มด้วยเรื่องราวความผิดหวังของศาสตราจารย์ ๒ คนในต่างเรื่อง ต่างวิชา  แต่สะท้อนความเขลาหรือไม่เข้าใจขั้นตอนการเรียนรู้ของ นศ.  ว่า นศ. ต้องการการฝึกฝนหลากหลายขั้นตอน หลากหลายองค์ประกอบ เพื่อเปลี่ยนสภาพจากรู้เพียงทฤษฎี ไปสู่สภาพการเรียนรู้ในระดับรู้จริง (mastery)

ผมมีความลำบากใจ ต่อการใช้คำภาษาไทย ที่ถ่ายทอดความหมายของคำ mastery  เดิมคิดจะใช้ “เรียนรู้ระดับเชี่ยวชาญ”  “เรียนให้ชำนาญ”  “เรียนให้รู้อย่างลึกซึ้ง”แต่ในที่สุดก็ตัดสินใจใช้คำว่า “เรียนให้รู้จริง”  ซึ่งตีความด้วยหลักการเรียนรู้ในศตวรรษที่ ๒๑ ได้ว่า  เป็นการเรียนรู้ในระดับประยุกต์ใช้ความรู้ได้  คือมีผลลัพธ์ที่ทักษะ ไม่ใช่แต่บอกสาระได้


องค์ประกอบของการเรียนรู้ระดับรู้จริง

การเรียนรู้ระดับรู้จริงมีองค์ประกอบ ๓ ส่วน คือ (๑) เรียนรู้ทักษะองค์ประกอบย่อยของเรื่องนั้น  (๒) เรียนรู้วิธีบูรณาการทักษะองค์ประกอบย่อยเข้าด้วยกัน  (๓) เรียนรู้การบูรณาการให้ได้รูปแบบที่เหมาะสมต่อกาละเทศะ  ดังแสดงในรูป

 

 

คนเป็นครู/อาจารย์ มักทึกทักเอาเองด้วยความเข้าใจผิด ว่าเมื่อ นศ. ได้เรียนสาระและฝึกทักษะที่เกี่ยวข้องครบแล้ว นศ. จะปฏิบัติหรือดำเนินการเรื่องนั้นๆ ได้  ย้ำว่า นี่คือความเข้าใจผิด  เพราะ นศ. ยังเพิ่งได้เรียนรู้หรือฝึกทักษะในขั้นตอนที่ ๑ ใน ๓ ขั้นตอนของการเรียนให้รู้จริง  ดังรูปข้างบน

ครูยังต้องช่วยจัดมอบหมายงานงาน ให้ นศ. ได้ฝึกฝนการเรียนรู้ในขั้นตอนที่ ๒ และ ๓ ต่อไป เพื่อให้ นศ. ได้บรรลุสู่ การรู้จริง (mastery)


ทักษะความเชี่ยวชาญ (Expertise)

ทักษะความเชี่ยวชาญในเรื่องนั้นๆ ของครู ไม่จำเป็นจะก่อผลดีต่อการทำหน้าที่ครูเสมอไป  เพราะมันมักจะทำให้เกิด “จุดบอดของผู้เชี่ยวชาญ” (Expert Blind Spot)  คือทำให้ครูมองข้ามความเป็นผู้ฝึกใหม่ของ นศ. ที่จะต้องฝึกฝนทักษะต่างๆ อย่างเป็นขั้นตอน  ยังทำงานข้ามขั้นตอนอย่างครู ที่เป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องนั้น ไม่ได้

ขั้นตอนสู่ความเชี่ยวชาญ หรือทักษะรู้จริง แสดงในภาพข้างล่าง  ซึ่งเป็นภาพความสัมพันธ์ระหว่าง ๒ ปัจจัย คือ ความรู้ตัว-ไม่รู้ตัว  กับสมรรถนะ ทำไม่ได้ - ทำได้

 

 

อธิบายว่า ขั้นตอนพัฒนาจาก “ผู้ไม่รู้” ไปสู่ “ผู้รู้จริง” มี ๔ ขั้นตอน  เริ่มจาก “ไม่รู้ว่าไม่รู้”  สู่ “รู้/ตระหนัก ว่าไม่รู้”  ไปสู่ “ทำได้ โดยต้องตั้งใจทำ”  และขั้นสูงสุดที่เรียกว่ารู้จริง คือ “ทำได้ อย่างอัตโนมัติ” คือโดยไม่ต้องตั้งใจทำหรือไม่รู้ตัว  เหมือนอย่างคนขับรถยนต์เป็น ขับรถโดยไม่ต้องกำหนดขั้นตอนในใจ

ข้อเรียนรู้สำหรับครูคือ การพัฒนาของ นศ. จากขั้นตอนที่ ๑ ไปสู่ขั้นตอนที่ ๔  ไม่ว่าในเรื่องใด ต้องการการฝึกฝนและต้องการเวลา  เพราะเป็นทักษะเชิงซ้อนที่ประกอบด้วยทักษะย่อยจำนวนมากมาย  ต้องใช้เวลาฝึก ๓ ขั้นตอนตามภาพแรกข้างบน

