ปฏิรูปการเมืองไทย ฉบับ ศ. ดร. อมร จันทรสมบูรณ์

วันพฤหัสบดีที่ 17 กรกฏาคม 2014 เวลา 00:00 น. ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช บทความ - การศึกษา
พิมพ์

ปฏิรูปการเมืองไทย ฉบับ ศ. ดร. อมร จันทรสมบูรณ์

นพ. ชูชัย ศุภวงศ์ ส่ง อีเมล์ มาดังต่อไปนี้

บางสารัตถะจากการสนทนากับศ.ดร.อมร จันทรสมบูรณ์ในวันอายุมงคล 84 ปี 13 กรกฎาคม 2557

ในราวปีพศ.๒๕๓๗-๓๘ ผมได้มีโอกาสดีที่ได้เข้าไปนั่งอยู่ในคณะกรรมการพัฒนาประชาธิปไตย(คพป) ที่ท่านอาจารย์หมอประเวศ วะสี เปนประธาน ทำให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ครั้งสำคัญในชีวิต ในครั้งนั้น ท่านอาจารย์หมอประเวศ บอกให้ผมประสานติดต่อผู้อาวุโสของบ้านเมืองสองท่านคือ ท่านอาจารย์ระพี สาคริก และท่านอาจารย์อมร จันทรสมบูรณ์ ยังจะไม่นำรายละเอียดมาเขียนไว้ ณ ที่นี้

ประเด็นที่สำคัญที่ต้องการบันทึกไว้คือ คุณูปการที่สำคัญยิ่งที่ท่านอาจารย์อมร มอบให้กับแผ่นดินนี้ ท่านอาจารย์อมรเขียนหนังสือเรื่องลัทธิรัฐธรรมนูญ(constitutionalism) ผมเห็นว่า เปนฐานคิดที่สำคัญที่ส่งผลต่อรัฐธรรมนูญ๔๐และ๕๐ เลยทีเดียว แม้ว่ารัฐธรรมนูญทั้งสองฉบับดังกล่าวไม่สามารถนำแนวคิดทั้งหลายที่เขียนไว้ในconstitutionalism มาได้ทั้งหมด

ผมต้องอ่านหนังสือเล่มนี้ไม่น้อยกว่าสามเที่ยวจึงพอจะเข้าใจ และอ่านซ้ำอีกหลายครั้งในบางตอนของหนังสือเล่มนี้ ในครั้งนั้นได้แต่คิดว่า ทำไมหนอเรื่องดีๆที่มีคุณค่าเช่นนี้จึงไม่เกิดขึ้นบนแผ่นดินสยาม

เชิญอ่านแนวคิดและความเห็นล่าสุดของท่านอาจารย์อมร จันทรสมบูรณ์ในยามอายุมงคล ๘๔ปี ที่มีต่อชาติบ้านเมือง

ชูชัย ศุภวงศ์

๑๕ กค. ๕๗

บางสารัตถะจากการสนทนากับศ.ดร.อมร จันทรสมบูรณ์ในวันอายุมงคล 84 ปี 13 กรกฎาคม 2557

ท่านอาจารย์อมร จันทรสมบูรณ์เห็นว่าการรัฐประหารเป็นความจำเป็นที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะวิกฤตของประเทศที่เกิดจากระบอบเผด็จการรัฐสภาของกลุ่มทุนเจ้าของพรรคการเมืองนั้นกัดกร่อนประเทศมายาวนานผ่านรัฐธรรมนูญหลายฉบับ คณะรัฐประหารควรใช้ความเป็นรัฎฐาธิปัตย์เยียวยาแก้ไขระบบกฎหมายพื้นฐานต่าง ๆ ให้ลุล่วงในขั้นตอนแรกนี้ก่อนจะก้าวไปสู่ขั้นตอนการมีสภาและรัฐบาลอันเป็นรูปแบบพื้นฐานของประชาธิปไตย เพราะเมื่อถึงขั้นตอนนั้นต่อให้เขียนธรรมนูญชั่วคราวคงอำนาจคณะรัฐประหารไว้อย่างไรก็ตามแต่ก็จะไม่เหมือนเดิมในขั้นตอนแรกแน่นอน เพราะเท่ากับคณะรัฐประหารสละความเป็นรัฎฐาธิปัตย์ไปแล้ว และท่านแน่ใจแล้วหรือว่าโครงสร้างทางการเมืองในขั้นตอนที่ 2 ที่มีธรรมนูญชั้วคราว สภาสนช. รัฐบาล และสภาปฏิรูป จะปฏิรูปประเทศได้สำเร็จในความหมายของการทำลายระบอบเผด็จการรัฐสภาของกลุ่มทุนเจ้าของพรรคการเมืองและสร้างระบอบประชาธิปไตยที่มีเหตุผลขึ้นมาได้

