Thaiihdc.org

  • เพิ่มขนาดตัวอักษร
  • ขนาดตัวอักษรปกติ
  • สดขนาดตัวอักษร
Thaiihdc.org

ขับเคลื่อนท่องเที่ยวลดเหลื่อมลํ้า พันธกิจ‘วีระศักดิ์ โควสุรัตน์’

พิมพ์ PDF

ขับเคลื่อนท่องเที่ยวลดเหลื่อมลํ้า พันธกิจวีระศักดิ์ โควสุรัตน์

การกลับมานั่งเก้าอี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวฯอีกครั้ง แม้จะผ่านมากว่า 9 ปีแล้ว วันนี้มองว่าความเปลี่ยนแปลงด้านการท่องเที่ยวที่เกิดขึ้นอย่างไร และเราจะเห็นภาพการขับเคลื่อนในเรื่องใดบ้างที่จะเกิดขึ้น อ่านได้จากสัมภาษณ์พิเศษ นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา

**
กระจายรายได้สู่ชุมชน
ภาพการท่องเที่ยวของไทยวันนี้ ในแง่ของการสร้างรายได้เข้าประเทศ สมัยก่อนต้องลุ้นให้มีนักท่องเที่ยวเข้ามามากๆ แต่วันนี้เราคลายความกังวลเรื่องนั้นไปแล้ว เพราะปัจจุบันไทยมีรายได้จากการท่องเที่ยวคิดเป็นสัดส่วน 20% ของผลิตภัณฑ์ มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) และยังมีรายได้ท่องเที่ยวอยู่ในอันดับต้นของโลก รวมถึงได้รับรางวัลนานาชาติมากมาย แสดงว่าอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของเราโตเพียงพอ เข้มแข็งขึ้น ไม่ได้ดูบอบบางเหมือนในอดีต

ดังนั้นการท่องเที่ยวควรเป็นเครื่องมือในการรับใช้เป้าประสงค์ของชาติ ไม่ใช่แค่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ แต่ต้องเป็นเครื่องมือผลักดันลดความเหลื่อมลํ้าทางรายได้ของประเทศด้วย อะไรหรือกิจกรรมใดที่เราจะส่งเสริมในเมืองรอง แหล่งรอง การขยายกิจกรรมจากแหล่งหลักไปแหล่งรอง

ไม่ว่าจะเป็นการใช้มาตรการด้านการคลัง ที่จะส่งเสริมในเรื่องนี้ การสร้างสปิริตให้เกิดขึ้น การดึงให้เกิดการเดินทางเข้าไป ซึ่งต้องอาศัยความสามารถในการเล่าเรื่องที่อยู่ในชุมชนเอาออกมาให้เห็น ยิ่งในโลกยุค Gen Y ที่ เติบโตมากับโลกโซเชียลภาพ 1 ภาพหรือประโยคสั้นๆ ทำให้เกิดแรงบันดาลใจ เป็นโอกาสให้เกิดการท่องเที่ยวได้ เราต้องทำเรื่องเหล่านี้ให้เกิดการมองมุมกว้าง คือการส่งต่อโอกาสให้กับคนจำนวนมาก เปลี่ยนมิติอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ที่ไม่ใช่แค่ส่งนักท่องเที่ยวไปซื้อของมากๆ เพื่อที่จะได้ส่วนต่าง ซึ่งก็เป็นธุรกิจท่องเที่ยวในอีกมุมหนึ่

วันนี้เราจะเห็นว่ามีคนเสียสละไม่ใช่ลดหย่อนภาษี แต่อยากร่วมทำความดีให้แผ่นดิน อย่าง โครงการก้าวคนละก้าวของตูน บอดี้สแลม เรื่องของการ ท่องเที่ยวก็เหมือนกัน การท่องเที่ยวไม่ใช่แค่ไปพักผ่อนอย่างเดียว อยากไปทำความดีในชุมชนเศรษฐกิจพอเพียงด้วยก็มี ซึ่งไม่จำเป็นที่ต้องเข้าไปพัก เพราะที่พักในชุมชนบางแห่งก็ยังไม่พร้อมให้เข้าพัก แค่ทำให้นักท่องเที่ยวได้เข้าไปชุมชน เปิดหู เปิดตา เปิดใจ ให้รอยยิ้ม ให้กำลังใจชุมชน ก็ถือว่าช่วยลดความเหลื่อมลํ้าได้ระดับหนึ่งแล้ว และยิ่งทำให้เกิดการใช้จ่ายในชุมชน ก็จะเกิดการกระจายรายได้

