Thaiihdc.org

  • เพิ่มขนาดตัวอักษร
  • ขนาดตัวอักษรปกติ
  • สดขนาดตัวอักษร
Thaiihdc.org

คนไทยควรเตรียมตัวอย่างไรกับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน

พิมพ์ PDF

การประชุมสุดยอดอาเซียนเมื่อปี 2546  ผู้นำอาเซียนเห็นชอบให้มีการรวมตัวไปสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC ภายในปี พ.ศ.2558 โดยมีเป้าหมายให้เป็นตลาดและฐานการผลิตเดียวกัน (Single market and single production base) มีการเคลื่อนย้ายสินค้า บริการ การลงทุน และแรงงานฝีมืออย่างเสรี

แนวทางดำเนินงานเพื่อนำไปสู่การเป็น AEC ในส่วนของการค้าบริการ มีเป้าหมายการเจรจาเปิดเสรีการค้าไว้อย่างชัดเจน เพื่อให้การค้าบริการของอาเซียนเป็นไปอย่างเสรีมากขึ้น ตามที่ปรากฎในแผนงานการจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ( AEC Blueprint) สาระสำคัญของแผนงานประกอบด้วย

  • ลด/เลิก ข้อจำกัดต่อการค้าบริการภายในปี พ.ศ. 2553 สำหรับสาขาบริการสำคัญ 4 สาขา ได้แก่ การขนส่งทางอากาศ, e-ASEAN (คอมพิวเตอร์และโทรคมนาคม) สุขภาพ และการท่องเที่ยว
  • ลด/เลิก ข้อจำกัดต่อการค้าบริการสาขา โลจิสติกส์ ภายในปี พ.ศ.2556
  • ลด/เลิก ข้อจำกัดต่อการค้าบริการสาขาอื่นๆที่เหลือภายในปี พ.ศ.2558
แก้ไขล่าสุด ใน วันอังคารที่ 13 กันยายน 2011 เวลา 22:04 น.
 

ลุมลึก และ เนียน ใน Mixed-Methods Research

พิมพ์ PDF
การวิจัยแบบผสานวิธี (Mixed-method research) เป็นแบบของการวิจัยประเภทหนึ่งที่ใช้วิธีวิจัยเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพในการวิจัยเรื่องเดียวกัน

เรียนเพื่อนๆชาวBlog วันนี้คุยเรื่อง รูปแบบการวิจัยแบบผสมวิธี (Mixed-Methods Research) เราจะทำการ Mixed อย่างไร? ....ให้งานวิจัยของเราให้ เนียนและไร้รอยต่อ....ระหว่างงานวิจัยการวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) และ....การวิจัยเชิงคุณภาพ(Qualitative Research) โดยการวิจัยในงาน ป.เอก ของP’Ple ...ทำรูปแบบที่สอง...วิธีแรก ค่ะ...โดยที่ท่าน ศ. ดร. สุวิมล ว่องวาณิช และCresswell & Clark (2007) ได้อธิบายไว้ว่า.....มี 2 วิธี คือ

 

@ รูปแบบแรก.... เป็นการวิจัยแบบทำการวิจัยเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพไปพร้อมกัน (concurrent design) โดยการเก็บข้อมูลเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพพร้อมกัน แล้วค่อยนำผลการวิจัยจากทั้งสองวิธีมาวิเคราะห์ (Analysis) หรือสังเคราะห์ (Synthesis) ภายหลัง รูปแบบนี้ทำให้ได้ข้อมูลจากวิธีวิจัยทั้งสองประเภทมาเสริมกัน เพื่อให้ผลการวิจัยสมบูรณ์ยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม ผลการวิจัยทั้งสองแบบอาจนำมาวิเคราะห์เปรียบเทียบความเหมือนหรือความต่างก็ได้ ซึ่งหากไม่สอดคล้องกัน ก็ต้องมีการวิเคราะห์หาเหตุผลในการอภิปราย

 

@รูปแบบที่สอง... เป็นการวิจัยแบบทำตามลำดับก่อนหลัง (Sequential design) เป็นการออกแบบการวิจัยที่สามารถดำเนินการได้ 2 วิธี

 

วิธีแรก ใช้วิธีวิจัยเชิงปริมาณก่อน แล้วใช้ประโยชน์จากผลการวิจัยเชิงปริมาณมาออกแบบการเก็บข้อมูลเชิงคุณภาพตามหลัง เพื่อขยายความหรืออธิบายข้อค้นพบให้ลุ่มลึกเพิ่มเติมจากผลการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณ

 

วิธีที่สอง วิธีวิจัยเชิงคุณภาพก่อน แล้วนำผลมาช่วยในการสร้างเครื่องมือวิจัย เพื่อใช้ในการวิจัยด้วยวิธีวิจัยเชิงปริมาณตามหลัง เพื่อให้คำตอบที่เป็นสะท้อนภาพรวมของประชากรที่ใหญ่ขึ้น ทั้งนี้การเลือกรูปแบบของการวิจัยขึ้นอยู่กับนักวิจัยว่าจะต้องการคำตอบจากการวิจัยแบบใด โดยงานวิจัยเชิงปริมาณของ P’Pleเก็บข้อมูลจำนวน 420 คน ใช้เทคนิคการวิเคราะห์สมการโครงสร้างเชิงเส้น (Structural Equation Model: SEM) ด้วยโปรแกรม LISREL  Version 8.72 วิจัยเชิงคุณภาพเก็บตัวแปรละ 5 คน มีทั้งหมด 5 ตัวแปร เก็บข้อมูลเชิงลึกจาก ผู้ให้ข้อมูลสำคัญ (Key Informant) รวมจำนวน 25 คน วิเคราะห์โดยการตีความ การวิจัยเชิงคุณภาพทำให้ได้ข้อค้นพบที่เป็นคำอธิบายที่ลุ่มลึก และไม่ได้เน้นที่การอ้างอิงผลการวิจัยไปยังประชากรอื่น เรียกการวิจัย นี้ว่าใช้วิธีวิจัยแบบผสมระหว่างวิธีวิจัยทั้งสอง นี้ว่า การวิจัยแบบผสมวิธี หรือ การวิจัยแบบผสานวิธี (Mixed-method research) เป็นแบบของการวิจัยประเภทหนึ่งที่ใช้วิธีวิจัยเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพในการวิจัยเรื่องเดียวกัน เพื่อให้เกิดความเข้าใจในผลการวิจัยที่สมบูรณ์ยิ่งขึ้นในปัญหาวิจัยหนึ่ง ซึ่งอาจให้คำตอบที่เหมาะสมกว่าการใช้เพียงวิธีใดวิธีหนึ่ง

 