ถ้าการประกาศโร้ดแมปให้มีขั้นตอนที่ 2 และต่อด้วยขั้นตอนที่ 3 ที่จะมีการเลือกตั้งภายในอีก 1 ปีถัดไปเป็นเพราะต้องการให้โลกตะวันตกยอมรับ หรืออย่างน้อยก็ผ่อนคลายแรงกดดันลง ท่านก็ฝากข้อคิดไว้ว่าเราตอบโจทย์ผิด

เพราะในขั้นตอนที่ 2 นี้แม้จะจำลองรูปแบบประชาธิปไตยมาโดยมีธรรมนูญ มีสภา มีรัฐบาลที่มาจากสภา แต่ก็เพียงจำลอง ไม่ใช่ของจริง เพราะยังไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง แรงกดดันจากโลกตะวันตกแม้จะผ่อนคลายลงแต่ก็จะยังมีน้ำหนักอยู่โดยพุ่งเป้าไปที่การเร่งรัดให้ถึงขั้นตอนที่ 3 คือการเลือกตั้ง

ในที่สุดประเทศไทยก็จะเข้าสู่ขั้นตอนที่ 3 โดยที่การทำลายระบอบเผด็จการรัฐสภาของกลุ่มทุนเจ้าของพรรคยังไม่สำเร็จหรืออาจจะยังไม่ได้เริ่มต้นด้วยซ้ำ

Vicious Circle ก็จะยังคงดำรงอยู่ !

ทำไมเราไม่ตอบโจทย์ให้ตรงเป้า ?

โลกตะวันตกกดดันเราโดยอ้างเหตุผลว่าเราไม่เป็นประชาธิปไตย เราก็ควรจะชี้แจงตอบโจทย์ไปในประเด็นว่าด้วยความเป็นประชาธิปไตยหรือไม่เป็นประชาธิปไตยในบริบททางประวัติศาสตร์และประสบการณ์ที่โลกตะวันตกพาบพบประสบมาแล้วทั้งยุโรปและสหรัฐอเมริกา ไม่ใช่ไปตอบไม่ตรงโจทย์ไปว่าที่เราต้องรัฐประหารเพราะความขัดแย้งทางการเมืองมายาวนานร่วม 10 ปีทำให้เดินหน้าตามระบอบการเมือง (ประชาธิปไตย) ปรกติไม่ได้ จึงต้องหยุดยั้งชั่วคราว แล้วภายใน 1 ปีครึ่งจะคืนกลับสู่ (ประชาธิปไตย) ปรกติ แต่ไม่ได้อรรถาธิบายว่าอะไรเป็นสาเหตุให้เกิดความขัดแย้งในหมู่ประชาชน ซึ่งเป็นคนละเรื่องกัน

ตอบโจทย์ (โลกตะวันตก) อย่างไรให้ตรงเป้าเข้าประเด็น ?

ท่านอาจารย์อมร จันทรสมบูรณ์เห็นว่าเหตุผลในการชี้แจงที่จะทำให้โลกตะวันตกเข้าใจการทำรัฐประหารในบ้านเราได้ เราจำเป็นต้องใช้เหตุผลในเรื่องเดียวกัน คือ ความเป็นประชาธิปไตยหรือไม่เป็นประชาธิปไตย ไม่ใช่เรื่องสถานการณ์หรือเหตุการณ์วุ่นวายของประเทศไทยที่ทำให้ต้องทำรัฐประหาร และเราต้องมีความรู้ทาง ประวัติศาสตร์การเมืองของประเทศที่พัฒนาแล้วตามสมควร กล่าวคือ

