บทเรียนจากความจริง ศ.ดร.จีระ หงส์ลดารมภ์

วันเสาร์ที่ 11 เมษายน 2020 เวลา 20:48 น. ม.ล.ชาญโชติ ชมพูนุท บทความ - พัฒนาทุนมนุษย์
พิมพ์

วันนี้ผมมีโอกาสได้อ่าน บทเรียนจากความจริงของ ศ.ดร.จีระ หงส์ลดารมภ์  เห็นว่าเป็นข้อมูลที่น่าสนใจมาก จึงขอนำมาเผยแพร่ให้เพื่อนๆได้อ่าน และในช่วงท้ายผมได้แสดงความเห็นไว้ด้วย

หม่อมหลวงชาญโชติ ชมพูนุท

10 เมษายน 2563

บทเรียนจากความจริง โดย ศ.ดร.จีระ หงส์ลดารมภ์

ช่วงโควิด19 ผมมีเวลาคิดและเรียนของใหม่ๆ ถึงอายุมากก็เรียนทันกันได้ ถ้าสนใจในสิ่งนั้นและมุ่งมั่น จำได้ว่าตอนไปเรียนที่ UW ระดับปริญญาเอกมีความมุ่งมั่นมาก อะไรก็เรียนได้หมด ถ้าตั้งใจเสียอย่าง

แต่พออยู่ไปนานๆความมุ่งมั่นบางอย่างก็แผ่วไปบ้าง มีทีมงานทำให้บ้าง และคิดว่ามีประวัติการทำงานที่ผ่านมาพอใช้ได้ คิดว่าดีแล้ว ความจริงไม่ว่าคนเราจะอายุเท่าไหร่ ถ้ายังมีร่างกายหรือจิตใจที่ยังดีอยู่หรือยังมีไฟอยู่ เรียนรู้และทำให้ดีขึ้นกว่าเดิมได้ โควิดครั้งนี้ทำให้ชีวิตมีค่าขึ้น เพราะตราบใดที่มีลมหายใจก็ต้องพัฒนาไปเรื่อยๆ

ชีวิตผมโชคดีที่จบมาจาก UW (University of Washington) กลับมาทำงานที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะเศรษฐศาสตร์หลังปริญญาเอก ในช่วง 1-2 ปีแรก ทำงานทางเศรษฐศาสตร์มาก ไม่ว่าสอนหรือดูแลวิทยานิพนธ์ปริญญาโทภาคภาษาอังกฤษ ซึ่งก็สนุกดี ผมสอนปริญญาโท Micro Economics ภาคภาษาอังกฤษและสอน MBA ของคณะพาณิชย์โดยการสนับสนุนจากอาจารย์สังเวียน อิทรวิชัย วิชาทางเศรษฐศาสตร์ คิดว่าอาชีพทางเศรษฐศาสตร์นี้ก็จะดีเพราะไปได้หลายทางไม่ว่าจะเป็นเรื่อง ธุรกิจ รัฐบาล หรือวิชาการ

ช่วงแรกๆ สนุกกับการเป็นประธานฝ่ายจัดสัมมนาของคณะ ซึ่งคณะเศรษฐศาสตร์จัดสัมมนาและเป็นสิ่งที่มี Impact บ้างเพราะเป็นสัมมนาประจำปีทางเศรษฐศาสตร์ที่สำคัญ ช่วงนั้นจัดอะไรคนก็มาฟังเต็มและเป็นศูนย์กลางของเศรษฐศาสตร์ในประเทศไทย บัดนี้ไม่รู้ว่าศูนย์กลางของเศรษฐศาสตร์ไปอยู่ที่ไหน