แต่ครูซึ่งรู้จริง ในระดับผู้ชำนาญ จะคิดข้ามขั้นตอนอย่างรวดเร็ว  ไม่ต้องบูรณาการความรู้ในขณะนั้น เพราะมี “ชุดความรู้” เป็นชุดๆ สำเร็จรูปอยู่แล้วในสมอง  ให้เลือกเอามาใช้ให้เหมาะสมตามกาละเทศะ  ซึ่งครูก็ช่ำชองเช่นเดียวกัน

ในสภาพความเป็นผู้ชำนาญ ที่ทำกิจกรรมข้ามขั้นตอนอย่างรวดเร็วโดยไม่รู้ตัว (อย่างเป็นอัตโนมัติ)  ครูหลายคนจึงลืมไปว่า นศ. อยู่ในต่างขั้นตอนกับตนเอง  นศ. ยังเป็นผู้ฝึกใหม่ ยังต้องคิดและทำตามขั้นตอนในรูปแรกข้างบน  และครูก็ไม่สามารถบอกขั้นตอนการคิดและทำของตนได้ เพราะมันเกิดขึ้นอย่างเป็นอัตโนมัติ ไม่ต้องคิด

ครูที่ดีจึงต้องเอาชนะ “จุดบอดของผู้เชี่ยวชาญ” และศึกษาทำความเข้าใจขั้นตอนการเรียนรู้ ๓ ขั้นตอนตามในภาพแรกข้างบน  สำหรับนำมาเอื้ออำนวยการเรียนรู้ของศิษย์ ให้ได้ฝึกฝนทักษะทั้ง ๓ ข้างบน


ทักษะองค์ประกอบย่อย (Component Skills)

นศ. ต้องมีทักษะองค์ประกอบย่อยครบถ้วน จึงจะสามารถทำงานหรือกิจกรรมที่ซับซ้อนและต้องการทักษะเหล่านั้นได้  ครูจึงต้องมีทักษะในการแตกหรือวิเคราะห์ชิ้นงาน ว่าต้องการทักษะย่อยอะไรบ้าง  และต้องทดสอบทักษะของ นศ. ว่ามีพร้อมเพียงพอแล้วหรือไม่ ก่อนจะมอบหมายงาน  หากตรวจพบว่า นศ. ยังขาดทักษะองค์ประกอบบางอย่าง ก็ควรให้เรียนเสริมเสียก่อน  เช่นในตัวอย่างแรกของบทที่ ๔ ของหนังสือ  เมื่อมอบหมายโครงงานให้ นศ. ทำคนเดียว ได้ผลดีมาก  แต่เมื่อให้ทำเป็นทีม กลับได้ผลงานที่ไม่ดี  แสดงว่า นศ. ขาดทักษะการทำงานเป็นทีม

ผมอ่านรายละเอียดในหนังสือ แล้วบอกตัวเองว่า ศาสตร์ว่าด้วยทักษะองค์ประกอบย่อย (component skills) ของแต่ละทักษะที่ซับซ้อน  เป็นเรื่องที่น่าจับทำวิจัยในบริบทไทยมาก  เป็นโจทย์วิจัยที่จะช่วยให้ นศ. มีผลการเรียนสูงขึ้น  และในขณะเดียวกัน ความรู้ว่าด้วยการจัดการเรียนรู้ในบริบทไทยก็จะเพิ่มพูนขึ้นด้วย

ดังตัวอย่างโจทย์ การฝึกทักษะย่อย ควรฝึกแยกหรือฝึกรวมกับการฝึกทักษะอื่นทั้งชุด  ซึ่งไม่มีคำตอบตายตัว  ขึ้นกับแต่ละวิชา แต่ละทักษะ และขึ้นกับพื้นความเชี่ยวชาญที่ นศ. มีอยู่แล้ว  ผลงานวิจัยบอกว่า ในบางกรณีที่ นศ. มีทักษะองค์ประกอบย่อยค่อนข้างสูงอยู่แล้ว  การฝึกแยกกลับให้ผลลบ คือทักษะกลับลดลง


การบูรณาการทักษะองค์ประกอบย่อย

การบูรณาการทักษะองค์ประกอบย่อย ทำโดยฝึกพร้อมกันหรือทำเป็นเรื่องเดียวกัน  ไม่ใช่ฝึกแยกกันแล้วคิดเอาว่าเมื่อใช้พร้อมกันจะทำอย่างไร ซึ่งจะไม่มีวันบูรณาการทักษะได้  การฝึกพร้อมกันนี้ไม่ง่าย เพราะมันกินแรงสมองมาก  ภาษาวิชาการเรียกว่า cognitive load

ในขณะที่ผู้ที่ได้ฝึกฝนจนเรียนรู้จริง (mastery) แล้ว การทำทักษะหลายๆ อย่างทั้งชุดในเวลาเดียวกันหรืออย่างคล้องจองกัน เป็นเรื่องปกติธรรมดา ไม่ยาก ไม่กินแรงสมอง  เพราะคนที่ฝึกจนรู้จริงแล้ว จะทำทักษะเหล่านั้นได้อย่างอัตโนมัติ ไม่กินแรงสมอง