สำหรับยุโรป เราน่าจะชี้แจงไปว่า สถานการณ์และเหตุการณ์ของประเทศไทยที่เกิดความวุ่นวายและมวลชนมีความแตกแยกกัน (และมีการทุจริตคอร์รัปชั่นโดยนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งอย่างมากมาย) ที่ทำให้ทหารจำต้องทำการรัฐประหารนั้น เกิดขึ้นเพราะประเทศไทยเกิดความผิดพลาดในการเขียนรัฐธรรมนูญทุกฉบับต่อเนื่องกันมาทีทำให้เกิดระบบเผด็จการโดยพรรคการเมืองในระบบรัฐสภา ดังเช่นที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในยุโรป คือ เกิดขึ้นในประเทศฝรั่งเศสในปีค.ศ. 1958 ซึ่งนายพลเดอโกลล์จำเป็นต้องเข้ามาแก้สถานการณ์ให้คนฝรั่งเศส และเคยเกิดขึ้นในประเทศเยอรมนีก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 (ค.ศ. 1939 – 1945) ทำให้เกิดเผด็จการของพรรคนาซีของฮิตเลอร์จนก่อให้เกิดสงครามครั้งที่ 2

และสำหรับสหรัฐอเมริกา ท่านอาจารย์เห็นว่าเราก็น่าจะชี้แจงในแนวทางเดียวกัน คือ ชี้แจงว่าสถานการณ์และเหตุการณ์ของประเทศไทยที่เกิดความวุ่นวายและมวลชนมีความแตกแยกกัน และมีการทุจริตคอร์รัปชั่นโดยนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งอย่างมโหฬาร ที่ทำให้ทหารจำต้องทำการรัฐประหารนั้น เกิดขึ้นเพราะประเทศไทยมีความผิดพลาดในการเขียนรัฐธรรมนูญทุกฉบับต่อเนื่องกันที่ทำให้เกิดระบบเผด็จการโดยพรรคการเมืองนายทุน ในระบบรัฐสภา ซึ่งได้แก่ระบอบทักษิณ โดยระบอบทักษิณได้พยายามทำให้ประชาชนเชื่อว่าพรรคการเมืองที่ส.ส.ของพรรคได้รับเลือกตั้งเข้ามาเป็นเสียงส่วนใหญ่ในสภาผู้แทนราษฎรย่อมสามารถใช้อำนาจรัฐได้โดยไม่มีขอบเขตและไม่ต้องถูกควบคุม เพราะถือว่านโยบายของพรรคได้รับความเห็นชอบจากประชาชนส่วนใหญ่มาแล้ว ซึ่งทำให้เกิดการทุจริตคอร์รัปชันอย่างมโหฬารโดยนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งที่สังกัดพรรคการเมืองที่รวมตัวกันเข้าผูกขาดอำนาจรัฐ

ความเชื่อเช่นนี้ได้เคยเกิดขึ้นมาแล้วในสหรัฐอเมริกาในระบบ spoils system ในต้นศตวรรษที่ 19 (ค.ศ. 1928) ในยุคของประธานาธิบดีแอนดรูว์ แจ็คสัน และสหรัฐอเมริกาต้องใช้เวลาถึง 1 ทศวรรษ ในการแก้ไขความเชื่อในระบอบประชาธิปไตยอย่างผิด ๆ นี้

ถ้าตอบโจทย์ตรงเป้าเข้าประเด็นเช่นนี้ เราก็ไม่จำเป็นต้องเร่งรัดเข้าสู่ขั้นตอนทึ่ 2 และ 3 เพื่อลดแรงกดดันจากโลกตะวันตก

แต่ใช้ความเป็นรัฎฐาธิปัตย์ตอบโจทย์ของประเทศเราเองจนเกิดความมั่นใจว่าโจทย์ได้รับการแก้ไขแล้วจึงเข้าสู่กระบวนการการเมืองตามปรกติ

กระบวนการการเมืองตามปรกติของระบอบประชาธิปไตยที่ได้รับการปรับแก้ให้มีเหตุผลแล้ว (rationalized democracy)

ไม่ใช่ระบอบเผด็จการของกลุ่มทุนเจ้าของพรรคการเมือง !

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย 

แก้ไขล่าสุด ใน วันพฤหัสบดีที่ 17 กรกฏาคม 2014 เวลา 23:06 น.