แต่ก็ไม่น่าเชื่ออยู่ไปได้สัก 2 ปี หรือน้อยกว่านั้นทางมหาวิทยาลัยก็คิดจะตั้งสถาบันแรงงาน เพราะช่วงนั้น หลัง 6 ตุลา นายจ้าง ซึ่งมีบทบาทสูง ทั้งเศรษฐกิจและการเมือง ก็รวมหัวกับข้าราชการและนักการเมืองส่วนใหญ่ เอาเปรียบผู้ที่เสียเปรียบทางสังคม คือผู้ใช้แรงงานถูกกดค่าแรง สหภาพแรงงานอ่อนแอมาก ทำให้ไม่เป็นธรรมทางสังคม

ธรรมศาสตร์เกิดขึ้นมาจากท่านปรีดี พนมยงค์ คือเป็นตลาดวิชาให้คนไทยได้เข้าถึงการศึกษา จึงต้องการความเป็นธรรมในสังคม ไม่อยากเห็นผู้ด้อยโอกาสเสียเปรียบ

จึงมีการคุยกันระหว่างผู้ใหญ่ เช่น อ.นิคม จันทรวิทุร และ อ.อรุณ รัชตะนาวินเข้าใจว่ามี อ.นงเยาว์ ชัยเสรีและอ.ประภาส อวยชัยด้วย และอีกหลายๆคน คิดจะจัดต้งสถาบันแรงงานให้เป็นส่วนหนึ่งของมหาวิทยาลัย เอกเทศจากคณะต่างๆ ซึ่งการจัดตั้งองค์กรใหม่ต้องผ่านขั้นตอนมาก

ก็แปลก ผมก็ยังไม่ได้มีผลงานอะไรเป็นที่ประจักษ์ รู้แต่ว่ามีผู้ใหญ่ที่เอ่ยนามมาก็เลือกผมเป็นประธานผู้ก่อตั้ง สถาบันแรงงาน ผมก็ไม่ทราบมาก่อนว่าเพราะอะไร มาวันนี้ก็ยังไม่เข้าใจ

เพราะยังใหม่มากนักในธรรมศาสตร์และที่นี่ก็มีคนเก่งๆมากมายหลายคณะหรือ Ph.D ของคณะเศรษฐศาสตร์จบมาช่วงนั้นก็มาก เช่น อ.ไตรรงค์ สุวรรณคีรี และอีกหลายๆคน

เสียดายผู้ที่ส่วนสำคัญ 2 คนท่านได้จากไปแล้ว คือ อ.นิคม จันทรวิทุร และ อ.อรุณ รัชตะนาวิน จึงไม่มีโอกาสได้ถามท่านว่าเพราะอะไร

การที่ผมเลือกให้เป็นผู้ก่อตั้งสถาบันจาก อ.นิคม น่าจะมาจาก 2 ปัจจัย
1.
ท่านจบที่ madisan คือ University of Wisconsin ท่านรู้ว่าผมจบโทที่นี่ด้วยก็เลยเป็นปัจจัยหนึ่งและผมคิดว่าท่านเป็นคนที่เรียนมาทางกฏหมายและสังคมศาสตร์ เพราะท่านเป็นนักคิดและนักปฎิบัติและเป็นอธิบดี กรมแรงงานอยู่ด้วย ท่านเลยคิดว่ามีนักเศรษฐศาสตร์ช่วย Balance กับนายจ้างก็น่าจะเหมาะสม

2. อีกประการหนึ่งน่าจะมาจากพ่อผมคือ นายสุนทร หงส์ลดารมภ์ เพราะพ่อผมเป็นคนดี เขาก็คิดว่าลูกก็ดีด้วย ซึ่งอาจจะไม่จริง ท่านนิคมและอาจารย์อรุณ อาจารย์ประภาส และอาจารย์นงเยาว์รู้จักพ่อผม อาจจะเป็นปัจจัยเล็กๆทำให้ผมมีคุณค่าในสายตาของท่าน

แรกๆผมก็คิดว่าเป็นเรื่องแค่คิด คงไม่เอาจริง เพราะในช่วงนั้น การจัดตั้งสถาบันฯต้องผ่าน ครม.ต้องมีคนสนับสนุนจึงจะตั้งสถาบนเอกเทศได้ แต่ในที่สุดมหาวิทยาลัยก็มีคำสั่งจัดตั้งสถาบันแรงงานจนได้ โดยมีผมอายุ 35 ปีเป็นประธาน ผมยังจำได้ในกรรมการมีผู้ใหญ่หลายคนจากหลายคณะ อย่างเช่น อ.อรุณ รักธรรม ทุกๆท่านก็กรุณาให้เกียรติผม ทั้งๆที่วัยวุฒิน้อยมาก อ.สังเวียนก็ส่ง อ.สุปราณีจากคณะพาณิชย์ ถึง อ.สังเวียนไม่ได้อยู่ในคณะกรรมการ แต่ท่านก็สนับสนุนผมเสมอ

การจัดตั้งหน่วยงานระดับคณะในช่วงนั้นไม่ง่าย เพราะต้องผ่าน ครม. ซึ่งปรากฎว่ามีคนค้านไม่ว่าจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยหรือกรมแรงงาน ซึ่งผมก็ไม่ได้คิดอะไร ถ้าตั้งไม่ได้ ผมก็กลับไปสอนหนังสือและงานวิจัยทางด้านเศรษฐาสตร์ เพราะช่วงกลับมาใหม่ๆ สอนวิชาและผมต้องการจะทำวิจัยต่อเนื่อง แต่ในฐานประธานก่อตั้ง ผมก็ทำงานเต็มที่ แก้ปัญหาหลายด้าน

แต่ในที่สุดประมาณเกือบ 3 ปีกว่าก็จัดตั้งสำเร็จ ชื่อสถาบันแรงงานก็ใช้ไม่ได้เพราะเป็นชื่อเกี่ยวกับการเมืองรัฐบาล กลัวจะมีปัญหาความมั่นคง ต้องหาชื่อใหม่ ซึ่งปรากฏว่า ไม่มีใครคิดว่าจะเป็นชื่อที่มีคุณค่าถึงปัจจุบัน คือเปลี่ยนจากสถาบันแรงงานมาเป็นสถาบันทรัพยากรมนุษย์ ผมเป็นคนคิดเองเพราะ ถ้าชื่อสถาบันประชากรก็คงไม่เหมาะกับธรรมศาสตร์

สรุปคือ ถึงชีวิตผมจะเปลี่ยนมาจากนักเศรษฐศาสตร์มาทำงานเป็นผู้อำนวยการทรัพยากรมนุษย์ 4 สมัย และจบแล้ววันนี้คนที่รู้จักก็ยังรู้ว่าทำเรื่อง "คน" อย่างต่อเนื่อง

แต่โชคดีในช่วงนั้น ผมมี อ.นิคมเป็นพี่เลี้ยง เรา คนก็ช่วยกันผลักดันจนเกิดกฏหมายประกันสังคม รอมากว่า 30 ปี และการจัดตั้งกระทรวงแรงงานสำเร็จ

อยากเรียนให้ทราบว่า กฎหมายประกันสังคมรอมา 30 ปี จึงเกิดได้เพราะ
1.
อาจารย์นิคม จันทรวิทุรและผู้ใหญ่ในธรรมศาสตร์หลายๆคน
2.
นายกฯชาติชาย ชุณหะวัณ และอ.ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ ลูกชายท่าน
3.
สถาบันทรัพยากรมนุษย์ ธรรมศาสตร์
(
บทบาทสำคัญเหล่านี้หรือเล่าให้ฟังอย่างละเอียดทีหลังหากมีเวลา) ท่านลองคิดดูวันนี้ นายกฯประยุทธ์ ไม่ต้องดูแลผู้ใช้แรงงาน 15 ล้าน เพราะเขาว่างงานมีกฎหมายประกันสังคมรองรับ ขนาดมีประกันสังคม คนจนและตกงาน ขอเงินจากรัฐบาล 24 ล้านคน