ดังนั้น ความสำคัญจึงอยู่ที่การฝึกซ้อม หรือการทำแบบฝึกหัด  และครูที่เก่งจะเข้าใจความยากลำบากของมือใหม่อย่างศิษย์  และนี่แหละที่เป็นคุณค่าระดับสูงสุดของครูในศตวรรษที่ ๒๑ ... เป็นครูฝึกให้แก่ศิษย์  ให้ศิษย์ฟันฝ่า cognitive loadผ่านช่วงมือใหม่ ไปสู่มีชำนาญหรือรู้จริงได้

แต่ผลการวิจัยชี้ว่า ยังมีการทำแบบฝึกหัด ที่ทำโจทย์ได้ถูกต้อง แต่ไม่ได้เรียน  เพราะนักเรียนมีแรงสมองน้อย เอาไปทำโจทย์ก็หมดแรงแล้ว  ไม่มีแรงสมอง (cognitive resources) เหลือสำหรับการเรียนที่แท้จริง  แก้ได้โดยเครื่องมือที่เรียกว่าworked-examples (ตัวอย่างเฉลยข้อสอบ) จัดแทรกไว้เป็นระยะๆ ในหมู่ข้อสอบแบบฝึกหัด  เขาบอกว่า จะช่วยให้ นศ. ศึกษาวิธีการ และเป็นการ “ชาร์จแบต” แรงสมอง   ปรากฏการณ์เช่นนี้เรียกว่า worked-example effect จะเห็นว่า ครูที่เอาใจใส่ศึกษาและทดลองใช้เครื่องมือช่วยการเรียนของศิษย์ มีเรื่องสนุกให้ทำได้มาก  และยังนำมาเป็นโจทย์วิจัยเพื่อเพิ่มความเข้าใจของตน และเพิ่มผลงานวิชาการด้านการเรียนรู้ได้อีกด้วย

เขาบอกว่าเครื่องมือลดการกินแรงสมอง (จนไม่มีแรงเรียนรู้วิธีเรียนรู้) อีกชนิดหนึ่งคือ scaffoldingซึ่งจะกล่าวถึงโดยละเอียดในหนังสือบทที่ ๗

ที่น่าสนใจยิ่งคือ หากไม่ระวัง นศ. จะหมดแรงสมองไปกับการเรียนรู้ส่วนสาระ  ไม่มีเหลือไว้เรียนรู้ส่วนที่สำคัญกว่า คือส่วนการจัดโครงสร้างความรู้/ทักษะ และส่วนเรียนวิธีเรียนรู้

และน่าสนใจยิ่งขึ้นไปอีก ที่มีผลงานวิจัยบอกว่า การลดการกินแรงสมอง (cognitive load) ไม่ใช่จะมีผลให้เกิดการเรียนรู้ที่ดี ที่รู้จริงเสมอไป  ผมสรุปง่ายๆ ว่า จะได้ผลดีต่อการเรียน หาก นศ. ลดการกินแรงสมองโดยลดความเอาใจใส่เรื่องที่ไม่เกี่ยวกับเป้าหมายการเรียน (เรื่องไร้สาระ?)  ประหยัดสมองเอาไว้เรียนเรื่องสำคัญ (อย่างที่ผมฝึกมาตลอดชีวิต)


การประยุกต์ใช้ทักษะและความรู้

ศัพท์เทคนิคทางการศึกษา สำหรับการประยุกต์ใช้ทักษะ (และความรู้ ยุทธศาสตร์ วิธีดำเนินการ และนิสัย) คือtransfer และยังมีคำว่า near transfer ซึ่งหมายถึงบริบทของการเรียนกับบริบทของการประยุกต์ใกล้เคียงหรือคล้ายคลึงกัน  และ far transfer สำหรับกรณีที่บริบทแตกต่างกันมาก ระหว่างตอนเรียน กับตอนประยุกต์

ทักษะ transfer ที่ต้องการจริงๆ คือ far transfer  คือเปลี่ยนบรรยากาศจากห้องเรียน สู่สถานที่ทำงานจริง  ผลการวิจัยบอกว่า เราไม่เข้าใจความยากลำบากของการประยุกต์ใช้ทักษะในต่างสถานการณ์เช่นนี้  และมีการปัจจัยเอื้อ และปัจจัยล้มเหลว ของการประยุกต์


ปัจจัยล้มเหลวของ นศ. ได้แก่

๑.  เรียนรู้เชื่อมโยงกับบริบทในห้องเรียนอย่างเหนียวแน่น  คือเรียนตามตำรา  ถ้าถามข้อความในตำราตอบได้  แต่ให้เอามาใช้ในสถานการณ์จริง ทำไม่ได้

๒.  เรียนรู้แบบผิวเผิน  ไม่ลึกซึ้งและเชื่อมโยงอย่างแท้จริง  คือ นศ. หยุดอยู่ที่ know what  ไม่เรียนรู้ know why  หรือเหตุผลที่ต้องทำอย่างนั้น หรือเหตุผลที่สิ่งนั้นเป็นเช่นนั้น   นั่นคือ การเรียนรู้ทฤษฎีหรือความรู้เชิงนามธรรมเกี่ยวกับกิจกรรมที่กำลังทำ จะช่วยให้ทำได้ดีขึ้น


