การเรียนรู้เกิดขึ้นอย่างไร

วันเสาร์ที่ 23 มีนาคม 2013 เวลา 00:00 น. ม.ล.ชาญโชติ ชมพูนุท บทความ - พัฒนาทุนมนุษย์
พิมพ์

พัฒนาการของนักศึกษาและบรรยากาศในชั้นเรียน

บันทึก ๑๖ ตอนนี้ มาจากการตีความหนังสือ How Learning Works : Seven Research-Based Principles for Smart Teaching ซึ่งผมเชื่อว่า ครู/อาจารย์ จะได้ประโยชน์มาก หากเข้าใจหลักการตามที่เสนอในหนังสือเล่มนี้  ตัวผมเองยังสนใจเพื่อเอามาใช้ปรับปรุงการเรียนรู้ของตนเองด้วย

ตอนที่ ๑๒ และ ๑๓ มาจากบทที่ 6  Why Do Student Development and Course Climate Matter for Student Learning?  ซึ่งผมตีความว่าเป็นการมอง “การเรียนรู้” ของ นศ. จากมุมที่กว้างกว่า “การเรียนวิชา”  เชื่อมโยงไปสู่ “การเรียนรู้ชีวิต” สู่วุฒิภาวะในทุกๆ ด้าน  และมองว่าปฏิสัมพันธ์ระหว่าง นศ. กับ นศ.  และระหว่าง นศ. กับครู มีผลต่อการเรียนรู้มาก

ตอนที่ ๑๒ ว่าด้วยทฤษฎี  ตอนที่ ๑๓ ว่าด้วยภาคปฏิบัติ หรือยุทธศาสตร์


ยุทธศาสตร์ส่งเสริมพัฒนาการของ นศ. และสร้างบรรยากาศการเรียนรู้

ทำให้รู้สึกปลอดภัยในสถานการณ์ไม่แน่นอน

ครูต้องหาทางทำให้บรรยากาศในชั้นเรียน เป็นบรรยากาศที่เปิดกว้าง  ไม่เน้นถูก-ผิด  และให้คุณค่าความคิดเห็นที่อาจไม่สมเหตุสมผล  เพื่อใช้เป็นขั้นตอนของการเรียนรู้

ครูพึงย้ำว่าความเป็นจริงต่างๆ ในโลก ไม่แยกแยะเป็นขาว-ดำ  และหลายกรณีมีความไม่ชัดเจน  การเรียนรู้ที่แท้จริงไม่ใช่ความพยายามเข้าไปหาจุดเดียว หรือความจริงแท้หนึ่งเดียว  แต่เป็นการทำความเข้าใจแง่มุมต่างๆ ที่หลากหลาย  และแตกต่างกันตามมุมมอง

ในห้องเรียน ครูพึงให้ความสำคัญและชวนกันทำความเข้าใจทุกมุมมองที่ นศ. เสนอ  แม้มุมมองนั้นจะไม่ถูกต้อง  ทั้งหมดนั้น ก็เพื่อการเรียนให้รู้จริง


พยายามไม่ให้มีคำตอบถูกเพียงคำตอบเดียว

ครูพึงทำความเข้าใจกับ นศ. ว่า ความรู้ในตำราเป็นความรู้ที่แบนราบและเป็นเส้นตรง  ความรู้ที่แท้จริงมีมิติความลึก และมีมิติที่สี่ที่ห้า คือกาละเทศะด้วย  ดังนั้นความรู้ที่แท้จริงจะมีได้ ณ จุดนั้นและเวลานั้น เท่านั้น  คำถามใดคำถามหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์จริง จึงไม่มีคำตอบเดียว

ครูพึงฝึกให้ นศ. ฝึกให้คำตอบให้มากและหลากหลายที่สุดต่อคำถามหนึ่งๆ  รวมทั้งส่งเสริมให้มีคำตอบที่คัดค้านทฤษฎีที่เชื่อถือกันด้วย