**
ตั้งคลินิกท่องเที่ยว
นอกจากนี้จะเห็นว่าวันนี้สิ่งที่ทำได้ดีขึ้น คือ ไทยมีนักท่องเที่ยวคุณภาพที่มากขึ้น แสดงว่าเราเลือกกวักนักท่องเที่ยวได้ดีขึ้น แต่ซัพพลายของเรายังเหมือนเดิม เกิดความเสื่อมโทรมของแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ และปัญหาในเชิงโครงสร้างของระบบราชการที่เกี่ยวข้องด้านการท่องเที่ยว ที่ยังไม่ค่อยได้ปรับมากนัก อย่างในอดีตการทำงานของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เคยทำงานได้ครอบคลุม แต่พอเป็นกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ก็ถูกยุบและจำกัดให้ทำเฉพาะด้านตลาด ซึ่งไปลดบทบาทเขา เพื่อให้หน่วยราชการที่ตั้งขึ้นมีภารกิจ โดยภารกิจพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวกลายเป็นหน้าที่ของกรมการท่องเที่ยว ที่เมื่อก่อนไม่มีข้าราชการอยู่ในต่างจังหวัดเลยแม้จังหวัดเดียว

โครงสร้างนี้น่าจะได้แก้ไข แต่การจะไปแก้โครงสร้างเหมือนเป็นการทุบบ้าน ฝุ่นตลบ จึงใช้วิธีแก้ไขที่ทำได้ทันที คือให้ททท.จับมือกรมการท่องเที่ยวและสำนักงานปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวฯ ที่เดี๋ยวนี้มีครบทุกจังหวัด ร่วมกันจัดตั้ง คลินิกท่องเที่ยวซึ่งเป็นคณะทำงาน เพื่อให้บูรณาการทำงานร่วมกัน ดึงตำรวจท่องเที่ยว องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (อพท.) และสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (ทีเส็บ) มาร่วมด้วย เพื่อร่วมแก้ไขปัญหาท่องเที่ยว

ผมคิดว่าถ้าเราลดกระจก เปิดรั้ว เข้าใจในข้อจำกัด ยอมรับและไว้วางใจกัน สร้างวัฒนธรรมองค์กรมองเป้าหมายเดียวกันและการร่วมมือกับพื้นที่ องค์กรภาคประชาชน ก็จะทำให้เราช่วยกันซ่อมแหล่งท่องเที่ยวแก้ไขปัญหาขยะ การจราจรได้ ซึ่งถือเป็นการถักทอการบูรณาการทำงานร่วมกัน โดยไม่ติดกับความเป็นกรม และควรจะเลิกเสียทีกับการออกหนังสือเชิญเอกชนตอนเช้า มาประชุมตอนบ่าย

ทั้งนี้คลินิกท่องเที่ยว จะผลักดันการซ่อมและสร้าง 1.ถ้าลงพื้นที่ไหนหรือแหล่งท่องเที่ยวใด หากพบว่ากำลังต้องซ่อม คลินิกไม่ช่วยคิดวิธีซ่อม ปล่อยให้ ซ่อมเอง แต่ถ้าเห็นองค์ความรู้จำกัด คลินิกก็จะเป็นพี่เลี้ยง หรือ 2.ถ้าที่นั่นไม่คิดซ่อม แต่กำลังสร้าง ธุรกิจขึ้น เช่น จะทำอี-คอมเมอร์ซ แต่อาจทำเองไม่เป็น ก็จะประสานหรือยืมหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องเข้าไปให้ความช่วยเหลือ