ข้อดีและข้อจำกัดของการวิจัยแบบผสมวิธี

การวิจัยแบบผสมวิธีช่วยสร้างความกระจ่างในการอธิบายความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปร โดยเฉพาะการให้คำตอบในเรื่อง“ทำไม” จึงมีความสัมพันธ์เช่นนั้น ช่วยสำรวจความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรเชิงลึก โดยใช้ข้อมูลที่ได้จากตัวแปรเชิงคุณภาพ มาศึกษาต่อด้วยวิธีการเชิงปริมาณ ช่วยยืนยันหรือตรวจสอบความตรงของความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปร

 

แต่.....การวิจัยแบบผสมวิธีก็มีข้อจำกัดเช่นกัน คือ ใช้เวลานานในการศึกษาวิจัย (โดยเฉพาะการลงพื้นที่) และสิ้นเปลืองค่าใช้จ่าย (ม๊ากๆๆ) และเนื่องจากนักวิจัยส่วนใหญ่จะมีความชำนาญในวิธีวิจัยแบบใดแบบหนึ่งเพียงวิธีเดียว การใช้การวิจัยแบบผสมวิธี ที่สำคัญต้องมีความชำนาญ....ทั้งวิธีการวิจัยเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ งานวิจัยนี้สำเร็จได้ด้วยคะแนนที่ Excellent (94.68 คะแนน) ขอขอบคุณ คณาจารย์ที่สอนงานวิจัยเชิงคุณภาพ ศ.ดร. สนิท สมัครการ และ รศ.ดร.สุพรรณี ไชยอำพร สมัยที่เรียน ป.โท ที่ NIDA ขอบคุณ คณาจาย์ที่ได้สอนในป.โท ด้าน MBA ซึ่งทำให้ สามารถ ออกแบบงานวิจัยระดับ ป.เอก ที่สามารถออกแบบงานวิจัยที่ดี (Research Desing) และงานวิจัยเกิดImmpact ในสังคม งานวิจัยเกิดคุณค่าทางสังคม ต้องขอบคุณ คณาจารย์ทุกๆท่าน โดยเฉพาะ รศ. นพ.สิงห์เพชร สุขสมปอง ผู้ทรงคุณวุฒิภายนอกจากคณะแพทย์ศาสตร์ศิริราช ที่กรุณาสละเวลาในการสอน นศพ. และการตรวจคนไข้ เพื่อมาสอบงานดุษฎีนิพนธ์ครั้งนี้ งานวิจัยครั้งนี้ต้องกราบขอบคุณท่านดร. วรรโณ ฟองสุวรรณ ผศ. ดร.บัณฑิต ผังนิรันดร์ ท่านทั้งสองเป็น อาจารย์ที่ปรึกษาหลักและที่ปรึกษาทางสถิติขั้นสูง ที่กรุณารับเป็นศิษย์นะค่ะ

 

ขอบคุณ  ผู้อ่านบทความด้วยค่ะ


 

 

 

 

แก้ไขล่าสุด ใน วันจันทร์ที่ 12 สิงหาคม 2013 เวลา 13:55 น.
 

ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงกับการดำรงชีวิตคนกรุง

พิมพ์ PDF

ได้ไปค้นเจอบทความเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงที่ผมเคยเขียนและนำเผยแพร่เมื่อปี 2550 เห็นว่ายังทันสมัยอยู่จึงขอนำมาเผยแพร่อีกครั้ง

ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
ระบบทุนนิยมได้เข้ามามีอิทธิพลกับการดำรงชีวิตประจำวันของประชาชนชาวไทยเป็นเวลานาน ทำให้วัฒนะธรรมและอารยะธรรมที่ดีงามของคนไทยขาดหายไป จากการดำรงชีวิตแบบเรียบง่ายรู้จักความพอเพียง มีความรักและโอบอ้อมอารีต่อกัน รู้จักให้และช่วยเหลือแบ่งบัน กลายมาเป็นการดำรงชีวิตแบบตัวใครตัวมัน เกิดการแข่งขันและ ชิงดีชิงเด่น เพื่อให้ตัวเองเหนือกว่าผู้อื่น
นายทุนผู้มีอิทธิพลในการควบคุมนโยบายและบริหารประเทศ ได้นำระบบทุนนิยมมาใช้ในการบริหาร นำหลักการและทฤษฎีในการบริหารธุรกิจมาใช้ในการบริหารประเทศ จึงทำให้สังคมไทยเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างที่เป็นอยู่ เริ่มตั้งแต่การศึกษา ต้องแข่งขันกันสอบเข้าโรงเรียนที่ได้ชื่อว่าดีที่สุด เด็กที่ทำคะแนนสอบได้สูงกว่าก็จะมีโอกาสได้เข้าโรงเรียนที่ได้ชื่อว่าดีที่สุด เด็กที่ผู้ปกครองร่ำรวย จะได้รับการสอนพิเศษเพิ่มเติมเพื่อการสอบแข่งขัน ทำให้ได้เปรียบเด็กอีกกลุ่มหนึ่งที่ไม่สามารถได้รับการเรียนรู้ที่เท่าเทียมกัน
เยาวชนรุ่นใหม่ต่างแย่งกันเรียนเพื่อให้ได้รับปริญญาตรีเป็นอย่างน้อย สถานบันการศึกษาทั้งภาครัฐและเอกชน เห็นโอกาสในการทำธุรกิจด้านการศึกษาเพราะมีความต้องการสูง ต่างแข่งขันกันทำธุรกิจ โดยมิได้คำนึงถึงคุณภาพของนักศึกษามากกว่าผลกำไรของธุรกิจ ประชาชนต้องลงทุนให้กับการเรียนในสถาบันการศึกษาเพื่อให้ได้รับปริญญาตรี เพื่อแข่งขันในการหางานทำ
นิสิตส่วนมากที่จบปริญญาตรีไม่สามารถเข้าทำงานได้เพราะ เรียนมาไม่ตรงกับคุณสมบัติของแรงงานที่ต้องการ เลือกงานเพราะคิดว่าตัวเองจบปริญญาตรีแล้วควรจะได้งานที่ดี และมีรายได้มากว่านี้ ทำให้นิสิตที่จบออกมาไม่มีงานทำเป็นจำนวนมาก
บริษัทใหญ่ๆที่มีทุนมากมีความได้เปรียบกว่าบริษัทเล็กๆ สามารถเลือกจ้างนิสิตจบใหม่ในระดับหัวกระทิได้ก่อน บริษัทเล็กๆไม่ค่อยมีโอกาสได้รับนิสิตจบใหม่ในระดับหัวกระทิ ต้องรับผู้ที่มีคุณสมบัติด้อยลงมา นำมาฝึกฝน เมื่อได้คุณภาพที่ดี ก็จะถูกดึงตัวไปอยู่บริษัทที่ใหญ่กว่า
นิสิตที่ตกงานเป็นจำนวนมากต้องหันไปทำธุรกิจส่วนตัว ขอเงินผู้ปกครองมาลงทุน ผู้ปกครองต้องเป็นหนี้เป็นสิน หรือขายสมบัติเก่ามาให้ แต่ในที่สุดก็ไปไม่รอดเพราะขาดประสบการณ์ หรือสายป่านสั้นไป มีจำนวนไม่น้อยที่เรียนต่อปริญญาโท และ ปริญญาเอก ถ้ามีผู้ปกครองที่ร่ำรวยก็ไม่มีปัญหาอะไร แต่ถ้าผู้ปกครองไม่ร่ำรวย แต่เพื่ออนาคตของบุตรหลาน ก็ต้องขายสมบัติเก่า หรือไม่ก็ต้องเป็นหนี้
ผู้ที่มีอิทธิพลในการบริหารประเทศชาติส่วนใหญ่ มาจากประชาชน สองกลุ่ม คือ กลุ่มนายทุน และกลุ่มนักวิชาการที่จบการศึกษา ระดับ ปริญญาเอก และ ปริญญาโท จากต่างประเทศ ท่านเหล่านี้ส่วนมากประสบผลสำเร็จเพราะท่านเป็นลูกหลานของผู้มีเงิน หรือ ผู้มีอำนาจ ท่านมีโอกาสมากกว่าคนอื่นๆได้ไปศึกษาเล่าเรียนต่างประเทศ ได้จดจำทฤษฎีต่างๆของต่างประเทศซึ่งส่วนใหญ่เป็นทฤษฎีระบบทุนนิยม ท่านคิดว่าดี และได้นำมาใช้กับประเทศไทย โดยมิได้นำความรู้ที่ท่านได้เล่าเรียนมาประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับประเทศไทย สังคมไทยจึงกลายเป็นสังคมของทุนนิยม มีแต่การแข่งขัน ความไม่รู้จักพอ การทำอะไรที่ได้เปรียบถึงเป็นสิ่งที่ถูกต้อง สังคมจึงสับสนและแตกแยกกันอยู่ในปัจจุบัน เป็นอันตราต่อประเทศชาติอย่างมาก
เศรษฐกิจพอเพียง เป็นปรัชญา ในการดำรงชีวิตประจำวันของคนไทยมาแต่อดีต รัฐบาลปัจจุบันได้มองเห็นความสำคัญของปรัชญานี้ และได้นำขึ้นใช้เป็นแผนในการบริหารประเทศชาติ พวกเราชาวไทยควรจะยินดีที่ผู้นำรัฐบาลมีความเข้าใจ และตัดสินใจยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียงเป็นแนวทางในการบริหารประเทศ แต่ก็น่าเสียดายที่ยังมีคนไทยเป็นจำนวนมาก ที่ยังไม่เข้าใจความหมายของเศรษฐกิจพอเพียงอย่างแท้จริง และได้พยายามทำให้เกิดการสับสน
มนุษย์ไม่ได้อยู่ลำพัง เราอยู่ร่วมกันเป็นครอบครัว และสังคม การดำรงชีวิตแบบเศรษฐกิจพอเพียงถือเป็นรากฐานของการดำรงชีวิต เริ่มที่ตัวเราเองก่อน เราต้องทำความเข้าใจ สถานะของตัวเองว่าเราอยู่ในสถานะใด เราต้องรับผิดชอบใครบ้าง อันดับแรกก็ต้องคิดถึงการดูแลตัวเองก่อน ทำอย่างไรที่จะไม่ให้เราเป็นภาระของผู้อื่น หรือถ้าเรายังอยู่ในการดูแลของพ่อแม่ เรายังไม่สามารถดูแลตัวเองได้เต็มที่ เราก็ต้องรู้จักสถานะของตัวเราว่าเราเป็นผู้ได้รับการเลี้ยงดูจากพ่อแม่ ทำอย่างไรที่เราจะแบ่งปันภาระของพ่อแม่ ต้องรู้ว่าหน้าที่หลักของเราคือการเรียนหนังสือเราก็ต้องพยายามเรียนหนังสือให้ดีที่สุด ไม่ให้เป็นภาระของพ่อแม่ และครูบาอาจารย์ ใช้จ่ายน้อยที่สุดเพราะเรายังหาเงินเองไม่ได้ หรือถ้ามีโอกาสหาเงินได้เพื่อนำมาช่วยแบ่งเบาภาระพ่อแม่ในการเลี้ยงดูเรา โดยไม่ทำให้หน้าที่หลักของเราเสียหาย ก็ดำเนินการ ขณะเดียวกันก็ทำตัวให้เป็นประโยชน์และช่วยเหลือผู้อื่นที่ตกทุกข์ได้ยาก ทำให้ตัวเราเองมีความสุข ไม่ต้องไปคิดอยากได้ของๆคนอื่น พอใจกับสถานะที่เราเป็นอยู่และพยายามศึกษาเรียนรู้และเลือกทำในสิ่งที่มีคุณค่าต่อการดำรงชีวิตที่ยั่งยืนทั้งในปัจจุบันและในอนาคต
เมื่อเราสำเร็จการศึกษาจนสามารถเข้าทำงานมีรายได้ เราก็ต้องรู้สถานะของตัวเองว่าขณะนี้เราเป็นผู้ใหญ่แล้ว ต้องพึ่งพาตัวเอง และเตรียมการที่จะให้การดูแลผู้อื่นบ้าง เช่น พ่อแม่ต้องทำงานหนักเพื่อเลี้ยงดูเรามาจนเราสามารถพึ่งตัวเองได้ เราก็ต้องคิดที่จะตอบแทนบุญคุณพ่อแม่ที่เลี้ยงเรามา เราต้องมาคิดถึงรายได้และรายจ่ายของเรา ถ้ารายได้เรามีมากพอที่จะเลี้ยงดูพ่อแม่ได้ เราก็อาจให้พ่อแม่เลิกทำงาน ให้ท่านได้พักผ่อน และเราเป็นผู้เลี้ยงดูท่านเอง หรือถ้าเรายังมีรายได้ไม่เพียงพอก็ต้องพยายามให้พ่อแม่ได้ทำงานน้อยลง และเราก็ให้ค่าเลี้ยงดูท่านพอที่เราจะอยู่ได้ บริหารรายรับรายจ่ายให้เหมาะสม กับสถานะความเป็นจริงของตัวเราเองและผู้ที่อยู่ในความดูแลของเรา ถ้ารายได้ยังน้อยกว่ารายจ่าย ก็ต้องหาวิธีที่จะลดค่าใช้จ่าย หรือเพิ่มรายได้ แต่ถ้ามีรายได้มากกว่ารายจ่าย ก็ต้องวางแผนในการดำรงชีวิตในวันข้างหน้า อาจต้องมีภาระต้องให้การเลี้ยงดูผู้อื่น เช่น การแต่งงาน การมีลูก เป็นต้น ทุกอย่างต้องมีแผน และคำนวณ ราย รับรายจ่ายให้เหมาะสม
คำว่าพอดี และเหมาะสม เป็นเรื่องที่พูดง่าย แต่ปฏิบัติยาก เช่นบางครั้งเราจำเป็นต้องเป็นหนี้ เพื่อหวังผลในวันข้างหน้า เช่นการลงทุนเรื่องการศึกษาหาความรู้เพื่อที่จะทำให้เราสามารถหางานใหม่ที่มีรายได้มากกว่าปัจจุบันและคุ้มกับการลงทุน ก็ไม่ได้ถือว่าหลักการนี้ไม่ถูกต้องกับหลักเศรษฐกิจพอเพียง อย่างไรก็ตามแต่ละคนจะมีความพอเพียง และเหตุผลของความเหมาะสมที่แตกต่างกัน เศรษฐกิจพอเพียงเป็นปรัชญาที่เป็นพื้นฐานของธรรมชาติ อย่าไปคิดอะไรมากเพียง แค่ทำความเข้าใจเรื่องธรรมชาติและนำความรู้ที่เป็นธรรมชาตินำไปปฏิบัติในการดำรงชีวิตของตัวเราเองเพื่อให้เกิดความสุขกับตัวเองและผู้อยู่รอบข้างโดยไม่เบียดเบียนซึ่งกันและกัน
ผมอยากวิงวอนให้ประชาชนคนไทยทุกคนหันมาให้ความสนใจและศึกษาปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อนำไปปฏิบัติในการดำรงชีวิตประจำวันของทุกคน โดยขอให้จัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ในทุกหมู่บ้าน และทุกชุมชน โดยขอให้สถานศึกษาเป็นศูนย์กลางของแต่ละชุมชน มีการเรียนรู้และปฏิบัติร่วมกัน สร้างชุมชนให้เข้มแข็งโดยการ นำหลักเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการดำรงชีวิตประจำวัน จัดตั้งชมรมการเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงในแต่ละชุมชน ผมว่าวิธีนี้จะเป็นวิธีหนึ่งที่จะช่วยกันทำให้วัฒนะธรรม และอารยะธรรมที่ดีๆของสังคมไทยกลับมาอยู่ในสังคมไทยอีกครั้งหนึ่ง