ปัจจัยช่วยการประยุกต์ ของ นศ. ได้แก่

๑.  นศ. เรียนรู้ทฤษฎีหรือหลักการที่เป็นจริงในทุกบริบท  การประยุกต์ใช้ความรู้ในต่างบริบทก็จะทำได้ไม่ยาก   เขายกตัวอย่างผลงานวิจัยคลาสสิคที่ทำกว่า ๑๐๐ ปีมาแล้ว (Judd 1908)  โดยให้ นศ. ปาลูกศรให้ถูกเป้าใต้น้ำ ที่อยู่ลึก ๑ ฟุต  หลังจากทดลองสักครู่ ก็แยก นศ. เป็น ๒ กลุ่ม  กลุ่มแรกไปเข้าฟังทฤษฎีการหักเหของแสง  อีกกลุ่มหนึ่งไม่ได้ฟัง  แล้วให้ปาเป้าซ้ำ  ผลของกลุ่มแรกดีกว่าอย่างชัดเจน

๒.  การเปรียบเทียบอย่างเป็นระบบ  นี่ก็มาจากผลงานวิจัย  การให้ นศ. ศึกษากรณีศึกษา ๒ กรณี  โดยศึกษาเปรียบเทียบกันระหว่าง (๑) ศึกษาทีละกรณี  (๒) เปรียบเทียบกันระหว่าง ๒ กรณี โดยครูมีเกณฑ์ให้เปรียบเทียบ  ผลคือการศึกษาวิธีที่ ๒ ได้ผลการเรียนรู้ที่ลึกและเชื่อมโยงกว่ามาก

๓.  ให้บอกความเหมือนหรือความต่างของสิ่ง หรือเรื่องต่างๆ

๔.  คำชี้แนะ หรือคำใบ้ ของครู อาจช่วยให้ นศ. เชื่อมโยงเรื่องราวต่างเรื่อง/ต่างบริบท แต่ใช้หลักการเดียวกันได้


สรุป

ครูต้อง “สอนการประยุกต์” (แบบไม่สอน!)  โดยต้องช่วยให้ นศ. เรียนรู้โครงสร้างความรู้อย่างลึกซึ้ง  เรียนรู้หลักการที่อยู่เบื้องหลัง  เรียนรู้ในบริบทการประยุกต์ใช้ที่แตกต่างหลากหลาย  ช่วยให้ นศ. เชื่อมโยงความรู้และทักษะที่ตนมี เข้ากับบริบทใหม่ที่จะใช้ความรู้และทักษะนั้นได้

ข้อสรุปสำหรับผมก็คือ เมื่ออ่านหนังสือบทที่ ๔ นี้  ผมก็กระจ่างแจ้ง ว่าครูในศตวรรษที่ ๒๑ ต้องทำหน้าที่โค้ช ของการเรียนรู้ของศิษย์จริงๆ  เหมือนโค้ชฟุตบอลล์  และหนังสือบทที่ ๔ นี้ คือส่วนหนึ่งของศาสตร์สำหรับ โค้ชการเรียนรู้แห่งศตวรรษที่ ๒๑ และทำให้ผมเชื่อมากขึ้นว่า ครู/อาจารย์ ทุกคน มีโอกาสมากมายในการร่วมขยายขอบฟ้าของศาสตร์นี้

 

วิจารณ์ พานิช

๓๐ ธ.ค. ๕๕

คัดลอกมาจาก http://www.gotoknow.org/posts/519648

 

การเรียนรู้เกิดขึ้นอย่างไร : ๙. เทคนิคช่วยศิษย์ให้รู้จริง

พิมพ์ PDF

 

บันทึก ๑๖ ตอนนี้ มาจากการตีความหนังสือ How Learning Works : Seven Research-Based Principles for Smart Teachingซึ่งผมเชื่อว่า ครู/อาจารย์ จะได้ประโยชน์มาก หากเข้าใจหลักการตามที่เสนอในหนังสือเล่มนี้  ตัวผมเองยังสนใจเพื่อเอามาใช้ปรับปรุงการเรียนรู้ของตนเองด้วย

ตอนที่ ๘และ ๙ มาจากบทที่ 4  How Do Students Develop Mastery?

บันทึกตอนที่ ๘อธิบายหลักการเรื่องหลักการของการเรียนให้รู้จริง(Mastery)และตอนที่๙ว่าด้วยเรื่องเทคนิคที่ครูช่วยเอื้ออำนวยให้ นศ. เกิดการเรียนรู้ในระดับรู้จริง

สาระสำคัญในหนังสือบทที่ ๔  และในบันทึกตอนที่ ๘ และ ๙ ตรงกับหลักการ การเรียนรู้ในศตวรรษที่ ๒๑  ว่าการเรียนรู้ต้องไม่หยุดอยู่แค่ทราบเนื้อหาหรือทฤษฎี  ต้องสามารถนำเอาทฤษฎีไปประยุกต์ใช้ได้  การประยุกต์ใช้เป็นในระดับช่ำชอง คือไม่ต้องคิด  เรียกว่าบรรลุผลการเรียนรู้ระดับ mastery