**
มุ่งลงพื้นที่ใม่เน้นเปิดงาน
ผมมาที่นี่เพื่อปรับฐาน ไม่ได้หวังความนิยม ประกาศตัวเลขปีนี้เท่าไหร่ เรื่องพวกนี้มีคนบอกได้ให้เขาบอกไป ผมจะเน้นการทำงานในภาคสนาม ลงไปสัมผัสในพื้นที่ ทำงานแบบหัวเข่า มือ เปื้อนดิน มากกว่ายืนที่โพเดียมเปิดงาน เพื่อดึงให้คนมีส่วนร่วมในการพัฒนา ดูแลและแก้ปัญหาต่างๆ ในแหล่งท่องเที่ยว ไม่ว่าจะเป็นขยะ นํ้าเสีย ลงพื้นที่ เพื่อไปทำให้แผนพัฒนาท่องเที่ยวตามคลัสเตอร์ต่างๆ ซึ่งผมอ่านแล้วคิดว่าแผนพอใช้ได้ แต่ต้องลงไปสัมผัสแปลจากแผนมาทำให้เกิดความเป็นรูปธรรมในทางปฏิบัติ

นอกจากนี้ผมยังมองว่าคลัสเตอร์ท่องเที่ยวที่มีอยู่ ยังสามารถทำให้มีความหมายได้กว้างขึ้น ไม่ใช่แบ่งโดยใช้กายภาพเป็นหลัก ปัจจุบันดิจิตอลเกิดขึ้น แหล่งท่องเที่ยวที่ไม่ได้มีจังหวัดติดกัน ก็สามารถเชื่อมโยงกันได้ผ่านการเดินทางทางอากาศเป็นต้น


ส่วนการทำงานต่างๆ ตามแผนพัฒนาท่องเที่ยวที่วางไว้ใน หลายแผนที่เกิดขึ้น ผมก็มองว่าเดินทางถูกทาง เพราะเขียนแผน การพัฒนาสอดคล้องไปในช่วงปีเดียวกันคือปี 2560-2564 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเริ่มสื่อสารเรื่องท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น เจ้าหน้าที่ก็ทำไป ผมไม่มีเวลามาเปลี่ยนกระดาษรื้อโครงการ แต่ระหว่างที่ทำมีอะไรยินดีให้ปรับปรุงก็ประสานหารือกันได้ และด้วยความที่งานด้านท่องเที่ยวกว้างใหญ่เกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน อาทิ กระทรวงการคลัง, คมนาคม, เกษตร, ศึกษาฯ เราก็ควรเดินไปหาหน่วยงานต่างๆ เพื่อบอกเขาว่าเราเป็นเครื่องมือให้เขาได้อย่างไร จะทำให้เกิดความเต็มใจและการร่วมมือที่ยั่งยืน

**
หนุนพัฒนาบุคลากร
อีกเรื่องที่ผมมองว่าสำคัญคือการพัฒนาบุคลากรด้านการท่องเที่ยว เพราะที่ผ่านมาเราฝากเรื่องนี้กับสถาบันการศึกษาต่างๆ เพียงด้านเดียว ก็มีคนเดินผิดเดินถูก ที่ผ่านมามีสถาบันการศึกษาด้านท่องเที่ยวหลายแห่ง แต่ก็ไม่เคยได้คุยกัน ผมก็มองว่าควรมีการตั้งสถาบันพัฒนาบุคลากรด้านการท่องเที่ยวขึ้น โดยรวมผู้เชี่ยวชาญในแต่ละเรื่องด้านการท่องเที่ยว มาจัดหมวดหมู่ เชิญสถาบันการศึกษามานั่งคุยพร้อมกัน เพื่อให้เกิดการพัฒนาบุคลากรที่จะก้าวไปไกลๆ ตอบโจทย์การทำงานด้านการท่องเที่ยวอย่างที่ผู้ประกอบการต้องการ ไม่ต่างคนต่างเดิน

ทั้งหมดล้วนเป็นทิศทางการขับเคลื่อนการท่องเที่ยวที่จะเกิดขึ้นในช่วง 1 ปีนี้ภายใต้การทำงานของรมว.ท่องเที่ยวคนใหม่

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,320 วันที่ 7 - 9 ธันวาคม พ.ศ. 2560

แก้ไขล่าสุด ใน วันพุธที่ 13 ธันวาคม 2017 เวลา 12:06 น.
 

