กฟผ.เป็นองค์กรมืออาชีพ อย่าเล่นการเมืองกับกฟผ.

วันอังคารที่ 02 เมษายน 2013 เวลา 00:00 น. ม.ล.ชาญโชติ ชมพูนุท บทความ - พัฒนาทุนมนุษย์
พิมพ์

กฟผ.เป็นองค์กรมืออาชีพ อย่าเล่นการเมืองกับกฟผ.

 

ขอบคุณผู้อ่านจำนวนมากที่ส่งข้อมูลกลับมาเรื่อง “คนไทยไม่ต้องการรัฐบาลเสียงข้างมาก อยากได้รัฐบาลที่มีคุณธรรม” บทความครั้งที่แล้ว

ผมคิดว่า คนไทยจำนวนหนึ่งไม่พอใจกับรัฐบาลเสียงข้างมาก ที่ทำอะไรมุ่งเอาแต่ผลประโยชน์ของตัว ถ้าพูดบ่อยๆ ก็คงจะมีคนกล้าออกมาแสดงจุดยืนมากขึ้นเพราะประเทศไทยจะต้องอยู่รอดในระยะยาวต้องเน้นประโยชน์เพื่อส่วนรวม ต้องอยู่อย่างมีศักดิ์ศรีในสายตา ASEAN และสายตาชาวโลก การมีโลกไร้พรมแดนก็มีข้อดี คือทำให้ได้เปรียบเทียบคุณภาพของนักการเมืองแต่ละประเทศว่ามีมาตรฐานอย่างไร

สัปดาห์นี้ รัฐมนตรีพลังงานเปิดประเด็นว่า ไฟฟ้าเดือนเมษายนจะวิกฤติแน่ๆ เพราะพม่าจะหยุดส่งก๊าซช่วงหนึ่ง คำสัมภาษณ์ของท่านสร้างความหวาดวิตกให้แก่ธุรกิจและคนไทยทั่วๆ ไป เพราะในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา ไฟฟ้าบ้านเรา ภายใต้องค์กรที่เรียกว่า EGAT หรือ กฟผ.เป็นองค์กรชั้นนำในระดับ ASEAN เริ่มตั้งแต่ผู้ว่าฯรุ่นแรก คุณเกษม จาติกวณิช พล.อ.อ.กำธน สินธวานนท์ มาถึง ท่านปัจจุบัน คุณสุทัศน์ ปัทมสิริวัฒน์ ถือว่ามีความสำเร็จอย่างสูง มีไฟฟ้าใช้อย่างพอเพียงและสม่ำเสมอ (Reliability) โอกาสไฟฟ้าดับไม่ปรากฏมาหลายสิบปีแล้ว

ยิ่งในช่วงเศรษฐกิจขยายตัว มีธุรกิจต่างชาติมาลงทุน 20 ปีที่ผ่านมาความต้องการไฟฟ้าขยายอย่างมาก กฟผ.ทำหน้าที่ได้ดีมีไฟฟ้าพอเพียงรองรับได้ ถือว่าเป็นความสำเร็จในการดึงนักลงทุนจากต่างประเทศมาในช่วงหลังๆ การไฟฟ้าจึงต้องพัฒนาทุนมนุษย์ในทุกระดับ เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว อย่างน้อยก็ 3-4 เรื่อง ช่วยในการอธิบายความจำเป็นในการสร้างโรงไฟฟ้าโรงใหม่ๆ กับชุมชนและ NGOs ให้เข้าใจเรื่องการบริหารแหล่งพลังงานไฟฟ้าระหว่างประเทศเพื่อนบ้านโดยเฉพาะ พม่า ลาวมาเลเซีย และสุดท้าย บริหารนโยบายรัฐบาลและนักการเมือง ซึ่งในอดีต ผู้นำการไฟฟ้าเป็นวิศวกรมืออาชีพเก่งๆ จากมหาวิทยาลัยชั้นนำของเมืองไทย แต่เนื่องจากความสำเร็จของโครงการสร้างโรงไฟฟ้าในอดีตเป็นจุดอ่อนเพราะอาจจะไม่ได้คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมหรือความรู้สึกของชุมชนมากเท่าที่ควร ยิ่งในยุคคุณทักษิณ แรกๆ จะเข้ามาแปรรูป กฟผ. เหมือนที่เคยทำสำเร็จที่ ปตท. แต่เดชะบุญ ทำไม่สำเร็จ การมาบริหารอีกครั้งจะเป็นอย่างไรมองนโยบายไฟฟ้าในอนาคตอย่างไร ปัจจุบันรัฐบาลควรกำหนดนโยบายให้ประชาชนได้ใช้ไฟฟ้าในราคาย่อมเยา ไม่แพงเกินไป ดังนั้นจึงขอให้รัฐบาลอย่าเล่นการเมืองเท่านั้น ขอให้ช่วยดูแลและสนับสนุน 2-3 เรื่อง

