ครูไทยขาดทักษะในห้องเรียน

วันพฤหัสบดีที่ 17 กรกฏาคม 2014 เวลา 00:00 น. ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช บทความ - การศึกษา
พิมพ์

เมื่อวันที่ ๑๐ มิถุนายน ๒๕๕๗ มีการประชุม Steering Committee Meeting ของโครงการจัดตั้ง สถาบันวิจัยระบบการเรียนรู้ ที่ TDRI โดยมีการนำเสนอผลงานวิจัยเบื้องต้นของระบบบุคลากรครู โดยคุณศุภณัฏฐ์ ศศิวุฒิวัฒน์

ประเด็นสำคัญที่ถือเป็นจุดยุทธศาสตร์ คือ ใน ๑๐ ปีข้างหน้าจะมีครูเกษียณ ๑.๘ แสนคน และต้องการครูใหม่ ๑.๒ แสนคน เท่ากับในปี ๒๕๖๖ จะมีครูรุ่นใหม่ถึงร้อยละ ๔๐ ของครูทั้งหมด หากครูรุ่นใหม่ผ่านการผลิตแบบใหม่ มีทักษะการเป็นครูแห่งศตวรรษที่ ๒๑ คุณภาพการศึกษาไทย มีโอกาสกระเตื้องขึ้น

ผมได้ชี้ต่อที่ประชุมว่า หากคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ยังผลิตครูตามแนวทางที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน เราก็จะได้ครูแบบเดิมนั่นเอง เป็นครูที่มีแต่ความรู้เชิงทฤษฎี แต่ไม่มีทักษะในห้องเรียน (classroom skills)

เพราะคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ในปัจจุบัน ยังใช้หลักสูตรผลิตครูที่ล้าสมัย เน้นที่ความรู้ ยังไปไม่ถึงการฝึกทักษะ และยึดถือแนวคิดหรือกระบวนทัศน์ทางการศึกษาที่โบราณตกยุค คือเน้นการ ถ่ายทอดความรู้สำเร็จรูป หรือความรู้มือสอง ไม่เปลี่ยนไปสู่การเอื้อให้ศิษย์สร้างความรู้ขึ้นเองภายในตน และทดลองทดสอบความรู้เหล่านั้นด้วยประสบการณ์ที่ครูเอื้อให้ศิษย์ได้ผ่าน จนในที่สุดมีความคล่องแคล่ว ในทักษะชุดหนึ่ง ที่เรียกว่า “ทักษะแห่งศตวรรษที่ ๒๑”

ทักษะที่สำคัญอย่างยิ่งของครู (และรวมอยู่ในทักษะแห่งศตวรรษที่ ๒๑ แล้ว) คือทักษะในการเรียนรู้ จากการทำงานหรือประสบการณ์ ครูต้องมีทักษะในการเรียนรู้จากการทำหน้าที่ครู ซึ่งก็คือเรียนรู้ จากศิษย์นั่นเอง ครูไทยไม่มีทักษะนี้ เพราะคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์เน้นสอนความรู้สำเร็จรูป ไม่เน้นฝึกการเรียนรู้จากการปฏิบัติ

classroom skills มี ๒ อย่าง คือทักษะเอื้อให้ศิษย์เรียนรู้จากการได้สร้างความรู้ขึ้นทดลองใช้ และทักษะในการเรียนรู้ของตัวครูเอง จากการทำหน้าที่เอื้ออำนวยการเรียนรู้ของศิษย์

วิจารณ์ พานิช

๑๐ มิ.ย. ๕๗

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย 

แก้ไขล่าสุด ใน วันพฤหัสบดีที่ 17 กรกฏาคม 2014 เวลา 23:12 น.