ทำไมอเมริกาจึงเสื่อมถอย

พิมพ์ PDF
"ความเสื่อมอยู่ที่ความไม่เป็นธรรมในสังคม ช่องว่างของรายได้ถ่างกว้างขึ้น ระหว่างคนรวยกับคนจน"


ทำไมอเมริกาจึงเสื่อมถอย

บทความในนิตยสาร ไทม์ ฉบับวันที่ ๒๘ พฤษภาคม ๒๕๖๑ เรื่อง My Generation Was Supposed to Level America’s Playing Field. Instead, We Rigged It For Ourselves (1) เขียนโดย Steven Brill  น่าอ่านมาก   บอกสาเหตุความเสื่อมถอยของอเมริกา

หากไม่มีเวลา อ่านเฉพาะย่อหน้าที่สองของบทความ ก็จะได้ข้อสรุป

ความเสื่อมอยู่ที่ความไม่เป็นธรรมในสังคม  ช่องว่างของรายได้ถ่างกว้างขึ้น ระหว่างคนรวยกับคนจน

สาเหตุมาจากการเมืองที่เปิดโอกาสให้คนรวยเข้าครองอำนาจ และออกกฎหมายเพื่อพวกตน    

อ่านไปเรื่อยๆ จะเห็นภาพเปรียบเทียบสภาพในปัจจุบันกับเมื่อ ๔๐ – ๕๐ ปีก่อน ในด้านต่างๆ ที่ด้อยลงอย่างน่าตกใจ    เช่น อัตราความยากจนสูงเป็นอันดับที่ ๓ ในประเทศกลุ่ม โออีซีดี  รองจากตุรกีและอิสราเอล    หนึ่งในห้าของเด็กอเมริกัน อยู่ในสภาพ “ไม่มีความมั่นคงทางอาหาร”   

ปฐมเหตุของความเสื่อมถอยคือ ระบบการเมือง ที่ออกแบบไว้ดี เริ่มต้นดี   แต่ถูกใช้เพื่อผลประโยชน์ของผู้แข็งแรง   โดยไม่เผื่อแผ่แก่ผู้อ่อนแอกว่า   ไม่ได้ทำเพื่อส่วนรวม 

ผมตั้งคำถามว่า สภาพเช่นนี้ เป็น“คอร์รัปชั่นเชิงระบบ”หรือเปล่า 

ระบบเศรษฐกิจและการเมืองของเรากำลังตามก้นอเมริกันหรือเปล่า  

รายละเอียดอยู่ในหนังสือ Tailspin : The People and Forces Behind America’s Fifty-Year Fall --- and Those Fighting to Reverse It (2018)   เขียนโดยSteven Brill 

บทความ The strange failure of the educated elite in America(2) โดยDavid Brooksลงพิมพ์ใน นสพ. บางกอกโพสต์ วันที่ ๓๐ พฤษภาคม ๒๕๖๑ หน้า ๙   กล่าวถึงหนังสือTailspin ของ Steven Brill     และย้ำความล้มเหลวของแนวทาง meritocracy(ความสามารถเป็นใหญ่) ของ สรอ. ที่สร้างขึ้นแทนที่แนวทาง aristocracy(กลุ่มคนรวยเป็นใหญ่) ที่เป็นแนวทางเดิม     เพราะระบบใหม่ได้กลายเป็น new aristocracy   คือสร้างระบบต่างๆ ที่เอื้อต่อการสั่งสมอำนาจและความร่ำรวยในกลุ่มพวกตน    

วิจารณ์ พานิช

๒๙ พ.ค. ๖๑ ปรับปรุง ๓๐ พฤษภาคม ๒๕๖๑ ที่ห้องรับรองการบินไทย ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ   

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย  ใน บันทึกการเมืองไทย

แก้ไขล่าสุด ใน วันอังคารที่ 10 กรกฏาคม 2018 เวลา 21:32 น.
   
 

บทเรียนจากปี 2540

พิมพ์ PDF

(April 5) "บทเรียนจากปี 40" ช่วงนี้ เมื่อเห็นความคึกคักในส่วนต่างๆ ของเศรษฐกิจไทย ไม่ว่าจะเป็นตลาดหุ้น ตลาดอสังหาฯ การใช้จ่ายของประชาชน ทำให้อดนึกย้อนกลับไปถึงช่วงก่อนเกิดวิกฤติปี 40 ไม่ได้ เพราะสิ่งที่เคยเป็นตัวเรา ที่ได้ห่างหายไปเกือบ 16 ปี กำลังหวนกลับคืนมาอีกรอบ
คนไทยกำลังมีความเชื่อมั่นมากขึ้นเรื่อยๆ 