ม.ล.ชาญโชติ ชมพูนุท
๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๐

แก้ไขล่าสุด ใน วันอาทิตย์ที่ 13 พฤศจิกายน 2016 เวลา 13:04 น.
 

China's shock move to trigger the biggest one-day decline in its currency for more than 20 years is evidence that the currency wars are still live.” ที่มา: Bloomberg View (Aug. 11, 2015)

พิมพ์ PDF

ความหมาย: Currency War คืออะไร?

หลังจากที่จีนได้ประกาศปรับลดค่าเงินหยวน (Renminbi; CNY) ลงเมื่อวันที่ 11 สิงหาคมที่ผ่านมา สถาบันการเงินและตลาดหลักทรัพย์หลายแห่งทั่วโลกต่างมีปฏิกิริยาที่แสดงถึงความวิตกว่าการลดค่าเงินของจีนจะเป็นการเปิดฉาก “สงครามค่าเงิน” (currency war) ครั้งใหม่หรือไม่

คำว่า “currency war” ในความหมายปัจจุบันนั้นเป็นคำที่นายกิดู มันเตกา (Guido Mantega) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของบราซิล กล่าวขึ้นในปี 2010 เพื่อใช้เรียกสถานการณ์ที่นานาประเทศดำเนินนโยบายลดค่าเงินตามๆ กัน เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันด้านการส่งออกของประเทศ หรือที่เรียกอีกอย่างว่า “competitive devaluation” (การแข่งขันด้านนโยบายค่าเงินอ่อน)

 

สาเหตุ: ทำไมถึงเกิด currency war ขึ้น?

โดยทั่วไป สงครามค่าเงินมีจุดเริ่มต้นจากการที่ประเทศหนึ่ง (สมมุติให้เป็นประเทศ ก.) ต้องการกระตุ้นให้เกิดการเติบโตของเศรษฐกิจ และได้ตัดสินใจใช้นโยบายการลดค่าเงิน หลังจากนั้นอัตราแลกเปลี่ยนที่ลดลงจะส่งผลให้สินค้าของประเทศ ก. มีราคาถูกลงในสายตาของประเทศผู้นำเข้า ทำให้เกิดข้อได้เปรียบในการส่งออก 2 ประการ ได้แก่ 1.) สินค้าส่งออกสามารถเข้าถึงประเทศต่างๆ ได้มากขึ้น (higher affordability) 2.) ความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ก. จะสูงขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศที่ไม่ได้ปรับลดค่าเงิน (higher competitiveness)

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการลดค่าเงินจะเป็นการสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจให้แก่ประเทศผู้วางนโยบาย แต่ทว่าผลประโยชน์ดังกล่าวนั้นต้องแลกมาด้วยความสูญเสียของประเทศที่เป็นคู่แข่งทางการค้า จึงมีการเรียกนโยบายประเภทนี้ว่าเป็น “นโยบายผลักเพื่อนบ้านให้เป็นยาจก” (Beggar-thy-neighbor policy) กล่าวคือ เมื่อประเทศ ก. ใช้นโยบายการลดค่าเงินจนทำให้มีส่วนแบ่งการตลาดมากขึ้น ประเทศอื่นๆ ย่อมมีส่วนแบ่งการตลาดที่ลดลง จนสุดท้ายประเทศเหล่านี้จำเป็นต้องลดค่าเงินลงตามประเทศ ก. เพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขันด้านการส่งออกของตนไว้ เมื่อแต่ละประเทศปรับลดค่าเงินตามๆ กันเป็นลูกโซ่ ก็จะอุบัติเป็นสงครามค่าเงินขึ้นในที่สุด

กลไก: รัฐบาลทำอย่างไรได้บ้างเพื่อลดค่าเงิน?

ผู้ที่ทำหน้าที่ขับเคลื่อนประเทศเข้าสู่สงครามค่าเงิน คือ ธนาคารกลางของแต่ละระบบเศรษฐกิจ เช่น ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา (FED) ธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นต้น ทั้งนี้ ธนาคารกลางมีวิธีที่นิยมใช้ในการลดค่าเงิน ดังต่อไปนี้

 

1.) มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ หรือ QE (Quantitative Easing) เป็นนโยบายทางการเงินที่ธนาคารกลางพยายามกระตุ้นเศรษฐกิจโดยการเพิ่มปริมาณเงินเข้าไปในระบบเศรษฐกิจผ่านการซื้อสินทรัพย์บางประเภท เช่น พันธบัตร จากธนาคารพาณิชย์หรือสถาบันการเงินอื่นๆ กระบวนการดังกล่าวจะก่อให้เกิดการไหลออกของเงินทุน พร้อมทั้งทำให้อุปทานของเงินสกุลนั้นสูงขึ้น จึงนำไปสู่การอ่อนค่าของสกุลเงินของประเทศตามการทำงานของกลไกตลาด

 

2.) การกำหนดค่าเงินโดยตรง เป็นการที่ธนาคารกลางกำหนดค่าเงินไปเลยโดยไม่ผ่านกลไกตลาด เช่น การที่ธนาคารกลางจีน (PBoC) ประกาศปรับลดค่าเงินหยวนลง 1.9% จากระดับ 6.116 หยวนเป็น 6.229 หยวนต่อดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อวันที่ 11 สิงหาคมที่ผ่านมา

 

3.) วิธีอื่นๆ อาทิ การปรับลดอัตราดอกเบี้ยที่ธนาคารกลางใช้กำหนดทิศทางการดำเนินนโยบายการเงิน โดยอัตราดอกเบี้ยที่ลดลงจะทำให้เกิดการลดลงของอุปสงค์ของสกุลเงินของประเทศ ค่าเงินของประเทศจึงต่ำลงตามกลไกตลาด

 

ภูมิหลัง: Currency War เคยเกิดขึ้นแล้วเมื่อไร?

ยังไม่มีการกำหนดตายตัวว่า การแข่งขันการลดค่าเงินต้องมีขอบเขตหรือความรุนแรงแค่ไหนถึงจะเรียกว่าเป็น “สงคราม” แต่โดยทั่วไปแล้วจะเข้าใจกันว่า มีสงครามค่าเงินครั้งสำคัญเกิดขึ้นมาแล้วทั้งหมด 3 ครั้ง

 

1.) Currency War ครั้งที่ 1 (1921-1936)

ตั้งแต่ราวๆ ปี 1870 จนถึงสมัยสงครามโลกครั้งที่ 1 (1914) หลายประเทศใช้ระบบมาตรฐานทองคำ (gold standard) ซึ่งเป็นระบบที่กำหนดว่าเงิน 1 หน่วยของแต่ละประเทศ สามารถแลกเป็นทองคำได้ในปริมาณเท่าไร ในช่วงเวลาดังกล่าวจึงมีทองคำเป็นตัววัดมูลค่าที่แท้จริง (intrinsic value) ของเงินตรา ต่างจากปัจจุบันที่มูลค่าของเงินสกุลหนึ่งมาจากการเทียบกับเงินสกุลอื่นๆ ระบบมาตรฐานทองคำที่มั่นคง ประกอบกับการค้าระหว่างประเทศที่ยังไม่แพร่หลาย ทำให้แทบไม่มีการแข่งขันทางค่าเงินเกิดขึ้นก่อนต้นศตวรรษที่ 20 เลย

 

ต่อมาไม่นาน ผลพวงจากสงครามโลกครั้งที่ 1 และภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ (the great depression) ได้ทำให้หลายประเทศยกเลิกการผูกค่าเงินไว้กับทองคำ หลังจากนั้น ประเทศมหาอำนาจอย่าง สหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา และฝรั่งเศส ได้เริ่มใช้วิธีการลดค่าเงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและการว่างงาน สงครามค่าเงินจึงได้เกิดขึ้นในวงกว้าง อย่างไรก็ตามสงครามค่าเงินครั้งที่ 1 ได้สิ้นสุดลงอย่างสมบูรณ์หลังจากระบบเศรษฐกิจทั่วโลกได้ประชุมและร่วมตกลงกันใช้ระบบเบรตตันวูดส์ (Bretton Woods System) ในปี 1945

 

2.) Currency War ครั้งที่ 2 (1967-1987)

ภายใต้ระบบเบรตตันวูดส์ ค่าเงินของแต่ละประเทศผูกไว้กับเงินดอลลาร์ โดยค่าเงินดอลลาร์นั้นจะผูกไว้กับทองคำอีกทีหนึ่ง นอกจากนี้ ยังมีข้อบังคับมิให้แต่ละประเทศลดค่าเงินโดยไม่ได้รับอนุญาตจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) อีกด้วย ระบบดังกล่าวนี้จึงทำให้การเงินระหว่างประเทศมีเสถียรภาพสูง อัตราเงินเฟ้อและอัตราการว่างงานอยู่ในระดับต่ำ รวมถึงอัตราเติบโตของเศรษฐกิจสูงขึ้น

 

อย่างไรก็ตาม สงครามค่าเงินก็ได้อุบัติขึ้นอีกครั้งในปี 1967 เนื่องจากระบบเบรตตันวูดส์เริ่มสั่นคลอนด้วยสาเหตุหลายประการ เช่น การเสียค่าใช้จ่ายปริมาณมหาศาลของสหรัฐอเมริกาในสงครามเวียดนาม ต่อมา ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ริชาร์ด นิกสัน ได้ประกาศยกเลิกความสามารถในการแลกเป็นทองคำ (gold convertibility) ของเงินดอลลาร์ในปี 1971 นำไปสู่การล่มสลายของระบบเบรตตันวูดส์ในที่สุด ประเทศต่างๆ ได้ยกเลิกการตรึงค่าเงินกับดอลลาร์และเปลี่ยนไปใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบลอยตัว นานาประเทศจึงเริ่มปฏิบัติการลดค่าเงินเพื่อผลประโยชน์ทางการค้า

 

3.) Currency War ครั้งที่ 3 (ตั้งแต่ 2010)

การแข่งขันทางค่าเงินครั้งใหญ่เริ่มขึ้นอีกครั้งในปี 2010 เนื่องจากผลกระทบของภาวะเศรษฐกิจตกต่ำปี 2008 หลายประเทศได้เริ่มมาตรการค่าเงินอ่อนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการส่งออกของประเทศ

 

ชนวนของสงครามค่าเงินครั้งนี้ ได้แก่ 1.) การที่จีนตรึงค่าเงินหยวนให้อ่อนค่าจนเกินไป (undervalued yuan) และ 2.) การดำเนินมาตรการ QE ของสหรัฐอเมริกาเนื่องจากเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัวจากวิกฤติปี 2008 ทั้งยังไม่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการลดอัตราดอกเบี้ยได้อีกแล้วเนื่องจากอัตราดอกเบี้ยในขณะนั้นอยู่ที่ระดับ 0-0.25% มาตรการดังกล่าวทำให้ค่าเงินดอลลาร์อ่อนลงมาก1 และก่อให้เกิดการไหลของเงินทุนออกจากสหรัฐอเมริกาไปยังตลาดเกิดใหม่ของประเทศที่มีอัตราการเติบโตสูง ค่าเงินของประเทศเหล่านี้จึงแข็งค่าขึ้นและกลายเป็นอุปสรรคต่อการส่งออกและการเติบโตทางเศรษฐกิจในที่สุด