นำไปสู่หลักการว่า การศึกษาสมัยใหม่ ต้องเน้นการฝึกประยุกต์ใช้ความรู้ ... จนช่ำชอง  บันทึก ๒ ตอนนี้ เป็นเรื่องการฝึกใช้ความรู้  ตอนที่ ๘ เน้นทฤษฎีของการฝึกใช้ความรู้ เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ระดับรู้จริง (masrery)  และตอนที่ ๙ เน้นเทคนิค


ยุทธศาสตร์ทำทักษะองค์ประกอบให้แจ่มแจ้ง

หลักการสำคัญ ๓ ประการ สำหรับครู คือ  (๑) ต้องแจกแจงแยกแยะงานที่ซับซ้อน ออกเป็นทักษะย่อยอย่างเป็นระบบ  สำหรับใช้วินิจฉัยว่า นศ. รู้หรือไม่รู้ส่วนใดบ้าง  และสำหรับใช้ออกแบบการเรียนรู้ให้ นศ. ได้ฝึกทักษะย่อยเหล่านี้อย่างเป็นระบบ  (๒)จัดให้ นศ. ฝึกบูรณาการทักษะองค์ประกอบจนคล่องแคล่ว  ทำได้เป็นอัตโนมัติ ไม่ต้องใช้ความพยายาม  (๓) ให้ นศ. ได้เรียนรู้กาละเทศะในการประยุกต์ใช้ทักษะเหล่านั้น


ก้าวข้าม จุดบอดของผู้เชี่ยวชาญ ของครู

ครูพึงตระหนักอยู่ตลอดเวลาว่า นศ. อยู่ในขั้นตอนการฝึก  ไม่ใช่ผู้ชำนาญอย่างครู  ครูต้องตรึกตรองอยู่เสมอว่างานหรือกิจกรรมที่ นศ. ได้รับมอบหมาย ต้องการองค์ประกอบทักษะย่อยๆ อะไรบ้าง  คอยตรวจตราว่าครูละเลยทักษะเล็กๆ บางทักษะไปหรือไม่  และหมั่นตรวจสอบว่าทักษะสำคัญที่จำเป็นต่อการทำงานนั้นให้สำเร็จมีอะไรบ้าง


หา นศ. ผู้ช่วยสอน มาช่วยแยกแยะขั้นตอนของงาน

สภาพที่ครูเป็นผู้ชำนาญในเรื่องนั้น  และคิดอยู่ในสภาพ “ทำได้ โดยไม่รู้ตัว” (Unconscious Competence)  ทำให้เป็นการยากสำหรับครู ที่จะแยกแยะชิ้นงาน ออกเป็นขั้นตอนย่อยๆ  นศ. ระดับบัณฑิตศึกษา ที่ทำหน้าที่ช่วยสอน  ยังเป็นผู้รู้ในระดับ “ทำได้ โดยต้องตั้งสติ” (Conscious Competence)  จึงน่าจะเก่งกว่าครู ในการแยกแยะขั้นตอนย่อยๆ ของกิจกรรมที่ซับซ้อน


ปรึกษาหารือกับเพื่อนครู

วิธี “ก้าวข้ามจุดบอดของผู้เชี่ยวชาญ” อีกวิธีหนึ่งทำโดยปรึกษาเพื่อนครู  ว่าเขาแยกแยะทักษะย่อย ของชิ้นงานอย่างไร  ตัวอย่างชิ้นงานอาจเป็น รายงานผลการวิจัย  การนำเสนอด้วยวาจา  หรือโครงการออกแบบ   แม้ว่าเพื่อนครูก็อาจมี “จุดบอดของผู้เชี่ยวชาญ” แบบของเขา  แต่ก็ยังสมควรที่จะแลกเปลี่ยนการแยกแยะทักษะย่อยของงานต่อกันและกัน  โดยอาจแลกเปลี่ยน ข้อกำหนดรายละเอียดของวิชา  ชิ้นงานสำหรับ นศ.  และ rubrics สำหรับทดสอบผลการเรียน เป็นต้น

ในข้อนี้ ผมมีความเห็นว่า หากครูรวมตัวกันเป็น “ชุมชนการเรียนรู้” (CoP – Community of Practice) ของครู หรือ PLC (Professional Learning Community)  ก็จะช่วยกันปิดจุดบอดซึ่งกันและกันได้


แสวงหาความช่วยเหลือจากคนนอกสาขาวิชาการของตน

คนนอกสาขาวิชา น่าจะมี “จุดบอดของผู้เชี่ยวชาญ” คนละจุดหรือคนละแบบ  ดังนั้น หากมีการแลกเปลี่ยน และศึกษาเอกสาร ข้อกำหนดรายละเอียดของวิชา  ชิ้นงานสำหรับ นศ.  และ rubrics สำหรับทดสอบผลการเรียน  ของกันและกัน  ก็อาจช่วยให้เห็นประเด็นที่ตนละเลยไป