๐ นักลงทุน ลงทุนกันอย่างสนุกสนาน คึกคัก ประเภทหยุดไม่อยู่ ห้ามไม่ฟัง (แม้ตลาดหุ้นจะมี correction แล้ว 2 ครั้งก็ตาม) ยังกล้าลงทุนในบริษัทต่างๆ ที่ไม่ได้แม้แต่จะรู้ว่า บริษัทนั้นทำธุรกิจอะไร แพงแล้วแค่ไหน เพียงเพราะเชื่อกันว่า ช่วงนี้ “หุ้นตัวนี้กำลังมา” “เจ้ากำลังเข้า” “ลงแล้วได้เงินแน่” ประเภทจิ้มตัวไหนก็ขึ้น กระทั่งคนที่ไม่เคยเล่นหุ้นมาก่อน ก็ดาหน้ากันเข้ามาขอเปิดบัญชี ขอลิ้มรสความรวยอย่างสบายๆ กับเขาสักครั้ง 

๐ ภาคอสังหาริมทรัพย์ แย่งเปิดโครงการกันไม่เว้นแต่ละวัน จบโครงการหนึ่งก็ไปเริ่มอีกสองโครงการ ทุกอย่างเป็นเงินไปหมด แข่งกันสร้าง แย่งกันซื้อที่ดิน เพราะคิดว่า เดี๋ยวราคาที่ดินก็พุ่งขึ้นไปอีก จนราคาที่ดินในบางจังหวัด เพิ่มมากกว่า 80-90% ในปีที่ผ่านมา ส่วนคอนโด ก็แย่งกันซื้อมาเก็บ บางครอบครัวก็มีกันแล้วหลายห้อง เพราะคิดว่า เดี๋ยวจะไปขายต่อ และราคาคอนโดจะขึ้นไปได้อีก และก็คุ้นๆ เช่นกัน ที่เมื่อมีคนพูดขึ้นว่า “กำลังมีฟองสบู่หรือเปล่า” ก็ปฏิเสธกันเป็นพัลวัน หาเหตุผลมาแย้งว่า ทุกอย่างกำลังไปได้ดี มีความต้องการซื้อจริงๆ 

๐ ผู้บริโภค กล้าจับจ่ายใช้สอย จะไม่ให้กล้าจับจ่ายใช้สอยได้อย่างไร ก็ได้เงินมากันง่ายๆ เช่นนี้ จิ้มหุ้นไปตัวสองตัว ได้เงินเป็นหมื่นเป็นแสนเป็นล้าน พอได้เงินมา ก็นำไปบริโภคสิ่งต่างๆ กระเป๋าใบใหม่ เสื้อผ้าใหม่ รถคันใหม่ แบรนด์เนมต่างๆ ทานอาหารหรูๆ ใช้จ่ายเหมือนเงินไม่มีหมด 

๐ บริษัท มั่นใจขึ้นเรื่อยๆ กล้าที่จะลงทุนกันมากขึ้น คิดการใหญ่กันมากขึ้น แม้ช่วงนี้ยังลงทุนอยู่ในกรอบที่ตนสันทัด แต่ในช่วงต่อไป เมื่อทุกอย่างเฟื่องฟูกว่านี้ ก็คงอดไม่ได้ ที่จะขยายไปยังธุรกิจอื่นๆ ที่โอกาสเปิดขึ้น 

๐ กระทั่งธนาคารเอง แย่งกันปล่อยสินเชื่อ ไม่ว่าจะเป็นสินเชื่อบุคคล รถยนต์ บ้าน สินเชื่อธุรกิจ ใหญ่ กลาง เล็ก เพื่อเพิ่มส่วนแบ่งตลาด และเป็นส่วนหนึ่งของเศรษฐกิจขาขึ้น 

ทุกอย่างเหล่านี้ เราได้ผ่านมาเมื่อ 16-17 ปีที่แล้วทั้งนั้น โดยในช่วงก่อนเกิดวิกฤติ หลายคนก็เคยรู้สึกกันอย่างนี้มาแล้วทีหนึ่ง ที่คิดว่า “เราทำได้” “ทุกอย่างเป็นไปได้” “อีกไม่นานเราก็จะเป็นเสือตัวที่ห้าของเอเชีย” แข่งขันกันโต แข่งขันกันวิ่งไปข้างหน้า แข่งขันกันทำธุรกิจ อย่างไม่เกรงกลัวอะไร 

