ชีวิตที่พอเพียง : ๒๒๐๓. ชวนกันตั้งคำถาม

วันเสาร์ที่ 19 กรกฏาคม 2014 เวลา 00:00 น. ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช บทความ - พัฒนาทุนมนุษย์
พิมพ์

เช้าวันศุกร์ที่ ๑๓ มิถุนายน ๒๕๕๗ ผมไปร่วมกิจกรรม Morning Dialogue ที่มูลนิธิสยามกัมมาจล ที่เราตกลงกันว่า ผมจะไปทำหน้าที่ "คุณอำนวย" จัดกระบวนการเรียนรู้จากการปฏิบัติ ให้แก่เจ้าหน้าที่ของมูลนิธิเดือนละ ๒ ครั้ง เป็นเวลา ๑ ปี เพื่อวางรากฐานให้มูลนิธิสยามกัมมาจลเป็นมูลนิธิแห่งการเรียนรู้

เรื่องเล่าที่นำมาเป็นข้อเรียนรู้ร่วมกันผ่านการปฏิบัติคือ "เมื่อผู้ประสานงานโครงการมูลนิธิ ต้องทำบทบาทเป็น โค้ช ให้ผู้จัดการโครงการและทีม" โดยคุณโจ้ และคุณแจง

คุณใหญ่ นงนาท สนธิสุวรรณ ได้เล่าเรื่อง Morning Dialogue 2 คราวที่ผ่านมา ที่นี่

เพราะทั้งคุณแจงและคุณโจ้ส่งเรื่องเล่าเป็น PowerPoint ล่วงหน้า เมื่อผมอ่านแล้ว ก็ได้ชื่อบันทึกนี้ คือ "ชวนกันตั้งคำถาม" ตั้งแต่เช้ามืดวันที่ ๑๓ มิถุนายน ก่อนการประชุม

เป็นโค้ชโดยการตั้งคำถาม ไม่ใช่ไปให้คำแนะนำ ซึ่งเป็นหลักสากลของ coaching เน้นการ โค้ชโดย การตั้งคำถาม ไม่ใช่โดยเน้นการให้คำแนะนำ หรือการให้คำตอบ

คุณแจงและคุณโจ้ จัดกระบวนการให้แก่คนของภาคี ๓ หน่วยงาน คือสงขลาฟอรั่ม, มูลนิธิกองทุนไทย, และโครงการต้นหญ้าในป่าใหญ่ร่วมกันตั้งคำถาม และช่วยกันหาคำตอบจากการปฏิบัติงานจริง ว่าเป้าหมายของโครงการของตนที่กำหนดไว้คืออะไร คิดว่าเพื่อบรรลุเป้าหมายต้องทำอะไรบ้าง KRA (Key Result Areas) และ KSF (Key Success Factors) ของโครงการคืออะไร แล้วใช้เกณฑ์ KSF ประเมินตนเอง เกิดการเรียนรู้ และได้แนวทางพัฒนาตนเอง และแนวทางพัฒนาโครงการเป็นอันมาก เป็นที่ชื่นชอบของผู้ เข้าร่วมกระบวนการนี้เป็นอันมาก คุณแจงและคุณโจ้เรียกกระบวนการนี้ว่า EE (Empowerment Evaluation)

เป็นการประเมินแบบตั้งคำถามการประเมินด้วยตนเอง แล้วหาคำตอบเอง ทั้งหมดนั้น เพื่อหาทางพัฒนางานของตนเอง และพัฒนาตนเอง

จากเรื่องเล่านี้ เห็นได้ชัดเจนว่า การเรียนรู้ที่มีพลังเกิดจากการตั้งคำถาม คุณโจ้และคุณแจงทำหน้าที่ โค้ช โดยชวน (ผู้เข้าร่วมกระบวนการ) ตั้งคำถาม coaching เน้นที่การตั้งคำถาม มากกว่าการให้คำตอบหรือคำแนะนำ ดังบันทึกนี้

ดู PowerPoint ประกอบเรื่องเล่าได้ ที่นี่ โปรดสังเกต สไลด์ แผ่นที่ ๒ เรื่องความเชื่อ เป็นสุดยอดของหลักการเรียนรู้

จากการประชุมนี้ ผมได้รับทราบว่ามูลนิธิสยามกัมมาจลประสบความสำเร็จในการคิดค้นเครื่องมือ ในการทำงาน ของหน่วยงานให้ประสบความสำเร็จ และเป็นองค์กรเรียนรู้ คือเครื่องมือ EE

วิจารณ์ พานิช

๑๓ มิ.ย. ๕๗

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย 

แก้ไขล่าสุด ใน วันเสาร์ที่ 19 กรกฏาคม 2014 เวลา 22:41 น.