หาวัสดุด้านการศึกษา

ทักษะองค์ประกอบหลายประการ ที่เป็นส่วนหนึ่งของการเรียนสาขาวิชาอื่นๆ ด้วย  จึงมีเอกสาร หรือวารสาร ที่เสนอวิธีแยกแยะทักษะองค์ประกอบ  ที่ครูนำมาใช้ศึกษาอ้างอิงได้

ผมขอเพิ่มเติมว่า หากค้นด้วย Google ด้วยคำว่า “component skills”  จะพบตัวอย่างของการแยกแยะ ทักษะองค์ประกอบของกิจกรรมที่หลากหลาย


ให้ นศ. เอาใจใส่งานที่มีความสำคัญ

ความเป็นจริงของชีวิตของ นศ. ก็คือ มีงานหรือกิจกรรมมากมายให้ทำ  ครูจึงต้องช่วยแนะนำให้ นศ. รู้จักเลือกทำสิ่งที่สำคัญ  ปล่อยเรื่องไม่สำคัญไปเสียบ้าง   ในวิชาที่ครูสอนก็เช่นเดียวกัน  เมื่อครูมอบงาน  การรู้จักลำดับความสำคัญในการทำงาน และเลือกทำงานที่มีประโยชน์มากกว่า ต่อการเรียนรู้ในอนาคต มีความสำคัญยิ่ง  และครูจะช่วยแนะนำได้  คำแนะนำทางอ้อมคือ rubrics ของการประเมินผลงานชิ้นนั้น


วินิจฉัยทักษะองค์ประกอบที่ยังขาด

ทำโดยจัดการทดสอบในช่วงต้นเทอม   ถ้ามี นศ. จำนวนน้อยขาดทักษะบางอย่าง  ครูควรแนะนำวิธีซ่อม/พัฒนา ทักษะโดยใช้กลไกช่วยอำนวยความสะดวกของมหาวิทยาลัย  แต่ถ้า นศ. จำนวนมาก (กว่าครึ่งชั้น) ขาดทักษะนั้นๆ ครูควรจัดการเรียนรู้ให้  โดยอาจใช้เวลาเรียนปกติ หรือใช้เวลานอก

ในระหว่างเทอม ผลการสอบหรือทดสอบ จะช่วยบ่งชี้ว่า นศ. อ่อนทักษะใดที่ถือว่าสำคัญมาก  ครูจะได้ช่วยหาทางพัฒนาให้  รวมทั้งสามารถนำไปใช้ปรับปรุงการสอนในเทอมต่อๆ ไป ได้ด้วย


ให้ฝึกทักษะที่ยังขาด

เมื่อครูพบว่า นศ. คนใดคนหนึ่งขาดทักษะที่สำคัญ  ครูต้องหาทางให้ศิษย์ได้ฝึกทักษะนั้น  เช่น มอบหมายงาน/การบ้าน ที่ นศ. ได้มีโอกาสฝึกฝนตนเองให้มีทักษะนั้นๆ ในระดับที่ดีหรือยอมรับได้  ตัวอย่างเช่น ครูสังเกตว่า นศ. ขาดทักษะการเขียนเมื่อเขียนถึงตอนสรุป นศ. คนนั้นก็ยกเอาประโยคเดิมในเนื้อหาของบทความ มาลงซ้ำ  ครูควรให้ นศ. (๑) อ่านบทสรุปของบทความที่ดี ๒ - ๓ บทความและอภิปรายว่า ทำไมจึงเป็นบทสรุปที่ดี  (๒) ให้ฝึกเขียนบทสรุป สำหรับบทความตัวอย่าง  (๓) ครูกับ นศ. ร่วมกันวิจารณ์บทสรุปของ นศ.


ยุทธศาสตร์สร้างความช่ำชอง และฝึกบูรณาการ

 


ให้ นศ. ฝึก เพื่อเพิ่มความคล่องแคล่ว

หากผลการทดสอบทักษะบ่งชี้ว่า นศ. มีทักษะองค์ประกอบย่อยที่สำคัญแล้ว แต่ยังไม่คล่อง  ยังไม่ทำได้อย่างเป็นอัตโนมัติ  ครูพึงให้ นศ. ฝึกหัดจนคล่อง  ซึ่งผมมีความเห็นว่า การออกแบบฝึกเป็นการเล่นเกมจะดีที่สุด


ให้โจทย์ที่ง่ายในช่วงแรก

เป็นที่รู้กันว่า ความสำเร็จเป็นตัวสร้างกำลังใจในการทำสิ่งนั้น  ดังนั้น หากงานชิ้นนั้นยาก  ครูควรใช้หลักการฝึก “เดินทีละก้าว กินข้าวทีละคำ”  คือตัดตอนมาเพียงบางส่วนให้ฝึกจนทำเป็น แล้วจึงฝึกส่วนอื่นต่อจนครบ  ตัวอย่าง การฝึกตรวจร่างกายแก่นักศึกษาแพทย์  ซึ่งมี ๔ ทักษะ คือ ดู คลำ เคาะ ฟัง  ครูจะสอนและให้ นศ. ฝึกวิธี “ดู” ก่อน  จน “ดู” เป็น จึงเคลื่อนไปเรียนและฝึก “คลำ” ต่อไป  จนคบ ๔ ทักษะ   แล้วจึงฝึกตรวจร่างกายผู้ป่วยจริง  ซึ่งเป็นการฝึกบูรณาการทักษะทั้ง ๔ ให้ทำได้อย่างเป็นอัตโนมัติ  เช่นเมื่อมองผู้ป่วยแวบเดียวก็ฟังเสียงเต้นของหัวใจเลย หรือจับชีพจรเลย เป็นต้น


