ชีวิตที่พอเพียง : ๒๒๐๘. ร่วมกันปฏิรูปบ้านเมือง เริ่มที่เยาวชนท้องถิ่น

วันอาทิตย์ที่ 27 กรกฏาคม 2014 เวลา 00:00 น. ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช บทความ - การศึกษา
พิมพ์

เช้าวันที่ ๑๙ มิถุนายน ๒๕๕๗ ผมไปร่วมประชุม โครงการพัฒนาเยาวชนในชุมชนท้องถิ่น ๔ ภาค ระยะที่ ๒ซึ่งท่านที่สนใจอ่านเรื่องราวของโครงการได้ที่นี่

ผลงานชิ้นหนึ่งของโครงการนี้คือ หนังสือ เชื่อมร้อยและถักทอ บทเรียนความสำเร็จของนักถักทอชุมชน รุ่น ๑ ในการสร้างกลไกพัฒนาเยาวชนในชุมชนท้องถิ่น ซึ่งอ่านหรือ ดาวน์โหลด ได้ ที่นี่

ในการประชุม ผมได้ฟังการนำเสนอโครงการ๕ โครงการ ที่นักถักทอชุมชนไปชวนภาคีในท้องถิ่น ดำเนินการ ตามที่มีเล่าแล้วในหนังสือ เชื่อมร้อยและถักทอ ดำเนินการโรงเรียนพ่อแม่แก้ปัญหาแม่วัยใส พัฒนาศูนย์เด็กเล็ก ชวนเด็กทำดี เป็นต้น

นักถักทอชุมชน เป็นคนของ อบต. หรือเทศบาลตำบล ได้มาฝึกวิธีทำงานเป็นเครือข่าย เกิดทักษะใหม่ คุณค่าใหม่ กระบวนทัศน์ใหม่ เปลี่ยนจากกระบวนทัศน์เดิมที่ต่างคนต่างทำ หรือต่างหน่วยงานต่างทำ น่าชื่นชมอย่างยิ่ง หากกระบวนทัศน์นี้ยั่งยืนถาวร ก็จะเกิดประโยชน์ต่อบ้านเมืองของเราอย่างยิ่ง

ยิ่งกว่านั้น นักถักทอชุมชนยังได้เรียนรู้วิธีทำงานกับเยาวชน หาทางพัฒนาเยาวชนด้วยกิจกรรมในพื้นที่เอง ดำเนินการร่วมกับภาคีเครือข่ายที่หลากหลาย เกิดความรู้ความเข้าใจเยาวชนหลากหลายด้าน

มีโครงการหนึ่ง หลงดำเนินการวัด ไอคิวเด็ก และเอาผลไปบอกแก่พ่อแม่ กรรมการชี้ทิศทางท่านหนึ่ง คือ นพ. อุดม เพชรสังหาร จึงแนะนำว่า นั่นเป็นวิธีการเชิงลบ จะให้ผลเสียต่อการพัฒนาเด็ก วิธีดำเนินการ ต่อเด็กเล็กที่ถูกต้องคือ ต้องดูแลเด็กทุกคน ไม่เน้นที่เด็กเก่ง เพราะความเก่งหรือสมองดีไม่ใช่ประเด็นสำคัญที่สุด ต่อการมีชีวิตที่ดีในอนาคตเมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ ท่านบอกว่าตัวตัดสินคือ Executive Function

ผมได้ที จึงสนับสนุนต่อว่า มีทฤษฎีว่าด้วยการเลี้ยงเด็กอยู่ ๒ ทฤษฎีที่ขัดกัน คือทฤษฎี Cognitive Theory กับ Non-cognitive Theory

ทฤษฎีแรก เป็นสิ่งที่ยึดถือกันทั่วไปในโลก รวมทั้งประเทศไทย คือเลี้ยงหรือดูแลเด็กเล็กโดยเน้นที่ “การเตรียมความพร้อม” สู่การเรียนวิชา แต่ในช่วงหลังๆ นี้ ผลการวิจัยบอกว่า เลี้ยงเด็กเล็กแบบ เน้นพัฒนาความยังยั้งชั่งใจ หรือการควบคุมตนเอง ให้ผลต่อชีวิตอนาคตดีกว่า นี่คือทฤษฎีหลัง หรือ Personality Traits Theory หรือ Character Theory ซึ่งมีตัวอย่างอยู่ในหนังสือ How Children Succeed ซึ่งก็เป็นเรื่องเดียวกันกับ EF นั่นเอง

ผมมีภารกิจที่จะต้องนั่งรถยนต์ ๕ ชั่วโมงไปชุมพร นัดให้ลูกสาวไปรับที่โรงแรม มิราเคิล สถานที่ประชุมเวลา ๑๑.๐๐ น. พอเวลา ๑๐.๔๕ น. เขาก็โทรศัพท์มาบอกว่า ได้นั่งรอที่ ล็อบบี้ ของโรงแรมอยู่แล้ว เมื่อจบการนำเสนอรายการที่ ๕ ผมจึงต้องขออนุญาตที่ประชุม ขอให้ความเห็นในภาพรวม มาคิดได้ทีหลังว่าผมลืมพูดเรื่องสำคัญที่สุด ที่ตั้งใจจะพูด

ที่ตั้งใจจะพูดคือ จะบอกว่าสิ่งที่คณะของนักถักทอชุมชนนี่แหละที่เป็น “การปฏิรูปประเทศไทย” ตัวจริงของจริง ที่ คสช. กำลังทำนั้นเป็นการปฏิรูประดับโครงสร้าง หรือภาพใหญ่ ที่ต้องการเนื้อในที่เรากำลัง ดำเนินการกันอยู่ หากไม่มีเนื้อในที่ดี กิจกรรมของ คสช. ก็จะเหมือน “ปูโพรก” หรือปูที่ไม่มีเนื้อ โครงข้างนอกดี แต่ไม่มีสาระหรือการปฏิรูปคุณภาพคน

ที่เรากำลังทำกันอยู่ คือการพัฒนาคุณภาพคน และไม่มีใครทำได้ดีเท่ากับคนในท้องถิ่นลุกขึ้นมา ดำเนินการกันเป็นเครือข่าย มีการถักทอสานพลังกันในท้องถิ่น และร่วมมือกับกลไกหรือภาคีภายนอก

ย้ำว่า คนในชุมชนท้องถิ่นต้องลุกขึ้นมาดำเนินการกันเอง เพื่อยกระดับคุณภาพของเด็กและเยาวชน ของตน ต้องไม่รอให้คนนอกมาชวน เราต้องเน้นพึ่งตนเอง คิดทำกันเอง อย่างต่อเนื่อง แล้วชวนหน่วยงาน หรือบุคคลภายนอกมาร่วมมือ ยุทธศาสตร์นี้จะมีผลให้หน่วยงานและบุคคลภายนอกมาร่วมมือจำนวนมาก

ผมเดาว่า จะมีคนนำคำที่ผมพูดในวันนั้น เอาไปเล่าต่อ จึงจะไม่เล่าเอง ขอสรุปว่า ผมมีความสุขมากในวันนั้น ที่ได้เห็นขบวนการขับเคลื่อนการพัฒนาเยาวชนในท้องถิ่น ที่ดำเนินการโดยการรวมตัวกันของคนในชุมชน เป็นจุดเริ่มต้น “ท้องถิ่นปกครองตนเอง” “จังหวัดปกครองตนเอง” เป็นรากฐานของการกระจายอำนาจการปกครองประเทศ ที่จะทำให้ประเทศไทยมีความก้าวหน้าเป็นประเทศ ที่พัฒนาแล้ว ที่ผู้คนจะไม่ถูกหลอกโดยนักการเมืองจอมโกงอีกต่อไป

“พี่ใหญ่” คุณนงนาท สนธิสุวรรณ เล่าเรื่องการประชุมนี้ไว้ ที่นี่

แก้ไขล่าสุด ใน วันอาทิตย์ที่ 27 กรกฏาคม 2014 เวลา 13:08 น.