สังคมศาสตร์กับความเข้าใจสังคม

วันพฤหัสบดีที่ 14 สิงหาคม 2014 เวลา 00:00 น. ศ.นพ วิจารณ์ พานิช บทความ - การศึกษา
พิมพ์

บทความ Social science palooza IV ใน International New York Times วันที่ ๗ กรกฎาคม ๒๕๕๗ บอกว่ามีคนคอยรวบรวมผลการวิจัยด้านสังคมศาสตร์ ส่งให้ผู้บอกรับ ผู้เขียนบทความนี้หยิบเอาบางส่วน มาเล่าต่อ

เป็นการบอกทางอ้อมว่า ความรู้ด้านสังคมศาสตร์มีคุณค่ายิ่ง และเป็นที่สนใจของผู้คน คุณค่าดังกล่าว คือคุณค่าต่อการดำรงชีวิตด้านต่างๆ

ตัวอย่าง เรื่อง Moral stories don’t necessarily make more moral children เป็นงานวิจัยง่ายๆ ไม่ซับซ้อน แต่ให้ผลที่มีความหมายมาก ว่าในเด็กอายุ ๓ ขวบ แรงจูงใจด้านลบ มีพลังสู้แรงจูงใจด้านบวกไม่ได้

เรื่อง Too much talent can be as bad as too little talent อ่านแล้วผมนึกถึง หลักทางสายกลาง หรือความพอดี ไม่ว่าเรื่องอะไร มากเกินไปก็ไม่ดี น้อยเกินไปก็ไม่ดี รวมทั้งต้องเหมาะสม ต่อบริบท หรือสภาพแวดล้อมด้วย ซึ่งก็มาตรงกับถ้อยคำ linear relationship ในบทความ เมื่อไรก็ตาม เรามองสิ่งต่างๆ อย่างซับซ้อน ความสัมพันธ์จะไม่เป็นเส้นตรง

เราต้องไม่ลืมว่า การอ่านบทความนี้ เป็นการอ่าน ความรู้มือสอง” คือฟังต่อมาอีกทอดหนึ่ง ไม่ใช่อ่านจากรายงานผลวิจัยโดยตรง จึงเท่ากับผ่านการปรุงแต่งโดยคุณ David Brooks ผู้เขียนมาแล้วทอดหนึ่ง นี่คือสติว่าด้วย การคิดอย่างมีวิจารณญาณ” (critical thinking)

แม้จะมีข้อจำกัด การย่อยผลการวิจัยเอามาเขียนเผยแพร่ให้เข้าใจง่าย และอ่านสนุก ดังในบทความนี้ เป็นเรื่องที่มีค่ามากต่อสังคม และหน่วยงานที่ทำหน้าที่สนับสนุนการวิจัย (เช่น สกว.) น่าจะพิจารณาหาทาง สนับสนุนการย่อยผลงานวิจัยแบบนี้ในสังคมไทย

อ่านบทความนี้แล้ว ผมเกิดความคิดเรื่องโจทย์วิจัยมากมาย สำหรับตอบคำถามสำคัญๆ เกี่ยวกับสังคมไทย โดยต้องเริ่มต้นที่กระบวนทัศน์ ไม่เชื่อง่าย” ไม่เชื่อการคิดด้วยเหตุผล ว่าจะเป็นจริงในสถานการณ์จริง

เพราะสังคมศาสตร์เป็นเรื่องของความซับซ้อนและเปลี่ยนแปลง (complex-adaptive)



วิจารณ์ พานิช

๙ ก.ค. ๕๗

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย 

แก้ไขล่าสุด ใน วันพฤหัสบดีที่ 14 สิงหาคม 2014 เวลา 12:55 น.