ในประเด็นนี้ ถ้ากันพูดตามจริง การที่เรามีความเชื่อมั่นในตนเองเพิ่มขึ้น เป็นสิ่งที่ดี เพราะเราเสียความมั่นใจกันไปมากในปี 40 ทำให้ประเทศไทยขับเคลื่อนเดินต่อไปได้อย่างช้าๆ ในช่วงที่ผ่านมา จนคู่แข่งของเรา อย่างมาเลเซีย จีน แซงหน้าเราไปได้ แต่ถ้าเราจะกล้ากันมากขึ้น เราต้องหา “สมดุลที่เหมาะสม” ไม่เชื่อมั่นกันจนมากเกินไป กล้าเกินไป จนเกิดความเสียหายอีกครั้ง 

สำหรับอีกหลายคน สัญญาณความคึกคักเหล่านี้เป็นระฆังเตือนภัยว่า “กระบวนการสะสมความเปราะบางของเศรษฐกิจกำลังเริ่มขึ้นอีกรอบ” และถ้าเราไม่ระวังให้ดี ก็อาจจะจบลงเช่นกับครั้งที่แล้ว ที่ต้องมานั่งล้างเช็ดแผลของเรา เสียเวลาไปกว่า 10-15 ปีกว่าที่จะกลับมาจุดเดิมได้
บทเรียนจากปี 40 คืออะไร

นักเศรษฐศาสตร์ชอบพูดว่า “วิกฤติทุกครั้งจะไม่เหมือนกัน” และประเทศไทยก็เปลี่ยนแปลงตนเอง ในกรอบนโยบายต่างๆ ไปมาก เกินกว่าที่จะกลับย้อนไปเกิดวิกฤติเหมือนปี 40 อีกครั้ง แต่ในความเป็นจริงแล้ว วิกฤติทุกครั้งในประเทศต่างๆ เริ่มเหมือนๆ กัน จากความประมาท ความเชื่อมั่นเกินไปว่า เราทำได้ เราดูแลสถานการณ์ดีแล้ว ปล่อยปละให้ปัญหาและความเปราะบางต่างๆ สะสมตัวขึ้นมาได้ และมั่นใจจนลืมไปว่า ทุกประเทศสามารถเกิดวิกฤติได้ ไม่ว่าจะพัฒนาไปแล้วแค่ไหนก็ตาม กระทั่งสหรัฐ ยุโรปที่ว่าพัฒนาไปไกลเกินกว่าคนอื่นๆ ก็ยังตกอยู่ในภาวะวิกฤติได้เช่นกัน 

ปี 40 ให้บทเรียนหลายอย่างกับเรา ที่เราจะใช้เป็นคาถาคุ้มครองตนเองในช่วงต่อไป

บทเรียนที่ 1 - ต้องไม่ทำอะไรเกินตัว ต้องไม่คึกกับช่วงดีๆ ของเศรษฐกิจเกินไป ครั้งที่แล้วเราคึกคะนองจนเกินไป เพราะยังเป็นเด็กหนุ่มอยู่ เพิ่งได้จัดงานเลี้ยงกับเขาเป็นครั้งแรก ก็เลยสนุกไปหน่อย แต่ครั้งนี้ เราโตขึ้นมาแล้ว เป็นหนุ่มกลางคน เคยมีบทเรียนราคาแพงจากปี 40 มาแล้ว เราก็ต้องรู้จักพยายามยับยั้งชั่งใจ ไม่ทำอะไรเกินตัวไป ซึ่งส่วนนี้ ก็ต้องหวังพึ่งทุกคน ที่จะพยายามรั้งตัวเองไว้ เลือกลงทุน เลือกบริโภค เลือกขยายกิจการแบ่งยั้งๆ เพราะถ้าเราไม่ดูแลตนเอง ก็ยากที่คนอื่นจะมาช่วยเราได้

