ทำไมผมถึงเขียนเรื่องนี้

วันอาทิตย์ที่ 27 ธันวาคม 2020 เวลา 17:34 น. ม.ล.ชาญโชติ ชมพูนุท ประชาสัมพันธ์ - ประชาสัมพันธ์
พิมพ์

ทำไมผมถึงเขียนเรื่องนี้วันนี่

เรื่องของเรื่องก็คือ อาจมีคนจำนวนมากในบ้านเราในวัยเกษียณอย่างผมคือ รุ่นเบบี้บูมเมอร์ เกิดระหว่างปี 2489-2507 ทั้งในภาคราชการและภาคเอกชนที่อาจตั้งคำถามแบบนี้กับตัวเอง คือ รู้สึกว่าตนเองประสบความสำเร็จ มีตำแหน่งหน้าที่ดีตอนทำงาน มีชื่อเสียง มีฐานะที่ดีในสังคม และสามารถอยู่ได้อย่างสบายในวัยเกษียณ แต่ก็ไม่มีความสุข และที่ไม่มีความสุขไม่ใช่จากเรื่องส่วนตัว แต่ไม่สบายใจมาก ๆ กับสภาพและสถานการณ์ของประเทศขณะนี้ ที่ประเทศที่เป็นบ้านเกิดเมืองนอนที่เคยภูมิใจได้กลายเป็นประเทศที่มีปัญหามาก ไม่ว่าจะเรื่องการบริหารราชการ การทุจริตคอร์รัปชั่น ปัญหาความเหลื่อมล้ำ การบังคับใช้กฎหมาย ความยากจน คุณภาพการศึกษา การเมือง และความแตกแยกของคนในสังคม สิ่งเหล่านี้สวนทางกับความพยายามและความตั้งใจของคนรุ่นเบบี้บูมเมอร์ที่เป็นกำลังสำคัญขับเคลื่อนประเทศช่วง 40 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นช่วงการทำงานทั้งหมดของพวกเขา

คำถามคืออะไรเกิดขึ้น ทำไมประเทศเราจึงเป็นแบบนี้ ทำไมประเทศไม่สามารถก้าวไปข้างหน้าได้ตามศักยภาพที่มีทัดเทียมหรือแซงหน้าประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคที่เริ่มการพัฒนามาพร้อม ๆ กับเรา แต่เรากลายเป็นประเทศที่มีปัญหามาก หรือคนรุ่นเบบี้บูมเมอร์จะสร้างบ้านเมืองได้เพียงแค่นี้และทิ้งปัญหาไว้มากให้กับคนรุ่นหลัง

เรื่องนี้เคยมีนักการทูตต่างประเทศวิเคราะห์ว่า ที่ประเทศเรามาถึงจุดนี้คือ มีปัญหามากก็เพราะกลุ่มคนที่มีความรู้ของประเทศไม่ทำหน้าที่ (Thai Intelligensia has failed Thailand) คือ สอบตกในการทำหน้าที่สาธารณะที่จะนำพาประเทศไปในทางที่ดี ตรงกันข้ามกลับยอมรับความไม่ถูกต้องต่าง ๆ ง่ายเกินไปจนทุกอย่างสะสมและกลายเป็นปัญหาใหญ่ที่บั่นทอนประเทศในที่สุด

ฟังแล้วผมว่าหลายคนคงไม่ปฏิเสธข้อสังเกตุนี้ และคำตอบส่วนหนึ่งอาจมาจากหนังสือที่ผมเขียนถึงวันนี้ของตอลสตอยที่เรา หมายถึงรุ่นเบบี้บูมเมอร์และคนรุ่นต่อมาที่กำลังทำหน้าที่และมีตำแหน่งขณะนี้ อาจทุ่มเทกับการแสวงหาเพื่อตนเองมากเกินไปจนลืมทำหน้าที่สาธารณะในฐานะพลเมืองของประเทศที่จะดูแลให้สิ่งที่ถูกต้องเกิดขึ้น เราอาจยอมหรือ Compromise กับสิ่งที่ไม่ถูกไม่ควรง่ายเกินไปจนปัญหาต่าง ๆ บานปลาย และเราอาจมุ่งแต่การทำหน้าที่เพื่อส่วนตน โดยไม่สนใจสิ่งที่จะเกิดขึ้นกับส่วนรวม เหล่านี้คือข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น

คำถามคือแล้วเราจะทำอะไรได้หรือไม่ตอนนี้ ที่ไม่มีหัวโขนแล้ว เป็นพลเมืองเต็มตัว ที่จะช่วยทำให้บ้านเมืองดีขึ้น

เรื่องนี้ ผมเคยพูดหลายครั้งว่าบ้านเมืองหรือสังคมคือ สิ่งมีชีวิต เปรียบได้เหมือนร่างกายมนุษย์ เมื่อร่างกายเจ็บป่วย ร่างกายคนเราก็จะมีกลไกในตัวเองที่จะรักษาซ่อมแซมให้ร่างกายหายจากการเจ็บป่วย สังคมก็เช่นกัน เมื่อสังคมมีปัญหา สังคมก็จะมีกลไกในตนเองที่จะแก้ปัญหา ใช้ความรู้ความสามารถที่สังคมมีร่วมกันแก้ปัญหา แต่การแก้ปัญหาจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อคนในสังคมสามารถร่วมมือกันได้ ใช้ความรู้ความสามารถที่สังคมมีช่วยกันแก้ปัญหา โดยไม่มีใครหรือกลไกใดเข้ามาปิดกั้นการร่วมมือกันของคนในสังคม

ดังนั้นอย่างที่ตอลสตอยบอก ถ้าเรา "ตื่น" และยังไม่ตาย ก็ยังไม่สายไปที่จะทำอะไร เรามีเวลาที่จะทำอะไรได้อีกมาก มีเวลาที่จะทำหน้าที่พลเมืองของเราให้ถูกต้อง ไม่ยอมอะไรง่าย ๆ กับสิ่งที่ไม่ดี ช่วยกันแก้สิ่งที่ผิดให้เป็นถูก ทำเท่าที่ทำได้ แม้จะไม่มีตำแหน่งอะไรในสังคม เช่น หนึ่ง อยู่อย่างง่าย ๆ ประหยัด ไม่ฟุ่มเฟือย ไม่เป็นภาระให้กับใคร สอง เคร่งครัดที่จะทำแต่ในสิ่งที่ถูกต้องให้เป็นแบบอย่างแม้จะเพื่อตัวเอง สาม สนใจเหตุการณ์บ้านเมืองและใช้ชีวิตให้เป็นประโยชน์ต่อคนอื่นและส่วนรวม

สามเรื่องนี้ถ้าเราทำได้ในช่วงเวลาที่เหลืออยู่ เราก็จะสบายใจได้มากขึ้น ใจสงบขึ้น จะภูมิใจในสิ่งที่ได้ทำ และจะไม่ตั้งคำถามกับตัวเองในช่วงท้ายของชีวิตว่า เราได้ใช้ชีวิตอย่างถูกต้องหรือไม่ ซึ่งจะตรงกับใจของตอลสตอย ที่ลึกๆคิดว่า ชีวิตที่มีความหมาย คือ ชีวิตที่อยู่เพื่อคนอื่น เหมือน อดัม สมิธ ผู้บุกเบิกวิชาเศรษฐศาสตร์เมื่อเกือบสามร้อยปีก่อนที่คิดเหมือนกัน



ดร.บัณฑิต นิจถาวร
ประธานมูลนิธินโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล