นวัตกรรมสามประสาน : บัณฑิตศึกษาแนวใหม่

วันศุกร์ที่ 08 มีนาคม 2013 เวลา 00:00 น. ม.ล.ชาญโชติ ชมพูนุท บทความ - พัฒนาทุนมนุษย์
พิมพ์

วันที่ ๑ ก.พ. ๕๖ ผมได้ฟัง รศ. ดร. ลือชัย ศรีเงินยวง เล่าเรื่อง ชุดโครงการบัณฑิตศึกษา ปริญญาโทสังคมศาสตร์สุขภาพ ภาคพิเศษ แก่ผู้ปฏิบัติงานในสำนักงาน สสจ. และ รพสต.  ร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดกาญจนบุรี  และสำนักงานสาธารณสุขอำเภอทองผาภูมิ  เรียน ๑๘ - ๒๐ เดือนจบแน่นอนโดยมีคุณภาพสูงมาก

เพราะเป็นการศึกษาแบบใหม่  แบบบูรณาการ ๓ ประสานภารกิจของมหาวิทยาลัย คือการเรียนการสอน (ผลิตมหาบัณฑิต)  การวิจัย  และบริการวิชาการ เป็นงานชิ้นเดียว  คือวิทยานิพนธ์เป็นชุด ของ นศ. รุ่นแรก ๑๓ คน  อาจารย์ ๘ คนเป็นอย่างน้อย ทำงานเป็นทีม  โดยที่วิทยานิพนธ์จะตอบโจทย์ระบบสุขภาพในพื้นที่ด้วย (บริการชุมชน หรือพื้นที่)   โดยโจทย์พื้นที่คือ ASEAN Community, cross-border migration, มองสภาพสังคมในพื้นที่ชายแดน พม่า - ไทย เป็นพื้นที่ข้ามถึงกัน

ฟังแล้ว ผมนึกในใจว่า งานนี้หาอาจารย์ทำได้ยาก  ต้องนำโดยคนที่ทำงานวิจัยจริงจัง และทำงานพื้นที่ช่ำชองอย่าง รศ. ดร. ลือชัย   รวมทั้งต้องมีทีมงานดีด้วย  ท่านมีหมอพม่า ๕ คน มาเรียนหลักสูตรสังคมศาสตร์สุขภาพ จะร่วมทีมวิจัยด้วย

ผมถามท่านว่า นศ. ต้องเสียเงินค่าเล่าเรียนไหม  ท่านบอกว่าท่านหาทุนมาช่วยบางคนที่ไม่มีเงิน  และการทำวิจัยก็มีแหล่งทุนช่วยเหลือ

เมื่อได้ผลงานวิจัยวิทยานิพนธ์แยกเป็นรายคนแล้ว อาจารย์ในทีมจะสังเคราะห์ซ้ำ ออกมาเป็นผลงานวิจัยหลายรายงาน ต่างด้าน  ได้เป็นองค์ความรู้ใหม่สำหรับขับเคลื่อนระบบสุขภาพของบริเวณชายแดนพม่า-ไทย  ที่มองระบบสุขภาพเชื่อมโยงกับสังคมหลากหลายมุม

ผมชื่นชมการทำงานวิจัยระดับบัณฑิตศึกษาแบบทำเป็นชุด  ทำเสร็จได้องค์ความรู้ที่หนักแน่น ให้ประโยชน์แก่บ้านเมือง  สมัยผมเป็น ผอ. สกว. เคยร่วมมือกับ ศ. ดร. ธีระพันธ์ เหลืองทองคำ จัดชุด ป. โท เรื่องคนไร้กล่องเสียง  เป็นชุดที่ นศ. และอาจารย์มาจากหลากหลายสถาบัน  และวิจัยข้ามศาสตร์  คือนักภาษาศาสตร์ไปร่วมกับทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีด้วย  สนุกและได้ประโยชน์มาก

เป็นบัณฑิตศึกษาของแท้  ไม่ใช่ของปลอม ที่เรียนพอให้จบ ที่ดาษดื่นอยู่ในปัจจุบัน


 

วิจารณ์ พานิช

๒ ก.พ. ๕๖

คัดลอกจาก http://www.gotoknow.org/posts/521629