-ถ้าจะสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ รัฐบาลควรจะช่วยทำความเข้าใจกับ NGOs อย่าให้ กฟผ.รับผิดชอบฝ่ายเดียว

-นอกจากกระทรวง ในระดับรัฐมนตรีแล้ว ควรจะเน้นคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน “Regulator” ให้ร่วมกันกำหนด
นโยบายและรับผิดชอบเรื่องการสร้างความเข้าใจกับชุมชนในการมีโรงไฟฟ้าใหม่ๆ

เรื่อง “นิวเคลียร์” ถ้าจำเป็น ควรเดินหน้า เตรียมการให้พร้อม

-เน้นนโยบายประหยัดพลังงานอย่างเป็นรูปธรรม

-เน้นนโยบายสนับสนุนพลังงานทดแทน

-และเน้นนโยบายพลังงานสีเขียว

ผมออกความเห็นได้เพราะผมได้เข้ามาพัฒนาผู้นำใน กฟผ.มา 9 รุ่นแล้ว ประมาณ 8 ปีต่อเนื่อง ได้เห็นความพยายามของ กฟผ.ในการบริหารการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญที่สุด คือการปรับตัวให้ผู้นำเข้ากับการเปลี่ยนแปลงและบริหารนโยบายรัฐบาลให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน แต่วิชาที่สอนยากที่สุดคือการบริหารนักการเมืองที่ไม่หวังดีกับประเทศของเรา องค์กร กฟผ. มีศักยภาพมากมาย และมีวิศวกรเก่งๆ กว่า 2,000 คน ดังนั้นสมควรได้รับการสนับสนุนจากการเมืองให้เป็นองค์กรมืออาชีพอย่างแท้จริง

ถ้าเมืองไทยมีธนาคารชาติและมี กฟผ.เป็นองค์กรที่เข้มแข็ง ทำประโยชน์ต่อประเทศไทยระยะยาว ก็จะมีความเป็นไปได้สูงขึ้น ที่ประเทศจะอยู่ได้อย่างยั่งยืนแน่นอน

อาทิตย์ที่ผ่านมา ผมได้ไปร่วมงาน Safe in the City ขอบคุณผู้จัดคือคุณราเชนทร์ ชัยวัน นายกสมาคมผู้รักษาความปลอดภัยโรงแรม HOSAT และคุณลำเพาพรรณ ลีรพันธุ์ ต้องยอมรับว่าเรื่อง Safety เป็นปัญหาใหญ่ของประเทศเพราะประเทศสูญเสียมูลค่าของทุนมนุษย์ปีละหลายแสนล้าน จากความไม่ปลอดภัย

-จากภัยธรรมชาติ

-จากการบาดเจ็บจากการทำงาน

-จากอุบัติเหตุในท้องถนน

-จากอัคคีภัย

จึงต้องใช้มาตรฐานความปลอดภัยของ ASEAN มาเปรียบเทียบ เช่น มาตรฐานความปลอดภัยของสิงคโปร์เป็นอย่างไร สูงกว่าประเทศไทยมากแค่ไหน ตัวละครที่จะช่วยเรื่องความปลอดภัยมีตั้งแต่รัฐ เอกชน นักวิชากร NGOs ต้องร่วมกันสร้างวัฒนธรรมของความปลอดภัยลดการสูญเสียอย่างมีประสิทธิภาพ

สิ่งที่ยากที่สุดในประเทศของเราคือ “ป้องกัน” ไม่ให้เกิดขึ้นมาช่วยกันสร้างวัฒนธรรมการป้องกันความปลอดภัยไม่ให้เกิดขึ้นอย่าแก้ที่ปลายเหตุเมื่อเกิดขึ้นแล้วความเสียหายจะมาก

ศ.ดร.จีระ หงส์ลดารมภ์
เลขาธิการมูลนิธิพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ระหว่างประเทศ
อีเมลนี้จะถูกป้องกันจากสแปมบอท แต่คุณต้องเปิดการใช้งานจาวาสคริปก่อน
www.gotoknow.org/blog/chiraacademy
แฟกซ์ 0-2273-0181