ชีวิตที่พอเพียง : ๒๑๕๑. ความรับผิดชอบต่อสังคม

วันอังคารที่ 06 พฤษภาคม 2014 เวลา 00:00 น. ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช บทความ - พัฒนาทุนมนุษย์
พิมพ์

 

ปีนี้เป็นปีแรก ที่ธนาคารไทยพาณิชย์ จัดทำ รายงานการพัฒนาอย่างยั่งยืน 2556 หรือ Sustainability Report ออกเผยแพร่ อ่านได้ ที่นี่

 

ในการค้นหา pdf file ของรายงานนี้ ผมพบ ไฟล์ ชื่อ ความท้าทายของคณะกรรมการตรวจสอบ กับการพัฒนาอย่างยั่งยืนของบริษัทจดทะเบียน โดย รศ. ดร. กุลภัทรา สิโรดม กรรมการ และกรรมการตรวจสอบ ของธนาคารไทยพาณิชย์ โดยผมเข้าใจว่าเป็น ppt ที่ใช้ในการบรรยายแก่ผู้บริหารของธนาคารฯ แต่เมื่อพบกับท่านใน วันประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นของธนาคารไทยพาณิชย์ เมื่อวันที่ ๓ เมษายน ๒๕๕๗ ผมชมเอกสารนี้ จึงทราบว่า ท่านไปพูดที่ กลต. และกว่าจะได้ข้อมูลตามในเอกสารนี้ ต้องมีการค้นและวิเคราะห์ เป็นผลงานวิจัยย่อยๆ ชิ้นหนึ่งทีเดียว

 

ผมดีใจที่ ได้เรียนรู้ว่า นักวิชาการมองว่า CSR มี ๒ ส่วน คือส่วนที่อยู่ในเนื้องานหรือธุรกิจ (CSR in Process) ซึ่งส่วนนี้ดำเนินการโดยฝ่ายจัดการ และฝ่ายปฏิบัติงาน กำกับโดยคณะกรรมการตรวจสอบ กับส่วนที่เป็น CSR นอกธุรกิจ หรือการคืนกำไรตอบแทนสังคม (CSR after Process) ซึ่งใน SCB ส่วนหลังแยกดำเนินการเป็น ๒ ส่วน ส่วนหนึ่งดำเนินการโดย มูลนิธิสยามกัมมาจล และอีกส่วนหนึ่งดำเนินการโดยฝ่ายบริหารของธนาคารเอง CSR after Process นี้ กำกับโดยคณะกรรมการ กิจกรรมเพื่อสังคม ที่ผมเป็นประธาน

 

CSR ทั้งสองส่วน ผู้กำกับสุดท้ายคือคณะกรรมการธนาคาร อ่านรายงานประจำปี 2556 ของธนาคารไทยพาณิชย์ได้ ที่นี่

 

ทั้งหมดนั้น สะท้อนหลักการว่า องค์กรธุรกิจที่ดีมีส่วนเป็นหุ้นส่วนจรรโลงสังคม ไม่ใช่เอาแต่กำไรสูงสุดโดยไม่ คำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวมของสังคม

 

ไม่ว่าอยู่ในฐานะใด บุคคล กลุ่มคน และองค์กร สามารถร่วมสร้างสังคมดี สังคมยั่งยืน ได้เสมอ โดยต้องหมั่นตรวจสอบ ตนเอง และแสดงความโปร่งใส ให้กลไกภายนอก เข้ามาตรวจสอบด้วย

 

 

 

เพิ่มเติม ๓ เมษายน ๒๕๕๗

 

ในการประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นของธนาคารไทยพาณิชย์ เมื่อวันที่ ๓ เมษายน ๒๕๕๗ ก่อนจะจบการประชุม ผู้ถือหุ้นท่านหนึ่งลุกขึ้นเสนอประเด็นเรื่อง CSR ว่าธนาคารมักมี NPA (Non-Performance Assets) เป็นบ้านหรือที่ดิน ที่ยึดมาจากลูกหนี้ แล้วทิ้งร้างไว้ รกเรื้อเป็นแหล่งเสื่อมโทรม หรือแหล่งอาชญากรรม เดือดร้อนต่อผู้อยู่ในบริเวณใกล้เคียง ซึ่งฝ่ายบริหารของธนาคารแจ้งว่า ได้ดูแลเรื่องนี้อยู่แล้ว มีตรงไหนหลงหูหลงตาไปบ้าง ขอทราบแผนที่ของสถานที่นั้นๆ

 

เป็นตัวอย่างจริงของ CSR ประเภท in process คืออยู่ในการทำธุรกิจของธนาคาร

 

ในวันเดียวกัน คุณมาริษ สมารัมย์ กรรมการธนาคารไทยพาณิชย์อีกท่านหนึ่ง ไปร่วมประชุม IOD Director Briefing 2/2014 “Sustainability : Strategy, Change and Board Engagement” เมื่อวันที่ ๑ เมษายน ๒๕๕๗ และเอาเอกสารจากการประชุม มาฝากผม ทำให้ผมได้เรียนรู้เรื่องประเด็น ความยั่งยืน ของโลก ที่เราต้องร่วมกันรับผิดชอบ ถือเป็นความรับผิดชอบต่อสังคม ในอีกรูปแบบหนึ่ง ซึ่งหมายความว่าเราต้องร่วมกันรับผิดชอบต่อสุขภาวะของ บุคคล สังคม และระบบนิเวศ

 

เท่ากับเป็นขบวนการขับเคลื่อนกระบวนทัศน์มองไกล มองผลระยะยาวของการทำธุรกิจ ไม่ใช่ยึดกระบวนทัศน์ ตีหัวเข้าบ้าน

 

โยงกลับมาหาการทำ Sustainability Report ของธนาคารไทยพาณิชย์ ได้อย่างเหมาะเจาะ

 

ทำให้ผมนึกถึงอุดมคติ มองไกล ใจกว้าง ใฝ่สูง ที่ผมยึดถือมาจากคำสอนของท่านพระธรรมปิฎก

 

วิจารณ์ พานิช

 

๒ เม.ย. ๕๗ ปรับปรุง ๓ เม.ย. ๕๗

 

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย Prof. Vicharn Panich

 

แก้ไขล่าสุด ใน วันอังคารที่ 06 พฤษภาคม 2014 เวลา 16:18 น.