 

นอกจากสหรัฐอเมริกาและจีนแล้ว ในช่วงเวลาดังกล่าวยังมีอีกหลายประเทศที่พยายามลดค่าเงินของตนลง เช่น ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ โคลัมเบีย สวิตเซอร์แลนด์ อิสราเอล เป็นต้น แม้จะยังไม่มีการนิยามคำว่าสงครามค่าเงินอย่างชัดเจน อย่างไรก็ตาม คำว่า “currency war” ก็ได้ปรากฏอยู่บนหน้าหนังสือพิมพ์อย่างนับครั้งไม่ถ้วนตั้งแต่มีการสร้างคำนี้ขึ้นมาในปี 2010 ทั้งนี้ แสดงให้เห็นว่ามวลชนกำลังตระหนักถึงการที่รัฐบาลประเทศต่างๆ ได้แทรกแซงค่าเงินบ่อยครั้งขึ้นนับจากวิกฤตการณ์การเงินปี 2008 โดยประเด็นนี้ได้รับความสนใจอีกครั้งเมื่อจีนประกาศลดค่าเงินเมื่อกลางเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา

 

สังเกต: มีจุดร่วมอะไรระหว่างสงครามค่าเงินทั้งสามครั้งนี้?

สงครามค่าเงินมักเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจโลกกำลังอยู่ในสภาวะถดถอย

ในภาวะเศรษฐกิจคล่องตัวนั้น ค่าเงินแข็งในระดับอ่อนๆ ถือว่าเป็นสิ่งที่แต่ละประเทศยอมรับได้ ดังนั้น สงครามค่าเงินจะอุบัติขึ้นในสถานการณ์ที่แม้แต่การหดตัวของการส่งออกอีกเพียงเล็กน้อย เพราะมีประเทศหนึ่งลดค่าเงินก็เป็นสาเหตุที่เพียงพอที่ทำให้แต่ละประเทศปรับลดค่าเงินตามไปด้วย

 

ปัจจุบัน: ทำไมตลาดหลักทรัพย์ทั่วโลกถึงวิตกเมื่อจีนลดค่าเงินหยวน?

เพราะตลาดหลักทรัพย์คาดการณ์ได้ว่าอีกหลายสกุลเงินในระบบเศรษฐกิจโลกจะอ่อนค่าลงตามเงินหยวนไป และอาจจะเกิดสงครามค่าเงินขึ้นอีกครั้ง เงินดอลลาร์ของสหรัฐฯ จะแข็งค่าขึ้น และจะส่งผลให้รายได้การส่งออกของสหรัฐอเมริกาลดลงอย่างมากในภายภาคหน้า

แล้วเหตุการณ์ก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ ภายในเวลาเพียง 1 วันหลังจากที่จีนประกาศลดค่าเงิน โดยเริ่มจากเงินวอนของเกาหลีใต้ซึ่งได้อ่อนค่าลงกว่า 1.3% เงินดอลลาร์ออสเตรเลียอ่อนลงเกือบ 1.5% ส่วนเงินบาทอ่อนค่า 0.7% แล้วยังตามด้วยเกือบทุกสกุลเงินในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คำถามคือ ทำไมเหตุการณ์ที่ว่านี้ถึงเกิดขึ้นแทบจะทันที ทั้งๆ ที่ผลของการปรับค่าเงิน ยังไม่แสดงออกมาเลย? คำตอบก็คือ นี่เป็นฝีมือของ “ความคาดหมาย” (expectation) ของนักลงทุนและผู้เล่นทั้งหลายในระบบเศรษฐกิจ

 

จีนเป็นระบบเศรษฐกิจที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลกด้าน GDP ซึ่งระบบเศรษฐกิจขนาดยักษ์นี้ก็ได้ทำการค้าขายและนำเข้าสินค้าจำนวนมหาศาลจากนานาประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากตลาดเกิดใหม่ อาทิ ไทย มาเลเซีย เวียดนาม และประเทศในทวีปแอฟริกา เมื่อจีนลดค่าเงินหยวน ผลที่จะตามมาไม่ใช่เพียงการทำให้ยอดการส่งออกของจีนสูงขึ้นเท่านั้น แต่ยังทำให้จีนนำเข้าจากต่างประเทศลดลง นักลงทุนคาดการณ์ได้ว่า ประเทศที่พึ่งพาการส่งออกไปจีนจะเสียดุลการส่งออกและอาจเกิดภาวะเสื่อมถอยทางเศรษฐกิจขึ้น ด้วยเหตุนี้ นักลงทุนจึงเร่งย้ายเงินทุนออกจากประเทศกลุ่มดังกล่าว ไปไว้ในประเทศที่มีความเสี่ยงต่ำ ส่งผลให้สกุลเงินของประเทศเหล่านั้นอ่อนค่าลงตามลำดับ

 

ผลกระทบ: ถ้าเกิดสงครามค่าเงินขึ้น แล้ว สุดท้ายจะลงเอยอย่างไร?

ทุกคนจะเป็นผู้เสียประโยชน์ หรือไม่ก็ไม่ได้ประโยชน์อะไรเลย

สงครามค่าเงินนั้นเป็นการ “race to the bottom” กล่าวคือ ทุกประเทศจะแข่งกันลดค่าเงินให้ต่ำที่สุดเพื่อผลประโยชน์จากการส่งออกที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ผลประโยชน์ที่ว่านี้จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อค่าเงินของประเทศตนต่ำกว่าประเทศอื่นๆ แต่เมื่อทุกประเทศต่างลดค่าเงินกันหมด ผลประโยชน์นั้นย่อมหมดความสำคัญลง

 

การลดค่าเงินยังมีต้นทุน หรือข้อเสียอยู่ด้วยหลายประการ ได้แก่ 1.) เป็นการทำให้ค่าใช้จ่ายในการนำเข้าเพิ่มขึ้น โดยราคาการนำเข้าที่สูงขึ้นจะไปลดการลงทุนของบริษัทที่ต้องอาศัยการนำเข้าเครื่องมือเครื่องจักรจากต่างประเทศ 2.) เมื่อค่าเงินอ่อน หนี้ต่างประเทศจะสูงขึ้น 3.) เป็นการทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อ เนื่องจากมูลค่าของสกุลเงินนั้นต่ำลง นอกจากนี้ การนำเข้าที่ลดลงยังเป็นการลดการแข่งขันภายในประเทศ ทำให้ระดับราคาสินค้าสูงขึ้นไปอีก และ 4.) การแข่งขันด้านการลดค่าเงินยังมีความเสี่ยงที่จะนำไปสู่การใช้นโยบายกีดกันทางการค้า (protectionist policy) เช่น การตั้งกำแพงภาษี ดังที่เคยมีปรากฏในสงครามค่าเงินครั้งที่ 1 ด้วยเหตุนี้ เมื่อทำการลดค่าเงินไปจนถึงจุดหนึ่ง ต้นทุนเหล่านี้จะเริ่มมากกว่าผลประโยชน์ที่ได้ และจะทำให้มาตรการลดค่าเงินค่อยๆ สิ้นสุดลง

 

เรียนรู้: เราจะป้องกันและรับมือการเกิดขึ้นของ currency war ได้อย่างไร?