บทเรียนที่ 2 - ทางการต้องจัดการกับปัญหาแต่เนิ่นๆ อย่ารอจนพิสูจน์ได้ว่า “เป็นฟองสบู่แล้ว” แล้วจึงมาออกมาตรการ ในเรื่องนี้ ทางการจะเป็นหัวใจสำคัญ เพราะเอกชนรวมไปถึงนักลงทุน ก็พลาดได้เช่นกัน (ต้องไม่คิดว่าเอกชน ถูกเสมอ) เพราะเอกชนยากที่จะห้ามใจตนเองได้ จะห้ามได้อย่างไร ก็กำลังแข่งกันอย่างเมามันอยู่ การจะหยุดแต่เพียงคนเดียวจึงเป็นเรื่องที่ไม่ง่าย ก็ต้องหวังพึ่งทางการว่า จะเป็นกรรมการกลางคอยเป่านกหวีด กำหนดกฎเกณฑ์ สั่งให้ทุกคนชะลอสิ่งต่างๆ ลงมาพร้อมๆ กัน ถ้ากรรมการตั้งอยู่บนความยุติธรรม ทุกคนก็ยอมรับกันได้

ในส่วนนี้ อุปสรรคสำคัญจะมาจากเสียงค้านจากภาคเอกชน ที่มักบอกว่า “ได้ดูข้อมูลแล้ว ยังไม่พบฟองสบู่แม้แต่นิด แล้วจะออกมาตรการทำไม” แต่ถ้าเราจะรอจนพิสูจน์กันได้ชัดๆ ว่า มีฟองสบู่เรียบร้อยในระบบเศรษฐกิจแล้ว ทุกอย่างก็จะสายเกินแก้ รอแต่วันล่มสลาย บทเรียนจากวิกฤติของทุกประเทศในช่วงที่ผ่านมาก็คือ “ถ้าจะทำมาตรการ ก็ต้องทำแต่ช่วงต้น ทำแต่เนิ่นๆ” โดยเฉพาะเมื่อเริ่มเห็นพฤติกรรมที่ผิดสังเกต เช่น ปกติราคาที่ดินเพิ่ม 10-15% แต่อยู่ๆ ก็เพิ่มเป็น 80-90% ปกติมีคอนโด 10 โครงการต่อปี อยู่ๆ มีเป็น 50-60 โครงการแย่งกันเปิด แย่งกันขาย เมื่อเห็นเช่นนี้ ทางการก็ต้องเร่งคิดว่า จะทำอย่างไรให้เอกชนไม่คึกคะนองเกินไป ทำให้โตได้ ขยายได้ แต่โตอย่างพอประมาณ ยั่งยืน ไม่จบด้วยโศกนาฏกรรม 

บทเรียนที่ 3 - ต้องรู้จักเก็บออมเอาไว้บางส่วน สร้างภูมิคุ้มกันให้กับตนเอง เพราะในโอกาสมีวิกฤติซ่อนอยู่เสมอ ยิ่งโอกาสดีเท่าไร วิกฤติที่ซ่อนอยู่ก็ร้ายแรงขึ้นเท่านั้น ยิ่งครั้งนี้ หลายๆ ประเทศในเอเชียกำลังเป็นที่สนใจของคนทั้งโลก กำลังได้รับเงินไหลเข้ามาพร้อมๆ กัน ถ้าเป็นเช่นนี้ คงจะมีสักประเทศ 2 ประเทศ ที่บริหารจัดการเงินไหลเข้าได้ไม่ดี ท้ายสุดต้องล้มลง วิกฤติในระบบเศรษฐกิจโลกรอบต่อไป ก็อาจเกิดขึ้นแถวๆ บ้านเราก็ได้ ซึ่งเมื่อถึงเวลานั้น ถ้าเราไม่มีเงินเก็บออม ไม่มีสภาพคล่อง ทุกคนมีแต่หนี้ ทั้งหนี้ภาครัฐ และหนี้ภาคเอกชน วิกฤติก็คงมาถึงเรา ล้มลงในที่สุด แต่ถ้าเรารู้จักเก็บออมแต่ตอนนี้ แม้มีวิกฤติ เราก็จะพยุงตนให้ผ่านไปได้ 

นอกจากนี้ ท่ามกลางวิกฤติ ในความมืดมิด มักจะมีโอกาสที่ดีที่สุด เปิดขึ้นเสมอ ถ้าเรารู้จักถนอมตัวเองเอาไว้ได้ ไม่โหมทำลงไปหมดในช่วงที่เฟื่องฟู จนต้องมายุ่งกับการแก้ปัญหาที่เราผูกเอาไว้ วุ่นวายกับการเอาชีวิตรอด ด้วยเงินที่เราเก็บออมไว้ได้บางส่วน เราอาจจะสามารถฉกฉวยโอกาสที่เปิดในช่วงที่เกิดวิกฤติ เดินก้าวหน้าต่อไปขณะที่ทุกคนถอยหลัง เปลี่ยนวิกฤติให้เป็นโอกาสสำหรับประเทศไทย