ครูควรให้ นศ. ทำแบบฝึกหัดที่มีหลายคำตอบ


ให้มีข้อมูลหลักฐานอยู่ในเกณฑ์ประเมิน

ต้องฝึกให้ นศ. ใช้ข้อมูลหลักฐานอ้างอิงในการเสนอความเห็นหรือโต้แย้ง  วิธีหนึ่งคือใช้ rubrics หรือเครื่องมืออื่น เพื่อค่อยๆ ดึงหลักฐานออกมา  อาจให้ นศ. ตรวจผลงานซึ่งกันและกันโดยใช้ rubrics  และวงข้อมูลหลักฐานของแต่ละส่วนให้เห็นชัดเจน


ตรวจสอบสมมติฐานของตัวครูเอง ต่อ นศ.

สมมติฐานของครู ต่อ นศ. ทั้งชั้น และต่อ นศ. เป็นรายคน มีอิทธิพลต่อพฤติกรรมของครู โดยครูไม่รู้ตัว  และพฤติกรรมนี้มีผลต่อการเรียนรู้ของ นศ.  ครูจึงพึงตรวจสอบสมมติฐานของตนให้อยู่บนฐานความเป็นจริง

วิธีที่ง่ายและตรงไปตรงมาที่สุดคือ จัดกระบวนการทำความรู้จักกันในวันแรกของเทอม  ทั้งในเรื่องส่วนตัวและเรื่องพื้นความรู้  เทคนิคทำความรู้จัก นศ. นี้มีมากมายให้ค้นคว้าได้


ระมัดระวังคำพูดที่ระบุว่า นศ. มีความสามารถต่ำ

ครูมีหน้าที่ให้กำลังใจ ให้ นศ. มีความมานะพยายาม  โดยช่วยชี้ช่องทางและวิธีการเรียนที่เหมาะสมให้  ครูไม่ควรใช้ถ้อยคำที่พาดพิงถึงเรื่องที่ไม่มีใครแก้ไขได้  เช่นไม่ควรพูดว่า “ครูยินดีช่วยเสมอ เพราะครูรู้ว่าผู้หญิงมักไม่เก่งคณิตศาสตร์”  การเป็นผู้หญิงไม่มีทางแก้ไขได้ ครูจึงไม่ควรพูด  แต่ควรพูดว่า “หากเธอพยายาม ขยันทำแบบฝึกหัดอีกสักวันละครึ่งชั่วโมง  ครูคิดว่าเธอจะเรียนวิชานี้ได้สำเร็จ”  ความขยันเป็นสิ่งที่แก้ไขได้

เรื่องคำพูดของครู ที่ควรพูด และไม่ควรพูด นี้ ครูทุกคนควรเอาใจใส่ศึกษา


อย่าบอกให้ นศ. คนใดคนหนึ่งพูดแทนกลุ่ม

ในหนังสือระบุถึง นศ. ที่เป็นชนกลุ่มน้อย  ว่าหากให้พูดแทนกลุ่ม อารมณ์ บ่ จอย ของเขาอาจทำให้เขาพูดได้ไม่ดี หรือระเบิดอารมณ์  ทำให้บรรยากาศในห้องเรียนเสีย

แต่ผมคิดต่าง  ผมคิดว่าในหลายกรณี ความเห็นของ นศ. ในห้องอาจมีความแตกต่างหลากหลาย  ไม่ได้เป็นเอกภาพ  ซึ่งในด้านเป้าหมายของการเรียน เราต้องการมีหลากหลายความเห็นอยู่แล้ว  การให้พูดแทนกลุ่มโดยไม่ได้แยกกลุ่ม ไม่ได้ปรึกษาหารือหาข้อยุติในกลุ่ม  เป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ


ลดการปกปิดตัวตน

บรรยากาศของการเรียนรู้ที่ดีคือบรรยากาศเปิดกว้าง  และมีการยอมรับนับถือตัวตนของ นศ. แต่ละคน  การที่ครูทำความรู้จักและเรียกชื่อศิษย์เป็นรายคน  การที่มีกระบวนการช่วยให้ นศ. รู้จักคุ้นเคยกัน  จะช่วยให้มีบรรยากาศที่ดีในห้องเรียน