ระบุทักษะบูรณาการทักษะ ในเกณฑ์ประเมินสมรรถนะ

เนื่องจากการบูรณาการทักษะ เป็นทักษะในตัวของมันเองด้วย  ครูจึงต้องระบุใน performance rubrics วัดทักษะการบูรณาการทักษะไว้ด้วยเช่นในการประเมินทักษะการนำเสนอผลงานแบบ team presentation  ต้องระบุการประเมินความต่อเนื่องคล้องจองระหว่างการนำเสนอของสมาชิกแต่ละคน ด้วย


ยุทธศาสตร์เอื้อให้เกิดการประยุกต์

 

อภิปรายเงื่อนไขของการประยุกต์ใช้

ครูต้องไม่สอน หรือให้ นศ. เรียนเฉพาะตัวทฤษฎีเท่านั้น  ต้องให้อภิปรายกันด้วยว่า ทฤษฎีนั้นใช้อย่างไร ในกรณีไหนใช้ทฤษฎีนั้นได้ ในกรณีไหนใช้ทฤษฎีนั้นไม่ได้   หรือถ้าจะใช้ต้องดัดแปลงอย่างไร


ให้โอกาส นศ. ได้ฝึกประยุกต์ในหลากหลายบริบท

การฝึกฝนใช้ทักษะชุดนั้นๆ ในหลากหลายบริบท จะช่วยให้ นศ. สามารถประยุกต์ทักษะชุดนั้นในบริบทใหม่ที่แตกต่างออกไป ได้

 

ให้ นศ. ตีความยกระดับความเข้าใจสู่หลักการ (generalize)

การมีทักษะ คือทำได้ ยังไม่ใช่การรู้จริง  จะรู้จริงต้องทั้งทำได้และอธิบายได้ ว่าทำไมทำเช่นนั้นจึงสำเร็จ หากทำแตกต่างทำไมไม่สำเร็จ  คือต้องมีทั้งทักษะ และทฤษฎี  จะรู้จริงได้ นศ. จึงต้องฝึกทั้งทักษะ และฝึกการตีความทักษะและผลที่เกิดขึ้นด้วยทฤษฎี


ใช้การเปรียบเทียบ เพื่อให้ นศ. เข้าใจลึก

นศ. จะประยุกต์ใช้ความรู้และทักษะได้ดี นศ. ต้องมีความเข้าใจความหมายของเรื่องนั้นในมิติที่ลึกซึ้งและเชื่อมโยง  ไม่ใช่สัมผัสหรือเข้าใจเพียงมิติผิวเผิน  วิธีช่วยให้เข้าใจความหมายในมิติที่ลึกทำได้โดยให้ นศ. เปรียบเทียบปัญหา/กรณี/ฉากสถานการณ์/กิจกรรม ตามกรอบแนวทางที่กำหนด  เช่นในรายวิชาฟิสิกส์ ให้ นศ. เปรียบทียบระหว่างทางลาด กับลูกรอก  เพื่อให้ นศ. เรียนรู้เรื่องแรงโน้มถ่วงและความฝืด (friction) ในมิติที่ลึก ว่าการใช้ทางลาดกับใช้รอกเพื่อยกของขึ้นที่สูง ใช้หลักการเอาชนะแรงโน้มถ่วงหลักการเดียวกัน


กำหนดสถานการณ์  แล้วให้ นศ. บอกว่าจะใช้ความรู้หรือทักษะใด

นี่คือแบบฝึกหัดให้ นศ. เชื่อมโยงระหว่างงานหรือกิจกรรม กับทักษะ  รวมทั้งฝึกบูรณาการทักษะองค์ประกอบหลายตัว เพื่อใช้ในบริบทหรือสถานการณ์นั้นๆ  ในแบบฝึกหัดนี้ คำถามที่ดี ที่กระตุ้นและยั่วยุ ของครู  จะช่วยให้เป็นการเรียนรู้ที่สนุกและเร้าใจ  และที่สำคัญ ช่วยให้ นศ. เข้าใจแต่ละทักษะ/ความรู้ ในมิติที่ลึกซึ้ง  และเรียนรู้การประยุกต์ใช้ทักษะ/ความรู้ เหล่านั้น ตามความหมายที่ลึกเหล่านั้น

ครูที่เก่ง คือครูที่ตั้งคำถามเก่ง  ไม่ใช่ครูที่สอนเนื้อหาเก่ง


กำหนดความรู้และทักษะ ให้ นศ. บอกว่าจะนำไปใช้ในสถานการณ์ใด

นี่คือการกลับทางเทคนิคที่ผ่านมา  คือแทนที่จะให้ นศ. ตอบโจทย์ กลับให้ นศ. เป็นผู้ตั้งโจทย์  ว่าหากต้องการให้ฝึกประยุกต์ทักษะ/ความรู้ หนึ่งชุด  จะกำหนดเรื่องราว/กิจกรรม/โจทย์ ใด ให้ นศ. ลงมือทำ