พระท่านกล่าวไว้อย่างไพเราะว่า “ผิดหนึ่งพึงจดไว้ ในสมอง เร่งระวังผิดสอง ภายหน้า” ก็ต้องขอให้เราทุกคนตั้งอยู่ในความไม่ประมาท ยิ่งระฆังเตือนภัยเริ่มดังขึ้นเช่นนี้ ก็ขอให้หมั่นทบทวนบทเรียนจากปี 40 ทั้ง 3 ข้ออยู่อย่างสม่ำเสมอ “ไม่ทำอะไรเกินตัว” “รู้จักจัดการปัญหาแต่เริ่มเห็น” “เร่งเก็บออม สร้างภูมิคุ้มกันให้กับตนเองอย่างต่อเนื่อง” ซึ่งหากเราทำได้ตามนี้ ก็จะน่าสามารถรักษาตัวให้ผ่านวิกฤติที่กำลังรออยู่ได้ และน่าจะสามารถเปลี่ยนวิกฤติครั้งนี้ให้เป็นโอกาสกับประเทศไทยอย่างแท้จริง ก็ขอเอาใจช่วยทุกคนครับ

Source: กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
โดย ดร. กอบศักดิ์ ภูตระกูล 
คอลัมนิสต์ประจำคอลัมน์ "อนาคตเศรษฐกิจไทย" ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ 
หมายเหตุ สนใจอ่านเพิ่มเติมได้ที่ “Blog ดร. กอบ” ที่ www.kobsak.com ครับ


ขอบคุณครับ ดร.กอบศักดิ์ ที่ออกมาเตือน ผมเป็นห่วงจริงๆครับ คนไทยชอบเสี่ยงตามกระแส และคิดในระยะสั้นๆ ไม่ค่อยคิดถึงความยั่งยืน ผมคิดว่าคนไทยเป็นคนที่ชอบเล่นการพนันที่สุด ตลาดหลักทรัพย์ กลายเป็นบ่อนคาสิโนถูกกฎหมาย แถมไม่เสียภาษีด้วย ลงท้ายใครรวย

ม.ล.ชาญโชติ ชมพูนุท


1Like ·  · 

 


หน้า 4 จาก 558
Home

มูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ ์

 iHDC Profile
บัญชีรายชื่อกรรมการ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียน การเปลี่ยนแปลงกรรมการของมูลนิธิ
เอกสารประชาสัมพันธ์ โครงการ HMTC.pdf
เอกสารแนะนำโครงการ HMTC 1.pdf
เอกสารโครงการ HMTC 2 คุณสมบัติผู้เข้าร่วมโครงการ.pdf
iHDC นิติบุคคล.pdf
iHDC บุคคล.pdf
iHDC บุคคลเครือข่าย.pdf
รายงานการประชุม 6 มีนาคม 2560.pdf
ข้อบังคับมูลนิธิ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียนจัดตั้งมูลนิธิ
Ihdc-Profile and Roadmap 2016-2019 Mar 23 2560.pdf
รายงานการประชุมใหญ่คณะกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ 2559.pdf
คำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ สาขาวิชาชีพ.pdf
รายงานการประชุมใหญ่วันที่ 18 ธ ค 2558 v 3.pdf
รายงานการประชุม วันที่ 24 ธันวาคม 2557 updated 4 มีนาคม 2558.pdf
iHDC-invitation Letter.doc
iHDC-Member Form Thai.doc
iHDC-Member Form English.doc
รายงานการประชุมกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ วันที่ 15 มกราคม 2556 ฉบับสมบูรณ์


thaibetter
พัฒนาประเทศไทยแบบทวีคูณ และยั่งยืน ( ททค )

Login


แบบสำรวจ

สถิติเว็บไซด์

สมาชิก : 5606
Content : 3049
เว็บลิงก์ : 26
จำนวนครั้งเปิดดูบทความ : 8601449

facebook

Twitter


บทความเก่า