ชีวิตที่พอเพียง : 2955. ปรับวิธีคิด

วันศุกร์ที่ 28 กรกฏาคม 2017 เวลา 00:00 น. ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช บทความ - พัฒนาทุนมนุษย์
พิมพ์

การสนทนากับลูกสาวคนเล็กที่สิงคโปร์ เมื่อเช้าวันอาทิตย์ที่ ๒๘ พฤษภาคม ๒๕๖๐    และการเตรียมคุยกับทีม มสส. ตอนบ่ายวันที่ ๒๙ ทำให้ผมกลับมา “เคี้ยวเอื้อง” (reflect) การไตร่ตรองต่อ    ว่าด้วยวิธีคิด


ลูกสาวเขาอายุ ๔๒ แล้ว     มีประสบการณ์การทำงานทั้งด้านการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีไอที  และด้านการจัดการการเงิน ด้านการลงทุน    เขาได้ทุนไปเรียนวิศวะที่เอ็มไอที    และหาเงินส่งตัวเอง เรียนเอ็มบีเอที่ฮาร์วาร์ด    จึงนับได้ว่าเขามีสมองดีและมีการศึกษาดี     

เมื่อเขาเล่าแผนการณ์ในชีวิตที่จะหาทางตั้งเนื้อตั้งตัวทำธุรกิจของตนเอง     ผมก็บอกเขาว่า เขาต้องเปลี่ยนวิธีคิด    แล้วการสนทนาก็ยืดยาว     เพราะเขาไม่เคยนึกถึงประเด็นที่ผมบอกเขา     ซึ่งที่แท้ ก็เป็นเรื่องพื้นๆ คือ เมื่อเปลี่ยนลักษณะงาน ก็ต้องเปลี่ยนชุด critical knowledge  สำหรับใช้งาน   โดยที่คนเก่งทางวิชาการมักหลงอยู่กับชุดความรู้เชิงเทคนิค 


มูลนิธิสดศรีฯ ทำงานเป็นคู่คิดคู่พัฒนากับภาคี เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษา     ทำงานมานานกว่า ๒๐ ปี    ผ่านสภาพการบริหารภายในมูลนิธิหลายยุค    จนเวลานี้คุณชลลดา สิทธิฑูรย์ ทำหน้าที่เลขาธิการ     พร้อมกับเป็นช่วงที่ มีสารพัดโครงการ เข้าไปทำกิจกรรมแก้ไขความอ่อนแอของการเรียนการสอนในโรงเรียน     มสส. ซึ่งเป็นมูลนิธิเล็กๆ  มีทีมทำงานที่ไม่ใช่คนโด่งดัง ย่อมต้องคิดใหม่


คือต้องปรับตัว หาทางสร้างคุณค่าของตนเองใน “ป่าแห่งการพัฒนาคุณภาพการศึกษา”    โดยต้องว่องไว ศึกษาทำความรู้จักโครงการใหญ่ๆ ขององค์กรขนาดใหญ่ เอามาปรับยุทธศาสตร์การทำงานของตน     ต้องไม่ทำตัวแข็งทื่อไม่ปรับตัวตามสถานการณ์    ต้องเอาสภาพสถานการณ์ภาพใหญ่มาไตร่ตรอง คิดหา niche ของตน    ว่าจะทำงานสร้างคุณค่าให้แก่วงการศึกษาไทยอย่างไร  จึงจะเกิดประโยชน์สูงสุด    และสร้างตัวตน ที่ชัดเจนของ มสส.



วิจารณ์ พานิช                                                                                                                          

๒๙ พ.ค. ๖๐


ตัดลอกจาก: https://www.gotoknow.org/posts/630912

แก้ไขล่าสุด ใน วันศุกร์ที่ 28 กรกฏาคม 2017 เวลา 18:17 น.