สงครามค่าเงินนั้น อาจจะมีประเทศใดเป็นชนวนสงครามก็ได้ ซึ่งสามารถคาดการณ์ในระยะยาวได้ยาก ดังนั้นการป้องกันที่ดีที่สุด คือการประชุมเพื่อสร้างข้อตกลงระหว่างประเทศ ดังเช่นแถลงการณ์ร่วมจากการประชุมสมาชิก G-20และAPECซึ่งได้กำหนดให้อัตราแลกเปลี่ยนเป็นไปตามกลไกตลาด และให้หลีกเลี่ยงการแทรกแซงค่าเงินจากรัฐบาล อย่างไรก็ตาม ข้อตกลงเหล่านี้ใช่ว่าจะป้องกันการเกิดสงครามค่าเงินได้เสมอไป ด้วยเหตุนี้ สิ่งที่ควรให้ความสำคัญคือการเรียนรู้เพื่อลดผลกระทบด้านลบจากสงครามค่าเงินที่เกิดขึ้น เช่น รัฐบาลไทยอาจส่งเสริมให้ธุรกิจการผลิตหันมาใช้การเพิ่มคุณภาพหรือมูลค่า ให้แก่สินค้าที่ผลิต ควบคู่ไปกับการแข่งขันทางราคา เพื่อมิให้ประเทศเสียเปรียบจากการส่งออก รัฐบาลอาจจัดเตรียมหน่วยงานเพื่อให้ข้อมูลแก่ผู้ประกอบการ พร้อมแนะนำให้หลีกเลี่ยงการลงทุนในประเทศที่มีความเสี่ยง เป็นต้น ทั้งนี้รัฐบาลต้องเลือกใช้มาตรการให้เหมาะสมต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เพื่อปลดปล่อยประเทศให้หลุดออกจากวงจรการแข่งขันที่พร้อมจะนำความสูญเสียมาได้ทุกเมื่อ

 

1 ดัชนีค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ (U.S. Dollar Index) ลดลงจาก 76.5 เมื่อ 3 พฤศจิกายน 2010 มาต่ำสุดที่ 72.9 เมื่อ 29 เมษายน 2011

คัดลอกจาก https://www.scbeic.com/th/detail/product/1694

 

แก้ไขล่าสุด ใน วันเสาร์ที่ 24 ตุลาคม 2015 เวลา 16:08 น.
 

มายาแห่งความรู้ นิยามใหม่ของความฉลาดและการศึกษา

พิมพ์ PDF


 หนังสือ The Knowledge Illusionn : The Myth of Individual Thought and the Power of Collective Wisdom (2017)  เขียนโดย Steven Solomon & Philip Fernbach บอกว่าปัญญาไม่ใช่มีแค่มิติปัญญาของปัจเจกบุคคลเท่านั้น    แต่ปัญญาที่มีพลังขับเคลื่อนความก้าวหน้าของมนุษย์ เป็น ปัญญารวมหมู่  

ผู้เขียนคือ Steven Solomon เป็นศาสตราจารย์ด้าน cognitive linguistics, Brown University   และเป็นบรรณาธิการของวารสาร Cognition    ส่วน Philip Fernbach เป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านการตลาด มหาวิทยาลัย โคโลราโด้

เรามักจะได้รับการบอกเล่า ว่าการก้าวกระโดดของวิทยาการเกิดจากบุคคลที่เป็นยักษ์ใหญ่ด้านปัญญา เช่น เซอร์ ไอแซค นิวตัน, อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์, ชาร์ลส ดาร์วิน เป็นต้น    ซึ่งเป็นความจริง   แต่เป็นความจริงที่ไม่ครบถ้วน    เบื้องหลังการค้นพบที่ยิ่งใหญ่นั้นๆ ยังมี “ปัญญารวมหมู่”  อยู่เบื้องหลัง

มายาคติอย่างหนึ่งคือ คนเรามักคิดว่าตนรู้มากกว่าที่เป็นจริง    กล่าวใหม่ว่า คนเรารู้น้อยกว่าที่ตนเองคิดว่าตนรู้     มายานี้เรียกว่า IoED (Illusion of Explanatory Depth)    มีตัวอย่างง่ายๆ เรื่องความรู้ความเข้าใจว่ารถจักรยานทำงานอย่างไร    นักจิตวิทยาเอาร่างรูปรถจักรยานที่มีส่วนประกอบไม่ครบ    ให้ตัวอย่างผู้ถูกทดลองวาดเติมให้ครบ   พบว่าคนส่วนใหญ่เติมได้ไม่ครบชิ้นส่วนสำคัญ

     สมองมนุษย์ไม่ได้มีไว้ทำหน้าที่คลังความรู้    ฟังดูแปลก   มีคนหาวิธีคำนวณว่า หากสมองมนุษย์เป็นคล้ายคอมพิวเตอร์ชีวภาพ ที่ทำหน้าที่เก็บข้อมูลความรู้    ใช้วิธีคำนวณหลายวิธี ผลออกมาตรงกันว่าสมองมีความจุเพียงประมาณ 1 gigabyte   เรื่องราวต่างๆ ในโลกมีมากมายและซับซ้อนเกินสมองมนุษย์จดจำ   

ถ้าเช่นนั้น สมองมนุษย์วิวัฒนาการมาเพื่อทำอะไร

คำตอบคือ สมองมนุษย์วิวัฒนาการมาทำหน้าที่ปฏิบัติการ (action)    โดยมีลักษณะจำเพาะต่างจากสมองสัตว์อื่นที่การทำหน้าที่วินิจฉัยเหตุผล (diagnostic reasoning)   คือการคิดจากผลไปหาเหตุ    ซึ่งทำได้ยากกว่าการคิดจากเหตุไปหาผล   