สรุปคือ ผมตอบแทนบุญคุณธรรมศาสตร์ และอาจารย์ป๋วย อึ้งภากรณ์ ที่เชิญผมมาสอนที่นี่ แต่ขณะเดียวกันชีวิตของนักเศรษฐศาสตร์ก็ต้องมาทำงาน เรื่องคน ซึ่งทำต่อเนื่อง โชคดีในช่วงนั้นและปัจจุบันทำแล้วเกิด Impact ต่อสังคมบ้าง ช่วยให้คนไทยเห็นคุณค่าของคนมากกว่าเงินหรือทรัพยากรธรรมชาติ

คนไทยเริ่มเข้าใจคำว่า คนคือทรัพยากรที่มีค่าที่สุด ช่วงแรกๆ ยังมีคนมาโจมตีผมว่าใช้คำว่า คนเป็นทรัพยากร มันไม่ดี เช่น คุณหมอประเวศ วะสี คล้ายๆมองคนเป็นวัตถุ ผมบอกว่า ผมนับถือยกย่องคนอยู่แล้ว เพียงแต่ให้เห็นว่า เราต้องมองคนให้มีคุณภาพ จึงเรียกว่าเป็นทรัพยากร

เป็นทรัพยากรไม่ใช่ดูถูกคนว่า ไม่เป็นมนุษย์ บัดนี้ทุกๆคนก็คงเข้าใจแล้วว่าทรัพยากรมนุษย์คือ มนุษย์มีคุณค่าแต่ต้องลงทุนและรักษาเขาให้และสร้างแรงจูงใจ แต่งานเรื่องคนก็ยังไม่จบ ต้องทำต่อไป โชคดีที่มีแบรนด์จากธรรมศาสตร์ได้มีโอกาสได้พัฒนาและบริหารคนอย่างต่อเนื่อง มาถึงทุกวันนี้


แสดงความคิดเห็นเพิ่มเติมโดย หม่อมหลวงชาญโชติ ชมพูนุท

ขอยืนยันครับ ท่าน  ศ.ดร.จีระ หงส์ลดารมณ์ เป็นผู้ที่ทุ่มเทอย่างยิ่งเกี่ยวกับการพัฒนามนุษย์ ผมโชคดีที่มีโอกาสได้พบท่าน และได้รับความไว้วางใจให้ช่วยงานท่านอยู่หลายปี ถึงแม้นผมไม่มีโอกาสเป็นลูกศิษย์ท่านในระบบการศึกษา แต่ผมถือว่าท่านเป็นอาจารย์ผมทางด้านการพัฒนามนุษย์ ท่านเป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ ตามการนำเสนอของผม และให้เกียรติเป็นประธานคนแรกของมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ โดยมีผมเป็นกรรมการและเลขานุการ เนื่องจากท่าน อาจารย์จีระ มีกิจกรรมมากในขณะนั้น แถมต้องดูแลมูลนิธิพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ระหว่างประเทศ (ที่จัดตั้งโดยคณะรัฐบาล) ท่านจึงไม่มีเวลามากนักที่จะเข้ามาผลักดันมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ให้ก้าวไปข้างหน้า อย่างไรก็ตาม เมื่อครบเทอมของคณะกรรมการมูลนิธิฯ ท่านจึงขอลาออกจากการเป็นประธานฯ และท่านได้เสนอให้ผมเป็นประธานมูลนิธิฯแทนท่าน ปี 2563 มูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ มีอายุครบ 8 ปี หลังจากผมไม่มีโอกาสได้ช่วยงานท่าน อาจารย์จีระ เมื่อ 4 ปี ที่แล้ว ผมก็ไม่มีโอกาสได้พบ กับท่านอีกเลย อย่างไรก็ตาม ท่านอาจารย์จีระ อยู่ในดวงใจของผมตลอดเวลา

หม่อมหลวงชาญโชติ ชมพูนุท

10 เมษายน 2563