ใช้ท่าที ภาษา พฤติกรรม ที่สะท้อนการเปิดกว้าง ยอมรับชนทุกกลุ่ม อย่างเท่าเทียมกัน

ครูต้องพยายามทุกวิถีทางที่จะทำให้ นศ. ทุกคนในชั้นเรียนรู้สึกว่าตนเป็นสมาชิกของห้องเรียนที่มีศักดิ์ศรีเท่าเทียมกับคนอื่น  ครูพึงระมัดระวังการใช้ถ้อยคำที่สะท้อนจิตใต้สำนึกว่าคนบางกลุ่มเหนือคนอีกบางกลุ่ม  เช่นใช้สรรพนามเพศชาย ส่อว่าให้ความสำคัญผู้ชายเหนือผู้หญิง  หรือเมื่อมีการใช้คำ American idiom ครูก็ช่วยอธิบายให้ นศ. ต่างชาติทราบว่าคำนั้นมีความหมายว่าอย่างไร  เพื่อช่วยให้ นศ. ผู้นั้นได้เข้าใจร่วมไปกับชั้น


ใช้ตัวอย่างที่แตกต่างหลากหลาย

ตัวอย่างที่แตกต่างหลากหลาย ช่วยให้ นศ. เห็นว่า ทฤษฎีนั้นใช้ได้ในสถานการณ์ที่แตกต่างกัน  เช่น  ตัวอย่างที่ใช้ในคนเพศใดก็ได้  ที่ใช้ในผู้หญิง  ที่ใช้ในคนต่างเศรษฐฐานะ  จะช่วยให้ นศ. ติดตามได้  และเห็นคุณค่าของความรู้นั้นในสถานการณ์จริง

 

กำหนดและบังคับใช้กติกาให้เกิดปฏิสัมพันธ์ที่ดี

กติกาของปฏิสัมพันธ์ในชั้นเรียนต้องมีการกำหนดเพื่อให้เกิดปฏิสัมพันธ์ที่ดี  มีท่าทีเปิดกว้าง (inclusive)  นศ. ทุกคนได้รับการพัฒนา   วิธีที่ดีคือให้ นศ. ระดมความคิดช่วยกันกำหนด  เพื่อป้องกันพฤติกรรมของบางคนที่มีอคติต่อคนบางกลุ่ม


ระมัดระวังว่าสาระในวิชาไม่ทำให้ นศ. บางกลุ่มถูกผลักออกไปชายขอบ

ครูต้องระมัดระวังตรวจสอบสาระของวิชา ว่ามีการละเว้นสาระบางส่วนไปหรือไม่  การละเว้นนั้น มีผลเท่ากับไม่ให้ความสำคัญแก่คนบางกลุ่ม  ทำให้ นศ. บางคนรู้สึกเหมือนถูกผลักออกไปนอกวง (marginalized) และมีผลปิดกั้นการสร้างอัตตลักษณ์ของ นศ. คน/กลุ่ม นั้น หรือไม่


สร้างบรรยากาศที่ดีของรายวิชาในวันแรก

ครูพึงใช้วันแรกสร้างความประทับใจ และวางแนวทางของบรรยากาศในชั้นเรียน  แสดงดุลยภาพระหว่างสมรรถนะและอำนาจ กับความเป็นคนที่เข้าถึงง่าย  หาวิธีทำให้ นศ. รู้จักกัน และรู้สึกสบายใจกับครูและรายวิชา  รวมทั้งสามารถเรียนเนื้อหารายวิชาได้อย่างมีความหมาย