ผมมีความเห็นว่า การฝึกทักษะเช่นนี้ สามารถจัดให้ นศ. เป็นทีม ให้แข่งขันกันตั้งโจทย์และตอบโจทย์ จะสนุกมาก  โดยครูทำหน้าที่ชักชวน นศ. ตั้งกติกาของการแข่งขัน


มีตัวชี้นำ/เตือนความจำ ให้ นศ. นึกถึงความรู้ที่เหมาะสม

ตัวชี้นำในภาษาอังกฤษเขาเรียก prompt  เป็นตัวช่วยเชื่อมโยงความคิด จากสิ่งที่ นศ. รู้ดีและคล่องแคล่วแล้ว ไปสู่สิ่งใหม่  ตัวชี้นำที่ดีอยู่ในรูปคำถาม ไม่ใช่คำตอบ  เช่น “เรื่องนี้เชื่อมโยงกับเรื่องหนึ่งที่เราเรียนสัปดาห์ที่แล้ว  นศ. คิดว่าเป็นเรื่องอะไร  เชื่อมโยงอย่างไร”  “เรื่องนี้เกี่ยวข้องกับปรากฏการณ์ธรรมชาติที่เป็นข่าวใหญ่เมื่อปีที่แล้ว  นศ. บอกได้ไหมว่าเป็นข่าวอะไร  เกี่ยวข้องกับเรื่องที่เรากำลังเรียนอย่างไร”


สรุป

เพื่อให้เกิดการเรียนแบบรู้จริงในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง นศ. ต้องเรียนรู้ทักษะย่อยๆ ของเรื่องนั้น จนทำได้อย่างเป็นอัตโนมัติ  เรียนรู้วิธีประกอบทักษะย่อยเข้าเป็นชุด ที่เหมาะสมต่อการใช้งานในแต่ละบริบท  เพื่อประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับกาละเทศะหรือสถานการณ์นั้นๆ  ซึ่งเท่ากับ นศ. ต้องเรียนรู้ ๓ อย่าง จึงจะเกิดการเรียนแบบ “รู้จริง” (mastery)  คือเรียนรู้  (๑) ทักษะย่อย  (๒) การบูรณาการทักษะย่อย เป็นชุดทักษะ/ความรู้ ที่เหมาะสม  (๓) บริบท หรือกาละเทศะ ในการใช้ทักษะแต่ละชุดอย่างเหมาะสม

 

วิจารณ์ พานิช

๑ ม.ค. ๕๖

คัดลอกมาจาก http://www.gotoknow.org/posts/520100

 

แก้ไขล่าสุด ใน วันพฤหัสบดีที่ 11 เมษายน 2013 เวลา 15:42 น.
 


หน้า 495 จาก 558
Home

About Us

ศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ (ศบม.) เป็นองค์กรที่พัฒนาและจัดทำโครงการเพื่อทำประโยชน์ให้สังคม เป็นองค์กรสนับสนุนการดำเนินงานของภาครัฐ ช่วยแก้ปัญหาผู้ประกอบการภาคธุรกิจบริการที่ขาดแคลนบุคลากรที่มีมาตรฐานในการให้บริการ
อ่านเพิ่มเติม

มูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ ์

 iHDC Profile
บัญชีรายชื่อกรรมการ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียน การเปลี่ยนแปลงกรรมการของมูลนิธิ
เอกสารประชาสัมพันธ์ โครงการ HMTC.pdf
เอกสารแนะนำโครงการ HMTC 1.pdf
เอกสารโครงการ HMTC 2 คุณสมบัติผู้เข้าร่วมโครงการ.pdf
iHDC นิติบุคคล.pdf
iHDC บุคคล.pdf
iHDC บุคคลเครือข่าย.pdf
รายงานการประชุม 6 มีนาคม 2560.pdf
ข้อบังคับมูลนิธิ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียนจัดตั้งมูลนิธิ
Ihdc-Profile and Roadmap 2016-2019 Mar 23 2560.pdf
รายงานการประชุมใหญ่คณะกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ 2559.pdf
คำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ สาขาวิชาชีพ.pdf
รายงานการประชุมใหญ่วันที่ 18 ธ ค 2558 v 3.pdf
รายงานการประชุม วันที่ 24 ธันวาคม 2557 updated 4 มีนาคม 2558.pdf
iHDC-invitation Letter.doc
iHDC-Member Form Thai.doc
iHDC-Member Form English.doc
รายงานการประชุมกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ วันที่ 15 มกราคม 2556 ฉบับสมบูรณ์


thaibetter
พัฒนาประเทศไทยแบบทวีคูณ และยั่งยืน ( ททค )

Login


แบบสำรวจ

สถิติเว็บไซด์

สมาชิก : 5605
Content : 3049
เว็บลิงก์ : 26
จำนวนครั้งเปิดดูบทความ : 8598703

facebook

Twitter


บทความเก่า