ชีวิตที่พอเพียง : ๒๐๑๑. ฝึกพูดไม่ไพเราะแต่มีคุณค่า

วันพฤหัสบดีที่ 17 กรกฏาคม 2014 เวลา 00:00 น. ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช บทความ - การศึกษา
พิมพ์

ผมไปร่วมประชุมปรึกษาหารือ เรื่องแนวทางการประเมินคุณภาพการศึกษาแบบ eLearning หรือonline learning  ในรอบการประเมินรอบที่ ๔ ที่ สมศ. เมื่อเช้าวันที่ ๔ ก.ย. ๕๖   โดยมีคุณศุภชัย พงศ์ภคเธียร เป็นประธาน    และ ผอ. สมศ. ศ. ดร. ชาญณรงค์ พรรุ่งโรจน์ ก็อยู่ในที่ประชุมด้วย    ผู้เข้าร่วมประชุมคือผู้รู้ด้าน eLearning จากจุฬาฯ, มสธ., ม. รามคำแหง, รองเลขาธิการ กกอ. ดร. วราภรณ์ สีหนาท, ศ. ดร. ศรีศักดิ์ จามรมาน, ศ. ดร. อุทุมพร จามรมาน เป็นต้น   มีผมเป็นผู้ไม่รู้ได้รับเชิญไปร่วมอยู่คนเดียว

ผมจ้องอยู่นานว่าจะพูดเรื่องปัญหาของระบบประเมินคุณภาพการศึกษาไทย เป็นตัวทำลายคุณภาพของการศึกษา ดีหรือไม่   เพื่อทดสอบว่า ความเข้าใจของผมถูกต้องหรือไม่   เวทีนี้เหมาะสมมากที่จะพูด เพราะมีทั้งผู้บริหารระดับสูงถึงสูงสุดของ สมศ. และ สกอ. ที่เป็นจำเลยอยู่ด้วยกัน   ในที่สุด ผมก็ได้ช่อง ในตอนท้ายของการประชุม ที่เป็นช่วงรับประทานอาหารเที่ยง   และยังมีการคุยกันแบบไม่เป็นทางการ

เพื่อให้แม่นยำ ผมจึงถอดข้อความจากเครื่องบันทึกเสียง ดังต่อไปนี้

ผมถือโอกาสที่ท่าน ผอสมศอยู่ที่นี่ และท่านรองเลขาธิการ กกอด้วย    ประเด็นที่เราคุยกัน คือ เราต้องการประกันคุณภาพของ learning outcome  ของผู้เรียน    ผมไม่มีความรู้ทางการศึกษา แต่อ่านหนังสือด้านการเรียนรู้มาก อ่านแล้วมีข้อสรุปกับตัวเอง ซึ่งไม่แน่ใจว่าถูกหรือผิด และที่พูดนี้อาจทำให้คนในวงการศึกษาไม่สบายใจ ก็ต้องกราบขออภัย

ผมมีความรู้สึกว่าระบบการประเมิน ทั้งการประเมินภายใน และการประเมินภายนอก ของการศึกษา น่าจะเดินผิดทาง ถ้าดู learning outcome ว่าต้องทำให้เกิดพัฒนาการรอบด้าน ไม่ใช่เฉพาะด้านวิชาความรู้อย่างที่วัดกันอยู่ในการทดสอบระดับชาติที่ทำกัน ซึ่งวงการศึกษารู้กันทั่ว   และในพระราชบัญญัติการศึกษาก็ระบุชัดเจนทุกฉบับ    ว่าการศึกษาต้องให้เกิดพัฒนาการรอบด้าน ครบทุกด้าน   ทั้งด้านสติปัญญา หรือวิชาความรู้ (intellectual), ด้านอารมณ์ (emotional), ด้านสังคม (social), ด้านจิตวิญญาณ (spiritual), และด้านกายภาพ (physical)

แต่วิธีประเมินที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ประเมินได้เพียงพัฒนาการด้านสติปัญญาเท่านั้น ประเมินพัฒนาการด้านอื่นไม่ได้ แต่สมัยที่ผมเรียนหนังสือ หน้าที่ประเมินที่รอบด้านนั้น ครูและโรงเรียนเป็นผู้ทำ    และที่ประเทศฟินแลนด์ ก็ให้ครูประเมิน และประเมินทุกด้าน   สมัยผมเรียนจนจบ ป. ๔ ครูและโรงเรียนเป็นผู้ประเมิน   ตอนจบ ม. ๖ ครูและโรงเรียนก็ประเมินเอง   มาสอบรวมกันทั้งประเทศเฉพาะ ม. ๘ หรือเตรียมอุดมศึกษา    สภาพของเราจึงเป็นคล้ายๆ ระบบการศึกษาค่อยๆ ลดฐานะครู ไม่เชื่อถือครู ว่าประเมินไม่แม่น หรือไม่ซื่อสัตย์    เราจึงหันมารวมศูนย์การประเมิน   และด้วยข้อจำกัดของการจัดการประเมิน จึงเหลือประเมินด้านเดียว คือประเมินวิชา ประเมินความจำ    และในที่สุดการศึกษาจึงสอนเพื่อสอบ   และผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาตกต่ำอย่างที่เป็นอยู่

ผมจึงขอเสนอว่า สมศ. จะอยู่อย่างในปัจจุบันนี้ไม่ได้   สมศ. ควรทำหน้าที่พัฒนาระบบการประเมิน   โดยต้องเอาการประเมินกลับไปไว้ในมือครู   ให้เกียรติครู   ให้ครูประเมินผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาครบทุกด้าน   พัฒนาครูให้ประเมินได้แม่นยำ   และให้ครูประเมินอย่างซื่อสัตย์เชื่อถือได้   ครูคนไหนประเมินได้ยังไม่น่าเชื่อถือ ก็ช่วยพัฒนา   ถ้ามีปัญหาด้านความซื่อสัตย์ก็ให้ปรับปรุงตนเอง   ถ้าปรับปรุงแก้ไขด้านความซื่อสัตย์ไม่ได้ ก็ไม่ควรให้เป็นครูอีกต่อไป

เพราะดึงการประเมินมาไว้ที่ส่วนกลาง    และประเมินเพียงด้านเดียวคือด้านความรู้    การศึกษาของเราจึงไม่เอาใจใส่ด้านการสร้างคนดี   และลามไปที่ครู   ครูจึงไม่มีคุณสมบัติด้านต่างๆ ครบด้านอย่างที่เป้าหมายการศึกษากำหนด

โชคดีจริงๆ ที่ท่านผู้รู้ในห้องประชุม อภิปรายสนับสนุนข้อสังเกตของผม    แต่การพูดคุยไปไม่ถึงการเปลี่ยนฐานการทำงานของ สมศและ สกอ.

ผมได้เรียนรู้ว่า ผู้บริหารระดับสูงของไทย ด้าน” ต่อการรับรู้ว่าปัญหาใหญ่ของบ้านเมืองในเชิงระบบ  ที่ตนเองรับผิดชอบอยู่ เป็นเรื่องที่ตนจะต้องรับมาดำเนินการแก้ไข    ต่างก็มีท่าทีแบบ ธุระไม่ใช่”   

 

 

วิจารณ์ พานิช

๕ ก.ย. ๕๖

 

 

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย 

แก้ไขล่าสุด ใน วันพฤหัสบดีที่ 17 กรกฏาคม 2014 เวลา 07:57 น.