จัดให้มีการสะท้อนกลับ เรื่องบรรยากาศการเรียน

ครูต้องหาวิธีได้รับการสะท้อนกลับ (feedback) บรรยากาศในชั้นเรียน ว่าทุกคนรู้สึกว่าได้รับความเอาใจใส่ ให้คุณค่า และรับฟัง อย่างเท่าเทียมกัน  โดยวิธีใดวิธีหนึ่งหรือหลายวิธีต่อไปนี้ (๑) ถามจาก ตัวแทน นศ. ที่มาพบครูเป็นระยะๆ อย่างสม่ำเสมอ  โดยครูถามประเด็นจำเพาะที่เป็นเรื่องอ่อนไหวสำหรับชั้นเรียนนั้น  (๒) จัดให้ นศ. กรอกแบบสอบถามเรื่องประเด็นอ่อนไหว ในช่วงต้นเทอม  (๓) บันทึกวิดีทัศน์ของชั้นเรียน นำมาพิจารณา  (๔) หาคนมานั่งสังเกตการณ์ชั้นเรียนและให้ความเห็นป้อนกลับ  คนผู้นั้นอาจเป็นเพื่อนครู  นศ. ช่วยสอน  หรือที่ปรึกษาจากศูนย์พัฒนาการเรียนการสอน

ประเด็นรายละเอียดที่น่าจะตรวจสอบเช่น ครูถามหรือมีปฏิสัมพันธ์กับ นศ. กลุ่มไหนมากเป็นพิเศษ  นศ. กลุ่มไหนไม่ได้รับปฏิสัมพันธ์จากครูเลย  ปฏิสัมพันธ์แบบที่พึงเอาใจใส่คือ ถามคำถาม  ขัดจังหวะ  ถามคำถามที่ง่าย  แสดงความชื่นชมเป็นพิเศษ  เป็นต้น


ระมัดระวังเรื่องที่อ่อนไหวล่อแหลม

ครูต้องระมัดระวังเรื่องที่อ่อนไหวล่อแหลมต่อความรู้สึกของ นศ. บางคนหรือบางกลุ่ม  และเมื่อเหตุการณ์ในชั้นเรียนเริ่มส่อไปในทางที่จะเกิดบรรยากาศการเรียนที่ไม่พึงประสงค์  ครูต้องรีบตัดไฟแต่หัวลม  ครูต้องศึกษาและปรึกษาเรื่องนี้เอาไว้เตรียมตัวป้องกันบรรยากาศที่ทำลายการเรียนรู้เรื่องที่สำคัญ จำเป็น แต่เป็นเรื่องอ่อนไหว


ตรวจหาความตึงเครียดให้พบแต่เนิ่นๆ

เมื่อครูจ้องสังเกตระมัดระวังอยู่แล้ว  ครูก็จะเห็นการเริ่มก่อหวอดของบรรยากาศที่ไม่ดี  เช่น มีการบอกให้เพื่อนหยุดพูด  มี นศ. บางคนเลี่ยงออกไปจากห้องหรือจากกลุ่ม  เกิดมีการโต้เถียงกันโดยตรง  ครูต้องรีบหาวิธีระงับเหตุก่อนจะลุกลามใหญ่โต  วิธีการมีได้หลากหลาย เช่นกล่าวคำขอโทษด้วยตนเอง หรือแทน นศ. บางคน “ครูขอโทษ ที่ครูจัดบทเรียนนี้  และนำไปสู่ความรู้สึกไม่ดีของ นศ. จำนวนหนึ่ง”  และชี้ให้เห็นว่าเป็นเรื่องการตีความหมายแตกต่างกัน

หลังเวลาเรียน ครูควรเชิญ นศ. ที่มีความรู้สึกไม่ดี หรือ นศ. ที่เป็นตัวจุดชนวน มาคุย  ทำความเข้าใจประเด็นความล่อแหลม และวิธีพูดที่ไม่ระคายความรู้สึกของคนที่ความอดทนในเรื่องนั้นต่ำ

เหตุการณ์ยุ่งยาก  เป็นสถานการณ์จริงสำหรับการเรียนรู้


เปลี่ยนความตึงเครียด และไม่เห็นพ้อง เป็นโอกาสเรียนรู้

นศ. ควรได้เรียนรู้ว่า การโต้เถียง  ความขัดแย้ง  ความไม่ลงรอยกัน  และการตีความต่างกัน เป็นโอกาสขยายมุมมอง ทำความเข้าใจเรื่องนั้นในมิติที่ลึกขึ้น  ทำความเข้าใจมุมมองตรงกันข้าม  ฯลฯ  คือเป็นโอกาสเรียนรู้ให้รู้จริงนั่นเอง  จึงไม่ควรมองสภาพข้างต้นเป็นสิ่งไม่พึงประสงค์  และไม่ควรหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิด

แต่ด้วยความอ่อนเยาว์ของ นศ.  ที่พัฒนาการด้านสังคมและอารมณ์ยังไปไม่บรรลุวุฒิภาวะสูงสุด  จึงมีโอกาสที่ นศ. บางคนจะควบคุมตัวเองไม่อยู่และลุแก่โทสะ ทำให้ “บ่อนแตก”  ทำลายบรรยากาศการเรียนรู้

ครูต้องฝึกกำกับควบคุมบรรยากาศที่ล่อแหลมเหล่านี้  ให้อยู่ในสภาพที่ “พอทน” สำหรับ นศ.  ไม่ให้ลุกลามกลายเป็นความขัดแย้ง หรือทะเลาะกัน  ให้เป็นบรรยากาศของ “ความตึงเครียดที่สร้างสรรค์” (constructive tension)   ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้ที่สำคัญมาก


ส่งเสริมให้มีการฟังอย่างตั้งใจ (Active Listening)

ความตึงเครียดส่วนใหญ่เกิดจาก นศ. ไม่ได้ฟังเพื่อนอย่างตั้งใจ  ไม่ได้ฟังสิ่งที่เพื่อนพูดอย่างแท้จริง  พอมีบางคำที่ตนรู้สึกแสลงหู หรือแทงใจดำ อารมณ์วู่วามก็พลุ่งออกมา  ดังนั้นทักษะการฟังที่เรียกว่า active listening จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการป้องกันไม่ให้เกิดความขัดแย้ง

นศ. จึงควรได้มีโอกาสฝึกทักษะการฟัง  วิธีหนึ่งคือ paraphrasing หรือการทวนคำพูดของเพื่อน ในสำนวนใหม่ของตนเอง  ครูเองอาจแสดงตัวอย่าง โดยทวนคำพูดของ นศ.  และถามผู้พูดว่า ตรงกับความหมายที่ นศ. ตั้งใจหรือไม่


สรุป

ระดับพัฒนาการของ นศ. มีผลต่อการจัดรูปแบบการเรียนรู้ให้รู้จริง  และการเรียนรู้ในมหาวิทยาลัย ต้องเอาใจใส่ส่งเสริมพัฒนาการของ นศ. ไปพร้อมๆ กันด้วย  นั่นคือ ระดับพัฒนาการของ นศ. เป็นทั้ง means และ end ของกระบวนการเรียนรู้

บรรยากาศของการเรียนรู้ ต้องไม่ใช่เอาใจใส่เฉพาะบรรยากาศทางปัญญา หรือการเรียนรู้วิชาเท่านั้น   แต่ต้องเอาใจใส่บรรยากาศทางสังคม และทางอารมณ์ด้วย  บรรยากาศทั้ง ๓ ด้านนี้ มีผลต่อการเติบโตหรือพัฒนาการรอบด้าน

บรรยากาศ และระดับพัฒนาการของ นศ. มีปฏิสัมพันธ์กับกิจกรรมการเรียนรู้อย่างซับซ้อน  ท้าทายครูเพื่อศิษย์ ในการจัดการสิ่งเหล่านั้น เพื่อเอื้ออำนวย ให้ศิษย์เกิดการเรียนรู้แบบ “รู้จริง”

ผมขอเพิ่มเติมว่า บรรยากาศการเรียนรู้ของ นศ. มหาวิทยาลัย ต้องคำนึงถึงพัฒนาการด้านร่างกายของ นศ. ด้วย  สภาพแวดล้อมควรเอื้อให้ นศ. ได้สร้างสุขนิสัย ด้วยการออกกำลังกายสม่ำเสมอ ติดตัวไปตลอดชีวิต  การออกกำลังกายแบบแอโรบิก ช่วยให้สมองแจ่มใส ลดความเครียด ช่วยการเรียนรู้

 

วิจารณ์ พานิช

๓ม.ค. ๕๖

คัดลอกมาจาก http://www.gotoknow.org/posts/530986