การคิดเป็นเหตุเป็นผลเชื่อมโยงกับความสามารถในการเล่าเรื่อง (storytelling) ซึ่งเป็นวิธีการง่ายๆ ที่มนุษย์ใช้สร้างความหมายของสิ่งต่างๆ ในโลก    โดยเฉพาะความหมายของอดีต   และใช้สร้างความหมายของอนาคต    ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นนิยายหรือเรื่องในจินตนาการ    นี่คือความสามารถพิเศษของมนุษย์    ที่ทำให้มนุษย์คิดระบอบประชาธิปไตยขึ้นได้ในยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์    และทำให้มนุษย์ไปเหยียบดวงจันทร์ได้

มนุษย์เราใช้เหตุผลสองแบบ คือแบบใช้ปัญญาญาณ (intuition)  กับแบบใช้การปรึกษาหารือใคร่ครวญอย่างรอบคอบ (deliberation)    การคิดแบบใช้ปัญญาญาณเป็นการคิดคนเดียว ใช้ปัญญาส่วนตน    แต่การคิดอย่างปรึกษาหารือใคร่ครวญเป็นการคิดแบบใช้ปัญญาของคนอื่นด้วย แม้จะใคร่ครวญไตร่ตรองคนเดียว เราก็คุยกับตัวเองคล้ายคุยกับคนอื่น    ซึ่งเป็นวิธีดึงเอาความคิดภายในออกไปภายนอกตัว เพื่อช่วยการคิด   

ซึ่งหมายความว่า มนุษย์เราคิดด้วยร่างกายและโลกรอบตัวด้วย  ไม่ใช่แค่ใช้สมอง     ตัวอย่างหนึ่งคือ embodiment  ซึ่งหมายถึงเราใช้การออกท่าทางช่วยการคิด    ดังกรณีเรานับจำนวนโดยนับนิ้ว    หรือสะกดคำโดยใช้กระดาษและดินสอช่วย     เราจดจำสภาพแวดล้อมรอบตัวที่เคยชินไว้ ช่วยลดภาระการคิดลงไปได้มากมาย    เปรียบเสมือนเราใช้โลกหรือสภาพแวดล้อมรอบตัวช่วยการคิด 

นอกจากนั้น เรายังใช้อารมณ์เป็นดั่งคลังความจำ    เราไม่ต้องคิดหลีกเลี่ยงเลยเมื่อเผชิญสิ่งอันตรายหรือน่าขยะแขยง   

มนุษย์เรามีความสามารถคิดร่วมกัน และร่วมมือกัน ตามทฤษฎี social brain hypothesis    การที่มนุษย์อยู่ร่วมกันเป็นสังคม ทำให้สมองวิวัฒน์สู่ความซับซ้อนมากขึ้น   ยิ่งทำให้สังคมมนุษย์ซับซ้อนขึ้น    กระตุ้นให้สมองยิ่งซับซ้อนขึ้น    เป็นวงจรสร้างความซับซ้อนของสมองและของสังคมมนุษย์    นำไปสู่การแบ่งงานกันทำ  แบ่งภาระการคิดกัน   ซึ่งเกิดขึ้นได้เพราะคนในชุมชนหรือสังคมเดียวกันมีเป้าหมายเดียวกัน    ลักษณะพิเศษ ๒ ประการ คือการแบ่งงานกันคิด  และการมีเป้าหมายร่วมกัน  นำไปสู่การบรรลุสิ่งที่มนุษย์ไม่น่าจะทำได้เช่นการประดิษฐ์สมาร์ทโฟน และการสำรวจอวกาศ    ลักษณะพิเศษสองประการของมนุษย์นี้ คอมพิวเตอร์ที่ฉลาดที่สุดไม่มี      

แต่มนุษย์ก็มีจุดอ่อนที่ group think   ซึ่งนักจิตวิทยาสังคมอธิบายว่า เป็นปรากฏการณ์ที่ “พวกมากลากไป”    ดังกรณีประชาชนสนับสนุนฮิตเล่อร์  สตาลิน  และเหมาเจ๋อตง    และในกรณีฟองสบู่การเงินในประเทศไทยช่วงปี ๒๕๓๖ - ๒๕๔๐ (อันนี้ผมเติมเอง)  

นักการเมือง และคนบางจำพวกเป็นผู้เชี่ยวชาญในการสร้าง group think    คนเราจึงต้องรู้เท่าทัน    โดยการฝึกทักษะการคิดเชิงเหตุ-ผล           

หนังสือเสนอให้นิยามความฉลาดเสียใหม่  จากการวัดไอคิว  เป็นการวัดความสามารถ และความถนัดในการทำงานร่วมกันเป็นทีม    และต้องจัดการศึกษาที่ฝึกความสามารถด้านความร่วมมือ    โดยเปลี่ยนรูปแบบการเรียนรู้จากการฟังการบรรยาย เป็นเรียนโดยการทำกิจกรรม   เน้นกิจกรรมที่ทำเป็นทีม    เพื่อฝึกทักษะการคิดร่วมกัน 

วิจารณ์ พานิช

๒๕ ต.ค. ๖๑



แก้ไขล่าสุด ใน วันอังคารที่ 26 กุมภาพันธ์ 2019 เวลา 13:02 น.
 


หน้า 3 จาก 558
Home

มูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ ์

 iHDC Profile
บัญชีรายชื่อกรรมการ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียน การเปลี่ยนแปลงกรรมการของมูลนิธิ
เอกสารประชาสัมพันธ์ โครงการ HMTC.pdf
เอกสารแนะนำโครงการ HMTC 1.pdf
เอกสารโครงการ HMTC 2 คุณสมบัติผู้เข้าร่วมโครงการ.pdf
iHDC นิติบุคคล.pdf
iHDC บุคคล.pdf
iHDC บุคคลเครือข่าย.pdf
รายงานการประชุม 6 มีนาคม 2560.pdf
ข้อบังคับมูลนิธิ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียนจัดตั้งมูลนิธิ
Ihdc-Profile and Roadmap 2016-2019 Mar 23 2560.pdf
รายงานการประชุมใหญ่คณะกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ 2559.pdf
คำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ สาขาวิชาชีพ.pdf
รายงานการประชุมใหญ่วันที่ 18 ธ ค 2558 v 3.pdf
รายงานการประชุม วันที่ 24 ธันวาคม 2557 updated 4 มีนาคม 2558.pdf
iHDC-invitation Letter.doc
iHDC-Member Form Thai.doc
iHDC-Member Form English.doc
รายงานการประชุมกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ วันที่ 15 มกราคม 2556 ฉบับสมบูรณ์


thaibetter
พัฒนาประเทศไทยแบบทวีคูณ และยั่งยืน ( ททค )

Login


แบบสำรวจ

สถิติเว็บไซด์

สมาชิก : 5605
Content : 3047
เว็บลิงก์ : 26
จำนวนครั้งเปิดดูบทความ : 8597961

facebook

Twitter


บทความเก่า